บล็อคข่าวส่งเสริมคนดี (รักดีหามจั่ว รักชั่วหามเสา หามจั่วก็หนักนะ)

ข่าวจากสื่อ

บทความจากสื่อ

วันพฤหัสบดีที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2551

“กฎหมายและอำนาจยุบพรรคการเมือง พัฒนาหรือวิบากกรรมสังคมไทย”

การสัมมนาวิชาการเรื่อง “กฎหมายและอำนาจยุบพรรคการเมือง: พัฒนาหรือวิบากกรรมสังคมไทย” จัดโดย คณะนักวิชาการการเมืองเพื่อประชาธิปไตยและสันติวิธี (คปส.) ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม เมื่อวันอาทิตย์ที่ 30 มีนาคม 2551 ที่ผ่านมา

มีผู้เข้าร่วมสัมมนา อาทิ อ.วสันต์ ลิมป์เฉลิม สมาชิกนักวิชาการเพื่อประชาธิปไตยและสันติวิธี นายกมล บันไดเพชร ตัวแทนพรรคพลังประชาชนและนักกฎหมาย นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตคณะกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย ดร.เมธาพันธ์ โพธิธีรโรจน์ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการ 2 และ อ.ประสิทธิ์ ปิวาวัฒนพานิช นักวิชาการ โดยมี ดร.วรพล พรหมิกบุตร ดำเนินรายการ

ดร.วรพล พรหมิกบุตร กล่าวถึงประเด็นในวันนี้เกี่ยวข้องกับคดียุบพรรค ที่เป็นเพียงปัญหาแค่ส่วนหนึ่งของประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้นที่มันเริ่มใหญ่โตในปัจจุบัน เป็นปัญหาของ “กลุ่มอำนาจ” ที่พยายามทำตัวออกนอกระบบประชาธิปไตย เพื่อเข้ามายึดอำนาจโดยผ่านทางรัฐธรรมนูญ 2550 และรัฐธรรมนูญฉบับอื่นที่เกี่ยวข้องนำมาประกอบกัน ที่เรารู้จักกันในนาม “กลุ่มอำมาตยาธิปไตย” ที่เรานิยามกันมา

ซึ่งไม่ได้เข้ามาแข่งขันกันในรูปแบบพรรคการเมือง แต่ต้องการเข้ามามีอำนาจในระบบการเมืองไทย โดยอาศัยรัฐธรรมนูญ 2550 ใช้อาจแต่งตั้งบุคคลเข้ามามีบทบาท เช่น คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ศาลรัฐธรรมนูญ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) เป็นต้น

จะเห็นว่ารัฐธรรมนูญ 2550 เข้ามากดอำนาจประชาธิปไตยของประชาชนให้อยู่ภายใต้อำนาจของผู้ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง โดยใช้อำนาจควบคุมนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง เช่น อาศัยกลไกรัฐธรรมนูญรวมกับ กกต. ในการสั่งยุบพรรค หรือควบคุมผ่านกลไกวุฒิสภา ในการถอดถอนนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง ในประเด็นที่เราจะพูดคุยกันในวันนี้จึงเป็นเรื่องของการยุบพรรค รวมไปถึงเรื่องเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ

“สั่งยุบพรรคไทยรักไทย...
มีแต่ข้อสงสัย ไร้การติดตามหลักฐาน”
อ.วสันต์ ลิมป์เฉลิม สมาชิกนักวิชาการเพื่อประชาธิปไตยและสันติวิธี


การยุบพรรคไทยรักไทย ในแง่ของความชอบธรรมและในแง่ของกฎหมายนั้นไม่น่าที่จะเกิดเหตุการณ์ที่จะทำให้เกิดการยุบพรรคได้ แต่สิ่งที่เราไม่คาดคิดก็สามารถเกิดขึ้นได้ โดยอ้างจากหนังสือของ อ.อมร จันทรสมบูรณ์ ที่วิจารณ์คำวินิจฉัยของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญในการยุบพรรคว่ามีความน่าเชื่อถือสูง ถึงแม้ว่าผมจะไม่เห็นด้วย ก็อยากที่จะให้ทุกท่านได้เข้าใจร่วมกัน ถึงสิ่งที่ อ.อมร ได้เขียนไว้ ผมเข้าใจว่าท่านเกิดความสับสนเหมือนกับคนไทยบางกลุ่ม ซึ่งเหตุการณ์ที่ผ่านมายังไม่ได้มีการพิสูจน์ข้อเท็จจริง มีแต่เพียงการกล่าวหาทั้งนั้น

ที่ศาลรัฐธรรมนูญกล่าวหาว่า ผู้นำพรรคไทยรักไทยมีความขัดแย้งภายในพรรคหรือการกล่าวหาว่ามีผลประโยชน์ร่วมกับต่างชาติที่นำไปสู่กระบวนการยุบพรรคนั้น เป็นเพียงเหตุผลที่กล่าวอ้างที่ไม่ได้มีการพิสูจน์ว่า “ข้อกล่าวหาจะเป็นจริงหรือไม่ นั้นต้องเป็นกระบวนการของการพิสูจน์และหาหลักฐาน”

ส่วนข้อกล่าวหาที่ทำให้เกิดการยุบพรรคนั้น ต่างก็มีข้อเคลือบแคลงสงสัย เมื่อความคิดในเหตุการณ์ครั้งนั้นเกิดความผิดพลาดขึ้น เราจะมีวิธีการแก้ไขอย่างไร จากที่ได้มีการนำเสนอการทำนิรโทษกรรมนั้น เป็นการตัดสินใจที่ผิด เพราะถ้าเราทำนิรโทษกรรมแสดงว่า เรายอมรับว่าการตัดสินที่ผ่านมาถูกต้อง ผมจึงไม่เห็นด้วยกับการทำนิรโทษกรรมกับกรณีการยุบพรรคในครั้งที่แล้ว และไม่เห็นด้วยกับการบรรเทาโทษ เพราะว่าไม่มีความผิด เมื่อไม่มีความผิดก็ไม่จำเป็นต้องบรรเทาโทษ ตอนนี้ทำได้อย่างเดียวคือการให้อภัยกับ คมช. (คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ) และหลักที่ผมจะนำเสนอคือ “บรรเทาความเสียหาย หยุดโทษที่จะเกิดขึ้น”

โดยตอนนี้ปัญหาที่ดูจะเลอะเลือนมาก คือการที่ให้คนตีความเป็นพวกเดียวกับคนร่างกฎหมายทั้งๆ ที่หลักสากลนั้นจะต้องเป็นกลุ่มคนคนละพวกกัน เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว จะหาข้อยุติกับปัญหาให้เกิดความเป็นธรรมได้อย่างไร

“ยุบพรรคไร้ความโปร่งใส
แฉเบื้องหลังมีส่วนได้เสีย”
กมล บันไดเพชร ตัวแทนพรรคพลังประชาชนและอดีตนักกฎหมาย


ย้อนกลับไปดูรัฐธรรมนูญ 2540 ที่บอกว่าถ้าผู้สมัครคนใดได้ใบแดง ที่ไม่มีการตัดสินเหมือนกับรัฐธรรมนูญ 2550 เพราะว่าไม่ได้บอกว่า จะนำไปสู่การยุบพรรค ซึ่งเจตนารมณ์เดิมของ รัฐธรรมนูญ 2540 คือการป้องกันไม่ให้เกิดการรัฐประหาร ส่วนการพิจารณาคดีของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ที่มาจากคำสั่ง คปค. เราก็ทราบกันดีอยู่แล้วว่า คนกลุ่มนี้มาจากคำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองที่มารับรองด้วยรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2549

ซึ่งคดีใดก็ตามที่ค้างอยู่ที่ศาลรัฐธรรมนูญให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาคดีต่อไป ต่อมาก็ออกมาประกาศ ฉบับที่ 29 กรณีการตัดสินคณะกรรมการบริหารพรรคไม่ให้เข้ารับการมีสิทธิในการรับเลือกตั้ง ซึ่งแท้จริงแล้วผู้ที่มีอำนาจในการสั่งเป็นของศาลรัฐธรรมนูญเท่านั้นที่มีสิทธิในเรื่องดังกล่าว ผมจึงเห็นว่านี้เป็นเรื่องที่ผิดหลักการทางกฎหมายอย่างชัดเจน

หรือแม้แต่การสอบพยานก็ล้วนแล้วแต่เป็นพยานของฝ่ายผู้กล่าวหาทั้งสิน โดยไม่ได้เรียกให้อีกฝ่ายได้เข้ามาชี้แจ้ง โดยตุลาการรัฐธรรมนูญกล่าวอ้างว่า การยุบพรรคเป็นเรื่องของนายทะเบียนพรรคการเมืองที่คณะกรรมการทำการสอบสวนไม่จำเป็นที่จะต้องกระทำตามระเบียบของคณะกรรมการการเลือกตั้ง ที่กำหนดว่าการสอบสวนต้องให้ทั้ง 2 ฝ่ายเข้ามาชี้แจ้ง ผมทราบว่าในการสอบครั้งนั้นพรรคประชาธิปัตย์เป็นผู้สอบสวนพยานแล้วว่า ถือเอาคำสอบสวนนั้นเป็นการสอบสวนของคณะอนุกรรมการที่เป็นฝ่ายกระทำ

ส่วนในเรื่องของการชั่งน้ำหนัก นายสุขสันต์ ชัยเทศ ในขณะนั้นเป็นสมาชิกของพรรคประชาธิปัตย์ อ้างตัวเองเป็นกรรมการพรรคพัฒนาชาติไทย จะต้องมีการพิสูจน์ให้เห็นว่าพยานปากนี้ไม่มีน้ำหนักน่าเชื่อถือ เพราะว่ามีส่วนได้เสียกับพรรคประชาธิปัตย์ ในรายละเอียดปลีกย่อย จะเห็นว่าการสอบพยานนั้น เป็นการเชื่อคำกล่าวหาทั้งหมด และคนที่ประชาชนเลือกมาต้องมาถูกตัดสิทธิทางการเมืองแค่คน 5 คนที่เป็น กกต. และ 9 คนที่เป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ แล้วเหตุการณ์เช่นนี้กำลังจะเวียนกลับมาให้เห็นอีก

“กฎยุบพรรคล้าหลัง
ให้คนไม่กี่คนมีอำนาจบริหารประเทศ”
จาตุรนต์ ฉายแสง อดีตคณะกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย


ระบบกฎหมายกติกาว่าด้วยการยุบพรรคในปัจจุบัน เป็นกฎหมายที่ล้าหลัง ไม่เห็นความสำคัญของพรรคการเมือง เป็นกฎหมายที่ต้องการให้พรรคการเมืองอ่อนแอ และส่งผลให้ประชาชนเกิดความอ่อนแอด้วย เพราะไม่เคารพหลักประชาธิปไตย ซึ่งกฎหมายดังกล่าวก็ไม่ได้เป็นประโยชน์ต่อการซื้อเสียงตามที่กล่าวอ้าง และตอนนี้ สิ่งที่จะทำให้บ้านเมืองไปสู่สถานการณ์วิกฤตก็เพราะกลุ่มคนที่มาจากการแต่งตั้งเพียงไม่กี่คนเท่านั้น

ที่ผมสรุปให้เห็นแบบนี้ เพราะว่าระบบกฎหมายว่าด้วยการยุบพรรคไม่ได้เพิ่งมาเริ่มมีปัญหาในตอนนี้ แต่มีปัญหามาตั้งนานแล้ว ซึ่งกระบวนการที่จะทำให้เกิดการยุบพรรคอาศัย กกต. และศาลรัฐธรรมนูญ เป็นผลมาจากการเพิ่ม มาตรา 237 ที่ถูกใส่ไปในรัฐธรรมนูญ 2550 เกิดวิกฤติการเมืองที่บ้านเมืองตกอยู่ในเงื้อมมือของคนที่มาจากการแต่งตั้งเพียงไม่กี่คน รัฐธรรมนูญ 2550 ทำให้กฎของการยุบพรรคเกิดความเลวร้ายมากที่สุด

คนเพียงไม่กี่คนที่มาจากการแต่งตั้ง 14 คนก็สามารถเปลี่ยนแปลงนาย ก. เปลี่ยนแปลงนโยบายอุดมการณ์ของ ส.ส. ที่ได้ให้สัญญากับประชาชนไว้ ถ้าอย่าง นาย ก.ไปสังกัดพรรคใหม่ แต่ออกมาประกาศใช้นโยบายเดิมก็ถูกกล่าวหาว่าเป็น “นอมินี” อีก การยุบพรรคไม่ใช่เป็นการลงโทษแต่พรรคการเมืองเท่านั้น แต่การยุบพรรคเป็นการลงโทษประชาชนด้วย เป็นการทำลายสิทธิของประชาชน เป็นการทำลายระบอบประชาธิปไตย และส่งผลให้ระบบพรรคการเมืองเสียหาย ซึ่งการกระทำแบบนี้มันร้ายแรงยิ่งกว่า เด็กหนึ่งคนทำแจกันแตกแล้วโดนตีทั้งห้อง แต่หลังจากโดนตีแล้วโรงเรียนก็ถูกปิดไปเลย แล้วเด็กนักเรียนห้องอื่นที่ไม่รู้เห็นด้วย มันเป็นการกระทำที่ยุติธรรมแล้วหรือ

ในตอนนี้จะยุบพรรคไหนก็คงต้องขึ้นอยู่กับดุลพินิจของคนทั้ง 14 คนนี้แล้ว ฉะนั้น บ้านเมืองในตอนนี้ถือว่าไม่ได้อยู่ภายใต้กฎหมายของประชาธิปไตย แต่อยู่ภายใต้เงื้อมมือของคนไม่กี่คนที่มาจากการแต่งตั้ง ต้นตอก็มาจากคณะยึดอำนาจ ถึงแม้ว่าจะมีการต่อสู้กันตามเกณฑ์ และถึงแม้ว่าในตอนนี้ประชาชนจะเป็นผู้ชนะ แต่อย่าลืมว่าใครเป็นผู้กำหนดกฎเกณฑ์ ถ้าเราจะไปดูคดีของพรรคชาติไทยและพรรคมัชฌิมาธิปไตยที่จะเกิดการยุบพรรค เห็นท่าว่าจะรอดยาก ถ้าว่ากันตามกฎหมาย เพราะว่า กฎหมายฉบับนี้เป็นฉบับที่ล้าหลังไม่เป็นประชาธิปไตย เป็นภัยร้ายแรงต่อการพัฒนาและฟื้นฟูประชาธิปไตยต่อไปในอนาคต

“มือที่มองไม่เห็นจัดฉากล้มพลังประชาชน”
ดร.เมธาพันธ์ โพธิธีรโรจน์ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการ 2


จากที่คุณจาตุรนต์ได้กล่าวในตอนท้ายไว้ว่า ถ้าพระหนึ่งรูปปาราชิก แสดงว่าพระทั้งวัดก็ต้องปาราชิกทั้งหมด แล้วก็เผาวัดทิ้งไปเลย แล้วทำไมวันนี้พรรคที่มีเจตนาอย่างชัดเจนอย่างประชาธิปัตย์ที่เรียกร้องมาตรา 7 และวันที่ 24 มีนาคม 2549 ที่ตั้งเวทีปราศรัยที่ท้องสนามหลวง คุณอภิสิทธิ์บอกอย่างชัดเจนว่าอยากให้มีนายกรัฐมนตรีตามมาตรา 7 แสดงว่าคุณอภิสิทธิ์ต้องการล้มรัฐธรรมนูญ 2540

เราจะเห็นว่าคนของพรรคประชาธิปัตย์บางคนมีส่วนเกี่ยวข้องกับพวกพันธมิตรที่ออกมาทำการเคลื่อนไหวจนกระทั่งวันเลือกตั้งในวันที่ 23 ธันวาคม 2550 ก็จะเห็นแกนนำพันธมิตรเป็นจำนวนมากที่มาอยู่ในพรรคประชาธิปัตย์ หนึ่งในนั้นคือ สมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์

ถามว่า ศาลรัฐธรรมนูญใช้ตรรกะข้อใดมาอธิบายว่า พรรคไทยรักไทยล้มล้างรัฐธรรมนูญ จนมาถึงพรรคพลังประชาชนที่ได้มีกระบวนการตั้งธงว่า เมื่อมีการฉีกรัฐธรรมนูญแล้ว ก็จะทำลายระบบคุณทักษิณทั้งมือซ้ายมือขวาให้หมดสิ้น

จนมาถึงเรื่องของคุณยงยุทธ (ติยะไพรัช) ที่ไม่ได้เป็นคนในบ้านเลขที่ 111 จึงตกเป็นเป้าหมาย ซึ่ง “ผู้การ ท.” และ “พันตำรวจโท ส.” “พลเอก ส.” สั่งการให้ “ผู้การ ท.” ไปดูคดีที่ จ.เชียงรายว่าสามารถเอาผิดได้บ้าง แต่ปรากฏว่าไม่มี เอาผิดไม่ได้ ท่านเสรีพิศุทธ์ (เตมียาเวส) จึงสั่งย้าย ผู้การ ท.ไปที่ อ.ระแงะ จ.นราธิวาส การจัดฉากที่เกิดขึ้นมาจากการเกิดรัฐประหารที่คิดว่า คุณทักษิณหรือพรรคไทยรักไทยเป็นตัวปัญหา จึงเป็นอุปสรรคมากที่ผู้ใหญ่ท่านหนึ่งให้การสนับสนุนให้อีกพรรคหนึ่งมาบริหารประเทศ แต่เป็นเรื่องที่ยากมาก และไม่มีวี่แววจะเกิดขึ้น จึงได้ทำการดังกล่าวขึ้นมา

ถ้าคุณยงยุทธเป็น กุญแจสำคัญ ที่จะทำให้เกิดการยุบพรรคพลังประชาชน การจัดฉากต่างๆ มีตั้งแต่คำสั่งของ คมช. แล้ว มีคำสั่งของมือที่มองไม่เห็นที่จะให้พรรคประชาธิปัตย์มาบริหารประเทศ

ณ วันนี้กฎหมายในเมืองไทยไม่สามารถใช้ได้ เพราะเป็นการบังคับแค่คนกลุ่มหนึ่ง และเป็นสิ่งที่สืบอำนาจมาจากคณะรัฐประหาร ถ้าเรายังปล่อยให้เป็นเช่นนี้ รับรองว่าพรรคพลังประชาชนถูกยุบ 100 เปอร์เซ็นต์ ฉะนั้น ภาคประชาชนต้องรวบรวมรายชื่อให้ได้ 50,000 คนและรีบยื่นให้เกิดการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งมองว่าเป็น “ทางรอด” แค่ทางเดียว

“กฎหมาย คมช. มุ่งหักพรรคการเมือง”
อ.ประสิทธิ์ ปิวาวัฒนพานิช นักวิชาการ


แนวโน้มของกฎหมายที่ใช้ในการยุบพรรค มีคำสั่ง คปค. ฉบับที่ 27 ข้อ 3 เอามาใส่ในมาตรา 68 กำหนดให้มีการเพิกถอนการเลือกตั้งย้อนหลัง เกิดเป็นประเด็นข้อกฎหมายว่าจะใช้กฎหมายไปเพิกถอนในภายหลังได้หรือไม่ เหมาะสมหรือไม่ที่เอาคำสั่งของ คมช. มาใส่ใน รัฐธรรมนูญ จากการที่ศึกษาเห็นว่าให้ยกเลิกการประหารชีวิต เพื่อให้สอดคล้องกับสิทธิพลเมือง ฉะนั้น ต่อไปจะมีการออกกฎหมายย้อนหลังได้อย่างนั้นหรือ เพราะว่ามันไม่ใช่กฎหมายอาญา ถ้าต่อไปถือเอาคดียุบพรรคนำมาเป็นบรรทัดฐาน ก็จะมีคนใช้กฎหมายย้อนหลังนำมาเล่นงานกัน ซึ่งในอนาคตต่อไปอาจมีเพิ่มมากขึ้น เพราะว่า “มันเนียน” กว่าการเกิดรัฐประหาร

ในมาตรา 237 ในรัฐธรรมนูญ 2540 ไม่มีอยู่ในหมวดคณะกรรมการการเลือกตั้ง จะมีความเหมาะสมหรือไม่ เพราะว่าเหมือนเป็นการให้อำนาจกับ กกต. มากเกินไป คล้ายกับมาตรา 68 เหมือนกันในแง่ของการกล่าวต่อท้ายด้วยคำว่า “ถือว่าชอบด้วยรัฐธรรมนูญ” ตอนร่าง สสร.บอกว่าใช้เฉพาะ ส.ส. เท่านั้น แต่พอมีคดีเอกสารลับของ คมช. ก็เอามาตรา 309 ปิดปากเงียบ ส่วนในมาตรา 103 กฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งให้เสนอการยุบพรรคให้เพิกถอนสิทธิการเลือกตั้งกรรมการของพรรคนั้น และให้มีการดำเนินคดีทางอาญากับผู้นั้น

จะเห็นว่ารุนแรงมาก ถ้าสังเกตดีๆ มีต่อท้ายประโยคว่า “ผู้นั้น” แสดงว่าไม่เกี่ยวกับ “ผู้อื่น” แต่ตอนเพิกถอนไม่มีคำว่า “ผู้นั้น” แต่ใช้คำว่า “พรรคนั้น” แสดงว่า เหมารวมทั้งหมด และในมาตรา 237 และมาตรา 68 ไม่เปิดโอกาสให้ผู้ถูกกล่าวหาได้แสดงความบริสุทธิ์ จะเห็นว่าคณะรัฐประหารมุ่งใช้กฎหมายไปที่พรรคใดพรรคหนึ่ง

ถ้ารัฐบาลยอมพ่ายแพ้ต่ออำมาตยาธิปไตย ก็จะมีแนวโน้มการกอบโกยอำนาจกลับมารุ่งเรืองอีก แต่ถ้ารัฐบาลลุกขึ้นมาต่อสู้กับอำนาจอำมาตยาธิปไตย จะต้องอาศัยพลังมวลชนทั่วประเทศออกมาสนับสนุนอย่างชัดเจน ร่วมมือกันสนับสนุนรัฐบาลและพร้อมที่จะออกมาเคลื่อนไหวเพื่อต่อต้านอำนาจที่ไม่ชอบธรรม เพื่อรักษาอำนาจประชาธิปไตยไว้



ข่าวส่งเสริมคนดี

จำนวนผู้เข้าเยี่มมชม

link to affordable web hosting
Powered by web hosting provider .

สถิติการเข้าชม DMNEWS

eXTReMe Tracker