บล็อคข่าวส่งเสริมคนดี (รักดีหามจั่ว รักชั่วหามเสา หามจั่วก็หนักนะ)

ข่าวจากสื่อ

บทความจากสื่อ

วันพุธที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2551

ศึกษา รัฐประหาร จังหวะก้าว ทางการเมือง ประสาน การทหาร

คอลัมน์ : วิภาคแห่งวิพากษ์

ขณะที่การยึดอำนาจไม่ว่าจะเมื่อเดือนมิถุนายน 2475 หรือเมื่อเดือนมิถุนายน 2476 เป็นเรื่องทางทหารล้วนๆ แต่นับจากการยึดอำนาจเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2490 เป็นต้นมา เป็นเรื่องของการประสานระหว่างการเมืองกับการทหาร

นั่นก็คือ การเมืองเป็นฝ่ายสร้างเงื่อนไขในลักษณะของการปูทาง

หากไม่มีการเสนอญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐบาลของ พล.ร.ต.ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ โดยพรรคประชาธิปัตย์ ระหว่างวันที่ 19-27 พฤษภาคม 2490

สถานการณ์เมื่อหัวค่ำของคืนวันที่ 8 พฤศจิกายน 2490 คงไม่ดำเนินไปด้วยความราบรื่น

เช่นเดียวกับเมื่อมีการเดินทางไปจี้บังคับให้ นายควง อภัยวงศ์ ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในวันที่ 6 เมษายน 2491

ก่อนหน้านั้นก็มีการเคลื่อนไหวของ "คณะประชาธิปไตย" ปรากฏตัวขึ้นที่ท้องสนามหลวง

หรือแม้กระทั่งก่อนการยึดอำนาจในคืนวันที่ 16 กันยายน 2500 ของ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ก็มีขบวนของประชาชนเคลื่อนจากท้องสนามหลวงมุ่งหน้าไปยังบ้านสี่เสาเทเวศร์ พร้อมกับเปล่งคำขวัญ

"จอมพล ป.ออกไป จอมพล ป.ออกไป" ดังกระหึ่ม

ปัจจัยชี้ขาดของการรัฐประหารขึ้นอยู่กับกองกำลังทางทหาร และด้านหลักจะต้องเป็นกำลังทหารจากกองทัพบกอย่างแน่นอน

กระนั้น ทหารก็ต้องสนใจต่ออุณหภูมิทางการเมืองอย่างใกล้ชิด

ก่อนที่ความร้อนแรงในคำขวัญ "ทักษิณ ออกไป ทักษิณ ออกไป" จะดังกึกก้องระหว่างการชุมนุมและการเดินขบวนนับแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2549 เป็นต้นมา ต้องยอมรับว่ามีการจุดประเด็นในเรื่องการรัฐประหารขึ้นอย่างเป็นระบบ

ทำไมในการชุมนุมเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2549 จึงเป็นที่ลานพระบรมรูปทรงม้า และทำไมตอนดึกของคืนเดียวกันนั้นจึงมีการบุกไปเพื่อขอพบ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน

อย่าลืมเป็นอันขาดว่า พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน เป็น ผู้บัญชาการทหารบก

จึงไม่แปลกที่ยิ่งเมื่อ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ แต่งเครื่องแบบเดินสายออกพูดกับนักเรียนนายร้อยไม่ว่าจะเป็นที่นายร้อย จปร. นายเรือและนายเรืออากาศ เน้นย้ำในเรื่องบทบาทของจ๊อกกี้กับคอกม้า เน้นบทบาทในเรื่องของทหารกับรัฐบาล ยิ่งมีความคึกคัก

เป็นความคึกคักอันเหมือนกับปรอทแสดงอุณหภูมิทางการเมืองว่ามีความพร้อม มีความสุกงอมอย่างเพียงพอที่จะนำไปสู่การยึดอำนาจ

จากนี้จึงเห็นได้ว่า การยึดอำนาจอาจเป็นปฏิบัติการทางทหารที่ฉับพลันทันใด มากด้วยความเด็ดขาด แน่วแน่

กระนั้น ก่อนการยึดอำนาจก็ต้องมีการปูทางและสร้างเงื่อนไขทางการเมือง

บทบาทของพรรคประชาธิปัตย์เมื่อเดือนพฤษภาคม เป็นบทบาทที่ทรงความหมายยิ่งต่อการยึดอำนาจในเดือนพฤศจิกายน 2490

บทบาทของการปะทะขัดแย้งกรณีสามเณรถนอมเดินทางเข้ามา เป็นบทบาทที่ทรงความหมายยิ่งต่อการยึดอำนาจในเดือนตุลาคม 2519

บทบาทของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย บทบาทของพรรคร่วมฝ่ายค้านซึ่งบอยคอตการเลือกตั้งทั่วไป สมัย 2 เมษายน 2549 เป็นบทบาทที่ทรงความหมายยิ่งต่อการยึดอำนาจเมื่อเดือนกันยายน 2549

นั่นก็คือ บทบาทของการปูทางและสร้างเงื่อนไขทางการเมือง

ยิ่งสร้างเงื่อนไขให้ขึ้นสู่กระแสสูงมากเพียงใด ยิ่งเท่ากับเป็นการส่งเทียบเชิญให้ฝ่ายทหารได้เข้ามาแสดงบทบาทมากขึ้นเพียงนั้น

หากไม่สามารถสร้างเงื่อนไขทางการเมือง ก็ยากที่จะสร้างเงื่อนไขทางการทหาร

การประสานระหว่างเงื่อนไขทางการเมืองเพื่อนำไปสู่การยกระดับเงื่อนไขทางการทหารจึงเป็นสิ่งที่จะต้องจับตามองอย่างเป็นพิเศษ

ถามว่าสภาพทางการเมืองในปัจจุบันมีฝ่ายที่ต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลงหรือไม่

มีอย่างแน่นอน เพียงแต่จะเปลี่ยนแปลงโดยวิธีใด โดยวิธีการประชาธิปไตยผ่านระบบรัฐสภา โดยวิธีการที่เรียกว่าตุลาการภิวัตน์ โดยวิธีการชุมนุมและเคลื่อนไหวประชาชน

ทุกบทก้าวล้วนอยู่ในการเฝ้าติดตามโดยฝ่ายที่มีกองกำลังติดอาวุธอย่างใกล้ชิดเสมอ



ข่าวส่งเสริมคนดี

จำนวนผู้เข้าเยี่มมชม

link to affordable web hosting
Powered by web hosting provider .

สถิติการเข้าชม DMNEWS

eXTReMe Tracker