บล็อคข่าวส่งเสริมคนดี (รักดีหามจั่ว รักชั่วหามเสา หามจั่วก็หนักนะ)

ข่าวจากสื่อ

บทความจากสื่อ

วันพุธที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2551

รองผู้ว่าฯ กทม. ชิงตั้งโต๊ะ แจงซื้อBRTโปร่งใส! อ้างเหตุลด “ขนาดรถ” ครั้งก่อน-ครั้งนี้ขัดกัน

หลังจากที่ คุณหญิงณัษฐนนท ทวีสิน อดีตปลัดกรุงเทพมหานคร (กทม.) ยื่นเอกสารหลักฐานต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ให้ตรวจสอบความไม่โปร่งใสโครงการจัดซื้อรถโดยสารประจำทางด่วนพิเศษของกรุงเทพมหานคร (บีอาร์ที) จำนวน 45 คัน เป็นเงินกว่า 300 ล้านบาท โดยคุณหญิงณัษฐนนท แถลงเรื่องนี้ในเช้าวันนี้ (2 เม.ย.) ที่สถานีรถเมล์ด่วนฯ บีอาร์ที ช่องนนทรี

ขณะเดียวกัน วันนี้ (2 เม.ย.) นายพนิช วิกิตเศรษฐ์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) แถลงชี้แจงถึงการจัดซื้อรถบีอาร์ทีว่า มีความโปร่งใส และเป็นรถที่มีประสิทธิภาพ โดยตัวถังรถ ออกแบบใหม่ทั้งหมด และมีระบบไฟฟ้า ระบบเบรก และระบบป้องกันความปลอดภัยคล้ายกับรถบีทีเอส ที่สำคัญใช้ก๊าซเอ็นจีวี ซึ่งสามารถช่วยลดคาร์บอนไดออกไซด์ได้กว่าครึ่ง ภายในรถยังมีกล้องกล้องซีซีทีวีบันทึก เพื่อความปลอดภัยของผู้โดยสารด้วย

ส่วนกรณีที่มีผู้ร้องเรียนว่า ตัวรถและที่นั่งรถไม่เป็นตามที่กำหนดนั้น รองผู้ว่าฯ กทม. ชี้แจงว่า ได้หารือกับทางตำรวจจราจร หากรถมีขนาด 12 เมตรจะเหมาะสมกับพื้นที่การจราจรของ กทม. มากกว่าความกว้างเดิมที่กำหนดไว้ 18 เมตร ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีการตรวจรับ และรถยังไม่ถึงมือ กทม.

สำหรับโครงการดังกล่าว แต่เดิมกำหนดสเป็กรถยนต์ที่จะนำมาวิ่งในช่องทางบีอาร์ที เป็นรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์เอ็นจีวี ความยาวรถ 18 เมตร สามารถจุคนได้ 150 คน แต่หลังจากนั้นมีการปรับทีโออาร์ใหม่ เป็นให้มีความยาว 12 เมตร สามารถจุคนได้ 80 คน พร้อมกับเพิ่มจำนวนรถเป็น 45 คัน จากเดิมถ้ารถยนต์ความยาว 18 เมตร จะได้แค่ 30 - 35 คัน

โดยก่อนหน้านี้ รองผู้ว่าฯ กทม. กล่าวถึงสาเหตุที่ต้องปรับทีโออาร์ว่า เนื่องจากรถความยาว 18 เมตร มีผู้ผลิตน้อยราย การแข่งขันมีไม่มาก ถ้าปรับขนาดรถยนต์ลงมาเหลือ 12 เมตร จะมีผู้ผลิตจำนวนมาก ทำให้เกิดการแข่งขันมากขึ้น มีทางเลือกมากขึ้นด้วย เพราะตอนนี้รถเครื่องเอ็นจีวีราคาถูกๆ มีมาก ทั้งจากประเทศจีนและที่อื่นๆ เนื่องจากส่วนใหญ่จะใช้รถยนต์ขนาด 12 เมตรเกือบทั้งหมด

โครงการ Bangkok BRT เป็นหนึ่งในนโยบายหลักของ นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ผู้ว่า กทม. ที่ให้สัญญากับคนกรุงเทพฯ ว่าจะดำเนินการเมื่อเข้ามาบริหารงาน กทม. และได้เร่งรัดผลักดันโครงการมาโดยลำดับ จนกระทั่งได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 3 มกราคม 2550

โดยที่ผ่านมาเส้นทางนำร่องรถโดยสารประจำทางด่วนพิเศษ ที่ ครม. อนุมัติคือ ช่องนนทรี-ราชพฤกษ์ ซึ่งปัจจุบันได้ดำเนินการปรับปรุงแก้ไขโครงการ เพื่อความเหมาะสม ลดปัญหาและผลกระทบด้านการจราจร และเพื่อความปลอดภัย โดยจะมี 12 สถานี จากเดิม 15 สถานี ระยะทางประมาณ 15 กิโลเมตร



ข่าวส่งเสริมคนดี

จำนวนผู้เข้าเยี่มมชม

link to affordable web hosting
Powered by web hosting provider .

สถิติการเข้าชม DMNEWS

eXTReMe Tracker