รักและผูกพัน-นายนิคม มีไวยรัชพานิช รองประธานวุฒิสภา พร้อมด้วยนายวิทวัส บุญญสถิตย์ ส.ว. นำรูปของนายสมัคร สุนทรเวช อดีตนายกฯ แสดงต่อผู้สื่อข่าว หลังจากปรากฎภาพดังกล่าวแสดงบนจอโปรเจคเตอร์ปริศนาประมาณ 4 วินาทีและเกิดไฟดับพรึ่บ โดยนายนิคมเชื่อว่านายสมัครมาลาสภา ซึ่งมีความผูกพันอย่างยิ่งเป็นครั้งสุดท้าย
โดย ทีมข่าวไทยอีนิวส์
24 พฤศจิกายน 2552
มติชนออนไลน์รายงานว่า ได้เกิดเหตุชวนขนหัวลุกในระหว่างการประชุมวุฒิสภา เพื่อพิจารณาร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ โดยเมื่อวุฒิสภาได้พิจารณาร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวมาจนถึงช่วงเวลา13.28 น. ซึ่งเป็นช่วงที่นายนิคม ไวยรัชพานิช รองประธานวุฒิสภา คนที่ 1 ทำหน้าที่ประธานการประชุม ในช่วงการลงมติมาตรา 15 แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 28/1 เกี่ยวกับการรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อฟ้องคดี ปรากฏว่า ระหว่างที่รอผลการลงคะแนนทางจอมอนิเตอร์ในห้องประชุมอยู่นั้น สมาชิกวุฒิสภาที่นั่งอยู่ในห้องประชุมก็ถึงกับอึ้งเมื่อมีภาพนายสมัคร สุนทรเวช อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งถึงแก่อนิจกรรมด้วยโรคมะเร็งเมื่อช่วงเช้าวันนี้ ปรากฏบนจอโปรเจกเตอร์สำหรับประกาศผลคะแนนในการลงมติ ซึ่งอยู่บริเวณข้างบัลลังก์ประธาน ในชุดขาวพระราชทานเต็มยศ กำลังยกมือไหว้ โดยปรากฏค้างหน้าจออยู่ประมาณ 4 วินาทีก็หายไป
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เหตุการณ์ดังกล่าว ส.ว.หลายคนต่างจับกลุ่มวิพากษ์วิจารณ์ ขณะที่นายนิคม พร้อมด้วยส.ว.ส่วนหนึ่งได้รุดขึ้นไปตรวจสอบเรื่องดังกล่าวถึงห้องควบคุมภาพและผลการลงคะแนนบริเวณชั้น 3 ของอาคารรัฐสภา ก่อนเปิดเผยด้วยสีหน้าตื่นเต้นอย่างเห็นได้ชัดว่า ได้ตรวจสอบแล้ว รู้สึกขนลุก เพราะไม่มีเจ้าหน้าที่คนใดทราบเรื่อง และไม่รู้สาเหตุว่าทำไมจู่ๆถึงมีภาพของนายสมัครปรากฏออกมา ขณะนั้นตนนั่งเป็นประธานที่ประชุมอยู่ด้วย ไม่ทราบเรื่องนี้ แต่ส.ว.ที่นั่งอยู่ในห้องประชุมตะโกนว่า "ท่านสมัคร มา" จึงต้องรีบขึ้นไปตรวจสอบว่าเรื่องดังกล่าวเกิดได้อย่างไร
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ระหว่างที่นายนิคมและคณะส.ว.กำลังตรวจสอบเรื่องดังกล่าวอยู่นั้น ปรากฏว่าไฟในอาคารรัฐสภาก็ดับพรึ่บประมาณ 1 นาที สร้างความตกตะลึงให้กับบรรดาส.ว.และเจ้าหน้าที่รัฐสภาเป็นอย่างยิ่ง ทั้งนี้นายนิคม ได้นำภาพนายสมัครยกมือไหว้ที่ปรากฏในห้องประชุมสภา ซึ่งปรินท์ออกจากคอมพิวเตอร์ขนาดเอสี่ ก่อนจะเปิดเผยว่า "สงสัยท่านมาลาเรา ในช่วงที่ผมเป็นประธานที่ประชุม เพราะผมเคยเป็นลูกน้องเก่าของท่านสมัยที่เป็นรองปลัดฯกทม.ด้วย"
นายคัมภีร์ ดิษฐากรณ์ รองเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งรับผิดชอบดูแลสถานีวิทยุและสถานีโทรทัศน์รัฐสภา กล่าวว่า กำลังให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงอยู่ เพราะดูจากรูปที่ปรากฏนั้น ทางสภาฯไม่มีสต็อกของรูปนี้เก็บไว้ เบื้องต้น สันนิษฐานว่า น่าจะมีความผิดพลาดเกิดขึ้น อาจจะเป็นภาพข่าวอินเตอร์เน็ต ส่วนสาเหตุที่ไฟตกในช่วงบ่ายเป็นเพราะวันนี้มีการใช้กำลังไฟสูงมากกว่าปกติ เนื่องจากมีการเตรียมความพร้อมในการจัดงานยุติความรุนแรงต่อเด็กและสตรี ในวันที่ 25 พฤศจิกายนนี้
จักรภพส่งคำไว้อาลัยจากแดนไกล เผยจะพยายามมางานปลงศพ
นายจักรภพ เพ็ญแข อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีในยุครัฐบาลนายสมัคร ได้ส่งคำไว้อาลัยดังนี้
"คำไว้อาลัยฯพณฯ นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรีคนที่ ๒๕ ของประเทศไทย วันอังคารที่ ๒๔ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๕๒
ฯพณฯ นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรีคนที่ ๒๕ ของประเทศไทย ได้จากเราไปแล้วในวันนี้ (วันอังคารที่ ๒๔ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๕๒) ในฐานะคนไทยคนหนึ่งที่มีความรักและเคารพท่านอย่างสูง และในฐานะผู้ใต้บังคับบัญชาในรัฐบาลที่ท่านเป็นหัวหน้า ผมขอกราบท่านไปจากแดนไกลด้วยหัวใจที่ศรัทธาและเชื่อมั่น และเช่นเดียวกับ ฯพณฯ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ที่ได้ส่งข้อความผ่าน ทวิตเตอร์มาก่อนหน้านี้
ผมรู้สึกเสียใจที่ไม่ได้ไปร่วมงานสวดพระอภิธรรมของท่าน แต่จะพยายามไปร่วมงานปลงศพในวันใดก็ตามที่ครอบครัวของท่านกำหนดขึ้น ทั้งนี้ขึ้นกับสถานการณ์ทางการเมืองในอนาคต
ฯพณฯ นายสมัคร สุนทรเวช เป็นผู้ใหญ่ที่มีจิตใจมั่นคงและมีภาวะผู้นำทางการเมืองอันสูงยิ่ง ในขณะที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ผมได้เห็นการตัดสินใจอันสุขุมรอบคอบ และได้รับความรู้ตลอดจนความกรุณาจากท่านในหลายกรณี โดยเฉพาะเมื่อผมถูกกล่าวร้ายว่าหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ จนภายหลังต้องลาออกจากตำแหน่งทางการเมืองนั้น ฯพณฯ นายสมัครฯ มีความหนักแน่น และโอบอุ้มผมจนนาทีสุดท้าย ท่านไม่ยอมให้ศัตรูของฝ่ายประชาธิปไตยเข้ามาทำร้ายผู้ใต้บังคับบัญชาของท่าน จนท่านเองก็เสี่ยงภัยทางการเมือง นี่คือสิ่งที่ผมจะจดจำไปชั่วชีวิต
ขอให้ดวงวิญญาณอันมั่นคงของท่านไปสู่สัมปรายภพเถิด.
ด้วยความเคารพอย่างสูง
นายจักรภพ เพ็ญแข
อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
นายสมัคร สุนทรเวช อดีตนายกรัฐมนตรี ถึงแก่อนิจกรรมลงอย่างสงบในเวลาเช้าวันนี้ นอกจากสีสันทางการเมืองที่เป็น"ดาวค้างฟ้าการเมืองไทย"อย่างหาตัวจับยาก นายสมัครยังเป็นนายกรัฐมนตรีที่พ้นตำแหน่งแบบประหลาดที่สุดในโลก จนมีการเสียดกันด้วยถ้อยคำว่า"ทำกับข้าวถูกปลด เป็นกบฎถูกปล่อย"
เช้าวันนี้ (24 พ.ย.) นายสมัคร สุนทรเวช อดีตนายกรัฐมนตรี ได้ถึงแก่อนิจกรรมแล้วที่โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ วงการเมือง วงการสื่อ ประชาชนทั้งประเทศ ต่างไว้อาลัยให้นักการเมืองผู้เต็มไปด้วยสีสันผู้นี้
อย่างไรก็ตามไม่มีการรามือให้สำหรับพวกพันธมิตรหัวใจบอดที่ได้พากันกล่าวประณามสาปแช่งอดีตนายกรัฐมนตรีผ่านเวบผู้จัดการASTV เช่น
ความคิดเห็นที่ 180
แสดงความเสียใจกับญาติมิตร
และ เวรกรรมมีจริง ไม่ต้องรอชาติหน้า
ทำอะไรไว้ก็ได้ผลตอบแทน
คนๆนี้ จะ RIP หลับให้สบาย หรือไปใช้กรรมในนรก ก็ตามผลกรรมที่เขาทำไว้
ฺำืBenjamin
ความคิดเห็นที่ 40
ขอความกรุณาว่าถึงแม้มันจะตายไปแล้วจงอย่ายกย่องย้อนหลังไอัสถุนตัวนี้เป็นอันขาด มันทำบาปกรรมหนักกับคนไทยและประเทศชาติไว้มากมายคือปลุกระดมคนไทยให้ฆ่ากัน ฉ้อฉลโกงกินหน้าด้านๆ ทำร้ายประเทศไทย จาบจ้วงพระอรหันต์ ไม่จำเป็นต้องกล่าวชมอะไรมันเพื่อเป็นการลูบหน้าปะจมูก ตอนมันมีชีวิตอยู่มีแต่สร้างความทุกข์เดือดร้อนเสียหายให้กับชาติ เลวก็คือเลว ชั่วอย่างนี้จริงๆ แล้วสมควรตายในคุกและไปรับกรรมต่อในนรก
ความคิดเห็นที่ 179
ผลกรรมที่ได้สะสมไว้ตลอดขีวิต ท่านคงจะต้องลงไปเพื่อชดใช้เวรกรรมของท่าน ดวงวิญญาณของท่านคงจะไม่ไปสู่สุขคติ
ต้องชดใช้กรรมที่ท่านสะสมไว้
ซึ่งการกระทำดังกล่าวถือเป็นเรื่องไร้มารยาทอย่างสิ้นเชิง หลังจากก่อนหน้านั้นกลุ่มพันธมิตรเคยไปยกป้ายรังควานช่วงที่อดีตนายกรัฐมนตรีเคยไปรักษาตัวที่สหรัฐฯ
ประวัติ
นายสมัคร สุนทรเวช เป็นบุตรของ เสวกเอกพระยาบำรุงราชบริพาร (เสมียน สุนทรเวช) กับ คุณหญิงบำรุงราชบริพาร (อำพัน จิตรกร) เป็นหลานลุงของมหาเสวกตรี พระยาแพทย์พงศาวิสุทธาธิบดี (สุ่น สุนทรเวช) นายแพทย์ประจำพระองค์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และเป็นหลานตาของมหาเสวกตรี พระยาอนุศาสน์จิตรกร (จันทร์ จิตรกร) จิตรกรประจำสำนัก
นายสมัครเป็นบุตรคนที่ 4 ในจำนวนพี่น้อง 6 คน ดังนี้
พ.อ.(พิเศษ) พ.ญ.มยุรี พลางกูร - อดีตรองผู้อำนวยการโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า
นางเยาวมาลย์ ราชวังเมือง - ประกอบธุรกิจส่วนตัว
พล.อ.อ.สมมต สุนทรเวช - อดีตที่ปรึกษา ทอ. (ถึงแก่กรรมแล้ว)
นายสมัคร สุนทรเวช
นายมโนมัย สุนทรเวช - พนักงานรัฐวิสาหกิจ
นายสุมิตร สุนทรเวช - นักการเมือง หัวหน้าพรรคประชากรไทย
นายสมัคร สมรสกับ คุณหญิงสุรัตน์ สุนทรเวช ที่ปรึกษาด้านการเงินของบริษัทในเครือเจริญโภคภัณฑ์ มีบุตรสาวฝาแฝด คือ กานดาภา และกาญจนากร ปัจจุบันสมรสแล้วทั้งคู่ จากการที่ภรรยาทำงานอยู่กับบริษัทเอกชนมาตั้งแต่ พ.ศ.2505 สถานะการเงินของภรรยาจึงมั่นคงพอที่จะดูแลครอบครัวได้ นายสมัครเลยมิได้ทำงานประจำให้กับหน่วยงานใด และได้ทำงานด้านการเมืองเพียงอย่างเดียว มาตั้งแต่ พ.ศ.2516
การศึกษา
ก่อนประถมศึกษา : โรงเรียนสตรีบางขุนพรหม
ระดับประถมศึกษา : โรงเรียนเทเวศร์ศึกษา
ระดับมัธยมศึกษา : โรงเรียนเซนต์คาเบรียล
ระดับอาชีวศึกษา : โรงเรียนอัสสัมชัญพาณิชย์
ระดับอุดมศึกษา : นิติศาสตรบัณฑิต คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ประสบการณ์ทางการเมือง
นายสมัครเริ่มต้นชีวิตการเมืองโดยสมัครเข้าเป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ เมื่อ พ.ศ.2511 เริ่มลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาเทศบาลกรุงเทพมหานคร ใน พ.ศ.2514 และลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรครั้งแรก ใน พ.ศ.2518 ในชีวิตการเมืองเคยดำรงตำแหน่งสำคัญหลายตำแหน่งตลอดเวลาที่เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมัครได้รับการแต่งตั้งในคณะรัฐมนตรีหลายตำแหน่ง ได้แก่
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในรัฐบาล หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช 2 (15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2518 - 13 มีนาคม พ.ศ. 2518)
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ในรัฐบาล หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช 3 (20 เมษายน พ.ศ. 2519 - 23 กันยายน พ.ศ. 2519)
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในรัฐบาล นายธานินทร์ กรัยวิเชียร (8 ตุลาคม พ.ศ. 2519 - 19 ตุลาคม พ.ศ. 2520)
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ในรัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ 2 (30 เมษายน พ.ศ. 2526 - 5 สิงหาคม พ.ศ. 2529)
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ในรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ (9 ธันวาคม พ.ศ. 2533 - 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2534)
รองนายกรัฐมนตรี ในรัฐบาล พล.อ.สุจินดา คราประยูร (7 เมษายน พ.ศ. 2535 - 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2535)
รองนายกรัฐมนตรี ในรัฐบาล นายบรรหาร ศิลปอาชา (13 กรกฎาคม พ.ศ. 2538 - 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2539)
รองนายกรัฐมนตรี ในรัฐบาล พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ (25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2539 - 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2540)
นายกรัฐมนตรี (29 มกราคม - 9 กันยายน พ.ศ. 2551)
ผู้ว่าคะแนนล้านคนเดียวของกทม.
ชาวกรุงเทพมหานครเลือกนายสมัครเป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครด้วยคะแนนเสียงเกินล้านคะแนนเป็นคนแรก และยังไม่มีใครทำลายสถิติลงได้จนบัดนี้
เมื่อครบวาระ 4 ปี นายสมัครตัดสินใจไม่ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร สมัยที่ 2 แต่เบนเข็มมาลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภา กรุงเทพมหานคร ในการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2549 ผลการนับคะแนน นายสมัคร สุนทรเวช ได้รับเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภา ด้วยคะแนนเสียงเป็นอันดับสองของประเทศ รองจาก ร.ต.อ.นิติภูมิ นวรัตน์ ที่ได้คะแนนเสียงเป็นอันดับที่ 1 แต่ ร.ต.อ.นิติภูมิ ยังไม่ทันได้รับการรับรองตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภาจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง เนื่องจากมีผู้ร้องเรียนเรื่องการไปขึ้นเวทีปราศัยของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ที่อาจถือได้ว่าเป็นการหาเสียง และขัดต่อกฎหมายเลือกตั้ง ก่อนที่จะมีการชี้ขาดเรื่องดังกล่าว การเลือกตั้งวุฒิสภา พ.ศ.2549 ก็ได้ถูกยกเลิก เนื่องจากเหตุการณ์รัฐประหาร 19 กันยายน พ.ศ.2549 ทำให้นายสมัครต้องพ้นจากตำแหน่ง โดยไม่มีโอกาสได้ปฏิบัติหน้าที่ใดๆ ในฐานะสมาชิกวุฒิสภา
การดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
นายสมัคร สุนทรเวช ทำพิธีรับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ที่บ้านพัก นายสมัคร สุนทรเวช แถลงข่าว ที่ศูนย์แถลงข่าวรัฐบาล ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาลดูเพิ่มที่ การลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีของประเทศไทย มกราคม พ.ศ. 2551 และ คณะรัฐมนตรีคณะที่ 57 ของไทย
เมื่อวันที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2551 สภาผู้แทนราษฎรมีมติเห็นชอบให้นายสมัครเป็นนายกรัฐมนตรี โดยมี นายยงยุทธ ติยะไพรัช ประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ พระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี วันที่ 6 กุมภาพันธ์ นายสมัครยังได้รับโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม อีก 1 ตำแหน่ง ซึ่งเป็นพลเรือนคนที่ 3 ที่ดำรงตำแหน่งนี้ แต่ยังถูกกล่าวหาจากกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยถึงการดำรงตำแหน่งของนายสมัคร สุนทรเวช นี้ว่าเป็นนอมินี(ตัวแทน)ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีที่ถูกศาลตัดสินลงโทษจำคุกในข้อหาเซ็นชื่อยินยอมให้ภรรยาซื้อที่ดินตามกฎหมาย
ทำกับข้าวถูกปลด เป็นกบฎถูกปล่อย
ต่อมาวันที่ 9 กันยายน พ.ศ.2551 นายชัช ชลวร ประธานตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ พร้อมคณะ ได้ออกนั่งบัลลังก์อ่านคำวินิจฉัยในกรณีที่ประธานวุฒิสภาส่งความเห็นของสมาชิกวุฒิสภาและคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยความสิ้นสุดการเป็นนายกรัฐมนตรีของนายสมัคร ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 มาตรา 267 ประกอบมาตรา 182(7) เนื่องจากรับเป็นพิธีกรกิตติมศักดิ์ ของรายการ “ชิมไปบ่นไป” และ “ยกโขยง 6 โมงเช้า” ซึ่งคณะตุลาการฯ มีมติเป็นเอกฉันท์ 9 ต่อ 0 เสียง เห็นว่านายสมัครกระทำต้องห้ามขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 267 เรื่องคุณสมบัติของนายกรัฐมนตรี จึงทำให้นายสมัครสิ้นสุดความเป็นนายกรัฐมนตรีลง แต่ให้คณะรัฐมนตรีรักษาการไปจนกว่าจะมีนายกรัฐมนตรีคนใหม่
นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2551 นายสมัครยังได้ลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรคพลังประชาชนอย่างไม่เป็นทางการ โดยให้เหตุผลว่าได้ทำหน้าที่หัวหน้าพรรคและรักษาระบอบประชาธิปไตยอย่างดีที่สุดแล้ว จึงขอยุติบทบาททางการเมือง ส่วนการดำเนินการตัดสินใจในเรื่องต่างๆ ให้ขึ้นอยู่กับพรรค
เผชิญหน้าพันธมารหัวใจบอด ก่อนกลับมาถึงอนิจกรรมในไทย
หลังพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี นายสมัครเคยเดินทางไปรักษาตัวที่สหรัฐฯแต่ไม่วายโดนพวกพันธมิตรหัวใจบอดในสหรัฐฯไปยกป้ายประท้วงว่า"เวรกรรมมีจริง" จนทำให้คนไทยทั่วโลกพากันประณามคนกลุ่มนี้ ต่อมานายสมัครเข้าพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ระหว่างวันที่ 3 ตุลาคม - 3 พฤศจิกายน พ.ศ.2551 เนื่องจากป่วยเป็นโรคมะเร็งตับ โดยไม่เป็นที่เปิดเผยมากนักแต่พันธมิตรยังพูดในทำนองสาปแช่งนายสมัครตลอด โดยเฉพาะนางสาวอัญชลี ไพรีรักษ์ ผู้ดำเนินรายการเวทีหญิงของพันธมิตร
แม้แต่ข่าวของเวบASTVผู้จัดการเรื่องการถึงแก่อนิจกรรมของสมัคร ก็ยังปล่อยให้พวกหัวใจบอดเข้ามาสาปแช่งให้ร้ายอดีตนายกรัฐมนตรีผู้วายชนม์อย่างไร้สำนึกของความเป็นมนุษย์
ปกติเวบผู้จัดการASTVมักจะเซ็นเซอร์ข้อความที่มีผู้แสดงความคิดเห็นท้ายข่าวอย่างระมัดระวังไม่ให้เป็นผลเสียต่อกลุ่มการเมืองของตน หรือบางข่าวก็งดไม่ให้แสดงความคิดเห็นเลย แต่สำหรับข่าวนี้ได้เปิดฟรีเต็มที่