โดย อริน (คนหนังสือพิมพ์ที่อยู่ในวงการมานาน 37 ปี)
27 พฤศจิกายน 2552
"...สูคนหนังสือพิมพ์***********
มาแปลงเพศเป็นคนพาล
ทรยศอุดมการณ์
วิชาชีพอันลือชา
อาวุธหนังสือพิมพ์
คือปลายคมแห่งปากกา
เป็นทวนอันคมกล้า
และโคมทองอันวาววาม
.........
...ในมือสูถือทวน
แต่เดินทวนกระแสธาร
ถือทวนพิทักษ์มาร
แลทิ่มแทงผู้เทิดธรรม"
คอลัมน์กวีในหนังสือพิมพ์ "ประชาธิปไตย" ฉบับประจำวันที่ 9, 11, 12, 14, 15 สิงหาคม 2507 ลงตีพิมพ์บทกวี ชื่อ "วิญญาณหนังสือพิมพ์" ประกอบด้วยฉันทลักษณ์ 3 แบบ โคลงสี่สุภาพ-กาพย์ยานีลำนำ-โคลงห้าพัฒนา ภายใต้นามปากกา "กวี ศรีสยาม"
และในเวลาต่อมาเป็นที่รู้จักกันดีว่า คือ จิตร ภูมิศักดิ์ ปัญญาชน-นักคิด-นักเขียน-ฝ่ายประชาชนคนสำคัญของไทยหลังกึ่งพุทธกาล และในเวลาต่อมามีเหตุจำเป็นต้องจากบ้านเกิดเข้าร่วมการต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธ ภายใต้การนำของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ที่ในวันนี้คงเหลือแต่ชื่อ และความทรงจำหลากหลายแง่มุม
สาเหตุหลักเพียงประการเดียว สำหรับผู้คนส่วนข้างมาก ไม่เฉพาะจิตร ภูมิศักดิ์ พาตัวเองไปสู่สิ่งที่ใครหลายๆคนเชื่อว่าเป็นการไป "ตกระกำลำบาก" คือ ความบีบคั้นจากน้ำมือของระบอบเผด็จการทหารที่สืบเนื่องยาวนานในสังคมประชาธิปไตยกระท่อนกระแท่น
วันเวลาอย่างนั้น จึงจะอธิบายคำจำกัดความ "จำกัด-ละเมิด-คุกคามสื่อ" ได้ชัดเจน
วันเวลาที่ "เสรีชน" ไม่มี "ไม่มีเสรีภาพ" หรือเกือบจะตั้งคำถามกันได้ว่า "มีเสรีชนจริงหรือไม่?"... เสรีชนเป็นๆ ตัวจริงเสียงจริง ที่พูดได้อย่างที่คิด ไม่ใช่หุ่นชักไร้ชีวิตที่คอยขยับปากและอวัยวะอื่น ตามความประสงค์ของ "นายหุ่น"
กวีนิพนธ์หลายชิ้น บทความหลายบท ของนักคิดนักเขียน ร่วมสมัยกับจิตร ภูมิศักดิ์ ผลิตขึ้นภายใต้สถานการณ์ลำเค็ญ... บ้างอยู่ในเรือนจำหรือที่คุมขังอื่นของรัฐเผด็จการทหาร บ้างอยู่ใต้ "พร่างพรายแสง... ดาวดวงน้อยสกาว" (จากเพลง "แสงดาวแห่งศรัทธา" โดย จิตร ภูมิศักดิ์ เช่นเดียวกัน)
จากปี 2544 ตรงกันข้ามกับสถานการณ์คุกคามสื่อจากอำนาจรัฐ หัวโจกสื่อ "ฝ่ายตรงข้ามรัฐบาล" ซึ่งในรัฐประชาธิปไตยที่ไหนก็ไม่เคยมี แพร่ข้อความชนิด "หนักหน่วงรุนแรง" ตามแรงเชียร์ของ "พันธมิตรฯ" และ "บริษัทบริวาร" ขนาดไหนก็ได้ ชุมนุมผู้คนที่แสดงอากัปกิริยา "ก้าวร้าว-ต่ำทราม" ขนาดไหนก็ได้ (ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็น "exhibitionist")
ก็เห็นจะจะกับสองตากลางสนามหลวงเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2549 ผู้คนจำนวนหนึ่งไปด้วยความอยากเปิดกว้างทางความคิด แล้วมีอันให้ต้องผงะ หันหลังกลับแทบไม่ทัน เมื่อสองหูสองตามีอันต้องเสพรับอย่างเลี่ยงไม่ได้ กับความ "กักขฬะหยาบช้า" เข้าเต็มเปา โดยอาศัยใบปะหน้า "ประชาธิปไตย" ที่สีสันเจื่อนเพี้ยนกระดำกระด่างเต็มทีแล้วในพ.ศ.ปัจจุบัน
ประวัติศาสตร์ช่างซ้ำรอยเพื่อประจานภาวะพายเรือในอ่างของกระบวนการประชาธิปไตยที่ ถูกบิดเบือนครอบงำ โดยกลุ่มปฏิปักษ์ประชาธิปไตยที่แปลงรูปมากจากนักประชาธิปไตยในห้วงเวลาไกล โพ้น บางคนถึงกับเผลอหลุดคำสารภาพกึ่งรำพึงถึง "ความเย้ายวนของอำนาจ" ที่ยากปฏิเสธ
ทุกวาทกรรม ทุกคำกล่าวหา ตลอดเวลาครึ่งทศวรรษมานี้ หากพิจารณาให้ถี่ถ้วนและเป็นธรรม จะเห็นการย้อนรอยในลักษณะ "ขโมยร้องจับโจร" ยังไงยังงั้น
จะเป็นปราชญ์หรือปาดก็ดี จะเป็นนักวิชาการหรือนักวิชาเกินก็ดี จะมีอาวุโสหรืออ่อนอาวุโสก็ดี จะเป็นพลเมืองหรือเป็นราษฎรก็ดี ที่ประสานเสียงแปร่งปร่าของคำว่า "ทักซิโนมิกส์" นั้น คือต้นทางของการแบ่งแยกผู้คนในสังคมให้เป็นฝักเป็นฝ่ายไปเรียบร้อยแล้ว
"ปฏิกูล" จากสนามหลวงเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ นั้นเอง ที่ดึงดูดฝูงแมลงวันนับร้อยนับพันให้ลงเสพกลืน อาศัยเป็นภักษาหารเลี้ยงชีวิต และยังเพาะเชื้อความเน่าเหม็น สั่งสมนำมาเสพกลืนต่อเนื่องมาจนทุกวันนี้
"หยุดก่อน... หยุดก่อน... หยุดก่อน..." (จากวรรคนำเพลง “หยุดก่อน” ของ กลุ่มคนดนตรี "คาราวาน" เมื่อครั้งอยู่บ้านเช่ากินข้าวแกงข้างถนน ยืนเคียงบ่าเคียงไหล่กับประชาสามัญชน)
วลีอย่างนั้นใน 3 ปีของการต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งประชาธิปไตย ควรที่จะหวนนำกลับมาเรียกร้องกันอีกหน ด้วยความหมายเดิม และมีเป้าหมายเดิมไปที่กลุ่มอภิชนา-อำมาตยาธิปไตย-เผด็จการทหารทุกรูปแบบ
ที่สำคัญอย่างยิ่งในโลกสื่อสารไร้พรมแดน คือเน้นการเรียกร้องไปที่ "กระบอกเสียง" ทุกรูปแบบ สื่อทุกสื่อ ให้ "หยุด" สร้างความชอบธรรม-เสริมความแข็งแกร่ง ให้แก่ระบอบอำมาตยาธิปไตย
"หยุด-ถือทวนเดินทวนกระแสธาร หยุด-ถือทวนพิทักษ์มาร"
นั่นคือ สื่อทั้งหลายจง "หยุด" เพื่อพิจารณาทบทวนจุดยืนและบทบาทในชั่วเวลา 3 ปีมานี้ โดยยึดถือผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนส่วนข้างมากเป็นที่ตั้ง เหลียวหาบรรดาผู้คนที่ "เป็นเพื่อนทุกข์ด้วยกันทั้งนั้น" และ...
ปฏิเสธการรับใช้กลุ่มอำนาจทั้งมวล ที่เป็นปฏิปักษ์กับระบอบประชาธิปไตย
นั่นคือ กลับมายืนอยู่ข้างเดียวกับประชาชนเถิดครับ ถ้าเรารักประชาธิปไตยอย่างที่ปากพูดและอย่างที่ปากกาเขียน
หยุดมีชีวิตอยู่เพียงเพื่อสนองประโยคเลื่อนลอย-เก่าคร่ำคร่า-เร่อร่า-ล้าสมัย-ไร้จุดยืน อย่าง "แมลงวันย่อมไม่ตอมแมลงวันด้วยกัน".