ไม่เพียงแต่เป็นความสูญเสียบุคคลผู้มีความรู้ มีประสบการณ์ทางการเมืองอย่างหาตัวเทียบได้ยากแล้ว แต่การถึงแก่อนิจกรรมของ คุณสมัคร สุนทรเวชนายกรัฐมนตรีคนที่ 25 ของประเทศไทย คือการปิดฉากชีวิตของปราชญ์แห่งสยามอีกคนหนึ่งด้วย
ความรอบรู้ในเกือบทุกด้านที่มีอยู่ในตัวของคุณสมัคร ไม่ว่าจะเป็น ด้านการเมือง สังคม เศรษฐกิจ ภาษา ศาสนา วัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ ธรรมชาติ รวมทั้งศิลปะแขนงต่างๆ เป็นที่ประจักษ์ชัดแก่สังคมไทยมานานกว่า 60 ปี และนี่คือคุณลักษณะสำคัญ คุณลักษณะพิเศษสำหรับผู้ที่อยู่ในวิชาชีพสื่อมวลชน และอาชีพนักการเมือง
ด้วยเหตุที่ท่านเป็นสัพพัญญูรอบรู้ในหลายด้านนี่เอง ที่ทำให้ คุณสมัคร สุนทรเวช เป็นสื่อมวลชนชั้นครู และเป็นปรมาจารย์ทางด้านการเมืองคนสำคัญ และเป็นคนต้นแบบให้กับคนรุ่นหลังที่หวังจะประสบความสำเร็จในวิชาชีพนี้ได้ยึดถือเป็นแบบอย่างจวบจนปัจจุบัน
นับเป็นเกียรติอย่างยิ่ง และถือเป็นโชคอย่างมากด้วย ที่ผู้เขียนได้มีโอกาสสัมภาษณ์ คุณสมัคร สุนทรเวช อยู่หลายครั้ง ทั้งในรายการ “ตัวจริงชัดเจน” และรายการ “ถามจริง ตอบตรง” ทุกครั้งที่ผู้เขียนได้มีโอกาสสัมภาษณ์คุณสมัคร ท่านก็จะสอน ให้ความรู้ กับผู้เขียนในการเป็นสื่อมวลชนที่ดีในหลายเรื่อง
เช่น การเถียงแย้งต่อคำถามพิธีกร หรือต่อสิ่งที่ผู้เขียนถาม หรือการถามสวนพิธีกรกลับ หรือการยั่วให้พิธีกรเกิดอารมณ์ เพื่อดูว่า พิธีกรท่านนั้นจะแก้ปัญหาเฉพาะหน้าอย่างไร ทีแรกผู้เขียนก็ไม่เข้าใจว่าทำไมท่านถึงทำเช่นนั้น เพราะจะทำให้พิธีกรดูโง่ และแย่เอามากๆ ในสายตาของคนที่ดูอยู่ที่บ้าน ขณะเดียวกันคำถามก็ไม่สามารถควบคุมให้อยู่ในประเด็นได้
หลายครั้งที่ผู้เขียนเองก็เคยตกอยู่ในสถานการณ์เหล่านี้ เพราะไม่อาจจะควบคุมรายการให้เป็นไปตามประเด็นที่วางไว้ได้ แต่พอหลังรายการจบ หรืออยู่ในช่วงเบรกเข้าโฆษณา (คุณสมัคร มักจะบ่นเสมอเมื่อจะขอเบรกโฆษณา เพราะรู้สึกว่ายังพูดไม่ได้เนื้อได้หนัง แต่ตัดเข้าโฆษณาเสียอีกแล้ว) คุณสมัคร จะพูดให้กำลังใจและอธิบายความถึงเหตุผลที่แท้จริงของท่านว่า ถ้าจะให้รายการสนุกต้องไม่มีสคริปต์ หรือต้องไม่กังวลกับสคริปต์ ทางที่ดีควรจะเป็นรายการสด ไม่ควรจะบอกก่อนด้วยซ้ำว่าจะถามอะไรบ้าง
และระหว่างพิธีกรกับแขกที่มาร่วมรายการ ควรจะมีการโต้เถียง มีการแย้ง มีสวนมีศอกกันบ้าง เพื่อให้คนดูสนุก อย่าทำรายการทอล์คโชว์ให้เป็นเหมือนรายการตอบปัญหาเชาว์ หรือรายการสอบสัมภาษณ์ อย่างครูถามนักเรียน เพราะคนดูเขาไม่ชอบ คนดูเขาชอบอะไรที่มีสีสัน ได้อารมณ์
ก่อนเข้ารายการก็เหมือนกัน คุณสมัคร คงทราบว่าผู้เขียนเป็นกังวล เพราะไม่รู้ว่าจะรับมือกับ พิธีกรมืออาชีพผู้รอบรู้ทุกเรื่อง และนักการเมืองผู้ปราดเปรื่องท่านนี้ได้อย่างไร แต่คุณสมัครก็พูดให้กำลังใจ ให้ทำใจให้สบาย อย่าเกร็ง ซึ่งหลังรายการจบแล้ว คุณสมัคร ก็คือคนแก่ที่ใจดี มีเมตตาและมีความกรุณาอย่างยิ่ง
อีกครั้งหนึ่ง และดูเหมือนจะเป็นครั้งสุดท้ายที่ผู้เขียนได้มีโอกาสสัมภาษณ์คุณสมัคร สุนทรเวช ในรายการ “ถามจริงตอบตรง” ทางสถานีโทรทัศน์ เอ็นบีที.ช่อง 11 ในโอกาสครบรอบ 3 เดือนของการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
ผู้เขียนถามถึงประเด็นที่ท่านมักมีปัญหากับสื่อมวลชน อยู่บ่อยครั้ง ทั้งในการให้สัมภาษณ์ การออกรายการโทรทัศน์ (ส่วนใหญ่ท่านมักจะปฏิเสธที่จะไปออกรายการเพื่อสัมภาษณ์พิเศษ) ถ้าว่ากันจริงๆ แล้วคุณสมัคร ชอบที่จะให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนอย่างยิ่ง แต่ต้องเป็นคนที่คุยกันถูกคอ ไม่มีเจตนาสงสัยกับสังกัดของสถาบันสื่อนั้น
อาจจะด้วยสถานการณ์ทางการเมืองที่ตึงเครียดในขณะที่ท่านดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอยู่ก็ได้ ท่านจึงมีความเชื่อว่า สังคมแตกแยกขัดแย้งก็เหตุเพราะสื่อมวลชนประการหนึ่งด้วย บวกกับความเป็นคนที่เข้าถึงวิธีคิดของคนทำสื่อ เพราะความเป็นสื่อมวลชนเก่าแก่มาก่อน
ดังนั้น คุณสมัครมักจะไม่ฟังเพียงคำถาม ว่านักข่าวจะถามท่านเรื่องอะไร แต่ท่านจะดูด้วยว่า ผู้ถามนั้นเป็นใคร และอยู่สำนักไหน หากเป็นนักข่าวหรือสำนักข่าวที่ท่านสงสัยในเจตนาในการทำข่าว ท่านก็มักที่จะไม่ตอบคำถามนั้นในทันที แต่จะใช้วิธีการยียวนกวนให้แย้ง หรือบางครั้งอาจจะโต้กลับด้วยคำถาม หรือคำพูดที่รุนแรง
แทนที่จะได้คำตอบก็จะไม่ได้อะไรเลย แต่จะได้บทสวดสื่อ หรือคำวิจารณ์ ติเตียนไปแทน หรือบางคำถาม เป็นคำถามที่ท่านไม่อยากตอบ ท่านก็จะปฏิเสธอย่างตรงไปตรงมาว่าไม่ตอบคำถามเหล่านั้น พร้อมทั้งตำหนิ สั่งสอนผู้ถามว่าให้กลับไปทำการบ้านมาใหม่ หรือพูดให้รู้ว่า นักข่าวคนนั้นไม่รู้จริง
นี่คือปรากฏการณ์ที่ไม่เห็นบ่อยนักในการทำงานร่วมกันระหว่างนักข่าวกับนายกรัฐมนตรี และต้องไม่ลืมว่า ด้วยคุณสมบัติพิเศษเช่นนี้เอง ที่ทำให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เลือก คุณสมัคร สุนทรเวช ขึ้นมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
ซึ่งก็เป็นไปตามความคาดหมาย เมื่อสื่อมวลชนส่วนใหญ่ ไม่คุ้นเคยกับคุณลักษณะของนายกรัฐมนตรีที่มีท่าทีแข็งกร้าว ไม่แคร์สื่อ และยังตอบโต้สื่ออย่างรุนแรงในหลายกรณี จึงทำให้เกิดกระแสการต่อต้านจาก สมาคมวิชาชีพสื่อ โดยมีการออกแถลงการณ์ คัดค้านท่าทีที่แข็งกร้าว และดุดัน ของคุณสมัคร โดยมองว่าคุณสมัคร กำลังคุกคามและแทรกแซงสื่อ
หลายคนอาจจะมองว่า คุณสมัครคิดผิด ที่เป็นปฏิปักษ์กับสื่อ หรือเป็นศัตรูกับสื่อเพราะคุณสมัครเป็นทั้งผู้นำรัฐบาล และเป็นนักการเมือง ทางที่ดีควรจะต้องผูกมิตรกับสื่อให้ได้มากที่สุด แต่ในอีกด้านหนึ่งผู้เขียนกลับมองว่า นี่เป็นปรากฏการณ์ที่สะท้อนให้เห็นว่า สื่อสารมวลชนไทยยังไม่กล้าเปิดรับกับคำวิพากษ์วิจารณ์อย่างตรงไปตรงมา สื่อสารมวลชนไทยยังไม่คุ้นเคยกับเรื่องการเป็นฝ่ายถูกตรวจสอบเสียเอง ที่สำคัญสื่อมวลชนไทย ยังไม่ยอมรับความแตกต่างที่ผิดแผกไปจากสิ่งที่ตัวเองคิด
ผู้เขียนเคยถามคุณสมัครในรายการที่ได้มีโอกาสสัมภาษณ์ท่านเป็นครั้งสุดท้ายว่า การเป็นนายกรัฐมนตรี ต้องเป็นแบบอย่าง ดังนั้นการให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนทำไมถึงจะพูดจากันดีๆ ไม่ได้ คำตอบของท่านสมัคร ทำให้ผู้เขียนได้ฉุกคิดว่า การสัมภาษณ์เพื่อต้องการความจริง จากตัวตนที่แท้ของแหล่งข่าว เป็นสิ่งจำเป็น ไม่ว่าแหล่งข่าวจะคิด จะเชื่อ หรือจะปฏิบัติอย่างไร พิธีกร หรือ โปรดิวเซอร์รายการ ก็ไม่อาจจะไปควบคุม หรือต้อนให้จนมุมเหมือนเป็นลูกไก่อยู่ในกำมือ เพราะมันไม่ใช่ความจริงและตัวตนที่แท้ของแหล่งข่าวท่านนั้น ซึ่งหากนำเสนอสิ่งที่ไม่ใช่ความจริงแท้ของแหล่งข่าวท่านนั้นแล้ว คนที่ดูอยู่ที่บ้านจะวินิจฉัยหรือตัดสินใจอย่างถูกต้องได้อย่างไร
พิธีกร หรือ โปรดิวเซอร์รายการ ไม่อาจจะเปลี่ยนแปลงแหล่งข่าวให้กลายเป็นคนอื่นขณะที่ให้สัมภาษณ์ เพราะนั่นไม่ใช่ความจริง และไม่ใช่ตัวตนที่แท้จริงของเขา
ดังนั้น จึงไม่แปลกที่ พิธีกร ที่สัมภาษณ์ คุณสมัคร อาจจะถูกต้อน ถูกย้อน หรือถูกสวนกลับ ชนิดที่เรียกว่าหงายเก๋งกลางอากาศ จากคุณสมัคร เพราะนี่คือตัวตนที่แท้จริงของแหล่งข่าวท่านนี้ และนี่คือสีสันและรสชาติของรายการทอล์คโชว์ที่คนดูชอบ อีกประการหนึ่ง พิธีกร ก็ไม่จำเป็นต้องแสร้งทำเป็นเชี่ยวชาญ รู้ไปเสียทุกเรื่อง โง่บ้างในบางเรื่องก็ได้ เพราะมันคือความจริง
ดังนั้นจากการไปของคุณสมัคร สุนทรเวช หรือ “นายหมอดี” นามปากกาที่คุณสมัครใช้แทนตัวเองในการเขียนคอลัมน์ลงในหนังสือพิมพ์ สยามรัฐ โดยแปลความมาจากนามสกุล สุนทรเวช ซึ่งเป็นต้นตระกูลแพทย์ นับเป็นการสูญเสียปรมาจารย์ด้านสื่อมวลชนผู้เปี่ยมไปด้วยความสามารถอีกท่านหนึ่ง
ขอดวงวิญญาณของท่านจงสุขสงบในสัมปรายภพ และขอได้รับการอโหสิกรรมจากคนไทยอีกจำนวนไม่น้อย