บล็อคข่าวส่งเสริมคนดี (รักดีหามจั่ว รักชั่วหามเสา หามจั่วก็หนักนะ)

ข่าวจากสื่อ

บทความจากสื่อ

วันเสาร์ที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

การพิสูจน์สัญชาติแรงงานพม่า: สานเสวนาที่มีความหมาย

ที่มา ประชาไท

รัฐบาลไทยเน้นย้ำนโยบายให้แรงงานข้ามชาติพม่าประมาณ 2 ล้านคนที่ทำงานในประเทศไทยต้องเปลี่ยนสถานะเป็นแรงงานถูกกฎหมาย กระบวนการการพิสูจน์สัญชาติเป็นขั้นตอนสำคัญที่แรงงานข้ามชาติต้องดำเนินการ เนื่องจากแรงงานข้ามชาติเหล่านี้เดินทางเข้าสู่ประเทศไทยโดยไม่ได้รับอนุญาต และ "ผิดกฎหมาย "

เมื่อมีนายหน้าจำนวนมากเข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินการ เเละเศรษฐกิจไทยหลายภาคส่วนยังต้องพึ่งพาแรงงานเหล่านี้ การเข้าสู่กระบวนการจึงทำได้ง่ายหากจ่ายเงิน แม้ว่าแรงงานข้ามชาติจะได้ขึ้นทะเบียนและทำงานได้อย่าง "ถูกกฎหมาย" ในประเภทงานที่อันตรายที่สุดของไทย แต่สถานภาพของเขาเหล่านั้นยังคงถูกตีตราว่า "ผิดกฎหมาย รอการส่งกลับ" นอกจากนั้น เมื่อประสบอุบัติเหตุจากการทำงาน แรงงานข้ามชาติก็ไม่ได้รับการคุ้มครองจากกองทุนเงินทดแทน ไม่มีสิทธิในการขับขี่รถจักรยานยนต์ และเดินทางออกนอกพื้นที่จังหวัดที่ได้รับอนุญาตให้ทำงาน แรงงานข้ามชาติอยู่ในพื้นที่สีเทาเสมือนหลุมดำที่เต็มไปด้วยความไม่มั่นคงและการกดขี่ขูดรีด

ดังนั้น การดำเนินการเพื่อแก้ไขสถานการณ์ที่อยุติธรรมจึงมีความจำเป็นอย่างเร่งด่วน การพิสูจน์สัญชาติหมายความว่าแรงงานข้ามชาติจะได้สถานะของ "คนพม่า" และ "ถูกกฎหมาย" ในเวลาเดียวกัน แรงงานข้ามชาติจะได้รับหนังสือเดินทาง "ชั่วคราว" ที่จะทำให้ได้รับสิทธิประโยชน์ต่างๆ ที่เคยถูกปฏิเสธมาก่อนหน้านี้

เนื่องจากกระบวนการพิสูจน์สัญชาติ มีขั้นตอนที่ต้องเกี่ยวข้องกับรัฐบาลทหารพม่า ย่อมมีความยากลำบากนานัปการเกิดขึ้นได้เสมอ ก่อนหน้านั้น การพิสูจน์สัญชาติ กัมพูชาและลาว ดำเนินการโดยที่ประเทศต้นทางส่งทูตเข้ามาดำเนินการพิสูจน์สัญชาติในประเทศไทยทุกขั้นตอนจนแล้วเสร็จ แต่พม่ายืนยันว่าต้องให้แรงงานข้ามชาติเดินทางกลับพม่า เพื่อไปพิสูจน์สัญชาติ กระบวนการพิสูจน์สัญชาติอยู่ในภาวะชะงักงันมาจนกระทั่งปีที่เเล้ว เมื่อไทยตกลงให้ดำเนินการพิสูจน์สัญชาติในพม่า

ผู้สังเกตการณ์หลายคน รวมทั้งกลุ่มการเมืองที่ต่อสู่กับรัฐบาลทหารพม่ามาตลอด 60 ปี จับสังเกตได้ว่าการพิสูจน์สัญชาติมิใช่ทางออกมหัศจรรย์สำหรับประเทศไทยในการเเก้ปัญหาความท้าทายของการอพยพย้ายถิ่นอย่างอปกติ ทว่า กระบวนการนี้มีกลิ่นไม่ค่อยจะดี จริงหรือไม่ที่การพิสูจน์สัญชาติเป็นกระบวนการที่มีเเต่ได้กับได้ หากกระบวนการนี้มิได้เป็นเช่นนั้นจริง ก็มีแนวโน้มว่าชีวิตแรงงานข้ามชาติหลายล้านคน กำลังตกอยู่ในความเสี่ยง

ขณะนี้แรงงานหลายคนส่งข้อมูลส่วนบุคคลให้เจ้าหน้าที่พม่า เเละเดินทางไปฝั่งพม่าเพื่อดำเนินการพิสูจน์สัญชาติ ศูนย์ประสานงานการพิสูจน์สัญชาติทั้งหกศูนย์ที่ตั้งอยู่เมืองสำคัญชายแดนสามแห่ง ทั้งในฝั่งไทยเเละพม่าเริ่มดำเนินการได้ตั้งเเต่เดือนสิงหาคม เเละมีเเผนว่าจะเปิดศูนย์ประสานงานการพิสูจน์สัญชาติเพิ่มอีกสองเเห่ง เมื่อผ่านกระบวนการเเล้ว แรงงานพม่าจะได้รับหนังสือเดินทาง "ชั่วคราว" และวีซ่าสองปี

ทว่า สำหรับเเรงงานหลายคน การพิสูจน์สัญชาติเป็นฝันสุดเลวร้ายเเละเป็นสิ่งที่ไม่ควรลองเป็นอย่างยิ่ง

ประการเเรก การพิสูจน์สัญชาติมีอันตราย โดยเฉพาะสำหรับเเรงงานข้ามชาติที่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์กลุ่มน้อยซึ่งยังประกาศสงครามกับพม่า การที่แรงงานต้องติดต่อกับรัฐบาลทหารพม่าโดยตรง เป็นเรื่องน่าหวั่นเกรง และปลุกเร้าความกลัวว่าตนเองเเละครอบครัวจะมีภยันตรายถึงเเก่ชีวิต หรือถูกจับกุมคุมขัง

ประการที่สอง การพิสูจน์สัญชาติมีความซับซ้อน เเละไม่โปร่งใส ไทยไม่ได้ดำเนินการประชาสัมพันธ์สร้างความตระหนักรู้ ทางการเพียงเเค่บอกแรงงานว่า หากไม่พิสูจน์สัญชาติภายใน 28 กุมภาพันธ์ 2553 ก็ต้องถูกผลักดันออกนอกประเทศ ใบปลิวจากรัฐบาลพม่าเป็นเพียงข้อมูลอย่างเป็นทางการเเหล่งเดียวที่สามารถหาได้ ใบปลิวอ้างว่า การพิสูจน์สัญชาติ "ปราศจากความเสี่ยง ไม่เเพง เเละเป็นมิตร" ในความเป็นจริง มีแรงงานไม่กี่คนเท่านั้นที่เชื่อรัฐบาลทหารพม่า

ประการที่สาม การพิสูจน์สัญชาติมีค่าใช้จ่ายสูง ขณะนี้ราคาอยู่ที่ 3,000 ถึง 10,000 ต่อคน มีนายหน้าที่ไม่ได้รับการควบคุม รอรีดเงินจากเเรงงาน เพราะท้ายที่สุดแล้ว กระบวนการที่มีถึง 13 ขั้นตอน เป็นเรื่องจำเป็นต้องมีใครสักคนแนะนำ ค่าดำเนินการนี้ไม่เหมาะสม โดยเฉพาะเมื่อการขึ้นทะเบียนแรงงานรอบล่าสุดเพิ่งสิ้นสุดลง และเเรงงานได้ค่าเเรงต่ำ

กระบวนการที่ปิดลับทำให้เกิดเสียงเล่าข่าวลือต่างๆ นานา เช่น ครอบครัวของแรงงานที่พยายามพิสูจน์สัญชาติจะถูกยึดที่ดิน แรงงานจากกรุงเทพฯ ถูกจับทันทีที่เมียวดี เเละถูกส่งไปขังที่คุกอินเซ่น มีการขูดรีดอย่างกว้างขวางจากเจ้าหน้าที่รัฐบาลทหารพม่า แรงงานหลายคนฆ่าตัวตายเพื่อเลี่ยงการพิสูจน์สัญชาติ น้อยครั้งนักที่สามารถพิสูจน์ได้ว่าข่าวลือเป็นความจริง ทั้งเจ้าหน้าที่ไทยเเละพม่าต่างปฏิเสธข่าวลือทันทีที่พบสื่อที่กรุงเทพฯ เมื่อไม่นานมานี้

แรงงานข้ามชาติมีคำถามที่น่ากังขาอย่างมากต่อกระบวนการพิสูจน์สัญชาติ เเต่กลับไม่ได้รับคำตอบอย่างเพียงพอ เช่น จะพิสูจน์สัญชาติได้อย่างไร ใช้เวลาดำเนินการเท่าใด ทำไมจึงไม่รวมชาวมุสลิมในกระบวนการพิสูจน์สัญชาติด้วย ประโยชน์ที่จะได้รับจริงๆ แล้วมีอะไรบ้าง ทำไมพม่าจึงไม่ยอมให้ดำเนินการพิสูจน์สัญชาติในประเทศไทย การพิสูจน์สัญชาติเกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งในพม่า ในปี 2553 หรือไม่ ทั้งหมดนี้ไม่มีคำตอบอย่างเป็นทางการ ดังนั้นแรงงานจึงมองข้ามคำกล่าวใดๆ ที่ปฏิเสธว่าการพิสูจน์สัญชาติไม่มีความเสี่ยง

จำนวนแรงงานที่เข้ารับการพิสูจน์สัญชาติมีจำนวนน้อยมาก มีแรงงานพิสูจน์สัญชาติ และได้รับหนังสือเดินทางชั่วคราว เพียงประมาณ 2,000 คนจากแรงงานที่เข้าข่ายต้องพิสูจน์สัญชาติทั้งหมด 1 ล้านคน เพื่อการรณรงค์ส่งเสริมสิทธิเเรงงานข้ามชาติ เราควรยอมรับการพิสูจน์สัญชาติ ว่าโดยความเป็นจริงเเล้ว มีประโยชน์แก่แรงงาน และควรที่จะหารือกันว่าจะดำเนินการพิสูจน์สัญชาติอย่างไรให้มีประสิทธิภาพและปลอดภัย และมีทางเลือกอื่นๆ อีกหรือไม่

ตั้งแต่ช่วงต้นทศวรรษที่ 1990 ไทยดำเนินนโยบายขึ้นทะเบียนแรงงานข้ามชาติทีละส่วนๆ นโยบายนี้ไม่สามารถคุ้มครองสิทธิแรงงานและยังไม่สามารถบริหารกระเเสการอพยพ นโยบยมาตรฐานคือการออกมติคณะรัฐมนตรีให้มีการขึ้นทะเบียนแรงงานเป็นเวลา 30 วัน ทุกปี หรือบางครั้งคราวก็ประกาศอภัยโทษคนต่างด้าวทั้งหมดในประเทศไทย การขอใบอนุญาตทำงานและประกันสุขภาพเสียค่าธรรมเนียม 3,800 บาท โดยทั่วไปแรงงานข้ามชาติไม่สามารถเปลี่ยนนายจ้างได้ เจ้าหน้าที่มักไม่ค่อยทราบเรื่องการขึ้นทะเบียนแรงงาน จนกระทั่งมีการนำนโยบายไปปฎิบัติแล้ว เนื่องจากขาดความตระหนักรู้ ดูเหมือนว่า ปีนี้ก็เป็นอีกปีหนึ่ง ที่จะมีนายจ้างจำนวนไม่น้อยพาแรงงานไปเข้าสู่กระบวนการเพื่อขึ้นทะเบียนแรงงานไม่ทัน ก่อนการขึ้นทะเบียนจะสิ้นสุดลง

หากตัดสินอย่างไม่ลำเอียง การพิสูจน์สัญชาติเป็นระบบดูเหมือนจะใช้การได้มากกว่าวิธีอื่นๆ สำหรับจัดการกับกระเเสการอพยพย้ายถิ่นฐานอย่างอปกติในประเทศไทย อย่างน้อยวิธีนี้สามารถทำให้การเดินทางเข้า-ออกประเทศ ดำเนินการได้อย่างเป็นทางการ ส่งผลให้ลดการเอารัดเอาเปรียบ การลักลอบนำพาคนหลบหนีเข้าเมือง และ อาจจะรวมถึงป้องกันการค้ามนุษย์ แต่ถ้าแรงงานเหล่านี้มาจากพม่า จะมีความเปลี่ยนแปลงอะไรหรือไม่

แท้จริงเเล้ว รากเหง้าของปัญหาผู้อพยพจากพม่า คือประเทศพม่าเอง ทว่า ตราบใดที่ยังไม่สามารถแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ ไทยก็ไม่อาจปฏิเสธความรับผิดชอบในการกำหนดระบบเพื่อบริหารจัดการกับผู้อพยพข้ามชาติจากพม่า และสนับสนุนการเข้าถึงสิทธิและสวัสดิการต่างๆ ให้มีประสิทธิภาพที่สุดเท่าที่ไทยจะทำได้ นักเคลื่อนไหวทางสังคมก็ควรร่วมแบ่งเบาภาระนี้ด้วย

นโยบายการพิสูจน์สัญชาติของรัฐบาลไทย ไม่ว่าจะมีเป้าหมายเเอบแฝงอย่างไรก็เป็นนโยบายที่ควรยอมรับ เนื่องจากเป็นนโยบายที่ก่อให้เกิดการสานเสวนาอย่างมีความหมาย เมื่อแรงงานข้ามชาติกลุ่มหนึ่ง ซึ่งเป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการถูกละเมิดสิทธิมากที่สุดในโลก ถูกกดขี่อย่างเป็นระบบ จากประเทศหนึ่งที่ปฏิเสธไม่รับรู้ประโยชน์ของตน ในขณะที่อีกประเทศหนึ่งไม่ยอมตอบสนอง การสานเสวนา จะทำให้เห็นสภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออก ของแรงงานข้ามชาติพม่าที่ตรากตรำทำงานในไทย

แรงงานข้ามชาติเหล่านี้เป็นผู้ถูกกระทำจากสถานการณ์ต่างๆ ที่พวกเขาไม่มีส่วนร่วมสร้าง การที่แรงงานข้ามชาติกลายเป็นประเด็นเสวนาอย่างจริงจัง ซึ่งอาจนำไปสู่การแสวงหาทางออกที่ยั่งยืน ให้กับภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออกที่น่าเศร้าของแรงงาน ถือเป็นสิ่งเล็กน้อยที่สุดประการหนึ่ง ที่พวกเขาพึงได้รับ


หมายเหตุ: อานดี้ ฮอลล์ เป็นผู้อำนวยการโครงการยุติธรรมเพื่อแรงงานข้ามชาติ มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา
บทความนี้ตีพิมพ์ครั้งแรกในหนังสือพิมพ์ เดอะเนชั่น ฉบับวันที่ 30 ตุลาคม 2552

ข่าวส่งเสริมคนดี

จำนวนผู้เข้าเยี่มมชม

link to affordable web hosting
Powered by web hosting provider .

สถิติการเข้าชม DMNEWS

eXTReMe Tracker