ระบุเว็บบอร์ดได้รับความนิยมเพิ่มกว่า 10 เท่าหลังเหตุรัฐประหาร ยันทีมงานมีมาตรการที่เข้มงวด ให้ความร่วมมือไอซีทีในการลบข้อความไม่เหมาะสมโดยตลอด ชี้เหตุเล็ดรอดเพราะเว็บบอร์ดข้อความทะลักจากสถานการณ์ร้อนหลังเหตุการณ์ 7 ตุลา
21 ก.ย.54 ที่ห้องพิจารณาคดี 910 ศาลอาญา ถนนรัชดา มีการสืบพยานจำเลยในคดีหมายเลขดำที่ 1167/2553 ซึ่งอัยการเป็นโจทก์ฟ้องนางสาวจีรนุช เปรมชัยพร ผู้อำนวยการเว็บไซต์ประชาไท ภายใต้มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน ในความผิดตามมาตรา 15 ของพ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดกเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 กรณีที่มีผู้อ่านโพสต์ข้อความไม่เหมาะสมในเว็บบอร์ด
ทั้งนี้ มาตรา 15 ระบุความผิดของ ‘ตัวกลาง’ เจ้าของพื้นที่ซึ่งจงใจ สนับสนุนหรือยินยอมให้มีการกระทำความผิดในการโพสต์ข้อความที่เป็นความผิด
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการสืบพยานจำเลยอันได้แก่ นางสาวจีรนุช มีผู้แทนจากสถานทูตประเทศต่างๆ รวมถึงนักข่าวต่างชาติจำนวนมากเข้าสังเกตการณ์คดี และศาลได้นัดสืบพยานครั้งหน้าในวันที่ 11 ต.ค.54
ผอ.ประชาไท เบิกความว่า เว็บบอร์ดของประชาไทเปิดดำเนินการตั้งแต่ปี 47 เพื่อเป็นพื้นที่ส่งเสริมเสรีภาพในการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและข้อมูลข่าว สารของประชาชน จนถึงเดือนกรกฎาคม 2553 คณะกรรมการและทีมงานได้ตัดสินใจปิดให้บริการ เนื่องจากโดนฟ้องคดีและเกรงจะเกิดปัญหาอีกระหว่างการต่อสู้คดี อย่างไรก็ตาม จุดเปลี่ยนสำคัญของเว็บบอร์ดประชาไทคือ หลังการรัฐประหาร 2549 ที่มีผู้เข้าใช้บริการเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดกว่าสิบเท่าตัว โดยในปี 50-51 มียอดคนอ่าน 20,000-30,000 คนต่อวัน มีคนตั้งกระทู้ใหม่ราว 300 กระทู้ต่อวัน และมีการโต้ตอบแสดงความเห็นในกระทู้ต่างๆ เฉลี่ยแล้ว 2,800-2,900 ความเห็นต่อวัน ข้อความที่ถูกฟ้องนั้นเป็นของผู้ใช้นามแฝง ‘เบนโตะ’ ซึ่งโพสต์ในเดือนต.ค.51 ถือเป็นข้อความลำดับที่ 1,193,245 และหากเปรียบเทียบปริมาณการโพสต์ข้อความและการปิดข้อความไม่เหมาะสม จะพบว่าประชาไททำการปิดกั้นข้อความราว 3%
นอกจากนี้พยานยังยกตัวอย่างอีเมล์ที่เจ้าหน้าที่จากไอซีทีทำการส่ง URLs ของข้อความที่ไม่เหมาะสมจากเว็บต่างๆ เพื่อให้ผู้ดูแลเว็บต่างๆ ทำการปิดกั้น เมื่อนับและเปรียบเทียบสัดส่วนตั้งแต่ ส.ค.-พ.ย.51 แล้ว จะพบว่า URLs ที่เป็นของประชาไทนั้นมีเพียง 0.8% เท่านั้น
จีรนุช เบิกความในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการดำนินคดีว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจได้แจ้งข้อกล่าวหาจากกรณีของผู้โพสต์ข้อความที่ใช้นามแฝง ว่า ‘เบนโตะ’ ซึ่งเมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจมีจดหมายเรียกตนไปสอบปากคำในเดือนพ.ย.51 ตนก็ได้ตรวจสอบหมายเลขกระทู้ตามแจ้งและเมื่อพบข้อความดังกล่าวก็ดำเนินการลบ ข้อความทันที และไปให้ปากคำในฐานะพยาน ไม่มีการแจ้งข้อกล่าวหาตน แต่ทราบในภายหลังเมื่อได้รับเอกสารแจ้งการฟ้องคดีในเดือนธ.ค.51 จากนั้นมีการบุกจับกุมที่สำนักงานในวันที่ 6 มี.ค.52 เบื้องต้นให้การปฏิเสธและได้รับการประกันตัว ต่อมาวันที่ 7 เม.ย.52 เจ้าหน้าที่ได้แจ้งความผิดข้อหาเดียวกันอีก 9 กระทง จาก 9 URLs รวมเป็น 10 กระทง ซึ่ง 9 กระทงที่แจ้งเพิ่มเติมเป็นข้อความที่มีผู้โพสต์ไว้นานแล้วและไม่มีข้อมูล อยู่ในระบบแล้ว จึงไม่สามารถตรวจสอบได้ นอกจากนี้ในสำนวนของเจ้าหน้าที่ก็ไม่ได้ระบุรายละเอียดของข้อความทั้ง 9 แต่อย่างใด
ทั้งนี้ เมื่อเดือนต้นปี 2554 ศาลได้พิพากษายกฟ้องคดีของ ‘เบนโตะ’ เนื่องจากไม่สามารถระบุได้ว่าจำเลยเป็นผู้โพสต์ข้อความ อย่างไรก็ตาม ไอซีทีระบุว่าข้อความของ ‘เบนโตะ’ ปรากฏอยู่ในระบบ 20 วันก่อนถูกลบ ซึ่งจีรนุช เบิกความว่า เหตุเกิดเนื่องจากช่วงเวลาดังกล่าวเป็นช่วงสถานการณ์ร้อนทางการเมืองหลัง เหตุการณ์ 7 ตุลาคม 2551 ซึ่งมีการสลายการชุมนุมหน้าทำเนียบ จำนวนกระทู้และการแสดงความคิดเห็นในเว็บบอร์ดสูงมาก เป็นไปได้ที่จะมีการตรวจสอบที่ไม่ทั่วถึง โดยเฉพาะหากไม่มีผู้แจ้งลบ อย่างไรก็ตาม กระทู้ของ ‘เบนโตะ’ นั้นมีผู้เข้าไปแสดงความคิดเห็นโต้ตอบเพียง 3 รายเท่านั้น
สำหรับระบบการตรวจสอบนั้น ผอ.ประชาไท เบิกความว่า มีผู้ดูแลหลักอย่างเป็นทางการคนเดียวคือตนเอง ต่อมาหลังมีผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้นมากจากสถานการณ์การเมือง ประชาไทได้เพิ่มมาตรการต่างๆ หลายขั้นตอน คือ 1.จากเดิมคนทั่วไปโพสต์ได้ ก็เปลี่ยนเป็นต้องสมัครสมาชิก ซึ่งต้องยืนยันกับระบบผ่านอีเมล์ที่ใช้จริง 2.มีช่องทางให้รายงายแจ้งลบข้อความไม่เหมาะสม 3.ตั้งให้เป็นระบบลบอัตโนมัติหากสมาชิกจำนวน 3 คนเห็นว่าไม่เหมาะสม 4.มีการตั้งอาสาสมัครเพื่อช่วยดูแลและมีอำนาจในการปิดกั้นข้อความไม่เหมาะสม ทันที 5.มีการเปิดเผย IP Address (บางส่วน) ของผู้ใช้บริการพร้อมแจ้งว่าประชาไทจำเป็นต้องเก็บข้อมูลการจราร 90 วันตามกฎหมายและเจ้าหน้าที่สามารถเรียกดูได้ 6.กระทั่งท้ายที่สุดอนุญาตให้สมาชิกทุกคนมีอำนาจในการลบข้อความไม่เหมาะสม
ในส่วนของการประสานงานจากหน่วยงานรัฐนั้น ผอ.ประชาไท เบิกความว่า บางครั้งหากมีข้อความไม่เหมาะสมเล็ดรอด เจ้าหน้าที่ไอซีทีจะโทรมาแจ้ง ทางประชาไทก็จะดำเนินการตรวจสอบและลบทันที นอกจากนี้ต้นปี 2551 ทางไอซีทีและสำนักงานตำรวจแห่งชาติยังมีการเชิญประชุมผู้ดูแลเว็บต่างๆ หารือเรื่องการปิดกั้นข้อความไม่เหมาะสม ได้ข้อสรุปว่าหากไอซีทีพบข้อความไม่เหมาะสมจะแจ้งผู้ดูแลเว็บ หากยังไม่ดำเนินการปิดกั้น จะทำหนังสือเตือน หากยังไม่ดำเนินการอีกจะดำเนินการตามกฎหมาย แต่ข้อความของผู้ใช้นามแฝงว่า “เบนโตะ” ในเว็บบอร์ดประชาไทที่เจ้าหน้าที่ดำเนินคดีนั้น ไม่มีการแจ้งเตือนก่อนแต่อย่างใด และจนถึงปัจจุบันหน่วยงานรัฐที่รับผิดชอบก็ยังไม่มีการกำหนดมาตรการ แนวทางการพิจารณาข้อความไม่เหมาะสมที่ชัดเจน
สำหรับกติกาในเว็บบอร์ดประชาไท มีการกำหนดหลักเกณฑ์กว้างๆ คือ 1. ไม่ปิดกั้นความเห็นที่แตกต่าง 2.ไม่สนับสนุนให้มีการดูถูกศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ 3 ขอความร่วมมือไม่ใช้ถ้อยคำหยาบคาย 4. ขอให้ปฏิบัติภายใต้หลักของกฎหมาย
มาตรา 14 ผู้ใดกระทําความผิดที่ระบุไว้ดังต่อไปนี้ ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ
(1) นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบาง ส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน (2) นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อความมั่นคงของประเทศหรือก่อให้เกิดความ ตื่นตระหนกแก่ประชาชน (3) นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใด ๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรหรือความผิดเกี่ยวกับการ ก่อการร้ายตามประมวลกฎหมายอาญา (4) นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใด ๆ ที่มีลักษณะอันลามก และข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นประชาชนทั่วไปอาจเข้าถึงได้ (5) เผยแพร่หรือส่งต่อซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นข้อมูล คอมพิวเตอร์ตาม (1) (2) (3) หรือ (4)
มาตรา 15 ผู้ให้บริการผู้ใดจงใจสนับสนุนหรือยินยอม ให้มีการกระทําความผิดตามมาตรา 14 ในระบบคอมพิวเตอร์ที่อยู่ในความควบคุมของตน ต้องระวางโทษเช่นเดียวกับผู้กระทําความผิดตาม มาตรา 14