โดย วรศักดิ์ ประยูรศุข
บรรยากาศรำลึก 5 ปี รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 คึกคักและมีแง่มุมน่าสนใจ
ก่อนหน้า 19 กันยายน คือรัฐประหารโดย รสช. ล้มรัฐบาลน้าชาติเมื่อ 23 กุมภาพันธ์ 2534
เวลาห่างของ 2 เหตุการณ์ คือ 15 ปี อาจนานเกินไป จนลืมว่า หลังปฏิวัติ รมช.เมื่อ 2534 ประเทศไทยหืดขึ้นคอกันอย่างไรบ้าง
มาถึง 19 กันยาฯ ก็เลยหลงๆ กันว่า การเปิดเพลงมาร์ช เอารถถังออกมาวิ่ง จะเป็น "ทางออก" ของวิกฤตการเมืองได้
สุดท้ายก็คือ ออกจากป่าช้าหนึ่ง มาสู่อีกสุสานหนึ่ง ที่หลอนไม่แพ้กัน
การ รัฐประหาร 2549 วางระบบสืบทอดและรักษาอำนาจไว้อย่างเป็นเครือข่าย ประกอบด้วยภาครัฐ กลุ่มทุน และกลุ่มการเมือง ได้แก่นักการเมืองและพรรคการเมืองบางพรรค ระบุตัวศัตรูชัดเจน
มีความเข้มแข็งระดับหนึ่งก็จริง แต่สุดท้ายเอาไม่อยู่ โดยเฉพาะเมื่อฝ่ายประชาชนรวมตัวกันติด ชี้ความไม่ชอบธรรมของผู้กุมอำนาจ
กลายเป็นปัจจัยให้พรรคเพื่อไทยชนะเลือกตั้ง
รัฐประหาร 2549 จึงยกระดับการเมืองไทยขึ้นไปอีกมาตรฐานหนึ่ง
สำหรับชาวบ้านร้านตลาดทั่วไป เกิดแนวคิดปฏิเสธการรัฐประหาร ใครที่โผผวาเข้าหาประโยชน์จากการรัฐประหาร ย่อมจะถูกปฏิเสธไปด้วย
ประเด็นเหล่านี้เองที่เป็นตัวกำหนดผลแพ้ชนะในการเลือกตั้งที่ผ่านมา
และเป็น "การบ้าน" ที่พรรคการเมืองต่างๆ ต้องตรวจสอบจุดยืนของตัวเองว่าถูกที่ผิดทางอย่างไรหรือไม่
ผลแพ้ชนะนี้ ในแง่หนึ่ง สะท้อนเจตนารมณ์ของประชาชน ที่อยากเห็นความเปลี่ยนแปลง
ที่ แน่ๆ คือ การเปลี่ยนรัฐบาล ส่วนความเปลี่ยนแปลงเรื่องอื่นๆ เป็นหน้าที่ของรัฐบาล ที่ได้รับอาณัติจากประชาชน จะต้องตีความว่ามีอะไรที่จะต้องปรับต้องเปลี่ยน
โดยเฉพาะบรรดาผลพวงของการรัฐประหารทั้งหลาย
ถูกผิดเกินเลย หรือมีเจตนาอื่นแอบแฝง เป็นเรื่องที่ชาวบ้านและสังคมจะทักท้วง
"ความเปลี่ยนแปลง" นี้เอง ที่ทำให้เกิดการเผชิญหน้า เพราะผู้ที่เสียประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลง ย่อมตอบโต้ แสดงปฏิกิริยา ผ่านช่องทางและเครือข่ายของตนเอง
อย่างที่ได้เห็นอาการ จากการโยกย้ายของหน่วยราชการต่างๆ ไปจนถึงกองทัพ
การต่อสู้บนพื้นฐานใหม่นี้ หลีกเลี่ยงไม่ได้ จะคลี่คลายไปทางไหนเป็นเรื่องของฝีมือและความตั้งใจของรัฐบาลใหม่
แต่ภาระหน้าที่สำคัญร่วมกันของรัฐบาลและฝ่ายค้าน ก็คือ ทั้งสองฝ่ายต่างอยู่ในที่เกิดเหตุของการรัฐประหารมาแล้ว
สัมผัสผลร้าย และความสูญเสียต่างๆ มาด้วยตัวเอง
เรื่อง ที่ต้องกระทำและต้องร่วมมือกัน คือแสดงความรับผิดชอบ ด้วยการผลักดันการเยียวยา ปรองดองสมานฉันท์ ยุติธรรมเปลี่ยนผ่านที่ต้องตีแผ่ความจริง เอาคนผิดมาลงโทษด้วยกระบวนการยุติธรรมปกติ
เพื่อนำไปสู่การสร้างความแข็งแรงของระบบการเมือง และของประชาธิปไตย เอาไว้เป็นภูมิคุ้มกันการปฏิวัติ
จะได้เล่นการเมืองกันตามกติกาที่ตรงไปตรงมา
ไม่ต้องมานั่งฟอร์เวิร์ดเมล์อาหารนายกฯมื้อละสองแสนให้เมื่อยอีก