บล็อคข่าวส่งเสริมคนดี (รักดีหามจั่ว รักชั่วหามเสา หามจั่วก็หนักนะ)

ข่าวจากสื่อ

บทความจากสื่อ

วันพฤหัสบดีที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2554

ความเหลื่อมล้ำด้านวัฒนธรรมกับการปฏิรูประบบกระบวนการยุติธรรม

ที่มา มติชน



โดย ศ.ดร.ผาสุก พงษ์ไพจิตร

(ที่มา คอลัมน์ดุลยภาพ ดุลยพินิจ หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ฉบับประจำวันที่ 21 กันยายน 2554)


เป็น ที่ยอมรับกันว่า สังคมไทยกำลังเผชิญความเปลี่ยนแปลงในหลายๆ ด้าน เป็นความเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วเสียจนผู้คนตั้งรับไม่ทันในกระบวนการนี้ มีหลายสิ่งหลายอย่างที่มาปะทะกันหรือเดินสวนทางกัน ก่อเกิดเป็นความลักลั่นด้านความคิด โลกทรรศน์ และการปรับตัวปรับใจทั้งจากแง่ของปัจเจก และของสถาบันต่างๆ เกิดเป็นภาวะไร้ระเบียบ ส่งผลให้เกิดความรู้สึกหวาดหวั่น ขาดความมั่นคง จนอาจกลายเป็นความกลัว

ปัจจัยเบื้องหลังการเปลี่ยนแปลงนี้ คือพัฒนาการเศรษฐกิจไทยในชั่วอายุคนที่ผ่านมา ซึ่งได้ส่งผลที่เป็นรูปธรรม คือรายได้ต่อหัวตามราคาจริงเพิ่มขึ้น 3 เท่าในเวลาเพียง 25 ปี

ขณะนี้ไทยได้รับการจัดอันดับเป็นเศรษฐกิจรายได้ปานกลาง (ระดับบน) ไม่ใช่ประเทศยากจนอีกต่อไป

คน รุ่นปัจจุบันมีฐานะดีกว่าคนรุ่นก่อนหน้า มีทรัพย์สินที่จะปกป้องมากขึ้น มีความคาดหวังกับรัฐบาลและสถาบันสำคัญต่างๆ ของชาติที่เปลี่ยนไปและมากขึ้น

ความ เปลี่ยนแปลงที่เรากำลังเผชิญอยู่ในท้ายที่สุดก็คือ ความเปลี่ยนแปลงด้านวัฒนธรรมในหลายๆ มิติ ไม่ว่าจะเป็นความตื่นตัวด้านความมีตัวตน (อัตลักษณ์) ความมีศักดิ์ศรี การต้องการการยอมรับนับถือ ความต้องการความเสมอภาค การไม่ถูกเลือกปฏิบัติ ความคาดหวังใหม่ๆ เหล่านี้มักประสบกับความผิดหวังเสมอ ความรู้สึกว่าถูกปฏิบัติแบบไม่แฟร์ เป็นต้นเหตุประการสำคัญของความเหลื่อมล้ำด้านวัฒนธรรม

ในเรื่องวัฒนธรรมนี้ ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ วิเคราะห์ว่า คนเสื้อเหลืองออกมาเดินขบวนก่อนใครเพื่อน เพราะว่าเขามีปัญหากับความไม่แฟร์ หรือความเหลื่อมล้ำด้านวัฒนธรรม คือคนเสื้อเหลืองรับไม่ได้ที่นักการเมืองจำนวนมากโกงกินแต่ก็ลอยนวลอยู่ได้ แม้เราจะมีกฎหมายต่อต้านการคอร์รัปชั่น

สำหรับคนเสื้อแดงก็เผชิญกับความเหลื่อมล้ำด้านวัฒนธรรมหลายรูปแบบ

งานวิจัยของ อาจารย์ ดร.อภิชาติ สถิตนิรมัย ที่ธรรมศาสตร์ สอบถามผู้ที่สนับสนุนคนเสื้อแดงที่เป็นชาวอีสาน มีคนตอบว่า เข้าร่วมกับคนเสื้อแดงเพราะเจ็บใจที่มีคนพูดในรายการโทรทัศน์ว่า คนอีสานเป็นได้แค่เด็กปั๊มหรือคนใช้

งานศึกษาเรื่องคนเสื้อแดงโดย นักศึกษาปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยฮาวาร์ด รายงานผลการวิจัยโดยสัมภาษณ์คนเสื้อแดงที่กรุงเทพฯ จำนวนมาก ได้ข้อค้นพบว่า สิ่งที่พวกเขาต้องการคือ ให้มี fairness สักหน่อยทั้งด้านเศรษฐกิจและการเมือง พวกเขาพูดถึงความสำคัญของการศึกษาเสมอภาคที่ได้มาตรฐานเพื่อปรับปรุงตนเอง และอนาคตของลูกหลาน ที่พวกเขาอาจเข้าไม่ถึง

ดิฉันเคยคุยกับคนขับรถ แท็กซี่จากภาคอีสานที่ไม่ได้ไปร่วมการเดินขบวนกับคนเสื้อแดง แต่ก็ชื่นชอบ โดยเขาบอกว่า เขาชอบเรื่องที่เรียกร้องให้ยกเลิกการเลือกปฏิบัติ เขาไม่ชอบที่ได้รับการปฏิบัติไม่ดีเมื่อไปติดต่อกับราชการ คือ เขารู้สึกว่าทำกับเขาแบบดูถูกดูแคลน

ศัพท์ที่ใช้ เช่น ไพร่ อำมาตย์ ที่ผู้พูดจงใจเสียดสีแดกดันคนหัวเก่า ทั้งที่ปัจจุบันไม่มีไพร่ ไม่มีอำมาตย์แล้ว ส่งสัญญาณบอกว่าทนไม่ได้กับระเบียบสังคมที่มีพื้นฐานจากสังคมมีช่วงชั้น โดยต้องการสังคมเสมอภาค การใช้ศัพท์ดังกล่าวยังมีนัยยะต้องการ fairness ในกระบวนการยุติธรรมด้วย

สิ่งที่กล่าวมาแสดงให้เห็นว่าได้เกิด ′รอยเลื่อนทางวัฒนธรรม′ หรือ cultural shift ขึ้นแล้ว และเป็น cultural shift ที่ต้องให้ความใส่ใจ มิฉะนั้นอาจจะปะทุเป็นสึนามิได้โดยไม่คาดฝัน

เราจึงจะต้องตอบคำถามว่าควรทำอย่างไรต่อไป เพื่อให้สังคมไทยสามารถก้าวข้ามจุดอ่อนนี้ไปได้

ดิฉัน ไม่ได้พูดถึงความเสมอภาคในทุกๆ เรื่อง เป็นไปไม่ได้ว่าทุกคนจะเสมอเหมือนกันหมด ทุกด้าน ทั้งเรื่องรายได้ ความสามารถ พรสวรรค์ ความต่างยังมีอยู่ แต่ต้องมี fairness

ดิฉัน กำลังพูดถึง fairness ในมิติด้านความเท่าเทียมกันในมุมมองของกฎหมาย หรือ fairness ในระบบกระบวนการยุติธรรม ซึ่งรวมทั้ง ตำรวจ อัยการ และศาล

ตัวอย่าง เช่น ทำไมคนหิวโซขโมยข้าวสักถังอาจติดคุกหลายปี แต่นักการเมือง ข้าราชการขโมยเงินภาษีของประชาชนเป็นร้อยเป็นพันล้านจากงบประมาณรัฐ จึงลอยนวลอยู่ได้ ไม่ถูกลงโทษ

ทำไมลูกผู้มีอิทธิพลถูกข้อกล่าวหาฆ่าคนตาย โดยมีคนเห็นเหตุการณ์ แต่ท้ายที่สุดหลุดรอดเงื้อมมือกฎหมายไปได้

ปัญหาการหลีกเลี่ยงกฎหมายได้ เพียงเพราะเป็นคนรวยคนมีอำนาจ มีนัยต่อไปถึงความเหลื่อมล้ำหรือความไม่แฟร์ในมิติอื่นๆ อีก

ขณะ ที่การเมืองไทยพัฒนาไปสู่ระบอบประชาธิปไตย เราก็หวังว่าสังคมจะมีความเสมอภาคกันมากขึ้น แต่ในเมื่อไม่มี fairness ในมิติของกฎหมาย การพัฒนากลับนำไปสู่ความเหลื่อมล้ำด้านอำนาจ และเศรษฐกิจที่ใครๆ ก็มองเห็นได้ นักการเมือง ข้าราชการ ทหาร พลเรือนระดับบิ๊กๆ โกงกิน ร่ำรวยขึ้น มีอำนาจมากขึ้น

ขณะเดียวกัน เกิดการก่อตัวของเครือข่ายการเมืองระหว่างกลุ่มเหล่านี้ ผนวกกับนักลงทุนขนาดใหญ่ผูกโยงเข้าด้วยกัน ร้อยรัดเป็นพวกเดียวกันเพราะมีผลประโยชน์ร่วม แล้วก็ช่วยกันปกป้องพวกเดียวกันจากเงื้อมมือของกฎหมาย ปิดกั้นพัฒนาการสู่สังคมเสมอภาค อีกทั้งวิ่งเต้นส่งอิทธิพลต่อการแต่งตั้งคณะกรรมการชุดสำคัญที่กำหนดนโยบาย สำคัญของประเทศ ทั้งด้านเศรษฐกิจและการเมือง

ในท้ายที่สุด สังคมที่มีช่วงชั้น การดูถูกคนที่ด้อยกว่า การเลือกปฏิบัติ ผู้ทำผิดลอยนวลอยู่ได้จึงคงอยู่

ดังนั้นข้อเสนอของดิฉัน คือ สังคมต้องลงทุนในการหาทางปฏิรูประบบกระบวนการยุติธรรมให้มี fairness ไม่ให้มีการเลือกปฏิบัติ

และ ที่เสนอเช่นนี้ ไม่ได้หมายความว่า ผู้พิพากษาเป็นคนไม่ดี ผู้พิพากษาส่วนใหญ่ล้วนเป็นคนดี แต่ระบบไม่ดี เราจึงต้องการการปรับปรุงทั้งระบบกระบวนการยุติธรรม

เรื่อง นี้เป็นเรื่องใหญ่ ต้องการการลงทุนเป็นระยะยาว เพราะจะเกี่ยวโยงกับทั้งเรื่องการปฏิรูปการฝึกอบรมนักกฎหมาย ผู้พิพากษา การจัดระบบตำรวจ และกระบวนการตุลาการอื่นๆ อย่างน้อยให้เป็นการกระจายอำนาจ ให้องค์กรบริหารและผู้คนในท้องถิ่นเข้ามีส่วนร่วม จำเป็นต้องมีผู้เชี่ยวชาญมาทำงานด้านนี้โดยตรง ซึ่งแนวทางการปฏิรูปสามารถเรียนรู้จากประสบการณ์ของประเทศที่มีการปฏิรูป ประสบความสำเร็จไปแล้ว

การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมทั้งหมด รวมทั้งระบบตำรวจ อัยการ และศาล เป็นเรื่องจำเป็นเพราะว่าจะทำความเจริญให้แก่หมู่คณะ เราจึงต้องรีบคิดและลงทุน

เพื่อให้สังคมไทยพัฒนาสู่ความมั่นคงด้านวัฒนธรรม และการเมืองที่มีเสถียรภาพ อันเป็นสิ่งที่นักธุรกิจ และประชาชนทุกคนต้องการ

หากเราไม่ทำสิ่งเหล่านี้ เราอาจตกอยู่ในสภาวะความชุลมุนวุ่นวายไม่สิ้นสุด

ข่าวส่งเสริมคนดี

จำนวนผู้เข้าเยี่มมชม

link to affordable web hosting
Powered by web hosting provider .

สถิติการเข้าชม DMNEWS

eXTReMe Tracker