บล็อคข่าวส่งเสริมคนดี (รักดีหามจั่ว รักชั่วหามเสา หามจั่วก็หนักนะ)

ข่าวจากสื่อ

บทความจากสื่อ

วันพฤหัสบดีที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2554

คุยกันยาวๆ กับ ‘วรเจตน์ ภาคีรัตน์’: อ่านกันชัดๆ ว่าด้วยความพยายามเขียนรัฐธรรมนูญเพื่อป้องกันการฉีกรัฐธรรมนูญ

ที่มา ประชาไท

ก่อนจะถึงวันครบรอบ 5 ปี การรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 และครบรอบ 1 ปีการก่อตั้ง และก่อนที่คณะนิติราษฎร์จะออกแถลงการณ์ในวาระครบรอบซึ่งมีเนื้อหาครอบคลุม 4 ประเด็นใหญ่ คือ หนึ่ง การลบล้างผลพวงของรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 สอง การแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 สาม กระบวนการยุติธรรมกับผู้ต้องหาหรือจำเลย และการเยียวยาผู้ได้รับความเสียหายภายหลังรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 และสี่ การยกเลิกรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 และการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

ประชาไท มีโอกาสคุยยาวๆ กับ รศ.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ ภาควิชากฎหมายมหาชน คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในเรื่องที่เกี่ยวกับการรัฐประหาร การลบล้างผลของการรัฐประหาร และการป้องกันการรัฐประหารโดยรัฐธรรมนูญ รวมถึงการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่


ขอขอบคุณ: ภาพจากเว็บไซต์มติชน

0 0 0

เราจะอธิบายความจำเป็นของการแก้รัฐธรรมนูญอย่างไร หลักการอยู่ตรงไหน
ถ้าเราดูปัญหาการเมืองไทย ตั้งแต่รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 เป็นต้นมา เราก็จะพบว่า รัฐธรรมนูญเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาแน่ๆ ที่จริง ถ้าเราย้อนกลับไปดูก่อนหน้านั้น ผมเองก็เคยวิจารณ์รัฐธรรมนูญ 2540 ว่ามีปัญหาเหมือนกัน เราจะเห็นว่า ในช่วงท้ายๆ ของรัฐบาลคุณทักษิณ ชินวัตร ก็มีทีท่าว่าจะเกิดการปฏิรูปการเมือง เพราะมีข้อวิจารณ์เรื่ององค์กรอิสระ แต่ยังไม่ทันได้ทำก็มีรัฐประหารเสียก่อน พอหลังรัฐประหารจึงเกิดรัฐธรรมนูญชั่วคราวปี49 ขึ้นมา หลังจากนั้นก็เป็นรัฐธรรมนูญปี 50 ซึ่งใช้บังคับอยู่ในปัจจุบัน

ทีนี้คำถามว่า มีความจำเป็นที่จะต้องแก้รัฐธรรมนูญปี 50 ไหม คำตอบคือ มีความจำเป็น และจำเป็นมากด้วย ยิ่งถ้าแก้เร็วเท่าไร หรือเลิกการใช้บังคับแล้วแทนที่ด้วยรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยเร็วเท่าไร ก็จะเป็นประโยชน์กับประเทศชาติเร็วเท่านั้น

ในแง่ของที่มา รัฐธรรมนูญปี 50 เป็นรัฐธรรมนูญที่สืบเนื่องมาจากรัฐประหาร แม้จะไม่ใช่ผลพวงโดยตรงแต่ก็เป็นผลพวงทางอ้อม จริงอยู่ว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้ผ่านการออกเสียงประชามติ แต่ผมเคยให้ความเห็นไปแล้วว่า ประชามติที่ทำกัน ไม่ใช่เป็นประชามติแท้ เพราะประชาชนที่ออกเสียงประชามติไม่มีทางเลือก คนเขียนรัฐธรรมนูญปี 49 เขาล็อคเอาไว้ว่า ถ้าไม่รับร่างรัฐธรรมนูญปี 50 คณะรัฐมนตรี และ คมช. จะสามารถหยิบรัฐธรรมนูญฉบับใดฉบับหนึ่งมาใช้ได้เลย ประชาชนจำนวนหนึ่งที่ออกเสียงไปเพราะเกรงว่า ไม่รู้จะมีรัฐธรรมนูญที่เลวร้ายกว่า 50 หรือไม่จึงไม่มีทางเลือก นอกจากนี้ ประชาชนยังต้องการกลับไปสู่การเลือกตั้งโดยเร็ว

เพราะฉะนั้นในแง่ของที่มาจึงมีปัญหา ไม่มีความชอบธรรมในระดับที่ควรจะเป็น การออกเสียงประชามตินั้นจึงไม่ใช่ประชามติแท้

ทีนี้เมื่อพิจารณาเนื้อหาของรัฐธรรมนูญปี 50 ยิ่งแย่เข้าไปอีก รัฐธรรมนูญปี 50 ไม่ได้มีปัญหาแค่ในแง่ของโครงสร้างองค์กร แต่ยังมีปัญหาในแง่ของหลักการ เพราะบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญหลายบทบัญญัติขัดกันเอง ขัดกับหลักพื้นฐานของรัฐธรรมนูญ

ในเชิงของโครงสร้างรัฐธรรมนูญ ปัญหาเดิมๆ เช่น ที่มาของวุฒิสภา ครึ่งหนึ่งไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ไม่ได้ผ่านการเห็นชอบของประชาชน จึงไม่สอดคล้องกับประชาธิปไตย ทั้ง ส.ว. ยังมีอำนาจมากถึงขนาดถอดถอนบุคคลที่มีตำแหน่งในองค์กรสำคัญ รวมทั้งที่มาจากการเลือกตั้งได้ด้วย ปัญหานี้จึงไม่แก้ไม่ได้ ส่วนเรื่องระบบเลือกตั้งได้แก้ไขไปแล้วในสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ซึ่งได้ทำให้ปัญหาบรรเทาลงไปได้ระดับหนึ่ง

นอกจากนี้ยังมีปัญหาเรื่ององค์กรอิสระ รัฐธรรมนูญปี 50 ได้ตั้งองค์กรอิสระขึ้นมาเป็นจำนวนมาก การที่มีองค์กรอิสระจำนวนมาก ในด้านหนึ่งมีผลต่อประสิทธิภาพในการบังคับใช้รัฐธรรมนูญ แต่องค์กรอิสระหลายองค์กรไม่สามารถอธิบายได้ว่า ทำไมถึงต้องเป็นองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ เช่น อัยการ ไม่มีเหตุผลในทางหลักวิชาการหรือตามหลักทฤษฎีเลยว่า ควรมีฐานะเป็นองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ หรือบรรดาองค์กรอิสระอื่นๆ ที่ไม่ควรต้องเป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญ อันนี้ต้องเอาออก

ในเรื่องอำนาจหน้าที่ขององค์กรอิสระ เช่น อำนาจของคณะกรรมการเลือกตั้งก็มีมากมายมหาศาล ผมเคยวิจารณ์คณะกรรมการการเลือกตั้งเป็นเวลากว่า 10 ปีแล้วว่า มันเป็นไปไม่ได้ที่จะตีความกฎหมายการเลือกตั้งให้คณะกรรมการการเลือกตั้งมี อำนาจที่จะยับยั้งหรือหน่วงเจตจำนงของปวงชนในนามของการไปตรวจสอบความสุจริต ความเที่ยงธรรมของการเลือกตั้ง โดยไม่ประกาศผลการเลือกตั้ง ไม่ว่าจะด้วยการรอเอาไว้ หรือแขวนเอาไว้ก็ตาม การมีอำนาจให้ใบแดงในช่วงเวลา 30 วันหลังเลือกตั้ง อันนี้ตอบคำถามในแง่ของหลักประชาธิปไตยไม่ได้ เพราะคนแค่ห้าคน ทำไมถึงมีสิทธิในการระงับเจตจำนงของประชาชนที่เป็นเจ้าของอำนาจ ผมพูดมานานแล้วว่า หน้าที่ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง ต้องมีหลักที่การยืนยันผลของคะแนน หากมีการทุจริตการเลือกตั้งจริงๆ มีการกล่าวหาร้องเรียนกันจริงๆ ก็ต้องไปดู แล้วไปดำเนินการกับคนนั้นภายหลังที่มีการประกาศผลการเลือกตั้งไปแล้ว จะให้คณะกรรมการการเลือกตั้งมีอำนาจก่อนการเลือกตั้งอย่างนี้ไม่ได้

นอกจากนี้คณะกรรมการเลือกตั้ง ยังมีสิทธิถึงขนาดเพิกถอนสิทธิการเลือกตั้งของบุคคลก่อนประกาศผลการเลือก ตั้ง ซึ่งเท่ากับให้คณะกรรมการการเลือกตั้งใช้ทั้งอำนาจตุลาการและอำนาจบริหารใน องค์กรเดียว ซึ่งขัดหลักการแบ่งแยกอำนาจแน่ๆ

ในกรณีนี้ รัฐธรรมนูญต้องปรับ กกต.อาจจะมีอยู่ต่อไป เพราะเป็นองค์กรจัดการการเลือกตั้ง แต่ในแง่ของอำนาจต้องไม่มีอย่างนี้ กกต.ควรมีอำนาจเฉพาะการบริการ การจัดการเลือกตั้งเท่านั้น

รัฐธรรมนูญ 50 ยังมีปัญหาในแง่ของนิติรัฐ หรือหลักความเป็นสูงสุดของกฎหมายรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะปัญหาในมาตรา 309 เพราะมาตรานี้ไประงับการตรวจสอบของรัฐธรรมนูญในบรรดาการกระทำทั้งปวงที่เกิด ขึ้นหลังการรัฐประหารปี 49 ซึ่งต้องไปอ่านเชื่อมกับมาตรา 36 ในรัฐธรรมนูญปี 49

นอกจากนี้ ยังต้องทบทวนองค์กรอื่นๆ อีกที่ไม่ได้เป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญ แต่รัฐธรรมนูญเขียนถึง เช่น คณะกรรมการปฎิรูปกฎหมาย และคณะกรรมการปฎิรูปกระบวนการยุติธรรม เหล่านี้ควรจะต้องบัญญัติหรือเขียนถึงในรัฐธรรมนูญอย่างไร และจะไปซ้ำซ้อนกับงานขององค์กรอื่นๆ ที่มีอยู่แล้วหรือไม่

ยังมีปัญหาใหญ่อีกหลักหนึ่งของประชาธิปไตย ก็คือการยุบพรรคการเมืองโดยง่าย ด้วยมาตรา 237 ต้องทบทวนการให้ ส.ส. สังกัดพรรคการเมืองว่าถูกต้องไหม เพราะในแง่ของสิทธิของบุคคล ควรจะจูงใจให้คนสังกัดพรรคการเมือง มากกว่าการใช้มาตรการบังคับหรือไม่

นี่ยังไม่ต้องพูดถึงอำนาจตุลาการ ความสัมพันธ์ระหว่างฝ่ายบริหารกับฝ่ายนิติบัญญัติ ตลอดจนบทบัญญัติบางเรื่องในหมวดพระมหากษัตริย์

เข้าใจว่า องค์กรอิสระที่รัฐธรรมนูญกำหนดให้มี เพราะต้องใช้อำนาจตุลาการบางส่วน ออกกฎเองด้วยบางส่วน และทำหน้าที่บริหารด้วย คือมีทั้งสามอำนาจรวมกัน ดังนั้นจึงต้องบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ
นี่เป็นความเข้าใจที่ไม่ถูกต้องและคลาดเคลื่อน ซึ่งเมื่อตอนร่างรัฐธรรมนูญปี 40 มีการอธิบายว่า องค์กรอิสระเป็นองค์กรที่ใช้สามอำนาจในองค์กรเดียว ความจริงความเข้าใจแบบนี้อาจจะมีปัญหา เพราะถ้าเกิดองค์กรใดก็ตามมีสามอำนาจในองค์กรเดียว องค์กรนั้นสมควรเรียกว่า ‘มาเฟีย’ มากกว่า คือถ้าจะออกกฎเอง ตามหลักสากลก็ต้องเป็นการออกกฎในกรอบของกฎหมายแม่บทที่ตราขึ้นโดยสภา แต่การวินิจฉัยสั่งการ เป็นเรื่องที่ยอมไม่ได้หากจะให้เป็นที่สุดเหมือนกับเขาใช้อำนาจตุลาการเอง อันนี้ยอมไม่ได้ องค์กรเหล่านี้สามารถออกคำสั่งได้ แต่คำสั่งที่ออกมาต้องไม่เป็นที่สุด ต้องสามารถถูกฟ้องร้องต่อศาลได้

เพราะฉะนั้น เวลาเรามององค์กรอิสระ ต้องมองให้เหมือนฝ่ายบริหารเฉพาะประเด็น เหมือนกระทรวงหนึ่ง
ถูกต้อง มองเป็นเหมือน คณะรัฐมนตรีน้อยในเรื่องใดเรื่องหนึ่งซึ่งไม่ขึ้นกับคณะรัฐมนตรี โดยที่รัฐธรรมนูญไม่ต้องเขียนอำนาจหลักก็ได้ แต่ให้สภาเป็นฝ่ายทำ เป็นฝ่ายออกกฎหมายกำหนดอำนาจ รัฐธรรมนูญอาจจะทำเพียงแค่รับรองความเป็นสถาบันขององค์กรเหล่านี้ไว้เท่า นั้น

ทีนี้ก็จะเกิดคำถามตามมาว่า แล้วองค์กรอิสระรับผิดชอบกับใคร ครม. เขารับผิดชอบต่อสภาในทางการเมือง และในทางกฎหมายเขาอาจถูกตรวจสอบได้โดยองค์กรตุลาการ แล้วองค์กรอิสระจำนวนหนึ่ง เขาอาจจะทำเรื่องที่ชอบด้วยกฎหมาย แต่ไม่ถูกต้องไม่เหมาะสมในทางการเมือง เขาจะต้องรับผิดชอบกับใคร หรือในแง่ของบุคคลที่มีตำแหน่งในองค์กรที่ประพฤติปฏิบัติมิชอบ เขาต้องรับผิดชอบไหม ต้องมีการรับผิดชอบเท่ารัฐมนตรีไหม เราต้องคิดประเด็นความรับผิดชอบแบบนี้ด้วย ไม่ใช่ไม่ได้รับการตรวจสอบจากใครเลย

ถ้าจะมีรัฐธรรมนูญใหม่ จะยกเอารัฐธรรมนูญ 40 มาเลยได้ไหม แล้วแก้ไขบทสำคัญๆ เช่น ศาลรัฐธรรมนูญ โดยวางระเบียบวิธีพิจารณาคดีให้รัดกุมให้ทำหน้าที่ให้ได้ตามเจตนารมณ์ของรัฐ ธรรมนูญ
ได้ แต่แก้ปัญหาได้ไม่หมดหรอก เพราะถึงที่สุด ปัญหาที่ผ่านมาก็มาจากปัญหาที่บุคคลเหมือนกัน คนที่จะมาเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ จึงต้องการคนที่มีความรู้เรื่องกฎหมายมหาชนเป็นอย่างมาก ฐานความรู้ในทางหลักวิชาการต้องแน่นมากๆ อันนี้คือปัญหาใหญ่ของบ้านเรา ระบบออกมาอาจจะไม่ได้แย่มาก แต่ส่วนหนึ่งเป็นปัญหาความสามารถของคน เราต้องยอมรับว่าหลัง 2475 เราแทบจะไม่รู้จักกฎหมายมหาชน อาจจะเพิ่งมารู้จักกันจริงๆ ช่วง 2540 นี่เอง

พูดเหมือนกับว่า หากคนมีความรู้เรื่องกฎหมายมหาชนแล้วจะไม่ขัดแย้งกัน ผมก็เห็นนักกฎหมายมหาชนหลายคนเห็นต่างกันและตีความต่างกัน จนกระทั่งบางรายสนับสนุนการรัฐประหารด้วยซ้ำ
นี่คือความอ่อนแอทางวิชาการของบ้านเรา ซึ่งความอ่อนแอนี้ไปสัมพันธ์กับอุดมการณ์ทางการเมืองที่ผ่านการกล่อมเกลา ทัศนคติ เป็นความพ่ายแพ้ในทางอุดมการณ์ของคณะราษฎรตั้งแต่ปี 2492 นักกฎหมายก็เป็นผลผลิตของการกล่อมเกลาของระบบการศึกษาแบบนี้ แต่ถ้าเรามีความเข้าใจพื้นฐานตามหลักนิติรัฐจริงๆ เราคงไม่เห็นต่างกันเยอะหรอก

กลับมาที่เรื่องที่มาของ ส.ว. เป็นไปได้ไหมที่เราพอจะยอมให้ ส.ว. มาจากการแต่งตั้ง คิดเสียว่า เป็นการประนีประนอมกับอำนาจดั้งเดิมกับกลุ่มอำนาจของข้าราชการ
การยอมได้ไหมนั้นอยู่ที่การประเมิน แต่ในทางหลักการ เป็นสิ่งที่ยอมไม่ได้ ถ้าเราถือหลักการประชาธิปไตย เราจะไม่อ่อนข้อให้กับการประนีประนอมในลักษณะแบบนี้ แต่ถ้าเราบอกว่า เราจะใช้การปกครองประชาธิปไตยแบบไทยๆ ที่มีผู้อนุบาล โอเค เราก็ต้องประนีประนอมกันไป แต่ตราบใดถ้าเราบอกว่า เราต้องการประชาธิปไตย ในความหมายซึ่งเป็นเหตุเป็นผล อย่างนี้ก็ยอมกันไม่ได้

ทีนี้หลายคนชอบยกตัวอย่างอังกฤษว่า ทีอังกฤษยังมีสภาขุนนางที่มาจากการแต่งตั้งเลย ผมก็บอกว่า การจะพูดถึงสภาอังกฤษ ต้องดูอย่างน้อยสองประเด็น และต้องพูดให้หมด ประเด็นที่หนึ่ง คือ สภาขุนนางของอังกฤษไม่ได้มีอำนาจเหมือน ส.ว. บ้านเรา สภาขุนนางอังกฤษไม่มีอำนาจถอดถอนนายกรัฐมนตรีได้เหมือนบ้านเรา อันที่สองก็คือ ในปัจจุบันนี้ สมาชิกสภาขุนนางอังกฤษที่มาจากการสืบสายโลหิตลดน้อยลงไปมากแล้ว และก็มีความพยายามปฏิรูปและความพยายามจะยกเลิกมาตลอด คือประเทศใดก็ตามที่มีสภาที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง จะมีเสียงเรียกร้องให้มีการปฏิรูป เราต้องถามด้วยว่าการมี ส.ว. ตั้งแต่แรก มีเอาไว้ทำอะไร และมีแล้วจะมาจากไหน เราไม่เคยมีการถกเถียงประเด็นนี้อย่างจริงจัง การที่เราบอกว่า ประนีประนอม ในด้านหนึ่งก็คือ เรายอมให้อำนาจที่ไม่ได้เป็นประชาธิปไตยเข้ามาในตัวระบบ ทีนี้พวกนี้ก็ต้องอ้างอำนาจจารีต คุณธรรม ซึ่งผมคิดว่า เรามีสถาบันกษัตริย์ ซึ่งก็คือการคงอยู่ของจารีตโดยตัวเองอยู่แล้ว ซึ่งก็เพียงพอแล้ว ไม่อย่างนั้นเราก็จะเอาเหตุผลนี้ไปอ้างให้มีอำนาจในส่วนอื่นไปได้เรื่อยๆ

เข้าใจว่า ผู้ร่างรัฐธรรมนูญต้องการคนที่ไม่อิงการเมือง แต่บทเรียนจากรัฐธรรมนูญ 40 ที่กำหนดให้ ส.ว.จากการเลือกตั้ง ไม่ให้สังกัดพรรคการเมือง ไม่ให้หาเสียงก็แล้ว แต่ก็ไม่จริงอีก
ไม่ได้หรอก การเข้าใจแบบนี้มันผิดธรรมชาติ ส.ว. มาจากการเลือกตั้ง แต่ไปให้เป็นกลางทางการเมือง เพื่อจะให้ได้องค์กรอิสระที่เป็นกลางทางการเมือง ฝันเฟื่องทั้งนั้น และเป็นไปไม่ได้ในโลกแห่งความเป็นจริง และการไปออกแบบประหลาดๆ ไม่ให้ ส.ว. หาเสียง ก็ฝืนกับธรรมชาติของการเลือกตั้ง และถึงที่สุด ถ้ามีการเลือกองค์กรอิสระ มันก็เป็นธรรมดาอยู่แล้วที่ต้องมีการเชื่อมกัน มีการเลือกองค์กรที่ไหนในโลกบ้างที่ไม่มีการเมือง

คือเวลาเราพูดถึงความเป็นกลางทางการเมืองแบบนี้ ผมว่าอย่าพูดเลย เหมือนเป็นการหลอกเด็ก เราอยู่กับการเมืองมาตลอด ทำไมเราไม่ยอมรับมันล่ะ แล้วมาดูกันว่า เราจะอยู่กับมันอย่างไร เป็นกลางทางการเมืองในเซนส์ที่บอกว่าไม่เกี่ยวอะไรกับใครนั้นไม่มีหรอก แล้วไม่ควรด้วย คือผมเข้าใจว่าในทางการเมืองนั้น ไม่มีเรื่องเป็นกลาง เพราะการเมืองนั้นคุณต้องมี Ideology อย่างใดอย่างหนึ่ง คุณอาจจะเสรีนิยม หรืออนุรักษ์นิยม ทุกคนมีความโน้มเอียงหมด และผมถามว่าอะไรคือเป็นกลางของคุณ ทีนี้เวลาที่ผมพูดเรื่องความเป็นกลาง เวลาที่พูดถึงตุลาการหรือคนตัดสิน ผมไม่ได้หมายความว่า เขาเป็นกลางในทางอุดมการณ์ทางการเมือง ในทางอุดมการณ์เขาต้องเลื่อมใสในการปกครองระบอบประชาธิปไตย เพราะเขาเป็นตุลาการในระบอบนี้ แต่เป็นกลางหมายถึง ไม่ได้เกี่ยวพันกับคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง หรือเป็นปรปักษ์หรือเป็นมิตรกับคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ไม่มีอคติต่อคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง

ถ้าเช่นนั้น เราก็จะมีคณะรัฐมนตรีที่พรรคการเมืองเลือก จะมีองค์กรอิสระที่พรรคการเมืองเลือก มี กกต. ที่พรรคการเมืองเลือก แล้ว กกต.ก็จะโน้มเอียงมาเข้าข้างรัฐบาลในการเลือกตั้งทุกครั้ง
นี่คือปัญหา เพราะสังคมไทยชอบอ้างเรื่องคุณธรรมจริยธรรม โดยหาคนแบบนั้นมา ซึ่งผมกำลังบอกว่า คนแบบนั้นไม่มี เราต้องยอมรับตรงนี้ก่อน เราจะทำลายความเชื่อเรื่องความเป็นกลางลงไปได้ หากเราเชื่อในความเป็นจริง

พัฒนาการของการเมืองไทยในอนาคตข้างหน้า จะแยกความคิดทางการเมืองอย่างชัดเจนขึ้น ตอนนี้ก็เริ่มปรากฏแล้ว ในสังคมมหาวิทยาลัยก็เริ่มแล้ว มันจะเริ่มแยกคนนี้ว่า คอนเซอร์เวทีฟหน่อย คนนี้ก้าวหน้าหน่อย ซึ่งเป็นธรรมดา และที่สุดก็จะแยกคนเข้าไปด้วย ในต่างประเทศก็จะเป็นแบบนี้ พรรคการเมืองที่ก้าวหน้าก็จะเลือกศาลเลือกคนที่ก้าวหน้า หรือในทางกลับกัน ซึ่งมันต้องเป็นแบบนี้ แล้วบางทีมันก็ไปเปลี่ยนองค์ประกอบที่มีข้างใน ซึ่งเราไม่มีวิธีที่ดีกว่านี้ เราต้องทำลายมายาคติก่อน เรื่องคุณธรรม จริยธรรม เรื่องเป็นกลางทางการเมืองที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งชอบหยิบยกขึ้นอ้างหรือสร้างภาพ ให้ดูดี ซึ่งถ้าทำลายได้ เราก็จะไม่รู้สึกอะไร และนี่คือความยากของการทำรัฐธรรมนูญ เพราะมันฝังรากในสังคมไทยยาวนาน ในหมู่ชนชั้นนำ ถ้าเราสามารถเปิดหน้ากากชนชั้นนำได้ว่า พวกคุณก็มีผลประโยชน์ร่วมกันเหมือนกันหมด เราก็จะไม่บอกว่า คนนี้ดีกว่าคนนี้ สังคมไทยควรเลือกคนที่มีผลงาน เอาวิสัยทัศน์ที่เคยมีอยู่ก่อนในตัวคนมาวัด ไม่ใช่ไปเอามาจากผู้หลักผู้ใหญ่ ที่บอกว่าคนนี้เป็นคนดี แล้วเราก็จะเชื่อตาม

อีกอย่างการเลือกคนจะต้องออกแบบให้ได้คนที่ทุกฝ่ายยอมรับได้ ให้เป็นไปได้มากที่สุด เช่น กำหนดคะแนนเสียงในการได้มาซึ่งบุคคลไว้สูงมากพอเพียงให้เกิดการต่อรองกัน ระหว่างพรรคการเมืองต่างๆในสภา ส่วนการเอียงหรือไม่ วินิจฉัยอยู่ในกรอบของกฎหมายหรือไม่ เหล่านี้ก็มีระบบกฎหมายควบคุมอยู่ ก็ต้องวางระบบควบคุมไว้ให้ดี

ศาลมาจากการเลือกตั้งได้ ไหม ถ้าไม่ได้ เพราะอะไร หรือเราออกแบบให้ศาลเชื่อมโยงกับประชาชน เช่น พรรคการเมืองต้องคัดเลือกผู้พิพากษาศาลฎีกา ให้มาลงปาร์ตี้ลิสต์อันดับ 2 อะไรอย่างนี้ได้ไหม
ที่จริง เรื่องนี้เป็นปัญหาที่เถียงกันมาก แล้วหลายประเทศก็ใช้โมเดลที่แตกต่างกันอยู่ ถ้าเราดูที่อเมริกา ผู้พิพากษาระดับท้องถิ่นมาจากการเลือกตั้ง แต่ส่วนใหญ่เขาไม่ค่อยให้ผู้พิพากษามาจากการเลือกตั้ง เพราะไปทำให้มีลักษณะที่เป็นการเมืองมากเกินไป อีกอย่างหนึ่งคือ อำนาจตุลาการเป็นอำนาจในเชิงรับ ไม่ใช่อำนาจในเชิงรุก จึงแตกต่างจากอำนาจนิติบัญญัติ บริหาร ซึ่งเป็นอำนาจในเชิงรุก ในแง่ของขอบเขตอำนาจ การตัดสินใจทางการเมืองจะกว้างกว่าศาล ศาลตัดสินในทางกฎหมายมันแคบกว่า อำนาจตุลาการ เขาเลยบอกว่า เป็นอำนาจที่อันตรายน้อยที่สุดในสามอำนาจ แต่ถ้าไม่ระวังให้ดีก็อาจเป็นอำนาจที่อันตรายมากที่สุด แล้วก็ตรวจสอบไม่ได้ด้วยเหมือนกัน ในที่สุดถึงต้องมีองค์กรที่สร้างความชอบธรรมให้กับอำนาจตุลาการ ประเด็นที่ขาดหายไปในบ้านเรา คือคอนเซ็ปต์นี้ คือความชอบธรรมในทางประชาธิปไตยขององค์กรตุลาการ และทุกครั้งที่มีคนพูดเรื่องนี้ คนพูดจะถูกปิดปากทันที ว่าคุณกำลังทำให้การเมืองครอบงำศาล ก็เลยไม่ได้พูดกัน

ทีนี้จะเป็นไปได้ไหมที่ให้การขึ้นสู่ศาลในระดับสูงต้องผ่านการรับรอง ผมคิดว่าเป็นไปได้ และต้องทำด้วย ประเด็นที่ผมอยากนำเสนอที่จะให้ศาลเชื่อมโยงกับประชาชน อาจจะต้องคิดแบบศาลสูง-ศาลล่าง

ระดับศาลสูง อาจจะต้องให้คณะรัฐมนตรีเป็นคนเสนอชื่อ และให้ฝ่ายนิติบัญญัติเป็นคนรับรอง แต่การเสนอชื่อไม่ใช่ว่าจะเสนอใครก็ได้นะ แต่คือคนในศาลนั้นเองที่จะขึ้นไปสู่ศาลสูง แน่นอนการเสนอชื่อก็ต้องถูกอภิปรายได้ ซึ่งเป็นการสร้างความชอบธรรมในระบอบประชาธิปไตยที่หลายประเทศในเอเชียใช้กัน แต่ข้อเสนอแบบนี้ ศาลก็จะรับไม่ได้ จะหาว่าไปอะไรกับการเมือง แต่ถ้าเราคิดว่า อาณัติความชอบธรรมในการปกครองมาจากประชาชน ก็ต้องทำให้ศาลรู้สึกว่าศาลมีความเชื่อมโยงกับประชาชนเหมือนกัน

กรณีของศาลล่าง ก็มีการเสนอระบบลูกขุน ซึ่งอันนี้จะต้องใช้รายละเอียดมากกว่านี้ แต่ที่เราพอทำได้ คือการใช้ระบบผู้พิพากษาสมทบ หมายความว่า ในคดีที่อยู่ในศาลล่าง ในคดีทั่วๆไป อาจจะเปิดให้คนทั่วๆ ไปซึ่งอาจจะไม่ได้เรียนกฎหมายเข้าไปนั่งเป็นผู้พิพากษาสมทบ ประเด็นว่า ผู้พิพากษาสมทบจะมีอำนาจแค่ไหน อาจจะต้องมาพูดกัน แต่อย่างน้อย การที่มีคนข้างนอกเข้ามานั่ง ก็จะทำให้ศาลระมัดระวังในการใช้อำนาจ เพื่อสร้างความโปร่งใสมากขึ้น

นอกจากนี้ ยังต้องพูดถึงระบบบริหารงานบุคคลของศาล โครงสร้างขององค์กรที่มาบริหารงานบุคคลของศาลก็ต้องคิดกันใหม่ อย่างน้อยที่สุด คณะกรรมการตุลาการก็ต้องมาจากประชาชน องค์กรที่จะคัดเลือกผู้พิพากษาต้นทางในการคัดคนเข้าไป ต้องมีจุดเชื่อมโยงกับประชาชน หรือมีสัดส่วนของคณะกรรมการมากกว่าครึ่งหนึ่ง ไม่ใช่แค่คนสองคนอย่างที่เป็นอยู่

เราจะออกแบบรัฐธรรมนูญเพื่อป้องกันการรัฐประหารให้ได้มากที่สุดได้ไหม
ได้ และเรื่องนี้ต้องทำ ต้องมีบทบัญญัติให้พระมหากษัตริย์ กองทัพ องค์กรต่างๆของรัฐมีหน้าที่พิทักษ์รัฐธรรมนูญ แล้วต้องให้สิทธิทหารในการปฏิเสธผู้บังคับบัญชาที่สั่งให้ทำรัฐประหาร ผมเคยไปบรรยายที่โรงเรียนนายร้อย นักเรียนนายร้อยปี 4 เขาถามผมว่า อาจารย์แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่า เขาสั่งให้เราไปทำรัฐประหาร ผมก็บอกว่า ถ้าเขาสั่งให้คุณไปยึดสถานีโทรทัศน์แล้วคุณไม่รู้หรือว่า นี่คือการรัฐประหาร คุณมีหน้าที่อะไรที่จะไปยึดสถานีโทรทัศน์ เขาสั่งให้คุณเคลื่อนกำลังแบบประหลาดๆ เข้ามาในเมือง แล้วคุณไม่รู้หรือว่า นี่คือรัฐประหาร

เท่ากับเรายอมเสี่ยง ที่ผ่านมาเราฉีกรัฐธรรมนูญได้อย่างสงบ ไม่มีทหารขัดขวาง เพราะเรากลัวสงครามกลางเมือง
หากมันต้องมี ก็ต้องมี เราจะไปกลัวทำไม กลัวแล้วรัฐธรรมนูญเราก็ถูกฉีกอยู่เรื่อยๆ

อีกเรื่องหนึ่งที่เราควรจะต้องทำ ก็คือ การลบล้างคำสั่ง คำวินิจฉัย คำพิพากษาที่เกิดขึ้นจากการรัฐประหาร ซึ่งการลบล้างบรรดาคำพิพากษาที่ผมพูดถึงนี่ ไม่ใช่การนิรโทษกรรม นิรโทษกรรมนี่เบาไป เพราะเท่ากับว่า การกระทำอันนั้น การตัดสินอะไรของศาลหรือกระบวนการที่เกิดขึ้นมานั้นโอเคแล้ว ถูกต้องแล้ว แล้วไปยกเว้นความผิดให้ หรือถ้าอภัยโทษ ก็คือระงับโทษไป ไม่เอาโทษ ซึ่งไม่พอ

เราน่าจะได้เวลาที่จะมาคิดกันจริงๆ ว่า เราจะยอมรับผลพวงที่เกิดขึ้นจากรัฐประหารแค่ไหน ซึ่งแน่นอน บางเรื่องก็จบไปแล้ว และในทางความเป็นจริง ถ้าไม่ใช่ในทางกฎหมายบางทีก็ไปรื้อไม่ได้ ถ้ามันจบก็ต้องจบ ถ้าเราไม่ยอมรับผล ก็จะพังกันหมด มันเป็นไปไม่ได้ ซึ่งผมก็ไม่ได้สุดโต่งขนาดนั้น แต่ผมกำลังจะบอกว่า อะไรที่มันก่อให้เกิดผลในทางกฎหมาย แล้วอะไรที่มันลบล้างได้ก็ควรลบล้างให้หมดเท่าที่จะทำได้ เราไม่ควรถูกขังอยู่ในกรอบความคิดว่ารัฐประหารเกิดขึ้นแล้ว แล้วก็ถูกบังคับให้รับผลของรัฐประหารต่อไปเรื่อยๆ อย่างเซื่องๆ ทีนี้จะลบล้างอะไรบ้าง ก็มานั่งดูกัน เช่น คำวินิจฉัยตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเรื่องยุบพรรค ที่เอากฎหมายย้อนหลังมาตัดสิทธิบุคคล อย่างนี้ลบล้างเสีย ถูกไหมครับ คำตัดสินที่เกิดจากการดำเนินการชั้นต้นของ คตส. ลบล้างมันเสีย เมื่อลบล้างแล้ว ถ้ายังเป็นความผิดอยู่ ความผิดนั้นก็ยังไม่ได้หายไปไหน เพียงแต่ต้องเริ่มกระบวนการกันใหม่ ซึ่งต่างจากการนิรโทษกรรมที่ทำให้ความผิดที่เกิดขึ้นพ้นไปเลย เว้นผิดไปเลย

รูปธรรมกรณีคดีของคุณทักษิณนี่ ผลของการลบล้าง คือลบล้างทั้งหมดที่เกิดจาก คตศ. แล้วให้คดีทั้งหมดเริ่มต้นใหม่ที่เป็นธรรม
ถูกต้อง คือสำนวนนั้นอาจไม่ใช้เลย หมายถึง ตั้งแต่กระบวนการสอบ คือไม่เอา คตส.เลย ว่ากันใหม่เลย เริ่มกระบวนการกันใหม่หมดภายใต้ระบบซึ่งมันถูกปฏิรูปแล้ว กรณีอย่างนี้ ว่ากันใหม่ได้ ส่วนอะไรที่ทำไม่ได้ จะต้องพ้นไป ก็ทำไม่ได้ ช่วยไม่ได้ก็ต้องจบไป หรือถ้าอะไรที่ขาดอายุความก็ต้องปล่อยไป

นี่คือเรื่องใหม่เลย ต้องเขียนเป็นมาตราใหม่
ใช่ครับ ต้องเขียนขึ้นมาใหม่เลย ต้องเขียนขึ้นมาอีกมาตราหนึ่งหรือเป็นหมวดหนึ่ง แต่เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ เป็นเรื่องซึ่งใหญ่กว่านิรโทษกรรม รุนแรงกว่า ที่ผมพูดออกไปนี่ รับรองว่าต้องมีคนออกมาโต้แย้ง ผมถามว่า แล้วในทางกฎหมายทำได้ไหมล่ะ จะมีใครไหมบอกว่าทำไม่ได้ ถ้าจะทำ มันทำได้ ผมคิดว่า ถึงเวลาแล้วที่จะทำให้เห็นว่า โอเค คุณยึดอำนาจได้คุณก็ยึดไป ถ้าคุณยึดสำเร็จคุณก็ยึดไป แต่ถ้าวันหนึ่งเมื่อประเทศกลับสู่สิ่งที่มันถูกต้องในทางระบบ เราจะชะล้างสิ่งที่มันไม่ถูกต้องออกไป จะไม่เหลือสิ่งซึ่งเป็นผลพวงของสิ่งซึ่งไม่ถูกต้องเอาไว้

อย่างนี้เราล้างไปถึง 2475 ได้ไหมครับ
ตามหลัก จะชะล้างกลับไปถึงรัฐประหารทุกครั้งก็ได้ครับ แต่ต้องมาดูว่า ที่ผ่านมามีคนรับโทษ คนรับอะไรจากคำกล่าวหาของคณะพวกนี้แค่ไหนอย่างไร ต้องมาดู แต่ในชั้นต้นตั้งแต่ 2549 เป็นต้นมา มันเห็นชัด

กฎหมายมันไม่ใช้ย้อนหลังไม่ใช่หรือ
ไม่ใช่ อันนี้ไม่ได้ไปย้อนหลัง อันนี้เป็นการทำรัฐธรรมนูญ แล้วใช้อำนาจในทางรัฐธรรมนูญนั้นลบล้างผลในทางกฎหมายของบรรดาคำสั่ง คำวินิจฉัยต่างๆที่เกิดขึ้นจากการรัฐประหาร อันนี้ไม่ได้ย้อนหลัง มันเป็นการประกาศความเสียเปล่าของการกระทำที่มุ่งต่อ ผลในทางกฎหมายทั้งหลายของคณะรัฐประหารตลอดจนองค์กรที่รับเอาประกาศคณะรัฐ ประหารไปใช้

ในไอเดียของผม คือต้องทำให้การรัฐประหารและสิ่งที่ทำกันมาต่อจากนั้นมัน ‘เสียเปล่า’ รัฐธรรมนูญจะประกาศความเสียเปล่านั้น หมายความว่า อะไรๆ ที่ตัดสินกันจากผลของการรัฐประหาร จะไม่เคยเกิดมีขึ้นในทางกฎหมาย ซึ่งนี่อาจจะเป็นเรื่องที่นักกฎหมายไทยอาจจะยังไปไม่ถึง ไม่รู้จัก และอาจจะสงสัยว่า เฮ้ย! มันจะเป็นอย่างไร ประกาศความเสียเปล่าของคำสั่ง ของคำวินิจฉัยของศาล แต่มันทำได้ในทางกฎหมาย

เอาล่ะ เราเข้าใจว่าคดียุบพรรคไทยรักไทย 111 คนนั้นจบไปแล้ว ถ้าเราลบล้างหรือทำให้การรัฐประหารมันเสียเปล่า ด้วยการประกาศความเสียเปล่า แล้วต่อมาเราก็บัญญัติในรัฐธรรมนูญประกาศความเสียเปล่าของคำวินิจฉัยของคณะ ตุลาการรัฐธรรมนูญ ผลก็จะเหมือนกับว่าบุคคลเหล่านั้นไม่เคยถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งเลย ซึ่งกว่าจะมีประกาศการเสียเปล่าด้วยรัฐธรรมนูญ ผลการตัดสิทธิคงจะหมดไปแล้ว การประกาศความเสียเปล่านั้น จะไม่มีผลในทางความเป็นจริง แต่มีผลในทางกฎหมาย

แต่มันทำให้เขาบริสุทธิ์
มันทำให้เขาบริสุทธิ์หรือไม่ไม่รู้ แต่ถือว่า เขาไม่เคยถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งหรืออะไรเลยในชีวิต

แต่การเสียสิทธิ โอกาส และเวลาไป 5 ปี จะไปเรียกร้องอะไรคืนไม่ได้ใช่ไหม
อันนี้จะเป็นปัญหา ต้องมาคิดกันว่า เราจะยอมแค่ไหนอย่างไร ซึ่งเป็นอีกเรื่องหนึ่งว่าด้วยการเยียวยา รัฐบาลอาจจะบอกว่าโอเค จบๆ ไป เรียกร้องอะไรไม่ได้เพื่อไม่ให้เกิดความสับสนปั่นป่วน ในระบบกฎหมายอาจจะไม่เยียวยาให้ในกรณีเหล่านี้ หรืออาจจะเยียวยาในบางกรณีก็ได้

แต่กรณีข้อสงสัยในความผิด หรือข้อกล่าวหา เช่น กรณีคุณทักษิณ ก็อาจจะยังถูกดำเนินคดีตามกระบวนการได้
ก็ต้องว่ากันไป ตราบเท่าที่ยังอยู่ในอายุความดำเนินคดี ถ้าไม่อยู่ก็ต้องจบไป ช่วยไม่ได้

มาถึงกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เราจะเริ่มอย่างไร คนเสื้อแดงเขาเสนอให้นำรัฐธรรมนูญ 2540 กลับมาใช้
ที่ผ่านมา มีคนเสนอให้ออกประชามติเลือก 2540 กับ 2550 แต่ปัญหาคือ ถ้าคนเลือก 2540 แล้วจะเป็นอย่างไร ระบบองค์กรต่างๆ จะเป็นอย่างไร เพราะบางองค์กรไม่มีในรัฐธรรมนูญปี 40 เช่น องค์ประกอบของศาลรัฐธรรมนูญมีไม่เท่ากัน จะทำอย่างไร ถ้าเกิดว่าเอา 40 มาใช้ ก็ต้องเป็น 40 บวกบทเฉพาะกาล คือถ้าจะทำก็มีวิธีการทำ โดยการเพิ่มบทเฉพาะกาลลงไปในรัฐธรรมนูญ 2540 ก่อน แล้วจึงนำรัฐธรรมนูญ 40 บวกบทเฉพาะกาลนั้น กับรัฐธรรมนูญปี 50 ไปให้ประชาชนเลือกด้วยการออกเสียงประชามติ ถ้าประชามติเลือก 40 ผ่าน 40 ก็จะกลับมา พร้อมบทเฉพาะกาล อย่างนี้ก็ได้ ถ้าจะเอาแบบนี้ แต่ผมไม่ค่อยเห็นด้วย

เพราะข้อบกพร่อง 2540 ก็ยังมีอีกเยอะ
ใช่ โดยส่วนตัว ผมถึงคิดว่าทำกันขึ้นใหม่ดีกว่า เราอาจจะยกรัฐธรรมนูญฉบับหลักๆ ที่เป็นประชาธิปไตยมาเป็นหลักในการยกร่าง ใจผมเห็นว่า เอารัฐธรรมนูญฉบับที่ 1 ฉบับที่ 2 ฉบับที่ 3 แล้วอาจจะบวกกับบางส่วนปี 40 เป็นแกน อย่างนี้น่าจะดีกว่าการใช้ 2540 เพียงฉบับเดียว คือย้อนกลับไปที่รัฐธรรมนูญก่อน 2490 (การรัฐประหารล้มล้างรัฐธรรมนูญครั้งแรก) ไปที่ 3 ฉบับแรก เพราะ 3 ฉบับแรก ยังสืบสายอุดมการณ์ประชาธิปไตยในระดับหนึ่ง เพราะฉะนั้นต้องเอาธรรมนูญฉบับชั่วคราวบวกกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม 2475 บวกกับ 2489 แล้วบวกบางส่วนของปี 2540 อันนี้คือแนวทางในแง่ของการรื้อสร้าง

การทำประชามติมีไม่ชอบ ธรรมด้วยหรือ เมื่อเสียงส่วนใหญ่ลงไปแล้ว ไม่ว่าจะถูกหลอกไม่หลอก เราก็ต้องเชื่อ ไม่เช่นนั้นถ้าเราอธิบายว่าถูกหลอก ก็เหมือนกับที่พรรคเพื่อไทยโดนกล่าวหาว่าซื้อเสียง
คำถามนี้ดี คืออย่างนี้ สมมติว่าเรายอมรับว่าเป็นการประชามติจริง แต่ประชามติก็ไม่ได้เป็นสรณะว่าเราจะมีรัฐธรรมนูญใหม่ไม่ได้ เราอาจจะประชามติใหม่อีกทีหนึ่งอย่างนี้ก็ได้ ถูกไหม เพราะฉะนั้นประชามติก็ต้องเจอประชามติอีกทีหนึ่ง อันนี้ไม่เป็นปัญหา ทำได้

คำถามคือ ประชามติที่ทำขึ้นมานั้นมีความชอบธรรมไหม เราจะบอกปฏิเสธความชอบธรรมโดยสิ้นเชิงเลยนั้นก็ไม่ได้ ถูกไหม เราปฏิเสธไม่ได้ทั้งหมด เพราะอย่างน้อยมันก็ผ่านการออกเสียงประชามติ แม้ว่าในบริบทของการออกเสียงประชามติจะไม่ถูกต้องตามหลักประชามติก็ตาม

แต่ว่าความชอบธรรมที่มีอยู่มันไม่บริบูรณ์ ความไม่บริบูรณ์หมายความว่า การออกเสียงประชามติที่ออกเสียงไปเมือปี 2550 มันไม่เป็นไปตามหลักการการออกเสียงประชามติที่แท้จริง คือเป็นปัญหาที่ตัวกฎเกณฑ์ เพราะการออกเสียงประชามติโดยแท้จริง ประชาชนเขาต้องมีทางเลือกที่ชัดเจน แต่ในวันที่เขาไปออกเสียงประชามติ เขาไม่ได้มีทางเลือกที่ชัดเลย เพราะเขาไม่รู้ว่า ถ้าเขาไม่เอารัฐธรรมนูญที่เป็นร่างปี 50 เขาจะได้รัฐธรรมนูญอะไร ไม่เห็นตัวเลือกที่ชัดเจน คือถ้ายังมีรัฐธรรมนูญฉบับเก่าอยู่ มีปี 50 มาเทียบ แล้วให้ประชาชนออกเสียงประชามติว่า จะรับฉบับใหม่ไหม ถ้าไม่รับก็ใช้ฉบับเก่า อันนี้ก็เคลียร์ในแง่ของการออกเสียงประชามติจริงๆ มีความชอบธรรมจริงๆ

ประชามตินี้ก็มีที่มาจากการรัฐประหารเหมือนกัน แล้วต้องยอมรับไหม
ไม่รับได้ไหม นี่ก็เป็นปัญหาเหมือนกัน เพราะอย่างน้อยในทางรูปแบบแล้วมันมีการออกเสียง คือผมถึงมีความเห็นว่า ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญจึงต้องมีการทำประชามติไง

โดยกระบวนการของการแก้ไขรัฐธรรมนูญหากจะมีขึ้น ต้องเริ่มที่การลบล้างประชามติเดิมก่อน
ที่จริงก็ทำได้หลายวิธี คือถ้าชอบธรรมมากๆ ก็ต้องทำประชามติ ถามประชาชนดูว่าจะแก้หรือไม่แก้ อันนี้มีความชอบธรรมเต็มที่ แต่อาจจะไม่ต้องทำก็ได้ ถ้าเราถือว่า มีนโยบายที่เสนอไว้เมื่อตอนหาเสียงแล้ว แล้วรัฐบาลก็ได้เสียงเกินกึ่งหนึ่งเข้ามา สภาที่ได้มาจากการเลือกตั้งจึงมีความชอบธรรมในระดับหนึ่ง แล้วก็ทำการแก้ไขบนฐานของตัวองค์กรที่เกิดจากรัฐธรรมนูญปี 2550 เองด้วย เพื่อที่จะเลือกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) กัน แต่สุดท้ายเพื่อสร้างความชอบธรรมให้เกิดขึ้นใหม่ ก็ให้ไปออกเสียงประชามติในตอนจบ ไปทำตอนนั้น คือตอนที่ร่างรัฐธรรมนูญเสร็จเรียบร้อยแล้ว แล้วให้คนมาเลือกกันระหว่างปี 50 กับฉบับที่ทำขึ้นมาใหม่

ถ้าจะทำประชามติก่อนว่าจะแก้หรือไม่แก้ ขั้นตอนคือ แก้ไขมาตรา 291 ว่าด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เสร็จแล้วจึงให้ประชาชนลงประชามติรับรอง
ก็ได้ อย่างนั้นก็ได้ ทำอย่างนั้นก็จะมีความชอบธรรมมากขึ้น แต่ตอนที่มีสภาร่างรัฐธรรมนูญหรือกระบวนการทำรัฐธรรมนูญปี 40 เราก็ไม่ได้เริ่มที่ประชามติในรอบแรกนะ และที่จริงๆ ก็ไม่ได้แค่แก้ 291 คือถ้าเราจะทำรัฐธรรมนูญขึ้นมาใหม่ วิธีการที่มันพร้อมกว่าสมบูรณ์กว่า คือการยกร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญตามกระบวนการ 291 โดยเพิ่มหมวดว่าด้วยกระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่โดยที่ยังคง มาตรา 291 แบบเดิมไว้ ซึ่งหมวดที่เพิ่มมาทั้งหมวดจะบอกวิธีการว่า จะมี ส.ส.ร.ขึ้นมาได้อย่างไร ขั้นตอนจะเป็นอย่างไร จะไปออกเสียงประชามติอย่างไร ส่วนในระหว่างกระบวนการยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ซึ่งอาจใช้เวลาปีสองปี หากมีความจำเป็นต้องแก้มาตราอื่นๆ ก็ใช้ 291 แก้ไป ไม่ต้องเอาสภาร่างฯไปแก้ เพราะ ส.ส.ร.มีหน้าที่ทำรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่ทั้งฉบับ มันควรต้องเป็นแบบนี้

ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง พูดในสภาว่า จะให้มี ส.ส.ร. 99 คน มาจากจังหวัดละคน 77 และบวกผู้ทรงคุณวุฒิอีก 22 เหมือนตอนยกร่างปี 40 อาจารย์เห็นอย่างไร
การได้มาซึ่ง ส.ส.ร. ที่จริง ตอนนั้นก็ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งจริงๆ ตอนนั้นในแต่ละจังหวัดให้มาสมัคร แล้วเลือกกันเองให้ได้ 10 คน จากนั้นก็ส่งมาที่สภา แล้วสภาก็เป็นคนเลือกให้เหลือจังหวัดละคน ไม่ได้เลือกจากประชาชนโดยตรง แต่ใจผม ถ้าให้มีความชอบธรรมมากกว่า ก็ต้องให้เลือกจากประชาชนโดยตรง ประชาชนก็ออกไปเลือกตั้ง ซึ่งก็คงยุ่งยากกว่าแต่ก็โอเค ที่จริงการให้สภาเลือกนั้นก็มีฐานความชอบธรรมอยู่ เพียงแต่ว่าตอนนี้วุฒิสภาครึ่งหนึ่งมาจากการสรรหา ฐานความชอบธรรมจึงมีไม่เต็มที่ แต่ถ้าเราคิดว่า สุดท้ายแล้วจะไปให้ประชาชนลงประชามติอยู่แล้ว และเพื่อให้กระบวนการเดินไปได้เร็ว ก็อาจจะให้สภาเป็นคนเลือกก็ได้

อย่างไรก็ตามการเลือกจังหวัดละคนนั้น ไม่ค่อยสอดรับกับหลักคิดเท่าไร ที่มาของ 77 คนนี่ไม่ถูกในเชิงหลักการ เพราะบ้านเราไม่มีระบบแบบมลรัฐที่แต่ละรัฐจะใหญ่เท่าๆ กัน เพราะจังหวัดของเราเป็นราชการบริหารส่วนภูมิภาคเท่านั้นเอง เรื่องนี้จึงต้องคิดต่อว่าจะทำอย่างไร เดิมทีผมคิดว่า ต้องมาจากการเลือกตั้งโดยจัดกลุ่มจังหวัด แล้วให้ประชากรแต่ละกลุ่มมีจำนวนใกล้เคียงกัน กรุงเทพอาจจะมีมากกว่า 1 คน เพราะประชากรเยอะกว่า เป็นไปตามสัดส่วนประชากร

ตอนนั้นการเมืองยังไม่แบ่งขั้ว แต่ตอนนี้ถ้าให้เลือกกันเอง สมัครกันเอง น่าจะเกิดการบล็อกโหวต กลายเป็นการช่วงชิงกันแบบไม่มีกติกา
ใช่ นั่นก็จะเกิดปัญหา

แล้วถ้าจะเป็นการเลือกตั้งโดยตรงเหมือน ส.ว.
จะเอาแบบเลือกตั้ง สว. จังหวัดละคน อย่างนั้นก็ดีขึ้นมาหน่อย แต่อย่างที่บอก ให้จัดกลุ่มที่มีประชากรใกล้เคียงกันจะดีกว่า เอาจำนวนประชากรเป็นตัวตั้ง แล้วลองดูว่าใช้สัดส่วนประชากรกี่คนแล้วรวมกัน ซึ่งอาจจะต้องทำแบบนั้น เพราะไม่มีวิธีการอื่น อาจจะดูยากหน่อยในส่วนของจังหวัด นอกจากนี้ก็อาจจะมีข้อเสียเพราะจะถูกมองว่าเป็นการเมืองมากไป เพราะเวลาลงเลือกตั้งนั้นอย่างไรเสียก็ต้องเชื่อมโยงกับพรรคการเมืองแน่นอน ดังนั้นวิธีที่ดีพร้อมจึงยังไม่มี หรือไม่อย่างนั้นก็ให้สภาตั้งเลย กำหนดคุณสมบัติ ใครอยากเป็นก็ให้สมัคร ไม่ต้องเลือก สมัครแล้วให้สภาประชุมกันแล้วมีคณะกรรมการขึ้นมาเลือก จากนั้นสภาก็เลือก อาจมีช่องให้กาว่า จะเลือกลงช่องผู้ทรงคุณวุฒิหรือช่องอะไรก็ว่าไป คือใช้ตัวสภานั้นแหละ ซึ่งถ้าจะให้ดีก็คือให้สภาผู้แทนราษฏรเลือก แต่วุฒิสภาก็คงไม่ยอม หรืออาจจะทำในเชิงข้อตกลงกันว่า ผู้ได้รับการเลือกจะต้องได้คะแนนเสียงมากเป็นพิเศษ เช่น 2 ใน 3 เป็นต้น

2 ใน 3 ก็คือต้องใช้ 400 กว่าเสียง เพื่อให้เกิดการประนีประนอมกันระหว่างรัฐบาล ฝ่ายค้าน และ ส.ว. ไม่ให้ใครผูกขาดได้
ก็ต้องว่ากันไป แต่ประเด็นที่สำคัญนั้นอยู่ที่กรรมาธิการยกร่าง เรื่องการยกร่างความสำคัญจะไปอยู่ตรงนั้น

ตอนยกร่างฉบับปี 40 นี่ มีนักกฎหมายมหาชนครึ่งหนึ่ง นักรัฐศาสตร์ครึ่งหนึ่งใช่ไหม
ตอนนั้นนักกฎหมายมหาชน 8 คน นักรัฐศาสตร์ 8 คน แล้วผู้เชี่ยวชาญการร่างกฎหมายอีก 7 คน เพราะ ส.ส.ร.ชุดนั้นผู้ทรงคุณวุฒิมีได้ 23 คน จาก 76 จังหวัด บวกอีก 23 เพื่อให้เป็น 99

ทำไมจึงมีแค่ 3 อาชีพนี้
เรื่องนี้ก็ถกเถียงกันได้ ในชั้นของ ส.ส.ร. ผมไม่ค่อยกังวล แต่ตอนที่เป็นกรรมการยกร่าง คุณสมบัติต้องเฉพาะเจาะจง ต้องเอาคนซึ่งรู้เรื่องเรื่องพวกนี้เข้าไป ส่วนคนซึ่งรู้เรื่องทั่วไปก็ไปอภิปรายในชั้นของสภา แต่เราไม่ควรคิดถึงแต่ตัวสภาร่าง เราควรคิดถึงตัวกรรมาธิการยกร่างไปด้วยเลยโดยให้ความสำคัญเท่ากับสภา ซึ่งตรงนั้นใช้คนไม่เยอะ

หมายความว่า คุณสมบัติของคณะกรรมาธิการยกร่างฯ ต้องระบุในรัฐธรรมนูญที่จะแก้ไขไว้เลย
ใจผมอยากให้เป็นแบบนั้น คือแต่เดิมที เขาไม่ได้วางสเป็ก เขาให้ ส.ส.ร.ไปว่ากันเอง

ในส่วนเนื้อหาที่จะแก้ไข ในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะได้อย่างที่หลายๆ ฝ่ายเสนอไหม เราจะยอมรับได้แค่ไหน หรือเราจะผลักดันได้แค่ไหน
ก็ต้องดูก่อนว่ากระบวนการออกมาอย่างไร แต่ผมสนใจในแง่โครงสร้าง เช่น เรื่องสิทธิเสรีภาพ เรื่องของประชาธิปไตยต้องผลักให้สุด คือต้องผลักให้ได้ อะไรที่มาจากการสรรหาต้องเลิก องค์กรอิสระบางองค์กรต้องเอาออก ปรับระบบอำนาจ วางเชื้อเรื่องการปฏิรูปองค์กรตุลาการ ปฏิรูปกองทัพ หรือการมีผู้ตรวจการกองทัพ ไอเดียที่ผมเคยนำเสนอ พวกนี้ควรจะต้องได้

คืออย่างน้อยก็ขอให้มีรูปเป็นร่าง
ใช่ จะอย่างไร หากไม่สามารถสำเร็จได้ในทีเดียว ก็ขอให้มีไว้เป็นฐานในการทำต่อ คือทำแล้วครั้งหน้าไม่ต้องยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับแล้ว มีโครงสร้างแล้ว ข้างหน้าหากจะมีการปรับอะไรก็ไปปรับบางหมวดพอ คือจะต้องคิดแบบนั้น ต้องคิดเผื่อไว้

ข่าวส่งเสริมคนดี

จำนวนผู้เข้าเยี่มมชม

link to affordable web hosting
Powered by web hosting provider .

สถิติการเข้าชม DMNEWS

eXTReMe Tracker