ที่มา
ประชาไท ตามที่กรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ว่าจ้างผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการเข้ามาทำการศึกษาความเหมาะสมและวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ภายใต้โครงการอ่างเก็บน้ำแม่ปิงตอนบน อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ เบื้องต้นทางคณะศึกษาฯร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการดำเนินการ ได้เข้ามาจัดเวทีเพื่อรับฟังความคิดเห็นจากชุมชนในพื้นที่ลุ่มน้ำแม่ปิง 3 ครั้งที่ผ่านมา ครั้งที่ 1 เดือนมกราคม 2554 ครั้งที่ 2 วันที่ 5 เมษายน 2554 และครั้งที่ 3 วันที่ 24 มีนาคม 2554 ประเด็นการรับฟังความคิดเห็นเพื่อนำไปสู่การศึกษาความเหมาะสมและวิเคราะห์ผล กระทบด้านสิ่งแวดล้อม โครงการอ่างเก็บน้ำแม่ปิงตอนบน
นอกจากการจัดเวทีเพื่อรับฟังความคิดเห็นแล้ว คณะศึกษาฯ ยังได้ลงพื้นที่ ณ ที่ตั้งโครงการ คือ บ้านโป่งอาง หมู่ที่ 5 ตำบลเมืองนะ อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อจัดทำข้อมูลทั้งด้านสิ่งแวดล้อม สังคม ระบบนิเวศพื้นที่ และสุขภาพของคนในชุมชน
ล่าสุด ล่าสุด สำนักบริหารโครงการ กรมชลประทาน ในฐานะประธานคณะกรรมการดูแลกำกับงานที่ปรึกษาด้านวิชาการ โครงการอ่างเก็บน้ำแม่ปิงตอนบน อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ เตรียมจัดเวทีประชุมกลุ่มย่อย ครั้งที่ 2 การศึกษาความเหมาะสมและวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการอ่างเก็บน้ำแม่ปิงตอนบน อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ ในวันที่ 22 กันยายน 2554 นี้ ณ หอประชุมเทศบาลตำบลเชียงดาว อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่
โดยในหนังสือดังกล่าว ระบุว่า นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารโครงบการ ประธานคณะกรรมการดูแลกำกับงานที่ปรึกษาด้านวิชาการ โครงการอ่างเก็บน้ำแม่ปิงตอนบน อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ ได้ทำหนังสือเชิญองค์กร หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุม โดยข้อความอ้างถึง การเข้ามาดำเนินการของกรมชลประทาน ได้ว่าจ้างกลุ่มบริษัทที่ปรึกษา ซึ่งประกอบด้วย บริษัทพี แอนด์ ซีแมเนจ เมนท์ จำกัด บริษัท พิสุทธิ์ เทคโนโลยี จำกัด และบริษัท ธารา คอนซัลแตนท์ จำกัด ให้ดำเนินการศึกษาโครงการดังกล่าว ระยะเวลา600 วัน
ในหนังสือระบุอีกว่า ทั้งนี้เพื่อให้ประชาชนผู้มีส่วนได้ ส่วนเสีย องค์กรอิสระและหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้อง ได้รับทราบผลสรุปการประชุม รับฟังความคิดเห็น ครั้งที่ 2 และความก้าวหน้าโครงการ จึงได้จัดให้มีการจัดประชุมกลุ่มย่อย ครั้งที่ 2 ขึ้น ในวันที่ 22 กันยายน 2554 เวลา 08.30 น. - 12.00 น. ณ ห้องประชุมเทศบาลตำบลเชียงดาว
ทั้งนี้ แหล่งข่าวในพื้นที่ได้ตั้งข้อสังเกตว่า จากรายละเอียดเอกสารการประชุมในครั้งนี้ ไม่ได้มีการระบุว่า ผู้เข้าร่วมที่เชิญมีใครบ้าง อย่างไร แม้กระทั่ง ชื่อ ตำแหน่งของตัวแทนกรมชลประทานและวิทยากรที่จะเข้าร่วมประชุมนั้น ก็ไม่ได้ระบุแน่ชัดว่าเป็นใคร และดูเหมือนการประชุมเวทีครั้งนี้ มีความเร่งรีบและร้อนรน เพราะใช้เวลาประชุมเพียงครึ่งวัน
การประชุมกลุ่มย่อยของการศึกษาโครงการดังกล่าวครั้งนี้เป็นครั้งที่ 2 ซึ่งเหลืออีก 1 ครั้ง ตามสัญญาว่าจ้างที่จะดำเนินการแล้วเสร็จ ก่อนทีมศึกษา จะส่งมอบให้กรมชลประทานดำเนินการต่อไป
อย่างไรก็ตาม หลังทราบข่าว ชาวบ้านโป่งอาง ซึ่งเป็นกลุ่มชาวบ้านที่จะได้รับผลกระทบโดยตรงจากการสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำ ปิงในครั้งนี้ ได้แสดงความไม่พอใจและพร้อมจะออกมาเคลื่อนไหว ให้กรมชลประทานยุติการดำเนินการนี้ให้ได้ เพราะเห็นว่าโครงการดังกล่าวเป็นลักษณะของกระบวนการที่ได้ละเมิดสิทธิชุมชน และฐานทรัพยากรฯในประเด็นสำคัญๆ ดังนี้
1.การรับรู้ข้อมูลข่าวสารการดำเนินงานตามโครงการ ชุมชนไม่มีโอกาสเข้าถึง รับรู้ข่าวสาร รายละเอียดโครงการฯ
2.กระบวนการมีส่วนร่วมและการตัดสินใจไม่ได้เกิดขึ้นจากคนในชุมชนอย่างแท้จริง
3.ขั้นตอน กระบวนการศึกษามีลักษณะเร่งรัดในการดำเนินการ ขาดความละเอียดของการศึกษาความเหมาะสม ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นทั้งด้านสังคม สิ่งแวดล้อมและสุขภาพ
4.ที่ตั้งโครงการฯ ดังกล่าวอยู่ในเขตพื้นที่ป่าต้นน้ำแม่ปิง ซึ่งถือว่าเป็นขุนน้ำสำคัญไหลหล่อเลี้ยงชุมชนในพื้นที่อำเภอเชียงดาว เชียงใหม่จนถึงที่ราบลุ่มน้ำเจ้าพระยา
5.ที่ตั้งโครงการฯดังกล่าว เป็นพื้นที่ป่าของชุมชน ที่ชุมชนได้อาศัย พึ่งพาเป็นแหล่งอาหาร แหล่งสมุนไพร ไม้ใช้สอยของคนในชุมชน
6.ไม่มีการใช้ฐานต้นทุนองค์ความรู้ ภูมิปัญญาท้องถิ่นเข้ามามีส่วนในกระบวนการศึกษาความเหมาะสม และดำเนินการทั้งทางสังคม สิ่งแวดล้อมและสุขภาพ
ชาวบ้านชุมชนบ้านโป่งอาง ได้ออกมายืนยันว่า การเข้ามาศึกษาฯครั้งนี้ไม่ได้ตรงกับข้อเท็จจริงและสิ่งที่ชุมชนเสนอ ทั้งที่ผ่านเอกสาร และการศึกษาข้อมูล เพราะผลที่ออกมาเป็นรูปแบบของการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ ทั้งความสูง พื้นที่รองรับน้ำ ความยาวของตัวเขื่อน ที่สำคัญการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร การเข้ามาดำเนินการกระบวนการศึกษา ไม่ได้เปิดโอกาสให้ชุมชนได้รับรู้อย่างทั่วถึงหรือไม่เปิดเผยข้อมูลที่แท้ จริง ที่จะนำไปสู่การตัดสินใจร่วมของคนในชุมชน ซึ่งได้สร้างความวิตกกังวลให้ชุมชนในพื้นที่เป็นอย่าง ยิ่ง
“พวกเราขอยืนยันอย่างมั่นคงว่า จะติดตาม ทวงถามและพิทักษ์สิทธิของชุมชนอย่างต่อเนื่อง หากยังไม่มีความคืบหน้า หรือเพิกเฉยต่อข้อเรียกร้อง หรือมีการกระทำใดๆ อันเป็นการข่มขู่คุกคามผู้นำ แกนนำ หรือชาวบ้าน พวกเราจะดำเนินการทุกวิถีทางตามสิทธิอันพึงมีของชุมชนเพื่อให้โครงการ อ่าง(เขื่อน)เก็บน้ำแม่ปิงตอนบนล้มเลิก จนถึงที่สุด”
ทั้งนี้ มีรายงานแจ้งว่า หลังจากกรมชลประทานยังคงเดินหน้าเขื่อนกั้นแม่น้ำปิงเชียงดาว จัดเวทีในวันที่ 22 ก.ย.นี้ ได้ทำให้ชาวบ้านในหลายๆ พื้นที่ อาทิ พี่น้องประชาชนบ้านโป่งอาง หมู่ที่ 5 ต.เมืองนะ ชุมชนลุ่มน้ำแม่แตงตอนบน /ลุ่มน้ำแม่คอง เครือข่ายทรัพยากรอำเภอเชียงดาว พี่น้องปลายน้ำลุ่มน้ำแม่ปิงตอนบน และชุมชนลุ่มน้ำแม่ป๋าม ประมาณ 500 คน ได้พร้อมใจกันจะออกมากดดันเคลื่อนไหวหากกรมชลประทาน ยังไม่ล้มเลิกโครงการดังกล่าว