บล็อคข่าวส่งเสริมคนดี (รักดีหามจั่ว รักชั่วหามเสา หามจั่วก็หนักนะ)

ข่าวจากสื่อ

บทความจากสื่อ

วันอังคารที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2552

พผ.เผย3ข้อตกลงพรรคร่วม คืนสิทธิ "111+109" ภูมิใจไทยหนุนสุดตัว ปชป.ดันนิรโทษฯ เต็มที่-ปัดถูกบีบ

ที่มา มติชนออนไลน์

"ชุมพล"แนะแก้ความไม่ยุติธรรม ผิดต้องว่าตามผิด หน.พผ.เผย 3 ข้อตกลงพรรคร่วม รบ. คืนสิทธิ 111+109 - กำหนดเขตเลือกตั้ง - ให้ทุกภาคส่วนร่วมแก้ รธน. ภูมิใจไทยหนุนด้วยสุดตัว ปชป.ดันนิรโทษฯ เต็มที่ ย้ำไม่รวมคดีอาญา ปัดถูกพรรคร่วมบีบ แค่หาทางออกร่วมกัน

"ชุมพล"แนะแก้ความไม่ยุติธรรม ผิดต้องว่าตามผิด


เมื่อวันที่ 21 เม.ย. นายชุมพล ศิลปอาชา เป็นรัฐมนตรีการท่องเที่ยวและกีฬา และหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา กล่าวถึงการออกกฎหมายนิรโทษกรรมว่า เมื่อศาลตัดสินใจว่าผิดก็ต้องว่าไปตามผิด หากตัดสินว่าไม่ผิดก็ต้องปล่อยไป ทั้งนี้ หากเราเห็นว่ามีความไม่ยุติธรรมเกิดขึ้น ต้องแก้ไข

"ใครที่ผิดก็ต้องรับ ใครไม่ผิดก็ต้องให้เขาพ้นผิด" นายชุมพลกล่าว

มาร์ค"ย้ำไม่นิรโทษคดีอาญา


นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ยืนยันอีกครั้ง เมื่อวันที่ 20 เมษายน พร้อมเปิดกว้างรับฟังทุกข้อเสนอที่จะนำมาสู่การคลี่คลายปัญหาความขัดแย้งในสังคม ภายหลังส่งสัญญาณ ผ่านการออกรายการเชื่อมั่นประเทศไทยกับนายกฯ เปิดทางแก้ไขรัฐธรรมนูญ และผลักดันกฎหมายนิรโทษกรรมคดีการเมืองเพื่อแก้ปัญหาการเผชิญหน้ากันตามการเสนอของพรรคร่วมรัฐบาล


ในการให้สัมภาษณ์ที่ทำเนียบรัฐบาล นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า วันนี้กำลังพูดถึงการแก้รัฐธรรมนูญและการปฏิรูปการเมือง ยังไม่มีการพูดถึงกฎหมายนิรโทษกรรม แต่ถ้าใครติดใจเกี่ยวกับความผิดทางการเมืองที่ผ่านมาก็สามารถเสนอประเด็นมาพิจารณาร่วมกันได้ แต่ขีดเส้นไว้ว่าความผิดทางอาญาไม่สามารถเป็นส่วนหนึ่งของการไขปัญหาตรงนี้ได้


ผู้สื่อข่าวถามว่า แสดงว่าอดีตกรรมการบริหารพรรคการเมืองที่ถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 111 คน และ 109 คน มีสิทธิเสนอเรื่องนี้ใช่หรือไม่ นายกฯกล่าวว่า ทุกคนมีสิทธิเสนอ ส่วนข้อยุติจะเป็นอย่างไร ต้องมาทำความเข้าใจใช้เหตุผล หลักการ และข้อกฎหมาย


นายอภิสิทธิ์ กล่าวถึงกรณีนายพีระพันธุ์ พาลุสุข ฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย (พท.) เสนอยกเลิกทุกคดีหลังเหตุการณ์รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 เนื่องจากเป็นเรื่องการเมืองทั้งหมดว่า คงจะไปสรุปอย่างนั้นไม่ได้


ตอบก่อนไม่ได้ยุบสภาตอนไหน


ส่วนเรื่องนี้จะกลายเป็นบรรทัดฐานหรือไม่ว่าคนที่ทำความผิด และสร้างความปั่นป่วนต่างๆ ไม่ต้องได้รับโทษนั้น นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ยังไม่ได้ข้อสรุปในเรื่องนี้ ต้องฟังเสียงของผู้ที่ไม่พอใจกับเหตุการณ์ต่างๆ ที่ผ่านมา และต้องให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย เมื่อถามว่า กลุ่มคนเสื้อเหลืองและกลุ่มคนเสื้อแดงต่างมีคดีอาญาทั้ง 2 ฝ่าย การนิรโทษกรรมเฉพาะความผิดทางการเมืองจะช่วยให้เกิดความปรองดองได้อย่างไร นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ต้องเอาตัวระบบเป็นหลักก่อน ถ้ามาแก้ไขเพียงเพื่อแก้ไขปัญหาให้กับกลุ่มบุคคล แต่ไม่ได้ทำให้ระบบดีขึ้น ก็คงไม่ทำ ดังนั้นต้องมีคำตอบที่ชัดเจนว่าระบบดีขึ้นอย่างไร และเป็นไปได้ว่าในที่สุดต้องกลับไปถามประชาชน ส่วนจะดำเนินการรูปแบบใด ยังไม่ลงรายละเอียด ตอนนี้ต้องเปิดกว้างนำทุกข้อเสนอมาวางบนโต๊ะ ไม่ไปพูดในลักษณะคนละทีแล้วเก็บไปเป็นเงื่อนไขในการสร้างความขัดแย้งในบ้านเมือง ทั้งนี้ ในส่วนของพรรคการเมืองต่างๆ ที่คุยกันไว้คือประมาณ 2 สัปดาห์ให้กลับมาเสนอประเด็น


นายอภิสิทธิ์ กล่าวตอบคำถาม หากปฏิรูปการเมืองเรียบร้อยแล้วจะนำไปสู่การยุบสภาหรือไม่ ว่า "อันนั้นไปอีกขั้นหนึ่งแล้ว วันนี้ต้องมาดูกระบวนการกันก่อนว่าจะแก้ไขอย่างไร เรื่องการยุบสภาตอนไหน ตอบล่วงหน้าไม่ได้ เพราะเป้าหมายคือการแก้ไขที่ตัวระบบ ต้องเอาเรื่องนี้เป็นหลักก่อน หลังจากนั้นจะเป็นอย่างไร ถือเป็นอีกเรื่องหนึ่ง"


ปัดพรรคร่วมบีบ-หาทางออกร่วม


นายอภิสิทธิ์ กล่าวถึงข้อเสนอภาคเอกชนให้ผู้มีบารมีเป็นตัวกลางเปิดเจรจาระหว่างรัฐบาลกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เพื่อยุติปัญหาความขัดแย้งว่า ขณะนี้สถานการณ์กำลังคลี่คลายไปตามลำดับ ข้อเสนอเรื่องการเดินหน้าเพื่อสร้างความปรองดองกำลังดำเนินการบนความถูกต้อง ไม่ทราบว่าที่เสนอให้มีการเจรจานั้นเป็นอย่างไร แต่หลักการที่ พูดชัดเจนว่าจะไปลบล้างคดีอาญาไม่ได้และไม่ควรทำ ผู้สื่อข่าวถามว่า นายกฯจะยอมเจรจากับพ.ต.ท.ทักษิณหรือไม่ นายกรัฐมนตรีกล่าวปฏิเสธว่า


"ไม่ใช่ แต่ผมยังไม่ทราบว่าจะไปเจรจาเรื่องอะไร เพราะรู้สึกว่าในส่วนที่ท่านมีปัญหาเป็นเรื่องของคดีอาญาทั้งนั้น ผมยังนึกไม่ออกเลยว่ากรอบการเจรจากันคืออะไร แต่ยืนยันว่าจะคุยกับคนที่ต้องการเรียกร้องอยู่ในกรอบ ไม่ใช้ความรุนแรง ไม่ยุยงส่งเสริมให้เกิดความรุนแรง" นายอภิสิทธิ์ กล่าว


ผู้สื่อข่าวถามว่า ที่แกนนำพรรคร่วมรัฐบาลเสนอให้เปิดเจรจากับ พ.ต.ท.ทักษิณอยู่ในกรอบใดบ้าง นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า พรรคร่วมรัฐบาลยังไม่ได้เสนอเข้ามา เมื่อถามว่า ขณะนี้นายกฯ กำลังถูกพรรคร่วมบีบอยู่หรือไม่ นายอภิสิทธิ์กล่าวปฏิเสธว่า "ไม่หรอกครับ ผมมีอะไรก็ปรึกษาหารือทุกพรรค ซึ่งแต่ละพรรคก็ต้องมีจุดยืนและเสนอเข้ามา ตรงบ้างไม่ตรงบ้าง ก็เป็นเรื่องปกติ ต้องหาทางออกร่วมกัน"


พผ.เผยข้อตกลงคืนสิทธิ "111+109"


นายชาญชัย ชัยรุ่งเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม หัวหน้าพรรคเพื่อแผ่นดิน (พผ.) คนใหม่ กล่าวว่า แกนนำพรรคร่วมรัฐบาลได้นัดหารือนอกรอบที่บ้านพักของนายนิพนธ์ พร้อมพันธุ์ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 17 เมษายนที่ผ่านมา โดยทุกพรรคได้รับการบ้านกลับมาให้ไปรวบรวมความเห็นในการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อเสนอต่อนายกฯภายใน 2 สัปดาห์


"มีการกำหนดประเด็นในเบื้องต้น 3 ประเด็นคือ 1.การคืนสิทธิทางการเมืองให้กับอดีตกรรมการบริหารพรรคการเมืองที่ถูกเพิกถอนสิทธิทั้ง 111 คน และ 109 คน 2.การกำหนดเขตเลือกตั้ง และ 3.การเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ" นายชาญชัย กล่าว


ปัญหาเกิดจากคนนอกเขียน รธน.


นายชาญชัย กล่าวว่า จะเรียกประชุมคณะกรรมการบริหาร (กก.บห.) และ ส.ส. พผ. โดยเร็วเพื่อกำหนดแนวทางในการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตย และใช้กลไกที่เป็นที่ยอมรับของสังคม จากนั้นจะนำรายละเอียดทั้งหมดเสนอต่อนายกฯ และพรรคร่วมรัฐบาลต่อไป


"ผมอยู่ในการเมืองมากว่า 30 ปี พบว่าปัญหาที่เกิดขึ้นในขณะนี้มาจากรัฐธรรมนูญ เพราะมีการมองกันว่ารัฐธรรมนูญถูกเขียนโดยคนอื่น ไม่ใช่พรรคการเมือง วันนี้จึงต้องฟังว่าพรรคการเมืองมีความเห็นอย่างไร" นายชาญชัยกล่าว


ผู้สื่อข่าวถามว่า เกรงหรือไม่ว่าการประกาศแก้ไขรัฐธรรมนูญจะทำให้กลุ่มพันธมิตร (พธม.)ประชาชนเพื่อประชาธิปไตยไม่พอใจ และออกมาเคลื่อนไหวอีก นายชาญชัยกล่าวว่า ความเห็นเปิดกว้างให้ทุกฝ่ายเข้ามามีส่วนร่วมในการเสนอความคิดเห็น เมื่อถามว่า แต่การนิรโทษกรรมอดีต กก.บห. ที่ถูกเพิกถอนสิทธิ จะทำให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี พ้นผิดด้วย นายชาญชัยกล่าวว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้จะไม่มีคนหนึ่งคนใดได้รับอภิสิทธิ์ แต่อยากให้ทุกฝ่ายมาร่วม เมื่อมีเวทีให้เจรจาก็น่าจะเข้ามา คนในชาติต้องหันหน้ามาเจรจากันถ้ามีเวที โดยใช้เหตุผลพูดจากัน


ภท.เผยจับมือชทพ.ดันนิรโทษ


นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย (ภท.) กล่าวว่า เห็นด้วยกับการนิรโทษกรรมที่ไม่เกี่ยวของกับคดีอาญา เพราะนักการเมืองและพรรคการเมืองที่ไม่ได้กระทำผิด เรื่องนี้เห็นว่าเป็นเรื่องหลักในการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ ส่วนประเด็นอื่นๆ พรรคจะประชุมเพื่อรวบรวมและเสนอภายใน 2 สัปดาห์ตามที่นายอภิสิทธิ์ระบุ เชื่อว่านายกรัฐมนตรีและพรรคประชาธิปัตย์จะเห็นด้วยกับประเด็นการนิรโทษกรรมทางการเมือง เพื่อเป็นการลดความขัดแย้งและสร้างความสมานฉันท์ ให้บ้านเมืองกลับเข้าสู่ภาวะปกติ และเดินหน้าต่อไป ส่วนที่นายบุญจง วงศ์ไตรรัตน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทยจาก ภท. ไม่เห็นด้วยกับการนิรโทษกรรมนักการเมืองนั้น นายชวรัตน์กล่าวว่า เป็นความคิดเห็นส่วนตัวของนายบุญจง ไม่ใช่มติของพรรค เชื่อว่าเรื่องการนิรโทษกรรมทางกรรมการบริหาร หากนำเข้าที่ประชุม คณะกรรมการบริหารพรรคจะต้องเห็นด้วยอย่างแน่นอน


"การแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น เชื่อว่าจะทำให้ความวุ่นวายต่างๆ ทุเลาลง และไม่เกรงว่าจะสร้างความไม่พอใจให้กับกลุ่มคนเสื้อเหลือง เพราะการแก้ไขนี้เป็นการทำเพื่อส่วนรวม ให้ดำเนินต่อไปได้ ไม่ใช่เอื้อประโยชน์ให้ใคร แต่ก็เห็นด้วยกับแนวทางของท่านนายกฯ ที่ต้องการจะแยกคดีอาญาออกจากคดีทางการเมือง ขณะนี้พรรคภูมิใจไทย และพรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) ต่างพยายามที่จะร่วมมือกับพรรคประชาธิปปัตย์ให้มีการนิรโทษกรรมอยู่แล้ว" นายชวรัตน์กล่าว


นายศุภชัย โพธิ์สุ ส.ส.นครพนม พรรคภูมิใจไทย กลุ่มเพื่อนเนวิน กล่าวว่า เห็นด้วยกับนายกรัฐมนตรี เพราะการลงโทษผู้ถูกตัดสิทธิทางการเมือง โดยเฉพาะอดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย 111 นั้นไม่เป็นธรรม


รช.ชี้เป้าประเด็นที่ต้องแก้รธน.


ว่าที่ ร.ต.ประพาส ลิมปพันธุ์ รองหัวหน้าพรรครวมใจไทยชาติพัฒนา กล่าวว่า มาตราที่เป็นปัญหาคงไม่พ้นที่เคยวิพากษ์วิจารณ์กัน หลักๆ คือ มาตรา 68 และมาตรา 237 ว่าด้วยการยุบพรรคและตัดสิทธิ กก.บห.พรรค ซึ่งควรจะแก้ไขให้พิสูจน์ความผิดเป็นรายบุคคล และคนที่เกี่ยวข้องเท่านั้น ส่วนระบบ ส.ว.มีปัญหาว่า ส.ว.เลือกตั้ง จะอยู่ใต้อิทธิพลของฐานเสียงจากพรรคการเมือง ส.ว.สรรหาก็เป็นการที่รัฐบาลตั้งขึ้นเพื่อเพิ่มดุลอำนาจในสภา มองว่า ส.ว.อาจไม่ต้องมีเลย และใช้รูปแบบสภาตั้งคณะกรรมการพิเศษประมาณ 40 คน เพื่อพิจารณากลั่นกรองร่างกฎหมายที่สภาพิจารณาเสร็จแล้วโดยเฉพาะ ส่วนเรื่องที่มาขององค์กรอิสระคงต้องหารือก่อนเพราะระบบปัจจุบันที่ให้ศาลเข้ามาสรรหาก็เป็นอันตรายต่ออำนาจตุลาการ ขณะที่มาตรา 190 ว่าด้วยการทำสนธิสัญญาหรือข้อตกลงกับต่างประเทศให้เสนอให้รัฐสภาเห็นชอบ คิดว่าควรแก้ไข เพราะมีปัญหามากในแง่การบริหาร


เสนอแขวนกก.บห.จนครบ "5ปี"


"ประเด็นการนิรโทษกรรม หากใช้รูปแบบให้อุทธรณ์ต่อศาลฎีกาตามที่พรรคชาติไทยพัฒนาเสนอ หรืออุทธรณ์ต่อศาลรัฐธรรมนูญตามที่ ส.ว. เสนอในการหารือนอกรอบวันที่ 14 เมษายน ก็มีปัญหาว่า ศาลจะมีอำนาจเหนือการเมืองอีก จะออกกฎหมายลูกมาล้างกันเฉยๆ ก็อาจโดนมองว่า พวกมากลากไป มันก็มีปัญหา ฉะนั้นต้องมีเกณฑ์อะไรบางอย่าง ซึ่งต้องคิดให้ดี เพราะจะผลักดันเรื่องนี้สำเร็จหรือไม่อยู่ที่ตรงนี้ ผมคิดว่าคนที่โดนตัดสิทธิอยู่ก็ควรจะรับโทษ (เพิกถอนสิทธิ 5 ปี) ไปให้ครบ และตอนนี้ต้องเร่งสร้างนักการเมืองรุ่นใหม่ขึ้นมา เพราะหากนักการเมืองรุ่นเก่ากลับมา นักการเมืองรุ่นใหม่ก็เกิดไม่ได้ ปฏิรูปการเมืองไม่ได้" รองหัวหน้าพรรค รช.กล่าว


ปธ.วุฒิฯ หนุนใช้แนวมาร์คแก้วิกฤต


นายประสพสุข บุญเดช ประธานวุฒิสภา กล่าวว่า แนวทางการแก้รัฐธรรมนูญที่นายกฯนำเสนอ จะเป็นหนทางในการแก้ไขวิกฤติการเมืองได้เป็นอย่างดี ทุกพรรคการเมืองควรจะมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาเพราะเป็นผู้รับฟังปัญหาจากประชาชนและทุกภาคส่วนย่อมรู้ดีว่าประเด็นใดเป็นปัญหา และควรจะแก้ไขอย่างไร ข้อเสนอของนายกฯจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีทำให้วิกฤตคลี่คลายลงได้


"ผมคาดหวังเป็นอย่างมาก เพราะดูแล้วทุกฝ่ายมีความจริงใจในการแก้ไขปัญหาบ้านเมือง โดยใช้เวทีของรัฐสภาแก้ไขวิกฤตการเมืองไม่เล่นการเมืองนอกสภา ผมเชื่อว่าทำได้โดยเฉพาะเมื่อตั้งกรอบเวลาสองอาทิตย์ จะทำให้เห็นถึงความจริงใจในการแก้ไขปัญหา คิดว่าวิธีนี้จะประสบความสำเร็จ" นายประสพสุขกล่าว


ส่วนแนวทางแก้ปัญหาที่ครอบคลุมถึงการออกกฎหมายนิรโทษกรรมอดีตกรรมการบริหารพรรคการเมืองที่ถูกตัดสิทธิทางการเมืองด้วยนั้น นายประสพสุข กล่าวว่า "คงไม่เสียหายอะไรหากการนิรโทษกรรมจะทำให้ทุกฝ่ายสมานฉันท์กันได้ การดำเนินการสามารถทำได้เฉพาะการนิรโทษกรรมทางการเมือง หากพิสูจน์ว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับความผิดก็สามารถกลับมาเล่นการเมืองได้ คดีของอดีตนายกรัฐมนตรีในส่วนที่เป็นคดีอาญาคงไม่เกี่ยวกัน เพราะนิรโทษกรรมทางการเมืองเป็นคนละส่วนกับคดีอาญาอยู่แล้ว" นายประสพสุขกล่าว


พท.ยุขุดฉบับปี 2540 มาใช้แทน


นายพีระพันธุ์ พาลุสุข กล่าวว่า พรรคจะเสนอรัฐบาลให้นำรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 กลับมาใช้ สุดท้ายจะมีการนำมาทั้งฉบับหรือไม่ขึ้นอยู่กับการเจรจาของพรรคการเมืองทั้งหมด นอกจากนี้ พรรคยืนยันที่จะให้แก้ไขรัฐธรรมนูญในประเด็นทางการเมืองที่สำคัญ เช่น มาตรา 237 ว่าด้วยการยุบพรรคการเมืองและตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรค มาตรา 190 และอำนาจขององค์กรอิสระที่วันนี้กลายเป็นองค์กรพิเศษมีอำนาจในการล้มล้างรัฐบาลรวมไปถึงระบบการเลือกตั้ง และการยกเลิกมาตรา 309 ที่รับรองการกระทำตามรัฐธรรมนูญ ฉบับชั่วคราว 2549


"ส่วนการนิรโทษกรรมคดีการเมืองนั้น การที่นายกฯส่งสัญญาณมา เชื่อว่าจะสามารถผ่อนคลายความตึงเครียดของบ้านเมืองลงได้ เพราะต้นตอปัญหามาจากเรื่องของการเมืองที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม โดยหลังจากการยึดอำนาจมีการตั้งองค์กรเพื่อแก้ไขกฎหมายเอาผิดกับบุคคลกลุ่มตรงข้าม ซึ่งพรรคเพื่อไทยจะหยิบยกประเด็นดังกล่าวพูดคุยไปพร้อมกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญไปในคราวเดียวกัน" นายพีระพันธุ์ กล่าว

ข่าวส่งเสริมคนดี

จำนวนผู้เข้าเยี่มมชม

link to affordable web hosting
Powered by web hosting provider .

สถิติการเข้าชม DMNEWS

eXTReMe Tracker