กิจกรรมนี้เกิดขึ้นจากทีมนักแปลอาสาสมัครที่อยากให้สาธารณชนได้บริโภคข่าวสารอย่างรอบด้าน เนื่องเพราะเห็นว่าสื่อสารมวลชนของไทยมีปัญหาเรื่องการทำงานในสถานการณ์วิกฤตินี้ เราจึงเลือกแปลข่าวของสื่อต่างชาติที่ยังสามารถทำงานตามหลักการวิชาชีพได้ โดยไม่มีอคติต่อฝ่ายใด และไม่มีอำนาจรัฐมาครอบงำ |
ทีมแปลข่าวเฉพาะกิจ
ที่มา: แปลจาก “Thailand should remember Nepal”, The Independent’s Leading article, Monday, 13 April 2009
สถานการณ์อลหม่านในกรุงเทพมหานคร เมืองหลวงของประเทศไทยซึ่งรัฐบาลได้ประกาศพระราชกำหนดบริหารราชการแผ่นดินในสถานการณ์ฉุกเฉินภายหลังการประท้วงที่ทำให้ต้องยกเลิกการประชุมสุดยอดอาเซียน จะนำไปสู่การเปรียบเทียบกับเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในประเทศเนปาลอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ที่ประเทศเนปาล รัฐบาลอนุรักษ์นิยมกษัตริย์ที่ถูกโจมตี ค่อยๆ ถูกดูดกลืนโดยการประท้วงของประชาชน ส่งผลให้เกิดการปฏิวัติเหมาอิสต์และการล้มระบอบกษัตริย์
ในประเทศไทย สถาบันกษัตริย์ได้รับความนิยมมากกว่า ขณะที่การปฏิวัติของประชาชนกระจัดกระจายไม่เป็นเนื้อเดียวกันมากกว่า อย่างไรก็ตาม มีการนำมาเปรียบเทียบกัน อย่างแรกคือ ผู้นำของไทยที่ถูกกำจัดออกไปเมื่อปี 2549 ด้วยความเห็นชอบของราชสำนัก แม้ไม่ได้เป็นผู้นิยมลัทธิเหมา แต่ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งได้รับความนิยมจากประชาชนเป็นผู้ที่จะไม่หลีกเลี่ยงการใช้ภาษาของสงครามชนชั้นอย่างแน่นอน ส่วนเป้าหมายแห่งความกริ้วโกรธของนายทักษิณ คือรัฐบาลของอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ซึ่งเจตนารมณ์เบื้องต้นของรัฐบาลนี้คือการแสดงความจงรักภักดีกับราชวงศ์ แต่เจตนารมณ์นี้กลับกลายเป็นผลร้ายกับชื่อเสียงของประเทศไทยนับตั้งแต่รัฐบาลนี้ขึ้นสู่อำนาจ เพราะมีประชาชนจำนวนมากถูกจับกุมในความผิดฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ
นายอภิสิทธิ์ไม่อาจกล่าวอ้างถึงศีลธรรมสูงส่งได้เมื่อเขาประนามการประท้วงของฝูงชนที่สร้างความอับอายให้กับเขา ความชอบธรรมทางประชาธิปไตยของเขาดูน่าเคลือบแคลง เขาได้อำนาจบริหารมาจากการประท้วงบนท้องถนนที่ต่อต้านพรรคที่ชนะการเลือกตั้งในปี พ.ศ.2551 ซึ่งรู้กันว่าเป็นพรรคตัวแทนของทักษิณ ตอนนี้เขากำลังถูกข่มขู่ด้วยวิธีการเดียวกับที่ทำให้เขาขึ้นสู่อำนาจได้ ขณะที่ประเทศไทยกำลังอ่อนเปลี้ยเพราะรายได้ที่สำคัญจากการท่องเที่ยวหดหาย ส่วนสถาบันกษัตริย์ที่รัฐบาลนี้เข้ามาปกป้องก็กำลังสูญเสียความนิยมที่เคยได้รับในอดีต
ในการทำความเข้าใจถึงปัญหาที่เกิดขึ้น ทางราชสำนัก, กองทัพ และชนชั้นนำในเมืองควรเลือกที่จะพยายามอยู่ร่วมกับกลุ่มคนจำนวนมากที่ชื่นชอบทักษิณ ตอนนี้คนเหล่านี้ไม่มีความโชคดีเช่นนั้นแล้ว พวกเขายากที่จะได้เห็นทักษิณกลับมาสู่ชัยชนะทั้งในฐานะวีรบุรุษและเผด็จการ
ในอีกด้านหนึ่ง โอกาสที่นายอภิสิทธิ์จะจัดการปัญหานั้นดูมีอยู่น้อยนิด ทางออกเดียวคือการเลือกตั้งใหม่ซึ่งฝ่ายผู้ที่เห็นอกเห็นใจทักษิณจะได้รับชัยชนะ ทางออกอื่นที่มี เป็นเส้นทางเดียวกับที่ประเทศเนปาลใช้ในการปฏิวัติ หวังเป็นอย่างยิ่งว่า บรรดาผู้ปกครองของประเทศไทยจะเรียนรู้จากประวัติศาสตร์ที่เพิ่งเกิดขึ้นในอดีตราชอาณาจักรในหุบเขาหิมาลัยนี้ และประนีประนอมได้ทันเวลา