คนยืนรถเมล์
ขสมก.แจงเปลี่ยนสติ๊กเกอร์ “รถเมล์ฟรีจากภาษีประชาชน” เพื่อต้องการปลูกจิตสำนึกให้รู้ว่าใช้เงินภาษีมา
อุดหนุน ไม่มีวาระแอบแฝง แม้รูปแบบสติ๊กเกอร์ถูกมองเปลี่ยนไปตามการเมือง
(ที่มา: ไทยโพสต์ http://www.thaipost.net/x-cite/220409/3499)
เมื่อหลายวันก่อน ขณะผมรอรถเมล์ก็พลันสงสัยว่า เอ! รถเมล์ฟรีไม่มีแล้วหรือ เพราะไม่ค่อยพบเห็นมาหลายวันแล้ว หรือว่าจะหมดช่วงนโยบายที่รัฐบาลประกาศไว้ แต่ก็ไม่น่าจะใช่เพราะรัฐบาลก็เพิ่งประกาศยืดเวลาให้ประชาชนได้นั่งรถเมล์ฟรีเมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมา หรือจะเป็นเพราะว่ารถเมล์สายที่ผมรอไม่ค่อยมีรถเมล์ฟรีแล้ว หรือจะเป็นเพราะว่าโดนเผาไปช่วงสงกรานต์ ผมคิดสงสัยได้ไม่นานก็มีรถเมล์ฟรีวิ่งผ่านมา ความรู้สึกแรกก็คือ เย้! ยังมีรถเมล์ฟรีเว้ยเฮ้ย แค่ป้ายที่เขียนเปลี่ยนไปบ้าง (ออกจะดูยากและไม่สะดุดตาไปบ้างแต่ก็ยังเห็นอยู่) ตัวอักษรที่ใช้ก็เปลี่ยนไป สีพื้นหลังก็เปลี่ยนไป และที่สำคัญข้อความบางส่วนก็เปลี่ยนไป นั่นคือ จาก “รถเมล์ฟรีเพื่อประชาชน” เปลี่ยนไปเป็น “รถเมล์ฟรีจากภาษีประชาชน” แล้วป้ายมันเปลี่ยนไปเพื่ออะไรหรือเพื่อใคร สองข้อความเหมือนหรือต่างกันอย่างไร ผมสงสัยต่อ...
ความเหมือนกันประการแรก ป้ายทั้งสองทำหน้าที่ประกาศให้ประชาชนโดยทั่วไปทราบว่า ถ้าท่านขึ้นรถคันนี้ไม่ต้องเสียเงินค่าโดยสาร
ประการที่สองคือ เป็นการประกาศให้ประชาชนทราบอีกเช่นกันว่า นี่เป็นนโยบายของรัฐบาลที่ช่วยเหลือหรือบริการประชาชนในยามเศรษฐกิจตกต่ำ
ความเหมือนประการสุดท้ายในความคิดของผม ได้แก่ คำว่า “รถเมล์ฟรี” และ “ประชาชน” ยังคงอยู่ในตำแหน่งเดิม ซึ่งเท่ากับเป็นการสะท้อนและยืนยันความเหมือนในสองข้อแรกข้างต้นด้วย “รถเมล์ฟรี” เป็นการบอกว่าคันนี้ขึ้นฟรี “ประชาชน” เป็นการย้ำความสัมพันธ์รัฐ/รัฐบาล ที่มักต้องทำอะไร เพื่อประชาชนอยู่แล้ว
ทีนี้มาดูความแตกต่างกันบ้าง ประการแรกเลย ลักษณะตัวอักษรที่เปลี่ยนไป ประการที่สอง สีพื้นหลังก็เปลี่ยนไป จากเดิมที่เป็นสีขาวมาเป็นสีฟ้า ตามความเห็นส่วนตัวของผม พื้นหลังสีขาวที่อ่านง่ายกว่าเยอะเลย สีฟ้ามันออกจะสังเกตยากเสียหน่อยโดยเฉพาะเวลาค่ำคืน ยิ่งผมสายตาสั้นและบางวันลืมใส่แว่นตาด้วยแล้วกว่าจะเห็นว่า รถเมล์คันนี้ฟรี ก็มาจอดเอาใกล้ๆ จนเกือบขึ้นไม่ทันเลยทีเดียว
จากความแตกต่างสองข้อ และหากความจำของผมไม่สั้นจนเกินไป เมื่อครั้งที่เป็น “รถเมล์ฟรีเพื่อประชาชน” มีบางคนกล่าวหาว่า ลักษณะตัวอักษรและองค์ประกอบโดยรวม ช่างชี้ชวนให้นึกถึง “พรรคพลังประชาชน” และ “พรรคเพื่อไทย” เสียจริง เพราะเวลาดูผ่านๆ เหมือนๆ กำลังเห็นป้ายหาเสียงของพรรคทั้งสองอย่างไรไม่รู้ และถึงแม้ป้ายจะเปลี่ยนมีความต่างแต่กลับทำหน้าที่คล้ายคลึงกัน เมื่อป้าย “รถเมล์ฟรีจากภาษีประชาชน” ทั้งตัวอักษรและสีพื้นหลังเป็นสีฟ้า ก็ชี้ชวนให้นึกถึง “พรรคประชาธิปัตย์” อย่างน้อยก็ในความคิดของผม
ความต่างประการที่สาม นั่นคือ คำว่า “เพื่อ” กับคำว่า “จากภาษี” ความต่างนี้ผมว่ามีความสำคัญที่สุด เพราะทำหน้าที่ให้เห็น ลักษณะ อัตลักษณ์ หรือ อุดมการณ์ของพรรคการเมืองสองพรรคได้ดีเลยทีเดียว หากจำไม่ผิด ครั้งเมื่อเป็น ป้าย “เพื่อ” มีหลายคนออกมาชี้หน้ากล่าวหาว่า นี่เป็นประชานิยม ชอบแจกแบบไร้เหตุผล แล้วเวลาแจกหรือดำเนินนโยบายแล้วยังมักทำให้คิดไปว่า เป็นความใจดีของรัฐบาลหรือพูดง่ายๆ นี่มันคือการหาเสียงของพรรคพลังประชาชนและพรรคเพื่อไทยนี่นา
แต่กับป้าย “จากภาษี” ถึงแม้จะมีคนกล่าวหาว่าเป็นการหาเสียงของพรรคประชาธิปัตย์ ได้เช่นกันแต่ก็คงมีคนออกมาเถียงแทนว่า “แต่นี่เป็นประชานิยมที่มีเหตุผลนะ เห็นมั้ยว่าเขาบอกว่า รถเมล์ฟรีนี้มาจากภาษีของประชาชน เขาบอกที่มาของเงินที่นำมาใช้ดำเนินนโยบายไม่ได้เป็นความใจดีของรัฐบาลที่ชอบแจก”
สำหรับผมแล้ว ป้ายทั้งสอง ทำหน้าที่ไม่ต่างกัน เพราะต่างก็เป็นเครื่องมือหาเสียงของทั้งสองพรรคเพียงแค่พรรคนึง เลือกที่จะป่าวประกาศว่า “ฉันทำเพื่อประชาชน” แบบโต้งๆ โฆษณากันแบบเห็นๆ และถ้าหากใครชอบนโยบายนี้เลือกตั้งครั้งหน้าก็อย่าลืมเลือกพรรคนี้ แต่กับอีกพรรคหนึ่งเลือกที่จะบอกว่า เงินที่ใช้มาจากภาษีประชาชนนะ เป็นป้ายที่ดูเหมือนจะเป็นการแจ้งให้ทราบมากกว่าเป็นการโฆษณาหาเสียงแต่ถ้ามองให้ดีๆ ผมว่านี่คือ การโฆษณาหาเสียงเหมือนกัน โดยใช้ การโฆษณาว่า ฉันไม่ได้โฆษณาและตั้งใจจะหาเสียงนะ เพราะถ้าเกิดใครเห็นข้อความนี้แล้ว รู้สึกประมาณว่า เออ พรรคนี้ดีนะ บอกที่มาที่ไปของเงินด้วย หรือเออ!!! นี่งัย พรรคนี้ไม่ได้เอาดีเข้าตัวเอง เพราะบอกว่ามาจากเงินภาษีของประชาชน เมือความรู้สึกแบบนี้เกิดขึ้น ก็ทำให้คนอาจจะหันมานิยม พรรคประชาธิปัตย์ เพิ่มขึ้น แล้วมันจะต่างกับการโฆษณาหาเสียงตรงไหน
ความต่างประการสุดท้าย กลุ่มเป้าหมายของคนที่อ่านป้ายเหล่านี้ หรือกลุ่มที่รัฐบาลต้องการสื่อสารมีความแตกต่างกัน ผมเชื่อว่า คงไม่มีชนชั้นกลางในกรุงเทพฯ คนใดที่ไม่รู้ว่า เงินที่ใช้ดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาลล้วนแล้วมาจากภาษีประชาชนเสียส่วนมาก ไม่ว่าป้ายรถเมล์ฟรี จะเขียนว่าอะไร ก็ใช้เงินภาษีทำทั้งนั้น อีกทั้งป้ายแค่นั้นก็ไม่สามารถจะบ่งบอกได้ว่า รัฐบาลเอาเงินภาษีส่วนไหนมาใช้เป็นเงินภาษีของคนทั้งประเทศหรือเปล่าเราก็มิอาจรู้ได้ แต่เมื่อพรรคประชาธิปัตย์เลือกที่จะใช้คำว่า “จากภาษี” เท่ากับเป็นการพยายามสื่อสารกับชนชั้นกลางที่มักคิดว่าเหตุผลของตัวเองถูกต้องและดีเลิศกว่าคนอื่นๆ เป็นการเชิดชูจริตแบบชนชั้นกลาง เชิดชูว่าฉันเนี่ยแหละที่เสียภาษีเยอะกว่าคนชั้นล่างทำให้พวกคุณๆ ได้นั่งรถเมล์ฟรี ทั้งๆ ที่ในชีวิตจริงหลายคนก็ไม่ค่อยจะอยากเสียภาษีกันสักเท่าไหร่ เลี่ยงได้ก็เลี่ยง
ป้าย “รถเมล์ฟรีจากภาษีประชาชน” สำหรับผมแล้วก็คือการหาเสียงทำหน้าที่ไม่ได้แตกต่างไปจากป้าย “รถเมล์เพื่อประชาชน” สักเท่าไหร่ เพียงแต่ “จากภาษี” แสดงถึงเหตุผล วิธีคิด และจริตแบบชนชั้นกลางในเมือง (ที่มักพูดอย่างทำอย่าง) อันเป็นฐานเสียงสำคัญของพรรคประชาธิปัตย์และคณะรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549
ผมไม่รู้หรอกว่า โฆษณาแบบไหนจะดีจะเลวกว่ากัน แค่เบื่ออาการ “ว่าเขาอิเหนาเป็นเอง” ก็เท่านั้น