24 เม.ย.52 เวลาประมาณ 17.30 น.ว่า อาญา อนุญาตปล่อยตัว นายวีระ มุสิกพงส์ นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ และนายแพทย์เหวง โตจิราการ 3 แกนนำ นปช. เป็นการชั่วคราว พร้อมมีคำสั่งห้ามเกี่ยวข้องกับการชุมนุม และห้ามออกนอกราชอาณาจักร โดยก่อนหน้านี้ในช่วงบ่าย นายคามรม พลทะกลาง ทนายความแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการ ( นปช.) ระบุว่าเตรียมเอกสารการคัดค้านการฝากขังคดีอาญาของ 3 แกนนำนปช.ผู้ต้องหาปลุมระดมมวลชนให้ทำการละเมิดกฎหมายแผ่นดิน และมั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คน ขึ้นไปก่อความวุ่นวายในบ้านเมือง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 และ 215 โดยทราบมาว่าพนักงานสอบสวน จะนำตัวแกนนำทั้งสาม มายื่นคำร้องฝากขังครั้งแรกเป็นเวลา 12 วันต่อศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก หลังจากที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ได้ประกาศยกเลิกพ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินแล้ว ทั้งนี้ การคัดค้านฝากขัง จะยื่นคำร้องต่อศาลว่าที่ผ่านมาได้พ้นระยะเวลาการควบคุมตัว 48 ชั่วโมงตั้งแต่วันที่ 16 เมษายนแล้ว และยืนยันว่าผู้ต้องหาทั้งสาม ไม่ได้มีพฤติการณ์ที่จะหลบหนี หรือยุ่งเหยิงพยานหลักฐาน ขณะเดียวกันก็ยื่นคำร้องขอประกันตัว 3 แกนนำด้วย ซึ่งเตรียมหลักทรัพย์ทั้งเงินสด และตำแหน่ง ส.ส. เพื่อยื่นต่อศาล โดยเงินสดที่จะใช้ยื่นประกันแกนนำแต่ละคน มีจำนวนคนละ 500,000 บาท ส่วนตำแหน่ง ส.ส. จะใช้ตำแหน่งของนายการุณ โหสกุล และนายประเกียรติ นาสิมมา ส.ส.สัดส่วน พรรคเพื่อไทย
นายกฯ ลงนามยกเลิกพ.ร.ก.ฉุกเฉินมีผลเที่ยง เตรียมตั้งกรรมการร่วม 3 วิปสอบข้อเท็จจริง
ก่อนหน้านี้ เวลา 11.30 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ได้แถลงว่าเมื่อคืนนี้ในการสรุปและการอภิปรายในสภาฯ ตนได้ยืนยันต่อที่ประชุมสภาฯว่าจะดำเนินการยกเลิกประกาศภาวะฉุกเฉินร้ายแรง ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และปริมณฑล ซึ่งประกาศมาตั้งแต่วันที่ 12 เมษายน 2552 โดยจะให้มีผลภายในวันนี้ ฉะนั้นเช้านี้ก็จะได้ลงนามในประกาศเพื่อให้มีผลในการยกเลิกประกาศภาวะฉุกเฉินร้ายแรง 12.00 น. เป็นต้นไป
"หลังจากที่ได้เคยเรียนมาโดยตลอดว่า เราจะมีการสอบถามหน่วยงานฝ่ายความมั่น ถึงความเป็นไปได้ในการที่จะยกเลิกภาวะฉุกเฉินโดยเร็วที่สุด โดยให้ฝ่ายความมั่นคงสามารถที่ใช้มาตรการต่าง ๆ เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าสภาพของการรักษากฎหมายและความสงบเรียบร้อย จะสามารถดำรงอยู่ได้เมื่อมีการยกเลิก พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ทั้งนี้เมื่อวานก็ได้มีการสอบถามกันตลอดเวลา ซึ่งหน่วยงานฝ่ายความมั่นคงก็ยืนยันว่าน่าจะดำเนินการได้ตั้งแต่เวลา 12.00 น. เพราะฉะนั้นก็ได้มีการตัดสินใจ และลงนามประกาศ เพื่อให้สภาวะฉุกเฉินร้ายแรงยกเลิกไปตั้งแต่เที่ยงของวันนี้ และเมื่อยกเลิกแล้วก็หมายความว่าอำนาจต่าง ๆ ที่ใช้ตาม พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ก็สิ้นสุดลงไปด้วย แต่คงไม่ได้หมายความว่าการดูรักษาความสงบเรียบร้อย โดยเฉพาะจุดที่อาจจะยังมีความหวั่นวิตกของประชาชนนั้นรัฐบาลไม่ทำอะไร เพราะก็จะมีการประสานงานกันระหว่างหน่วยงานฝ่ายความมั่นคงว่าจะมีจุดไหนอย่างไร ที่จะสามารถดำเนินการได้ โดยอาศัยกฎหมายตามปกติ เพราะฉะนั้นขอให้ความมั่นใจว่าตรงนี้ก็จะเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะต้องดูแลรักษาความสงบเรียบร้อยต่อไป เพียงแต่ว่าจะไม่มีในเรื่องของอำนาจพิเศษ และการยกเลิก พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินในครั้งนี้ก็จะเป็นการส่งสัญญาณไปยังทั่วโลกว่าเราได้นำบ้านเมืองกลับเข้าสู่ภาวะปกติ " นายกรัฐมนตรี กล่าว
พร้อมกันนี้นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวถึงการดำเนินการต่อไปว่า ขณะนี้ประธานรัฐสภา และประธานวุฒิสภา ในฐานะรองประธานจะร่วมกับวิป 3 ฝ่ายในการที่จะเดินหน้าโดยประการแรกคือประมวลเหตุการณ์ เพื่อตรวจสอบในกรณีที่มีข้อสงสัยเกี่ยวกับเหตุการณ์ ในเรื่องของการใช้เจ้าหน้าที่ของรัฐในช่วงที่มีการประกาศ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ส่วนที่ 2 คือการนำประเด็นปัญหาที่ถือเป็นการปมของความขัดแย้งต่าง ๆ ทางการเมือง เพื่อวางแนวทางในการที่คลี่คลายปมปัญหาเหล่านั้นต่อไป ซึ่งส่วนนี้เป็นเรื่องที่ตนก็จะรอฟังความคืบหน้าของทางฝ่ายนิติบัญญัติ และยืนยันว่ารัฐบาลในฝ่ายบริหาร จะให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่าส่วนบุคคลใดที่ถูกควบคุมตัวโดยอาศัยอำนาจ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินก็ต้องปล่อยตัว ทั้งนี้ถ้าหากเขามีความผิดก็ดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรมต่อไป เพียงแต่ไปใช้อำนาจควบคุมตัวตาม พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ไม่ได้ แต่ถ้าเขามีคดีอยู่ และมีหมายไม่ว่าจะเป็นหมายเรียกหรือหมายจับ ก็ว่าไปตามกระบวนการปกติของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และขอยืนยันไม่มีการไล่ล่า ส่วนที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่เพราะมีการชุมนุม โดยอาจจะมีการปิดถนนบ้าง และมีผู้นำบางส่วนขึ้นไปปราศัย เพื่อให้ประชาชนทำผิดกฎหมายนั้น นโยบายรัฐบาลชัดเจนเฉพาะผู้ที่ไปชุมนุมเฉย ๆจะไม่มีการดำเนินการ แต่ถ้าผู้ที่ขึ้นไปปราศัยยุยงให้ทำผิดกฎหมายก็จะดำเนินการไป ทั้งนี้ถ้าตรงไหนไม่เป็นไปตามแนวทางนี้ เช่นในช่วงที่ได้มีการอภิปรายในสภาฯ มี ส.ส.บางจังหวัด ได้สะท้อนเรื่องนี้ขึ้นมา ตนก็ได้เชิญมาคุยและก็คุยกับทางเจ้าหน้าที่ เพื่อทำความเข้าใจกัน
ส่วนอะไรที่เป็นปัญหาและคิดว่าอยู่ในโครงสร้างของกฎหมาย นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ฝ่ายนิติบัญญัติจะมีกระบวนการที่วิป 3 ฝ่าย ได้ตกลงกันจะแก้ไขปัญหาในเรื่องของโครงสร้างต่อไป ทั้งนี้ในส่วนการดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับฝายบริหาร เช่น การดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรมในขั้นตอนของตำรวจก็จะมีการเดินหน้าเร่งรัดให้เกิดความชัดเจนว่ามีมาตรฐานเดียว
ต่อข้อถามว่า นายกรัฐมนตรีมั่นใจเพียงใดว่าหลังการประกาศยกเลิก พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน จะสามารถรับมือกับกลุ่มคนเสื้อแดงหรือกลุ่มมวลชนที่ยังเอาใจรัฐบาลอยู่ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ตนคิดว่าเป็นหน้าที่และรัฐบาลจะต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ขณะเดียวกันก็ขอความร่วมมือจากทุกฝ่าย เพราะว่าอย่างที่ได้เน้นย้ำไม่ใช่เฉพาะในสภาฯ หรือไม่ใช่เฉพาะในการให้สัมภาษณ์แต่รวมไปถึงการทำความเข้าใจกับทางเจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายว่าการดำเนินการของรัฐบาลที่ผ่านมามีความมุ่งหมายอย่างเดียวก็คือการนำความสงบกลับคืนมา ส่วนปัญหาความค้างคาใจต่อเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น เมื่อทางสมาชิกได้สะท้อนต่อสภาฯ แล้ว และอาจจะมีความไม่มั่นใจว่าถ้ากลไกของฝ่ายบริหารจะติดตามเรื่องนี้ เราก็ได้ให้ทางฝ่ายนิติบัญญัติ ซึ่งประกอบด้วย 3 ฝ่าย ไปดูแล เพราะฉะนั้นก็อยากจะเรียนกับพี่น้องประชาชนว่าตรงนั้นจะเป็นจุดที่สามารถที่จะรับเรื่องรวมต่าง ๆ ซึ่งยังเป็นปัญหาความค้างคาใจข้อสงสัยต่าง ๆ เพื่อที่จะคลี่คลาย พร้อมเชิญชวนประชาชน และสื่อมวลชนว่าในระหว่างที่ฝ่ายนิติบัญญัติทำงานในเรื่องนี้ ฝ่ายบริหารก็จะขอทำงาน เพื่อที่จะช่วยแก้ปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจ รวมทั้งช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบ และเตรียมการสร้างความเชื่อมั่นให้กับประเทศในการจัดการประชุมอาเซียนต่อไป
ต่อข้อถามว่า คิดว่าต่างประเทศจะเข้าใจหรือไม่ว่าเมื่อมีการยกเลิก พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน แล้วคงเจ้าหน้าที่ทหารอยู่ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เขาจะทราบว่าก่อนหน้าที่จะมีการประกาศ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน เจ้าหน้าที่ทหารก็อยู่ในสถานะของผู้ช่วยเจ้าพนักงาน และแน่นอนที่สุดเมื่อรัฐบาลยืนยันว่าการปฏิบัติงานทุกขั้น ทุกระยะจะต้องเป็นไปตามกฎหมาย ซึ่งเจ้าหน้าที่เหล่านี้ก็จะไม่สามารถใช้อำนาจพิเศษที่อยู่ใน พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินได้ ทั้งนี้คิดว่าต่างประเทศเข้าใจ เพราะเขาก็ได้มีการติดตามสถานการณ์การชุมนุมต่าง ๆ มาอย่างต่อเนื่อง
สุเทพ เผย คงกำลังทหารดูแลทำเนียบ
นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี ด้านความมั่นคง กล่าวถึงการประกาศยกเลิก พระราชกำหนดบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ว่า เมื่อตนเห็นว่า สถานการณ์เรียบร้อย จึงชี้แจงกับนายกรัฐมนตรี ให้ประกาศยกเลิก พ.ร.ก. ฉุกเฉิน ซึ่งประชาชนทุกฝ่ายที่ได้ติดตามสถานการณ์คงเข้าใจ ส่วนกำลังทหารนั้นจะเป็นผู้ช่วยเจ้าหน้าที่ตำรวจ โดยเฉพาะภายในทำเนียบรัฐบาล จะคงกำลังไว้เท่าที่จำเป็น อย่างไรก็ตาม จากนี้ไปตนจะไม่ชี้แจงเหตุการณ์ต่างๆแล้ว แต่จะให้ข้อเท็จจริง ชี้แจงแทน ซึ่งเห็นว่า รัฐบาล ได้ตั้งคณะกรรมการประมวลเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น รวมถึง นายกรัฐมนตรี ก็ได้เสนอรัฐสภาเพื่อคัดเลือกบุคคลที่เป็นกลาง มาประมวลเหตุการณ์ทั้งหมด จัดทำเป็นรายงานแล้ว
นอกจากนี้ นายสุเทพ กล่าวถึงความเคลื่อนไหวของ กลุ่มคนเสื้อแดงว่า ตนจะดำเนินการตามหน้าที่ ซึ่งแกนนำที่ถูกคุมขังไว้นั้น จะได้รับการปล่อยตัว ตามที่ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ยกเลิก แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจจะขออำนาจฝากขัง ตามกฎหมายอาญาต่อไป ซึ่งตนก็จะดำเนินการตามกฎหมาย
ขณะที่ รศ.ดร.ปณิธาน วัฒนายากร รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่ โฆษกประจำสำนักนายกฯ แถลงว่า การยกเลิกพ.ร.ก.ฉุกเฉิน จะมีการดำเนินการอย่างเป็นทางการ ในการถอนกำลังและปรับสภาพพื้นที่ในวันนี้ โดย นายกฯ จะได้ประกาศอย่างเป็นทางการ ผ่านทางสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย ในเวลา 11.00 น. นอกจากนี้ ยังเปิดเผยถึงการประชุมร่วมของรัฐสภา เมื่อวานนี้ว่า ในภาพรวมเป็นที่น่าพอใจ โดยรัฐบาล พร้อม หากประชาชน หรือ สมาชิกรัฐสภาคนใด มีข้อมูลจะให้รับฟัง หรือ ชี้แจงเพิ่มเติม รวมถึง ดำเนินการในการตรวจสอบตามขั้นตอนได้
อย่างไรก็ตาม รองเลขาธิการนายกฯ ยังเปิดเผยว่า เมื่อช่วงเช้านี้ มีศาสตราจารย์ ด้านรัฐศาสตร์ จากเยอรมันเข้าพบนายกฯ และมีการแลกเปลี่ยนความเห็น เรื่องกระบวนการสมานฉันท์และแก้ปัญหาการเมือง ที่ทุกภาคส่วนต้องมีส่วนร่วม