(22 เม.ย.52) ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ประธานผู้นำฝ่ายค้าน กล่าวอภิปรายในประเด็นการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินร้ายแรงของรัฐบาลว่า นายกฯ ได้ประกาศ พ.ร.ก.นี้ที่กระทรวงมหาดไทย โดยที่ในกรุงเทพมหานครนั้นยังไม่มีเหตุรุนแรงใดๆ เลย นอกจากการปิดถนนบริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ดินแดง และชุมนุมกันอยู่ข้างทำเนียบรัฐบาล ส่วนการเกิดเหตุทุบรถที่กระทรวงมหาดไทย และทำร้ายนายนิพนธ์ พร้อมพันธุ์นั้น เกิดขึ้นหลังจากนายกฯ ประกาศ พ.ร.ก.แล้ว ทั้งนี้ การประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินตาม มาตรา 5 ทำให้ประชาชนเสียสิทธิ 6 ข้อ แต่นายกฯ กลับประกาศเป็นสถานการณ์ฉุกเฉินหลายแรงพ่วงมาตรา 11 ซึ่งทำให้ประชาชนเสียสิทธิเพิ่มอีก 10 ข้อด้วย
เขากล่าวต่อว่า ขณะนี้มีการสั่งดำเนินคดีแกนนำกลุ่มเสื้อแดง โดยอาศัย กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาซึ่งควบคุมตัวได้ 48 ชั่วโมง เมื่อไปถึงศาลมีการยื่นคำร้องขอฝากขัง 2 ชุด ชุดหนึ่งฝากขังตาม ป.วิอาญา 12 วัน อีกชุดหนึ่ง ฝากขังตาม พ.ร.ก.7 วัน สาระสำคัญ คือ พ.ร.ก.ฉุกเฉินนั้นมีเจตนารมณ์ในการแก้ปัญหาในสถานการณ์รุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ เพราะผู้กระทำผิดบางคน ทางการสงสัยแต่ไม่มีหลักฐานดำเนินคดีอาญา จึงใช้ พ.ร.ก.นี้ควบคุมตัวได้ 7 วันและสามารถต่อทีละ 7 วันได้จนครบ 30 วัน แต่การจะควบคุมตัวได้ต้องขอศาลก่อนคุม ไม่ใช่คุมตัวก่อนแล้วจึงขอศาลดังที่เป็น นอกจากนี้การคุมตัวยังห้ามปฏิบัติกับบุคคลนั้นเหมือนผู้ต้องหาด้วย ขณะที่กรณีนายวีระ นายอริสมันต์ นายณัฐวุฒิ ตำรวจควบคุมตัวและแจ้งข้อกล่าวหาหลายข้อหา ซึ่งเท่ากับรู้แล้วว่าผิดอะไร ในส่วนของนายอริสมันต์มีความพยายามถอนประกัน เป็นใครก็จำเป็นต้องหนี เพราะเท่ากับรัฐบาลกำลังจะขังฟรี 30 วัน
“ไม่มีรัฐบาลประชาธิปไตยที่ไหนเขากระทำแบบนี้กับผู้ชุมนุม มีแต่รัฐบาลที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรีเท่านั้นที่ทำได้”
ร.ต.อ.เฉลิม ยังกล่าวด้วยว่า ขณะนี้ทนายฝ่ายผู้ต้องหาได้ไปยื่นคำร้องต่อศาลอาญารัชดาว่ารัฐบาลประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินร้ายแรงโดยไม่ชอบ ซึ่งเลขาธิการคณะรัฐมนตรีได้เบิกความว่าไม่อยู่ในที่ประชุม และไม่ได้เอกสารอะไรจากนายกฯ นายกฯ เพียงแต่การแจ้ง ครม.เมื่อ17 เม.ย.ที่ผ่านมาว่าได้ออก พ.ร.ก.ฉุกเฉินร้ายแรง แม้พรุ่งนี้ (23 เม.ย.) ศาลจะมีคำสั่งในเรื่องนี้ แต่ในฐานะกฎหมายต้องแสดงความเห็นว่า นายอภิสิทธิ์อาศัยอำนาจตามบทบัญญัติกฎหมายใดที่คง พ.ร.ก.ฉุกเฉินที่ประกาศไปเมื่อ 12 เม.ย.ได้ต่อไป
เท่าที่ดูเลขาธิการ ครม.ชี้แจงทางช่อง 11 ระบุว่าอาศัย พ.ร.ฎ.ปี 48 มาตรา 8 วรรคสองที่ออกตามมาตรา 3 ของพ.ร.บ.ระเบียบการบริหารราชการแผ่นดิน มีใจความว่า การประชุม ครม.ถ้านายกฯ เห็นว่าต้องเก็บเรื่องการประชุมเป็นความลับให้ร่วมประชุมกับรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง อย่างไรก็ตาม พ.ร.ฎ.ปี 48 อาศัยอำนาจตามมาตรา 221 ของรัฐธรรมนูญปี 40 ซึ่งขณะนี้บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญปี 40 นั้นไม่เหลืออยู่แล้ว เพราะถูกทหารทำการปฏิวัติ ฉีก รธน.ทิ้งไป และใน พ.ร.ฎ.ยังระบุให้การประชุมคณะรัฐมนตรีในกรณีปกติดำเนินการเข้าร่วมได้เมื่อมีรัฐมนตรีร่วมประชุมไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของครม.ที่มีอยู่ และหากมีกรณีฉุกเฉิน กรณีจำเป็นต้องรักษาความลับ นายกฯ จะพิจารณาเรื่องอะไรเป็นความลับก็ให้พิจารณาร่วมกับรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง แต่การประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินเป็นข่าวทั่วโลก ไม่ใช่เรื่องต้องรักษาความลับ เช่น การลดค่าเงินบาท ขึ้นภาษีสรรพสามิต
ร.ต.อ.เฉลิมกล่าวว่า นอกจากนี้การกระทำของนายอภิสิทธิ์ยังขัดกับบทบัญญัติ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน มาตรา 5 ที่สรุปได้ว่ากรณีสถานการณ์ฉุกเฉินจะเกิดภัยพิบัติกับบ้านเมืองให้นายกฯ ประกาศภาวะฉุกเฉินได้ โดยหลักการกำหนดว่าต้องขอความเห็นชอบจาก ครม.ให้ประกาศ แต่หากเป็นกรณีจำเป็นจริงๆ ให้นายกฯ ประกาศได้ แต่หลังจากนั้นต้องให้ ครม.เห็นชอบ ภายใน 3 วัน อย่างไรก็ตาม จนถึงปัจจุบันนี้นายกฯ ยังไม่ได้ให้ครม.เห็นชอบการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรงแต่อย่างใด ทำให้ พ.ร.ก.ต้องถูกยกเลิกไปโดยปริยาย แต่นายอภิสิทธิ์กลับยังคงไว้ซึ่งอำนาจตาม พ.ร.ก.จากการให้สัมภาษณ์ในหลายที่ ดังนั้น จึงต้องรอดูคำสั่งศาลอาญาในวันพรุ่งนี้ (23 เม.ย.) เวลา 13.30 น.ว่าศาลจะตัดสินอย่างไร การออกพ.ร.ก.นี้ชอบหรือไม่
“ทุกมาตราที่มีอยู่ต้องให้ ครม.เห็นชอบ เพราะอำนาจตาม พ.ร.ก.นี้เหมือนอำนาจคณะปฏิวัติในอดีต” เขากล่าว และยังกล่าวด้วยว่าการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินร้ายแรงนี้ ยังทำให้นักลงทุนไม่กล้ามาลงทุน เป็นการซ้ำเติมเศรษฐกิจของไทยอย่างไม่น่าให้อภัย