บล็อคข่าวส่งเสริมคนดี (รักดีหามจั่ว รักชั่วหามเสา หามจั่วก็หนักนะ)

ข่าวจากสื่อ

บทความจากสื่อ

วันพุธที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2552

ส่อเดือดอีก สภาถก-ปราบม็อบ

ข่าวสด

แก้รธน.ทำท่าสะดุด "40สว.-สสร."ขวาง ภูมิใจไทย-เพื่อนเน แทงกั๊กเกมนิรโทษ




ขึงขัง- ทหารพร้อมอาวุธครบมือ ออกเดินตรวจตรารอบๆ รั้วทำเนียบรัฐบาลอย่างเข้มงวด ระหว่างนายกฯอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี นำครม.กลับมาประชุมหนแรกในทำเนียบรัฐบาล นับจากโดนม็อบเสื้อแดงปิดล้อมไปนาน เมื่อ 21 เม.ย.

เปิดประชุมร่วมรัฐสภาวันนี้ วิป 3 ฝ่ายถกวางกรอบกติกากำหนดประชุม 2 วัน 10 โมงเช้าถึง 4 ทุ่ม รวม 24 ช.ม. ประชาธิปัตย์ดักคอฝ่ายค้านห้าม ตีรวนชวนทะเลาะ เพื่อไทยเตรียมฉวยโอกาสเสนอตั้งกรรมาธิการศึกษาแก้ไขรธน.50 ทันที กลุ่ม 40 ส.ว. เชื่อประชุมร่วมไม่ได้ประโยชน์ ทะเลาะกันเปล่าๆ พร้อมประกาศขวางแก้รธน. ถึงที่สุด เตือนรัฐบาลอย่าตกหลุม "แผนตากสิน" ปลุกความขัดแย้งเสื้อแดง-เสื้อเหลือง ล่อทหารปฏิวัติ ชมรมส.ส.ร.50 ส่งจม.เปิดผนึกถึงนายกฯ คัดค้านอีกแรง "เติ้ง" หนุนรัฐบาลเจรจาแม้ว บอกจูบปากไม่ได้ จูบแก้มก็ยังดี "เหนาะ" เสนอเอารธน. 40 กลับมาใช้ ตั้งรัฐบาลแห่งชาติ ดึงทุกพรรคเข้าร่วม ให้ปชป.เป็นแกนนำ ภูมิใจ แทงกั๊กเสนอแก้รธน. 6 ประเด็น แต่ไม่มีเรื่องนิรโทษกรรม นายกฯเล็งภูเก็ต จัดประชุมอาเซียนอีกรอบเดือนมิ.ย.



เปิดกติกาถกร่วมรัฐสภา

เมื่อวันที่ 21 เม.ย. ที่รัฐสภา มีการประชุมตัวแทนวิป 3 ฝ่าย ประกอบด้วย นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ประธานวิปรัฐบาล นายวิทยา บุรณศิริ ประธานวิปฝ่ายค้าน นายประเกียรติ นาสิมมา ส.ส.สัดส่วน พรรคเพื่อไทย วิปฝ่ายค้าน นายดิเรก ถึงฝั่ง ส.ว.นนทบุรี รองประธานวิป วุฒิฯ และพล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวาณิช ส.ว.สรร หา เพื่อหารือกรอบและแนวทางการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 179 ในวันที่ 22-23 เม.ย.

นายชินวรณ์แถลงภายหลังประชุมว่า วิปทั้ง 3 ฝ่ายเห็นว่าแม้สถานการณ์จะคลี่คลายในระดับหนึ่ง แต่ครม.ควรรับฟังความคิดเห็นของสมาชิกที่เสนอทางออกให้กับรัฐบาล ทั้งนี้หารือกันว่าขณะนี้ประกาศพ.ร.ก.ฉุกเฉินอยู่ เหมาะสมที่จะประชุมร่วมกันของรัฐสภาหรือไม่ เพราะประชุมเกิน 5 คน แต่พิจารณาแล้วเห็นว่าไม่น่าจะเข้าข่าย ที่ประชุมยังเห็นชอบกรอบเวลาในการประชุมคือวันที่ 22-23 เม.ย. เวลา 10.00-22.00 น. ใช้เวลา 24 ชั่วโมง นายกฯและรัฐมนตรี 4 ชั่วโมง หัวหน้าฝ่ายค้าน 2 ชั่วโมง ฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายค้าน และวุฒิสภา ฝ่ายละ 6 ชั่วโมง จะถ่าย ทอดสดทางสถานีโทรทัศน์ช่อง 11 และสถานีวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา การอภิปรายควรสร้าง สรรค์ ไม่เสียดสีกระแหนะกระแหน เพราะจะนำไปสู่การประท้วงวุ่นวาย สถานการณ์วิกฤตทุกคนต้องช่วยกันทำให้ประชาชนเชื่อมั่นระบบรัฐสภา การอภิปรายจะพิจารณาสถานการณ์ในการประกาศใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ผลกระทบจากการแก้ไขปัญหาของรัฐบาล เสนอแนะในสิ่งที่เป็นรูปธรรมให้รัฐบาลดำเนินการต่อไป



ส.ว.เสียงแตกแก้รธน.

นายชินวรณ์กล่าวว่า วิป 3 ฝ่าย ยังเสนอตั้งคณะกรรมาธิการร่วมกันของรัฐสภา 2 ชุด ชุดแรกประมวลเหตุการณ์การแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน วางกรอบการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ทั้งฝ่ายดำเนินการและนโยบาย อีกชุดจะตั้งคณะกรรมาธิการร่วมกันแก้ไขรัฐธรรมนูญและกฎ หมายที่เกี่ยวข้อง ข้อเสนอดังกล่าวยังไม่ยุติ วิปทั้ง 3 ฝ่ายจะหารือนอกรอบ ประสานประธานรัฐสภาให้ใช้อำนาจเรียกประชุมรัฐสภา เพื่อตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญดังกล่าวต่อไป ส่วนการนิรโทษกรรมนั้นที่ประชุมไม่ได้หยิบยกมาหารือในรายละเอียด

ด้านนายวิทยากล่าวว่า เมื่อเกิดแนวคิดและข้อสรุปในการอภิปรายในรัฐสภาแล้ว จะเร่งตั้งคณะกรรมาธิการร่วมกัน เพื่อศึกษากรณีปัญหาที่เกิดขึ้นตั้งแต่ความขัดแย้งรุนแรง การใช้อำนาจรัฐจับกุมกลุ่มผู้ชุมนุม หากจำเป็นต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญจะมีคณะกรรมาธิการอีกหนึ่งคณะ ทั้ง 2 คณะนี้จะดำเนินการหลังจากประชุมร่วมกันของรัฐสภา คาดว่าสัปดาห์หน้าจะได้ดำเนินการต่อไป

ส่วนนายดิเรกกล่าวว่า เป็นนิมิตหมายที่ดีที่รัฐบาลยอมรับว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นทางนำไปสู่การแก้ไขปัญหาบ้านเมือง การตั้งคณะกรรมาธิการจะเชิญคนนอกที่มีความรู้ความสามารถ สื่อมวลชนเข้าร่วม เชื่อว่าจะคลี่คลายสถานการณ์ส่วนหนึ่ง

พล.อ.เลิศรัตน์กล่าวว่า ส.ว.ไม่ต่างจากส.ส. ที่มีความเห็นเป็นฝักเป็นฝ่าย เป็นตัวบุคคลก็มาก ช่วง 2 วันนี้เมื่อได้ข้อสรุปในการประชุมร่วมอย่างไร ต้องนำข้อยุติของการอภิปรายไปขอมติจากที่ประชุมวุฒิสภาด้วย ไม่เช่นนั้นจะเกิดปัญหาเพราะวุฒิสภาบางคนไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ



ดักคอฝ่ายค้านอย่าตีรวน

ที่พรรคประชาธิปัตย์ น.พ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ส.ส.พิษณุโลก รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ แถลงผลการประชุมคณะทำงานติดตามสถานการณ์ทางการเมืองพรรคประชาธิปัตย์ (วอร์รูม) ว่า วอร์รูมพรรคเห็นว่าปัญหาของวิกฤตการเมืองน่าจะมาจบลงที่รัฐสภา และหวังว่าการประชุมร่วมกันของรัฐสภาวันที่ 22-23 เม.ย. จะมีทางออกเพื่อให้รัฐบาลนำไปปฏิบัติ นำประเทศออกจากวิกฤต จึงขอเรียกร้องส.ส. และส.ว. ให้นำเหตุการณ์หรือข้อมูลข้อเท็จจริงมานำเสนอในรัฐสภา และพรรคฝ่ายค้านควรเอาเหตุผลและข้อเท็จจริงมาคุยกัน พร้อมเสนอทางออกให้รัฐบาลนำไปแก้ปัญหา ไม่ควรเอาเวทีรัฐสภาเป็นที่ทะเลาะตีรวนหรือสร้างความขัดแย้งให้มากยิ่งขึ้น

นายธนา ชีรวินิจ ส.ส.กทม. เลขานุการวอร์ รูมพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า พรรคจะรับฟังความเห็นจากทุกภาคส่วน ทั้งสถาบันการศึกษา องค์กรอิสระหรือองค์กรอื่น ถึงแนวทางแก้ไขให้บ้านเมืองกลับสู่ภาวะปกติ และทำให้การ เมืองมีความมั่นคงถาวรอย่างยั่งยืน ไม่ว่าจด หมายหรือโทรศัพท์มาได้ที่เบอร์ 0-2270-0036 หรือส่งโทรสารมาได้ที่เบอร์ 0-2279-6086 หรือ www.democrat.or.th หรือเขียนจดหมายมาที่ตู้ ปณ.123 ปณฝ.ดุสิต กรุงเทพฯ 10300 โดยข้อเสนอทั้งหมดพรรคจะนำมารวบรวมเพื่อนำเสนอเป็นแนวทางแก้ไขต่อไป



ไม่ให้เรียกนิรโทษกรรม

นายชุมพล ศิลปอาชา รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา ในฐานะหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา ให้สัมภาษณ์ถึงแนวคิดการออกกฎหมายนิรโทษกรรมว่า พรรคยังไม่ได้หารือกัน แต่มีแนวคิดในเรื่องนี้อยู่แล้ว ไม่อยากให้เรียกว่านิรโทษกรรม เพราะการนิรโทษกรรม คือบุคคลนั้นได้กระทำความผิด จึงนิรโทษกรรมให้ แต่กรณีนี้ไม่มีการกระทำความผิดแล้วจะไปนิรโทษกรรมได้อย่างไร โดยต้องคืนความเป็นธรรมให้กับเขา แต่ใครที่ทำความผิดก็ต้องรับโทษ ใครไม่ผิดก็ต้องพ้นผิด เมื่อถามว่าเห็นด้วยกับการคืนความเป็นธรรมให้กับคนที่ไม่ได้ทำผิดใช่หรือไม่ นายชุมพล กล่าวว่า ถูกต้อง ต้องคืนความเป็นธรรมแก่คนที่ไม่ได้ทำผิด ซึ่งเรื่องนี้เป็นความเห็นของทั้งพรรค ส่วนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ พรรคคุยกันแล้ว ต้องแก้ไขแน่นอน แต่ยังไม่ได้เขียนเป็นร่างออกมา แต่ที่ต้องแก้แน่ๆ คือ 3 มาตรา ได้แก่ 190, 237 และ 68 ต้องแก้ไขให้เป็นความผิดเฉพาะตัวเพราะถ้าทำผิดเพียงคนเดียวแล้วจะไปเผาบ้านเขานั้นได้อย่างไร

ผู้สื่อข่าวถามถึงพรรคร่วมรัฐบาลกดดันให้นายกฯ ปรับนายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ รองนายกฯ ฝ่ายเศรษฐกิจออกจากตำแหน่ง นายชุมพล กล่าวยืนยันว่า ตนไม่มีปัญหาในการทำงานร่วมกับนายกอร์ปศักดิ์ นายกอร์ปศักดิ์เป็นคนละเอียด มีวิสัยทัศน์พอสมควร เมื่อถามว่าพรรคชาติไทยพัฒนารับได้ใช่หรือไม่ที่จะให้นายกอร์ปศักดิ์เป็นหัวหน้าทีมเศรษฐกิจต่อไป นายชุมพลกล่าวว่า ขอไม่พูด อย่าก้าวลึกถึงเรื่องส่วนตัวของเขา แต่ที่ดูเขาทำงานแล้วก็ไม่มีปัญหา



ภท.ชงแก้รธน. 6 มาตรา

ที่พรรคภูมิใจไทย ถนนพหลโยธิน นายบุญจง วงศ์ไตรรัตน์ รองหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ให้สัมภาษณ์ว่า เบื้องต้นได้หารือกับพรรคเห็นว่าจะต้องแก้รัฐธรรมนูญ เป็นจุดยืนเดิมของพรรคทั้งหมด 6 ประเด็น คือ 1.ที่มาของส.ว. ควรมาจากเลือกตั้งทั้งหมด 2.เรื่องการแบ่งเขตเลือกตั้งควรเปลี่ยนมาเป็นระบบเขตเดียวเบอร์เดียว 3.การแก้ไขมาตรา 190 เรื่องการลงนามระหว่างประเทศจะต้องผ่านความเห็นชอบของรัฐสภา 4.การแก้ไขมาตรา 237 ให้ดำเนินการเพิกถอนสิทธิ์เลือกตั้งกับผู้กระทำการทุจริตเลือกตั้งเพียงคนเดียว 5.อำนาจของส.ส.หรือส.ว.เกี่ยวกับกรณีข้อห้ามไม่ให้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง อาทิ เลขานุการรัฐมนตรี ที่ปรึกษารัฐมนตรี เป็นต้น และ 6.แก้ไขมาตรา 266 ซึ่งเป็นข้อจำกัดในการทำงานของส.ส.และส.ว. บางครั้งส.ส.ออกไปเยี่ยมประชาชนพบปัญหาความเดือดร้อน แต่ไม่สามารถประสานงานกับข้าราชการได้ หลังได้มติพรรคชัดเจนจะนำเสนอให้พรรคประชาธิ ปัตย์ต่อไป

นายบุญจงกล่าวว่า สำหรับข้อเสนอการนิร โทษกรรม ส่วนตัวไม่เห็นด้วย เนื่องจากเป็นการออกกฎหมายให้ประโยชน์เฉพาะกลุ่ม ไม่ได้ออกเพื่อคนส่วนรวม เป็นหลักการที่ตนยึดถือ แต่ขึ้นอยู่กับที่ประชุมพรรคจะมีความเห็นอย่างไรก็พร้อมยอมรับ ส่วนกรณีนายเสนาะ เทียนทอง หัวหน้าพรรคประชาราช ระบุให้นำรัฐธรรมนูญปี"40 มาใช้นั้น นายบุญจงกล่าวว่า รัฐธรรมนูญปี"50 มีข้อกำจัด แต่ต้องนำรัฐธรรมนูญทั้ง 2 ฉบับมาเปรียบเทียบกัน เพื่อเลือกข้อดีและข้อเสียมาเป็นส่วนประกอบแก้รัฐธรรมนูญ



พผ.ย้ำรธน.ต้นตอแตกแยก

ที่ทำเนียบรัฐบาล นายชาญชัย ชัยรุ่งเรือง รมว.อุตสาหกรรม ในฐานะว่าที่หัวหน้าพรรคเพื่อแผ่นดิน ให้สัมภาษณ์ก่อนการประชุมครม. ว่า พรรคเพื่อแผ่นดินไม่มีปัญหาเรื่องความแตกแยกภายในพรรค เราต้องสร้างความเข้าใจกัน ต้องคุยกัน โดยพรรคจะกำหนดท่าทีทั้งเรื่องนโยบายพรรคให้ทันสมัย สากล เรื่องความแตกแยกของคนในประเทศและวิธีแก้ไข รวมทั้งเรื่องที่รัฐธรรมนูญเป็นตัวทำให้เกิดความแตกต่างทางความคิด ความแตกแยก ส่วนตัวเชื่อว่ามาจากรัฐธรรมนูญ

นายชาญชัยกล่าวว่า ไม่คิดว่าเป็นการนิร โทษกรรม แต่หลักการปกครองระบอบประชา ธิปไตย สิทธิเสรีภาพทางการเมืองย่อมมีความเสมอภาคกัน จุดอ่อนคือการกระทำผิดการเลือกตั้งแต่โยงมาถึงการยุบพรรค คนที่ไม่รับรู้ก็ถูกเหมายุบทั้งพรรค ถูกจำกัดสิทธิ์ทางการเมือง 5 ปี มันไม่เป็นหลักสากล ไม่มีในประเทศอื่น ตนคิดเรื่องหลักการที่เป็นสากล ไม่ได้คิดถึงตัวบุคคล ขอย้ำว่าเรื่องความแตกแยกต้องแก้ที่รัฐธรรมนูญ ส่วนเรื่องยุบสภาต้องถามกันก่อนว่าทำแล้วดีขึ้นกว่าเดิมหรือไม่ และที่ต้องทำคือการเอาเสื้อเหลือง เสื้อแดง มาเปิดเวทีให้และมาออกกฎหมายปกครองประเทศร่วมกันก็จบแล้ว ต้องหันหน้าเข้าหากัน เพราะถ้าทะเลาะกันต่อผู้แพ้คือประชาชน



เหนาะเสนอกรอบนิรโทษ

เวลา 12.30 น. ที่บ้านพักเมืองทองธานี นายเสนาะ เทียนทอง หัวหน้าพรรคประชาราช ให้สัมภาษณ์ถึงการแก้รัฐธรรมนูญและนิรโทษกรรมทางการเมือง ว่าหากนายกฯทำได้ตามที่พูดทุกอย่างจะเรียบร้อย แต่อย่ายึดติดว่าต้องชนะและควรรีบดำเนินการทันที นายกฯยังอยู่ในวัยที่มีอนาคต และเป็นที่พึ่งหวังของคนในชาติอีกยาวนาน ส่วนการแก้รัฐธรรมนูญ ควรยกเลิกการบังคับใช้รัฐธรรมนูญปี 50 และนำรัฐ ธรรมนูญปี 40 มาบังคับใช้ โดยแก้ไขให้เหมาะสม และกำหนดบทเฉพาะกาลเรื่องการนิรโทษกรรมให้กับผู้ไม่ได้รับความเป็นธรรม โดยยกเว้นคดีอาญา ส่วนคดีอาญาที่ใช้ศาลเดียวตัดสิน และไม่เป็นที่ยอมรับของทั่วโลกก็ต้องยกเลิก รวมถึงการกระทำของคมช.เช่น การตั้งคตส. ให้นิรโทษกรรมให้หมดและจำเป็นต้องทำอย่างเร่งด่วน

ต่อข้อถามว่าการนิรโทษกรรมให้รวมถึงคดีของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ด้วยหรือไม่ นายเสนาะกล่าวว่าการนิรโทษกรรมไม่ใช่เพื่อใครคนใดคนหนึ่ง แต่ถ้าใครไม่ได้รับความเป็นธรรมก็ต้องดำเนินการ ตนจะเสนอเรื่องนี้ในที่ประชุมร่วมรัฐสภา หากดำเนินการเชื่อว่าภายใน 1 สัปดาห์จะสำเร็จและจะทำให้ทุกฝ่ายสบายใจ แม้ข้อเสนอของตนหลายฝ่ายอาจไม่เห็นด้วย แต่เป็นแนวทางออกที่ดีและจะยุติปัญหาได้



จี้นายกฯออก-ตั้งรบ.ชาติ

เมื่อถามว่าหากนายกฯทำตามข้อเสนอจะยืดอายุรัฐบาลได้หรือไม่ หัวหน้าพรรคประชาราชกล่าวว่า หากทุกฝ่ายหันหน้าคุยกัน แก้ไขปัญหา ดึงประชาชนจากทุกสีที่จะฆ่ากันเองให้มาร่วมมือกัน จะเป็นเรื่องดี เมื่อถามว่าต้องมีการเลือกตั้งใหม่หรือไม่ นายเสนาะกล่าวว่า หากมีการเลือกตั้งใหม่ต้องให้ทุกคนยอมรับกติกาและมีการปรองดองเกิดขึ้นก่อน เพราะปัญหาความแตกแยกถือเป็นปัญหาใหญ่

เมื่อถามถึงกระแสข่าวปรับครม. ที่พรรคประชาราชจะจับมือกับพรรคภูมิใจไทยและเข้ามาร่วมรัฐบาล นายเสนาะกล่าวว่าเป็นเพียงข่าวลือ เพราะตนยังยืนยันจะอยู่ในฝ่ายที่ถูกต้องและไม่รับสิ่งที่ไม่ชอบธรรม เพราะเห็นว่านายกฯมาโดยไม่ชอบ ดังนั้นคณะรัฐมนตรีหรือรัฐบาลถือว่ามาโดยไม่ชอบ ดังนั้น นายกฯควรต้องลาออกภายใต้เงื่อนไขให้ทุกฝ่ายทุกสียุติการเคลื่อนไหว และมาร่วมกันตั้งรัฐบาลแห่งชาติโดยพรรคประชาธิปัตย์เป็นเจ้าภาพดำเนินการ ซึ่งจะแก้ปัญหาประเทศได้ หากมีการเลือกตั้งใหม่ นายอภิสิทธิ์จะได้กลับมาเป็นนายกฯอีกครั้งและเป็นนายกฯอย่างชอบธรรม



"เติ้ง"ระบุมาตราที่ต้องแก้

ด้านนายบรรหาร ศิลปอาชา อดีตหัวหน้าพรรคชาติไทย ให้สัมภาษณ์ถึงแนวทางแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า รัฐธรรมนูญปี"50 มีปัญหาหลายมาตรา เช่น มาตรา 190, 237 และ 68 ตนจึงเห็นด้วยที่จะแก้ไข ส่วนการนิรโทษกรรมต้องแยกคดีอาญาออกจากคดีการเมือง อย่าเอามาเกี่ยวข้อง คนไม่ได้ทำผิดแล้วไปบอกว่าเขาผิด ไม่มีใครยอมรับได้ จะแก้อย่างไรอยู่ที่ส่วนรวม ส่วนระยะเวลาก็แล้วแต่เหตุการณ์ในอนาคต

นายบรรหารกล่าวถึงการประชุมร่วมรัฐสภาว่า เป็นเรื่องดี รัฐบาลจะได้ชี้แจงข้อเท็จจริง และมีถ่ายทอด ประชาชนทั่วประเทศจะได้รู้ว่าเหตุการณ์เป็นอย่างไร และใช้วิจารณญาณเอาเอง ส่วนที่มองว่าจะมีเหตุการณ์ป่วนในห้องประชุมร่วมรัฐสภา ขึ้นอยู่กับประธานสภาจะควบคุมการประชุม แต่ไม่น่าเหมือนกับไต้หวัน คงไม่ถึงกับขว้างรองเท้าเข้าหากัน ฉะนั้นประธานสภาต้องเข้มงวด ต้องควบคุมการประชุม ต้องเข้มงวดในการใช้วาจา

อดีตหัวหน้าพรรคชาติไทยกล่าวถึงการบริหารงานของรัฐบาลขณะนี้ว่า เห็นใจ ภาวะเหตุการณ์การเมืองเป็นอย่างนี้ การบริหารงานให้เป็นไปอย่างรวดเร็วคงไม่ง่าย ต้องใช้ความสามารถและความอดทนสูง ความเข้าใจซึ่งกันและกัน ถ้าทำได้ก็หาทางเจรจากัน แต่จะทำได้ถึงขั้นไหนคงตอบไม่ได้ แต่เหตุการณ์ก็เลยเถิดไปไกลแล้วจะหวนกลับไปก็คงยาก ขอวิงวอนแต่ละฝ่ายเห็นแก่ประเทศชาติ



แนะรัฐบาลจูบแก้ม"แม้ว"

เมื่อถามว่าอายุรัฐบาลจะอยู่นานหรือไม่ นายบรรหารกล่าวว่า เอาเป็นว่าอยู่เท่าไหนก็เท่านั้น อาจเป็น 1-2 ปี ต้องถามนายกฯ เมื่อถามว่าทางการข่าวยังประเมินว่าสถานการณ์ยังวางใจไม่ได้ นายบรรหารกล่าวว่าก็ประมาทไม่ได้ ความจริงก็รู้จักกัน ไม่ว่าแดง เหลือง น้ำหมึกรู้จักกันทั้งนั้น แต่ความไม่เข้าใจกันมันก็มีปัญหา ต่อข้อถามจะฝากอะไรไปถึงคนเสื้อแดงที่เคลื่อนไหวในต่างประเทศ นายบรรหารกล่าวว่าพ.ต.ท.ทักษิณก็นับถือกันเป็นพี่น้อง แต่ก็ห่างมาพอสมควร ไม่ทราบมีแนวคิดอย่างไร ภาคเอกชนบางคนก็เสนอให้รัฐบาลไปเจรจากับ พ.ต.ท.ทักษิณ ตนก็หวังและวิงวอนขอให้หันหน้าเข้าหากัน ถ้าจูบไม่ได้ที่ปาก จูบกันที่แก้มก็ยังดี เมื่อถามว่าจะเป็นโซ่ข้อกลางในการเจรจาหรือไม่ นายบรรหารกล่าวว่าไม่มีใครยอมรับตนหรอก ตนก็ไม่พร้อมเป็นตัวกลางเพราะบารมีไม่ถึง คนกลางตอนนี้หายาก เพราะบางทีทำไปถ้าไม่ดีก็ถูกด่า โดยเฉพาะสื่อมีความสำคัญ พอมีแนวคิดจะปลดล็อกให้อดีต 111 และ 109 ก็เขียนว่าซากศพ เขายังเป็นคนและไม่เหม็น สื่อก็มีส่วนทำให้บ้านเมืองสงบ

เมื่อถามถึงประเด็นการนิรโทษกรรม นายบรรหารกล่าวว่าคงไม่เกี่ยวกับคดีอาญา ส่วนคดีการเมืองก็ไม่ทราบว่าขอบเขตจะไปถึงไหน แต่ต้องให้ชัดเจน อย่างไรก็ตามมันต้องมี ยามบ้านเมืองอย่างนี้จะเอาเรื่องนี้ไปกดอีกก็คงไม่ไหว ถ้าทำได้ก็จะดีขึ้น ที่อยู่ใต้ดินก็ขึ้นอยู่บนดิน ไม่เช่นนั้นก็แอบอยู่ข้างหลังเรื่อย เป็นนอมินี เป็นตัวเชิด เมื่อถามว่าช่วงนี้นายกฯกับรัฐมนตรีอาจไม่ปลอดภัย นายบรรหารกล่าวว่าต้องใส่เสื้อเกราะ แต่ตนคงไม่ต้องใส่เพราะตอนนี้ไม่ได้เกี่ยวข้องงานการเมือง คงไม่เป็นอะไร ผิดกับสมัยเป็นนายกฯ ต้องใส่เสื้อเกราะเพราะจะถูกลอบยิง เกรงจะไม่ปลอดภัย



"ชัย"สงวนท่าทีนิรโทษกรรม

เวลา 14.00 น. ที่พรรคภูมิใจไทย ถ.พหล โยธิน มีการประชุมพรรค มีแกนนำเข้าร่วมคึกคัก อาทิ นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรค นายบุญจง วงศ์ไตรรัตน์ รองหัวหน้าพรรค นางพรทิวา นาคาศัย เลขาธิการพรรค นายเนวิน ชิดชอบ นายอนุทิน ชาญวีรกูล นายสมศักดิ์ เทพสุทิน นายชัย ชิดชอบ นายประจักษ์ แกล้วกล้าหาญ เหรัญญิกพรรคและ ส.ส.พรรค ภายหลังการประชุมได้เปิดให้สมาชิกพรรครดน้ำขอพรนายชัยและนายชวรัตน์ เนื่องในเทศกาลวันสงกรานต์ด้วย

นายชัย ชิดชอบ ประธานรัฐสภา กล่าวถึงความพร้อมประชุมร่วมรัฐสภาวันที่ 22-23 เม.ย.ว่า ตนและประธานวุฒิสภาจะยึดข้อบังคับการประชุมอย่างเคร่งครัด เพราะไม่อยากให้สื่อมวลชนตราหน้าว่าหน่อมแน้ม รวมถึงเอก สาร วีซีดีที่จะนำเสนอต่อที่ประชุมสภา จะต้องนำมาตรวจสอบก่อนอย่างเคร่งครัดด้วย ส่วนประเด็นแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นหน้าที่ของ 2 สภาที่จะร่วมกันหาทางออก โดยใช้เสียงข้างมากเช่นเดียวกับการเสนอนิรโทษกรรมนักการเมือง ส่วนจะเสนอหรือไม่ขึ้นอยู่กับที่ประชุม

เมื่อถามว่าส่วนตัวบุตรชายทั้ง 2 คนคือนายเนวิน และนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ ถูกตัดสิทธิ์ 5 ปี จะสนับสนุนให้มีการนิรโทษกรรมหรือไม่ นายชัยกล่าวว่า อยากให้ทั้ง 2 คนอยู่แบบนี้นานๆ ไม่ควรได้รับนิรโทษกรรม อยากให้ลูก ชายได้พักผ่อนจนครบ 5 ปี ให้ทุกอย่างเป็นไปตามกฎหมาย ของแบบนี้อยู่ที่ฟ้าดินกำหนดว่าจะให้อยู่กี่ปี แต่หากเข้าสภาแล้วมีคนเสนอ เมื่อเสียงส่วนใหญ่เห็นชอบก็ทำได้เลย



พรรคภูมิใจไทยเริ่มแทงกั๊ก

นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย กล่าวถึงการนิรโทษกรรมว่า ตามสุภาษิตจีนบอกไว้ว่าคนตายต้องเอาไปฝัง แต่เราไม่ควรเอาคนเป็นไปฝังกับคนตาย เพราะไม่ถูกต้อง ดังนั้นเราต้องหาทางให้ความยุติธรรมกับคนเหล่านี้

นายศุภชัย ใจสมุทร โฆษกพรรคภูมิใจไทย เปิดเผยภายหลังการประชุม ว่า พรรคตั้งกรรม การพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญ 5 คนประกอบด้วย นายประกิจ พลเดช ผู้ช่วยรมว.คมนาคม เป็นประธาน นายธนชาติ ธรรมโชติ น.ส.ศุภ มาส อิศรภักดี รองโฆษกพรรค นายพินิจ สิทธิโห น.พ.เปรมศักดิ์ เพียยุระ เป็นคณะทำงาน เพื่อแก้รัฐธรรมนูญบางมาตราที่ไม่เป็นประชาธิป ไตย ส่วนเรื่องนิรโทษกรรมในที่ประชุมไม่ได้พูดถึง พรรคยืนยันจะทำในสิ่งที่เป็นประโยชน์ของบ้านเมือง เราต้องสนใจวิกฤตของบ้านเมืองให้มากกว่าเรื่องส่วนตัว

นายศุภชัย โพธิ์สุ ส.ส.นครพนม พรรคภูมิใจไทย กลุ่มเพื่อนเนวิน กล่าวว่า คณะกรรม การกลั่นกรองสรุปประเด็นแก้รัฐธรรมนูญที่มีนายประกิจเป็นประธาน จะสรุปและนำเสนอต่อที่ประชุมพรรควันที่ 28 เม.ย. พรรคมีจุดยืนว่าจะเน้นเรื่องความปรองดอง เน้นประโยชน์ส่วนรวม แก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง บังคับใช้กฎหมายอย่างถูกต้องไม่ให้มีสองมาตรฐาน ส่วนการนิรโทษกรรมหรือเรื่องที่เกี่ยวกับผลประโยชน์ส่วนตัว กลุ่มบุคคลใด ทางพรรคต้องไปศึกษารายละเอียดก่อน



พท.เสนอสภาตั้งกมธ.ทันที

นายประเกียรติ นาสิมมา ส.ส.สัดส่วน พรรคเพื่อไทย กล่าวภายหลังการประชุมพรรคว่า ในการประชุมร่วมรัฐสภาวันที่ 22-23 เม.ย. พรรคจะขอให้ที่ประชุมมีมติตั้งคณะกรรมการศึกษาและแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปี 50 โดยใช้แม่แบบของรัฐธรรมนูญปี 40 คณะกรรมการจะมีตัวแทนจากสภาผู้แทนฯ วุฒิสภา และเปิดโอกาสให้บุคคลภายนอกเข้าร่วม คาดว่าจะใช้เวลาศึกษา 1 เดือน ส่วนการนิรโทษกรรมนั้น พรรคเห็นว่าการปลดล็อกอดีตกรรมการบริหารพรรคการเมืองทั้ง 220 คน ให้พ้นจากสิ่งที่ไม่ถูกต้องเป็นเรื่องดี ซึ่งต้องใช้พ.ร.บ.ว่าด้วยความปรองดองแห่งชาติเป็นเครื่องมือดำเนินการ ส่วนคดีอาญานั้นไม่ได้หมายความว่าทุกคดีจะได้รับอานิสงส์จากกฎหมายฉบับนี้ทั้งหมด เพราะต้องมีกระบวนการตรวจสอบในชั้นศาล ว่าคดีอาญานั้นเป็นผลมาจากเรื่องการเมืองหรือไม่ หาก พ.ต.ท.ทักษิณต้องการพิสูจน์ตัวเองเรื่องนี้ ต้องกลับมาต่อสู้ในชั้นศาล แต่เชื่อว่าคงติดขัดรื่อง ความปลอดภัยในการเดินทางกลับประเทศ

นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา โฆษกส่วนตัวพ.ต.ท.ทักษิณ กล่าวถึงการแก้รัฐธรรมนูญ และการนิรโทษกรรมทางการเมือง ว่า เรื่องนิรโทษกรรมไม่ใช่เรื่องหลักในการแก้ปัญหาสังคมไทย แต่ปัญหาเกิดจากโครงสร้างรัฐธรรม นูญปี 50 ที่ทำให้เกิดความขัดแย้งขึ้น

"เวลานี้ควรเร่งเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญมากกว่าการนิรโทษกรรม อีกทั้งต้องจัดสรรอำนาจให้ถูกต้อง แม้ผมจะเป็น 1 ใน 111 คนที่ถูกตัดสิทธิ์ แม้จะได้รับประโยชน์จากการนิรโทษกรรม แต่เห็นว่าปัญหาบ้านเมืองสำคัญกว่า" นายพงศ์เทพ กล่าว



กห.แนะทำประชาพิจารณ์

พล.อ.อภิชาต เพ็ญกิตติ ปลัดกระทรวงกลาโหม ให้สัมภาษณ์ถึงแนวทางนิรโทษกรรมให้กับนักการเมืองว่า รัฐบาลพยายามทำให้เกิดความสมานฉันท์เพื่อให้เกิดความสงบโดยเร็ว ส่วนการแก้รัฐธรรมนูญ ต้องฟังความเห็นประชาชนส่วนใหญ่ ว่าเห็นด้วยหรือไม่ที่จะนิรโทษกรรมให้นักการเมือง 111 และ 109 คนที่ถูกตัดสิทธิ์ ส่วนจำเป็นต้องทำประชามติหรือไม่ ต้องดูอีกที แต่ส่วนตัวอยากให้ทำประชาพิจารณ์ แต่จะทำให้การแก้รัฐธรรมนูญยืดออกไป ขณะที่รัฐบาลอยากให้แก้ไขให้เร็วที่สุด

เมื่อถามว่ากังวลหรือไม่หากแก้รัฐธรรมนูญแล้วจะเอื้อประโยชน์ให้นักการเมือง พล.อ. อภิชาตกล่าวว่า เป็นความห่วงใยของประชาชน และส่วนราชการที่ดูแลอยู่ หากให้ฝ่ายการเมืองมาแก้ไขคงมีปัญหาเรื่องทำให้เกิดผลประโยชน์ของฝ่ายการเมืองเป็นหลัก ซึ่งการแก้รัฐธรรม นูญหากเปิดกว้างหรือให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมน่าจะดี เมื่อถามว่าเป็นไปได้หรือไม่ที่จะนำรัฐธรรมนูญปี 2540 มาปรับใช้ พล.อ.อภิชาตกล่าวว่า เป็นไปได้ ทางออกดีที่สุดที่ทำได้คือตรงไหนเป็นความเหมาะสม และการแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2550 คงเหมือนการเอารัฐธรรม นูญปี 2540 มาใช้ แต่กว่าจะได้ข้อยุติคงต้องใช้เวลา ไม่อยากให้ยึดติดกับฉบับใดฉบับหนึ่ง

"รัฐธรรมนูญทุกฉบับมีจุดอ่อนจุดแข็ง และการยกร่างขึ้นมาเพื่อตอบสนองสถานการณ์การแก้ปัญหาในขณะนั้น ดังนั้น คนที่นำรัฐธรรม นูญไปใช้ควรมีหลักจริยธรรมมากกว่ามาแก้ไขรัฐธรรมนูญ น่าจะปรับปรุงพฤติกรรมบุคคลมากกว่าจะแก้กฎหมายหลักของชาติบ้านเมือง" พล.อ.อภิชาตกล่าว



"ประสพสุข"หนุนแก้ม.237

ที่รัฐสภา นายประสพสุข บุญเดช ประธาน วุฒิสภา กล่าวถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า ยังยืนยันว่าจำเป็นต้องแก้ไขแน่นอน แต่ต้องรอดูประเด็นจากนายกฯ ว่าพรรคการเมืองเสนอแก้ไขมาตราใดบ้าง ส่วนปลัดกระทรวงกลาโหมเสนอให้ทำประชาพิจารณ์ก่อนนั้น ต้องมีรูปแบบก่อนว่าจะทำเรื่องอะไร แก้มาตราใดบ้าง การทำประชาพิจารณ์ต้องใช้เงินอีก 2,000 ล้านบาท ไม่รู้ว่าจะได้ผลหรือไม่ ขณะที่ปัญหาบ้านเมืองต้องทำอะไรอย่างรวดเร็ว ประเด็นสำคัญเร่งด่วนที่ควรแก้ไขคือมาตรา 237 นิรโทษกรรมให้ผู้ไม่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดกรณียุบพรรคการเมืองและตัดสิทธิ์กรรมการบริหารพรรค ส่วนประเด็นอื่นอาจต้องไปแก้ในอนาคต ขณะนี้ต้องทำให้เกิดความสมานฉันท์โดยเร็วที่สุด การแก้ไขรัฐธรรมนูญอย่าใช้ฉบับใดมาเป็นตัวตั้ง จะทำให้เกิดการโต้แย้ง เรื่องนิรโทษกรรมต้องทำให้ชัดเจนว่าเป็นความผิดทางการเมือง อย่าไปรวมกับเรื่องอาญา ไม่เช่นนั้นการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะไม่ประสบผลสำเร็จ

เมื่อถามถึงฝ่ายค้านแย้งว่าความผิดทางอาญาเป็นฐานมาจากการปฏิวัติจึงอยากให้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนขึ้นใหม่ นายประสพสุขกล่าวว่า ลำบาก คงมีข้อโต้แย้งทำให้กระบวน การแก้รัฐธรรมนูญติดขัด ต้องหาจุดที่ทุกคนหรือทุกฝ่ายยอมรับได้ เมื่อถามอีกว่าเป็นห่วงเรื่องความจริงใจของพรรคการเมืองที่จะฝ่าวิกฤตการเมืองหรือไม่ นายประสพสุขกล่าวว่า สถาน การณ์ขณะนี้ทุกคนน่าจริงใจ แต่ต้องดูบรรยา กาศการประชุมร่วมรัฐสภา จะรู้ว่าต่างฝ่ายจริงใจมากน้อยแค่ไหน



40 ส.ว.ประกาศขวางถึงที่สุด

นายสมชาย แสวงการ ส.ว.สรรหา แกนนำกลุ่ม 40 ส.ว. กล่าวว่า การอภิปรายร่วมรัฐสภาวันที่ 22-23 เม.ย.จะไม่ได้ประโยชน์มากนัก นอกจากพูดถึงการนิรโทษกรรม การแก้รัฐธรรม นูญ การกล่าวหานายกฯว่าปฏิบัติสองมาตรฐาน และจะมีการทะเลาะกันระหว่างฝ่ายค้านกับรัฐบาล เพื่อทำให้เห็นว่าสภาแก้ปัญหาความขัดแย้งไม่ได้ เพื่อบีบให้นายอภิสิทธิ์ประกาศยุบสภาหรือลาออก จึงเป็นเพียงเกมที่วางไว้ตามแผนตากสิน รัฐธรรมนูญแก้ไขได้แต่ต้องไม่ใช่ตอนนี้ เพราะมีคนได้รับประโยชน์เพียงแค่บางกลุ่มเท่านั้น ดังนั้นต้องเตือนรัฐบาลว่าอย่าหลงประเด็นเด็ดขาด ส.ว.จำนวนมากไม่เห็นด้วยกับการแก้รัฐธรรมนูญ และจะขัดขวางจนถึงที่สุด เพราะเชื่อว่าจะนำไปสู่จุดอับของการเมืองและนำไปสู่สงครามกลางเมือง บีบให้คนเสื้อเหลืองออกมาปะทะกับคนเสื้อแดง ในที่สุดทหารจะออกมาปฏิวัติ และคนที่ได้ประ โยชน์มากที่สุดคือพ.ต.ท.ทักษิณ เพราะคดีต่างๆจะถูกลบล้างทั้งหมด

นายสมชายกล่าวว่า ส.ว.ส่วนใหญ่จะใช้เวทีการเปิดอภิปรายของวุฒิสภาวันที่ 1 พ.ค.อีกครั้ง เชื่อว่ารัฐบาลจะได้ประโยชน์มากเพราะจะไม่มีการตีรวน ไม่มีการทะเลาะเบาะแว้ง โดยจะเสนอทางออกคือต้องปฏิรูปการเมือง ให้คน กลางที่ไม่มีส่วนได้เสียเป็นคนดำเนินการและต้องไม่มีนักการเมืองเข้าร่วมเป็นอันขาด อีกทั้งรัฐบาลต้องอำนวยความยุติธรรมให้ทุกฝ่ายไม่ว่าพันธมิตรฯ นปช. และพ.ต.ท.ทักษิณ โดยตั้งคณะกรรมการพิเศษไปเจรจากับประเทศต่างๆที่พ.ต.ท.ทักษิณอาศัยอยู่เพื่อนำตัวมาดำเนินคดี



ส.ส.ร.50ออกโรงคัดค้าน

วันเดียวกัน ชมรมส.ส.ร.50 ส่งจดหมายเปิดผนึกถึงนายกฯ แจ้งมติ 6 ข้อ ดังนี้ 1.เหตุวิกฤตการเมืองของประเทศไม่ได้เกิดจากรัฐธรรมนูญ แต่เกิดจากความเห็นที่แตกต่างของกลุ่มบุคคล 2 ฝ่ายที่ต่างมีจุดยืนและยึดมั่นในตัวบุคคล ข้ออ้างเรื่องรัฐธรรมนูญเพียงถูกหยิบยกเพื่อนำไปสู่การแก้รัฐธรรมนูญเพื่อประโยชน์ทางคดีมากกว่า เป็นการสมประโยชน์เฉพาะแต่นักการเมืองและพรรคการเมืองเท่านั้น 2.การแก้รัฐธรรมนูญจะยิ่งจุดชนวนความขัดแย้งในสังคมมากขึ้น ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยจะออกมาเคลื่อนไหวต่อต้าน ความวุ่นวายจะเกิดซ้ำอีก 3.ก่อนแก้รัฐธรรมนูญต้องเชิญผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย โดยเฉพาะผู้ที่เกี่ยวกับปัญหาความขัดแย้งมาระดมความคิดในการปฏิรูปการเมืองให้ได้ข้อยุติเสียก่อนแล้วจึงนำไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญ

4.กระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ควรทำโดยผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย มิเช่นนั้นจะกลายเป็นการแก้เพื่อประโยชน์ของกลุ่มบุคคลดังกล่าวเท่านั้น ประโยชน์ของประชาชนจะถูกละเลย 5.รัฐธรรมนูญปี"50 ผ่านการทำประชามติ ก่อนทำประชามติได้ส่งร่างไปให้ทุกพรรคมีส่วนร่วมพิจารณา ซึ่งไม่มีพรรคใดคัดค้าน การที่บางพรรคพยายามนำเสนอว่ารัฐธรรมนูญเป็นตัวสร้างปัญหาโดยเฉพาะมาตรา 237 จึงเป็นการบิดเบือนข้อเท็จจริง 6.หากจะแก้ไขรัฐธรรมนูญควรผ่านกระบวนการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน ว่าสมควรแก้มาตราใด อย่างไร ท้ายสุดต้องทำประชามติ



"ประสงค์"ขู่ระวังเกิดกลียุค

น.ต.ประสงค์ สุ่นศิริ อดีตประธานคณะกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญปี 50 กล่าวว่า รัฐธรรมนูญเปิดช่องให้แก้ไขได้แต่ต้องเพื่อประโยชน์คนส่วนใหญ่ ไม่ใช่เพื่อปลดโซ่ตรวนให้นักการเมืองเพียงหยิบมือเดียว ส่วนที่อ้างว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือนิรโทษกรรมคืนสิทธิ์ให้นักการเมือง 220 คน จะเป็นทางออกสู่ความสมานฉันท์นั้น เป็นการเข้าใจผิดอย่างยิ่ง เพราะความขัดแย้งที่เกิดขึ้นไม่ได้มีสาเหตุจากรัฐธรรมนูญ แต่นักการเมืองที่ติดโซ่ตรวนพยายามช่วงชิงอำนาจทางการเมือง การที่รัฐบาลสรุปว่าความขัดแย้งทางการเมืองครั้งนี้ต้องแก้รัฐธรรมนูญ เป็นความผิดพลาดอย่างรุนแรง

น.ต.ประสงค์กล่าวว่า ถ้านายอภิสิทธิ์และพรรคประชาธิปัตย์ยังดึงดันจะแก้รัฐธรรมนูญโดยนักการเมือง จะเกิดความขัดแย้งครั้งใหญ่ เพราะประชาชนรู้ว่านักการเมืองอาศัยช่วงวุ่นวายหาประโยชน์เพื่อคนพวกเดียว นายอภิสิทธิ์จะกลายเป็นคนที่ทำลายกระบวนการยุติธรรม ไม่เคารพเหตุผลคำตัดสินของตุลาการ สร้างตัว อย่างที่ไม่ดีให้กับการเมืองไทย ต่อไปนักการเมืองที่ทำผิดก็รวมหัวกันออกกฎหมายมายกโทษให้ตัวเอง การแก้รัฐธรรมนูญยังจะเป็นชนวนทำให้เกิดวิกฤตซ้อนวิกฤต อาจเป็นกลียุคหรือมิคสัญญี สุดท้ายกลุ่มพลังฝ่ายความมั่นคงจะออกมาใช้อำนาจนอกระบบยับยั้งเหตุการณ์อาจปฏิวัติหรือรัฐประหาร

ส่วนข้อเสนอให้ใช้รัฐธรรมนูญปี 40 นั้น น.ต.ประสงค์กล่าวว่า รัฐธรรมนูญปี 50 อุดช่องว่างรัฐธรรมนูญปี 40 ที่ปล่อยให้รัฐใช้อำนาจแทรกแซงกลไกต่างๆ จนกลายเป็นเผด็จการ ขณะเดียวกันให้สิทธิเสรีภาพของประชาชนมากกว่า ดังนั้น คนที่ได้ประโยชน์จากการใช้ช่องโหว่ของรัฐธรรมนูญปี 40 จึงออกมาเรียกร้องเช่นนี้

ข่าวส่งเสริมคนดี

จำนวนผู้เข้าเยี่มมชม

link to affordable web hosting
Powered by web hosting provider .

สถิติการเข้าชม DMNEWS

eXTReMe Tracker