สุรพศ ทวีศักดิ์
เมื่อเรียกร้องให้บัญญัติ “พุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ” ในรัฐธรรมนูญ เราอ้างความชอบธรรมจากข้ออ้างที่ว่า “สังคมไทยเป็นสังคมพุทธ” แต่เมื่อเกิดความรุนแรงนองเลือด ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์ 14 ตุลา 16, 6 ตุลา 19,พฤษภา 35,7 ตุลา 51 กระทั่ง “เมษาวิปโยค” ที่ผ่านมา กลับแทบไม่ได้ยินกระแสเสียงเรียกร้องให้ “ยุติความรุนแรง” โดยอ้าง “ความเป็นสังคมพุทธ” จากองค์กรพุทธหรือภาคส่วนใดๆของสังคมพุทธแห่งนี้เลย
หรือว่า “ความเป็นสังคมพุทธ” เกี่ยวข้องอย่างจำเป็นกับการรับรองโดยรัฐธรรมนูญและการอุปถัมภ์จากรัฐ หากไม่เกี่ยวข้องใดๆ (หรืออย่างจริงจัง) กับ “หน้าที่” ในการมีส่วนร่วมยับยั้งความรุนแรงหรือการหาทางออกอย่างสันติให้กับความขัดแย้งทางสังคมการเมือง ทั้งโดยการระดมแนวคิดและกระบวนการเคลื่อนไหวที่เป็นรูปธรรมอื่นๆ
พุทธศาสนาทั้งโดยสถาบัน และโดยเครือข่ายองค์กร ต่างเป็นส่วนหนึ่งของสังคม ในฐานะเป็นส่วนหนึ่งของสังคม สถาบันพุทธศาสนาที่เป็นทางการ เช่น คณะสงฆ์ วัด สำนักปฏิบัติธรรม หรือที่ไม่เป็นทางการ เช่น เครือข่ายชาวพุทธต่างๆนั้น ย่อมต้องทำหน้าที่พลเมืองในการแสดงบทบาทปกป้องสันติสุขของสังคม และการทำหน้าที่ดังกล่าวย่อมไม่ขัดแย้งกับหลักการพุทธศาสนา หากถือว่าพุทธศาสนามีอยู่เพื่อสันติสุขของสังคม
เป็นไปได้ไหมว่า การที่ชาวพุทธไทยไม่ได้นำข้ออ้าง “ความเป็นสังคมพุทธ” มาใช้เป็นเครื่องมือยับยั้งความรุนแรงอย่างจริงจังเพียงพอ ทั้งด้วยการระดม “หลักคิด” แบบพุทธอธิบายปัญหาและหาทางออก และการสร้างเครือข่ายเคลื่อนไหวเรียกร้องสันติภาพทางสังคมที่เป็นรูปธรรม อาจเป็นผลมาจากปัญหาหลักๆ ของชาวพุทธอย่างน้อย 3 ประการคือ.-
ประการแรก ชาวพุทธติดอยู่ใน “กระบวนทัศน์” (paradigm) ที่ปลูกฝังกันมานานว่า “โลก” กับ “ธรรม” ต้องแยกขาดจากกัน เรื่องทางโลกเป็นเรื่องของกิเลสตัณหาความวุ่นวายต่างๆที่ผู้ใฝ่ทางธรรมไม่ควรข้องแวะ ส่วนเรื่องทางธรรมเป็นเรื่องของการหลีกหนีกิเลสและความวุ่นวายต่างๆในทางโลกไปสู่ “ความสงบ” กาย วาจา ใจ ซึ่งเป็นไปไม่ได้ถ้ายังยุ่งเกี่ยวทางโลก ดังนั้น ความขัดแย้งทางการเมืองจึงเป็นเรื่องความวุ่นวายทางโลก ที่ชาวพุทธผู้ใฝ่ทางธรรมไม่ควรเข้าไปเกี่ยวข้อง
แต่ก็น่าสังเกตว่า ถ้าอะไรที่ชาวพุทธเห็นว่าเป็นการปกป้องและส่งเสริมพุทธศาสนา พวกเขาก็พร้อมที่จะเข้าไปเกี่ยวข้องกับการเมืองแม้ว่าการเกี่ยวข้องนั้นอาจเป็นเงื่อนไขของความขัดแย้งในสังคมก็ตาม เช่น การเดินขบวนเรียกร้องให้พุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติในรัฐธรรมนูญ การที่ “พระป่า” ออกมาเรียกร้องให้การแต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราชเป็นเรื่องของ “พระราชอำนาจ” เท่านั้น (ซึ่งในประเด็นนี้มีข้อขัดแย้งลึกๆในวงการพุทธศาสนาเกี่ยวกับ “นิกายของเจ้า” กับ “นิกายของไพร่”) เป็นต้น
ประการที่สอง ประเพณีการสอนพุทธศาสนาในบ้านเรานั้นเน้นเฉพาะการสอน “ศีลธรรมของปัจเจกบุคคล” ละเลยการสอน “ศีลธรรมทางสังคม” ความดีที่เน้นคือ “การทำบุญ” ที่อธิบายกันว่าใครทำก็ได้เฉพาะตัวของบุคคลนั้นเหมือนกินข้าวใครกินคนนั้นก็อิ่มไม่ได้ไปอิ่มท้องของคนอื่นที่ไม่ได้กิน แล้วความดีหรือบุญนั้นก็จะเป็นเสบียงเลี้ยงตัวเราให้เรามีความสุขความเจริญ (ด้วยโภคทรัพย์) ทั้งในชาตินี้และชาติหน้า ตราบกระทั่งเข้าสู่สวรรค์นิพพานนั้นแล ดังนั้น คนที่ทำความดี หรือ “คนดี” ในความหมายของชาวพุทธไทยจึงเป็นคนดีที่มุ่งทำความดีในมิติปัจเจกหรือมี “ศีลธรรมของปัจเจกบุคคล” อันเป็นศีลธรรมที่จะก่อให้เกิด “อานิสงส์” เป็นความสุขความเจริญเฉพาะตัว ไม่เกี่ยวกับสังคม ไม่เกี่ยวกับการเมือง ไม่เกี่ยวกับสาธารณะ
ผู้เขียนเคยตั้งข้อสังเกตทำนองนี้กับเพื่อนที่อุทิศตนทำงานเผยแผ่พุทธศาสนาให้กับ “สำนัก” ใหญ่ที่สุดในประเทศนี้ที่ประกาศว่าจะเป็น “ศูนย์กลางพุทธศาสนาแห่งโลก” เขาโต้แย้งว่า งานเผยแผ่พุทธศาสนาที่เขาทำก็เป็นการทำเพื่อสังคมเช่นกัน อย่างเช่นการจัดอบรมให้คนเลิกเหล้าเลิกบุหรี่ จัดค่ายปฏิบัติธรรม กิจกรรมตอบปัญหาธรรมะของเยาวชนในสถานศึกษาต่างๆ หรือกิจกรรมวันสำคัญทางพุทธศาสนาที่ทำให้คนเข้าวัดเป็นเรือนหมื่น เป็นต้น ซึ่งทั้งหมดนั้นก็มีเป้าหมายเพื่อสร้าง “คนดี” ให้สังคม นั่นเอง
ประเด็นคือ ที่ว่ากิจกรรมทางสังคม (เช่นจัดให้คนเข้าวัดเป็นเรือนหมื่นฯลฯ) เป็นการสร้าง “คนดี” ให้สังคมนั้น คนดีที่ว่านั้นเป็นคนดีตามศีลธรรมของปัจเจกบุคคล หรือคนดีตามศีลธรรมทางสังคม? เราเคยตระหนักกันหรือไม่ว่าชาวพุทธที่ถือกันว่าเป็นคนดีมีศีลธรรม เป็นคนธัมมะธัมโมอะไรทำนองนั้นมักเป็นคนดีที่ไม่สนใจสังคม ขาด “มิติความคิด” ในเรื่อง “จิตสาธารณะ” (public spirit) ขาดสำนึกต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมทางสังคม ไม่เรียนรู้ไม่เข้าใจความไม่เป็นธรรมทางสังคม มักมีมุมมองแบบง่ายๆว่าความไม่เท่าเทียมหรือความเหลื่อมล้ำต่ำสูงทางสังคมนั้นเกิดจาก “กรรม” ของใครของมัน ไม่เกี่ยวกับโครงสร้าง ระบบ หรือวัฒธรรมชนชั้น/อำนาจนิยม/อุปถัมภ์นิยมต่างๆที่ครอบงำสังคมอยู่ และเรามีหน้าที่ในการร่วมกันปรับรื้อเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมยิ่งขึ้นเรื่อยๆในฐานะพลเมืองที่มีมโนธรรมสำนึกในพันธสัญญาทางสังคมการเมือง
ประการที่สาม พุทธศาสนาถูกใช้เป็นเครื่องมือของรัฐตลอดมา นับแต่รัฐสมัยสุโขทัย อยุธยา รัตนโกสินทร์ตอนต้นจนมาถึงปัจจุบัน ในอดีตที่การศึกษาถูกจำกัดอยู่ในวังกับวัด ผู้กุมอำนาจรัฐหรือคนชั้นสูงมีบทบาทอย่างสำคัญในการกำหนดว่าพระสงฆ์ควรสอนหลักธรรมอะไรแก่ชาวบ้าน ในแง่หนึ่งหลักธรรมที่พระสงฆ์หรือเจ้านายสั่งสอนอบรมชาวบ้านนั้น อาจช่วยให้ไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินเป็นคนดี มีศีลธรรม ดำรงชีวิตที่มีความสุขตามอัตภาพ เช่น สอนให้รู้จักละเว้นอบายมุขต่างๆ มีศีล 5 รู้จักขยัน ซื่อสัตย์ ประหยัด อดทน ฯลฯ
ส่วนอีกในแง่หนึ่ง หลักธรรมที่เลือกมาสอนนั้นมีการประยุกต์อธิบายในลักษณะเป็นเครื่องมือในการปกครองของรัฐ เพื่อใช้ “ปลูกฝัง” ให้ไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินจงรักภักดีต่อรัฐ เช่น มีการสร้างความเชื่อว่าพระมหากษัตริย์คือ “สมมติเทพ” การปกครองด้วยทศพิธราชธรรมของพระมหากษัตริย์เป็นการบำเพ็ญบารมีของพระโพธิสัตว์ผู้มุ่งตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าในอนาคตกาล ไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินที่เคารพเชื่อฟังนับเป็นการร่วมบุญบารมีนั้นด้วย ความแตกต่างทางฐานะชนชั้นเป็นผลของการ “ทำบุญ” มาต่างกัน คนจนคนชั้นล่างเป็นคนประเภท “บุญมาวาสนาน้อย” คนชั้นบนคนมีอำนาจมีชีวิตอยู่อย่างอลังการสุขสบายตามระดับฐานันดร ราวกับออยู่บนสวรรค์ชั้นต่างๆ เป็นคนประเภท “บุญหนักศักดิ์ใหญ่”
คำสอนทางพุทธศาสนาทำนองนี้ เราอาจพบได้ตั้งแต่การอบรมในครอบครัว ในนิทาน วรรณคดี บทเทศนาของพระสงฆ์ในใบลาน ในหนังสือ บทประพันธ์ บทนิพนธ์หรือพระราชนิพนธ์ต่างๆ (เช่น ไตรภูมิพระร่วง เทศนาเสือป่า ฯลฯ)
จากกระบวนทัศน์ที่แยกธรรมออกจากโลก การเน้นสอนเฉพาะศีลธรรมของปัจเจกบุคคล ละเลยการสอนศีลธรรมทางสังคม และรัฐได้ใช้พุทธศาสนาเป็นเครื่องมือปลูกฝังให้ไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินเคารพเชื่อฟังอำนาจรัฐ จึงทำให้ชาวพุทธทั่วไปเมินเฉยต่อปัญหาทางโลก เห็นว่าการมาเกี่ยวข้องกับปัญหาสาธารณะเป็นเรื่องของกิเลส (เช่นมองว่าการเมืองเป็นเรื่องสกปรก) ไม่ใช่เรื่องของคนดีมีศีลธรรมที่มุ่งสวรรค์นิพพาน และการถูกปลูกฝังให้เชื่อว่าความไม่เสมอภาคของมนุษย์ เป็นผลของ “บุญกรรม” ของแต่ละบุคคล” ทำให้ชาวพุทธนอกจากจะไม่ตั้งคำถามต่อโครงสร้างทางสังคม เศรษฐกิจการเมืองที่อยุติธรรมแล้ว ยังมีทัศนคติสยบยอมและสนับสนุนโครงสร้างอันอยุติธรรมนั้นโดยปริยายและตลอดมา
อย่างไรก็ตาม ยังมีชาวพุทธจำนวนหนึ่งที่มองเห็นปัญหาข้างต้นแล้วหันกลับไปหาพระไตรปิฎกอันเป็นคำสอนที่แท้จริงของพระพุทธเจ้า แล้วนำมาอธิบายประยุกต์ให้เห็นว่าศีลธรรมของปัจเจกบุคคล กับศีลธรรมทางสังคม และการต่อสู้เพื่อปรับเปลี่ยนโครงสร้างทางสังคมให้เกิดความเสมอภาคเป็นธรรม เป็นสิ่งที่ต้องพัฒนาไปด้วยกัน เช่น การเสนอทฤษฎี “ธรรมมิกสังคมนิยม” ของท่านพุทธทาสภิกขุ การศึกษาพุทธศาสนาด้วยทัศนะวิพากษ์และข้ามนิกายทางศาสนาพร้อมกับเสนอแนวคิด “พุทธศาสนาเพื่อรับใช้สังคม” ของ ส.ศิวรักษ์ และเครือข่าย บทบาทของนักสันติวิธีอย่าง พระไพศาล วิสาโล หรือนักต่อสู้เพื่อคนชั้นล่างอย่าง วนิดา ตันติวิทยาพิทักษ์ เป็นต้น แต่ทว่าความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงในทางที่ก้าวหน้าเช่นนี้นอกจากจะอยู่ “นอกสายตา” ของสถาบันพุทธศาสนาที่เป็นทางการ (ทั้งภาคพระสงฆ์และหน่วยงานราชการ) แล้ว บางครั้งยังเป็นที่หวาดระแวงและยากที่จะทำความเข้าใจหรือหาแนวร่วมสนับสนุนจากชาพุทธตามจารีตที่ถูกปลูกฝังให้มีกระบวนทัศน์ และความคิดความเชื่อผิดๆ (จากหลักการที่เป็นแก่นแท้ของพุทธศาสนา) มาอย่างยาวนาน
จากตัวอย่างปัญหาที่กล่าวมาประกอบกับพัฒนาการทางสังคมการเมืองยุคใหม่ที่ก้าวมาไกลมากแล้ว จึงทำให้ชาวพุทธกระแสหลักพลัดตก “ขบวนรถพัฒนาการทางสังคมการเมือง” เราจึงเห็นบทบาทของพระบางรูปออกมาเทศนาว่า “ฆ่าคอมมิวนิสต์ไม่บาป” ในเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ 6 ตุลา 19 เห็นคณะสงฆ์กระแสหลักออกมาเดินขบวนเรียกร้องให้บรรจุ “พุทธศาสนาประจำชาติ” ในรัฐธรรมนูญโดยอ้าง “ความเป็นสังคมพุทธ” เห็นกลุ่มสันติอโศกออกมาสนับสนุนการแบ่งฝักฝ่ายของคนในชาติอย่างเปิดเผย เห็นคณะธรรมยาตราออกมาเรียกร้องความเป็นชาตินิยมกรณีพิพาทปราสาทพระวิหาร และเห็นพระบางรูปร่วมถือธงเดินขบวนร่วมกับมวลชนเสื้อแดง ทั้งหลายทั้งปวงนี้ดำเนินไปโดยปราศจาก “ปฏิกิริยา” ใดๆจากมหาเถรสมาคมซึ่งเป็นองค์กรปกครองสูงสุดของสถาบันสงฆ์
และในความแตกแยกที่ทำให้เกิดความรุนแรงในขณะนี้ นอกจากเราได้เคยเห็นภาพพระสงฆ์กว่าหมื่นรูปออกมาประกอบ “พิธีทำบุญประเทศ” ตามการนิมนต์ของ พล.ต.อ.
จึงถึงเวลาที่ชาวพุทธจะต้องเป็น “ผู้ตื่น” ให้ทัน “ขบวนรถพัฒนาการทางสังคมการเมือง” เพราะหากไม่มีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนสังคมไปสู่ความเป็นธรรมและสันติ การดำรงอยู่ของพุทธศาสนาในสังคมยุคใหม่ก็แทบจะไร้ความหมาย และวาทกรรมที่ว่า “สังคมไทยเป็นสังคมพุทธ” ก็จะใช้หลอกตัวเองและชาวโลกไม่ได้อีกต่อไป!