นักปรัชญาชายขอบ
ในสถานการณ์ที่สังคมไทยแตกแยกทางความคิด แบ่งออกเป็น 2 ฝักฝ่ายอย่างชัดเจน และการแบ่งฝักฝ่ายนั้นได้กลายเป็นเงื่อนไขความรุนแรงอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ นับแต่ความรุนแรงเล็กน้อยจากการปาอิฐปาหินใส่กันของม็อบเหลือง-แดง จนไปถึงการใช้ท่อนไม้ ไม้เบสบอล ไม้กอล์ฟ มีด ปืน ระเบิด การยึดทำเนียบรัฐบาล ยึดสนามบินดอนเมือง สนามบินสุวรรณภูมิ การจลาจลของคนเสื้อแดง การล้มการประชุมประเทศกลุ่มผู้นำอาเซียน การบุกทุบรถนายกรัฐมนตรี ทำร้ายร่างกายเลขาธิการนายกฯ และการลอบสังหาร นาย
ในบริบทความขัดแย้งแตกแยกเช่นนี้ การเปิด ‘พื้นที่ความเป็นกลาง’ จนนำเป็นสู่ความเข้มแข็งเป็นปึกแผ่นของพลังการเคลื่อนไหวของเครือข่ายความคิดเห็นที่เป็นกลางเป็นความจำเป็นอย่างยิ่ง หากเรายังเชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงสังคมด้วยแนวทางสันติวิธีดีกว่าแนวทางความรุนแรง และความเป็นกลางเป็นทางออกที่เป็นไปได้
เหตุผลในการสร้างพื้นที่ความเป็นกลาง
เนื่องจากเวลานี้สังคมไทยถูกเสนอให้เลือก (หรือถูกบีบให้เลือก?) ในสองทางเลือก ทางเลือกแรก เสนอโดยมวลชนเสื้อเหลือง คือ ล้มระบอบทักษิณเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคมไปสู่ ‘การเมืองใหม่’ ทางเลือกที่สอง เสนอโดยมวลชนเสื้อแดง คือ ล้มระบอบอำมาตยาธิปไตยเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคมไปสู่ ‘ประชาธิปไตยเต็มใบ’
แต่ปัญหา คือ
(1) สมมติเราเห็นด้วยว่า การเมืองใหม่ที่สะอาดโปร่งใส มีตัวแทนปวงชนจากทุกภาคส่วน ลดสัดส่วนของการเมืองภาคนักการเมือง เพิ่มสัดส่วนของการเมืองภาคประชาชน ฯลฯ ตามข้อเสนอของฝ่ายเสื้อเหลือง เป็นการเมืองที่พึงประสงค์สำหรับสังคมไทย แต่เราจะเชื่อได้อย่างไรว่า ‘วิธีการ’ ของมวลชนเสื้อเหลืองจะนำไปสู่การเมืองใหม่ได้จริง เช่น การเป็นมวลชนที่สนับสนุนหรือให้ท้ายรัฐประหาร (รัฐประหารในสังคมการเมืองยุคใหม่ไม่มีทางสำเร็จได้หากปราศจากมวลชนสนับสนุน) การขีดเส้นแบ่งประชาชนในประเทศออกเป็นสองฝ่ายอย่างตายตัว คือ ‘ฝ่ายที่จงรักภักดี’ กับ ‘ฝ่ายที่ไม่จงรักภักดี’ การผลิตสร้างหรือสนับสนุนวาทกรรมที่ไม่ส่งเสริมความเป็นประชาธิปไตย เช่น ‘ทหารของพระราชา’ ‘ข้าราชการในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว’ ฯลฯ เพราะที่จริงในระบอบประชาธิปไตย ‘ทหารและข้าราชการต้องเป็นของประชาชน’ แม้แต่พระราชาก็ต้องเป็นของประชาชน เพราะพระราชาทรงได้รับการยกย่องและทรงใช้ ‘อำนาจ’ ทางบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ ตามบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ ซึ่งหมายถึงเป็น ‘อำนาจ’ ที่เป็นเจตนารมณ์ของประชาชน หรือประชาชนยินยอมโดยผ่านกระบวนการประชาธิปไตยเท่านั้น
วิธีการต่างๆ เหล่านี้ (และมีอีกมากที่ไม่ได้ยกมา) แสดงถึงความเป็นการเมืองใหม่ที่ดีกว่าการเมืองเก่าอย่างไร แล้วยังวิธีการ ‘ตรวจสอบ’ ของพันธมิตรฯในช่วงหลังๆ ที่เน้นการกล่าวหาโจมตี + ปลุกระดม มากกว่าการแสดงหลักฐานยืนยันข้อเท็จจริง+ โน้มน้าวด้วยเหตุผล ยิ่งยากที่จะทำให้สังคมมั่นใจว่าวิธีการเช่นนั้น จะทำให้สังคมเปลี่ยนแปลงไปสู่การเมืองใหม่ได้จริง ต่อให้ล้มระบอบทักษิณได้ สังคมจะแน่ใจได้อย่างไรว่าประชาธิปไตยจะพ้นไปจากการครอบงำของอำมาตยาธิปไตย ซึ่งเป็นแนวร่วมหลักของพันธมิตรฯหรือมวลชนเสื้อเหลือง
(2) สมมติเราเห็นด้วยว่า ประชาธิปไตยเต็มใบ หรือประชาธิปไตยที่ประชาชนทุกคนมีสิทธิอำนาจในการกำหนดชะตากรรมของตนเองร้อยเปอร์เซ็น ทำให้เกิดความเป็นธรรม เสมอภาคทางเศรษฐกิจและสังคมมากขึ้น ฯลฯ ตามข้อเสนอของฝ่ายเสื้อแดง เป็นประชาธิปไตยที่พึงประสงค์สำหรับสังคมไทย แต่เราจะแน่ใจได้อย่างไรว่า ‘วิธีการ’ ของฝ่ายเสื้อแดงจะนำไปสู่ประชาธิปไตยเต็มใบได้จริง เช่น การเป็นมวลชนที่สนับสนุนทักษิณ (ทำให้ทักษิณใช้เป็นฐานอ้างความชอบธรรมที่จะหลีกเลี่ยงการตรวจสอบตามกระบวนการยุติธรรมโดยอ้างว่า ‘ให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสิน’) การที่แกนนำที่มีบทบาทนำมวลชนเป็นอย่างสูงเป็นคุณวีระ, จตุพร, ณัฐวุฒิ ทำให้ภาพความหลากหลายของมวลชน ความชัดเจนในอุดมการณ์ประชาธิปไตย ถูก ‘ทาบทับ’ ให้ ‘หม่นมัว’ หรือ ‘ทึมทึบ’ ด้วยภาพ ‘มวลชนเครื่องมือ’ ของทักษิณ
นอกจากนี้อุดมการณ์ประชาธิปไตยเต็มใบของคนเสื้อแดงของกลุ่มคนรักทักษิณ พรรคเพื่อไทย บ้านเลขที่ 111 หมอเหวง ครูประทีป อาจารย์ใจ สำนึกทางชนชั้นของคนชั้นกลางระดับล่าง และคนรากหญ้า ถูก ‘สังเคราะห์’ ให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันมากน้อยแค่ไหน การคิดจะใช้ทั้ง ‘วิธีการบนดิน’ และ ‘วิธีการใต้ดิน’ ต่อสู้เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ฯลฯ ล้วนเป็นสิ่งที่น่าตั้งคำถามทั้งสิ้น มีหลักประกันอะไรไหมที่จะให้สังคมมั่นใจได้ว่า การเปลี่ยนแปลงที่ฝ่ายเสื้อแดงเรียกร้องนั้น ในที่สุดแล้วจะเป็นการเปลี่ยนแปลงสังคมไทยไปสู่สังคมประชาธิปไตยเต็มใบ หรือเป็นเพียงการเปลี่ยน ‘ขั้วอำนาจ’ ทางการเมืองเท่านั้น
จากตัวอย่างคำถามทั้งหลายทั้งปวงเหล่านี้ ทำให้สังคมต้องสร้าง ‘พื้นที่ความเป็นกลาง’ และหรือ ‘พลังที่เป็นกลาง’ เพื่อหาทางออกจากความขัดแย้งและความรุนแรง พร้อมกับสร้างความเปลี่ยนแปลงด้วยวิถีทางแห่งสันติ
ความน่าจะเป็นของ ‘ความเป็นกลาง’
ความเป็นกลาง ไม่ใช่ ‘วางเฉย’ ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด ไม่ใช่ ‘สองไม่เอา’ หรือไม่ใช่ ‘ตัด’ ส่วนไม่ดีของทั้งสองฝ่ายออกไปแล้ว ‘เอา’ ส่วนดีของทั้งสองฝ่ายมารวมกัน และที่สำคัญความเป็นกลางไม่ใช่การสร้างมวลชนที่เป็นกลางขึ้นมาต่อต้านหรือคัดค้าน ‘อุดมการณ์ประชาธิปไตย’ ของทั้งสองฝ่ายที่เป็นคู่ขัดแย้ง
แต่ ‘ความเป็นกลาง’ คือ ‘ความเป็นอิสระ’ จากการพยายามโฆษณาชวนเชื่อ ครอบงำ หรือบีบให้เลือก ‘วิธีการ’ หรือ ‘วิถีทาง’ การต่อสู้ที่มีปัญหาของคู่ขัดแย้งทั้งสองฝ่าย กล้าที่จะปฏิเสธ ตั้งคำถามวิพากษ์วิจารณ์วิถีทางและเป้าหมายของทั้งสองฝ่ายอย่างตรงไปตรงมาและสมดุล ในขณะเดียวกันก็พร้อมที่จะเรียนรู้จากความดีงามของทั้งสองฝ่ายที่ตีแผ่ให้เห็นอันตรายของทุนสามานย์ และอำมาตยาธิปไตย เห็นความดีงามของอุดมการณ์ของทั้งสองฝ่ายที่ต้องการประชาธิปไตยที่ก้าวหน้ากว่าเดิม แต่ทว่าต้องกล้าเตือนสติหรือแสดงพลังยับยั้งการกระทำที่ละเมิดกฎหมายหรือการกระทำที่เกินเลยขอบเขตแนวทางสันติวิธีของทั้งสองฝ่าย เรียกร้องให้ภาครัฐรับฟัง เคารพความคิดเห็น ข้อเสนอ และใช้ ‘มาตรฐานเดียวกัน’ กับทั้งสองฝ่าย ตลอดทั้งเสนอ ‘ความหมาย’ และ ‘แนวทาง’ ในการเปลี่ยนแปลงสังคมไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยที่ก้าวหน้าและเป็นธรรม ด้วยท่าทีที่ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับทั้งสองฝ่ายและสังคมโดยรวม โดยการเปิด ‘พื้นที่ความเป็นกลาง’ ทางสื่อต่างๆ วงสัมมนา และกิจกรรมทางสังคมอื่นๆ
ทั้งนี้ความเป็นไปได้ของการเปิดพื้นที่ความเป็นกลางดังกล่าว หรือการที่จะทำให้ ‘ความเป็นกลางที่น่าจะเป็น’ กลายเป็น ‘กิจกรรมทางการเมือง’ ที่ทำให้เกิด ‘เจตจำนงร่วม’ ทางสังคมอันจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงสังคมให้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้นโดยสันติวิธี จำเป็นต้องอาศัยการ ‘ตกผลึกทางความคิด’ การรณรงค์ต่อสู้ที่หนักเหนื่อยไม่แพ้การต่อสู้ของคู่ขัดแย้งทั้งสองฝ่าย เพราะในบริบทความเป็นจริงของความขัดแย้งที่ผ่านมากว่า 3 ปี หรือที่เป็นอยู่ในขณะนี้ ไม่ว่าใครหรือกลุ่มใดจะแสดง ‘ความเป็นกลาง’ ออกมา ก็ล้วนแต่ถูกทั้งสองฝ่ายด่ายับกันทั้งนั้น!