บล็อคข่าวส่งเสริมคนดี (รักดีหามจั่ว รักชั่วหามเสา หามจั่วก็หนักนะ)

ข่าวจากสื่อ

บทความจากสื่อ

วันพฤหัสบดีที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2552

“เขา” ทำแผน “ผลิตไฟฟ้า” กันอย่างนี้เองหรือ!

ที่มา ประชาไท

ประสาท มีแต้ม


1. คำนำ


บทความนี้มีวัตถุประสงค์ 3 ข้อ คือ หนึ่ง ให้เห็นตัวเลขค่าใช้จ่ายด้านไฟฟ้าของคนไทยโดยเฉลี่ยซึ่งค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับรายได้ และหากแผนผลิตไฟฟ้าดังกล่าวมีปัญหาแล้วจะส่งผลกระทบต่อผู้ใช้ไฟฟ้าอย่างไร

สอง เพื่อเล่าถึงการจัดทำแผนผลิตไฟฟ้าที่ผูกขาดโดย “กลุ่มผู้เชี่ยวชาญ” จำนวนน้อยตลอดมาและจะชี้ให้เห็นถึงบางสิ่งที่ผมคิดว่า “น่าจะไม่ถูกต้อง”

สาม หากท่านผู้อ่านได้เห็นปัญหาในข้อสองแล้ว จะได้เห็นความจำเป็นของ “การเมืองภาคประชาชน” ในการตรวจสอบโครงการของรัฐมากขึ้น

ผมไม่ได้มีเจตนาที่จะโจมตีหน่วยงานใดๆ ขณะเดียวกันหากหน่วยงานของรัฐหรือบุคคลใดคิดว่า วิธีคิด ตลอดจนข้อมูลของผมไม่ถูกต้อง ผมยินดีรับฟังเสมอครับ แต่โปรดอย่ากล่าวหาว่ากันด้วยวิธีง่ายๆ ว่าข้อมูลไม่น่าเชื่อถือ ผมขอเริ่มต้นด้วยวัตถุประสงค์ที่สองก่อนนะครับ

2. แผนผลิตไฟฟ้า คืออะไร


แผนผลิตไฟฟ้า ก็คือแผนที่จะบอกว่าในอนาคต ประเทศไทยควรจะมีโรงไฟฟ้าจำนวนกี่เมกกะวัตต์ ที่ไหน เมื่อไหร่ ด้วยเชื้อเพลิงประเภทใด และให้หน่วยงานของรัฐหรือเอกชนดำเนินการ


โดยปกติ ถ้าเราตัดสินใจจะสร้างโรงไฟฟ้า (ที่ใช้ก๊าซธรรมชาติ ถ่านหิน เชื้อเพลิง) ในวันนี้ ก็ต้องรออีกประมาณ 5-7 ปี เราจึงจะได้ใช้งานจริง ดังนั้น การวางแผนล่วงหน้าจึงมีความจำเป็น


อนึ่ง ยังมีโรงไฟฟ้าที่ใช้พลังงานหมุนเวียน เช่น ลม ชีวะมวล ที่ใช้เวลาในการก่อสร้างไม่ถึงหนึ่งปี แต่ “กลุ่มผู้เชี่ยวชาญ” ไม่ให้ความสนใจ


บทความนี้จะสนใจที่เราควรจะมีโรงไฟฟ้าสักกี่เมกกะวัตต์เพียงประเด็นเดียวเท่านั้น

3. ความเป็นมาของแผนผลิตไฟฟ้า


เอกสารที่ผมนำมาวิจารณ์ในบทความนี้ มาจากเอกสารที่ชื่อยาว ๆ ว่า “แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.. 2552-2564 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 2” หรือเรียกสั้น ๆ ว่า “พีดีพี 2007: ปรับปรุงครั้งที่ 2” เป็นเอกสารที่นำเสนอต่อ “คณะกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา” (20 เมษายน 2552) ผู้เสนอคือ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)


แผนนี้ได้ผ่านความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2552 (รัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ) โดยก่อนหน้านี้ (9 มีนาคม 2552) ได้ผ่านความเห็นชอบ “คณะกรรมการพลังงานแห่งชาติ” ซึ่งเป็นคณะกรรมการที่ต้องรับผิดชอบโดยตรง


อนึ่ง โปรดสังเกตวันที่ 9 มีนาคม 2552 ไว้ให้ดีนะครับ เพราะเป็นวันที่นำไปสู่ความผิดพลาดที่สำคัญของการปรับปรุงครั้งที่ 2 ซึ่งผมจะวิจารณ์ต่อไป


ความจริงแล้ว แผนพีดีพี 2007 ได้ผ่านรัฐบาลพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ มาแล้ว (มิถุนายน 2550) และปรับปรุงครั้งที่ 1 ในปลายปี 2550 แต่ต้องมาปรับปรุงครั้งที่ 2 ก็เพราะเกิดสภาวะเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลก ดังที่เราทราบกันอยู่

โดยสรุป แผนนี้ได้ผ่านมาถึง 4 รัฐบาลแล้ว แต่ก็ยังมีความผิดพลาดที่ไม่น่าเกิดขึ้นจนได้

4. แผนผลิตไฟฟ้า ผิดพลาดตรงไหน


ผมมีข้อสังเกต 4 ข้อต่อไปนี้

หนึ่ง หลักยึดสำคัญที่ “กลุ่มผู้เชี่ยวชาญ” ของไทยใช้ในการวางแผนผลิตไฟฟ้าในอนาคตก็คือ การพิจารณาจากอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (หรืออัตราการเพิ่มของจีดีพี) เปรียบเทียบกับอัตราการเพิ่มของการใช้พลังงานไฟฟ้าในอดีต ซึ่งถือว่าเป็นหลักยึดหรือหลักการที่มีเหตุผลมาก


ปัจจุบัน ข้อมูลของไทยเราระบุว่า ถ้าอัตราการเพิ่มของจีดีพีเท่ากับ 1 หน่วย อัตราการเพิ่มของการใช้ไฟฟ้าจะเพิ่มขึ้นประมาณ 1.1 ถึง 1.2 หน่วย (นักวิชาการเรียกค่านี้ว่า Elasticity)


เมื่อต้องการจะคาดการณ์การใช้ไฟฟ้าในอนาคต ก็ต้องมาการคาดการณ์กันว่า อัตราการเพิ่มของจีดีพีในปีต่อ ๆ ไปจะเป็นเท่าใด จากนั้นก็นำไปคูณกับปริมาณพลังงานไฟฟ้าที่ใช้ในปีที่เพิ่งผ่านไปหมาดๆ คือปี 2551 แล้วคำนวณปีถัดไปเรื่อยๆ ตามที่เราต้องการ


อนึ่ง นิลส์ บอห์ร (Niels Bohr) นักฟิสิกส์รางวัลโนเบล (ปี 1922) ที่มีความเข้าใจทางสังคมอย่างลึกซึ้งว่า "มันเป็นการยากมากที่จะทำการพยากรณ์ได้อย่างถูกต้องโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมันเป็นเรื่องของอนาคต”


ดังนั้นการพยากรณ์จะถูกจะผิดไม่ใช่เรื่องที่สังคมติดใจ กลับเป็นเรื่องที่ทุกคนควรจะเข้าใจ และเห็นใจถึงความยากลำบากของนักวิชาการ แต่สิ่งที่ติดใจคือการใช้ข้อมูลมาคาดการณ์ต่างหาก


ต่อไปนี้ ท่านผู้อ่านโปรดอ่านอย่างช้า ๆ นะครับ แผนนี้ได้ปรับปรุงครั้งสุดท้ายเมื่อ วันที่ 9 มีนาคม 2552 ณ วันนั้น กระทรวงพลังงานทราบแล้วว่า ปริมาณไฟฟ้าที่ใช้จริงในปี 2551 ทั้งปีเท่ากับ 134,707 ล้านหน่วย (ที่มาhttp://www.eppo.go.th/info/stat/T05_03_03.xls)


แต่ในแผนนี้กลับใช้ตัวเลข 147,229 ล้านหน่วย ซึ่งสูงกว่าความเป็นจริงไปถึง 9.3% ดังนั้นผลลัพธ์ของการทำนายก็ผิดพลาดอย่างน้อย 9.3% แล้ว


คำถามก็คือ มันเกิดอะไรขึ้นกับการ “ปรับปรุงครั้งที่ 2” นี้ ทั้งๆ ที่ข้อมูลแท้จริงได้เกิดขึ้นเกือบ 70 วันมาแล้ว แต่ในแผนยังใช้ข้อมูลที่มาจากการคาดคะเนซึ่งสูงกว่าความเป็นจริง


มีทางที่เป็นไปได้ 3 ทางคือ (1) ลืมปรับตัวเลขใหม่ (2) ขี้เกียจจะปรับ (3) ยังไม่ได้รับข้อมูลใหม่ แต่ในทางที่สามนั้นเป็นสิ่งที่ไม่น่าจะเป็นไปได้ เพราะข้อมูลเหล่านี้อยู่ในมือของ กฟผ.และเป็นข้อมูลที่วัดได้ตามเวลาที่เกิดขึ้นจริง (real time)


อย่างไรก็ตาม การผ่านความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีชุดนี้ ได้แสดงให้สังคมเห็นแล้วว่า เป็นเพียงแค่พิธีกรรมที่คล้ายกับพิธีทอดผ้าบังสุกุลในงานประชุมเพลิงศพเท่านั้นเอง กล่าวคือ พระสงฆ์ทุกรูปพิจารณาแล้วรับทุกรูปทั้ง ๆ ที่บางครั้งไม่ถูกต้องตามพระธรรมวินัย


สอง ทั้ง ๆ ที่ทั่วโลกกำลังประสบกับสภาวะการถดถอยทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรงที่สุดตั้งแต่ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้นมา โดยมีการส่งสัญญาณให้เห็นแล้วหลายประการ เช่น การส่งออกรถยนต์ลดลงของไทยถึง 30% การใช้ไฟฟ้าระหว่างเดือนพฤศจิกายนถึงธันวาคม 2551 ได้ลดลงอย่างต่อเนื่อง (คือลดลงถึง 16% ในสองเดือน) แต่คณะผู้จัดทำแผนผลิตไฟฟ้าของไทยก็ยังไม่ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เท่าที่ควร


กล่าวคือ “เขา” คาดว่า “การใช้ไฟฟ้าในปี 2552 จะเพิ่มขึ้นจากปี 2551 (ที่เกินความจริงมาแล้ว) ถึง 2.19%” โดยนายกอภิสิทธิ์ฯ ก็บอกเองว่าอาจจะติดลบ 4-5 %


นอกจากนี้จากข้อมูลการใช้ไฟฟ้ารายเดือนของกระทรวงพลังงานเองยังระบุว่า ในช่วง 2 เดือนแรกของปี 2552 การใช้ไฟฟ้าในภาคอุตสาหกรรม (ที่มีสัดส่วนการใช้เกือบ 40% ของทั้งประเทศ) ภาคธุรกิจ และภาคที่อยู่อาศัย ได้ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนถึงร้อยละ 12.9, 12.0 และ 2.6 ตามลำดับ ในขณะที่ในปีปกติจะเพิ่มขึ้นทุกภาคส่วนประมาณ 3-6%


สาม ทำไม “เขา” ไม่นำบทเรียนจากวิกฤติต้มยำกุ้งในปี 2540 มาเป็นบทเรียนในครั้งนี้บ้าง


ไม่ใช่เรื่องเสียเวลาหรือยากเย็นอะไรเลยที่จะค้นข้อมูลการใช้ไฟฟ้าในปี 2540


เช่นเดียวกันครับ จากแหล่งข้อมูลเดิมพบว่า ต้องใช้เวลานานถึงประมาณ 34 เดือน การใช้ไฟฟ้าจึงกลับมาสู่ระดับเดิม (7,187 ล้านหน่วยในมิถุนายน 2540 มาเป็น 7,173 ล้านหน่วยใน เมษายน 2543)


ดังนั้น เราควรตั้งคำถามว่า เป็นไปได้ไหมที่การใช้ไฟฟ้าของประเทศไทยในปี 2554 จะเท่ากับปี 2551 หากคำถามนี้เป็นไปได้ เราพบว่าการใช้ไฟฟ้าในแผนการผลิตไฟฟ้าดังกล่าวจะสูงเกินจริงถึง 27,948 ล้านหน่วย หรือประมาณ 1 ใน 5 ของไฟฟ้าที่ใช้ในปี 2551 ทั้งประเทศเลยทีเดียว


สี่ เนื่องจากหน่วยงานของรัฐไม่เคยมีการ “ประเมินผลหลังโครงการ” ผมจึงย้อนไปตรวจสอบการพยากรณ์ในแผน “พีดีพี 2001” พบว่ามีการพยากรณ์ว่าในปี 2551 จะมีการใช้ไฟฟ้าถึง 162,438 ล้านหน่วย (หลักฐานจาก “ภาระที่ไม่จำเป็นด้านพลังงาน” เขียนโดย ประสาท มีแต้ม) แต่พบว่าในปีดังกล่าวมีการใช้จริงเพียง 134,707 ล้านหน่วย หรือการคาดการณ์สูงกว่าความเป็นจริงถึง 20.6%

นี่เป็นผลเพียง 8 ปี ไม่ใช่ 15 ปีตามที่ “เขา” พยากรณ์ และพยากรณ์ในช่วงที่ไม่มีวิกฤติใดๆ

5. ค่าไฟฟ้าของคนไทยต่อรายได้และความเสียหายจากแผน


ในหัวข้อนี้ ผมมี 2 ประเด็นที่จะนำเสนอ

หนึ่ง เรื่องค่าใช้จ่ายด้านค่าไฟฟ้าของคนไทย ในปี 2551 คนไทยทั้งประเทศใช้ไฟฟ้าคิดเป็นเงินปีละ 3 แสน 8 หมื่น 3 พันล้านบาท โดยที่รายได้ประชาชาติเท่ากับ 9.103 ล้านล้านบาท


หรือโดยเฉลี่ย คนที่มีรายได้เดือนละ 1 หมื่นบาทจะเสียค่าไฟฟ้าถึง 420 บาทต่อเดือน อนึ่ง คนที่มีรายได้เดือนละไม่ถึง 1 หมื่น 5 พันบาท เป็นคนที่รัฐบาลอภิสิทธิ์ให้ความช่วยเหลือ แสดงว่าคนพวกนี้พอจะจัดเป็นพวกที่มีรายได้น้อย ดังนั้นค่าไฟฟ้าที่แพงขึ้นในแต่ละบาทจึงมีความหมายต่อพวกเขาพอสมควร


สอง ถ้าแผนผลิตไฟฟ้าสูงเกินจริงแล้วจะทำให้ค่าไฟฟ้าแพงขึ้นอีกอย่างไร โดยปกติสัญญาการก่อสร้างโรงไฟฟ้าจะเป็นแบบ “ไม่ใช้ก็ต้องจ่าย” ถ้าการพยากรณ์ให้ผลสูงกว่าความเป็นจริงมาก ก็จะมีผลให้ฝ่ายปฏิบัติการต้องเตรียมสร้างโรงไฟฟ้าไว้มากเกินความจำเป็น ดังนั้นค่าไฟฟ้าก็จะต้องแพงขึ้นโดยอัตโนมัติ เพราะกิจการพวกนี้สะกดคำว่า “ขาดทุนและรับผิดชอบ” ไม่เป็น แต่จะไม่ขอกล่าวถึงรายละเอียดในที่นี้

6. สรุป


ตามที่ได้เรียนมาแล้วว่า ผมอยากให้สังคมช่วยกันตรวจสอบการทำงานของภาครัฐอย่างต่อเนื่องและจริงจัง รวมทั้งช่วยตรวจสอบเนื้อหาสาระในบทนี้ของผมด้วย


การเมืองภาคประชาชนจะเข้มแข็งได้ ก็ต้องช่วยกันหลายๆ ฝ่ายครับ แต่สำหรับผู้วางแผนผลิตไฟฟ้าชุดนี้นั้น ผมหมดความไว้วางใจมานานด้วยเหตุผลที่กล่าวมาแล้วครับ

ข่าวส่งเสริมคนดี

จำนวนผู้เข้าเยี่มมชม

link to affordable web hosting
Powered by web hosting provider .

สถิติการเข้าชม DMNEWS

eXTReMe Tracker