สุรพศ ทวีศักดิ์
ความขัดแย้งและความรุนแรงทางการเมืองที่เกิดขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่า โดยเฉพาะปัญหาความขัดแย้งที่นำไปสู่การแบ่งฝักฝ่ายของคนในสังคมออกเป็นฝ่ายเหลือง-แดง อย่างชัดเจนกว่าสามปีมานี้ เป็นปัญหาท้าทายสังคมไทยเป็นอย่างยิ่งว่าจะหา “ทางออก” กันได้อย่างไร
บทความนี้ เป็นความพยายามหนึ่งในการหาคำตอบต่อปัญหาท้าทายดังกล่าว โดยเสนอ “วิถีพุทธ” เป็นทางออกให้ลองพิจารณาร่วมกัน
ถ้าถามว่า “วิถีพุทธคืออะไร?” คำตอบที่น่าจะทำให้เรามั่นใจได้มากที่สุดคือคำตอบที่สอดคล้องกับสัจธรรมที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้คือ “อริสัจ
1. ความจริงของทุกข์หรือปัญหาต่างๆ (ทุกขสัจจะ) เป็นความจริงที่เราต้องรู้หรือเข้าใจอย่างถ่องแท้ว่าทุกข์หรือปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้นนั้น คืออะไร มีขอบเขต และผลกระทบอย่างไร
2. ความจริงของสาเหตุแห่งทุกข์หรือปัญหาต่างๆ (สมุทัยสัจจะ) เป็นความจริงที่เราต้องรู้และแก้ไขให้ได้ หรือจัดการแก้สาเหตุที่แท้จริงของปัญหาให้ได้
3. ความจริงของความพ้นทุกข์หรือเป้าหมายของการแก้ปัญหา (นิโรธสัจจะ) เป็นความจริงที่เราต้องบรรลุถึง หรือทำให้เกิดความชัดเจนว่าเป้าหมายในการแก้ปัญหาคืออะไร ประโยชน์สุขที่แท้จริงที่เราต้องการคืออะไร
4. ความจริงของทางพ้นทุกข์หรือทางแก้ปัญหา (มัคคสัจจะ) เป็นความจริงของทางแก้ปัญหาที่เราต้องสร้างขึ้นและใช้ปฏิบัติเพื่อขจัดสาเหตุที่แท้จริงของปัญหา และบรรลุเป้าหมาย หรือประโยชน์สุขที่แท้จริง
ประเด็นสำคัญของวิถีพุทธตามหลักอริยสัจ 4 คือ ในการจะแก้ปัญหาได้สำเร็จ เราต้องรู้เข้าใจ “สัจจะ” หรือความจริงของปัญหา สาเหตุ เป้าหมาย และแนวทาง โดยมีวิธีปฏิบัติต่อความจริงแต่ละอย่างแตกต่างกันออกไป ความจริงของปัญหาจะต้องถูกระบุออกมาให้ชัดแจ้งว่าคืออะไร สาเหตุของปัญหาจะต้องถูกขจัดให้หมดไป เป้าหมายของปัญหาจะต้องบรรลุถึง และแนวทางแก้ปัญหาจะต้องสร้างขึ้นและใช้ปฏิบัติให้สามารถขจัดสาเหตุของปัญหาและบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ได้จริง
หากพิจารณาจากหลักคิดของวิถีพุทธดังกล่าว เราอาจได้คำตอบต่อปัญหาความขัดแย้ง ดังนี้
1. สังคมจะต้องทำความเข้าใจร่วมกันว่าปัญหาขัดแย้งในเวลานี้คืออะไร เช่น ควรจำแนกว่า อะไรคือปัญหาของตัวบุคคล สถาบัน (สถาบันการเมือง สถาบันองคมตรี สถาบันทหาร สื่อมวลชนฯลฯ) อะไรคือปัญหาความไม่เป็นประชาธิปไตย ความไม่เป็นธรรม ฯลฯ ที่เชื่อมโยงเป็นเหตุปัจจัยกลายเป็นพลวัตแห่งสถานการณ์ความขัดแย้งอยู่ในเวลานี้ และปรากฏการณ์ความขัดแย้งดังกล่าวมีผลกระทบด้านลบด้านบวกต่อสังคมโดยรวมอย่างไร แสดงถึงพัฒนาการประชาธิปไตย หรือจะเป็นจุดเปลี่ยนของสังคมการเมืองไทยโดยรวมอย่างไร
2. ต้องระบุสาเหตุที่แท้จริงของปัญหา และตระหนักร่วมกันว่าจะต้องขจัดสาเหตุที่แท้จริงของปัญหานั้นให้ได้ เช่น การทุจริตของตัวบุคคล การแสดงบทบาทไม่เหมาะสมของบุคคลในสถาบันต่างๆ ระบบที่เป็นปัญหา หรือโครงสร้างอำนาจของสถาบันนั้นๆเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประชาธิปไตยและการสร้างความเป็นธรรมอย่างไร โครงสร้างอำนาจ/วัฒนธรรมทางสังคม เศรษฐกิจ การเมืองที่เป็นอยู่เป็นโครงสร้างที่ทำให้เกิดความไม่เป็นธรรม และไม่เป็นประชาธิปไตยอย่างไร ฯลฯ สาเหตุทั้งปวงของปัญหาจะต้องถูกแก้ไขอย่างจริงจังเป็นรูปธรรม
3. สังคมต้องมี “อุดมการณ์ร่วมกัน” ว่า ประชาธิปไตยที่แท้จริงหรือความเป็นธรรมที่จะเกิดขึ้นหลังจากการแก้สาเหตุของปัญหา (ที่สำคัญๆ) ได้เสร็จสิ้นมี “หน้าตา” เป็นอย่างไร และตระหนักร่วมกันว่าเราจำเป็นต้องเปลี่ยนสังคมของเราให้มีหน้าตาเป็นประชาธิปไตยที่มีความเป็นธรรมอย่างแท้จริง
4. มัคคสัจจะหรือทางแก้ปัญหาที่ถูกต้อง ถ้าเป็นปัญหาของตัวบุคคลที่ทำผิดกฎหมายไม่ว่าจะเป็นคุณ
ควรถือเป็น “วาระแห่งการเปลี่ยนแปลงสังคมไทย” ที่ต้องร่วมกันทำ “ความจริงให้ปรากฏ” การบังคับใช้กฎหมายให้เป็นไปตาม “หลักนิติรัฐ” และ “ปรับรื้อ” โครงสร้างอำนาจที่ไม่เป็นธรรมต่างๆ พร้อมกับสร้าง “วัฒนธรรมประชาธิปไตย” ผ่านเวทีปฏิรูปการเมือง เวทีสาธารณะอื่นๆ กิจกรรมและการเคลื่อนไหวทางการเมืองของภาคประชาชน เวทีสื่อทุกประเภท รวมทั้งการปฏิรูปการศึกษาครั้งใหม่ที่ต้องเน้นการเรียนรู้เพื่อส่งเสริมประชาธิปไตยและความเป็นธรรมทางสังคมให้มากขึ้น
“ปัญหาความยากจน” “สำนึกทางชนชั้น” “ความไม่เป็นธรรม” ด้านต่างๆควรถูกทำให้เป็น “ประเด็นสาธารณะ” ที่จะช่วยให้สังคมเกิดความตระหนักรู้ร่วมกันอย่างกว้างขวาง เพื่อให้เกิดการผลักดันนโยบายที่เป็นรูปธรรมในการแก้ปัญหาดังกล่าว
มรรคสัจจะตามวิถีพุทธที่เรียกว่า “มัชฌิมาปฏิปทา” ซึ่งย่อลงเป็น “ไตรสิกขา” ศีล สมาธิ ปัญญา นั้น หากมองในเชิงประยุกต์กับปัญหาทางสังคมการเมืองในขณะนี้ “ศีล” ก็คือ “กติกาที่เป็นธรรม” ในการอยู่ร่วมกันซึ่งสังคมจะต้องร่วมกันสร้างขึ้นตามกระบวนการประชาธิปไตย “สมาธิ” คือ “เจตจำนงร่วมที่แน่วแน่” ทางสังคมที่ต้องการให้เกิดความเป็นธรรม ประชาธิปไตย (ที่ก้าวหน้าขึ้นหรือที่แท้จริง?) และสันติภาพ “ปัญญา” คือ “การเข้าใจความจริงร่วมกัน” ผ่านการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้วยเหตุผลในสังคมที่มีเสรีภาพในการพูดความจริง และเคารพประชาชนในฐานะที่ทุกคนต่างเป็นมนุษย์ที่มีวิจารณญาณด้วยตนเองในการวินิจฉัยความจริง และ ถูก ผิด ดี ชั่ว
ที่กล่าวมานี้เป็นเพียง “แง่คิด” จากวิถีพุทธตามการตีความของผู้เขียน อาจถูกหรือผิดก็ได้ ไม่ใช่ “สูตรสำเร็จ” เป็นเพียงการเสนอโดยหวังให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์แลกเปลี่ยนกันหลายๆด้าน เพื่อหา “ทางออก” ที่ดีกว่าและเป็นไปได้ให้กับปัญหาความขัดแย้งที่ท้าทายสังคมไทยอยู่ในขณะนี้