การเมือง |
พันธมิตรฯยันไม่ใช่ปชป.สาขา2 ขอ3เดือนพร้อมขับเคลื่อนพรรค
วานนี้ (26 พ.ค.) นายสุริยะใส กตะศิลา ผู้ประสานงานพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เปิดเผยว่า หลังการจัดงานประชุมสภาพันธมิตรฯและงานรำลึกครบรอบปีแห่งการต่อสู้ 193 วัน ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 24-25 พ.ค.ที่ผ่านมา และพันธมิตรมีมติอย่างท่วมท้นให้ตั้งพรรคการเมืองนั้น เมื่อวานนี้ ทาง 5 แกนนำได้มีการหารือและประเมินผลการจัดงานที่ผ่านมา ทำให้มีความมั่นใจที่จะขับเคลื่อนมากขึ้น เพราะแกนนำไม่คิดว่าจะได้รับแรงหนุนจากประชาชนมากมายเช่นนี้
นายสุริยะใส กล่าวว่ากระบวนการต่อจากนี้ เราจะต้องฟังเสียงประชาชนให้มากที่สุดในการหาข้อยุติในด้านต่างๆ ซึ่งจะถือเป็นมิติใหม่ทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องออกแบบ จัดโครงสร้างพรรค และเรื่องตัวบุคลากร เราจะหาข้อยุติให้ได้เร็วที่สุด คาดว่าไม่น่าจะเกิน 3 เดือน ซึ่งภายใน 1 เดือนนี้ เชื่อว่าจะได้ข้อยุติในเรื่องชื่อพรรค จากนั้นก็ดำเนินการจดทะเบียนจัดตั้งพรรค ขณะเดียวกันเราก็ให้ฝ่ายกฎหมายดูในเรื่องข้อจำกัดต่างๆ ด้วย เพื่อความเรียบร้อย
สำหรับปฏิกิริยาจากพรรคการเมืองต่างๆ หลังมีความชัดเจนว่า พันธมิตรฯจะตั้งพรรคการเมืองนั้น เราไม่ได้สนใจอะไรมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการสบประมาท หรือเสียงที่กระแนะกระแหน เพราะเรามีความตั้งใจจริงที่จะเข้ามาแก้ปัญหาของประเทศชาติ
ส่วนกรณีที่พรรคฝ่ายค้านวิพากษ์วิจารณ์ว่า พรรคพันธมิตรฯ คือ สาขาของพรรคประชาธิปัตย์นั้น นายสุริยะใส ยืนยันว่า เป็นไปไม่ได้ เพราะจุดยืนและที่มาของเราแตกต่างกันมาก เรามุ่งสู่การเมืองใหม่ การเมืองที่สะอาด และการตั้งพรรคของพันธมิตรฯ ก็ไม่ใช่เกิดจากความผิดหวังกับพรรคประชาธิปัตย์ นั่นเป็นเพียงปัจจัยหนึ่งเท่านั้น แต่เรามาจากฉันทามติของประชาชน และถ้าพรรคประชาธิปัตย์ ยังไม่มีการปรับตัวให้พ้นจากการเมืองเก่า ที่อยู่ในวังวนของผลประโยชน์ การทุจริต คอร์รัปชั่น ในอนาคตเราอาจเป็นคู่ต่อสู้ในทางการเมืองกัน
ชูธงขจัดนักการเมืองชั่ว
นายสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ ส.ส.สัดส่วน พรรคประชาธิปัตย์ และแกนนำกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย กล่าวถึงกระแสข่าวที่ว่าตนจะย้ายไปอยู่พรรคพันธมิตรฯที่จะตั้งขึ้นใหม่ว่า ขณะนี้ยังไม่อยากพูดถึงเรื่องดังกล่าว ขอรอให้มีความชัดเจนอีกสักระยะ ส่วนเหตุผลที่กลุ่มพันธมิตรฯ ตั้งพรรคการเมืองนั้น สามารถมองได้ 2 มิติ คือ
1. ป้องกันกลุ่มนักการเมือง และพรรคการเมืองที่คิดทำลายชาติ ไม่ให้นำการเมืองรูปแบบเก่าๆกลับมา และสร้างรูปแบบการเมืองใหม่ให้เกิดขึ้น รวมทั้งกันพรรคที่ถูกยุบกลับมามีอำนาจอีกครั้ง
2. การตั้งพรรคพันธมิตรฯ เพื่อต้องการทำงานทางการเมืองกับพรรคที่ดี และสร้างความสมดุลให้เกิดขึ้นในสังคม แต่จะไม่ชูธงแข่งกับพรรคประชาธิปัตย์ แต่จะสู้กับนักการเมืองที่ไม่ดี ให้หมดไปจากสังคมไทย
ผู้สื่อข่าวถามว่า มองหรือไม่ว่า มวลชนของกลุ่มพันธมิตรฯ และพรรคประชาธิปปัตย์เป็นกลุ่มเดียวกัน และอาจจะเป็นการแย่งฐานเสียงกันได้ นายสมเกียรติ กล่าวว่า ประชาชนมีวิจารณญาณเพียงพอในการแยกแยะ เพราะฐานเสียงมีความใกล้เคียงกัน และประชาชนสามารถเป็นสมาชิกพรรคได้หลายพรรค แต่สุดท้ายแล้ว ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร
สุเทพไม่รู้สมเกียรติคุยกับมาร์ค
นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี และเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่มีข่าวว่า นายสมเกียรติ ไปแจ้งให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รับทราบว่าจะลาออกจากพรรค หากพันธมิตรฯ ตั้งพรรคแล้วนั้น นายสุเทพ กล่าวว่า ไม่ทราบ เพราะไม่ได้คุยกับตน ต้องไปถามนายสมเกียรติ เอง
ส่วนที่พันธมิตรฯประกาศคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญ จะกลายเป็นความขัดแย้งใหม่ในสังคมหรือไม่ นายสุเทพ กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ที่กระทบคนไทยทั้งประเทศ ตนรู้สึกว่าคงจะทำไม่ได้ง่ายๆหากคณะกรรมการฯสรุปประเด็นชัดแล้วว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้มีประเด็นใดที่เป็นปัญหาบ้าง และจะหาวิธีการไปทำประชามติ ถามความเห็นประชาชนก่อน แล้วค่อยกลับมาร่างรัฐธรรมนูญใหม่ บางคนเสนอว่า แทนที่จะแก้ไขบางมาตรา ทำไมไม่ทำเหมือนรัฐธรรมนูญ 2540 คือ ยกร่างใหม่ทั้งฉบับ สิ่งใดที่เห็นตรงกันก็บัญญัติไว้ สิ่งใดไม่เห็นควร ก็ไม่ต้องบัญญัติ มันก็จะไม่ทะเลาะกันมาก มันก็แล้วแต่ เพราะเรื่องนี้มีความหลากหลายมาก ฉะนั้นต้องทำใจตั้งแต่ตอนนี้ว่า เรามีความเห็นที่ไม่ตรงกันได้ แต่ต้องไม่โกรธกัน
เมื่อถามว่าพันธมิตรฯ ตั้งพรรคเพื่อเข้าสู่ระบบรัฐสภา แต่แกนนำพันธมิตรฯรุ่น 2 ยังจะขับเคลื่อนพันธมิตรฯ ในการชุมนุมต่อไปนั้น นายสุเทพ กล่าวว่า ขอเชิญชวนทุกฝ่ายทำงานในระบบ เพราะจะดีที่สุดโดยขอให้คิดถึงประเทศในระยะยาว หากทุกอย่างมีระบบที่ชัดเจน และไทยก็ประพฤติเป็นสากลเหมือนประเทศต่างๆ คนอื่นๆ จะเข้าใจได้ เพราะการไปมาหาสู่ การท่องเที่ยว และการลงทุนจะดีขึ้น
ไม่ห่วงส.ส.ย้ายพรรค
นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่าพันธมิตรฯ เพิ่งตัดสินใจตั้งพรรคกันเมื่อวันที่ 25 พ.ค.ซึ่งยังไม่มีความชัดเจน และ ทางพรรคประชาธิปัตย์ก็ยังไม่มีการคุยกับนายสมเกียรติ ว่าจะย้ายพรรคหรือไม่ แต่การเคลื่อนไหวทางการเมือง ต้องถือว่าเป็นเรื่องปกติ แต่ละคนสามารถเลือกที่จะไปสังกัดอยู่พรรคใดก็ได้ในการเลือกตั้งแต่ละครั้ง และพรรคประชาธิปัตย์ก็ไม่เคยปิดกั้นคนที่ต้องการตัดสินใจทางการเมือง แต่เรายังเชื่อมั่นว่า ส.ส.ส่วนใหญ่ของพรรคยังคงทำงานอยุ่กับพรรคต่อไป และคงจะมีหน้าใหม่เข้ามาร่วมงานกับพรรคอีกจำนวนมาก เพราะนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้มาเป็นนายกฯ และทำงานแล้วมีคนรุ่นใหม่มาสมัครทำงานกับพรรคเป็นจำนวนมาก
เมื่อถามว่า เมื่อพันธมิตรฯตั้งพรรคขึ้นมา แนวทางการควบคุมดูแลสื่อจะทำอย่างไร จะปล่อยให้สถานีเอเอสทีวี ดำเนินการไปตามปกติหรืออย่างไร นายสาทิตย์ ตอบว่าไม่ว่าใครตั้งพรรคขึ้นมาสถานภาพก็เปลี่ยนไป ก็ต้องอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์ระเบียบของกกต. เรายังหวังว่าจะมีการใช้กฎเกณฑ์กติกา กันอย่างเป็นธรรม ส่วนกรณีการใช้สื่อ ก็ต้องดูว่าเป็นการเอารัดเอาเปรียบคนอื่น หรือผิดกฎเกณฑ์กติกาใดๆหรือไม่
ยันไม่มีฮั้วพันธมิตรฯ
ส่วนที่ ฝ่ายค้านมองว่า พรรคของพันธมิตรฯ จะเป็นพรรคประชาธิปัตย์สาขาสอง นายสาทิตย์ ตอบว่า เป็นเรื่องที่พันธมิตรฯ ต้องชี้แจงเอาเอง เพราะพรรคประชาธิปัตย์ไม่เคยตั้งสาขาอยู่แล้ว ประชาธิปัตย์มีความเป็นอิสระในการดำเนินนโยบายของพรรค และเชื่อว่าพันธมิตรฯ ก็มีอิสระเช่นเดียวกัน ส่วนที่เกรงว่าจะมีการฮั้วกันในสนามเลือกตั้งนั้น ยุคนี้การฮั้วกันในการเลือกตั้งไม่ได้ เพราะอยู่ภายใต้การติดตามตรวจสอบของทั้งกกต. สื่อมวลชน และพรรคการเมืองอื่น ซึ่งการฮั้วเลือกตั้งมันผิดกฎหมายการเลือกตั้ง ทำไม่ได้
นพ.บุรณัชย์ สมุทรักษ์ โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึง ปัญหาส.ส.ภาคกลางของพรรค มีแนวโน้มจะย้ายไปใส่เสื้อสีน้ำเงิน ของพรรคภูมิใจไทยว่า เป็นเรื่องธรรมดาเมื่อมีการเลือกตั้งก็ต้องมีคนทั้งไหลเข้า ไหลออก ซึ่งส่วนใหญ่จะไหลเข้ามาในพรรคประชาธิปัตย์มากกว่า และจากการพูดคุยกับ นายประมวล เอมเปีย ส.ส.ชลบุรี และนายอภิชาต สุภาแพ่ง ส.ส.เพชรบุรี ทั้ง 2 คนก็มีความรักในพรรคและรักในพื้นที่ ทั้งนี้ จากการพูดคุยกับ นายสมเกียรติ พงษไพบูลย์ และนายไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ ส.ส.สัดส่วน ทั้ง 2 คนยังยืนว่า ยังสนุกกับการทำงาน และเห็นว่าจำเป็นต้องช่วยกัน และยังมั่นใจในตัวนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และการทำงานในพรรคประชาธิปัตย์อยู่
ปัดพรรคพันธมิตรฯสาขาปชป.
นายเทพไท เสนพงศ์ โฆษกประจำตัวหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีพรรคเพื่อไทยออกมาแสดงความคิดเห็นในทำนองว่า พรรคพันธมิตรฯ เป็นพรรคสาขาของพรรคประชาธิปัตย์ว่า อาจทำให้คนเข้าใจผิดได้ เพราะการตั้งพรรคนั้น ถือเป็นสิทธิ์ของพันธมิตรฯ และเป็นสิ่งดีที่จะเสนอนโยบายใหม่ๆ เพื่อให้ประชาชนได้เลือก
"การที่พรรคเพื่อไทย พาดพิงพรรคประชาธิปัตย์ให้ประชาชนเห็นว่า พรรคประชาธิปัตย์ และพรรคของกลุ่มพันธมิตรฯ เป็นพวกเดียวกันนั้น ขอยืนยันว่าไม่ได้เป็นพวกเดียวกัน ซึ่งไม่ใช่เรื่องประหลาดอะไรทางการเมือง ที่พรรคเพื่อไทยใส่ร้ายว่าพรรคพันธมิตรฯ เป็นสาขาของพรรคประชาธิปัตย์นั้นไม่เป็นความจริง เราเล่นการเมืองอย่างตรงไปตรงมา พรรคการเมืองไม่ใช่ธุรกิจทางการเมือง ไม่เคยตั้งพรรคนอมินี หรือควบรวมพรรคการเมือง เหมือนกันการควบรวมบริษัททางธุรกิจ เหมือนบางพรรคในอดีต การที่พรรคเพื่อไทย ใส่ร้ายป้ายสีมานั้น วันนี้คำตอบก็ชัดเจนแล้ว ซึ่งต่างจากความเคลื่อนไหวของพรรคเพื่อไทย และกลุ่มนปช. ที่ประชาชนยังสงสัยในความสัมพันธ์ว่าเป็นอย่างไร ถ้าคิดว่าเป็นคนละกลุ่มกัน ก็ขอให้ กลุ่มนปช. ตั้งพรรคการเมืองขึ้นมาได้ แต่หากเป็นกลุ่มเดียวกัน ก็ขอให้ประกาศให้ชัดเจนไปเลย" นายเทพไทกล่าว
ยอมรับ"ชินวัตร" ตกฮวบ
พล.อ.ชัยสิทธิ์ ชินวัตร อดีต ผบ.สส. กล่าวถึงการตั้งพรรคของกลุ่มพันธมิตรฯว่า เป็นการดีที่คนหมู่มาก มาตั้งพรรคการเมือง ดีกว่าก่อม็อบ มีอะไรก็พูดกันในสภา ไม่ใช่มาพูดกันข้างถนน ซึ่งเมื่อตั้งพรรคแล้วก็อย่ามาเดินขบวนก่อม็อบ เมื่อถามว่าพันธมิตรฯ ประกาศว่าแม้ตั้งพรรคแล้วก็ยังมีการเดินเกมนอกสภา พล.อ.ชัยสิทธิ์ กล่าวว่า มันน่าเกลียด เมื่อตั้งพรรคแล้วก็ต้องยอมรับในระบอบรัฐสภา ถ้าจะมาตั้งม็อบอีกก็คล้ายกับเป็นเผด็จการ ถ้าเป็นเช่นนี้การเมืองก็จะถอยหลัง เพราะวันนี้ก็ถอยหลังมาเยอะแล้ว
มองการเป็นหัวหน้าพรรคของนายสนธิ ลิ้มทองกุล อย่างไร พล.อ.ชัยสิทธิ์ กล่าวว่า ถ้าพูดอย่างเดียวก็เป็นหัวหน้าพรรคที่ดีได้ แต่ประวัติเป็นอย่างไร ไม่รู้ แต่เขามีสิทธิ์เพราะเป็นคนเก่ง อาจมีขีดความสามารถ พูดคำเดียวม็อบมากันเต็มไปหมด แต่น่าเป็นห่วงเพราะมันชี้นำได้
เมื่อถามว่ามองการทำงานของพรรคประชาธิปัตย์ 4 เดือนที่ผ่านมาอย่างไร พล.อ.ชัยสิทธิ์ กล่าวว่า เมื่อเขารู้ล่วงหน้าว่าเศรษฐกิจซบเซา แต่ก็อยากเป็นรัฐบาล ก็ต้องรับผิดชอบ ไม่ใช่รับผิดชอบแค่พรรคของคุณ แต่ต้องรับผิดชอบประชาชนทั้งประเทศ จะต้องทำงานสุดฝีมือ เพื่อพิสูจน์ตัวเองเพราะอยากเป็นรัฐบาล
เมื่อถามว่า ทหารเก่าหลายคนเตรียมลงเล่นการเมือง พล.อ.ชัยสิทธิ์ กล่าวว่า ทหารเล่นการเมืองไม่เห็นรุ่งมีแต่เสียคน เมื่อถามว่า อดีตทหาร คมช. ก็สนใจเล่นการเมือง พล.อ.ชัยสิทธิ์ กล่าวว่า ถ้าเล่นเหมือนชาวบ้าน ก็ไม่มีปัญหา แต่ถ้าเล่นแล้วเอาทหารมาเป็นเครื่องมือ ไปข่มขู่ ไปรุก ไปชี้นำ คิดว่าไม่ถูกต้องและอันตราย อำนาจแฝงที่เคยใช้ก็เลิก
เมื่อถามว่าได้หารือกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กับสถานการณ์การเมืองหรือไม่ พล.อ.ชัยสิทธิ์ กล่าวว่า พ.ต.ท.ทักษิณ คงไม่ว่าง และก็ไม่ได้คุยกัน การที่ พ.ต.ท.ทักษิณ เงียบไปในช่วงนี้ ถือว่าเป็นการดี เมื่อถามว่า ในฐานะคนตระกูลชินวัตร จะเข้าไปช่วยงานพรรคเพื่อไทยหรือไม่ พล.อ.ชัยสิทธิ์ กล่าวว่า เวลานี้ตระกูลชินวัตรตกฮวบเหมือนกัน หากให้เป็นที่ปรึกษา ก็ช่วยสังคมได้ ตระกูลของตนจะได้เบาลงมาหน่อย พูดไปก็บอกว่ามึงก็ชินวัตร ชินวัตรเป็นคนดีไม่ได้หรืออย่างไร คนทำดีไม่ได้ดีน่าเป็นห่วง คนทำดีแทบตายไล่ออกนอกประเทศมีที่ไหน ทั้งนี้อยากเรียกร้องความเป็นธรรมให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ถ้าบ้านเมืองให้ความยุติธรรมกับเขา เรื่องก็จบ
สนธิ"เหมาะหัวหน้าพรรค
นายจตุพร พรหมพันธุ์ แกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) กล่าวว่า ตนยินดีที่พันธมิตรฯ ตั้งพรรคการเมือง และเมื่อลงเลือกตั้ง ก็จะทำให้รู้ว่าได้รับความนิยมจากประชาชนมากน้อยแค่ไหน และเห็นว่าการตั้งพรรคของกลุ่มพันธมิตรฯ น่าจะส่งผลกระทบต่อพรรคประชาธิปัตย์ มากกว่าพรรคเพื่อไทย เพราะมีฐานเสียงอยู่กลุ่มเดียวกัน
"ผมจะไม่ทวงถามถึงคำสัตย์ ที่แกนนนำพันธมิตรฯ บางคน เคยพูดไว้ว่าจะไม่รับตำแหน่งทางการเมือง เพราะเป็นหน้าที่ของแต่ละคน ที่จะต้องอธิบายกับสังคมให้ได้ ส่วนคนที่จะมาเป็นหัวหน้าพรรค เห็นว่านายสนธิ ลิ้มทองกุล มีความเหมาะสมที่สุด เพราะเป็นสัญลักษณ์ และเป็นเหมือนแม่เหล็กของกลุ่มพันธมิตรฯ อยู่แล้ว" นายจตุพรกล่าว
ด้านนายอริสมันต์ พงษ์เรืองรอง แกนนำนปช. กล่าวว่า กลุ่มพันธมิตรฯ ควรต้องแสดงจุดยืนที่ชัดเจนเรื่อง “ การเมืองใหม่” ที่นำเสนอ ว่าคืออะไร จะเป็นแบบ 70:30 ที่เคยนำเสนอไว้หรือไม่ หากมีการแก้รัฐธรรมนูญ ที่เป็นประชาธิปไตยแล้วพันธมิตรฯจะยอมรับ และลงเลือกตั้งหรือไม่
“ธานี"นัดประชุมคดีพันธมิตรฯ
พล.ต.อ.ธานี สมบูรณ์ทรัพย์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เปิดเผยกรณีที่ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี ออกมาระบุให้ ตร.จัดทำบัญชีรายชื่อผู้มีอิทธิพลนั้น พล.ต.อ.ธานี ยืนยันว่าได้มีการทำบัญชีรายชื่อมานานแล้ว และในวันนี้ (27 พ.ค.) จะมีการเรียกประชุมติดตามความคืบหน้า คดีกลุ่มผุ้ชุมนุมพันธมิตรฯ ปิดล้อมทำเนียบรัฐบาล สนามบินดอนเมือง และเหตุการณ์สลายการชุมนุม เมื่อวันที่ 7 ต.ค.51 ซึ่งทางผู้บัญชาการตำรวจนครบาล จัดทำรายชื่อสืบจับแล้ว ก็จะเร่งจับกุมต่อไป
อย่างไรก็ตาม สำหรับการเร่งรัดเพื่อดำเนินคดีต่อกลุ่มพันธมิตรฯ เมื่อวันที่ 25 พ.ค.ที่ผ่านมา พล.ต.ท.วรพงษ์ ชิวปรีชา ผบช.น.ได้ทำการประกาศสืบจับ เหลือง-แดง โดยประกาศสืบจับดังกล่าว แบ่งเป็น 2 แผ่น คือ ประกาศ สืบจับสีเหลือง และประกาศสืบจับสีแดง เป็นประกาศสืบจับบุคคลที่ไม่ทราบชื่อจากเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมืองที่ผ่านมา ซึ่งแต่ละคนละมีรางวัลนำจับรายละ 50,000 บาท แบ่งเป็นประกาศสืบจับสีเหลือง เป็นชายไทยไม่ทราบชื่อ จำนวน 20 ราย ประกาศสืบจับสีแดง จำนวน 29 ราย ซึ่งสามารถจับกุมได้แล้วจำนวน 2 ราย
ขณะที่การดำเนินการเพื่อเร่งรัดดำเนินคดีกับกลุ่มพันธมิตรฯ และบรรดาแกนนำ เป็นที่น่าสังเกตว่าได้เกิดขึ้นหลังจากที่พันธมิตรฯ มีมติตั้งพรรคการเมือง
เปลี่ยนคนทำคดีเพื่อความเหมาะสม
พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รองผบ.ตร.) ในฐานะโฆษกตร. กล่าวถึง คดีที่กลุ่มพันธมิตรฯปิดล้อมรัฐสภาในวันที่ 7 ต.ค.51 ว่ากรณีที่คดีนี้มีการเปลี่ยนหัวหน้าคณะพนักงานสอบสวนถึง 4 คน ตั้งแต่ พล.ต.อ.จงรัก จุฑานนท์ รองผบ.ตร. กระทั่งมาเป็น พล.ต.อ.ธานี สมบูรณ์ทรัพย์ รองผบ.ตร. นั้น เชื่อว่าเป็นการเปลี่ยนเพื่อความเหมาะสม หลังจากตร.เปลี่ยนการมอบหมายหน้าที่การงาน ซึ่งเดิมที พล.ต.อ.จงรัก รับผิดชอบกองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) จึงมอบหมายให้ควบคุมคดีนี้
ต่อมา เมื่อเปลี่ยนให้ พล.ต.อ.ธานี รับผิดชอบพื้นที่บช.น.จึงได้ให้มาคุมคดีนี้แทน ซึ่งพล.ต.อ.ธานี ก็ดูแลคดีหลายคดีที่เกิดขึ้นในพื้นที่บช.น.อยู่แล้ว สำหรับกรณีที่พล.ต.ท.วุฒิ พัวเวส ผู้ช่วย ผบ.ตร. ยกเลิกการเป็นหัวหน้าคณะพนักงานสอบสวนคดีนี้ ก็เป็นไปตามความเหมาะสมเนื่องจาก พล.ต.ท.วุฒิ รับผิดชอบพื้นที่กองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 1 ไม่ได้ดูแลพื้นที่บช.น. จึงรับผิดชอบแต่เพียงคดีบุกยึดสนามบินสุวรรณภูมิ ที่เกิดในพื้นที่ ภ.1 เท่านั้น
ที่มา: ASTVผู้จัดการรายวัน
ครม.ไฟเขียวเลิกอายุความคดีโกงชาติ
ที่ทำเนียบรัฐบาล นายศุภชัย ใจสมุทร รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวานนี้ (26 พ.ค.) ว่า ครม.มีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงยุติธรรมเสนอร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา ฉบับที่....พ.ศ...ซึ่งเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมหลักเกณฑ์เกี่ยวกับอายุความ โดยมีหลักการ 2 เรื่อง คือ
1.แก้ไขกำหนดเวลาร้องทุกข์ในกรณีความผิดยอมความได้ และ 2.ยกเลิกอายุความฟ้องคดีและอายุความล่วงเลยการลงโทษสำหรับความผิดบางกรณี เกี่ยวกับการปกครองและการยุติธรรม รวมถึงกำหนดระยะเวลาการฟ้องบุคคลเหล่านั้นให้มีกำหนดระยะเวลาที่ชัดเจนขึ้น
ทั้งนี้ กระทรวงยุติธรรมให้เหตุผลประกอบการเสนอแก้ไขกฎหมายว่า ปัจจุบันการกระทำทุจริตของเจ้าพนักงานโดยอาศัยตำแหน่งหน้าที่ราชการมีความสลับซับซ้อน ทำให้ประเทศได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง ไม่ว่าทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง โดยผู้กระทำความผิดดังกล่าวส่วนใหญ่เป็นผู้มีอิทธิพล และมักหลบหนีจากกระบวนการยุติธรรม ประกอบกับการกระทำความผิดดังกล่าวมักรวบรวมพยานหลักฐานได้ยากลำบาก ต้องใช้ระยะเวลาในการดำเนินการนาน ทำให้การดำเนินคดีอาญาในบางประเภทในประเทศไทยยังไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร ส่งผลให้บางคดีขาดอายุความ ไม่สามารถดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดได้ ดังนั้นจึงสมควรนำหลักเกณฑ์การไม่มีกำหนดระยะเวลาของอายุความในความผิดบางประเภทมากำหนดไว้
ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา มีสาระสำคัญคือ แก้ไขเพิ่มเติมหลักเกณฑ์เกี่ยวกับอายุความในคดีความผิดส่วนตัว ถ้าผู้เสียหายมิได้ร้องทุกข์ภายใน 6 เดือนนับแต่วันที่รู้เรื่องความผิด และรู้ตัวผู้กระทำความผิด เป็นอันขาดอายุความ ซึ่งเดิมกำหนดไว้เพียง 3 เดือน
ส่วนการยกเลิกอายุความฟ้องคดีและอายุความล่วงเลยการลงโทษสำหรับความผิดบางกรณีเกี่ยวกับการปกครองและการยุติธรรม รวมทั้งกำหนดระยะเวลาการฟ้องบุคคลให้มีกำหนดระยะเวลาที่ชัดเจนขึ้น ได้แก่ 1.กรณีได้ตัวผู้กระทำความผิดมาแล้ว ให้พนักงานอัยการ ผู้ว่าคดี พนักงานสอบสวน โดยเฉพาะพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญาดำเนินการให้มีการฟ้องผู้นั้นต่อศาลภายใน 1 ปี นับแต่วันที่ได้ตัวมา เว้นแต่ศาลจะอนุญาตให้ขยายเวลา
2.กรณีมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษผู้กระทำความผิด ถ้าผู้นั้นยังไม่ได้รับโทษ หรือได้รับโทษยังไม่ครบถ้วน โดยหลบหนี ถ้ายังมิได้ตัวผู้นั้นมารับโทษนับแต่วันที่มีคำพิพากษาถึงที่สุด หรือนับแต่วันที่หลบหนี แม้จะเกินกำหนดเวลาในมาตรา 98 เกี่ยวกับอายุความ ก็ไม่ถือว่าเป็นอันล่วงเลยเวลาการลงโทษ โดยให้ลงโทษผู้นั้นในโทษที่ยังไม่ได้รับหรือที่ได้รับยังไม่ครบถ้วน ซึ่งร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้จะเสนอเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎรต่อไป
ที่มา: http://www.bangkokbiznews.com
เศรษฐกิจ |
นายกรัฐมนตรีระบุการสร้างเอกลักษณ์ผลิตภัณฑ์ไหมไทยให้ชัดเจน เป็นสิ่งที่สำคัญในการผลิตสินค้าส่งออกไปขายทั่วโลก
นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีเปิดงานไหมไทยสู่เส้นทางโลก (Thai Silk Road to the World) จัดโดยกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ ร่วมกับสถาบันหม่อนไหมแห่งชาติ เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
วันนี้ เวลา 18.00 น. ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ จังหวัดสุทรปราการ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีเปิดงาน "ไหมไทยสู่เส้นทางโลก" (Thai Silk Road to the World) จัดโดยกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ และสถาบันหม่อนไหมแห่งชาติ เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ บริษัท ทาอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน)และบริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) โดยมี นายอลงกรณ์ พลบุตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เอกอัครราชทูต ภริยาทูต ผู้ประกอบการธุรกิจสินค้าแฟชั่น นักออกแบบ นางแบบทั้งไทยและต่างประเทศ ผู้แทนจากหน่วยงานต่าง ๆ เช่น หอการค้าไทยและต่างประเทศ ตลอดจนภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องและสื่อมวลชนเข้าร่วมงานเป็นจำนวนมาก
นายอลงกรณ์ พลบุตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวรายงานสรุปว่า การจัดงานไหมไทยสู่เส้นทางโลกในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ผ้าไหมไทยที่มีคุณภาพและได้รับการรับรองให้ใช้เครื่องหมายตรานกยูงพระราชทาน Royal Thai Silk ซึ่งถือได้ว่าเป็นผลิตภัณฑ์ที่ทรงคุณค่าและเผยแพร่ผ้าไหมที่มีคุณภาพ มีเอกลักษณ์เป็นที่ยอมรับในระดับสากล เหมาะสมที่จะสนับสนุนให้ใช้เป็นวัตถุดิบในการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ นอกจากนี้ยังเป็นการสร้างโอกาสให้ผู้ประกอบการและดีไซเนอร์คนไทยได้แสดงความสามารถในเชิงสร้างสรรค์ ออกแบบเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายที่ทำจากผ้าไหมไทย รวมถึงสนับสนุนให้ผู้ประกอบการขอรับความคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา โดยเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้า เพื่อให้มีการใช้แบรนด์เป็นเครื่องมือทางการตลาด
ทั้งนี้งานดังกล่าวถือเป็นอีกหนึ่งในโครงการ Creative Thailand ที่กระทรวงพาณิชย์ให้การสนับสนุน เพราะผ้าไหมไทยมีเอกลักษณ์ที่โดดเด่น สามารถนำมาสร้างสรรค์ประยุกต์ใช้ในงานออกแบบต่าง ๆ จนเป็นที่สนใจทั่วโลก อีกทั้งผู้ประกอบการสามารถนำผ้าไหมไทยไปต่อยอดและสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้าได้ ถือเป็นการนำทรัพย์สินทางปัญญาไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์และส่งเสริมเศรษฐกิจบนพื้นฐานความคิดสร้างสรรค์ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญในการพัฒนาประเทศให้เจริญรุดหน้าต่อไป
โอกาสนี้ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ได้กล่าว แสดงความยินดีที่ได้มาเป็นประธานในพิธีเปิดงาน "ไหมไทยสู่เส้นทางโลก" หรืองาน Thai Silk Road to the World ภายไต้โครงการ Creative Thailand ในวันนี้ ซึ่งการจัดงานครั้งนี้เป็นการบูรณาการการทำงานร่วมกัน ระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะสถาบันหม่อนไหมแห่งชาติ เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) และบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) โดยมีกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ เป็นหน่วยงานหลักในการริเริ่มงานขึ้น ภายใต้แนวคิดการพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของประเทศไทย (Creative Thailand) ซึ่งเป็นหนึ่งในนโยบายที่สำคัญของรัฐบาล ทั้งนี้ในภาวะวิกฤตทางเศรษฐกิจและการแข่งขันที่รุนแรงในปัจจุบัน ประเทศทั่วโลกต่างก็ต้องพยายามพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส และหาทางปรับเปลี่ยนวิธีการบริหารจัดการเศรษฐกิจให้สามารถขยายการค้า การลงทุน และสร้างรายได้จากการส่งออกให้มากขึ้น ซึ่งทางออกหนึ่งคือการสร้างความแตกต่าง ในสินค้าและบริการ
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลได้เล็งเห็นความสำคัญของการนำระบบเศรษฐกิจแบบใหม่ที่มีพื้นฐานจากความคิดสร้างสรรค์ หรือ Creative Economy เพื่อมาช่วยในการเสริมสร้างศักยภาพการแข่งขันและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและบริการของไทย เนื่องจากความคิดสร้างสรรค์จะช่วยสร้างความแตกต่างในผลิตภัณฑ์ ทำให้มีความโดดเด่นและเป็นที่ต้องการของตลาดโลกมากยิ่งขึ้นซึ่งประเทศไทยเป็นประเทศที่มีวิถีชีวิต ภูมิปัญญา และมรดกทางวัฒนธรรมที่เป็นทรัพยากรอันมีค่าจำนวนมาก สามารถนำมาใช้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ได้เป็นอย่างดี หากรู้จักนำทรัพยากรเหล่านี้มาสร้างสรรค์ พัฒนา หรือต่อยอด เพื่อให้เกิดมูลค่าเพิ่มก็สามารถสร้างประโยชน์ทางการค้าและเศรษฐกิจของประเทศได้
"การสร้างเอกลักษณ์ของไหมไทยและผลิตภัณฑ์ไหมไทยให้ชัดเจน เป็นสิ่งที่สำคัญ (brand identity) เป็นภารกิจและความรับผิดชอบของทุกฝ่าย ตั้งแต่การผลิตเส้นไหม การฟอกย้อมไหม การทอผ้าไหม จนถึงการออกแบบผลิตภัณฑ์ และการโฆษณาประชาสัมพันธ์ให้เข้าใจถึงเอกลักษณ์ไหมไทยที่สะท้อนถึงวิถีชีวิต และวัฒนธรรมไทยที่มีเอกลักษณ์ในตัวเอง เอกลักษณ์ของไหมไทยนี้คือมูลค่าที่มั่นคงและยั่งยืนของไหมไทย งาน "ไหมไทยสู่เส้นทางโลก" ในวันนี้ ถือเป็นตัวอย่างที่ดีของการดำเนินงานตามแนวนโยบาย Creative Economy โดยการนำผ้าไหมซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของมรดกทางวัฒนธรรมอันมีค่าของไทยมาแต่งเติมความคิดสร้างสรรค์ ผลิตเป็นสินค้าแฟชั่น เพื่อส่งออกไปขายและทำตลาดในทั่วโลก" นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า
นายกรัฐมนตรี กล่าว่า ผลงานสิ่งประดิษฐ์ที่ได้จากความคิดสร้างสรรค์ คือทรัพย์สินทางปัญญาของคนไทย ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ โดยในการประชุมคณะกรรมการนโยบายด้านการป้องกันและปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้เป็นประธานฯ ที่ประชุม ได้เห็นชอบแผนยุทธศาสตร์ทรัพย์สินทางปัญญาของไทย ที่กรมทรัพย์สินทางปัญญาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ร่วมกันยกร่างขึ้น ซึ่งเมื่อคณะรัฐมนตรีพิจารณาเห็นชอบ ก็จะได้มอบให้หน่วยงานต่างๆ รับไปปฏิบัติต่อไป
โดยวิสัยทัศน์ของยุทธศาสตร์คือ จะพัฒนาเศรษฐกิจไทยบนพื้นฐานการสร้างสรรค์ การพึ่งพาตนเอง และการแข่งขันในเวทีโลกใน ๖ แนวทาง คือ การส่งเสริมการสร้างสรรค์ทรัพย์สินทางปัญญาของไทย การสนับสนุนให้ทรัพย์สินทางปัญญาของไทยถูกนำไปใช้ประโยชน์ สร้างมูลค่าในเชิงพาณิชย์ การพัฒนาระบบการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล และเท่าทันการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี การป้องกันและปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา การปลูกจิตสำนึกและพัฒนาระบบการศึกษาทรัพย์สินทางปัญญาของไทย และการสนับสนุนแหล่งเงินทุนที่จะเป็นพื้นฐานของการสร้างสรรค์ เพื่อให้นักประดิษฐ์ของไทยพัฒนาต่อยอดนวัตกรรม
พร้อมกันนี้นายกรัฐมนตรี ได้แสดงความเชื่อมั่นว่า หากสามารถดำเนินการตามยุทธศาสตร์ดังกล่าวได้ ประเทศไทยจะสามารถพัฒนาศักยภาพและขีดความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลกได้มากขึ้น และประเทศไทยก็มีรากฐานเพียงพอ ที่จะก้าวไปสู่การเป็นสังคมเศรษฐกิจบนพื้นฐานการสร้างสรรค์ได้ต่อไป
ที่มา: http://www.thaigov.go.th
ต่างประเทศ |
ไทยยืนยันออกแถลงการณ์เรื่องพม่าในฐานะประธานอาเซียน
วานนี้ (26 พ.ค.) เวลา 14.00น. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถึงท่าทีของรัฐบาลไทยต่อพม่าหลังที่มีการแถลงการณ์กล่าวหาว่าไทยเข้าไปแทรกแซงกิจการภายใน ว่า กระทรวงการต่างประเทศได้ออกแถลงการณ์แล้ว และขอยืนยันว่าสิ่งที่เราทำในฐานะประธานอาเซียนนั้นเป็นการดำรงหลักเกณฑ์ในการทำงาน การออกแถลงการณ์เหมือนในอดีตที่ผ่านมา ซึ่งได้มีการปรึกษาหารือกันในช่วงที่มีการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโส รัฐมนตรีต่างประเทศก็ได้รับทราบ ที่สำคัญสาระแถลงการณ์ของเราก็ยึดตามมติหรือความเห็นของผู้นำอาเซียนที่มีก่อนหน้านี้ และอยู่บนพื้นฐานของความปรารถนาดีที่มีต่อพม่า
ต่อข้อถามว่า แต่ในแถลงการณ์ของพม่าระบุว่าไทยเข้าไปแทรกแซงกิจการภายในของพม่า นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ยังไม่มีอะไรเพิ่มเติมไปจากที่ผู้นำเคยมีความเห็นร่วมกัน และเคยออกเป็นส่วนหนึ่งของแถลงการณ์ในอดีต
ผู้สื่อข่าวถามว่าจะมีการแถลงการณ์จุดยืนของอาเซียนเพิ่มเติมหรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ทางรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนก็คงมีโอกาสในการปรึกษาหารือกัน คงต้องรอดูพัฒนาการของเหตุการณ์ในพม่า ต่อข้อถามว่า ในวันที่ 27พฤษภาคมนี้ก็จะเป็นวันสุดท้ายในการตัดสินคดี นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ก็ต้องรอดูว่าผลจะออกมาอย่างไร เมื่อผลออกมาแล้วก็ต้องมาดูกันอีกทีว่าควรจะทำอย่างไรต่อไป
ที่มา: http://www.thaigov.go.th
อาเซมแถลงจี้พม่าปล่อยตัว"ซูจี" ตำรวจอ้างมีสิทธิกักต่อ6เดือน
ที่ประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศเอเชีย-ยุโรป ออกแถลงการณ์จี้รัฐบาลทหารพม่าปล่อยตัว “ซูจี” และนักโทษการเมืองทุกคน ขณะที่บัวแก้วแจงผ่านเว็บไซต์ ยันไม่ได้แทรกแซงกิจการภายในของพม่า แต่เป็นการออกแถลงการณ์ในนามอาเซียน และทำด้วยเจตนาดี “นพดล” ได้ทีถล่มทำเกียรติภูมิประธานอาเซียนเสื่อม “บิ๊กตำรวจพม่า” เมินข้อเรียกร้องนานาชาติ อ้างมีสิทธิกักตัว “ซูจี” ต่ออีก 6 เดือน
กรณีที่รัฐบาลทหารพม่าออกแถลงการณ์ประณามไทยว่าแทรกแซงกิจการภายในของพม่า หลังจากไทยออกแถลงการณ์แสดงความไม่เห็นด้วยกับการดำเนินคดีต่อ นางออง ซาน ซูจี หัวหน้าพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (เอ็นแอลดี) ของพม่านั้น ล่าสุดวานนี้ (26 พ.ค.) กระทรวงการต่างประเทศของไทย ได้ออก เอกสารชี้แจงเรื่องดังกล่าวผ่านทางเว็บไซต์ของกระทรวง www.mfa.go.th
เนื้อหาของเอกสารชี้แจง ระบุว่า ตามที่รัฐบาลไทยในฐานะประธานสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ได้ออกแถลงการณ์เรื่อง นางออง ซาน ซูจี หัวหน้าพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (เอ็นแอลดี) ของพม่านั้น เป็นไปโดยเจตนาดีต่อสหภาพพม่า และความปรารถนาที่จะให้การปรองดองแห่งชาติในพม่ามีความก้าวหน้า โดยที่ประชาชนทุกภาคส่วนได้มีส่วนร่วม ประเทศไทยในฐานะประธานอาเซียน จะดำเนินการเจรจากับรัฐบาลพม่าอย่างสร้างสรรค์ในกรณีนี้ต่อไป
ทั้งนี้ ตามขั้นตอนการปฏิบัติของกลุ่มอาเซียนนั้น แถลงการณ์ร่วมจะต้องเกิดขึ้นจากกระบวนการปรึกษาหารือเรื่องถ้อยความ ซึ่งจะเตรียมการโดยเจ้าหน้าที่และอนุมัติโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ หรือผู้นำการออกแถลงการณ์ของประธานอาเซียนสามารถกระทำได้โดยรัฐบาลซึ่งเป็นประธานในขณะนั้น ไม่มีความจำเป็นต้องให้เจ้าหน้าที่ทำการยกร่างก่อนแต่อย่างใด
สำหรับกรณีนางซูจี เจ้าหน้าที่อาวุโสของอาเซียนได้ประชุมและแสดงความคิดเห็นเรื่องสถานการณ์การเมืองในพม่าเมื่อวันที่ 18 พ.ค. 2552 และได้ลงความเห็นกันว่าประเทศไทยในฐานะประธานอาเซียนสมควรที่จะออก แถลงการณ์เพื่อสะท้อนถึงความเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์ของนางซูจี และได้แจ้งให้กระทรวงการต่างประเทศของประเทศสมาชิกทราบตามลำดับ ซึ่งเป็นการปฏิบัติตามขั้นตอนเหมือนที่ผ่านมา
ที่ทำเนียบรัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวเรื่องเดียวกันว่า ขอยืนยันว่าสิ่งที่ทำเป็นการดำเนินการในฐานะประธานอาเซียน และเป็นการดำรงหลักเกณฑ์ในการทำงาน ซึ่งการออกแถลงการณ์ก็เหมือนในอดีตที่ผ่านมา และได้มีการปรึกษาหารือในช่วงที่มีการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโส รมว.ต่างประเทศก็ได้รับทราบ ที่สำคัญสาระของแถลงการณ์ก็ยึดตามมติหรือความเห็นของผู้นำอาเซียนที่มีมาก่อนหน้านี้ และอยู่บนพื้นฐานของความปรารถนาดีที่มีต่อพม่า
ผู้สื่อข่าวถามว่า จะมีการออกแถลงการณ์แสดงจุดยืนของอาเซียนเพิ่มเติมหรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ทางรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนคงมีโอกาสได้ปรึกษาหารือกันในการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน-ยุโรป หรือ อาเซม ที่กรุงฮานอย ประเทศเวียดนาม ก็คงต้องรอดูพัฒนาการของเหตุการณ์ในพม่า โดยเฉพาะผลของคดีนางซูจี
ที่ พรรคประชาธิปัตย์ น.พ.บุรณัชย์ สมุทรักษ์ โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า การออกแถลงการณ์ในนามประธานอาเซียนของนายอภิสิทธิ์ เป็นการออกภายหลังการหารือกับกระทรวงการต่างประเทศ 8 ประเทศ รวมทั้งไทยเป็น 9 ประเทศ โดยจุดยืนที่อาเซียนได้พูดคุยกับผู้นำพม่าในการประชุมสุดยอดผู้นำ
อาเซียนครั้งที่ผ่านมา พม่าได้ให้คำมั่นสัญญากับมิตรประเทศว่า จะดำเนินการทางการเมืองเพื่อนำไปสู่การเลือกตั้งที่เป็นประชาธิปไตยในปีหน้า
ฉะนั้นหากความขัดแย้งทางการเมืองของพม่ายังมีอยู่ ก็จะมีปัญหาที่กระทบต่อประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะไทยซึ่งต้องรับภาระการให้ที่พักพิงกับชนกลุ่มน้อย การควบคุมการระบาด การค้าแรงงาน และการค้ามนุษย์ ซึ่งถือว่ากระทบต่อความมั่นคงของประเทศไทย ดังนั้นพรรคประชาธิปัตย์จึงขอสนับสนุนการเดินหน้าสร้างความสัมพันธ์และกรอบความร่วมมือระหว่าง กลุ่มประเทศอาเซียนกับพม่าโดยยืนยันถึงคำสัญญาของพม่าที่เคยให้ไว้
“เมื่อวันที่ 26 พ.ค. ผู้นำและผู้แทนพรรคการเมืองในประเทศอาเซียนหลายพรรคเข้าพบรองประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อสนับสนุนจุดยืนของนายอภิสิทธิ์ ในฐานะประธานอาเซียน ในการยื่นแถลงการณ์ต่อพม่าด้วย” โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าว
วันเดียวกัน ในที่ประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซม ได้มีการออกแถลงการณ์ร่วมหลังเสร็จสิ้นการประชุม 2 วัน โดยแถลงการณ์มีเนื้อหาประณามการทดลองอาวุธนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือ และเรียกร้องให้รัฐบาลทหารพม่าปล่อยตัวนางซูจี และนักโทษการเมืองรายอื่นๆ ให้เป็นอิสระโดยเร็ว
อย่างไรก็ดี นายนพดล ปัทมะ อดีต รมว. ต่างประเทศ ในรัฐบาลพรรคพลังประชาชน กล่าวว่า การกระทำของนายอภิสิทธิ์ และนายกษิต ภิรมย์ รมว.ต่างประเทศ ให้เกียรติภูมิของประเทศไทยในฐานะประธานอาเซียนลดลง กังวลว่าในอนาคตจะส่งผลต่อความสัมพันธ์และความร่วมมือด้านต่างๆ ระหว่างพม่ากับไทย
ด้าน พลจัตวาหมิ่น เต็ง นายตำรวจระดับสูงของพม่า แถลงว่า ตามความเป็นจริงนั้นทางการพม่ามีแผนที่จะปล่อยตัวนางออง ซาน ซูจี เป็นอิสระในสัปดาห์นี้ แต่ได้ล้มเลิกการตัดสินใจดังกล่าวลง หลังเกิดเหตุการณ์ นายจอห์น วิลเลียม เยททอว์ ทหารผ่านศึกชาวอเมริกัน แอบว่ายน้ำข้ามทะเลสาบไปพักยังบ้านของนางซูจี ซึ่งเป็นการกระทำที่ละเมิดกฎหมายความมั่นคงภายในของพม่า
นายตำรวจผู้นี้ เปิดเผยต่อนักข่าวและนักการทูตว่า ทางการพม่าคิดจะปล่อยตัวนางซูจี วัย 63 ปี ออกจากการกักบริเวณที่บ้านพักนานเกือบ 6 ปี ด้วยเหตุผลด้านมนุษยธรรม เพราะเธอเป็นบุตรสาวของนายพลอองซาน ผู้ก่อตั้งประเทศ แต่เมื่อต้นเดือนกลับเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันดังกล่าวขึ้นมา
อย่างไรก็ตาม พลจัตวาหมิ่น เต็ง กล่าวว่า ทางการพม่ามีสิทธิกักตัวนางซูจีไว้ที่บ้านพักได้อีก 6 เดือน เพราะนับถึงปัจจุบัน นางซูจีเพิ่งถูกกักบริเวณที่บ้านพักเพียง 4 ปีกับ 6 เดือน ซึ่งตามกฎหมายแล้ว ทางการสามารถควบคุมตัวเธอได้อีก 6 เดือนจึงจะครบกำหนดกักบริเวณได้ 5 ปีตามที่กฎหมายกำหนด
อนึ่ง คำอ้างของ พลจัตวาหมิ่น เต็ง ขัดแย้งกับข้อมูลของทนายความของนางซูจี ที่บอกว่า วันนี้ (27 พ.ค.) เป็นวันครบกำหนดที่นางซูจีถูกกักตัวครบ 5 ปีพอดี
ด้าน นางซูจี ได้ขึ้นให้การในศาลเป็นวันแรก โดยปฏิเสธว่าไม่มีความผิดในการละเมิดเรื่องการกักบริเวณในบ้านพัก โดยเธอเพียงให้ที่พักชั่วคราวกับนาย
เยททอว์ เท่านั้น พร้อมขอเรียกตัว นายทิน โอ รองหัวหน้าพรรคเอ็นแอลดี ซึ่งปัจจุบันถูกกักบริเวณไว้ที่บ้านพักเช่นกันมาขึ้นให้การเป็นพยานสำคัญในการพิจารณาคดี
อย่างไรก็ดี อัยการไม่ได้เรียกพยานที่เหลืออีก 9 คนขึ้นให้การ ส่งผลให้นางซูจีต้องถูกนำตัวขึ้นให้ปากคำเมื่อวานนี้ ซึ่งเป็นการพิจารณาคดีวันที่ 6 แต่นายเนียน วิน โฆษกพรรคเอ็นแอลดี กล่าวว่า คณะทนายของนางซูจีไม่ค่อยพอใจกับเรื่องนี้นัก เพราะทำให้ไม่มีเวลามากพอที่จะวางแผนกับนางซูจีเรื่องคำให้การ และเห็นได้ชัดว่าศาลเร่งรัดการพิจารณาคดี และว่าในการขึ้นให้การครั้งนี้ นางซูจีจะยืนยันความบริสุทธิ์ของตัวเองในทุกข้อกล่าวหา
ที่มา: http://www.bangkokbiznews.com
สิ่งแวดล้อม |
ครม.บริจาค 3.6 พันดอลลาร์ให้กองทุนอนุรักษ์เต่าทะเล
คณะรัฐมนตรีอนุมัติให้ประเทศไทยบริจาคเงินสมทบกองทุนเพื่อการอนุรักษ์และจัดการเต่าทะเลและแหล่งที่อยู่อาศัยในมหาสมุทรอินเดียและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นเงินขั้นต่ำปีละ 3,687 ดอลลาร์สหรัฐ ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสนอ
ที่มา: http://www.naewna.com