ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี
ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้
สถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ ม.สงขลานครินทร์ (CSCC)
การสำรวจความคิดเห็นของประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของอาจารย์ในสถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จากโครงการวิเคราะห์ความเปลี่ยนแปลงและสถานการณ์เฉพาะหน้าทั้งทางด้านสังคม เศรษฐกิจ การเมืองในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานสภาวิจัยแห่งชาติ (วช.) โดยทีมวิจัยได้ดำเนินการเก็บข้อมูลในเดือนกุมภาพันธ์และมีนาคม 2552 เป็นการเก็บข้อมูลสอบถามความคิดเห็นของประชาชนในจังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส และ 4 อำเภอในจังหวัดสงขลา จำนวนผู้ตอบแบบสอบถามทั้งหมด 1,878 คน
การศึกษาครั้งนี้ต้องการจะสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับสภาพเศรษฐกิจสังคมการเมืองและความมั่นคง เพื่อวิเคราะห์ข้อมูลความเปลี่ยนแปลงสถานการณ์ ด้านความมั่นคง ทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างต่อเนื่อง อันจะเป็นตัววัดความเปลี่ยนแปลงความคิดเห็นและจิตวิทยาสังคมของของประชาชนในสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้
ผลการสำรวจได้ข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับเหตุการณ์ปัจจุบันคือ กลุ่มตัวอย่างทั้งหมดเป็นหญิง 956 คน ชาย 916 คน คิดเป็นร้อยละ 50.9 และ 48.8 ตามลำดับ ส่วนใหญ่เป็นผู้นับถือศาสนาอิสลามจำนวน 1,657 คน (ร้อยละ 88.2) ศาสนาพุทธ 199 คน (ร้อยละ 10.7) ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลประชากรจริงในพื้นที่ เมื่อถามความเห็นต่อสภาพปัญหาเศรษฐกิจปัจจุบันว่าประชาชนมีรายได้เพียงพอหรือไม่ ? ผู้ตอบจำนวน 1,143 คน (ร้อยละ 60.9) บอกว่ามีรายได้เพียงพอ ส่วนอีกประมาณ 699 คน (ร้อยละ 37.4) บอกว่ารายได้ไม่เพียงพอ ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าคนส่วนใหญ่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้แม้ประสบกับปัญหาวิกฤตทางเศรษฐกิจระดับชาติและความไม่สงบในพื้นที่ แต่ส่วนใหญ่ก็ยังรู้สึกว่าตนเองมีสภาพเศรษฐกิจเพียงพอเลี้ยงตนเองได้ หรือมีความอยู่รอดได้ทางเศรษฐกิจ
แต่เมื่อถามว่าปัญหาอะไรเป็นปัญหาที่สำคัญที่สุดในชุมชน ผู้ตอบร้อยละ 91 บอกว่าปัญหาสำคัญอันดับแรกก็คือการว่างงาน อันดับที่สองคือปัญหายาเสพติด ค่าน้ำหนักคะแนนร้อยละ 85 ปัญหาที่ถูกระบุมากเป็นอันดับที่สามก็คือปัญหาเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งผู้ตอบให้น้ำหนักร้อยละ 50
สภาพทัศนคติดังกล่าวสะท้อนว่าปัญหาใหญ่ที่สุดในชุมชนภาคใต้ในปัจจุบันก็คือปัญหาเศรษฐกิจสังคมที่ว่าด้วยการว่างงาน ปัญหารองลงมาก็คือปัญหาการแพร่ระบาดอย่างหนักของยาเสพติดในพื้นที่ในระยะนี้ ส่วนปัญหาที่คุกคามชุมชนจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นลำดับที่สามก็คือการเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่
ข้อสังเกตก็คือ แม้ว่าปัญหาความไม่สงบจะหนัก แต่ก็ไม่ถูกเน้นหนักมากเท่ากับปัญหาเศรษฐกิจโดยเฉพาะการว่างงานและปัญหาสังคมคือการแพร่ระบาดของยาเสพติด
ต่อคำถามที่ว่าอะไรเป็นสาเหตุที่สำคัญที่สุดที่ทำให้เกิดความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ? ปัจจัยสาเหตุหลักที่ถูกระบุมากที่สุดจากประชาชนคือปัญหาที่เกิดจากกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ การก่อเหตุการณ์ร้ายในพื้นที่ ร้อยละ 23.0 ส่วนสาเหตุของเหตุการณ์ความไม่สงบที่ถูกระบุเป็นลำดับที่สองคือปัญหาความไม่เป็นธรรม ประมาณร้อยละ 16.1
ที่น่าสนใจก็คือกลุ่มประชาชนผู้ตอบร้อยละ 13.5 ยังมองว่าสาเหตุก็คือความรุนแรงที่เจ้าหน้าที่รัฐกระทำต่อประชาชน อันดับที่สี่ร้อยละ 12.9 มองว่าสาเหตุมาจากการปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมของเจ้าหน้าที่รัฐต่อคนมุสลิม ส่วนลำดับที่ห้า ร้อยละ 10.8 มองว่าเป็นปัญหาที่เกิดจากความอยุติธรรมของเจ้าหน้าที่ของรัฐ ทั้งหมดนี้สะท้อนให้เห็นว่าปัญหาการก่อเหตุการณ์ความไม่สงบเป็นปัญหาใหญ่ที่สุดในพื้นที่ แต่ในขณะเดียวกันปัญหาที่ต้องให้ความสนใจด้วยก็คือปัญหาความไม่เป็นธรรมหรือความรู้สึกไม่ได้รับความเป็นธรรมในด้านต่างๆซึ่งจะต้องได้รับการแก้ไขโดยเร่งด่วนเช่นเดียวกัน
ส่วนคำถามที่น่าสนใจก็คือในสถานการณ์ปัจจุบัน ประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้มีความรู้สึกเชื่อมั่นไว้วางใจอย่างไรต่อรัฐบาลของนายกรัฐมนตรีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ข้อมูลแสดงว่าประชาชนจังหวัดชายแดนภาคใต้ร้อยละ 41.5 บอกว่ามีความไว้วางใจรัฐบาลมากพอสมควร อีกร้อยละ 19.3 บอกว่าไว้วางใจมาก ส่วนอีกกลุ่มประมาณร้อยละ 35 บอกว่ารู้สึกกลางๆ ภาพสะท้อนความคิดเห็นชุดนี้อาจจะแสดงให้เห็นว่าแม้ในท่ามกลางวิกฤตปัจจุบันทั้งทางการเมืองเศรษฐกิจและปัญหาความมั่นคงของจังหวัดชายแดนภาคใต้ ประชาชนส่วนใหญ่ในพื้นที่ยังมีแนวโน้มความรู้สึกเชื่อมั่นไว้วางใจต่อรัฐบาลปัจจุบัน ซึ่งถ้าหากจะนับรวมกลุ่มที่มีความไว้วางใจทั้งหมดแล้วก็จะสูงถึงร้อยละ 60.8
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ต้องสนใจก็คือการแก้ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองในปัจจุบัน เมื่อถูกถามว่าท่านเชื่อว่ารัฐบาลปัจจุบันจะแก้ปัญหาความขัดแย้งแตกแยกในทางการเมืองได้หรือไม่ ? ผู้ตอบส่วนมาก ร้อยละ 50.8 ยังบอกว่าไม่แน่ใจนักว่าจะรัฐบาลจะแก้ปัญหาได้ ส่วนอีกร้อยละ 25.8 มองว่าแก้ไม่ได้ มีเพียงร้อยละ 21.1 บอกว่าสามารถจะแก้ได้
นอกจากนี้ ในประเด็นที่เกี่ยวกับนโยบายที่รัฐบาลตั้งใจว่าจะยกฐานะศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ให้เป็นองค์กรใหม่ที่มีฐานะทางกฎหมาย และเป็นหน่วยงานพิเศษของรัฐ (สบ. ชต,) นโยบายอันนี้จะช่วยแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้จริงหรือไม่? ประชาชนผู้ตอบแบบสอบถามส่วนมาก ร้อยละ 42.1 ยังรู้สึกกลางๆหรือ ไม่แน่ใจว่าจะแก้ปัญหาได้หรือไม่ แต่จำนวนไม่น้อย ประมาณร้อยละ 27.2 ก็สะท้อนความเห็นว่าเห็นด้วยว่านโยบายนี้จะแก้ปัญหาได้ แต่อีกร้อยละ 17.8 บอกว่าไม่เห็นด้วย
คำถามที่เกี่ยวกับความมั่นคงภาคใต้อีกข้อหนึ่งที่น่าสนใจมากก็คือ ควรจะคงกองกำลังทหารและตำรวจจำนวนมากในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างที่กำลังทำอยู่ตอนนี้หรือไม่ ? ต่อคำถามดังกล่าว ปรากฏว่าผู้ตอบร้อยละ 23.6 บอกว่าไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง อีกร้อยละ 21.8 บอกว่าไม่เห็นด้วย ส่วนกลุ่มที่บอกว่าเห็นด้วย และเห็นด้วยอย่างยิ่ง มีจำนวนเพียงร้อยละ 15.7 1 และร้อยละ 4.8 คนอีกกลุ่มหนึ่งประมาณร้อยละ 24 บอกว่ารู้สึกเฉยๆหรือกลางๆ
ประเด็นที่น่าสนใจก็คือว่าถ้ารวมกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งที่จะคงรักษากำลังทหารและตำรวจในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ทั้งหมดจะมีประมาณร้อยละ 45.5 ซึ่งเป็นจำนวนเกือบครึ่งหนึ่งของผู้ตอบแบบสอบถามทั้งหมด
กล่าวโดยสรุป เมื่อประเมินทัศนะทางการเมืองของประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ในปัจจุบัน คนส่วนใหญ่ยังมีความเชื่อมั่นไว้วางใจรัฐบาลอภิสิทธิ์ในระดับสูง แต่ก็ยังไม่แน่ใจว่ารัฐบาลนี้จะแก้ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองของประเทศที่ประสบอยู่ในปัจจุบัน และก็ยังไม่แน่ใจว่าแก้ปัญหาความมั่นคงจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้ ทั้งนี้อาจจะสะท้อนให้เห็นว่า เป็นเพราะสถานการณ์ทางการเมืองในระดับชาติยังมีความไม่แน่นอน ทำให้ประชาชนในพื้นที่ภาคใต้ยังต้องการดูการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและท่าทีทางนโยบายที่มีความชัดเจนมากกว่านี้
หมายเหตุ : ผลการสำรวจความคิดเห็นครั้งนี้เปิดเผยเป็นครั้งแรกในงานแถลงข่าวเปิดตัวสถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ ซึ่งเป็นหน่วยงานวิจัยของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2552