การเมือง |
นายกรัฐมนตรีย้ำการระบายสินค้าเกษตรต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์
สำนักโฆษก สำนักนายกรัฐมนตรี - วานนี้ (28 พ.ค.) เวลา 11.15 น. ที่กระทรวงพาณิชย์ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงการหาแนวทางการระบายสินค้าเกษตร โดยเฉพาะข้าว ที่มีการตั้งคณะทำงานพิเศษขึ้นมากำหนดแนวทาง ว่า ได้ทราบว่าเมื่อวันที่ 27 พฤษภาคมที่ผ่านมา นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีประชุม และได้แนวทางในการมาดำเนินการ ซึ่งคล้ายกับที่มีการเสนอเป็นทางเลือกหนึ่งในคณะรัฐมนตรี (ครม.) อยู่แล้ว คือให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีบทบาทที่ชัดเจนว่า องค์การคลังสินค้า (อคส.) หรือ กรมการค้าต่างประเทศทำอะไร เพราะฉะนั้น น่าจะเดินหน้าไปได้
ผู้สื่อข่าวถามว่า พอใจผลสรุปที่ออกมาหรือไม่ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ต้องขอดูรายละเอียดอีกครั้ง แต่แนวทางก็คล้ายกับที่ได้พูดใน ครม. ว่าที่อาจจะยังมีความสับสนกันอยู่ คือ บทบาทของแต่ละหน่วยงาน
ผู้สื่อข่าวถามว่า ดูเหมือนแนวทางแก้ปัญหา จะไม่เป็นไปตามที่นางพรทิวา นาคาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เสนอ จะทำให้มีความน้อยใจกันหรือไม่ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า คิดว่าคงไม่มี เรื่องทำงานแล้วจะมาน้อยใจกันคงไม่ได้ ทุกอย่างก็เพื่อประโยชน์และความสำเร็จของงาน ซึ่งคือการรักษาผลประโยชน์ประเทศ ฉะนั้นทุกฝ่ายคงเข้าใจ
ต่อข้อถามว่า มีข้อแตกต่างระหว่างการให้ อคส. กับ กรมการค้าต่างประเทศเข้ามาดูอย่างไร นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ผ่านมาเราดูจากประสบการณ์ในปี 2551 ด้วย เพราะเห็นว่าตรงนี้เป็นจุดอ่อน เพราะความจริง อคส. มีหน้าที่ในการเก็บรักษามากกว่าจะเป็นผู้มากำหนดแนวทางการระบายสินค้า
ผู้สื่อข่าวถามว่า การที่ให้กรมการค้าต่างประเทศเข้ามาดูตอนนี้จะช้าไปหรือไม่ เพราะกระทรวงพาณิชย์ได้เริ่มประมูลไปแล้วบางส่วน นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ยังไม่ทราบว่าจะเป็นอย่างไร ต้องรอการรายงานขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง ส่วนกรณีข้าวโพด เคยประมูลไปแล้ว และตอนนี้ดูเหมือนว่าจะจบไปแล้ว
ผู้สื่อข่าวถามว่า แต่เรื่องข้าวน่าจะเป็นเรื่องใหญ่กว่า เพราะมีการประมูลไปแล้ว และผู้ประมูลก็จะฟ้องรัฐบาล นายกรัฐมนตรี กล่าวว่าต้องดูข้อเท็จจริง เพราะในส่วนนี้กระทรวงพาณิชย์ยังไม่ได้ให้รายละเอียดมา ครม.พูดถึงเพียงเรื่องหลักเกณฑ์ ซึ่งหลังจากนี้คงต้องไปติดตามดูว่าทุกอย่างเป็นไปตามหลักเกณฑ์หรือไม่
ผู้สื่อข่าวถามว่า คณะกรรมการที่ตั้งขึ้นมาใหม่จะสามารถเสนอข้อสรุปทันการประชุม ครม.สัปดาห์หน้าหรือไม่ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ทัน
ผู้สื่อข่าวถามว่า กระทรวงพาณิชย์จำเป็นต้องทบทวนการประมูลข้าวที่ดำเนินการไปแล้วเพื่อให้เป็นไปตามมติของคณะกรรมการที่ตั้งขึ้นมาใช่หรือไม่ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ใช่ ทุกอย่างต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ ผู้สื่อข่าวถามว่า แล้วกระทรวงพาณิชย์จะยอมทบทวนหรือไม่ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ก็ต้องทำ ส่วนค่ามัดจำหรือค่าใช้จ่ายที่ผู้ประมูลใช้จ่ายไปแล้วนั้น คงต้องดูอีกครั้ง เพราะไม่ทราบรายละเอียดว่าไปทำกันถึงขั้นตอนไหนอย่างไร อย่างไรก็ตามก็ต้องปฏิบัติตามมติ ครม.
ส่วนจะสามารถระบายข้าวงวดนี้ได้สำเร็จลงเมื่อใดนั้น ความจริงแล้วข้าวที่เพิ่งเอาเข้ามาในโครงการรับจำนำ การระบายคิดว่าต้องดูด้วยว่า ผลกระทบของการระบายต่อตลาดเป็นอย่างไร ความจำเป็นไม่ได้รีบด่วนถึงขั้นที่ว่าจะต้องระบายทุกอย่างหมดด้วยความรวดเร็ว ต้องชั่วน้ำหนักให้ดี
ผู้สื่อข่าวถามว่า มีการตั้งข้อสังเกตว่าเหตุใดจึงเอาข้าวใหม่ในสต็อกมาระบายด้วย แทนที่จะเป็นข้าวค้างเก่าในสต็อก นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า นี่คือเหตุผลที่เกณฑ์ต่างๆ จะต้องมีความชัดเจนก่อน และมีการกำหนดยุทธศาสตร์และหน่วยงานที่ปฏิบัติก็ต้องรับนโยบายไปปฏิบัติ
เดินหน้า‘แผนโมโซ’พันล้านสลาย‘แดง’
เว็บไซต์ไทยโพสต์ - เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (ผอ.รมน.) ได้เป็นประธานในงานความร่วมมือภาคีพัฒนา "สู้วิกฤติเศรษฐกิจด้วยปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง" พร้อมสร้างเครือข่ายในการรณรงค์สร้างจิตสำนึก "คิดอย่างยั่งยืน" ภายใต้ยุทธศาสตร์สร้างสังคม MOSO (โมโซ) : ที่มาจาก Moderation society แปลว่า "สังคมพอประมาณ"
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า โครงการดังกล่าว กองทัพบกได้นำร่องจัดส่งทหารลงพื้นที่สำรวจความเดือดร้อนของประชาชนตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ท่ามกลางการโจมตีกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ว่าเป็นการจัดงบประมาณที่รัฐบาลอนุมัติให้ กอ.รมน.ดำเนินการโครงการดังกล่าวเป็นงบสลายเสื้อแดง ซึ่งเดิมเคยมีการจัดทำเสนอขึ้นไป 2,000 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินการ 1 ปี แต่ถูกตัดโครงการลงครึ่งหนึ่ง
นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า การจัดกิจกรรมนี้ เนื่องจาก ครม.ได้อนุมัติงบประมาณ 1,000 ล้านบาท ในการขยายแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อให้ประชาชนรับรู้ เข้าใจ รวมไปถึงการกระตุ้นให้เกิดวิธีคิดที่ยั่งยืน หลักปรัชญาเศรษฐกิจ หากทุกฝ่ายสามารถประยุกต์ใช้ ไม่ว่าจะประกอบอาชีพอะไร เชื่อมั่นว่าจะนำไปสู่ความยั่งยืนในการพัฒนาและความสงบสุขในสังคมของเรา
"รัฐบาลได้น้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาขับเคลื่อนในการดำเนินการ และเสริมสร้างความเข้มแข็งและยั่งยืน โดยยึดสถาบันหลักของชาติคือ สถาบันพระมหากษัตริย์ มาเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ ไม่ให้มีการล่วงละเมิด ระยะดำเนินโครงการช่วงแรก 6 เดือน"
นายกฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า โครงการของรัฐบาลไม่ได้มุ่งเฉพาะโครงการชุมชนพอเพียงเท่านั้น แต่มุ่งให้คนไทยมีแนวคิดสอดคล้องปรัชญานี้ ซึ่งการอนุมัติชุมชนพอเพียงนั้นอนุมัติไปเพียง 1 ใน 4 แต่เงินที่ลงไปยังน้อย เนื่องจากอยู่ในระหว่างที่ชุมชนกำลังจัดทำโครงการ ตนได้เห็นความสำเร็จในหลายชุมชน และได้ยินว่าบางพื้นที่ก็ขาดความพร้อมความเข้าใจอยู่บ้าง เช่น หลายชุมชนเห็นอีกชุมชนหนึ่งทำก็คิดทำตาม ในการประชุมปลัดกระทรวงก็ได้สั่งการให้ช่วยดูแล ภาพรวมคาดว่าน่าจะไปได้ดี เชื่อว่าหากชุมชนได้เสริมการรณรงค์ตรงนี้ก็น่าจะทำได้ง่ายขึ้น
"กอ.รมน.มีศักยภาพพอที่จะรวบรวมข้อเท็จจริงกับการปรับแนวคิดประชาชนให้แก้ปัญหาต่างๆ ด้วยตัวเอง ส่วนการประเมินโครงการนั้นได้ทำตลอดเวลาเพื่อดูว่ามีความสำเร็จมากน้อยแค่ไหน เปลี่ยนแปลงอย่างไร เบื้องต้นจะประมวลข้อมูลต่างๆ และเผยแพร่แนวคิด" นายอภิสิทธิ์กล่าว และตอบคำถามกรณีจะเพิ่มงบประมาณในงวดหน้าหรือไม่ว่า ยังไม่ทราบว่าจะมีงวดหน้าหรือไม่ แต่ภายใน 6 เดือนตามโครงการจะเผยแพร่แนวคิดและรวบรวมโครงการ
ผู้สื่อข่าวถามว่า งบ 1,000 ล้านเพียงพอหรือไม่ นายกฯ บอกว่าจริงๆ ไม่ได้เน้นเรื่องเงิน แต่เป็นการสร้างความตื่นตัวและดูตามความจำเป็นต่อไป สำหรับประชาชนเชื่อว่าจะพัฒนาไปได้ หลักคิดที่ปรากฏอยู่น่าจะเป็นธรรมชาติของมนุษย์ แต่การไม่พอเพียงเกิดจากการกระตุ้นเข้ามามากกว่า หากย้อนกลับไปหาธรรมชาติเชื่อว่าความพอเพียงอยู่ในตัวคนอยู่แล้ว เพียงแต่ภาครัฐต้องไปดึงออกมา
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เสนาธิการทหารบก กล่าวว่า กองทัพบกและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ลงพื้นที่เพื่อสำรวจความเดือดร้อนของประชาชนมาแล้ว 3 เดือน จำนวน 7 หมื่นหมู่บ้าน โดยแบ่งเจ้าหน้าที่ทหารลงพื้นที่ไปแล้ว 2,000 ชุด โดยใช้แนวคิดตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ใช้สติ มีเหตุผล และพอประมาณ เข้าไปดำเนินการ ทั้งนี้พบปัญหาทั้งหมด 300 เรื่อง และได้ดำเนินการแก้ไขไปแล้ว 100 กว่าเรื่อง ส่วนที่เหลือจะเสนอช่องทางให้ กอ.รมน.ผ่านไปทางรัฐบาล เพื่อดำเนินการแก้ไขต่อไป
‘เสธ.อู้’ สำนึกคุณ คมช. เสนออนุฯ ให้คงลากตั้ง ส.ว.
ไทยโพสต์ – วานนี้ (28 พ.ค.) คณะอนุกรรมการศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญและกฎหมายอื่นๆ ซึ่งมี พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช ส.ว.สรรหา ในฐานะประธานอนุกรรมการฯ ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม โดยที่ประชุมได้มีการพิจาณาข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการบังคับใช้รัฐธรรมนูญ ของคณะกรรมาธิการสามัญเพื่อศึกษาการบังคับใช้รัฐธรรมนูญปี 2550 วุฒิสภา
นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย ส.ว.สรรหา ในฐานะอนุกรรมการฯ กล่าวถึงข้อเสนอแนะของคณะกรรมาธิการสามัญฯ ในประเด็นการยุบพรรคการเมืองและเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งว่า คณะกรรมาธิการสามัญฯ ได้มีความเห็นออกเป็น 4 ความเห็น ประกอบด้วย
1.การยุบพรรคและเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งกรรมการบริหารพรรคการเมือง ในทางปฏิบัติไม่สามารถทำให้ผู้ที่ถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองยุติบทบาททางการเมืองได้อย่างแท้จริง เพราะอาจเชิดบุคคลอื่นเข้ามามีบทบาททางการเมืองแทน โดยตนเองเป็นผู้อยู่เบื้องหลัง ขณะที่มีคำสั่งยุบพรรคการเมืองเดิมก็สามารถตั้งพรรคการเมืองใหม่ได้ การยุบพรรคการเมืองหรือแก้ไขมาตรา 237 ของรัฐธรรมนูญ จึงอาจไม่ใช่วิธีการแก้ไขปัญหานักการเมืองทุจริต
2.จำนวนกรรมการบริหารพรรคการเมืองควรแต่งตั้งเท่าที่จำเป็นในการบริหารเท่านั้น 3. การทุจริตการเลือกตั้งเป็นการประกอบอาชญากรรมทางการเมือง จึงควรมีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญโดยเพิ่มบทลงโทษทางอาญาและรับโทษต้องรับโทษตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดพร้อมกันด้วย
4.การยุบพรรคการเมืองและเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง จะทำให้มีการสูญเสียบุคลากรที่มีความสามารถหลายด้าน อันเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศชาติ ดังนั้นควรจะต้องพิจารณาอย่างละเอียดรอบคอบและเป็นธรรมสำหรับทุกฝ่าย
พล.อ.เลิศรัตน์กล่าวว่า ขอให้อนุกรรมการฯ นำความเห็นเหล่านี้ไปพิจารณาด้วย ส่วนที่หาว่าตนจะแก้รัฐธรรมนูญนั้น ตนเป็น ส.ว.สรรหาที่มาจากการเสนอของ พล.อ.วินัย ภัททิยกุล อดีตเลขาธิการคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) แล้วจะหาว่าตนจะมาแก้รัฐธรรมนูญได้อย่างไร
จากนั้นที่ประชุมได้พิจารณาร่างรายงานของคณะอนุกรรมการศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่จะเสนอต่อคณะกรรมการสมานฉันท์ฯ ชุดที่มีนายดิเรก ถึงฝั่ง เป็นประธาน ในวันที่ 4-6 มิถุนายน โดยร่างดังกล่าวสรุปประเด็นแก้ไขรัฐธรรมนูญไว้ทั้งหมด 7 ประเด็น
1.การยุบพรรคการเมืองและเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของหัวหน้าพรรคการเมืองและกรรมการบริหารพรรค มาตรา 64 และมาตรา 237 โดยอนุกรรมการฯ เสียงส่วนใหญ่เห็นควรให้ยกเลิกเกี่ยวกับการยุบพรรคและการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรคทุกคน ส่วนอนุกรรมการฯ ส่วนหนึ่งเห็นว่ายังคงไว้ซึ่งการยุบพรรคและเพิกถอนสิทธิ
2.ที่มาของ ส.ส.มาตรา 93 ถึงมาตรา 94 ซึ่งอนุกรรมการฯ ส่วนใหญ่เห็นชอบให้ ส.ส.มาจากการเลือกตั้งแบบเขตเดียวเบอร์เดียว 400 คน และให้มาจากการเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ 100 คน และมีอนุกรรมการฯ ส่วนหนึ่งเห็นว่าให้ที่มาของ ส.ส.ยังเป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญปี 50 3.ที่มาของ ส.ว.มาตรา 111 ถึง 121 อนุกรรมการฯ ส่วนใหญ่เห็นควรให้แก้ไขที่มาของ ส.ว.โดยให้มาจากการเลือกตั้ง 200 คน แต่อนุกรรมการฯ ส่วนหนึ่งเห็นว่าให้คงไว้ซึ่งที่มาของ ส.ว.แบบมาจากการเลือกตั้งและการสรรหา ซึ่งเป็นไปตามรัฐธรรมนูญปี 50
4.การทำหนังสือสัญญาที่ต้องได้รับความเห็นชอบของรัฐสภา มาตรา 190 อนุกรรมการฯ มีความเห็นร่วมกันให้คงหลักการเดิมในมาตรา 190 ไว้ แต่เพิ่มเติมข้อความเกี่ยวกับประเภทหนังสือสัญญาใดที่ต้องได้รับความเห็นชอบต่อรัฐสภาไว้ในกฎหมายและเร่งรัดให้ออกกฎหมายว่าด้วยการกำหนดขั้นตอนและวิธีการจัดทำหนังสือสัญญาตามความวรรคห้า
5.การดำรงตำแหน่งทางการเมืองของ ส.ส.มาตรา 265 อนุกรรมการฯ เห็นร่วมกันในหลักการที่ให้แก้ไขเฉพาะกรณี ส.ส.ให้สามารถดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้ อาทิ ตำแหน่งเลขานุการและที่ปรึกษารัฐมนตรี เพื่อให้ ส.ส.ได้มีโอกาสเรียนรู้และสั่งสมประสบการณ์การทำงานด้านการเมืองและการบริหารราชการแผ่นดิน เพื่อเป็นการเตรียมพร้อมที่จะทำงานในตำแหน่งสำคัญต่อไป
6.การแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนให้กับประชาชนของ ส.ส.มาตรา 266 อนุกรรมการฯ ส่วนใหญ่เห็นชอบให้แก้ไขเพิ่มเติมหลักการในบทบัญญัติมาตรา 266 เพื่อให้ ส.ส.และ ส.ว.เข้าช่วยทำประโยชน์หรือแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนที่เกิดขึ้นผ่านส่วนราชการต่างๆ ได้ โดยเห็นว่าควรตัดข้อความในมาตรา 266 (1) ออก แล้วให้กำหนดไว้เช่นเดียวกับมาตรา 111 ของรัฐธรรมนูญปี 40
7.ประเด็นที่มีการเสนอให้มีการแก้ไขเพิ่มเติม เช่น การบัญญัติให้ศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติ กรณีบัญญัติของรัฐธรรมนูญที่กำหนดให้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเป็นกระบวนการตัดสินโดยศาลเดียว ซึ่งประเด็นดังกล่าวมีความสำคัญ แต่ที่ประชุมเห็นว่ายังไม่ควรนำมาพิจารณาในขณะนี้
อย่างไรก็ตาม นายชำนิ ศักดิเศรษฐ์ ส.ส.สัดส่วน พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะอนุกรรมการฯ ได้ติงว่า ในการเสนอแก้ไขมาตรา 237 เกี่ยวกับการซื้อสิทธิขายเสียงเป็นเรื่องเฉพาะตัว โดยหลักการจริงๆ การรับโทษน่าไม่เท่ากัน คนที่เป็นกรรมการบริหารพรรคหรือหัวหน้าพรรคควรรับโทษมากกว่า อย่างเช่นเพิกถอนสิทธิทางการเมือง 10 ปี
ขณะที่นายวิรัช รัตนเศรษฐ อนุกรรมการฯ ในส่วนพรรครวมใจไทยชาติพัฒนา กล่าวว่า ควรจะเขียนลงไปให้ชัดเจนว่าเราแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่ออะไร เพราะจะต้องมีคนสอบถามอยู่แล้วว่ารัฐธรรมนูญที่อนุกรรมการฯ เสนอแก้จะลดความขัดแย้งตรงไหน
พล.อ.เลิศรัตน์ ในฐานะประธานอนุกรรมการฯ กล่าวว่า หากเราจะเขียนว่าให้รัฐธรรมนูญนี้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น แต่มันจะไปกระแทกความรู้สึกของคนบางคน ดังนั้นต้องเลือกใช้คำเพื่อให้เกิดความสมานฉันท์ ไม่ให้คนอื่นรู้สึกว่าเราไปหักหาญน้ำใจเขา ดังนั้นตนจึงเลือกที่จะเขียนว่าได้ศึกษาแก้ไขรัฐธรรมนูญในเฉพาะประเด็นหลักๆ ที่เห็นว่าเป็นปัญหาและอุปสรรคต่อการปฏิบัติงานของฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหาร
นายประสพสุข บุญเดช ประธานวุฒิสภา กล่าวถึงกรณีที่คณะกรรมการสมานฉันท์ฯ เสนอให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ 2 ระยะว่า ถือเป็นทางออกที่ดีต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะการจะแก้ครั้งเดียวอาจจะทำได้ยาก ดังนั้นจึงจำเป็นต้องพิจารณาสิ่งที่เป็นเรื่องเร่งด่วนก่อน มาตราไหนที่เป็นอุปสรรคต่อการบริหารบ้านเมือง ถ้าแก้ได้ก็แก้ไปก่อน ถือว่าเรื่องนี้เข้าใจได้และเป็นข้อสรุปที่ดี
"เพราะสิ่งที่อนุกรรมการพิจารณาศึกษาแก้ไขรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่เกี่ยวข้องได้นำเสนอ 3-4 ประเด็น ก็คิดว่าน่าจะทำได้ โดยเฉพาะมาตรา 190 ก็น่าแก้ได้ ถ้าแก้เพื่อให้ไม่เป็นอุปสรรคการทำงานของรัฐบาล"
นายประสพสุขกล่าวว่า ส่วนพันธมิตรฯ ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ก็แล้วแต่มุมมอง แต่ต้องดูรายละเอียดและเนื้อหาของมาตรา อย่าไปบอกว่าแก้ได้-แก้ไม่ได้ และจะนำไปสู่ความขัดแย้งหรือไม่ ก็ต้องดูข้อเท็จจริงก่อนว่าจะแก้อย่างไร แล้วค่อยมาคิดต่อว่าจะทำอย่างไรต่อ ทั้งนี้เห็นการปรับถ้อยคำโดยให้กรรมการบริหารพรรครับผิดชอบโดยไม่ถึงยุบพรรค ส่วนตัวก็เห็นด้วยและคิดว่าน่าจะเป็นทางออกที่ดี
ศาลยกคำร้อง"ทักษิณ”ส่งทนาย แถลงเปิดคดียึดทรัพย์7.6หมื่นล.
เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ - ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง สนามหลวง วานนี้ (28 พ.ค.) นายสมศักดิ์ เนตรมัย ผู้พิพากษาอาวุโสในศาลฎีกา เจ้าของสำนวนคดียึดทรัพย์ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี พร้อมองค์คณะรวม 9 คน นัดพร้อมคดีที่อัยการสูงสุด ยื่นคำร้อง ขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินของ พ.ต.ท.ทักษิณ และครอบครัว จำนวน 76,621,603,061.05 บาท พร้อมดอกผลตกเป็นของแผ่นดิน เนื่องจาก พ.ต.ท.ทักษิณ มีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติ และได้มาซึ่งทรัพย์สินมาโดยการกระทำที่เป็นการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคล และประโยชน์ส่วนรวม
โดยศาลมีคำสั่งในคำร้องที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ผู้ถูกกล่าวหา ยื่นเมื่อวันที่ 28 พ.ค.ที่ผ่านมา ขออนุญาตให้ผู้รับมอบอำนาจของผู้ถูกกล่าวหา เป็นผู้แถลงเปิดคดีด้วยวาจาแทน ศาลพิจารณาแล้วเห็นว่า กรณีนี้ยังไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม ที่ศาลได้มีคำสั่งไปก่อนหน้านี้แล้วที่ให้ผู้ถูกกล่าวหา ทำคำแถลงเปิดคดีเป็นลายลักษณ์อักษรยื่นต่อศาล ดังนั้นจึงมีคำสั่งให้ยกคำร้อง
ส่วนที่ผู้ถูกกล่าวหา ยื่นคำร้องเมื่อวันที่ 26 พ.ค. ขออนุญาตส่งบัญชีรายชื่อพยาน และเรียกเอกสารหลักฐานที่อยู่ในความครอบครองของบุคคลภายนอกเพิ่มเติม ศาลพิจารณาแล้ว เห็นว่า กรณีมีเหตุความจำเป็นเพื่อประโยชน์ความยุติธรรมที่จะให้ผู้ถูกกล่าวหาได้ต่อสู้ แก้ข้อกล่าวหาได้อย่างเต็มที่ จึงอนุญาตตามคำร้อง และหากมีคำร้องในลักษณะนี้ให้เจ้าของสำนวนมีคำสั่งอนุญาตได้ตามคำร้อง
นอกจากนี้ที่ศาลได้กำหนดแนวทางกระบวนการพิจารณาคดี ให้อัยการผู้ร้อง และทนายความผู้ถูกกล่าวหา ผู้คัดค้าน ตั้งคำถามพยานแต่ละปาก เสนอต่อศาลพิจารณาไม่น้อยกว่า 15 วัน ก่อนเริ่มการพิจารณา หากพยานปากใดไม่สามารถมาเบิกความตามที่ศาลนัดได้ให้เลื่อนพยานปากลำดับต่อไปขึ้นมาเบิกความก่อน
ส่วนกรอบเวลาการพิจารณาศาลนัดไต่สวนพยานฝ่าย พ.ต.ท.ทักษิณ และผู้คัดค้านก่อน ซึ่งนัดไต่สวนครั้งแรก ในวันที่ 16 ก.ค.เวลา 09.30 น. ขณะที่คดีนี้ศาลอนุญาต อัยการนำพยานเข้าไต่สวนจำนวน 58 ปาก ส่วนผู้ถูกกล่าวหา และผู้คัดค้าน มีพยานเข้าไต่สวนจำนวน 56 ปาก ให้ใช้เวลาไต่สวนพยานฝ่ายละ 25 นัด
อัยการเลื่อนสั่งคดี 9 แกนนำ พธม.ไป 14 ก.ค.
นายกายสิทธิ์ พิศวงปราการ อธิบดีอัยการฝ่ายคดีอาญา นัดฟังคำสั่งคดีที่ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง นายสนธิ ลิ้มทองกุล นายพิภพ ธงไชย นายสมศักดิ์ โกศัยสุข นายสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) นายสุริยะใส กตะศิลา ผู้ประสานงาน นายไชยวัฒน์ สินสุวงศ์ นายอมร อมรรัตนานนท์ และนายเทิดภูมิ ใจดี แนวร่วมกลุ่มพันธมิตร ตกเป็นผู้ต้องหาที่ 1-9
ในข้อหาร่วมกันกระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา หรือวิธีการอื่นใด เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนในกฎหมายแผ่นดินหรือรัฐบาล ตามประมวลกฎหมายอาญา 116 ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี มั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ใช้กำลังประทุษร้ายขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย หรือกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใด เพื่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมืองโดยมีอาวุธ โดยเป็นหัวหน้าหรือเป็นผู้มีหน้าที่สั่งการ และเจ้าพนักงานสั่งให้เลิกไปแต่ไม่เลิก มาตรา 215 และ 216 ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 6,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ก่อนหน้านี้ทนายจำเลย ยื่นคำร้องต่ออัยการให้มีคำสั่งถึงพนักงานสอบสวนกองบัญชาการตำรวจนครบาล ให้สอบปากคำพยานเพิ่มเติมรวม 38 ปาก อีกทั้งอัยการเห็นว่า สำนวนบางประเด็นยังไม่สมบูรณ์ และไม่สอดคล้องกับภาพเหตุการณ์ในแผ่นวีซีดี ซึ่งเป็นหลักฐานกว่า 200 แผ่น จึงเลื่อนสั่งคดีออกไปเป็นวันที่ 14 ก.ค.นี้
“บิ๊กบัง คมช.” แนะนายกฯอย่าทะเลาะพม่าเพื่อนบ้านต้องรักกัน
ไทยรัฐ - วานนี้ (28 พ.ค.) ที่กรมประชาสัมพันธ์ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน อดีตประธาน คมช. อดีตรองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายความมั่นคง และอดีตผู้บัญชาการทหารบก กล่าวกรณี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี แสดงท่าทีแข็งกร้าวต่อรัฐบาลทหารพม่าประเด็นการปล่อยตัวนางอองซานซูจี ผู้นำฝ่ายค้านในพม่าว่า ทหารมีหน้าที่ทำตามคำสั่งและสนองนโยบายของรัฐบาล แต่สิ่งที่สำคัญคือความสัมพันธ์ของประเทศไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน
"บางคนพูดภาษาเดียวกัน แต่ทำไมเราไม่ได้รักกัน กลมเกลียวจริงๆ กระทรวงการต่างประเทศต้องศึกษาว่าเกิดอะไรขึ้น ผมมองว่า เรากับประเทศเพื่อนบ้านต้องรักกัน เงื่อนที่เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์ เป็นเงื่อนไขที่ต้องแก้ไข ให้ความขัดแย้งลดลง เป็นความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน" อดีตประธาน คมช. กล่าว และว่า ช่วงที่ตนเป็นผู้บัญชาการทหารบก พูดในกองทัพเสมอว่า ทะเลาะกับใครทะเลาะได้ แต่อย่าทะเลาะกับประเทศพม่า เพราะต้องมองยุทธศาสตร์ของชาติและผลประโยชน์ของชาติ อย่าลืมว่าประเทศพม่ามีความสัมพันธ์กับใครหรือมีใครอยู่เบื้องหลัง ใครจะได้ผลประโยชน์จากความขัดแย้งตรงนี้ ถ้าลืมมองตรงนี้เราจะขาดทุน เพราะในประเทศพม่ามี ทั้งทรัพยากรน้ำ ดิน ทะเล และใต้ดิน เชื่อหรือไม่ว่าทรัพยากรใต้ดินของประเทศพม่าที่น่าสนใจมาก คือ สามารถนำมาใช้สร้างผลิตโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ได้ ดังนั้นการดำเนินการอะไรต้องพิจารณาดูว่าอะไรที่เป็นประโยชน์แห่งชาติ
พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ยังกล่าวในงานเสวนาหัวข้อเรื่อง "สื่ออย่างไรสร้างสรรค์ สมานฉันท์คนในชาติ" ถึงบทบาทของนายอภิสิทธิ์ ในการแก้ปัญหาความขัดแย้งว่า ทุกคนได้เห็นเหตุการณ์ที่พัทยาและกระทรวงมหาดไทย ซึ่งนายกฯ ได้แสดงออกถึงความเป็นผู้นำที่มีความชัดเจน เด็ดเดี่ยว น่ารัก เป็นองค์ประกอบที่ทำให้สังคมโดยรวมมองด้วยความชื่นชมและรับได้
อดีตประธาน คมช.ปฏิเสธข่าวจะหันมาลงเล่นการเมืองและข่าวตั้งพรรคการเมือง เพราะเรื่องนี้ยังไม่ได้คิด ไม่รู้ไปเอาข่าวมาจากไหน แต่หากใครจะทำอะไรที่ไม่ผิดรัฐธรรมนูญก็ทำได้ เป็นสิทธิเสรีภาพ ซึ่งตนในฐานะของคนที่เกษียณราชการ มองบ้านเมืองทั้งช่วงสงกรานต์และหน้ากระทรวงมหาดไทยที่ผ่านมายอมรับว่าสงสารประเทศ
"หากจะมีการชวนไปเล่นการเมือง สำหรับผม ต้องคิดให้รอบคอบก่อนว่ามีข้อดี-ข้อเสียอย่างไร ต้องใช้การวิเคราะห์ให้ทั่วถึง ไม่ใช่ใครมาจูงไปทางไหนก็ไป ส่วนกรณี พล.อ.อ.ชลิต พุกผาสุข นั้น ส่วนตัวไม่มีโอกาสพบกันบ่อย และถ้าพบกันก็ไม่คุยเรื่องการเมือง เพราะทุกคนกำลังมีความสุข ซึ่งใครมาถามผมว่าบ้านเมืองเป็นอย่างไร ก็บอกว่าบ้านเมืองดี เพราะตนไม่ฟังข่าว ดูหนัง ดูสารคดี ดูกีฬา เขียนหนังสือ เชื่อว่า พล.อ.อ.ชลิตคงคิดเหมือนผม" พล.อ.สนธิกล่าว
รสนา นำ30 ส.ว. ยื่นหนังสือเรีกร้องพม่าปล่อยออง ซาน ซูจี
เว็บไซต์ไทยรัฐ - วานนี้ (28 พ.ค.)น.ส.รสนา โตสิตระกูล ส.ว.กทม. กล่าวว่า เมื่อวันที่ 27 พ.ค.ที่ผ่านมาได้มอบให้เจ้าหน้าที่ไปยื่นหนังสือถึง พล.อ.อาวุโส ตาน ฉ่วย ประธานสภาสันติภาพและการพัฒนาการแห่งรัฐสหภาพเมียนมาร์ (SPDC) ที่สถานทูตพม่า ประจำประเทศไทย โดยตนพร้อมด้วย 29 ส.ว. ได้ร่วมลงชื่อเพื่อขอความเป็นธรรมแก่นางอองซาน ซูจี ผู้นำพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย(NLD) โดยมีเนื้อหาระบุว่า
"ในฐานะสมาชิกวุฒิสภาแห่งราชอาณาจักรไทย มีความประสงค์ให้ท่านรับทราบถึงความห่วงใยในเกียรติภูมิแห่งรัฐบาลสหภาพเมีย นมาร์ ภายใต้การนำของท่านที่กำลังตกต่ำเป็นประวัติการณ์ภายใต้ชาวโลกและประเทศไทย ด้วยจุดยืนของกัลยาณมิตรที่ยังยึดมั่นในสัมพันธภาพอันดีระหว่างประเทศไทยและ สหภาพเมียนมาร์ จึงขอวิงวอนอย่างอ่อนน้อมให้ท่านได้ใช้ดุลยพินิจเพื่อตัดสินใจปล่อยนางออง ซาน ซูจี ในเร็ววันเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือทางด้านสิทธิมนุษยชนและสร้างสรรค์ บรรยากาศประชาธิปไตยให้เบ่งบาน ซึ่งการตัดสินใจของท่านย่อมเป็นการสร้างความชอบธรรมทางการเมืองและเสถียรภาพ ที่แท้จริงให้แก่รัฐบาลภายใต้การนำของท่าน ซึ่งการปลดปล่อยนางอองซาน ซูจี จะเป็นผู้นำในการสร้างรุ่งอรุณแห่งสิทธิมนุษยชนในสหภาพเมียนมาร์ ซึ่งจะกลายเป็นประวัติศาสตร์ทางการเมืองหน้าใหม่ที่จะจารึกไว้ใน ประวัติศาสตร์ของภูมิภาคนี้ตราบนานเท่านาน" ส.ว.กล่าว
เศรษฐกิจ |
กกร.ชม.ยื่นรัฐทบทวนรื้อประมูลศูนย์ประชุมฯ กระแสหนุนเริ่มแผ่วฟันธงโครงการไม่ได้เกิด
ASTV ผู้จัดการรายวัน - ศูนย์ข่าวเชียงใหม่-คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน (กกร.) จังหวัดเชียงใหม่สรุปผลประชุม เตรียมยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีและก.ท่องเที่ยวฯให้มีการทบทวนการยกเลิกประมูลสร้างศูนย์ประชุมฯด้วยเหตุราคาประมูลสูงกว่าราคากลาง ระบุหากเลื่อนออกไปอีกเชียงใหม่สูญเสียโอกาสไปเรื่อย ๆ ด้านกระแสที่เคยหนุนเริ่มแผ่วหันมาสนใจการปรับปรุงระบบขนส่งและคมนาคมเป็นการเร่งด่วนก่อน
นายณรงค์ คองประเสริฐ ประธานหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยถึง กรณีที่มีการยกเลิกสัญญาก่อสร้างศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติจังหวัดเชียงใหม่ ด้วยเหตุผลที่ว่าราคาจัดซื้อจัดจ้างสูงเกินกว่างบประมาณที่ตั้งไว้ คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน(กกร.)จังหวัดเชียงใหม่ ที่ประกอบด้วย สภาอุตสาหกรรมจังหวัดเชียงใหม่ ชมรมธนาคารจังหวัดเชียงใหม่ และหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ ได้มีการประชุมหารือร่วมกัน และมีข้อสรุปว่าจะทำหนังสือเพื่อยื่นถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา รวมทั้งนายกรัฐมนตรี เพื่อขอให้พิจารณาทบทวนเรื่องดังกล่าว ภายในเดือนพฤษภาคม 2552
ทั้งนี้เนื่องจากภาคเอกชนจังหวัดเชียงใหม่มีความเป็นห่วงกังวลว่า บริษัทเอกชนที่ถูกยกเลิกสัญญาก่อสร้างจะยื่นอุทธรณ์เรื่องดังกล่าวต่อศาล ซึ่งจะทำให้การดำเนินโครงการนี้ยิ่งล่าช้าออกไปอีกนานจนกว่าขั้นตอนในกระบวนการในชั้นศาลจะสิ้นสุด ตลอดจนอาจจะทำให้โครงการนี้ที่ภาคเอกชนจังหวัดเชียงใหม่พยายามผลักดันมานานกว่า 17 ปี จนกระทั่งเป็นรูปเป็นร่าง ต้องกลับไปตั้งต้นเริ่มนับหนึ่งใหม่อีกครั้ง ทั้งๆ ที่กระบวนการขั้นตอนที่ผ่านมามีความคืบหน้าไปมากเหลือเพียงการก่อสร้างเท่านั้น
สำหรับผลกระทบหากโครงการนี้มีความล่าช้าออกไปอีก ประธานหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ แสดงความเห็นว่า จากการประเมินเบื้องต้นคาดว่าจะทำให้จังหวัดเชียงใหม่ต้องสูญเสียรายได้ที่ควรจะได้รับไปราวปีละประมาณ 300-400 ล้านบาท เพราะหากการก่อสร้างศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติแล้วเสร็จ พร้อมเปิดใช้จะเป็นปัจจัยที่ช่วยดึงดูดใจให้มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าสู่จังหวัดเชียงใหม่เป็นจำนวนมากและไม่จำกัดเฉพาะช่วงไฮซีซันเท่านั้น โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวที่เป็นกลุ่มนักธุรกิจที่มาประชุมสัมมนา ซึ่งมีค่าใช้จ่ายต่อหัวสูง
ด้านผู้ประกอบการโรงแรมในจังหวัดเชียงใหม่แห่งหนึ่ง แสดงความเห็นว่า บางทีการชะลอโครงการก่อสร้างศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติจังหวัดเชียงใหม่ออกไปสักระยะหนึ่ง ในช่วงนี้อาจจะเป็นการดีก็ได้ เนื่องจากหากมีการก่อสร้างแล้วเสร็จ จังหวัดเชียงใหม่อาจจะได้ศูนย์ประชุมขนาดใหญ่ก็จริง แต่จะมีปัญหาอีกอย่างหนึ่งคือระบบการคมนาคมขนส่งขนาดใหญ่ ที่จะขนผู้คนจำนวนมากเข้ามาและออกจากพื้นที่ที่ยังมีข้อจำกัด ยกตัวอย่างเที่ยวบินที่มีอยู่ในปัจจุบันก็ยังมีข้อจำกัดในการรองรับการเดินทางของผู้คนครั้งละมากๆ
ดังนั้น จึงมีความเห็นว่าก่อนจะมีการผลักดันโครงการก่อสร้างศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติจังหวัดเชียงใหม่ให้เป็นผลสำเร็จ บางทีควรจะมีการเร่งผลักดันให้มีการพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งที่มาสู่จังหวัดเชียงใหม่และออกไปให้ดีเสียก่อน หรืออย่างแย่ๆ ก็ควรจะมีการดำเนินการไปพร้อมๆ กัน ซึ่งเห็นด้วยกับการพัฒนาระบบคมนาคมด้วยการก่อสร้างระบบรถไฟรางคู่ความเร็วปานกลาง เชื่อมต่อกรุงเทพฯ-เชียงใหม่
ในส่วนผลกระทบต่อผู้ประกอบการโรงแรมหากโครงการนี้ล่าช้าออกไป ผู้ประกอบการโรงแรมรายเดียวกันนี้ กล่าวว่า ไม่ต้องเป็นห่วงกังวลกันมากนักว่าแต่ละโรงแรมจะสูญเสียโอกาสในกลุ่มลูกค้าการจัดประชุมสัมมนา เพราะปัจจุบันโรงแรมหลายแห่งต่างมีการเดินหน้าทำการตลาดกลุ่มนี้กันอย่างเต็มที่ และก็มีการเตรียมพร้อมสถานที่ไว้รองรับการประชุมสัมมนาโดยตรง ซึ่งถึงแม้จะยังไม่สามารถใช้จัดการประชุมขนาดใหญ่ได้ แต่ก็รองรับการประชุมสัมมนาต่างๆ ได้ในระดับหนึ่ง
เพราะในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา จังหวัดเชียงใหม่เป็นเมืองที่เติบโตมาก จนการพัฒนาระบบสาธารณูปโภค การคมนาคมขนส่ง ที่พัก รวมทั้งแหล่ง ท่องเที่ยวใหม่ๆบางแห่งยังเติบโตไม่ทัน และจุดขายทางด้านการท่องเที่ยวของเชียงใหม่ยังคงอยู่ในรูปแบบเดิม คือ การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ และศิลปวัฒนธรรม ทั้งนี้เมื่อพิจารณาถึงศักยภาพของเชียงใหม่ในปัจจุบัน จะพบว่ามีความพร้อมในการพัฒนาการท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ นั่นคือ กลุ่มประชุมสัมมนา หรือ ตลาดไมซ์ (MICE) ฉะนั้นในช่วงที่โครงการก่อสร้างศูนย์ประชุมฯยังไม่เกิดหรืออาจจะไม่เกิดด้วยซ้ำนั้น ภาครัฐควรจะหันมาส่งเสริมและสนับสนุนในส่วนของการพัฒนาระบบขนส่งและการคมนาคมให้มันดีขึ้นกว่าเดิมเพื่อเป็นการรองรับการพัฒนาขั้นพื้นฐานจะดีกว่า
“และแม้ว่าภาครัฐจะมีนโยบายส่งเสริมการจัดสร้างศูนย์ประชุมขนาด ใหญ่ เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวกลุ่มไมซ์ที่เข้ามาในประเทศไทย แต่ก็ยังไม่มีความเด่นชัดในข้อตกลงและยังไม่มีทีท่าว่าจะมีการดำเนินการใดๆ ”
ดังนั้นการมีศูนย์ประชุมในจังหวัดเชียงใหม่ ทั้งที่เกิดจากบริษัทหรือที่จะเกิดจากทางภาครัฐ ยังถือเป็นส่วนสร้างความสมดุลให้กับการท่องเที่ยวเชียงใหม่ ซึ่งปัจจุบันมีความนิยมเข้ามาท่องเที่ยวเฉพาะไฮซีซันเท่านั้น และขณะเดียวกัน ตลาดในประเทศยังได้รับผลกระทบจากสภาวะเศรษฐกิจ ส่งผลให้นักท่องเที่ยวไทยเดินทางมาเชียงใหม่น้อยลงกว่า 50%
คุณภาพชีวิต |
สนข. เสนอโครงการรถไฟฟ้าเชื่อม 2 สนามบิน 3.2 หมื่นล้านบาท
เว็บไซต์เดลินิวส์ - นายชาญชัย สุวิสุทธะกุล ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาระบบการขนส่งและจราจร สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เปิดเผยวานนี้ (28 พ.ค.) ว่า สนข.ได้จัดการสัมมนารับฟังความคิดเห็นงานออกแบบรายละเอียดโครงการระบบขนส่งรถไฟเชื่อมท่าอากาศยานดอนเมือง-ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เป็นครั้งที่ 2 ซึ่งขณะนี้ที่ปรึกษาได้สรุปรายละเอียดทั้งเรื่องแนวเส้นทาง ตำแหน่งสถานี รูปแบบ ระบบรถไฟฟ้า และอยู่ระหว่างการจัดทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งยังมีปัญหาการกำหนดแนวเวนคืนในบางจุด ซึ่งทางที่ปรึกษาได้หาแนวทางที่จะลดผลกระทบในภาพรวมให้น้อยที่สุดโดยเขตทางส่วนใหญ่อยู่ในแนวเส้นทางรถไฟ ตั้งแต่สถานีพญาไท ไปตามทางรถไฟสายเหนือ ถึงบริเวณสถานีดอนเมือง เป็นระบบรถไฟฟ้าที่วิ่งด้วยความเร็วสูงสุดได้ถึง 160 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ขนาดรางมาตรฐาน 1.435 เมตร ใช้กระแสไฟฟ้าที่รับไฟฟ้าเหนือตัวรถ ซึ่งต่างจากรถไฟฟ้าสายสีแดง บางซื่อ-รังสิต ที่เป็นระบบรถไฟฟ้า ที่วิ่งด้วยความเร็วสูงสุดประมาณ 100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ใช้รางขนาด 1 เมตรและรับกระแสไฟจากรางที่ 3 โดยทั้ง 2 โครงการไม่เป็นการซ้ำซ้อนเพราะมีวัตถุประสงค์ต่างกัน แม้ว่านโยบายของรัฐบาลขณะนี้จะกำหนดให้ใช้สนามบินเดียว แต่โครงการในเส้นทางนี้ยังมีความจำเป็นสำหรับผู้ที่อยู่ในเมืองที่จะเดินทางไปยังสนามบินสุวรรณภูมิ ซึ่งผลการสำรวจยังมีปริมาณผู้โดยสารที่อาศัยอยู่ในบริเวณดอนเมืองและพื้นที่ใกล้เคียงไปทำงานที่สุวรรณภูมิ นอกจากนี้ยังรองรับสถานีกลางบางซื่อ ซึ่งจะเป็นศูนย์คมนาคมขนส่งทางรถไฟขนาดใหญ่ในอนาคต รวมทั้งสามารถรองรับโครงการรถไฟความเร็วสูงของ รฟท. ไปยังจังหวัดนครสวรรค์ และจังหวัดนครราชสีมา โดยหลังจากนี้จะมีการรับฟังความเห็นอีก 1 ครั้งและสรุปผลการออกแบบรายละเอียด เพื่อเสนอให้ ครม. พิจารณาต่อไป
สำหรับโครงการระบบขนส่งทางรถไฟเชื่อมท่าอากาศยานดอนเมือง-ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ มีระยะทาง 22 กิโลเมตร มีลักษณะการเดินรถไฟฟ้าเหมือนโครงการแอร์พอร์ตเรลลิงก์ประกอบด้วย ระบบรถไฟฟ้าธรรมดา จอดทุกสถานี และระบบรถไฟฟ้าด่วน จอดเฉพาะสถานีดอนเมือง มักกะสันและบางซื่อ มูลค่าโครงการประมาณ 3.2 หมื่นล้านบาท
รฟท.เปิดแผนฟื้นฟู10ปีได้แสนล้านพ้นขาดทุนซ้ำซาก
เว็บไซต์ไทยรัฐ - วานนี้ (28 พ.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงาน จากการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ว่าในแผนปฏิบัติการในการปรับปรุงโครงสร้าง และการจัดตั้งบริษัทเดินรถและบริษัทบริหารทรัพย์สินของ รฟท. หลังการปรับปรุงครั้งล่าสุดตามข้อสังเกตของคณะกรรมการกำกับนโยบายรัฐวิสาหกิจ (กนร.) ซึ่งจะมีการนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) สัปดาห์หน้า ในแผนดังกล่าวนอกจากจะมีการจัดตั้งบริษัทลูก 2 บริษัทแล้ว รฟท. ได้เสนอประมาณการทางการเงินไว้เป็นระยะเวลา 10 ปี (พ.ศ. 2552-2561) หากดำเนินการตามแผนที่ รฟท.จัดทำเสนอจะทำให้รายได้ของ รฟท.เพิ่มขึ้นจาก 79,683 ล้านบาท เป็น 109,521 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 29,838 ล้านบาท เนื่องจากปริมาณการขนส่งเพิ่มขึ้น ส่วนจำนวนผู้โดยสารจะเพิ่มขึ้นจาก 46,068 ล้านคน เป็น 50,257 ล้านคน และรายได้จากค่าโดยสารจะเพิ่มขึ้นจาก 4,380.236 ล้านบาท เป็น 8,359 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 9.08%
อย่างไรก็ตาม เมื่อโครงการก่อสร้างทางคู่ต่างๆ รวม 832 กิโเลมตรแล้วเสร็จ บริษัทเดินรถสามารถเพิ่มการขนส่งได้จาก 13.7 ล้านตันต่อปี เป็น 27.4 ล้านตันต่อปี หรือสามารถเพิ่มส่วนแบ่งการตลาดจาก 2% เป็น 4% นอกจากนี้ โครงข่ายทางรถไฟตามแผนการปรับโครงสร้างจะเพิ่มความจุของทางทำให้มีความจุของทางส่วนเกิน พอที่จะให้เอกชนจัดหารถจักรพ่วงเองเพื่อมาเดินรถสินค้าได้ประมาณ 6.5 ล้านตันต่อปี โดยเอกชนจะต้องเสียค่าใช้ทางให้กับ รฟท. ส่งผลให้ภาครัฐมีรายได้ที่จะนำมาสนับสนุนค่าใช้จ่ายซ่องบำรุงทางและการจัดการเดินรถ (ไอเอ็มโอ) เพิ่มขึ้น ถือเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งระบบรางจากการมีส่วนร่วมจากภาคเอกชน
รายงานข่าวแจ้งว่า แผนดังกล่าวจะไม่มีทางเป็นไปได้ หาก ครม.ไม่อนุมัติตามที่เสนอ ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นแล้ว ปริมาณการขนส่งจะยังคงเดิมเพราะไม่ได้มีการปรับปรุงบริการใดๆ และจะส่งผลให้ รฟท.ขาดทุนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยคาดว่าในระยะเวลา 10 ปี รฟท.จะขาดทุนประมาณ 69,320 ล้านบาท ซึ่งจะได้รับการชดเชยจากภาครัฐทั้งจำนวน เป็นไปตามมาตรา 43 ของ พ.ร.บ.การรถไฟแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2494 แต่หากดำเนินการตามแผน ภาครัฐจะอุดหนุนค่าซ่อมบำรุงโครงสร้างพื้นฐานและการจัดการเดินรถ (ไอเอ็มโอ) ร้อยละ 70 ซึ่งคิดเป็นเงิน 48,426 ล้านบาท ขณะที่บริษัทเดินรถจะจ่ายค่าใช้ทางคิดเป็นร้อยละ 30 ของ ไอเอ็มโอ นอกจากนี้ ภาครัฐจะต้องจ่ายเงินสนับสนุนสำหรับการบริการประชาชนผู้มีรายได้น้อย (พีเอสโอ) คิดเป็น 40,000 ล้านบาท แต่หากดำเนินการการตามแผน ภาครัฐจะจ่ายเงินสนับสนุน พีเอสโอน้อยลงเหลือเพียง 25,376 ล้านบาท เนื่องจากกรณีดำเนินการตามแผนเงินสนับสนุน พีเอสโอ จะตัดค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐานออกไป เช่น ค่าซ่อมบำรุงและค่าดอกเบี้ยโครงสร้างพื้นฐาน
สำหรับประเมินรายได้ของบริษัท เดินรถ (แอร์พอร์ตลิงค์) จะมีรายได้รวม ตั้งแต่ปี 2553-2561 ประมาณ 12,325 ล้านบาท โดยรายได้ดังกล่าวมาจาก 2 แหล่งใหญ่คือ 1. การขนส่งผู้โดยสาร ซึ่งมาจากรถด่วนที่เก็บอัตราเดียว 150 บาทต่อเที่ยว คาดว่าจะมีผู้โดยสารประมาณ 4,000 คนต่อวัน ในปีแรกและจะเพิ่มปีละ 10% และรายได้จากค่าโดยสารรถ ซิตี้ ไลน์ ที่กับค่าโดยสาร 15-40 บาท และมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยที่ 32 บาทต่อเที่ยว มีผู้โดยสารปีแรก 40,000 คนต่อวัน และประมาณการเพิ่มขึ้นอีกปีละ 10% 2. รายได้อื่นๆ ได้แก่รายได้จากการให้เช่าพื้นที่แก่ร้านค้า ค่าโฆษณาและที่จอดรถ ส่วนบริษัทบริหารสินทรัพย์จะมีรายได้ตั้งแต่ปี 2553-2567 คาดว่าจะเพิ่มขึ้นปีละ 5% รวม 15 ปี เป็นเงิน 37,033 ล้านบาท
ต่างประเทศ |
สหรัฐยกระดับภัยคาบสมุทรโสม
เว็บไซต์ไทยโพสต์ - กระทรวงกลาโหมของเกาหลีใต้เปิดเผยเมื่อวันที่ 28 พ.ค.ว่า กองทัพบกและกองทัพอากาศของเกาหลีใต้กำลังจับตาดูความเคลื่อนไหวบริเวณพรมแดนทั้งภาคพื้นดินและทางอากาศอย่างใกล้ชิด ภายหลังเกาหลีเหนือประกาศในวันพุธที่ผ่านมาว่า ได้ยกเลิกพันธะตามข้อตกลงสงบศึกชั่วคราวที่มีผลหลังสิ้นสุดสงครามเกาหลีเมื่อปี 2496
คณะเสนาธิการทหารร่วมของเกาหลีใต้ที่บัญชาการทหารสหรัฐ 28,500 นาย และทหารเกาหลีใต้ 670,000 นาย เผยด้วยว่า กองบัญชาการร่วมระหว่างเกาหลีใต้กับสหรัฐได้ยกระดับการระวังภัยเพื่อรับมือกับภัยคุกคามร้ายแรงจากเกาหลีเหนือ โดยถือเป็นระดับเตือนภัยสูงสุดนับแต่เมื่อครั้งเกาหลีเหนือทดสอบนิวเคลียร์ครั้งแรกเมื่อเดือน ต.ค. 2549
ความตึงเครียดทางทหารมีมากขึ้นหลังจากเกาหลีเหนือทดสอบอาวุธนิวเคลียร์อีกครั้งเมื่อวันจันทร์ ซึ่งครั้งนี้รุนแรงกว่าครั้งแรกหลายเท่า และยังตามติดด้วยการยิงทดสอบมิสไซล์พิสัยใกล้อีก 5 ลูกในวันเดียวกันและวันต่อมา
นางฮิลลารี คลินตัน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐ กล่าวย้ำอีกครั้งเมื่อวันพุธว่า สหรัฐยังมีเจตนาแน่วแน่ที่จะช่วยปกป้องญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ จากสิ่งที่โฆษกทำเนียบขาวระบุว่าเป็น "การข่มขู่, วางโต และคุกคาม" ของเกาหลีเหนือ
ท่าทีไม่พอใจของเกาหลีเหนือล่าสุดเกิดสืบเนื่องจากรัฐบาลโซลตัดสินใจเข้าร่วมโครงการความริเริ่มความมั่นคงด้านการแพร่กระจายอาวุธ (พีเอสไอ) ที่สหรัฐเป็นโต้โผ ในการหยุดยั้งการแพร่กระจายของอาวุธอานุภาพทำลายล้างสูง โครงการนี้รวมถึงการสั่งหยุดและตรวจค้นเรือต้องสงสัย แม้เกาหลีใต้จะชี้แจงว่าเรือสินค้าของเกาหลีเหนือยังสามารถข้ามเขตแดนทางทะเลของตนตามข้อตกลงปี 2548 ได้ก็ตาม
กระนั้น รัฐบาลเปียงยางกลับตอบโต้ว่า การเข้าร่วมพีเอสไอเท่ากับการประกาศสงคราม และว่ากองทัพของตนเลิกปฏิบัติตามข้อตกลงพักรบชั่วคราวนั้นแล้ว และขู่ว่าจะโจมตีทางทหารต่อเกาหลีใต้หากเรือของตนถูกหยุดตรวจค้น
อย่างไรก็ดี ทำเนียบขาวเผยว่า การขู่ฉีกข้อตกลงพักรบคราวนี้ของเกาหลีเหนือไม่ใช่ครั้ง แต่เป็นครั้งที่ 5 แล้วในรอบ 15 ปี
ขณะเดียวกัน นักการทูตตะวันตกประจำองค์การสหประชาชาติรายหนึ่งเผยว่า มหาอำนาจชั้นนำได้เห็นพ้องกับการออกข้อมติใหม่เพื่อลงโทษเกาหลีเหนือให้รุนแรงขึ้น แม้ว่าการหารือยังอยู่ในขั้นต้น โดยข้อเสนอที่มีความเป็นไปได้รวมถึงการเพิ่มรายชื่อบุคคล องค์กรหรือหน่วยงานในบัญชีห้ามเดินทางหรือถูกคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ, การขยายมาตรการห้ามนำเข้าและส่งออกอาวุธรวมทั้งหมด ไม่ใช่เฉพาะอาวุธหนัก, การตรวจสอบการขนส่งสินค้าที่เข้มงวดขึ้น, อายัดทรัพย์สินที่อยู่นอกประเทศ และไม่อนุญาตให้เข้าถึงธุรกรรมการเงินการธนาคารระหว่างประเทศ
คาดว่าคณะมนตรีความมั่นคงของยูเอ็นจะประชุมเต็มคณะเพื่อพิจารณาร่างข้อมติคว่ำบาตรใหม่นี้อย่างเร็วในสัปดาห์หน้า
อีกทางหนึ่ง นายกฯ ทาโร อาโซะ ของญี่ปุ่นได้เรียกร้องให้รัฐบาลสหรัฐใส่ชื่อเกาหลีเหนือกลับสู่บัญชีดำประเทศที่สนับสนุนลัทธิก่อการร้าย หลังจากสหรัฐถอนชื่อไปเมื่อปีก่อนเพื่อทดแทนที่เกาหลีเหนือมีความคืบหน้าในการปิดโรงปฏิกรณ์นิวเคลียร์ยองเบียน
โรงงานยองเบียนแห่งนี้ใช้ผลิตพลูโตเนียมเพื่อทำอาวุธนิวเคลียร์ สื่อเกาหลีใต้เพิ่งรายงานวันก่อนว่าพบสัญญาณว่าเกาหลีเหนือเปิดโรงงานนี้อีกครั้งแล้ว แต่เจ้าหน้าที่กลาโหมสหรัฐปฏิเสธในภายหลังว่าภาพถ่ายดาวเทียมพาณิชย์ไม่เห็นไอน้ำพวยพุ่งจากโรงปฏิกรณ์