29 พ.ค.52 ที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา วัฒน์ วรรลยางกูร นักเขียนรางวัลศรีบูรพา พร้อมเครือข่ายราษฎรนักเขียนศิลปินเพื่อประชาธิปไตย (PEOPLE`S WRITER & ARTIST DEMOCRACY NETWORK – PWAD) อาทิ ไม้หนึ่ง ก.กุนที, ทองขาว ทวีปรังษีนุกูล ร่วมเสวนาเรื่องกวีและเสรีภาพ โดยวัฒน์ ได้แถลงข่าวในช่วงต้นถึงกรณีที่ถูกขอร้องอย่างไม่เป็นทางการให้ออกจากการเป็นกรรมการรางวัลนายอินทร์อะวอร์ด ประเภทนิยาย หลังจากที่อยู่ในตำแหน่งนี้มานานหลายปี โดยในเบื้องต้นได้ยินเพียงข่าวลือว่าถูกคว่ำบาตรจากบริษัทอัมรินทร์ จนกระทั่งคนใกล้ชิดที่อยู่ในบริษัทดังกล่าวได้เขียนจดหมายขอร้องให้ยุติการทำหน้าที่เนื่องจากมีแรงเสียดทานปัญหาขั้วทางการเมือง โดยวัฒน์ระบุว่าจุดแตกหักน่าจะอยู่ที่การออกแถลงการณ์ในนามเครือข่ายราษฎรนักเขียนศิลปินฯ เรื่อง แถลงการณ์เพื่อนนักเขียน กวี เพื่อประชาธิปไตยและเครือข่ายเดือนตุลา เมื่อวันที่ 1 เม.ย.ที่ผ่านมาเพื่อสนับสนุนการเคลื่อนไหวของคนเสื้อแดง
เขากล่าวว่า เหตุที่ต้องมาแถลงข่าวครั้งนี้ไม่ใช่เพราะความโกรธแค้น ความเสียใจส่วนตัว หากแต่เห็นว่าสิ่งนี้สะท้อนว่าสังคมไทยไม่ยอมรับความคิดเห็นที่แตกต่าง และปรากฏการณ์เช่นนี้ก็ปรากฏมากขึ้นโดยไม่มีใครทัดทาน เช่นกรณีที่บก.ใหญ่และคอลัมนิสต์ใหญ่หนังสือพิมพ์รายวันคนหนึ่งถูกแขวนปากกา
“ถ้าเราไม่พูด ไม่ไหวตัวอะไรเลย เผด็จการอันแนบเนียนจะคุกคามเรามากขึ้นเรื่อยๆ”
วัฒน์กล่าวด้วยว่า จากเหตุการณ์ดังกล่าวทำให้เขาตัดสินใจลาออกจากการเป็นคณะกรรมการรางวัลพานแว่นฟ้าของรัฐสภาด้วย เนื่องจากเห็นว่า 6-7 ปีที่ดำรงตำแหน่งกรรมการนั้น ตัวเขาล้มเหลวในการต่อสู้เรื่องประชาธิปไตย พร้อมทั้งยืนยันว่าไม่ได้จากแรงกดดันจากภายในแต่อย่างใด อย่างไรก็ตาม เขาวิจารณ์ว่าแม้รางวัลพานแว่นฟ้าจะก่อตั้งขึ้นเพื่อส่งเสริมเรื่องประชาธิปไตย แต่งานเขียนที่ได้รางวัลส่วนใหญ่ก็ยังคงเป็นการพูดความจริงด้านเดียวคือ ความชั่วร้ายของนักการเมือง ซึ่งเป็นเรื่องจริงและเป็นที่เปิดเผย แต่ไม่อนุญาตให้พูดถึงนักการเมืองที่เล่นการเมืองแอบแฝงทั้งหลาย เช่น ผู้ที่อยู่ในระบบอำมาตยาธิปไตย
“นักเขียน กวี ไม่สามารถเขียนแตะต้องเขาได้เลย ถึงเขียนก็ไม่ได้รางวัล และนักเขียนยังถูกขังอยู่ในกรงขังแห่งมายา กรอบการด่านักการเมืองเลว ชาวบ้านโง่นั้นฝ่ายอำมาตย์วางไว้ 30-40 ปีแล้ว อยากเรียกร้องให้กวี นักเขียน แหวกกรอบเหล่านี้ กวีมองไม่เห็น ขณะที่คนรากหญ้าเขาเห็นแล้ว”
เขากล่าวด้วยว่า ในการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยนั้นเครือข่ายราษฎรนักเขียนศิลปินฯ ตัดสินใจที่ทำ ดี พลับลิชชิ่ง (D-Publishing) เป็นสำนักพิมพ์บทกวีสีแดง นอกจากนี้ยังจะเปิดตัว ดี แมกาซีน (D-Magazine) ฉบับปฐมฤกษ์ในวันที่ 24 มิ.ย.นี้ เบื้องต้นคาดว่าจะเป็นรายสะดวก ขายหมดแล้วจึงทำเล่มใหม่ รวมทั้งจะมีการเดินสายทำกลุ่มเสวนากับบรรดามวลชนเสื้อแดงในจังหวัดต่างๆ ไปเรื่อยๆ
“นี่เป็นความฝันอันเก่าแก่(ตั้งแต่หลัง 14 ตุลา) และถึงตอนนี้ผมก็ยังฝันถึงมันอยู่”