บล็อคข่าวส่งเสริมคนดี (รักดีหามจั่ว รักชั่วหามเสา หามจั่วก็หนักนะ)

ข่าวจากสื่อ

บทความจากสื่อ

วันอาทิตย์ที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

เครือข่ายปฏิรูปที่ดินฯ จี้รัฐแก้ปัญหาไม่คืบ ในพื้นที่ถูกข่มขู่หนัก

ที่มา ประชาไท

วันนี้ (30 พ.ค.) เมื่อเวลาประมาณ 14.00 น. เครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย (คปท.) จัดแถลงข่าว “คืบหน้า หรือล้มเหลว? ผลการแก้ไขปัญหาของเครือข่ายปฏิรูปที่ดินฯ กับรัฐบาล” เพื่อเผยแพร่ความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหาภายในระยะเวลาการทำงานของคณะกรรมการอำนวยการเพื่อแก้ไขปัญหาของเครือข่ายฯ ซึ่งเป็นคณะกรรมการระดับชาติ ที่มีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และสถานการณ์การข่มขู่คุกคามชาวบ้านในพื้นที่ จ.สุราษฎร์ธานี และ จ.บุรีรัมย์ ณ สำนักงานกองเลขาเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย

แจงแก้ปัญหาไม่คืบเหตุข้าราชการประจำ-การเมืองไม่ทำตามนโยบาย

นายบุญ แซ่จุ่ง ผู้ประสานงานเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย (คปท.) กล่าวว่าที่ผ่านมาทางเครือข่ายฯ เน้นการแก้ปัญหาที่ดินโดยใช้ในเรื่องของโฉนดชุมชน ธนาคารที่ดิน และการคุ้มครองพื้นที่เกษตร ซึ่งไปสอดคล้องกับการแถลงนโยบายของรัฐบาลชุดปัจจุบันที่ได้แถลงไว้ต่อรัฐสภาเมื่อวันที่ 30 ธ.ค.51 ที่มุ่งผลักดันในเรื่องเหล่านี้ด้วยเช่นกัน ทางเครือข่ายจึงมีความคาดหวังที่จะช่วยผลักดัน และจากการชุมนุมของทางเครือข่ายเมื่อวันที่ 4-12 มี.ค.52 เพื่อร่วมผลักดันการดำเนินนโยบายให้เป็นจริง นำมาสู่การแต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการแก้ไขปัญหาของเครือข่ายฯ โดยมีนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน และดำเนินการประชุมครั้งแรกร่วมกันในวันที่ 11 มี.ค.52

ผลการประชุมดังกล่าวได้มีมติเห็นชอบกรอบนโยบายการแก้ไขปัญหาโดยยึดปัญหาพื้นฐานของประชาชนและนโยบายรัฐบาลเป็นหลักสำคัญ พร้อมกันนี้ ได้ให้ความเห็นชอบการแก้ไขปัญหาเร่งด่วน และการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหา ทั้งสิ้น 6 ชุด ตามประเภทปัญหาที่ดินของเครือข่าย

นายบุญ กล่าวต่อมาว่าช่วงเวลากว่า 2 เดือนที่ผ่านมาทางเครือข่ายได้ใช้กรอบนโยบายและกลไกของคณะทำงานดังกล่าวเป็นเครื่องมือสำคัญในการทำงานเพื่อแก้ไขปัญหา และที่มีความคืบหน้ามากที่สุดคือ การศึกษาแนวทางการปฏิบัติตามนโยบายการกระจายถือครองที่ดิน ซึ่งทำการศึกษาถึงแนวทางกฎหมายและมาตรการอื่นๆ เพื่อรองรับนโยบายการกระจายการถือครองที่ดินของรัฐบาล เช่น โฉนดชุมชน ธนาคารที่ดิน มาตรการทางภาษี การคุ้มครองพื้นที่เกษตรกรรม ฯลฯ โดยคาดว่าจะมีการนำเสนอเนื้อหาในเดือน มิ.ย.ที่จะถึงนี้

อย่างไรก็ตาม นายบุญได้กล่าวว่า แม้จะมีความคืบหน้า แต่ก็ยังเป็นแค่ความคืบหน้าในส่วนของงานศึกษาเพื่อแก้ปัญหา ยังไม่ถึงขั้นตอนการดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรม อีกทั้งที่ผ่านมาการศึกษาดังกล่าวทั้งในเรื่องของโฉนดชุมชน ธนาคารที่ดิน มาตรการทางภาษี รวมทั้งการคุ้มครองพื้นที่เกษตรกรรม ทางเครือข่ายฯ ก็มีความพยายามในการดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องอยู่แล้ว

ในส่วนการทำงานที่ยังไม่คืบหน้า มีปัญหาและอุปสรรค์จาก 2 สาเหตุคือ 1.ประธานคณะกรรมการอำนวยการฯ ไม่มีการเร่งรัดการแก้ปัญหาให้เป็นไปตามมติการประชุมในวันที่ 11 มี.ค.52 ยกตัวอย่าง กรณีมติที่ประชุมคณะอำนวยการให้มีการแต่งตั้งคณะทำงานด้านคดีเพื่อช่วยเหลือชาวบ้านที่ถูกคดีทั้งทางอาญาและทางแพ่ง จนถึงปัจจุบันไม่มีความคืบหน้าในการดำเนินการแต่งตั้งแต่อย่างใด ทั้งที่กรอบในการดำเนินงานของคณะทำงานกำหนดไว้ 90 วัน และในวันที่ 24 มิ.ย.ที่จะถึงนี้ก็จะถึงกำหนดเวลาดังกล่าวแล้ว

ส่วนสาเหตุที่ 2 คือ การไม่ยึดกรอบนโยบายของรัฐบาลในการแก้ปัญหา และยังคงยึดตามหลักแนวคิดเดิมๆ ที่ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ ยกตัวอย่าง กรณีคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับที่ดินในเขตอุทยานแห่งชาติ ป่าสงวนแห่งชาติ และที่ป่าไม้อื่นๆ ที่อยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ของเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย ที่มี นายสุวิทย์ คุณกิตติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นประธาน ซึ่งภายหลังการประชุมคณะอนุกรรมการฯ ครั้งแรกเมื่อวันที่ 7 เม.ย.52 ยังไม่มีการดำเนินการตามมติที่ประชุมใดๆ ทั้งสิ้น อีกทั้งข้าราชการประจำบางส่วนยังคงยืนยันแนวทางการแก้ไขปัญหาตามมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 30 มิถุนายน 2541 เป็นหลัก

นายบุญยกตัวอย่างต่อมาถึงกรณีที่นายประชา เตรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี ทำหนังสือด่วนที่สุดถึงเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ลงวันที่ 8 เม.ย.52 ระบุไม่เห็นด้วยกับแนวทางการแก้ไขปัญหาของคณะกรรมการอำนวยการฯ ว่า ถือเป็นการดื้อแพ่งต่อคำสั่งการของรัฐ ซึ่งทำให้การแก้ปัญหาไม่สามารถเดินหน้าได้ อีกทั้งขณะนี้ในพื้นที่ อ.ชัยบุรี จ.สุราษฏร์ธานี มีกรณีปัญหาการข่มขู่ คุกคาม ยิงกราด และมีการเผาบ้านพักชั่วคราวของชาวบ้าน โดยกลุ่มชายฉกรรจ์ ซึ่งส่งผลให้สมาชิกสหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ต้องย้ายพื้นที่ไปอาศัยกับชุมชนใกล้เคียง

“ขอให้นายกมีความเข้มแข้งในการแก้ปัญหา และเอาปัญหาบ้านเมืองเป็นตัวตั้ง อย่าเอาเก้าอี้ เอาตำแหน่งเป็นตัวตั้ง” นายบุญกล่าวถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาเรื่องที่ดินของรัฐบาลที่ต้องอาศัยความเด็ดขาดและกล้าที่จะตัดสินใจ

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาทางเครือข่ายปฏิรูปที่ดินฯ เคลื่อนไหวเพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหาไม่ได้ต้องการที่จะล้มล้างรัฐบาลและไม่ใช่กลุ่มการเมืองที่หวังอำนาจ โดยยึดหลักการประชาธิปไตยทางตรง แบบมีส่วนร่วม ซึ่งประชาธิปไตยที่ว่านั้นเป็นประชาธิปไตยที่กินได้ และสิ่งที่เรียกร้องก็เป็นหน้าที่ของนักการเมืองที่จะต้องแก้ปัญหาเรื่องปากท้องของประชาชน

ย้ำคณะทำงานด้านคดีจำเป็น เผยคนตรัง-พัทลุงถูกฟ้องตัดต้นยางทำโลกร้อน

นายบุญ กล่าวด้วยว่า สาเหตุที่ต้องมีคณะทำงานด้านคดี เพราะแม้ขณะนี้จะไม่มีการจับกุมและดำเนินคดีกับสมาชิกเครือข่ายฯ เพิ่มเติม แต่กระบวนการพิจารณาทางศาลก็มีความคืบหน้าไปเรื่อยๆ และที่ผ่านมามีการใช้อำนาจศาลบังคับคดีกับชาวบ้านโดยมีการเรียกค่าเสียหายนับล้านบาทต่อราย ยกตัวอย่างเครือข่ายองค์กรชุมชนรักเทือกเขาบรรทัด ชาวบ้านที่ จ.ตรังและพัทลุง ถูกกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช เข้าแจ้งความดำเนินคดีและฟ้องศาลเรียกค่าเสียหายกว่า 48 คดี ในข้อหาบุกรุกทำกินในพื้นที่เขตอุทยานฯ เขาปู่-เขาย่า ในพื้นที่พิพาทที่ทับซ้อนทับกันอยู่ระหว่างที่ทำกินและพื้นที่ป่า โดยชาวบ้านถูกบังคับคดีให้ต้องชดใช้ค่าเสียหายราว 1-5 ล้านบาทต่อราย

ทั้งนี้ในส่วน กรมอุทยานฯ ได้คิดคำนวณค่าเสียหายตามหลักเกณฑ์ และวิธีการ ที่เหมือนๆ กันทุกราย อาทิ ข้อหาทำให้เกิดความสูญเสียของธาตุอาหาร ข้อหาทำให้ดินไม่ถูกซับน้ำฝน ข้อหาทำให้น้ำสูญเสียออกไปจากพื้นที่โดยการแผดเผาของรังสีดวงอาทิตย์ ข้อหาทำให้ดินสูญหาย ข้อหาทำให้อากาศร้อนมากขึ้น และข้อหาทำให้ฝนตกน้อยลง โดยข้อหาในทุกๆ ข้อทางกรมอุทยานฯ จะคิดคำนวณค่าเสียหายออกมาเป็นจำนวนเงิน/ไร่ /ปี

“เราเห็นด้วยกับการแก้ปัญหาเรื่องโลกร้อน แค่ก็ควรจะนึกถึงเรื่องสิทธิมนุษยชน เรื่องความมั่นคงทางอาหาร การโค่นล้มต้นยางเองก็มีการปลูกใหม่เป็นวัฏจักรที่คืนความสมดุลให้ธรรมชาติอยู่ในตัว แต่ชาวบ้านที่มีวิถีชีวิตเรียบง่ายกลับต้องถูกดำเนินคดีด้วยข้อหาทำให้โลกร้อนขึ้น ซึ่งไม่ต่างจากโรงงานอุตสาหกรรมที่ปล่อยควันพิษทุกวันๆ” นายบุญกล่าว โดยย้ำว่าข้อกล่าวหาดังกล่าวไม่มีความเป็นธรรม

“บุรีรัมย์” ชาวบ้านหวั่นถูกขู่สลายการชุมนุมขั้นเด็ดขาด

กรณีปัญหาในการจัดสรรที่ทำกินในเขตป่าสงวนแห่งชาติดงใหญ่ อ.โนนดินแดง จำนวน 9 แปลง รวมพื้นที่ 23,746 ไร่ ซึ่งกรมป่าไม้ได้อนุญาตให้บริษัทเอกชนเช่านับตั้งแต่ปี พ.ศ.2528 โดยการปลูกไม้ยูคาลิปตัสเพื่อเป็นวัตถุดิบป้อนโรงงานอุตสาหกรรมเยื่อกระกระดาษ และได้หมดสัญญาเช่าเมื่อวันที่ 5 พ.ค.2552 โดยในขณะนี้ได้มีสมาชิกเครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสานพื้นที่ อ.โนนดินแดงซึ่งเป็นชาวบ้านกลุ่มเดิมที่เคยทำกินในพื้นที่มาก่อนได้เข้าไปใช้ประโยชน์ในพื้นที่ และได้มีการเคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิในที่ดินทำกินมาอย่างต่อเนื่อง

นายลุน สร้อยสด แกนนำชาวบ้าน อ.โนนดินแดง จ.บุรีรัมย์ กล่าวว่าสถานการณ์ในพื้นที่ล่าสุดมีกระแสข่าวว่าจะมีการสนธิกำลังเข้าปราบปรามสลายการชุมนุมชาวบ้านที่เข้าไปขอใช้ประโยชน์ในพื้นที่ดังกล่าว จำนวน 171 ครอบครัว หรือราว 300 คน ใน 3 วัน หากใครไม่ต้องการถูกจับกุม ให้ออกจากพื้นที่โดยเร็ว สร้างความหวั่นวิตกให้กับชาวบ้านเป็นอันมาก ทั้งนี้แม้ทางนายกรัฐมนตรีจะออกมาบอกว่าจะไม่เกิดความรุนแรงในพื้นที่ แต่นายทุนและเจ้าหน้าที่รัฐกำลังดำเนินการอยู่ในพื้นที่ เชื่อว่าที่ดินผืนดังกล่าวเป็นที่ดินแปลใหญ่มีการปลูกยูคามานาน ผลประโยชน์ในส่วนนี้น่าจะมาก อย่างไรก็ตามยังหวังว่ารัฐบาลจะสามารถกำกับเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ซึ่งเปรียบเสมือนเป็นมือเป็นไม้ของรัฐบาลได้

นายลุน กล่าวด้วยว่าหลังจากที่ อบต.ลำนางรองมีมติไม่ให้บริษัทต่อสัญญาเช่าและให้นำที่ดินมาจัดสรรให้เกษตรเมื่อวันที่ 14 ก.พ.2551 ได้มีป่าไม้ จ.บุรีรัมย์ส่วนหนึ่ง ร่วมกับตำรวจ อบต.และกำนันผู้ใหญ่บ้านบางส่วนพยายามเรียกร้องให้ชาวบ้านออกจากพื้นที่ดังกล่าวและให้มีการสลายการชุมนุมโดยใช้ปฏิบัติการขั้นเด็ดขาด นอกจากนี้ล่าสุด อบต.ลำนางรอง เจ้าของพื้นที่ได้มีมติใหม่เมื่อวันที่ 23 เม.ย.ที่ผ่านมา เบื้องต้นให้เอกชนเช่าต่อ 50 เปอร์เซ็นต์ ส่วนที่เหลืออีก 50 เปอร์เซ็นต์ นำมาจัดสรรให้ชาวบ้านเช่าเป็นที่ทำกิน

ตรงนี้นายลุ้นมองว่าจะเป็นปัญหาเนื่องจากว่า พื้นที่ดังกล่าวถูกบริษัทเอกชนจับจองไปก่อนแล้วกว่า 16,800 ไร่ เหลือพื้นที่อีกไม่ถึง 7,000 ไร่ที่จะนำมาจัดสรรให้กับชาวบ้านที่ได้ยื่นหนังสือเรียกร้องให้เร่งจัดสรรที่ทำกินและทั้งรายชื่อของชาวบ้านที่ต้องการเช่าที่ทำกินในพื้นที่ดังกล่าวกว่า 3,913 ราย ซึ่งเกรงว่าจะมีปัญหาในการจัดสรรพื้นที่ แม้ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดบุรีรัมย์ จะรับปากในที่ประชุม อบต.ว่าจะหาพื้นที่มาเพิ่มให้เท่ากับ 16,800 ไร่ ที่บริษัทได้ไป

ด้านนายไสว ชาวบ้านในพื้นที่อีกคนหนึ่งกล่าวว่า อดีต ต.ลำนางรอง อ.โนนดินแดง จ.บุรีรัมย์เป็นพื้นที่สีแดงรัฐบาลมีนโยบายเปิดพื้นที่ป่าให้ชาวบ้านเข้าไปทำกินเมื่อปี 2515-2516 โดยให้ชาวบ้านเป็นกันชน แต่เมื่อในพื้นที่สงบได้มีนโยบายให้ชาวบ้านอพยพออกจากพื้นที่ โดยจัดสรรที่ดินในพื้นที่อื่นให้ แล้วให้บริษัทเอกชนเข้ามาเช่าปลูกป่ายูคาลิปตัสในพื้นที่ดังกล่าว ซึ่งตั้งแต่ปี 2545 เป็นต้นมาชาวบ้านประสบปัญหาชุมชนขยายที่ดินทำกินไม่เพียงพอ เมื่อต่อมาได้บริษัทเอกชนหมดสัญญาเช่า ชาวบ้านจึงได้เข้าไปปฏิบัติการปฏิรูปที่ดินโดยชุมชน

พื้นที่ “สุราษฎร์” ยังระอุ เผาบ้านพักชาวบ้านไปแล้ว 19 หลัง

นายบุญฤทธิ์ ภิรมย์ เกษตรกรจาก อ.บางพระแสง จ.สุราษฎร์ธานี สหพันธ์เกษตรภาคใต้ กล่าวถึงกรณีปัญหาในพื้นที่ จ.สุราษฎร์ธานี ใน 2 พื้นที่ คือ พื้นที่แรกใน อ.พระแสง กลุ่มเกษตรกรไร้ที่ดินชุมชนสันติพัฒนา สหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ ถูกดำเนินคดีทั้งทางแพ่งและอาญา รวม 15 คน เนื่องจากเข้าไปอยู่อาศัยในพื้นที่ของบริษัทบริษัทสหพัฒนาอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์ม จำกัด (มหาชน) ตั้งแต่เมื่อปี 2550 ซึ่งก่อนหน้านั้นได้มีการตรวจสอบรวมกับคณะกรรมการระดับอำเภอพบว่าบริษัทฯ ได้บุกรุกเข้าไปในเขตป่าถาวรและเขตพื้นที่ปฏิรูปโดยไม่มีเอกสารสิทธิ์ แต่ต่อมาปี 2551 ชาวบ้านกลับถูกฟ้องร้องในข้อหาบุกรุกพื้นที่ป่าถาวรและพื้นที่ของเอกชน

นอกจากนี้ยังมีการคุกคามโดยกลไกอำนาจรัฐ โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่ได้เข้าไปดูแลพื้นที่บ้านพักคนงานของบริษัทเอกชน ซึ่งถือว่าเป็นการวางตัวไม่เป็นกลางในฐานะผู้ให้บริการประชาชน ทั้งนี้ได้มีการนำเสนอเรื่องไปทางต้นสังกัดให้ตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวแล้ว

พื้นที่ต่อมาคือพื้นที่ อ.ชัยบุรี ซึ่งล่าสุดมีเหตุการณ์เผาและไล่รื้อบ้านพักของชาวบ้านในพื้นที่ชุมชนประชาร่วมใจรวมกว่า 19 หลัง นอกจากนั้นยังมีกลุ่มชายฉกรรจ์พร้อมอาวุธปืนได้เดินสายข่มขู่ชาวบ้านไร้ที่ดินในพื้นที่ปฏิรูปที่ดินชุมชนพฤกษาชาติ ชุมชนไทรงาม และชุมชนประชาร่วมใจ ซึ่งตั้งอยู่ที่ หมู่ 5 .ไทรทอง อ.ชัยบุรี จ.สุราษฎร์ธานี ออกจากพื้นที่ หากไม่ย้ายออกไปจากพื้นที่ อาจได้รับอันตรายถึงชีวิต

นายบุญฤทธิ์กล่าวต่อมาถึงเรื่องการจัดทำโฉนดชุมชนว่าเป็นเป้าหมายสูงสุดในการปฏิรูปที่ดิน ซึ่งจะเป็นผลดีต่ออนาคตของลูกหลาน เพราะช่วยป้องกันการแปลงที่ดินเป็นสินค้า หรือเป็นต้นทุนในการผลิต คือโฉนดที่ดินจะไม่สามารถขายได้ ลดการเปลี่ยนมือในการถือครองที่ดิน นอกจากนั้นยังช่วยยุติการโค่นล้มทำลายป่าเพราะต้องการที่ดินเพื่อทำการเกษตร หากที่แถลงไว้ทำไม่ได้ในที่สุดชาวบ้านก็ต้องบุกป่า เพื่อยุติการคุกคามป่า เกษตรกรต้องมีที่ดินเป็นของตนเอง

ทั้งนี้ พื้นที่ชุมชนประชาร่วมใจเป็นพื้นที่ปฏิรูปที่ดินของชาวบ้านผู้ไร้ที่ดิน อ.ชัยบุรี จ.สุราษฎร์ธานี โดยที่ดินอยู่ในความดูแลของสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ซึ่งเดิมได้อนุญาตให้บริษัทชัยบุรีปาล์มทองเช่าสำหรับปลูกปาล์มน้ำมันจำนวนกว่า 15,000 ไร่ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2528 ถึงปี พ.ศ.2543 แต่ในปี 2531 บริษัทดังกล่าวเกิดความขัดแย้งภายใน มีการแยกตัวออกเป็น 6 กลุ่ม จากนั้นปี 2537 พื้นที่ ต.ไทรทอง อ.ชัยบุรี และพื้นที่ใกล้เคียงถูกประกาศเป็นเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม โดยมีกลุ่มนายทุนเข้าไปบุกรุก ครอบครองและทำประโยชน์ ในแปลงดังกล่าวมาจนถึงปัจจุบัน

ด้านนายสมศักดิ์ เพชรจุ้ย สหพันธ์เกษตรภาคใต้ อ.ชัยภูมิ กล่าวถึงสถานการณ์ในพื้นที่บริษัทรวมชัยบุรีปาล์มทอง จำกัด 1ใน 6 กลุ่ม บริษัทที่แยกออกมาจากบริษัทชัยบุรีปาล์มทอง ซึ่งครอบครองที่ดิน 1,755 ไร่เศษว่า มีประชาชนอยู่ในพื้นที่ 764 คนที่ต้องอยู่ด้วยความหวาดกลัวจากกลุ่มอิทธิพลเถื่อนที่มีอาวุธครบมือเข้ามาข่มขู่กำหนดให้ชาวบ้านออกจากพื้นที่ภายในเวลา 5 วัน โดยยังไม่มีหน่วยงานใดเข้าไปดูแลให้มีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน นอกจากนั้นในส่วนของแกนนำในพื้นที่ยังถูกตั้งค่าตัวและมีการข่มขู่ลูกเมียไม่ให้อยู่ในพื้นที่

“ชีวิตคนมันมีค่า นายกช่วยพิจารณาด้วย คนจนก็คนเหมือนกัน” นายสมศักดิ์ กล่าวเรียกร้องให้นายกเข้ามาดูแลปัญหาความเดือดร้อนในพื้นที่

นายสุรพล สงฆ์รักษ์ เครือข่ายปฏิรูปที่ดินฯ ตัวแทนสหพันธ์เกษตรภาคใต้ กล่าวถึงการดำเนินงานในการแก้ปัญหาในพื้นที่ขณะนี้ว่า พื้นที่ซึ่งอยู่ในการดูแลของ ส.ป.ก.จังหวัดสุราษฎร์ธานี ทาง ส.ป.ก.ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบรังวัดและมีหนังสือให้ผ่อนผันส่งไปยังผู้ว่าราชการจังหวัด แต่ทางผู้ว่าฯ ได้ทำหนังสือยอนกลับลงวันที่ 8 เมษายน 2552 ไม่เห็นด้วยกับแนวทางการแก้ไขปัญหาของคณะกรรมการอำนวยการฯ ซึ่งตรงนี้แสดงให้เห็นว่าปัญหาและอุปสรรค์อยู่ที่ข้าราชการในระดับพื้นที่เอง

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 2 ม.ค.43 ทาง ส.ป.ก.ได้ฟ้องขับไล่บริษัทออกจากพื้นที่เนื่องจากครบ 15 ปีของสัญญาเช่า แต่อย่างที่ทราบกันคือกระบวนการยุตธรรมค่อนข้างล่าช้า ทั้งนี้ในวันที่ 4 มิ.ย.นี้จะมีการประชุมของคณะทำงานในส่วนที่ ส.ป.ก.ตั้งขึ้นมาเพื่อลงไปในพื้นที่เอง

อนึ่ง ในพื้นที่มีการตรวจสอบข้อเท็จจริงมาแล้วตั้งแต่ปี 2546 ซึ่งมีคณะกรรมการที่มีองค์ประกอบจากทุกฝ่ายรวมถึงหน่วยงาน สปก.จากส่วนกลางและในพื้นที่ จ.สุราษฏร์ธานี ล่าสุดเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมาได้ทำการรังวัดพื้นที่ด้วยระบบข้อมูลจากการ ตรวจสอบพิกัดดาวเทียม (GPS) และได้จัดสรรที่ดินให้เกษตรกรในพื้นที่ชุมชนประชาร่วมใจคนละครึ่งไร่สำหรับที่อยู่อาศัยก่อนในเบื้องต้น

เครือข่ายปฏิรูปที่ดินฯ เสนอเร่งประชุมคณะกรรมการอำนวยการฯ

นายสุรพล กล่าวถึงข้อเสนอต่อนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี 3 ข้อ ว่า 1.ให้เร่งดำเนินการให้เกิดการประชุมคณะกรรมการอำนวยการเพื่อแก้ไขปัญหาของเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทยภายในวันที่ 12 มิ.ย.52 เพื่อแก้ไขปัญหาอุปสรรคและเร่งรัดให้ดำเนินการตามมติที่ประชุมคณะกรรมการเมื่อวันที่ 11 มี.ค.52

2.ให้สั่งการไปยังผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้กำกับการตำรวจ จ.สุราษฎร์ กระบี่ และบุรีรัมย์ ให้ยุติการดำเนินการใดๆ ที่จะเป็นเหตุให้เกิดความรุนแรง และให้ปราบปรามมือปืน กองกำลังเถื่อนติดอาวุธสงคราม ไม่ให้ทำลายทรัพย์และชีวิตขอสมาชิกเครือข่ายปฏิรูปที่ดินฯ และกำชับให้มีการดำเนินงานตามกรอบ นโยบายของคณะกรรมการอำนวยการฯ 3.ให้เร่งสั่งการไปยังส่วนราชการที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะ จ.สุราษฎร์ธานี กระบี่ บุรีรัมย์ ตรัง และพัทลุง ให้ข้าราชการประจำปฏิบัติตามนโยบายรัฐบาลและมติการประชุมวันที่ 11 มี.ค.ที่ผ่านมา ตลอดจนถึงผลการประชุมของคณะอนุกรรมการทุกชุด ระหว่างรัฐบาลกับเครือข่ายปฏิรูปที่ดินฯ

นอกจากนั้นยังได้เรียกร้อง และเชิญชวนไปยังสื่อสารมวลชนแขนงต่างๆ ลงพื้นที่เพื่อดูข้อเท็จจริง และนำเสนอข้อมูลข่าวสารต่อสาธารณชนให้รับรู้ และเข้าใจสถานการณ์ปัญหาอย่างถูกต้องต่อไป

ทั้งนี้ เครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย (คปท.) ประกอบด้วย เครือข่ายองค์กรชุมชนรักเทือกเขาบรรทัด เครือข่ายสลัม 4 ภาค เครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ สหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ รวมทั้งประชนในกรณีปัญหาสหกรณ์การเช่าที่ดิน พิชัยภูเบนทร์ จ.อุตรดิตถ์ และกรณีปัญหาสหกรณ์การเช่าที่ดินคลองโยง จ.นครปฐม

ลำดับเหตุการณ์การแก้ไขปัญหาของเครือข่ายปฏิรูปที่ดินฯ กับรัฐบาล

11 ก.พ.2552

เครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทยเข้ายื่นหนังสือต่อรัฐบาล เพื่อให้เร่งรัดดำเนินการแก้ไขปัญหา และจัดตั้งคณะกรรมการระดับชาติ เพื่อกำกับดูแล ติดตาม และเร่งรัดการแก้ไขปัญหาที่ดินทำกิน ที่อยู่อาศัยและปัญหาความเดือดร้อนต่างๆ โดยตัวแทนของเครือข่ายฯ ได้เข้าประชุมหารือกับนายถาวร เสนเนียม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย

410 มี.ค.2552

ชุมนุมบริเวณหน้าทำเนียบรัฐบาล เพื่อทวงถามความคืบหน้าจากรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมผลักดันให้เกิดแนวทาง ยุทธศาสตร์ และแผนงานที่ชัดเจนในการแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินให้แก่เกษตรรายรายย่อย และกลุ่มคนไร้ที่ดินทำกินทั้งในระสั้นและระยะยาว

5 มี.ค.2552

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยนายถาวร เสนเนียม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย เดินทางมาพบกลุ่มเครือข่ายปฏิรูปที่ดินฯ ที่ชุมนุมบริเวณด้านข้างทำเนียบรัฐบาล ยืนยันรัฐบาลจะแก้ปัญหาที่ดินทำกินให้กับผู้ชุมนุม หลังจากในช่วงเช้าเครือข่ายฯ เดินเท้าจากทำเนียบรัฐบาลไปที่กระทรวงมหาดไทย เพื่อทักท้วงการประสานงานแก้ไขปัญหาคนจนไม่ถูกจุดของนายถาวร

9 มี.ค.2552

สำนักนายกรัฐมนตรีได้ทำหนังสือที่ 71/2552 ลงวันที่ แต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการเพื่อแก้ไขปัญหาของเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย

11 มี.ค.2552

ประชุมคณะกรรมการอำนวยการเพื่อแก้ไขปัญหาของเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทยนัดแรกโดยมีนายกรัฐมนตรีเข้าร่วมเป็นประธาน

24 มี.ค.2552

นายกรัฐมนตรีได้เซ็นหนังสือแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ รวม 6 คณะ

27 มี.ค. 2552

องค์กรชุมชนบ้านตระ ต.ปะเหลียน อ.ปะเหลียน จ.ตรัง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายองค์กรชุมชนรักษ์เทือกเขาบรรทัด ถูกเจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเทือกเขาบรรทัด จำนวนกว่า 50 คนพร้อมอาวุธ เข้าไปตัดฟันต้นยางของชาวบ้านในพื้นที่ โดยอ้างว่าเป็นการ แผ้วถางบุกรุกทำให้ชาวบ้านจำนวนกว่า 200 คนทั้งเด็กและคนแก่ทำการล้อมเจ้าหน้าที่ป่าไม้ทั้งหมดไว้ในพื้นที่กว่า 1 วัน 1 คืน เต็มๆ

9 พ.ค.2552

นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีและคณะ เดินทางตรวจเยี่ยมพื้นที่การจัดการทรัพยากรชุมชนอย่างยั่งยืน “กรณีโฉนดชุมชน” บ้านทับเขือ-ปลักหมู ต.ช่อง อ.นาโยง จ.ตรัง

19 พ.ค.2552

ชุมชนประชาร่วมใจ อ.ชัยบุรี จ.สุราษฎร์ธานี ถูกชายฉกรรจ์พร้อมอาวุธปืนจำนวน 5-6 คน เข้าไปในพื้นที่ชุมชนประชาร่วมใจ ใช้อาวุธปืนลูกซองยิงข่มขู่และได้ทำการเผาบ้านพักชั่วคราวของชาวบ้านในชุมชนจำนวน 8 หลัง

21 ..2552

มีปฏิบัติการเช่นเดียวกันกับวันที่19 พ.ค.2552 โดยมีการเผาบ้านพักชั่วคราวของชาวบ้านในชุมชนประชาร่วมใจ อ.ชัยบุรี จ.สุราษฎร์ธานี ไปอีก 11 หลัง

28 พ..2552

การแถลงข่าวกรณีพื้นที่สัญญาเช่า อ.โนนดินแดง จ.บุรีรัมย์ ในพื้นที่หมู 1 บ้านลำนางรอง ต.ลำนางลอง อ.โนนดินแดง จ.บุรีรัมย์ ในประเด็นยุทธการชิงแผ่นดินอำเภอโนนดินแดง จ.บุรีรัมย์ใครเป็นใคร วิธีการที่หน่วยงานของรัฐระดับพื้นที่ไม่ดำเนินการตามนโยบายที่รัฐบาลได้แถลงต่อรัฐสภา และกระบวนการติดตามแก้ไขปัญหาในระดับพื้นที่และระดับนโยบาย

แถลงการณ์เครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย

คืบหน้าหรือล้มเหลว ???

ผลการแก้ไขปัญหาระหว่างเครือข่ายปฏิรูปที่ดินกับรัฐบาล

เครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย (คปท.) ประกอบด้วยเครือข่ายองค์กรชุมชนรักเทือกเขาบรรทัด เครือข่ายสลัม 4 ภาค เครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ สหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ ซึ่งมีภารกิจสำคัญในการปกป้องสิทธิและการเรียกร้องสิทธิในที่ดินทำกิน รวมถึงการรณรงค์ผลักดันในระดับนโยบายให้เกิดการกระจายการถือครองที่ดินในสังคมไทย ซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ2550 มาตรา85 รัฐต้องดำเนินการตามนโยบายด้านที่ดินทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและใน (2) การกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรมและดำเนินการให้เกษตรมีกรรมสิทธิ์หรือสิทธิในที่ดินเพื่อประกอบเกษตรกรรมอย่างทั่วถึงโดยการปฏิรูปที่ดินหรือวิธีอื่นรวมทั้งจัดหาแหลงน้ำเพื่อเกษตรกรมีน้ำใช้อย่างพอเพียงและเหมาะสมแก่การเกษตร”

ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่ได้แถลงไว้ต่อรัฐสภาเมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2551มีสาระสำคัญคือคุ้มครองและรักษาพื้นที่ที่เหมาะสมกับการทำเกษตรกรรมที่ได้มีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านชลประทานแล้วเพื่อเป็นฐานการผลิตในระยะยาวฟื้นฟูคุณภาพดิน จัดหาที่ดินทำกินให้แก่เกษตรกรยากจนในรูปของธนาคารที่ดิน และเร่งรัดการออกเอกสารสิทธิให้แก่เกษตรกรยากจนและชุมชนที่ทำกินอยู่ในที่ดินของรัฐที่ไม่มีสภาพป่าแล้วในรูปของโฉนดชุมชน รวมทั้งสนับสนุนการพัฒนาการเกษตรในรูปของนิคมการเกษตร

คปท.ได้มีการชุมนุมในช่วงวันที่ 4 12 มีนาคม 2552 กระทั่งนำมาสู่การแต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการแก้ไขปัญหาของเครือข่าย โดยมีนายกรัฐมนตรี (นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ) เป็นประธาน และดำเนินการประชุมครั้งแรกร่วมกันในวันที่ 11 มีนาคม 2552 นั้น ซึ่งผลการประชุมดังกล่าวได้มีมติเห็นชอบกรอบนโยบายการแก้ไขปัญหา โดยยึดปัญหาพื้นฐานของประชาชนและนโยบายรัฐบาลเป็นหลักสำคัญ พร้อมกันนี้ ได้ให้ความเห็นชอบการแก้ไขปัญหาเร่งด่วน และการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหา ทั้งสิ้น 6 ชุด ตามประเภทปัญหาที่ดินของเครือข่าย ทั้งนี้ เพื่อพัฒนาไปสู่การจัดการที่ดินในรูปแบบ โฉนดชุมชน และการจัดตั้ง ธนาคารที่ดิน ตามเจตนารมณ์ของนโยบายที่รัฐบาลได้แถลงต่อรัฐสภาก่อนเข้าบริหารประเทศ

ตลอดระยะเวลากว่า 2 เดือนที่ผ่านมา คปท. ได้ใช้กรอบนโยบาย และกลไกดังกล่าวข้างต้น เป็นเครื่องมือสำคัญในการทำงาน ซึ่งในบางกรณีมีความคืบหน้าเป็นลำดับ แต่อย่างไรก็ตาม มีหลายกรณีที่เป็นไปในลักษณะที่ถอยหลังและไม่ให้ความสำคัญกับกรอบนโยบายที่นายกรัฐมนตรีได้มอบหมายต่อที่ประชุม เช่น

กรณีคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาชุดป่าไม้ ที่มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (นายสุวิทย์ คุณกิตติ) เป็นประธาน ภายหลังการประชุมครั้งแรกเมื่อวันที่ 7 เมษายน 2552 ยังไม่มีการดำเนินการตามมติที่ประชุมใดๆทั้งสิ้น อีกทั้งข้าราชการประจำบางส่วนยังคงยืนยันแนวทางการแก้ไขปัญหาตามมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 30 มิถุนายน 2541 เป็นหลัก โดยไม่ได้ให้ความสำคัญกับแนวทางนโยบายที่มีการตกลงร่วมกันแต่อย่างใด

กรณีมติที่ประชุมคณะอำนวยการให้มีการแต่งตั้งคณะทำงานด้านคดีเพื่อช่วยเหลือชาวบ้านที่ถูกคดีทั้งทางอาญาและทางแพ่ง จนถึงปัจจุบันไม่มีความคืบหน้าในการดำเนินการแต่งตั้งแต่อย่างใด แม้จะไม่มีการจับกุมและดำเนินคดีกับสมาชิกเครือข่ายเพิ่มเติม แต่กระบวนการพิจารณาทางศาลกลับคืบหน้าไปเรื่อยๆ และมีการใช้อำนาจศาลบังคับคดีกับชาวบ้านในการเรียกค่าเสียหายนับล้านบาทต่อราย

กรณีที่ผู้ว่าราชการ จ.สุราษฎร์ธานี นายประชา เตรัตน์ ทำหนังสือด่วนที่สุดถึงเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ลงวันที่ 8 เมษายน 2552 ไม่เห็นด้วยกับแนวทางการแก้ไขปัญหาของคณะกรรมการอำนวยการ ที่สำคัญที่สุดคือ ขณะนี้ในพื้นที่ อ.ชัยบุรี จ.สุราษฏร์ธานีมีการข่มขู่ คุกคาม ยิงกราด และทำการเผาบ้านพักชั่วคราวจำนวน 19 หลังโดยชายฉกรรจ์ ส่งผล ให้สมาชิกสหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ต้องย้ายพื้นที่ไปอาศัยกับชุมชนใกล้เคียง

อีกทั้งในพื้นที่ ต.ลำนางรอง อ.โนนดินแดง จ.บุรีรัมย์ซึ่งในอดีตเป็นพื้นที่สีแดงรัฐบาลมีนโยบายเปิดพื้นที่ป่าให้ชาวบ้านเข้าไปทำกินเมื่อปี2515-2516 แต่เมื่อพื้นที่สงบได้มีนโยบายให้ชาวบ้านอพยพออกจากพื้นที่ ซึ่งก็คือพื้นที่ป่าเสื่อมโทรมที่ให้บริษัทเอกชนเช่าปลูกป่ายูคาลิปตัสต่อมาและในขณะนี้ได้หมดสัญญาเช่าแล้ว จึงมีสมาชิกเครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสานพื้นที่ อ.โนนดินแดงซึ่งเป็นชาวบ้านกลุ่มเดิมที่เคยทำกินในพื้นที่นี้มาก่อน และได้มีการเคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิในที่ดินทำกินมาอย่างต่อเนื่องจน อบต.ลำนางรองมีมติไม่ให้บริษัทต่อสัญญาเช่า และภายหลังจากหมดสัญญาเช่าเมื่อวันที่ 5 พ.ค.2552 สมาชิกเครือข่ายฯได้เข้าไปใช้ประโยชน์จำนวน 171 ครอบครัว อย่างไรก็ตามได้มีความพยายามให้ร้ายป้ายสีสมาชิกเครือข่ายว่าเป็นกลุ่มองค์กรเถื่อน พร้อมทั้งสร้างกระแสให้เกิดความเข้าใจผิดระหว่างชาวบ้านกลุ่มต่างๆในพื้นที่ ซึ่งจะนำไปสู่การเผชิญหน้าในที่สุด อีกทั้งมีการสร้างกระแสข่าวว่าจะสนธิกำลังเข้าปราบปรามในเร็ววันนี้ หากใครไม่ต้องการถูกจับกุม ให้ออกจากพื้นที่โดยเร็ว

เครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย ได้พิจารณาแล้วเห็นว่า สถานการณ์ดังกล่าวข้างต้นขัดแย้งกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญและนโยบายที่รัฐบาลชุดนี้ได้แถลงไว้ต่อรัฐสภา และหากปล่อยให้เหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้น ย่อมจะนำไปสู่ปัญหาความรุนแรงที่ยากแก้ไข และเจตนารมณ์การจัดการที่ดินตามแนวทางโฉนดชุมชน ก็จะประสบความล้มเหลวโดยสิ้นเชิง ดังนั้น เพื่อให้กระบวนการทำงานร่วมระหว่างรัฐบาลกับเครือข่าย เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และบรรลุเจตนารมณ์ร่วมกัน อีกทั้ง เพื่อให้เกิดการเผยแพร่ข้อเท็จจริงของปัญหาในพื้นที่ต่างๆ เป็นไปอย่างตรงไปตรงมา และสาธารณชนได้รับรู้ เข้าใจโดยทั่วกัน เครือข่ายจึงมีข้อเสนอ ดังนี้

1.ให้นายกรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เร่งดำเนินการให้เกิดการประชุมคณะกรรมการอำนวยการเพื่อแก้ไขปัญหาของเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทยภายในวันที่ 12 มิ.ย.2552 เพื่อแก้ไขปัญหาอุปสรรคและเร่งรัดให้ดำเนินการตามมติที่ประชุมคณะกรรมการเมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2552

2.ให้นายกรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ สั่งการไปยังผู้ว่าราชการ ผู้กำกับการตำรวจจังหวัดสุราษฎร์ กระบี่ และบุรีรัมย์ ให้ยุติการดำเนินการใดๆที่จะเป็นเหตุให้เกิดความรุนแรง และให้ปราบปรามมือปืน กองกำลังเถื่อนติดอาวุธสงคราม มิให้ทำลายทรัพย์ชีวิตของประชาชนสมาชิกเครือข่ายปฏิรูปที่ดิน และกำชับให้มีการดำเนินงานตามกรอบ นโยบายของคณะกรรมการอำนวยการแก้ไขปัญหาของ คปท.

3.ให้นายกรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เร่งสั่งการไปยังส่วนราชการที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะจังหวัดสุราษฎร์ธานี กระบี่ บุรีรัมย์ ตรัง และพัทลุง ให้ข้าราชการประจำปฏิบัติตามนโยบายรัฐบาลและมติการประชุมวันที่ 11 มี.ค.ตลอดจนถึงผลการประชุมของคณะอนุกรรมการทุกชุด ระหว่างรัฐบาลกับ คปท.

4.ขอเรียกร้อง และเชิญชวนสื่อสารมวลชนแขนงต่างๆ ลงพื้นที่เพื่อดูข้อเท็จจริง และนำเสนอข้อมูลข่าวสารต่อสาธารณชนให้รับรู้ และเข้าใจสถานการณ์ปัญหาอย่างถูกต้องต่อไป

เครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย ยังคงสนับสนุนและมีความคาดหวังอย่างยิ่งว่ากระบวนการแก้ไขปัญหาตามแนวทาง นโยบายที่ตกลงร่วมกันของคณะกรรมการอำนวยการแก้ไขปัญหาของเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย จะสามารถเป็นกุญแจสำคัญในการแก้ไขปัญหาข้อพิพาทเรื่องที่ดิน และพัฒนาไปสู่การจัดการที่ดินในรูปแบบ โฉนดชุมชน ให้ปรากฏเป็นจริงขึ้นในสังคมไทย ต่อไป

สมานฉันท์

เครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

-นักข่าวพลเมืองรายงาน: ชาวบ้านพื้นที่ปฏิรูปที่ดิน อ.ชัยบุรี ร้องเรียน ผบช.ภ.8 หลังโดนคุกคามหนัก

-นักข่าวพลเมือง: บ้านพักชุมชนประชาร่วมใจถูกเผา

-รายงาน : เมื่อผู้บุกเบิกกลายเป็นผู้บุกรุก ในสงครามชิงป่าดงใหญ่ที่อีสานใต้

-อีสานใต้ระอุ!! ศึก 3 เส้ารับรัฐบาลใหม่ รัฐต้องการป่า นายทุนต้องการยูคาฯ คนจนต้องการที่ทำกิน

ข่าวส่งเสริมคนดี

จำนวนผู้เข้าเยี่มมชม

link to affordable web hosting
Powered by web hosting provider .

สถิติการเข้าชม DMNEWS

eXTReMe Tracker