บล็อคข่าวส่งเสริมคนดี (รักดีหามจั่ว รักชั่วหามเสา หามจั่วก็หนักนะ)

ข่าวจากสื่อ

บทความจากสื่อ

วันอาทิตย์ที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

ปชป.เครื่องรวน รัฐบาลอายุสั้น

ที่มา ไทยรัฐ
Pic_7977

อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

สมัยประชุมรัฐสภาสมัยสามัญทั่วไป 120 วัน ผ่านพ้นไปแล้ว

เมื่อมีพระราชกฤษฎีกาปิดสมัยประชุมรัฐสภาสมัยสามัญทั่วไป ตั้งแต่วันที่ 21 พฤษภาคม 2552 เป็นต้นไป

นั่นก็หมายความว่า ในช่วง 4 เดือนจากนี้ ถือเป็น ช่วงปิดเทอมของบรรดา ส.ส. และ ส.ว.

เป็นห้วงที่จะเป็นโอกาสให้ผู้แทนปวงชนได้มีเวลาลงพื้นที่พบปะชาวบ้าน รับฟังปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน

นำเสนอต่อสภาและรัฐบาล เพื่อหาทางช่วยเหลือแก้ไขกันต่อไป

อย่างไรก็ตาม การปิดสมัยประชุมในครั้งนี้ ไม่ได้ หมายความว่า การทำงานของ ส.ส. และ ส.ว.ในรัฐสภาจะหยุดนิ่งไปทั้งหมด

เพราะยังมีภารกิจสำคัญที่ต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ได้แก่

การทำงานของคณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปการเมืองและศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

เพื่อหาแนวทางคลี่คลายปัญหาวิกฤติความขัดแย้งทางการเมือง และสร้างความปรองดองสมานฉันท์ให้เกิดขึ้น

รวมถึงคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงเหตุการณ์ ทางการเมืองระหว่างวันที่ 815 เมษายน 2552

เพื่อหาข้อเท็จจริงกรณีการใช้กำลังทหารเข้าควบคุมสถานการณ์จลาจลของม็อบเสื้อแดงในช่วงสงกรานต์

ทำความจริงให้เป็นที่ประจักษ์ต่อสังคมว่า มีการใช้ ความรุนแรงจนทำให้มีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ดังกล่าวเป็นจำนวนมาก อย่างที่มีข่าวลือจริงหรือไม่

นอกจากนี้ยังต้องมีการเปิดประชุมสภาฯสมัยวิสามัญเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2553 ในช่วงกลางเดือนมิถุนายน

ภารกิจเหล่านี้ยังต้องเดินต่อไปไม่หยุดยั้ง

ในห้วงที่ปฏิทินการเมืองเดินมาถึงจุดที่รัฐบาลภายใต้การนำของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ทำหน้าที่ผ่านมา 1 สมัยประชุม เป็นรัฐบาลมาแล้ว 5 เดือน

"ทีมข่าวการเมืองไทยรัฐ" จึงขอใช้โอกาสนี้ตรวจการบ้าน สำรวจตรวจสอบการทำงานด้านนิติบัญญัติ และการบริหารประเทศภายใต้รัฐบาล "อภิสิทธิ์"

เริ่มจากการทำงานด้านนิติบัญญัติ ผ่านมา 1 สมัยประชุม สภาผู้แทนราษฎรได้มีการพิจารณาร่างพระราช-บัญญัติ และร่างพระราชกำหนด รวมทั้งสิ้น 25 ฉบับ


โดยแบ่งเป็นร่างพระราชบัญญัติที่รับหลักการและอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมาธิการ 10 ฉบับ

ร่างพระราชบัญญัติที่ผ่านความเห็นชอบของสภาผู้แทน ราษฎร ส่งให้วุฒิสภาพิจารณา 5 ฉบับ

ร่างพระราชบัญญัติที่ตั้งคณะกรรมาธิการร่วมกันขึ้นมาพิจารณา 3 ฉบับ ประกาศใช้เป็นกฎหมาย 5 ฉบับ รวมทั้งอนุมัติพระราชกำหนด 2 ฉบับ

นอกจากนี้รัฐสภาได้ให้ความเห็นชอบหนังสือสัญญาสำคัญและข้อสัญญาที่คณะรัฐมนตรีขอความเห็นชอบจากรัฐสภาจำนวน 38 เรื่อง

มีการตั้งกระทู้ถามทั่วไปในสภาฯ 33 เรื่อง กระทู้ถามสด 35 กระทู้ มีกระทู้ถามที่นายกรัฐมนตรีตอบในราชกิจจานุเบกษาไปแล้ว 3 เรื่อง อยู่ระหว่างรอประกาศในราชกิจจานุเบกษา 17 เรื่อง และอยู่ระหว่างดำเนินการ 89 เรื่อง

เหล่านี้คือผลงานด้านการออกกฎหมาย ได้น้ำได้เนื้อแค่ไหน สังคมก็คงเห็นๆกันอยู่

ที่แน่ๆ การทำหน้าที่ของ ส.ส. ในสภาฯ ในช่วง 4 เดือนที่ผ่านมา ยังเต็มไปด้วยความขัดแย้ง

ฝ่ายค้าน ฝ่ายรัฐบาล เน้นแต่เล่นเกมการเมือง ดิส-เครดิตทำลายฝ่ายตรงข้าม ร้อนแรงถึงขั้นเปิดศึกวางมวยกันกลางสภาฯ

เรื่องความร่วมไม้ร่วมมือในการทำงานเพื่อแก้ปัญหาวิกฤติของประเทศ แทบมองไม่เห็น


ถึงแม้มีการตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปการเมืองและศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญของรัฐสภาขึ้นมาเพื่อแก้วิกฤติความขัดแย้งทางการเมือง

แต่ภาพที่ปรากฏต่างฝ่ายต่างขั้วก็ยังเอาแต่ได้ คำนึงถึงแต่สิ่งที่จะเป็นประโยชน์แก่ฝ่ายตัวเอง ไม่ได้คิดถึงประโยชน์ส่วนรวมเป็นที่ตั้ง

สถานการณ์เช่นนี้ทำให้เชื่อได้ว่า การทำงานของคณะกรรมการเพื่อความสมานฉันท์ฯคงเดินไปสู่จุดลงตัวลำบาก

ที่สำคัญ ถึงแม้จะมีข้อสรุปในการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญออกมา แต่ถ้าประเด็นที่เป็นข้อสรุปถูกมองว่าเป็นการแก้ไขเพื่อ ประโยชน์ของนักการเมืองเพียงฝ่ายเดียว

ย่อมต้องเผชิญกับแรงเสียดทาน กระแสต่อต้านจากสังคมอย่างหนัก

จนไม่สามารถคาดเดาได้ว่า สุดท้ายแล้วการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะเดินไปถึงจุดสำเร็จตามที่นักการเมืองต้องการหรือไม่

เหนืออื่นใด แม้สภาฯจะปิดสมัยประชุม 4 เดือน และในสมัยประชุมต่อไปจะเป็นสมัยประชุมสามัญนิติบัญญัติ ที่จะมีการพิจารณาเฉพาะร่างกฎหมาย และกระทู้ถาม รัฐบาลไม่ต้องเผชิญกับญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ

แต่ก็ใช่ว่าสถานการณ์ของรัฐบาลจะราบรื่น

เพราะต้องไม่ ลืมว่าก่อนปิดสมัยประชุมรัฐสภา ฝ่ายค้าน พรรคเพื่อไทย ได้ทิ้งทุ่นระเบิดเอาไว้

ด้วยการเข้าชื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตีความ กรณีที่รัฐบาลออกพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน 4 แสนล้านบาท เพื่อฟื้นฟูและเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ขัดต่อบทบัญญัติรัฐธรรมนูญหรือไม่


โดยศาลรัฐธรรมนูญได้รับเรื่องไว้พิจารณา พร้อมทั้งนัดให้นายกฯอภิสิทธิ์ และตัวแทนฝ่ายผู้ร้องเข้าชี้แจงด้วยวาจาต่อศาลรัฐธรรมนูญในวันที่ 26 พฤษภาคมนี้

หากในที่สุดผลการวินิจฉัยตีความของศาลรัฐธรรมนูญออกมาว่า การออกพระราชกำหนดกู้เงิน 4 แสนล้านบาท ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ
รัฐบาลก็สามารถเดินหน้านำพระราชกำหนดขอความเห็นชอบจากรัฐสภาต่อไป

แต่ถ้าศาลรัฐธรรมนูญชี้ว่า การออกพระราชกำหนดขัดต่อรัฐธรรมนูญ รัฐบาลก็จะต้องโดนฝ่ายค้านยื่นเรื่องถอดถอนออกจากตำแหน่งอย่างแน่นอน ฐานใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ

กลายเป็นชนักติดหลัง เสี่ยงพังได้ง่ายๆเหมือนกัน

หันมาทางด้านการทำงานของรัฐบาลผสม ภายใต้ การนำของพรรคประชาธิปัตย์ในช่วง 5 เดือนที่ผ่านมา

ต้องยอมรับว่า ตั้งแต่เริ่มแรกที่ได้อำนาจจัดตั้งรัฐบาล ภายในพรรคประชาธิปัตย์ที่เป็นพรรคแกนนำรัฐบาล ก็เริ่มมีอาการคุกรุ่นให้เห็น

เนื่องจาก ส.ส.ในพรรคหลายคนที่เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงทำงานให้กับพรรคมาตลอด ไม่ได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีในรัฐบาลชุดนี้ ต้องยอมให้ ส.ส.รุ่นน้อง ข้ามหัวไปเป็นรัฐมนตรี แบบไม่เต็มใจ

ส่งผลให้ ส.ส.บางคนที่อกหักพลาดหวังเก้าอี้รัฐมนตรี ถึงกับออกมาโวยวายที่ไม่ได้รับความไว้วางใจให้รับตำแหน่งในคณะรัฐมนตรี

ร้อนถึงหัวหน้าพรรคและเลขาธิการพรรค ทั้งนายกฯอภิสิทธิ์ และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกฯ ในฐานะผู้จัดการรัฐบาลต้องจับเข่าเคลียร์

หยุดแรงกระเพื่อมไปได้ชั่วคราว

แต่ล่าสุด ก็เกิดอาการคุกรุ่นขึ้นมาอีก ในช่วงที่มีกระแสข่าวปรับ ครม.จากการที่พรรคภูมิใจไทยจะขอเปลี่ยนตัวนายชาติชาย พุคยาภรณ์ รมช.เกษตรฯ

ส.ส.หลายคนในพรรคประชาธิปัตย์ ทั้งพวกที่อกหักและพวกข้าวนอกนา ที่ถูกมองข้ามความสำคัญ ไม่มีตำแหน่งในฝ่ายบริหาร ปฏิบัติการเขย่าพรรคอีกระลอก

อ้างชื่อกลุ่ม 40 ส.ส.ไม่พอใจผลงานรัฐมนตรีของพรรค 4-5 คน จี้ให้มีการปรับเปลี่ยน

โวยวายเรื่องการจัดสรรงบประมาณลงพื้นที่ไม่เป็นธรรม

ขู่คำราม ถ้าไม่ได้ตามข้อเรียกร้องจะย้ายไปอยู่ พรรคการเมืองอื่นในการเลือกตั้งครั้งหน้า

จากปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น แม้แกนนำพรรคประชาธิปัตย์จะพยายามออกมาปฏิเสธว่าไม่มีปัญหา สามารถเคลียร์ได้

แต่จากอาการกระเพื่อมกระฉอก ก็ทำให้พรรคแกนนำรัฐบาลตกอยู่ในสภาพ "เป๋"

ในขณะที่พรรคร่วมรัฐบาล โดยเฉพาะพรรคภูมิใจไทย เมื่อเห็นพรรคแกนนำรัฐบาลออกอาการเป๋ ก็ยิ่งมีการเคลื่อนไหวกดดันหนักขึ้น

นอกจากการขอปรับเปลี่ยนตัว รมช.เกษตรฯที่เป็นโควตาของพรรคตัวเองแล้ว ยังมีความพยายามทางลึกที่จะขอให้มีการปรับเปลี่ยนตัวรัฐมนตรีบางคนในพรรคประชาธิปัตย์

เพราะไม่พอใจการทำงาน การบริหารที่ขัดผลประโยชน์กัน

รวมไปถึงมีความพยายามที่จะกดดันพรรคประ-ชาธิปัตย์ เกี่ยวกับเรื่องงบประมาณที่คณะรัฐมนตรีไม่ยอมอนุมัติ อาทิ

กรณีการประมูลขายข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ของกระทรวงพาณิชย์ และโครงการรถเมล์เช่าเอ็นจีวี

รวมไปถึงปัญหาเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และการนิรโทษกรรม ที่พรรคร่วมรัฐบาลเกือบทุกพรรคตั้งป้อมขอความชัดเจนจากพรรคแกนนำรัฐบาล
สิ่งเหล่านี้ คือ ปัญหาที่พรรคประชาธิปัตย์กำลังเผชิญ

และต้องโดนกดดันหนักขึ้นเรื่อยๆ

ท่ามกลางสภาพที่รัฐบาลต้องเจอกับคลื่นลมภายนอก ทั้งการไล่บี้จากฝ่ายค้าน พรรคเพื่อไทย ในการตรวจสอบเรื่องต่างๆ

รวมทั้งการเคลื่อนไหวของกลุ่มม็อบเสื้อแดงที่แม้ว่าการขับเคลื่อนดูแผ่วลงไป แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะหมดพิษสง

แถมยังเจอกับมรสุมต่อรองกดดันจากพรรคร่วมรัฐบาลด้วยกัน

หนำซ้ำในพรรคประชาธิปัตย์เองก็ยังมีคลื่นใต้น้ำที่คอยซัดกระหน่ำปั่นป่วนกันเอง

สภาพการณ์เช่นนี้ ทำให้พรรคเก่าแก่ 63 ปีที่เป็นสถาบันการเมือง และเป็นที่หวังของสังคมในการแก้ปัญหาเยียวยาบาดแผลของประเทศ

ความเชื่อมั่น คาดหวัง ถดถอยลงไป

ที่สำคัญ ปรากฏการณ์ป่วนที่เกิดขึ้นภายในพรรคประชาธิปัตย์ครั้งนี้

สะท้อนถึงจิตสำนึกความรับผิดชอบในภาระหน้าที่ที่มีต่อชาติบ้านเมืองเป็นส่วนรวม ของคนในพรรคบางส่วน เริ่มเหือดแห้ง

แต่ไปล้นเอ่อในด้านความเห็นแก่ตัวมากขึ้น

ถ้าปล่อยให้อยู่ในสภาพอย่างนี้ต่อไป จนทำให้เครื่องรวน

รับรอง รัฐบาลอายุสั้นแน่.


"ทีมข่าวการเมือง" รายงาน

ข่าวส่งเสริมคนดี

จำนวนผู้เข้าเยี่มมชม

link to affordable web hosting
Powered by web hosting provider .

สถิติการเข้าชม DMNEWS

eXTReMe Tracker