บล็อคข่าวส่งเสริมคนดี (รักดีหามจั่ว รักชั่วหามเสา หามจั่วก็หนักนะ)

ข่าวจากสื่อ

บทความจากสื่อ

วันเสาร์ที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

‘การเมืองใหม่’ กับอนาคตสังคมไทย

ที่มา ประชาไท

สุรพศ ทวีศักดิ์

การเมืองใหม่ตามแนวคิดของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ดูเหมือนจะมีจุดยืนที่ประกาศออกมาชัดเจนอยู่ 3 เรื่องหลักๆ คือ

1. เป็นการเมืองที่มุ่งปกป้องสถาบันชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ให้ดำรงอยู่คู่สังคมไทย หรือยึดมั่นในอุดมการณ์ที่ว่า สังคมไทยควรปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และพระมหากษัตริย์ทรงดำรงสถานะเป็นศูนย์รวมจิตใจของปวงชนชาวไทย

2. เป็นการเมืองที่มุ่งขจัดการทุจริตคอรัปชัน หรือเป็นการเมืองที่โปร่งใสตรวจสอบได้ เพิ่มอำนาจการตรวจสอบของภาคประชาชน เป็นการเมืองที่ได้นักการเมืองที่เป็นคนดีมีคุณธรรมจริยธรรมมาปกครองบ้านเมือง

3. เป็นการเมืองที่มีกระบวนการให้ได้มาซึ่ง ผู้แทนปวงชน ที่มีคุณสมบัติเป็นผู้แทนของปวงชนจริงๆ เช่น ผู้แทนที่เป็นตัวแทนของคนในสาขาอาชีพหรือภาคส่วนต่างๆของสังคม

แนวทางผลักดันให้เกิดการเมืองใหม่ดังกล่าวของพันธมิตรฯ เท่าที่เปิดเผยต่อสาธารณะ คือ

1) ตั้งพรรคการเมืองเพื่อสร้างมิติใหม่ทางการเมืองในระบบรัฐสภา นั่นคือเป็นการเมืองที่นักการเมืองเป็นคนดีมีคุณธรรมจริยธรรม ปลอดจากการทุจริตคอรัปชัน หรือการแย่งชิงอำนาจทางการเมืองเพื่อผลประโยชน์ของตนเองและพวกพ้อง อย่างที่คุณสนธิ ลิ้มทองกุล กล่าวว่า พรรคการเมืองของพันธมิตรจะเป็นเสมือนหมู่บ้านศีล 5 ในดงโจร

2) รักษามวลชนและผนึกแนวร่วมของการเมืองภาคประชาชนเพื่อเสริมพลังตรวจสอบให้เข้มแข็ง

หากการดำเนินตามแนวทางทั้งสองบรรลุผลภาพอนาคตสังคมไทยที่มีการเมืองใหม่ในสายตาของพันธมิตรฯ (ประมาณว่า) คือ สังคมที่มีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข มีนักการเมืองที่มีคุณธรรมจริยธรรม ปลอดการทุจริตคอรัปชัน การเมืองภาคประชาชนเข้มแข็งควบคู่กับความเข้มแข็งของการเมืองภาคนักการเมืองที่มีผู้แทนปวงชนมาจากประชาชนทุกภาคส่วนจริงๆ

ในฐานะสมาชิกคนหนึ่งของสังคมไทย ผู้เขียนขอแลกเปลี่ยนกับฝ่ายเรียกร้องการเมืองใหม่ ดังนี้

ประเด็นแรก ดูจากการกระทำของพันธมิตรฯในเรื่องการชูวาทกรรม ชาติ ศาสน์ กษัตริย์ เพื่อปลุกกระแสมวลชนเท่าที่ผ่านมาไม่ได้สะท้อนความเป็นการเมืองใหม่แต่อย่างใด แต่เป็นการเมืองอนุรักษ์นิยมสุดขั้วที่นำสถาบันกษัตริย์มาแบ่งแยกผู้คนในปะเทศเป็นฝักฝ่ายอย่างไร้ความรับผิดชอบ (เช่น เพียงแค่คนที่ซื้อหนังสือพิมพ์บางฉบับที่พันธมิตรไม่เอาด้วยก็ถือว่าพวกเขาไม่เอาสถาบันกษัตริย์แล้ว เป็นต้น)

นอกจากนี้การสร้างวาทกรรม ทหารของพระราชา ข้าราชการในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ข้อเรียกร้องให้เพิ่ม พระราชอำนาจ (เช่น การแต่งตั้ง ผบ.เหล่าทัพควรเป็นพระราชอำนาจเท่านั้น) ทำให้น่าสงสัยว่าสถาบันพระมหากษัตริย์จะอยู่เหนือระบอบประชาธิปไตยหรืออย่างไร หรือประเทศนี้จะปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยภายใต้การกำกับของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์

ในระบอบประชาธิปไตยเราไม่อาจจินตนาการถึง พระราชอำนาจ ที่อยู่เหนือ ฉันทานุมัติ หรือ อำนาจของประชาชน ไม่อาจจินตนาการถึงกองทัพหรือข้าราชการซึ่งกินภาษีของประชาชนแต่ไม่ใช่ผู้รับใช้ประชาชน หรือไม่ใช่ผู้พิทักษ์ป้องหลักสิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาค

ที่สำคัญการที่พันธมิตรฯ ประณามนักวิชาการหรือประชาชนฝ่ายที่เรียกร้องให้ปรับปรุงกฎหมายหมิ่นพระบรมราชานุภาพซึ่งยืนยันหลักการความเสมอภาคและความโปร่งใสที่ว่า ในสังคมประชาธิปไตยทุกสถาบันต้องโปร่งใสตรวจสอบได้ ยิ่งเป็นการแสดงให้เห็นว่าการเมืองใหม่ของพันธมิตรไม่ใหม่จริง (เพราะเป็นการเมืองที่ขัดขวางการเปลี่ยนแปลงไปสู่ความมีเสรีภาพและความเสมอภาคมากขึ้น)

ประเด็นที่สอง การชูการเมืองที่ความโปร่งใสตรวจสอบได้ ถ้าหมายถึงการสร้างระบบการเมืองที่โปร่งใสตรวจสอบได้ย่อมเป็นสิ่งที่ดี แต่ถ้า (เน้น ถ้า) เป็นการชูคนดีมีคุณธรรมจริยธรรม หรือชู คนดี ให้เหนือ ระบบที่ดี อาจมีเป็นปัญหาตามมา

เวลาที่เราพูดถึง คนดีในทางการเมือง เราอาจต้องนิยามให้ชัดเจนว่าหมายถึง คนที่มีอุดมการณ์ทางการเมือง และกระทำการต่างๆตามหรือพิทักษ์ปกป้องหลักการ กติกา อุดมการณ์แห่งระบอบการเมืองการปกครองนั้นๆ (ซึ่งคนดีเช่นนี้ไม่เกี่ยวกับว่าจะกินอาหารมื้อเดียว มังสวิรัติ หรืออาบน้ำวันละ 5 ขัน หรือไม่) ดังนั้น ระบบการเมืองจึงเป็นตัวกำหนดคนดีในทางการเมือง

การเรียกร้องคนดีในทางการเมืองจึงไม่ใช่การเรียกร้องหาคนดีที่สิ้นกิเลส หรือคนที่อ้างศาสนาอ้างศีลธรรมเพื่อสร้างเครดิตให้กับตนเอง (การอ้างศาสนาในทางการเมืองควรอ้างหลักการของบางคำสอนในทางศาสนาว่าสนับสนุนหลักการทางการเมืองอย่างไร เช่น หลักธรรมาธิปไตยสนับสนุนหลักประชาธิปไตยอย่างไร เป็นต้น ไม่ควรอ้างศาสนาเพื่อแบ่งแยกว่าคนนั้นคนนี้หรือฝ่ายนั้นฝ่ายนี้เป็นคนดีหรือไม่ดี)

ถ้าเรายึดระบบที่ดีเป็นสิ่งสำคัญสูงสุดในการอยู่ร่วมกัน ผลที่ตามมาก็คือ ไม่ว่าคนที่มีภาพเป็นคนดีหรือมีภาพเป็นคนไม่ดี ถ้าทำผิดกติกาเดียวกันเขาย่อมถูกปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกัน แต่ถ้าเรายึดคนดีเหนือระบบที่ดีผลที่ตามมาคือคนที่มีภาพเป็นคนดีหรือมีภาพเป็นคนไม่ดีถ้าทำผิดกติกาเดียวกันจะได้รับการปฏิบัติอย่างไม่เท่าเทียมกัน

และอาจเลยเถิดไปถึงว่าคนที่เรายกย่องกันว่าเป็นคนดีนั้นอาจอยู่เหนือการตรวจสอบ เพราะความเชื่อที่ว่าเขาเป็นคนดีเขาย่อมไม่ทำผิด (หรือแม้แต่เขาทำผิดเราก็อาจมองข้ามไปเฉยๆ) หรือาจเลยเถิดไปจนกระทั่งว่า ฝ่ายที่ถือว่าพวกตนเป็นคนดีมีคุณธรรมจริยธรรมอาจทำตัวเป็น อภิสิทธิชนทางศีลธรรม เที่ยวตัดสินถูก-ผิดแทนสังคม และวางเงื่อนไขต่างๆกดดันให้สังคม เลือกข้าง อย่างไม่เคารพเสรีภาพทางความคิด เป็นต้น

ประเด็นสุดท้าย การเมืองที่ได้ผู้แทนปวงชนที่เป็นผู้แทนของปวงชนจริงๆเป็นอุดมคติของระบอบประชาธิปไตย แต่จะใช้วิธีการอย่างไรจึงจะทำให้อุดมคตินั้นเป็นจริงย่อมเป็นเรื่องที่ถกเถียงกันได้ (ด้วยเหตุผล)

ระบบการเลือกตั้งแบบ 1 คน 1 เสียง โดยพิจารณาความเป็นผู้แทนของปวงชนจากนโยบายของพรรคการเมืองหรือนักการเมืองเป็นวิธีตรงไปตรงมาและง่ายในทางปฏิบัติ เพียงแต่จะทำอย่างไรให้การทุจริตเลือกตั้งลดลงได้เป็นประเด็นที่สังคมต้องตระหนักร่วมกัน และเป็นเรื่องที่เราต้องเคารพต่อการใช้วิจารณญาณในการตัดสินใจของประชาชน

หมายเหตุสำคัญ คือ ประเด็นหลักของการวิเคราะห์เพื่อเปลี่ยนผ่านไปสู่การเมืองใหม่ของพันธมิตรฯ ที่ว่า นักการเมืองในการเมืองเก่าเลว การเมืองใหม่ต้องการนักการเมืองที่เป็นคนดี เป็นประเด็นเก่าแก่และแคบ ปัญหาที่ควรเป็นประเด็นหลัก เช่น ความเป็นธรรมทางสังคม มีการพูดถึงน้อยมาก และแนวทางขับเคลื่อนการเมืองใหม่ของพันธมิตรฯ ที่ดำเนินมาบนหลักการที่ว่า เป้าหมายหรือผลสัมฤทธิ์สำคัญเหนือวิธีการ ก็เป็นแนวทางแบบเดียวกับแนวทางของการเมืองเก่าที่พันธมิตรฯ ประณาม

ผู้เขียนจึงจินตนาการไม่ออกว่า การเมืองใหม่ของพันธมิตรฯ จะเปลี่ยนสังคมไทยไปสู่อนาคตที่ดีกว่าได้อย่างไร โดยเฉพาะจะสร้างสังคมที่มีความเป็นธรรมมากขึ้นได้อย่างไร!

ข่าวส่งเสริมคนดี

จำนวนผู้เข้าเยี่มมชม

link to affordable web hosting
Powered by web hosting provider .

สถิติการเข้าชม DMNEWS

eXTReMe Tracker