บล็อคข่าวส่งเสริมคนดี (รักดีหามจั่ว รักชั่วหามเสา หามจั่วก็หนักนะ)

ข่าวจากสื่อ

บทความจากสื่อ

วันอังคารที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

คำนูณชูสนธินำพรรค เพราะมีส่วนผสมลงตัว จบนอก-เป็นนายทุนชั้นนำ-ศึกษาตะวันออก-คิดแหกกรอบ

ที่มา ประชาไท

คำนูณ สิทธิสมาน ชูสนธินำพรรคของพันธมิตรฯ เพราะมีส่วนผสมลงตัว จบนอก-เป็นนายทุนชั้นนำ-ศึกษาตะวันออก-คิดแหกกรอบ ชี้พันธมิตรฯ ขึ้นจุดสูงสุดของการเมืองภาคประชาชนแล้ว จากนี้ต้องทำพรรคการเมืองมวลชน โดยรักษาพื้นที่ภาคประชาชนคู่ขนาน หวัง ส.ส.มาจากปาร์ตี้ลิสต์ บางเขตน่าลุ้น ได้ 30 ก็พอใจแล้ว เคลียร์เรื่องสนธิเคยสัญญาไม่รับตำแหน่ง เป็นการแสดงออกในบริบทนั้นว่าทำเพื่อชาติ สุริยะใส กตะศิลา ยันสนธินำพรรค แต่เป้าหมายเดิมคือชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ย้ำกระบวนการตั้งพรรคพันธมิตรฯ มวลชนเป็นผู้ริเริ่ม แกนนำไม่เคยพูดบนเวที บอกแข่งประชาธิปัตย์ดีกว่าเผชิญหน้า นปช.-เพื่อไทย และพันธมิตรฯ จะทำให้ประชาธิปัตย์ส่งเสาไฟฟ้าลงเลือกตั้งไม่ได้

เมื่อวันที่ 20 พ.ค. ที่ผ่านมา ในรายการคนในข่าว ทางโทรทัศน์เอเอสทีวี ช่วงเวลา 20.30-21.30 น. นายเติมศักดิ์ จารุปราน ดำเนินรายการ โดยมีนายคำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกวุฒิสภาระบบสรรหา และนายสุริยะใส กตะศิลา ผู้ประสานงานพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย มาร่วมให้ความเห็นกรณีการจัดตั้งพรรคการเมืองของพันธมิตรฯ

คำนูณอัดบทวิเคราะห์คมชัดลึกไม่เนียน

นายคำนูณ ให้ความเห็นกรณีบทวิเคราะห์ในหนังสือพิมพ์คมชัดลึกที่อ้างว่าพันธมิตรฯ มีการวางคนเป็นรัฐมนตรีไว้ล่วงหน้าแล้ว โดยนายคำนูณกล่าวว่า เขาคงเขียนขำๆ แต่อาจจะเขียนได้ไม่เนียนพอ ไม่อยากจะไปว่าอะไรเขามาก ก็ดูเหมือนว่าจับว่า ใครที่อยู่ในแวดวงใกล้ชิดพันธมิตรฯ แล้วเอาไปจัดตามที่คิดว่าเหมาะสม คือถ้าเข้าใจสักนิดหนึ่ง ผมเป็น ส.ว. ผมไม่มีทางจะเกี่ยวข้องกับพรรคพันธมิตรฯ ได้ เป็นสมาชิกก็ไม่ได้เด็ดขาด ร่วมงานด้วยก็ไม่ได้ ลงสมัคร ส.ส.ก็ไม่ได้ ต่อให้ผมลาออกจาก ส.ว. ก็ต้องเว้นวรรคอีก 2 ปี ถึงจะมาลง ส.ส. ได้ ยิ่งเป็นรัฐมนตรีก็ไม่ได้ เพราะคุณสมบัติรัฐมนตรีต้องไม่เป็น ส.ว. หรือพ้นจากตำแหน่ง ส.ว. ไปแล้ว 2 ปี พูดง่ายๆ ต้องเว้นวรรคสองปี เพราะฉะนั้นเป็นไปไม่ได้ และไม่เคยอยู่ในความคิดด้วย

ที่พูดที่เขียนมาทั้งหมด ผมเขียนเรื่องนี้มาประมาณ 8 ครั้ง เขียนครั้งแรกเดือนสิงหาคม 2550 ก็คือความคิดของผม ตั้งพรรคไม่ใช่เพื่อไปเป็นรัฐบาลหรือไปจัดสรรตำแหน่งรัฐมนตรีกัน แต่ถ้าทำพรรคก็คือเพื่อเข้าไปต่อสู้ผลักดันการเมืองใหม่จากในระบบ จากผ่านศูนย์กลางในการเมืองเก่า ผ่านวัตรปฏิบัติต่างๆ ผ่านกรรมวิธี ผ่านกลไกตามกฎหมายของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งผมมองเห็นว่าทำได้เยอะ

สุริยะใสมองบวก แสดงว่าพันธมิตรฯ ได้รับการสนใจ

ด้านนายสุริยะใส กตะศิลา กล่าวถึงบทวิเคราะห์ในคมชัดลึกว่า ถ้ามองเป็นด้านบวก ผมคิดว่าการขยับตัวครั้งนี้ของพันธมิตรฯ ได้รับความสนใจ ไม่ใช่แค่ปรกติ ข่าวชิ้นนี้คือไปไกลถึงขั้นคาดการณ์ว่าใครจะหัวหน้าพรรค หรือใครจะเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีในนามพรรคพันธมิตรฯ นั่นหมายความว่าการขยับตัวของเรา เจตนารมณ์ของบทความชิ้นนี้ซึ่งผมเห็นไม่ต่างจากคุณคำนูณ มันชี้ให้เห็นว่าเขาพยายามเอ็กซเรย์การขยับตัวครั้งนี้ของเราว่า สมมติว่าถ้าความเห็นส่วนใหญ่ให้ตั้งพรรคแล้วใครจะเป็นหัวหน้า แน่นอนเมื่อหัวหน้าพรรคเป็นใครก็ตาม ก็ต้องถูกชูเป็นว่าที่นายกฯ ก็อาจจะพุ่งเป้าไปที่นายสนธิ (ลิ้มทองกุล) และต้องไปดูตัวรัฐมนตรี ผมมองมุมแบบนี้นะ ส่วนจะไปรับงานมาหรือเปล่า หรือมีนัยยะกระแนะกระแหนขำๆ หรืออะไรก็แล้วแต่ คือระหว่างบรรทัดมันก็ตีความได้อยู่แล้วว่าเจตนาก็ไม่ได้เป็นมิตรเสียทีเดียว

นายคำนูณ กล่าววิจารณ์บทวิเคราะห์ดังกล่าวอีกว่า เร็วไปสักนิดหนึ่ง คุณสุริยะใสยังเลือกเจ้าสาวไม่ได้เลย เขาไปเขียนเสร็จเลยว่ามีลูกกี่คน ลูกชื่ออะไรบ้าง เป็นผู้หญิงหรือผู้ชาย

ยันแกนนำไม่มีวางตัว เรื่องตั้งพรรคริเริ่มจากมวลชน

นายเติมศักดิ์ ถามว่า แกนนำไม่เคยวางตัวใช่ไหมครับ นายสุริยะใส ตอบว่า ไม่มีหรอกครับ ผมเรียนคุณเติมศักดิ์ว่า แม้กระทั่งความคิดเรื่องพรรค ครั้งนี้เริ่มต้นจากข้างล่างจริงๆ หมายถึงว่าเริ่มต้นจากมวลชน ไม่เคยเข้าที่ประชุม 5 แกนนำ ชุมนุม 193 วัน เราเคยได้ยิน 5 แกนนำบอกตั้งพรรคหรือเปล่า ไม่มีนะครับ ยุติชุมนุมแล้ว 3 ธันวา หลังจากนั้น 3-4 เดือน ไม่เคยมีวาระเรื่องพรรคเลย แต่เป็นการเคลื่อนไหวของมวลชน ขององค์กรแนวร่วม จนกลายเป็นกระแส เป็นวาระ

งานเขียนของพี่นูน (คำนูณ) ก็อาจจะเป็นชิ้นหนึ่งที่มีการหยิบไปวิพากษ์วิจารณ์ หยิบไปวิวาทะกันในขบวน ซึ่งผมว่าดี ดีในแง่ที่ว่าเราหยุดชุมนุม แต่ว่าเราไม่พักคิด ไม่หยุดคิด เราก็คิดช่องทางใหม่ๆ ที่จะสู้ ที่จะยกระดับการต่อสู้ของเรา มันไม่ได้ออกมาเป็นแค่พรรคหรอก มันออกมามากกว่านั้น พรรคแค่เป็นทางหนึ่ง มากกว่านั้นคือ คำถามใหญ่ก็คือว่า การทำให้พันธมิตรเข้มแข็งและเป็นเจ้าภาพการเมืองใหม่ได้อย่างไร พรรคแค่ส่วนเดียวของภาพใหญ่ทั้งหมด ซึ่งเดี๋ยวเราคงได้คุยกัน

คำนูณเผยเรื่องตั้งพรรคเป็นความฝันส่วนตัว คิดมาก่อนรัฐประหาร 19 กันยา

นายเติมศักดิ์ถามนายคำนูณ ถึงบทความล่าสุดของนายคำนูณที่เขียนถึงการตั้งพรรคการเมืองของพันธมิตรฯ และเสนอให้นายสนธิ เป็นหัวหน้าพรรค โดยนายคำนูณตอบว่า ทำใจไว้แล้ว ความเห็นท้ายบทความในอินเทอร์เน็ตก็มีทั้งบวกและลบ อาจพูดได้ว่า 70-30 ก็ผมยินดีรับฟังทุกความคิดเห็น และอย่างที่บอกว่า มันเป็นความฝันส่วนตัวของผม แต่ไม่อยากเรียกว่าความเพ้อฝัน ผมคิดผมเขียนเรื่องนี้อย่างที่ทราบคือตั้งแต่ปี 2550 และเขียนมาทั้งหมดรวมแล้ว ถ้าจำไม่ผิด 8 ครั้ง แล้วที่ทำเป็นรูปธรรมคือตั้งแต่ก่อนรัฐประหาร 19 กันยา 2549 ตอนนั้นจะครบรอบ 1 ปี ของการจัดเมืองไทยรายสัปดาห์สัญจรนอกสถานที่ ก็คิดกันเล่นๆ แต่เอาจริงว่า เราจะทำเป็นมหกรรม และทำเป็นคล้ายๆ ว่า เป็นเรื่องเล่นๆ ว่า สมมติเราทำเป็นพรรคการเมือง พรรคการเมืองนั้นจะชื่ออะไร นโยบายว่าอย่างไร นี่ที่มาของพรรคเทียนแห่งธรรม ที่คิดว่าจะทำเป็นบทละคร แต่ว่าเป็นเหมือนจริง เป็นเซอร์ไพรส์

เพราะว่า ประเด็นหนึ่งคือว่า คุณสนธิเอง พันธมิตรฯ เอง วิพากษ์วิจารณ์คนอื่นเขามามาก ก็มีคนถามขึ้นมาว่า คุณก็ดีแต่วิพากษ์วิจารณ์นั่นแหละ ถ้าคุณเป็นรัฐบาลคุณจะอะไร ทำเป็นหรือเปล่า ซึ่งผมยืนยันว่าทำเป็น แต่ไม่มีโอกาสได้ทำ เพราะว่าระบบไม่เปิดโอกาสให้ และในขณะนั้นคุณสนธิเองก็ไม่เคยคิดที่จะเข้าไปต่อสู้ในระบบ

ชื่นชมสนธิมีวัตรปฏิบัติต่างจากสื่อทั่วไป เพราะยืนหยัดอยู่ข้างความถูกต้อง

คงจะจำได้ว่า คุณสนธิเริ่มต้นจากการเป็นสื่อมวลชน แต่สื่อมวลชนแบบคุณสนธิ ก็คือมีวัตรปฏิบัติที่อาจจะแตกต่างจากสื่อมวลชนโดยทั่วไป คือคุณสนธิยืนยันว่าไม่เป็นกลางในความหมายอย่างที่สื่อมวลชนไทยหรือคนไทยจำนวนหนึ่งที่ยึดถือว่าเป็นกลางหมายถึงการให้คน 2 คน ได้มีเวลาพูดเท่าๆ กัน โดยไม่คำนึงถึงความถูกความผิด สื่อมวลชนของคุณสนธินั้นคือการยืนหยัด ยืนอยู่ข้างความถูกต้อง การตัดสินใจของคุณสนธิจากสื่อมวลชนพัฒนามาเป็นผู้นำมวลชน ผมเข้าใจว่า คุณสนธิใช้เวลาตัดสินใจนานแล้วก็ถือเป็นรอยต่อครั้งสำคัญของชีวิต

ผมจำได้ว่า ได้เข้าไปกราบหลวงตามหาบัวญาณสัมปันโน พ่อแม่ครูบาอาจารย์ที่คุณสนธินับถือ จากสื่อมวลชนพัฒนามาเป็นผู้นำมวลชน และเป็นผู้นำมวลชนต่อเนื่องมาเป็นระยะเวลา 2 ปี ผมเห็นว่าขั้นตอนจากนี้ไป เป็นจังหวะก้าวสำคัญที่คุณสนธิจะต้องตัดสินใจและพี่น้องประชาชน โดยเฉพาะพี่น้องพันธมิตรฯ เองก็จะต้องช่วยคุณสนธิตัดสินใจ

ผมเองที่เขียนเสนอความเห็นไปอย่างที่พูดคุยกับคุณสนธินั้น ผมต้องการพูดตรงไปตรงมาจากมุมมองส่วนตัว ส่วนการตัดสินใจจะเป็นอย่างไรเป็นเรื่องของนายสนธิและพี่น้องประชาชนชาวพันธมิตรฯ แต่ผมเห็นว่าบางสิ่งบางอย่างมันอยู่ในใจของคนหลายคนแต่ไม่กล้าพูด ไม่กล้าเสนอแนะ ไม่กล้าแสดงความคิดเห็น

ถามพันธมิตรฯ ขึ้นจุดสูงสุดแล้ว พ้นจากนี้จะทำอะไร

ผมกล้าที่จะถามตรงๆ ว่า พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยจากนี้ไป สถานการณ์ที่คุณชุมนุมมาแล้ว 193 ผมก็ไปด้วยค่อนข้างเยอะวัน ทำมาแล้วทุกอย่าง มีโอกาสจะติดคุกติดตะราง จะขึ้นโรงขึ้นศาลกันอยู่ นี่คือการเมืองภาคประชานที่ผมเชื่อว่าขึ้นสู่จุดสูงสุดแล้ว พ้นจากนี้ไปผมถามจริงๆ เถอะว่า พันธมิตรฯ จะทำอะไร

เริ่มต้นคุณสุริยะใส อยู่ ครป. องค์กรพัฒนาเอกชนก็ทำไป มีอะไรไม่เห็นด้วยก็แถลงข่าวกันที จัดสัมมนากันที ออกแถลงการณ์กันที พัฒนามาจนถึงขั้นคัดค้านรัฐบาล ขับไล่รัฐบาล ขับไล่รัฐบาลนี้ไป รัฐบาลใหม่มา ก็ขับไล่กันอีก รัฐบาลใหม่ไปก็ขับไล่อีก เราขับไล่นายกฯ มาแล้วกี่คน

193 วันพันธมิตรฯ ทำมาหมดแล้ว พ้นไปจากนี้จะเป็นกบฏ ซึ่งไม่ควร

ด้วยรูปการที่ก่อให้เกิดความไม่เข้าใจในหมู่พี่น้องประชาชนจำนวนหนึ่งที่ไม่ต้องการเห็นการชุมนุมในลักษณะที่เขาอาจจะมองว่าเป็นความรุนแรง แต่เหตุผลของการกระทำต่างๆ ของพันธมิตรฯ ก็มีอยู่ ก็ต้องยอมรับว่ามีทั้งประชาชนที่เข้าใจและไม่เข้าใจ ยอมรับและไม่ยอมรับ แต่จากนี้ไปคุณจะทำอย่างไรต่อไป พันธมิตรฯ จะทำอย่างไรต่อไปนี่เป็นเรื่องท้าทายมาก สมมุติว่าพันธมิตรฯ บอกว่ายืนยันในจุดเดิมว่าไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แล้วอย่างไร แล้วเขาจะแก้ไขกัน คุณสุริยะใสจะจัดชุมนุมอีก สนามหลวง อนุสาวรีย์ฯ เดินไปปิดหน้าสภาอีก หรือจะเดินไปที่ทำเนียบอีก แล้วจะปีนเข้าทำเนียบอีกหรือเปล่า หรือจะเดินไปที่หน้าสนามบินสวรรณภูมิอีก แล้วถึงเวลานั้นประชาชนส่วนข้างมากของประเทศ ที่เขาอาจไม่ได้รับข่าวสารที่ไม่ได้เป็นทางบวกกับพันธมิตรฯ เขาจะมีท่าทีอย่างไร เขาจะมีปฏิกิริยาอย่างไร แล้วพันธมิตรฯ จะแก้ไขอย่างไร

อันนี้ผมพูดตามตรงว่า การเมืองภาคประชาชน การตรวจสอบอยู่ข้างนอก การเป็นพลังถ่วงดุลอยู่ข้างนอก เป็นเรื่องสำคัญ ใช่ ผมยอมรับ เป็นเรื่องอุดมคติ เป็นเรื่องที่ต้องทำ แต่เราทำมา 193 วัน ถามเหอะว่ามีอะไรที่ยังไม่ได้ทำอีก ผมอยากจะตอบว่า ถ้าพ้นไปจากนี้ คุณสุริยะใสต้องมีกองทัพของตัวเอง ดำเนินการจัดตั้งพรรคที่มีทั้งกองกำลัง ถ้าทำแบบนั้นก็เป็นกบฏ แล้วถามว่าประเทศไทยมันจะต้องไปสู่จุดนั้นหรือไม่ ผมคิดว่าไม่ควร

แนะตั้งพรรคมวลชน และรักษาแนวรบภาคประชาชนคู่ขนาน

นายเติมศักดิ์ ถามว่า ในความเห็นของคุณคำนูณถ้าพันธมิตรฯ ตั้งพรรค พันธมิตรฯ ในส่วนภาคประชาชนต้องมีควบคู่กันไปไหม หรือต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง

นายคำนูณ ตอบว่า ผมเขียนและยืนยันมาโดยตลอดว่า พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยก็เป็นพันธมิตรฯ ไม่ได้จะแปรสภาพไปเป็นพรรคพันธมิตรฯ แต่พรรคพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย หรือจะชื่ออะไร แต่ชื่อนี้แหละดี ก็จะเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการประชาชนในนามพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย

แนวรบในรัฐสภาก็ถือว่าเป็นแนวรบหนึ่ง แนวรบในการเมืองภาคประชาชนที่จะขับเคลื่อนต่อไป คู่ขนานไปก็เป็นการขับเคลื่อนการเดินอีกด้านหนึ่ง ซึ่งผมถือว่าน่าจะเป็นจุดเสริมซึ่งกันและกันด้วยซ้ำไป เพราะว่าบางทีเวลาเราพูดถึงพรรคการเมือง จินตภาพของเราจะไปนึกถึง ถ้าภาษาการเมืองเขาเรียกว่า พรรคสภา ก็คือรวบรวมนักการเมืองเข้ามาหาเสียงเลือกตั้ง แล้วก็เข้าไปในสภา แล้วก็ต่อสู้แต่ในสภา แต่มันมีพรรคอีกประเภทหนึ่ง ที่เขาเรียกว่า “Mass Party” หรือ พรรคมวลชน ซึ่งก็มีทั้งการต่อสู้ในสภา มีทั้งมวลชนที่สนับสนุนอยู่ ซึ่งอาจสนับสนุน ส.ส. และก็อาจจะขับเคลื่อนด้วยรูปการ การเคลื่อนไหวอื่นควบคู่กันไป และการคัดเลือกผู้สมัครก็ดี ไม่ว่าจะเป็น ส.ส. คัดเลือกบุคคลเข้าไปทำหน้าที่อะไรต่อมิอะไรก็ดี ก็จะต้องผ่านระบบจากมวลชนข้างนอกคัดสรรเข้ามาอีกทีหนึ่ง ไม่ใช่ว่าหัวหน้าพรรคเป็นคนคัด หรือกรรมการบริหารพรรคเป็นคนคัด แล้วเอาญาติพี่น้องของตัวลงสมัคร เอาญาติพี่น้องของตัวเข้าไปนั่งในฝ่ายบริหาร ถ้าเผื่อในโอกาสที่จะได้เป็นฝ่ายบริหาร ตัวเองหมดวาระก็เอาลูกลงแทน เอาน้องลงแทน เอาพี่ลงแทน อะไรทำนองนี้นะครับ

ผมว่าถ้าเราเข้าใจคำว่า พรรคมวลชน ในความหมายที่เป็นจริงแล้ว การมีพรรคพันธมิตรฯ ไม่ได้แปลว่าเราสลายขบวนการเคลื่อนไหวภาคประชาชนของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย แต่เป็นการที่ต่อสู้ให้ครบเครื่อง หรือว่าคนเรามีสองมือ ก็ไม่จำเป็นต้องเอามือหนึ่งไพล่หลังหรือมัดเอาไว้ไม่ต่อสู้ เพราะเห็นว่ามือนั้นมันสกปรก หรือเราเห็นว่า การเมืองเป็นเรื่องสกปรก ไม่อยากให้ขบวนการที่มีอุดมคติสูงส่ง สะอาด เข้าไปเกลือกกลั้ว กลัวว่าความสกปรกนั้นจะทำให้เราเสียผู้เสียคนไป ผมคิดเห็นว่า อันนี้เห็นจะเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ถ้าเราจะเปลี่ยนแปลงการเมือง เราต้องมีอำนาจ และถ้าเราจะมีอำนาจ มันก็มีทิศทางที่มีช่องทางที่จะเข้าสู่อำนาจได้ไม่กี่ช่องทางหรอกครับ ช่องทางหนึ่งคือระบบรัฐสภา อีกทางหนึ่งก็คือการล้มระบบ การปฏิวัติ การรัฐประหาร ซึ่งเราไม่มีกองทัพ คงจะทำไม่ได้ หรือถ้าทำก็ผิดกฎหมาย ก็เป็นกบฏ แต่ถ้ากองทัพเขาทำมันก็ขึ้นอยู่อีกว่าเขาทำแล้วมันไปทางไหน มันนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ดีกว่า หรือนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่แย่ลงไป ผมคิดว่าบทบาทในช่วง 2-3 ปี 3-4 ปีมานี้ เราคงพอเห็นทิศเห็นทางบ้างพอสมควรแล้ว

สุริยะใสชี้เสื้อแดงมีขาในสภาและนอกสภา แต่เสื้อเหลืองยังไม่มี

นายเติมศักดิ์ ถามนายสุริยะใสว่า การเมืองภาคประชาชนกับการเมืองในสภา ถ้าพันธมิตรฯ ตั้งพรรคมันจะขัดแย้งสวนทางกันไหม หรือมันจะเสริมกัน นายสุริยะใสตอบว่า จริงๆ อาจจะไม่เคยมีประสบการณ์ที่จะชี้ถูกผิดได้ แต่ผมคิดว่าความพยายามอย่างที่คุณคำนูณพูด มันเป็นความพยายามที่จะสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ในทางการเมือง

จริงๆ แล้วถ้าพูดอย่าง เดี๋ยวไปหาว่าให้เครดิตคุณทักษิณนะครับ จริงๆ พรรคเสื้อแดงมีทั้งขาในสภาและนอกสภา ในยามที่เขายุติการชุมนุม เขาก็หอบเอาประเด็นเข้าไปเล่นในสภา แต่เสื้อเหลืองไม่มีนะครับ ไม่มีพรรคเสื้อเหลือง แล้วก็พรรคในสภาฝ่ายปีกตรงข้ามคุณทักษิณก็ไม่มีงานมวลชนนอกสภา ประชาธิปัตย์ก็ไม่มีงานมวลชน งานมวลชนของพันธมิตรฯ ก็ไม่ใช่มวลชนของประชาธิปัตย์

ฉะนั้น ก็ดูเหมือนว่ากระดานทางการเมืองหรือพื้นที่ทางการเมืองเป็นกระดานของคุณทักษิณเสียส่วนใหญ่ จึงไม่แปลกที่วันนี้สื่อก็ยังดูเหมือน กระแสเรื่องคุณทักษิณ กระแสของ นปช. ก็ยังแรงอยู่ ขนาดเสียแต้มมหาศาลในช่วงสงกรานต์ แต่เพราะเขามีขาในสภา บางประเด็นไปเล่นในสภาแล้วก็โน้มนำ แล้วก็ล่อเป้าให้ทางปีกรัฐบาลหรือฝ่ายตรงข้ามเข้าไปเล่นตาม เช่นเรื่องคนหาย ซึ่งจนป่านนี้ก็ยังไม่มีญาติใครมาร้องว่าญาติตัวเองหายในเหตุการณ์สงกรานต์เลือด ก็ไม่มีนะ บอกทหารฆ่าคนตายก็ยังไม่พบหลักฐานอะไร แต่ว่านายกฯ ต้องลงทุนไปให้การกับคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง โดยนายเติมศักดิ์ กล่าวแทรกว่า เสมือนหนึ่งเป็นจำเลย

จากนั้นนายสุริยะใส กล่าวต่อว่า ที่พูดนี้กำลังจะยืนยันว่า เขาได้สร้างรูปแบบการเคลื่อนไหว หรือการต่อสู้ ที่ขยายจากนอกสภาขาเดียวเข้าไปในสภา หรือขยายออกจากในสภาขาเดียวมานอกสภานี่เขาได้เปรียบ

เพราะฉะนั้นถ้าพันธมิตรฯ จะคิดว่าอย่างน้อยต้องจัดการกับระบอบทักษิณก่อน ก็ต้องคิดสูตรนี้ด้วย ต้องมีพรรคในสภา ส่วนจะจัดความสัมพันธ์กับนอกสภาอย่างไร ผมว่าเรามีเวลาคุยกัน มีสูตรมากมายที่จะทำ ที่จะคิดได้ แต่หลักการนี้ต้องผ่านก่อนว่า เรามิอาจปล่อยให้ใครก็ตามมาอ้างอำนาจแทนประชาชนแล้วไปตัดสินใจสุ่มสี่สุ่มห้า แล้วเราต้องมาไล่เก็บไล่กวาดตลอดเวลา แต่สุดท้ายเรามีนักฉวยโอกาสคนใหม่เข้ามา มีทรราชคนใหม่เกิดขึ้นตลอดเวลา

ปี 49 กู้ชาติ ปี 51 สร้างชาติ เป็นที่มาของพรรคการเมืองใหม่ ภูมิใจที่มวลชนผลักดัน

นายเติมศักดิ์ถามว่า ตอนคุณสุริยะใสอยู่ในฐานะ ครป. เคยคิดจะตั้งพรรคการเมืองในแนวมวลชนเหมือนกัน นายสุริยะใสตอบว่า ในปี 2541 มีการตั้งคณะทำงานศึกษาความเป็นไปได้ในการตั้งพรรคการเมือง มีคุณสุวิทย์ วัดหนูเป็นผู้ประสานงานโครงการ มีพี่พิภพ ธงไชย มีคุณสมศักดิ์ โกศัยสุข คุณสาวิทย์ แก้วหวาน อาจารย์สมเกียรติ เราไปเดินสายพูดคุยมาใช้เวลา 4-5 ปี แล้วมาเจอกระแสเรื่องระบอบทักษิณ ก็เลยทำให้เราหยุดคิด เพราะว่าถ้าเรามาคิดพรรคในช่วงการต่อสู้ของพี่น้องพันธมิตรฯ เราจะถูกตั้งคำถามถึงความเหมาะสมได้เราก็เลยหยุดไว้ก่อน เพราะเราคิดว่า เราต้องจัดการโจทย์เรื่องทักษิณก่อน เรื่องการเมืองหลังทักษิณ หรือเรื่องพรรค หรือการเมืองใหม่ค่อยมาคิดกัน

เผอิญเป็นโชคดีของการต่อสู้ปี 52 ปี 49 เราพูดแต่เรื่องการกู้ชาติ แต่ 52 นี่คือเราพูดเรื่องสร้างชาติ พอเราพูดเรื่องการสร้างชาติหรือสร้างการเมืองใหม่ เราคิดแล้วจะสร้างอย่างไร เราไปฝากประชาธิปัตย์ เราก็เริ่มรู้สึกว่าไม่ค่อยได้เรื่อง ใช่ไหมฮะ เราต้องคิดว่าเราจะทำอะไรได้มากกว่านี้หรือเปล่า ที่มาของคิดเรื่องพรรคการเมืองใหม่ ผมคิดว่าผมภาคภูมิใจอยู่อย่าง ครั้งนี้มันกระตุ้นจากข้างล่างนะ ผมยืนยันว่ากระตุ้นจากข้างล่าง ไม่เคยมีการชี้นำจาก 5 แกนนำทั้งบนเวทีที่ทำเนียบ ที่มัฆวานหรือที่ไหนก็ตาม ไม่เคยมี ไปดูเถอะนะครับ ถ้ามีก็อาจจะหลุดไปเป็นความเห็นเล็กๆ น้อยๆ ส่วนตัว แต่ว่าเป็นเรื่องเป็นราวหรือเข้าสู่การประชุม 5 แกนนำอย่างเป็นวาระ ผมเรียนเลยว่า ไม่มีแม้แต่ครั้งเดียว

คำนูณเคลียร์เรื่องสนธิสัญญาไม่รับตำแหน่ง เป็นการแสดงออกในบริบทนั้นว่าทำเพื่อชาติ

นายเติมศักดิ์ถามนายคำนูณว่า ข้อห่วงใยอันหนึ่งคือส่วนใหญ่คนที่สนับสนุนให้ตั้งพรรคของพันธมิตรฯ บางคนก็กังวลเรื่องการที่คุณสนธิจะมาเป็นหัวหน้าพรรค จะเหมือนเป็นการกลืนน้ำลายหรือตระบัดสัตย์หรือเปล่า

นายคำนูณ กล่าวว่า ก็ต้องยอมรับความจริงประการหนึ่งว่าคุณสนธิเคยพูด ถ้าจำไม่ผิดตั้งแต่ปลายปี 2548 แล้วว่า ในการต่อสู้ออกมาขับไล่คุณทักษิณ ชินวัตรนั้น ไม่ได้กระทำไปเพื่อหวังตำแหน่ง หวังลาภยศ สรรเสริญใดๆ ทั้งสิ้น ทั้งในปัจจุบันและในอนาคต ถ้าเผื่อว่าพบว่าไปรับตำแหน่งอะไร ก็คล้ายๆ กับว่า ให้ประชาชนมาถ่มน้ำลาย เจอที่ไหนก็ถ่มน้ำลายใส่หน้าได้เลย เอารองเท้าตบหน้าได้เลย ผมเข้าใจว่าในบริบทนั้นก็เป็นความจริงใจของคุณสนธิที่ต้องการอย่างนั้นจริงๆ ว่า เป็นการแสดงออกว่าในการต่อสู้นั้นไม่ได้หวังอะไร หวังเพื่อส่วนรวม หวังเพื่อประเทศชาติแต่เพียงอย่างเดียว ณ นาทีนั้น ณ เวลานั้น ณ บริบทนั้น

แต่จากนั้นมาคุณสนธิก็ให้คำมั่นสัญญาที่สำคัญอีกหนึ่งคำมั่นสัญญาก็คือว่า ชีวิตนี้จะยืนหยัดต่อสู้เพื่อปกป้องชาติ ศาสนา และสถาบันพระมหากษัตริย์ ผมคิดว่าคำมั่นสัญญาทั้ง 2 ประการ มีความสำคัญที่เท่าเทียมกัน

ผมเองมีพื้นความรู้ทางธรรมะอาจจะไม่สูงส่งนัก และผมคิดว่าในประเด็นก่อนวันที่คุณสนธิจะตัดสินใจเปลี่ยนสถานภาพตัวเองจากสื่อมวลชนมาเป็นผู้นำมวลชน จำได้ว่าปลายปี 2548 นั้น ก็ใช้เวลาคิดอยู่นาน และก็ต้องไปกราบพ่อแม่ครูบาอาจารย์คือหลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน ผมคิดว่า ณ นาทีนี้ ณ เวลาที่สถานการณ์เปลี่ยนแปลงไป ถ้าเผื่อคุณสนธิตระหนักดีว่า การจะยืนหยัดปกป้อง ต่อสู้เพื่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ นำความพัฒนาการที่ยั่งยืนมาสู่สังคมไทยในช่วงวิกฤตินี้ ถ้าเดินบนถนนสายเดิมต่อไปแล้วหนทางค่อนข้างจะไปได้ยาก จำเป็นจะต้องมีถนนสายใหม่เพิ่มเข้ามาเสริม ในขณะเดียวกันก็มีคำมั่นสัญญาเก่าที่คุณสนธิเคยให้ไว้ ผมเชื่อมั่นว่าคุณสนธิ จะต้องตัดสินใจได้ ถ้าคุณสนธิยังไม่สามารถจะตัดสินใจได้ สมาธิ จิตใจ ของคุณสนธิในช่วง 2-3 วันนี้ จะเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่ง และผมเชื่อว่าเมื่อถึงเวลานั้น คุณสนธิเป็นศิษย์ที่มีพ่อแม่ครูอาจารย์ มีพระสงฆ์หลายรูปนั้น ท่านก็น่าจะขอความเห็น ขอความกระจ่างในทางธรรม ว่าในสถานการณ์ที่ดูเหมือนมันยังขัดแย้งกันอยู่ ระหว่างเป้าหมายสูงสุดกับคำมั่นสัญญาที่เคยให้ไว้ว่าจะไม่ขอรับตำแหน่งใดๆ ทั้งสิ้น มันจะหาทางอย่างไร

เชื่อหากสนธินำพรรค คงยอมให้คนเอารองเท้าตบ-ถ่มน้ำลายรด

ที่ผมพูดอย่างนี้ คือผมไม่อยากจะพูดอะไรว่า พูดเมื่อวันนั้นเป็นบริบทหนึ่ง แต่สถานการณ์วันนี้อาจจะเป็นอีกบริบทหนึ่ง ซึ่งผมเชื่อว่ามีความสามารถจะอธิบายได้เยอะ แต่ผมเชื่อว่าไม่อยากจะพูดอย่างนั้น อยากจะพูดว่าก็เป็นความตั้งใจ ณ สถานการณ์นั้น แต่เมื่อตั้งใจแล้ว เมื่อลั่นวาจาไปแล้ว วาจานั้นก็ไม่สามารถจะคืนได้ แต่ในขณะเดียวกัน ความตั้งใจที่ผมอาจจะถือว่าเป็นเป้าหมายที่สูงส่งที่สุดก็คือ การยืนหยัดที่จะต่อสู้เพื่อปกป้องชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และความคิดที่จะสร้างการเมืองใหม่นั้น ซึ่งเป็นคำประกาศที่เกิดขึ้นภายหลัง ถ้าสถานการณ์ ณ วันนี้ มันเดินมาถึงจุดที่ว่า หากมีพรรคการเมืองและลงไปนำพรรคการเมืองเอง มันจะสร้างปรากฏการณ์ใหม่ ที่ผมเรียกว่าปรากฏการณ์สนธิ ให้เกิดขึ้นมาอีกหนึ่งครั้งหรือสองครั้ง แล้วเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้การเมืองไทยเดินหน้าไปสู่มิติใหม่ แม้อาจจะไม่สำเร็จในชั่วชีวิตของคุณสนธิ แต่มันจะเป็นการขยับขับเคลื่อนครั้งสำคัญ ระหว่าง 2 สิ่งที่มีความขัดแย้งกันอยู่นี้

ด้วยความเคารพ ตนไม่เคยพูดกับคุณสนธิ ถ้าคุณสนธิตัดสินใจ แล้วมีพี่น้องประชาชนยึดมั่นในคำสัญญาของนายสนธิ เมื่อปลายปี 2548 ชนิดคำต่อคำตรงตามลายลักษณ์อักษรโดยไม่พิจารณาอย่างอื่น เขาจะเดินหน้าเข้ามาขอถุยน้ำลายใส่คุณสนธิ ขอถอดรองเท้าขึ้นมาตบคุณสนธิ ผมเชื่อว่าคุณสนธิ ถ้า ณ วันนั้นตัดสินใจแล้ว ก็คงจะยอมให้พี่น้องประชาชนทำอย่างนั้น

สุริยะใสชี้สนธินำพรรคเพราะสู้แบบเดิมไม่ได้ แต่เป้าหมายเดิมคือชาติ ศาสน์ กษัตริย์

นายเติมศักดิ์ ถามนายสุริยะใสเกี่ยวกับ บทบาท 5 แกนนำ โดยเฉพาะนายสนธิ ลิ้มทองกุล กับตำแหน่งในพรรค นายสุริยะใส กล่าวว่า หากวันนี้คุณสนธิบอกว่า ผมหยุดแล้ว ผมคิดว่าภารกิจจบแล้ว ผมพอแล้ว นั่นแหละถึงสมควรวิพากษ์วิจารณ์และต่อว่าคุณสนธิ แต่สมมติว่าถ้ามวลชนเรียกร้องให้คุณสนธิเป็นหัวหน้าพรรค และคุณสนธิบอกว่าพร้อม และมีบางกระแสบอกว่าเปลี่ยนคำพูด หรือผิดสัจจะวาจา ผมว่าประเด็นอยู่ที่ว่าเราเปลี่ยนเพื่ออะไร

ผมคิดว่าจริงๆ แล้ว ไม่ได้เปลี่ยนเลย เป็นเพียงแต่ว่าเป็นความตั้งใจอีกแบบหนึ่งของที่คุณคำนูณพูด ไม่ต้องอธิบายกันมาก คือสถานการณ์มันเปลี่ยนตลอดเวลา วันหนึ่งเราปักใจเชื่อว่าเราสู้แบบนี้แล้วเราจะชนะ แต่ว่าในสนามการต่อสู้ใหม่ มันสู้แบบเดิมไม่ได้ แต่เป้าหมายยังเป้าหมายเดิม ไม่ได้เปลี่ยนเป้าหมายเลย เป้าหมายคือ ชาติ ศาสน์ กษัตริย์ มันยังอยู่ มันไม่ได้เปลี่ยน ผมคิดว่า ให้เราดูเป้าหมายว่า เขาเปลี่ยนเพื่ออะไร อย่าไปคิดแค่ว่าเคยพูดอย่างนั้น เคยพูดอย่างนี้ จริงๆ การรักษาสัจจะวาจาเป็นเรื่องที่ดีงาม ซึ่งผมคิดว่าเป็นเรื่องที่คุณสนธิต้องอธิบาย และต้องอธิบายให้มากว่า ถ้าวันนี้ต้องตัดสินใจจะเข้ามาทำงานการเมือง จะอยู่ในตำแหน่งไหนก็ตามของพรรค ถ้าสมมติว่ามี หรือสมมติมวลชนไว้วางใจให้พี่สนธิเป็นแกนนำในพรรค หรือถึงขั้นหัวหน้าพรรคก็แล้วแต่ คุณสนธิต้องอธิบาย

แต่สำหรับผมแล้วนี่ ผมเห็นมามาก พันธมิตรฯ สู้กันมา ปี 49 ปี 51 พอเราไปชุมนุมที่สุวรรณภูมิเพราะเราถูกฆ่านะครับในเหตุการณ์ 7 ตุลา และก็ระเบิดลงทุกวัน หลายคนมาบอกว่าผมไม่เอาพันธมิตรฯ แล้ว ผมรับไม่ได้กับการชุมนุมหน้าสุวรรณภูมิและดอนเมือง ตรงนั้นต่างหากที่ผมเรียกว่าเปลี่ยน

ผมว่าจะปิดถนนหน้าสภา หรือชุมนุมที่ดอนเมือง หรือสุวรรณภูมิก็ตาม คือเป้าหมายเดิม คือการขับไล่รัฐบาลทรราช และปกป้องชาติ-ราชบัลลังก์ ผมสนใจที่เป้าหมาย แต่ผมไม่ได้บอกว่า support วิธีการ หรือสนับสนุนวิธีการที่ไม่ชอบหรือไม่มีเหตุผลอะไร ผมก็ยังยืนยันว่า ถ้าคุณสนธิสนใจและคิดจะทำงานการเมือง และผมก็ไม่เคยคุยกับคุณสนธินะครับ และคุณสนธิก็ไม่เคยปริปากในที่ประชุมเลยว่าผมจะมาทำ และผมจะมาเป็นหัวหน้าไม่มีเลย ไม่เคยพูดเลย ซึ่งเป็นเรื่องที่คุณสนธิต้องอธิบาย

สุริยะใสบอกสนธิทำพรรคเหนื่อยกว่าเป็นแกนนำหลายเท่า

นายคำนูณ กล่าวว่า อย่าไปคิดว่า สมมตินะมาตำแหน่งหัวหน้าพรรคหรือจะเข้าไปต่อสู้ในสภา มันเป็นเรื่องไม่น่าอภิรมย์สำหรับคุณสนธินะ นายสุริยะใสกล่าวเสริมว่า ไม่สนุกหรอกครับ

นายคำนูณ กล่าวต่อไปว่า ผมเคยพูดอย่างที่เขียนไป ตอนพูดผมก็ยกมือไหว้คุณสนธิบอกว่า ผมกราบขออภัยนะ เพราะสิ่งที่ผมพูดนี้ เท่ากับว่าเรียกร้องความเสียสละจากพี่มากเหลือเกิน ชีวิตพี่ก็เกือบเอาตัวไม่รอดแล้ว แต่ว่าถ้าเผื่อต้องมาทำงานการเมืองในลักษณะทำพรรคการเมือง ผมรู้อยู่กันมานาน ไม่ถูกบุคลิกของคุณสนธิหรอกที่ต้องมาอยู่ในกรอบ ชนิดที่เรียกว่าต้องระวังตัวทุกฝีก้าว แล้วก็จะต้องมีการโจมตี มีการขุดคุ้ยเรื่องราวสารพัดในอดีต

นายสุริยะใสกล่าวเสริมว่า เรียกว่าวิชามาร นายคำนูณกล่าวต่อไปว่า เรื่องในอดีตที่คุณสนธิอาจจะจำไม่ได้ ก็อาจมีคนช่วยจำให้ อะไรอย่างนี้นะฮะ นายสุริยะใส กล่าวตอบว่า ดูแล้วเหนื่อยกว่าเป็นแกนนำ หลายเท่านะ

คำนูณถามนาทีนี้ถ้าไม่ใช่สนธิแล้วจะเป็นใคร

นายคำนูณกล่าวต่อไปว่า เหนื่อย เหนื่อยกว่า ผมถามว่า ณ นาทีนี้ ถ้าไม่ใช่คุณสนธิแล้วจะเป็นใคร ที่ผมพูดในวันนั้นขึ้นมา ผมคิดว่าประเด็นที่พันธมิตรฯ จะตั้งพรรค ผมเข้าใจว่าไม่ค่อยมีปัญหาเท่าไหร่นักหรอก ผมเชื่อว่าภายใต้กรอบความคิดที่พันธมิตรฯ ยังคงดำรงอยู่ และการต่อสู้ในนามของพรรคพันธมิตรฯ นี้เป็นอีกแขนขาหนึ่ง โดยที่ใครจะไปทำก็ได้ ประเด็นนี้คงไม่เป็นปัญหานัก

ประเด็นที่เป็นปัญหา เป็นประเด็นขึ้นมา ที่ผมเริ่มจุดขึ้นมา และก็คุณประพันธุ์ (คูณมี) ซึ่งเขาไม่ได้คุยกับผม แต่เขาไปประกาศที่หาดใหญ่ เลยกลายเป็นประเด็นขึ้นมา คือเห็นว่านอกจากเป็นพรรคพันธมิตรฯ แล้ว คุณสนธิต้องลงมานำพรรคนี้เอง

ไหนๆ จะตั้งพรรคแล้ว ถ้าไม่มีปรากฏการณ์ที่แรง อย่าทำดีกว่า

คือผมเห็นว่าไหนๆ จะตั้งทั้งทีแล้ว ถ้ามันไม่เกิดปรากฏการณ์ที่แรงจนถึงระดับที่จะเปลี่ยนแปลงอะไรได้ อย่างชนิดที่จับต้องมองเห็นได้ อย่าทำเสียเลยจะดีกว่า ไม่ใช่ว่าตั้งพรรคไปแบบไม่หวังผล ทำไปอย่างนั้น ใครก็ได้ ใครอยากไปก็ไป ผมคิดว่าไปแล้วต้องเอาให้สุดๆ เต็มที่ ต้องก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในระดับที่สัมผัสได้ ซึ่งผมเรียกว่า ผมอยากเห็นปรากฏการณ์สนธิเกิดขึ้นอีกสองครั้ง ครั้งหนึ่งคือเมื่อพรรคพันธมิตรฯ นำลงสมัครรับเลือกตั้ง ปรากฏการณ์สนธิครั้งใหม่ครั้งที่หนึ่งจะต้องเกิดขึ้น ผมคาดหมายไม่ได้ว่าที่นั่งของพรรคพันธมิตรฯ จะเท่าไหร่ แต่ผมประเมินไว้ในใจนะ ผมพูดว่า 30 ถึง 50 เพื่อให้ดูมีกำลังใจ แต่ในใจผมนี้แค่ 30 นี่ ผมถือว่าผมพอใจ

สอง ปรากฏการณ์สนธิครั้งใหม่ ที่จะเกิดขึ้นอีกหลายเดือน หรือ 1 ปี หลังจากนั้น ก็คือจากการทำงานของ ส.ส. พรรคพันธมิตรฯ ที่เข้าไปในสภาผู้แทนราษฎร โดยอาจจะมีคุณสนธิเข้าไปด้วย ไม่ใช่เข้าไปในฐานะ ไปเพื่อร่วมรัฐบาล หรือไปเพื่อเป็นฝ่ายค้าน แต่เข้าไปเพื่อทำหน้าที่ของ ส.ส. และประกาศนโยบายของพรรคพันธมิตรฯ ซึ่งจะต้องเป็นนโยบายที่แหกออกจากกรอบที่เราเคยเห็นมาจากเดิม ในภาวะวิกฤตสุดๆ ของประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งวิกฤตทางเศรษฐกิจนี้

การอภิปรายของคุณสนธิในสภา โดยไม่จำกัดเวลา การเสนอญัตติ การเสนอร่างกฎหมายต่างๆ เหล่านี้ มันจะไปสู่สายตาของพี่น้องประชาชนทั่วประเทศ ที่ไม่ใช่เฉพาะพี่น้องประชาชนที่ดู ASTV และอ่าน ASTV ผู้จัดการ แต่เป็นพี่น้องที่อาจจะเกลียดขี้หน้าพันธมิตรฯ คุณสุริยะใสมาก่อนหน้านี้ คุณสนธิ นายสุริยะใสกล่าวเสริมว่า คนเสื้อแดงด้วย

ชูสนธิเพราะเป็นคนมีส่วนผสมลงตัว จบนอก-นายทุนชั้นนำ-ศึกษาตะวันออก-คิดแหกกรอบ

นายคำนูณกล่าวต่อว่า แต่ว่าเมื่อเขาได้เห็นแล้ว แนวทางการพูดคุณสนธิหรือของ ส.ส.พรรคพันธมิตรฯ ในสภานั้น จะมีความหมายมีน้ำหนัก ผมยกตัวอย่าง ผมเสียดายพระราชกำหนดกู้เงิน 400,000 ล้านบาท กับร่างพระราชบัญญัติกู้เงินอีก 400,000 ล้านบาท รวมเป็น 800,000 ล้านบาท ผมเชื่อว่า ณ วันที่ ถ้ามี ส.ส.พันธมิตรฯ อยู่ในสภา มีคุณสนธิอยู่ในสภา ผมคาดหวังว่าจะเกิดความสว่างขึ้นมาในระดับหนึ่ง แล้วอาจจะเกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นมาในระดับหนึ่ง เพราะขนาดสำหรับผมเอง ผมเห็นแล้วยังรู้สึกว่า ผมรับไม่ได้ เพราะว่ารัฐบาลก็คงยังอยู่ในกรอบความคิดเดิม เงินที่ได้มา โครงการก็เป็นโครงการเก่าเสียเป็นส่วนใหญ่ และเป็นโครงการที่ไม่ได้ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงใดๆ เรื่องนี้เป็นปัญหาใหญ่ แล้วก็ยังมีปัญหาอีกมากมายซึ่งจะเกิดขึ้นภายในรอบ 1 ปี หรือ 2 ปี จากนี้ไป ที่ประเทศไทยประสบวิกฤตทั้งทางการเมือง ทางสังคม และโดยเฉพาะอย่างยิ่งทางเศรษฐกิจ

ซึ่งด้วยความเคารพ ผมไม่เห็นว่าจะมีใครนำพรรคที่จะมีแนวคิดที่แหกกรอบของระบบไปได้มากกว่าคุณสนธิ คุณสนธิเป็นคนที่มีส่วนผสมที่ลงตัว จบการศึกษามาจากตะวันตก ถ้าจะว่ากันถึงความเป็นนายทุนก็เป็นนายทุนชั้นนำคนหนึ่ง แต่ก็ศึกษามาทางตะวันออก แล้วก็เฉพาะที่ผมเป็นโปรดิวเซอร์รายการเมืองไทยรายสัปดาห์ตั้งแต่ทางช่อง 9 มา คุณสนธิเสนอแนวคิดที่แหกกรอบ และไม่เคยมีใครพูดถึงกัน แต่พูดไปแล้ว มันก็จบอยู่แค่นั้น ไม่มีใครนำไปขยายต่อ เพราะว่าไม่ใช่เป็นหน้าที่โดยตรง แต่ถ้าพูดไปในนามของพรรคพันธมิตรฯ ที่มีที่นั่งในสภา ที่ผมคิดไว้ 30 นะครับ พูดตรงๆ ก็คือต้องไม่ต่ำกว่า 20 เพราะว่าการเสนอร่างกฎหมายจะต้อง 20 ให้ดีก็คืออย่าให้ต่ำกว่า 30 ก็แล้วกัน

นายเติมศักดิ์ ถามนายสุริยะใสว่ามีประเด็นเพิ่มเติมเรื่องบทบาทของนายสนธิในพรรคการเมืองใหม่หรือไม่ นายสุริยะใสกล่าวว่า ผมเองไม่สามารถพูดแทนคุณสนธิได้ เมื่อถึงเวลาเราคงได้ยินความชัดเจน ผมอยากให้กระบวนการหรือการออกแบบ 24-25 ไม่ถูกแคลงใจมากจนเกินไป ผมเองจริงๆ เราก็รับความเห็นตลอดเวลาอยู่แล้ว มีแฟกซ์ มีความเห็น มีจดหมายเปิดผนึกมา แต่พูดตรงนี้ต้องบอกว่า พอรู้แล้วว่าคิดอะไรกันในวันที่ 24-25 ด้วยความสัจจะ ด้วยความสัตย์จริง ก็คงต้องฟัง และก็ให้ความเป็นทางการของวันที่ 24-25 กำหนดจังหวะเดิน ผมเชื่อว่าเรายังมีเวลาคิด และที่พี่คำนูณพูดในวันนี้ก็เหมือนตั้งประเด็นให้คุยกัน ผมคิดว่ายังมีเวลาคิด ทั้งเรื่องตัวบุคคล เรื่องรูปร่างหน้าตา แม้แต่เข้าไปทำงานในสภาจะทำกันอย่างไร ยังมีเวลาคิด

คำนูณอัดการเมืองที่ล้มเหลวอุ้มมาร์คนั่งนายกฯ

นายเติมศักดิ์ ถามนายคำนูณว่า ความกังวลอันหนึ่งคือเรื่องฐานเสียงที่ซ้ำซ้อนกับประชาธิปัตย์ แฟนกลุ่มเดียวกัน อันนี้เห็นข้อห่วงใยนี้เยอะ จะอธิบายอย่างไร นายคำนูณตอบว่า ก็ไม่เห็นเป็นไร ก็ประชาธิปัตย์ก็ยังคงเป็นประชาธิปัตย์ คือหลักคิดอันนี้คล้ายๆ กับว่า มีประชาธิปัตย์เขาทำอยู่แล้ว เราก็ทำอยู่ข้างนอกดีกว่า ให้ประชาธิปัตย์เขาทำงานนาภา ถ้าลงเลือกตั้งคะแนนก็จะมาตัดกันเอง ผมว่ามันก็ถูกส่วนหนึ่ง ถ้าพรรคประชาธิปัตย์ทำงานในสภา ไม่ต้องพูดว่าตรงใจพันธมิตรฯ ทั้งหมดหรอกนะ แต่ว่าทำงานในสภาในลักษณะที่เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน เป็นที่พึ่งของประชาชนได้ แล้วก็ให้กำเนิดทิศทางใหม่ๆ บ้างในการบริหารประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาวะวิกฤตรอบด้านอย่างทุกวันนี้

แต่ผมเกรงว่าการเข้ามาของพรรคประชาธิปัตย์ ท่านนายกฯ ท่านพูดวันแรกประทับใจมาก บอกว่าท่านจะยุติการเมืองที่ล้มเหลว แต่ปัญหามันคือว่า การเมืองที่ล้มเหลวนั่นแหละที่อุ้มสมท่านเข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรี

พูดง่ายๆ ก็คือถ้าไม่มีคุณเนวิน ชิดชอบ ก็ไม่มีนายกฯ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ถ้าไม่มีการขับรถหลงทางของพรรคร่วมรัฐบาลเข้าไปที่กรมทหารราบที่ 1 ที่มูลนิธิป่ารอยต่อสามจังหวัดของ พล.อ.ประวิตร วงศ์สุวรรณ เพราะว่าเขาขับรถที่จะไปแถลงข่าวที่โรงแรมสุโขทัย เขาหลงทางเข้าไปที่นั่น แล้วค่อยออกมาพร้อมกัน เพราะโรงแรมสุโขทัยมันหายากมาก

คือถ้าไม่มีปรากฏการณ์ หนึ่ง คุณเนวินเปลี่ยนใจ สอง การหลงทางเข้าไปใน ร.1 ก็ไม่มีนายกฯ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ คราวนี้ปรากฏการณ์สองอย่างเป็นการเมืองที่ล้มเหลว ทีนี้ท่านจะทำอะไร ท่านนายกฯ ท่านเป็นคนเก่ง คนซื่อ เป็นคนมีความสามารถ แต่ทำอะไรก็ติดขัดไปหมด ไม่สามารถแสดงศักยภาพได้เต็มที่ แล้วถามว่าเลือกตั้งอีกครั้งหนึ่งประชาธิปัตย์จะได้เป็นรัฐบาลเดี่ยวๆ ไหม ไม่มีทาง เผลอๆ ภูมิใจไทยจะได้มากกว่าอีก คุณเนวินอาจจะได้มากกว่าอีก ถ้ามีการยุบสภาเร็ว หรือมันก็คงเป็นลักษณะของสามพรรคใหญ่ ประชาธิปัตย์ เนวิน แล้วก็เพื่อไทย ใครจะมาก ใครจะน้อยกว่ากัน ก็คงจะแชร์ในตรงนี้ แล้วถามว่าถ้าสถานการณ์เป็นอย่างนี้ พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยจะขอเข้าไปมีส่วนร่วมต่อสู้เพื่อการเมืองใหม่ด้วยตัวเองในเวทีรัฐสภา ผมไม่เห็นจะเสียหายตรงไหน

ส.ส.พันธมิตรฯ พร้อมสนับสนุนมาร์ค แต่ไม่จำเป็นต้องร่วมรัฐบาล

ตรงกันข้าม ก็ถ้าพรรคประชาธิปัตย์มั่นใจว่าทิศทางความคิดแม้จะต่างจากพันธมิตรฯ บ้าง แต่โดยหลักใหญ่แล้วถือว่าพอไปด้วยกันได้ ก็ไม่เห็นแปลก ผมเชื่อว่า ส.ส.พรรคพันธมิตรฯ ก็พร้อมที่จะสนับสนุนให้พรรคประชาธิปัตย์เป็นรัฐบาล หรือให้ท่านนายกฯ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะเป็นนายกฯ ต่อ โดยที่ไม่จำเป็นต้องเข้าร่วมรัฐบาล ก็เป็นไปได้ ไม่มีรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ ชีวิตนี้เมื่อเป็นพรรคการเมืองมี ส.ส. แล้ว จะต้องร่วมรัฐบาล หรือไม่ก็ต้องเป็นฝ่ายค้านอย่างเดียว ก็เพื่อให้การเมืองมันไปได้ คุณก็เป็นนายกฯ ต่อไป จัดตั้งรัฐบาลไป

แต่ผมจะขอทำหน้าที่สนับสนุนในสิ่งที่ถูก คัดค้านในสิ่งที่ผิด และท้วงติงให้ข้อเสนอแนะ ตามแนวทางของพรรคซึ่งมีลักษณะแตกต่างออกไปจากนโยบายของทุกพรรคการเมืองที่เคยมีมา เพราะนี่คือวิธีการคิดที่แหกกรอบออกไป เราจะเห็นวิธีการคิดแบบนี้ บนเวทีปราศรัยของพันธมิตรฯ ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง ปตท. ไม่ว่าจะเป็นเรื่องราคาน้ำมัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องภาษีถนน ไม่ว่าจะเป็นนโยบายที่อยู่อาศัย ไม่ว่าจะเป็นนโยบายทางด้านการเงิน ให้ลดสเปซส่วนต่างระหว่างดอกเบี้ยเงินฝากกับดอกเบี้ยเงินกู้ เรื่องไมโครไฟแนนซ์

สิ่งต่างๆ เหล่านี้ ถ้าประมวลกันเข้ามาแล้ว ผมเชื่อว่านโยบายของพรรคนี้ และทิศทางเดินที่ ส.ส.พรรคนี้ในสภาจะต้องยืนหยัดไม่ว่าจะสนับสนุน หรือคัดค้าน หรือท้วงติง มันจะมีค่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่สังคมเกิดวิกฤต ผมเชื่อว่าเมื่อเกิดวิกฤตแล้วมันจะให้กำเนิดสิ่งใหม่ขึ้นมา ซึ่งผมไม่เคยคิดถึงการเป็นรัฐบาลเลยสำหรับพรรคพันธมิตรฯ ในชั้นต้น ในระยะ 1 ปี 2 ปี หรือในการเลือกตั้งครั้งแรก แต่ผมหวังว่าสิ่งที่เสนอออกไปจากตัวแทนของพรรคพันธมิตรฯ ในสภา มันจะเป็นบริบทใหม่ของการเมืองไทย คุณสุริยะใส สมมติว่าเป็น ส.ส. ในสภา ไม่ใช่คุณนึกอยากจะยกมือลุกขึ้นพูดก็พูดกันไป น้ำท่วมทุ่ง แต่คุณจะต้องมีการเตรียมการอย่างดี เรื่องพระราชกำหนดนี้ จะสนับสนุนหรือคัดค้าน ต้องมีการติว มีการทำงานเป็นกลุ่มย่อย มีการพูดที่สอดรับกัน มีการแสดงข้อมูลที่ชัดเจน ผมว่าสิ่งเหล่านี้ คือสิ่งที่ผมเรียกว่า ปฏิบัติการเมืองใหม่จากใจกลางของการเมืองเก่า

สุริยะใสขอให้กระบวนการมีส่วนร่วมทำงานในพรรคพันธมิตรฯ

นายเติมศักดิ์ ถามนายสุริยะใสว่า มองอย่างไร คนที่เป็นห่วงมองว่าถ้าเข้าสู่อำนาจรัฐ เสียงจะได้มาสักกี่มากน้อย จะไปตัดเสียงกันกับประชาธิปัตย์หรือเปล่า

นายสุริยะใสกล่าวว่า ก่อนเข้ารายการ มีสัมภาษณ์หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ คำถามคล้ายๆ กับสื่อมวลชนหลายแขนงว่าจะได้กี่เสียง ผมก็บอกว่าคำถามแบบนี้สะท้อนวิธีคิดแบบเก่า มันต้องถามว่าเข้าไปทำอะไร พอถามว่าเข้าไปทำอะไร จะไม่ขึ้นกับเสียงแล้ว ขึ้นอยู่กับคุณภาพของคนทำงาน 5 เสียงอาจจะมีพลังมหาศาลกว่า 50 เสียงในสภา พ่ายแพ้ในสภา อาจชนะใจประชาชนนอกสภาก็ได้ ต้องตั้งคำถามใหม่เหมือนกัน

ถ้าเราคิดจะสร้างอะไรใหม่ ต้องเริ่มตั้งแต่ตั้งคำถามแบบใหม่ เหมือนพี่คำนูณบอกว่า ถ้าเราเป็นฝ่ายค้านไม่ได้หมายความว่าต้องโหวตค้านรัฐบาลทุกเรื่อง อภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีไหนสอบผ่านก็ต้องโหวดให้เขา มันไม่ได้หมายความว่าต้องมีอำนาจรัฐหรือเป็นรัฐบาลอย่างเดียวถึงจะทำอะไรใหม่ได้ อยู่ที่ว่าเรากล้าจะคิดใหม่ หรือวางหลักปฏิบัติแบบใหม่หรือเปล่า แม้แต่การกำหนดคนลงเลือกตั้ง ถ้าเราคิดอีกแบบหนึ่งก็คือให้คนในพื้นที่เลือกเลย แกนนำอาจจะไม่ค่อยแฮปปี้เท่าไหร่ แต่เราก็ต้องปล่อยเขา ถ้าคนในพื้นที่เลือกว่าเขาพอใจจะส่งคนนี้สมัครรับเลือกตั้งในนามพรรคพันธมิตร อาจจะเป็นสีเทาหน่อย แต่เราต้องเชื่อมั่นว่ามวลชนมีการเรียนรู้ ถ้าสีเทาไม่เป็นสีขาวยังยอมเป็นสีดำอีก ครั้งหน้าก็ไม่เลือกหรอก เขาก็ต้องเปลี่ยนคนใหม่ ต้องให้กระบวนการมีส่วนร่วมมันเป็นจริงและทำงานตลอดเวลา อย่าไปชี้นิ้วชี้นำ นี่เป็นรายละเอียดที่ยังมีเวลา

แข่งกับประชาธิปัตย์ดีกว่าเผชิญหน้า นปช.-เพื่อไทย

ส่วนข้อกังวลเรื่องพรรคประชาธิปัตย์ ผมว่าดีเสียอีกที่พันธมิตรฯ ต้องสู้ ต้องแข่งขันกับประชาธิปัตย์ เพราะผมมองกี่มุม ผมก็รู้สึกว่าการเผชิญหน้าระหว่างพันธมิตรฯ กับ พรรคประชาธิปัตย์นี้สร้างสรรค์กว่าการเผชิญหน้ากับพวก นปช. และพรรคเพื่อไทย

เราต้องคัดคนคุณภาพดีเบตกันบนเวที ในการอภิปราย หรือต้องออกทีวี ต้องเลือกตั้ง เป็นประโยชน์กับการเมืองทั้งองค์รวม แม้ว่าต้องแพ้ทั้ง 2 พรรคก็ตามเถอะ แม้ว่าตาอยู่จะเอาไปกินก็ตามเถอะ แต่ผมไม่เชื่อนะครับ ผมคิดว่าเอาเข้าจริงๆ การเล่นการเมืองไม่ใช่เล่นเอามัน หรืออุดมคติจนเกินไป มันต้องยืนอยู่บนข้อเท็จจริง ซึ่งรายละเอียดมันดูคุยกันได้ ตรงไหนหลบ มันก็จำเป็นอยู่ในทางการเมือง แต่ว่ามันต้องไม่กระทบกับสาระหลัก คือเราต้องขายอุดมการณ์ ขายข้อเสนอใหม่ ขายความคิดที่เป็นทางเลือกจริงๆ เราต้องสู้

พันธมิตรฯ จะกระตุ้นให้ประชาธิปัตย์ปฏิรูปภายใน ส่งเสาไฟฟ้าลงเลือกตั้งไม่ได้

และถ้าเราลงนี่ล่ะ ผมคิดว่า หลายคนที่เป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์แล้วกลัวว่าเราจะไปแย่งคะแนน ต้องสนับสนุนเราด้วยซ้ำไป เพราะจะกระตุ้นให้ประชาธิปัตย์เกิดการเปลี่ยนแปลงภายใน ต้องปฏิรูปพรรค ต้องคัดคนมีคุณภาพ ต้องเล่นการเมืองที่สร้างสรรค์กว่าเดิม มันกระตุ้นนะครับ เพราะถ้าเมื่อไหร่ก็ตามคุณยังเอาไฟฟ้าลงก็ชนะ ไม่ได้แล้วครับ ต่อไปคุณจะเอาเสาไฟฟ้าลงเลือกตั้งไม่ได้ คุณต้องเอาคนจริงๆ และมีคุณภาพจริงๆ ฉะนั้นมีแต่ได้กับได้

แต่อย่าไปคิดว่าเดี๋ยวเสื้อแดงชนะ คุณทักษิณพรรคเพื่อไทยชนะ ตาอยู่มาหลายภาคหลายจังหวัดในภาคใต้ มาเป็นพรรคการเมืองเสียงเดียว ก็ถ้าทำไม่ดีก็พันธมิตรฯ ก็มีอยู่ เขาก็มาชุมนุมได้ หรือต่อให้ไม่มีพันธมิตรฯ ก็ตาม ถ้าเฮโลกันไปพรรคหมด การเมืองภาคประชาชน พันธมิตรฯ ไม่ได้เป็นเจ้าภาพองค์กรเดียว เผอิญพันธมิตรฯ เราเป็นขบวนการภาคประชาชนได้แสดงพลานุภาพมากกว่าทุกขบวนการเคลื่อนไหวที่เคยมีมา แต่ไม่ได้หมายความว่ามีแค่นี้แหละ คนอื่นทำไม่ได้ คนอื่นอาจทำได้ดีกว่าเรา ยังไม่ถึงเวลา

ฉะนั้นอย่าไปคิดว่าเราทิ้งอันนี้ไปจะไม่มีเจ้าภาพในอีกด้านหนึ่ง ผมคิดว่าในขณะนี้ การตื่นตัวของภาคประชาชนก็สูงขึ้นด้วย เพียงแต่ว่าจุดอ่อนของการเมืองภาคประชาชนคือที่ทางในสภา ที่คุณคำนูณพูดถึง มันไม่มีตัวแทนที่เป็นทางการเข้าไป เข้าไปไม่ได้หมายความว่าเข้าไปแบบล็อบบี้ยิสต์ หรือว่าฝากไปห้อยไว้สักคนสองคน มันไม่พอหรอกครับ มันต้องเป็นเรื่องเป็นราวเป็นทางการ และเป็นจริงเป็นจังกว่านี้

และผมคิดว่า ถ้าในวันข้างหน้า สมมติที่เราพูดกันในเงื่อนไขว่ามติวันที่ 24 ให้มีพรรค ถ้าไม่มีก็ไม่ต้องพูดกัน ถ้าสมมติว่าเป็นมติแบบนั้นจริง ผมพยายามจำลองภาพที่พี่คำนูณพยายามเขียน ว่าเราลุกขึ้นอภิปรายแล้วอภิปรายในประเด็นที่มีคุณภาพ ผมคิดสองด้าน

ด้านหนึ่ง แกนนำของเราหรือ ส.ส. ของเรา จะถูกคัดค้านจากทุกพรรคการเมืองแม้แต่ประชาธิปัตย์เอง เหนื่อยกว่าการอภิปรายหรือปราศรัยบนเวทีด้วยซ้ำไป น่าเห็นใจด้วยซ้ำไปคนที่อาสาตัวไป สองเราจะพูดอะไรที่พูดกับคนทั้งประเทศ ไม่ได้พูดกับสมาชิกพรรคการเมือง หรือสมาชิกรัฐสภาในสภาเท่านั้น เรากำลังพูดกับคนทั้งประเทศที่ดูถ่ายทอดสดว่า พ.ร.ก.เงินกู้ 400,000 ล้าน มันจะเป็นประโยชน์ต่อคนอย่างไร ถ้าเสียเวลา 3 วัน 5 วัน มันจะเสียโอกาสตรงไหนอย่างไร ตรงนี้ต่างหากคือเนื้อหา อย่าไปติดว่าจะได้ถึง 30 เสียงหรือ ผมว่านี่เป็นคำถามแบบเก่า ต้องกล้าเปลี่ยนตั้งแต่คำถามว่าจะเข้าไปทำอะไรต่างหาก และทำได้จริงหรือเปล่า ต้องเปลี่ยนกรอบคิดด้วย

ผมก็ถามนักข่าว เขาก็อึ๊งนะ เอ๊ะคุณเปลี่ยนคำถามใหม่ก่อน คือถ้าตอบแบบนี้ แสดงว่าคุณต้องบอกว่าพันธมิตรฯ ต้องได้ 100 เสียงขึ้นไปถึงจะชนะหรือ นั่นผิดแล้ว เริ่มต้นผมว่าไม่มีทาง

นายคำนูณกล่าวว่า ได้ 20-30 สำหรับผมถือว่าชนะ นายสุริยะใสกล่าวว่า ประสบความสำเร็จแล้วครับ และผมคิดว่าไม่ต้องไปปักธงเป็นรัฐบาลหรืออะไรขนาดนั้น

คำนูณเชื่อ ส.ส. จะมาจากปาร์ตี้ลิสต์

นายเติมศักดิ์ถามนายคำนูณว่า 20-30 เสียงเป็นไปได้แค่ไหน

นายคำนูณ ตอบว่า ผมมองระบบการเลือกตั้ง ผมมั่นใจว่าถ้าพรรคพันธมิตรฯ เกิดที่จะต้องให้ความสำคัญเป็นอันดับแรกคือผู้สมัครในระบบบัญชีรายชื่อ ซึ่งในขณะนี้รัฐธรรมนูญ 50 มีอยู่ 80 คน 8 เขต เขตละ 10 สมมติมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญกลับไปสู่ปี 40 เป็นบัญชีเดียว 100 คน ประเทศเป็นเขตเลือกตั้ง ก็ไม่ได้ก่อให้เกิดความเสียหายกับพรรคพันธมิตรฯ อาจจะดีกว่าด้วยซ้ำไป

แต่ไม่ว่าจะเป็นอย่างไร ผมว่าถ้าเรามุ่งตรง เน้นตรงประเภท ส.ส. ประเภทปาร์ตี้ลิสต์ ระบบบัญชีรายชื่อ แล้วการส่งคนลงสมัครรับเลือกตั้ง การจะส่ง ส.ส. เขต ส่งที่ไหน หรือไม่ส่ง มันขึ้นอยู่กับบริบททางการเมืองในขณะนั้น

สมมตินะ สำหรับท่านที่เกรงว่าจะไปแย่งเสียงประชาธิปัตย์ หรือจะเสียเวลาสู้กัน ถ้าประชาธิปัตย์ พรรคพันธมิตรฯ เขาพิเคราะห์เห็นว่า ไม่ควรจะไปสู้ ถือเป็นการให้เกียรติ อย่างน้อยก็คือเป็นพรรคที่มีความคิดพอจะใกล้เคียงกันบ้างเมื่อเทียบกับพรรคอื่น เขาอาจจะไม่ส่ง ส.ส.เขตในภาคใต้เลยสักคนก็ได้ นายสุริยะใสกล่าวเสริมว่า รัฐธรรมนูญก็ไม่ได้ห้ามไว้

นายคำนูณกล่าวต่อว่า แต่ขอส่งบัญชีรายชื่อนะ แต่ในกรุงเทพบัญชีรายชื่อยังไงก็ต้องส่ง ภาคตะวันออก ภาคอีสาน ยังไงก็ต้องส่ง ส่วน ส.ส.เขตก็คงต้องพิจารณากันเป็นกรณีๆ ไป มันขึ้นอยู่กับว่าเรามีตัวบุคคลของพรรคเราที่เหมาะสมที่จะลงตรงนั้นหรือไม่ และขึ้นอยู่กับกฎเกณฑ์กติกาว่าจะมีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงไปจากรัฐธรรมนูญ 50 นี้หรือไม่

ผมว่ามันมีวิธีการที่ทำได้หลายแนว ซึ่งส่วนที่ให้ปริมาณไว้ ตั้งแต่ 30-50 หรือลงมาไม่ต่ำกว่า 20 ผมคิดแต่เพียงว่า 20 คือตัวเลขขั้นต่ำที่ต้องมี เพราะการเสนอร่างกฎหมายจะต้อง 20 เสียงขึ้นไป ขึ้นอยู่กับว่าพรรคนี้มีใครเป็นผู้นำ และผู้นำลงสมัครรับเลือกตั้งหรือไม่ ซึ่งในกรณีนี้คุณสนธิ ลิ้มทองกุลเป็นประเด็นแน่นอน ซึ่งต้องยอมรับว่า ระหว่างคุณสนธิเป็นหัวหน้าพรรค กับสุริยะใสเป็นหัวหน้าพรรคจำนวนที่นั่งคงต่างกัน แล้วผลของปรากฏการณ์สนธิที่จะเกิดขึ้น ทั้งในการเลือกตั้งและการปฏิบัติงานในสภา ระหว่างการมีสนธิอยู่ในสภาและไม่มีอยู่ต้องยอมรับว่ามันต่างกัน มันถึงมีอัตราที่เราอาจจะพูดได้ว่า มีระยะห่างที่กว้างสักหน่อย ตั้งแต่ 20-30 อาจไปถึง 50

บางสิ่งบางอย่างประเมินไม่ได้ หวังเกิด ปรากฏการณ์สนธิ อีกสองครั้ง

บางสิ่งบางอย่างเราประเมินไม่ได้ ตอนที่เราจะจัดเมืองไทยรายสัปดาห์สัญจรครั้งแรกที่หอประชุมเล็ก (มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์) ผมเป็นโปรดิวเซอร์อยู่ตอนปี 2548 เชื่อไหมคุณสุริยะใส ไปดูที่หอประชุมเล็กโอ้โหกว้างใหญ่จริงๆ จะเอาคนมาจากไหน ขอประทานโทษนะ แอบโทรไปบอกน้องดรีม เฮ้ยดรีม แสตนด์บายพนักงานไว้หน่อยดีมั้ย พี่กลัวมันโหรงเหรงว่ะ พอถึงเวลาไม่รู้มาจากไหนแน่นมืดฟ้ามัวดิน แล้วก็แน่นไปเรื่อยๆ

จะจัดหอประชุมใหญ่ครั้งแรก มันจะไหวหรือมันกว้างใหญ่ขนาดนั้น ที่สุดคุณเติมศักดิ์ก็เห็นว่าแน่น ไปสวนลุมก็แน่น ไปที่ไหนก็แน่น หรือว่ากรณีที่คุณสนธิถูกยิงขนาดนั้นแล้วไม่ตาย แล้วเนชั่นสุดสัปดาห์สัมภาษณ์พิเศษเป็นฉบับแรก เราก็รู้เนชั่นสุดสัปดาห์ขายดีแน่ แต่คงไม่มีใครคาดเดาได้ว่า 3 ชั่วโมงหมดแผงและขายดีที่สุดในรอบ 17 ปี นับตั้งแต่ก่อตั้งนิตยสารมา จนกระทั่งเขาต้องนำภาพชุดมาตีพิมพ์อีกครั้งในฉบับต่อไป

นายคำนูณกล่าวว่า ต้องการเห็นปรากฏการณ์สนธิอีกสองครั้ง ครั้งหนึ่งผลการเลือกตั้ง อีกครั้งคือการปฏิบัติงานของ ส.ส.พรรคในสภา

สุริยะใสยันแกนนำจะให้มวลชนแสดงความเห็นในการประชุมอย่างเต็มที่

นายสุริยะใสกล่าวว่า ทั้งหมดเป็นเพียงการคาดการณ์และวิเคราะห์ ผมเข้าใจว่าวันที่ 24 นี้ ประเด็นที่พี่คำนูณพูดทั้งหมดก็เป็นส่วนหนึ่งที่จะอภิปรายกัน และผมคิดว่าเราคงลืมไม่ได้ที่จะตั้งใจและก็รอฟังความเห็นจากพี่น้องต่างจังหวัด แกนนำจากภาคและแนวร่วมหลายส่วน ซึ่งความเห็นแม้จะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยก็ตาม ผมขอเรียนว่าครั้งนี้แกนนำไม่ได้แทรกแซงอะไรเลย ปล่อยให้คนมาแสดงความเห็นอย่างเต็มที่ แม้ผมจะเห็นว่าบางคนเขาไม่เห็นด้วยกับการตั้ง ก็ต้องปล่อยให้มีการพูด ไม่ได้ไปบอกว่าไม่เอาคนนี้นะ ผมเรียนว่าไม่มี ผมทำงานมา 2-3 เดือนที่เตรียมการเรื่องนี้ พอจะรู้ว่าใครจะพูดอะไร แต่เราต้องให้วันที่ 24 เปิดกับทุกส่วนจริงๆ

นายคำนูณ กล่าวว่า เห็นด้วยก็คือเห็นด้วย ไม่เห็นด้วยก็คือไม่เห็นด้วย แต่การไม่เห็นด้วยผมอยากให้ไม่เห็นด้วยบนเหตุผลที่ให้เกียรติกัน คืออย่าไปคิดว่าคนที่สนับสนุนให้มีการตั้งพรรคเขามีวาระซ้อนเร้น เขาจะเอาคุณสนธิไปเชิดเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัวหรือวิพากษ์วิจารณ์ไปไกล ซึ่งผมว่าหลายท่านก็โดน และที่ผมพูดเรื่องนี้มากก็เพราะว่าผมไม่มีส่วนเกี่ยวข้องแน่นอน ถ้าเขาตั้งผมก็ไม่สามารถไปร่วมได้ไม่ว่าทางพฤตินัยหรือนิตินัยใดๆ ทั้งสิ้น และที่เขียนๆ กันมาอย่างที่ชี้แจงมาตั้งแต่ต้นมันเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ แต่ผมคิดว่าผมอยากจะโยนประเด็น โยนปัญหา และพูดหมดอย่างที่คิด ส่วนการตัดสินใจเป็นเรื่องของสองส่วนคือมวลชนของพันธมิตร แกนนำและตัวคุณสนธิเอง

ที่มา: รายการคนในข่าว, สถานีโทรทัศน์ ASTV, 20 พ.ค. 52 [1] [2]

ข่าวส่งเสริมคนดี

จำนวนผู้เข้าเยี่มมชม

link to affordable web hosting
Powered by web hosting provider .

สถิติการเข้าชม DMNEWS

eXTReMe Tracker