บล็อคข่าวส่งเสริมคนดี (รักดีหามจั่ว รักชั่วหามเสา หามจั่วก็หนักนะ)

ข่าวจากสื่อ

บทความจากสื่อ

วันเสาร์ที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2552

ลุ้นระทึกยุบหรือไม่ยุบ?

ที่มา ไทยรัฐ

บทบรรณาธิการ

บรรดาคณะกรรมการบริหาร สมาชิก และผู้สนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์ คงจะต้องลุ้นด้วยความระทึกใจ พรรคจะโดนยุบหรือไม่? หลังจากที่มีการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ในสภา กล่าวหาว่าใช้บริษัทโฆษณาฟอกเงิน 258 ล้านบาท เข้าพรรค และใช้เงินสนับสนุนจากรัฐ 23 ล้านบาท ผิดวัตถุประสงค์ ซึ่งเป็นความผิดที่อาจถูกยุบพรรค และกรมสอบสวนคดีพิเศษได้ส่งเรื่องให้ กกต.ดำเนินการแล้ว

พรรคประชาธิปัตย์เคยรอดจากถูกยุบมาแล้วหนหนึ่ง เมื่อถูกกล่าวหาว่า กรรม-การบริหารพรรคแจกตั๋วดูภาพยนตร์ให้ผู้มีสิทธิ-เลือกตั้ง ในระหว่างการหาเสียงเลือกตั้ง แต่คราวนี้โดนข้อกล่าวหาที่หนักกว่าเดิม อีกทั้งผู้อภิปรายเรื่องนี้ในสภา ก็จบการศึกษาด้านนิติศาสตร์ถึงระดับปริญญาเอก จึงมีการคาดหมายว่าพรรคประชาธิปัตย์อาจโดนยุบ คณะกรรมการบริหารพรรคถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง

แต่ถ้ามองในแง่กฎหมาย ความผิดที่พรรคประชาธิปัตย์ถูกกล่าวหาว่ากระทำ เกิดขึ้นระหว่างปี 2547 ถึงต้นปี 2548 ในขณะที่ยังใช้รัฐธรรมนูญ 2540 และกฎหมายพรรค การเมือง 2541 อยู่ จึงต้องนำกฎหมายทั้งสองฉบับมาใช้ ไม่ใช่รัฐธรรมนูญ 2550 และกฎหมายพรรคการเมือง 2550 ผู้อภิปรายพรรคฝ่ายค้านกล่าวหาว่าพรรคประชาธิปัตย์รับเงินจากบริษัท ทีพีไอ เป็นการบริจาคที่ไม่เปิดเผย

ถ้าเป็นกล่าวหาว่ารับบริจาคเงินโดยไม่เปิดเผย และไม่ได้รายงานต่อ กกต. ก็จะเป็นความผิดตามมาตรา 51 ของกฎหมายพรรคการเมือง 2541 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี มีโทษปรับ และเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 5 ปี แต่ไม่มีโทษยุบพรรค และไม่มีบทบัญญัติให้ เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งคณะกรรมการบริหารพรรค เหมือนกับที่เขียนไว้ในมาตรา 237 ของรัฐธรรมนูญ 2550

อย่างไรก็ตาม ตามกฎหมายพรรคการเมือง 2541 พรรคการเมืองอาจถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบได้ ด้วยสาเหตุอื่นๆอีก เช่นไม่จัดทำรายงานการดำเนินกิจการของพรรค ในรอบปีปฏิบัติ และแจ้งให้นายทะเบียนพรรคทราบ หรือเมื่อได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐแล้ว ไม่ได้นำไปใช้จ่ายตามที่กฎหมายบัญญัติ แต่มีโทษเพียงแต่ยุบพรรค ไม่ได้ระบุโทษให้เพิกถอน สิทธิเลือกตั้งคณะกรรมการพรรค

ฉะนั้น ถึงแม้พรรคการเมืองจะถูกยุบ ตามกฎหมายพรรคการเมือง 2541 หัวหน้าพรรค และกรรมการบริหารพรรคคนอื่นๆ ก็เพียงแต่จะถูกห้ามไม่ให้ขอจัดตั้งพรรคขึ้นใหม่ ห้ามไม่ให้เป็นกรรมการบริหารพรรค และห้ามมีส่วนร่วมในการจัดตั้งพรรคใหม่ แต่ไม่ถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง จึงยังมีสิทธิ์ที่จะเป็น ส.ส.หรือเป็นรัฐมนตรีต่อไป เว้นแต่จะนำประกาศ คมช. มาใช้บังคับย้อนหลัง

รัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 237 ที่ให้ยุบพรรค และเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งกรรมการบริหารพรรคทั้งคณะ เป็นบทบัญญัติที่ถูกวิพากษ์ วิจารณ์มากว่าไม่เหมาะสมเพราะกรรมการพรรคบางคนไม่รู้เห็นเรื่องการซื้อเสียงของผู้สมัครของพรรค ก็ต้องถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งถึง 5 ปี หลายฝ่ายเห็นว่าควรได้รับการแก้ไข แต่ควรจะเป็นการแก้ไขร่วมกันของทุกฝ่าย ภายใต้ บรรยากาศของความสมานฉันท์

ข่าวส่งเสริมคนดี

จำนวนผู้เข้าเยี่มมชม

link to affordable web hosting
Powered by web hosting provider .

สถิติการเข้าชม DMNEWS

eXTReMe Tracker