ผมหายไปสองสามวัน กลับมามีการบ้านปึ๊งใหญ่กองอยู่บนโต๊ะ หนึ่งในนั้นก็คือเรื่องร้อนๆ การปฏิรูปโครงสร้างภาษีสรรพสามิต ของกระทรวงการคลังเป็นเอกสารของ หอการค้าไทย และ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ที่ทำไปถึง นพ.พฤฒิชัย ดำรงรัตน์ รัฐมนตรีช่วยคลัง พร้อมด้วย “เสียงค้าน” การขึ้นภาษีสรรพสามิต ชา กาแฟ ซึ่งเป็น พืชเศรษฐกิจ สำคัญของไทย
มีหลายประเด็นที่ผมคิดว่า นพ.พฤฒิชัย รัฐมนตรีช่วยคลัง น่านำไปพิจารณาอย่าให้เหมือน การบินไทย และ สนามบินดอนเมือง ที่ตัดสินใจโดยคนไม่กี่คน เพื่อคนไม่กี่คน ทำให้ประโยชน์ของชาติและคนไทยเสียหาย ซึ่งคงจะได้เห็นในอีกไม่นาน
อัน ภาษีสรรพสามิต นั้นเป็น ภาษีทางอ้อม ที่เก็บจากสินค้าฟุ่มเฟือย สินค้าที่ไม่จำเป็นสุราบุหรี่ สินค้าที่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม สินค้าต่างชาติที่นำเข้ามาถล่มสินค้าไทย ฯลฯ เพื่อให้สินค้าเหล่านั้นขายได้น้อยลง ไม่ใช่ภาษีที่เป็นรายได้หลักของรัฐบาล รายได้หลักของรัฐบาลคือภาษีสรรพากร
ดังนั้น การปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิต จึงควรต้องคิดถึง หลักการและเหตุผลในการจัดเก็บภาษีสรรพสามิต เป็นสำคัญ
ดังกรณีตัวอย่างที่ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย นำเสนอต่อรัฐมนตรีช่วยคลังว่า การเพิ่มภาษีสรรพสามิต ชา กาแฟ ไม่เพียงกระทบต่อต้นทุนของผู้ประกอบการ แต่ยังกระทบไปถึง “เกษตรกรผู้ปลูกชากาแฟ” โดยตรง
ในเอกสารของสภาหอการค้ายังได้ให้ข้อมูลเรื่อง “คาเฟอีน” ที่รัฐบาลอ้างในการขึ้นภาษีสรรพสามิตชากาแฟ ว่า เป็นสารที่เกิดตามธรรมชาติ เอฟดีเอ หรือ อย.สหรัฐฯ จัดให้อยู่ในบัญชี Generally Recognize as Safe (GRAS) มีความปลอดภัยเช่นเดียวกับเครื่องดื่มทั่วไป หากมีปริมาณที่เหมาะสม จะไม่ก่อให้เกิดโทษต่อสุขภาพของผู้บริโภค ในบางกรณียังเป็นประโยชน์ต่อร่างกายอีกด้วย
เขียนถึง ชากาแฟในเมืองไทย แล้ว ผมก็อยากเรียนเพิ่มเติมว่า ท่านรัฐมนตรีช่วยคลัง น่าจะดูข้อมูลเพิ่มเติมเรื่อง การส่งเสริมการปลูกชากาแฟในเมืองไทย มีที่มาที่ไปเป็นอย่างไร สมควรจะต้องเก็บภาษีสรรพสามิตเพิ่มหรือไม่
การส่งเสริมการปลูกกาแฟในเมืองไทยมาจาก โครงการพระราชดำริ ใน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงส่งเสริมให้ “ชาวเขา” ทางภาคเหนือหลายจังหวัดที่ “ปลูกฝิ่น” ซึ่งเป็นพืชเสพติดร้ายแรงให้หันมา “ปลูกกาแฟ” ทดแทนเมื่อ 40 กว่าปีที่แล้ว เพื่อแก้ปัญหายาเสพติดในเมืองไทย จนกลายเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของไทยที่ปลูกกันทั่วประเทศไม่รู้กี่แสนไร่ในทุกวันนี้
เรื่องกาแฟนี้มีบันทึกพระราชดำรัสเมื่อปี 2517 ว่า
“แต่ก่อนเขาปลูกฝิ่น เราไปพูดจาชี้แจงชักชวนให้เขามาปลูกกาแฟแทนกะเหรี่ยงไม่เคยปลูกกาแฟมาก่อน ยังดีที่กาแฟมิตายเสียหมด แต่ยังเหลืออยู่ หนึ่งต้น ต้องถือว่าเป็นความก้าวหน้าสำหรับกะเหรี่ยง” และทรงแนะนำให้หาหนทางว่า “ทำอย่างไรกาแฟจึงจะเหลือมากกว่าหนึ่งต้น”
ถ้าขึ้นภาษีสรรพสามิตชากาแฟเมื่อไร ผู้ที่จะได้รับผลกระทบโดยตรง ไม่ใช่พ่อค้ากาแฟสำเร็จรูป แต่เป็น “เกษตรกร” ผู้ปลูกชากาแฟทั่วประเทศ เพราะชากาแฟที่เราบริโภคในประเทศและส่งออกทุกวันนี้ เป็นชากาแฟที่เราปลูกเองในประเทศ
ผมมีตัวเลขที่ไม่แน่ใจว่ายังทันสมัยหรือไม่ แต่ก็เป็นคำตอบที่ดีว่า ทำไมชาวเขาจึงยอมเลิกปลูกฝิ่นหันมาปลูกชากาแฟแทน เป็นตัวเลข “รายได้การปลูกชา” ของ เกษตรกรแม่ฮ่องสอน ที่ขึ้นชื่อลือชาเรื่องชา เฉลี่ยรายได้อยู่ที่ 4-8 ล้านบาท ต่อไร่ต่อปี ชาที่ทำรายได้ดีที่สุดคือ ชาจีน รองมาคือ ชาอัสสัม
การคิดปรับปรุงโครงสร้างภาษีสรรพสามิตที่ล้าสมัย เป็นเรื่องที่ดี เพราะสินค้าที่สมควรจะเก็บและขึ้นภาษีสรรพสามิตยังมีอีกมากมาย แต่ไม่ใช่ชาและกาแฟแน่นอน
ที ภาษีบาป อย่าง ซานติก้าผับ ที่โดนข้อหาทำผิดกฎหมายมากมาย แต่ อธิบดีกรมสรรพสามิต นั่งยันหน้าตาเฉย ไม่ต้องเสียภาษีสรรพสามิต แม้สังคมรับไม่ได้เธอก็ยังอยู่สบาย ไม่ว่ามองมุมไหนก็เห็นชัดว่านี่คือ ความไม่เป็นธรรม ของคนเก็บภาษี แต่ที ชากาแฟ เครื่องดื่มสามัญประจำบ้าน กรมสรรพสามิต จะเก็บเป็น ภาษีบาป ก็เป็นภาระที่สังคมรับไม่ได้เหมือนกัน.
“ลม เปลี่ยนทิศ”