บล็อคข่าวส่งเสริมคนดี (รักดีหามจั่ว รักชั่วหามเสา หามจั่วก็หนักนะ)

ข่าวจากสื่อ

บทความจากสื่อ

วันอังคารที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2552

อำมาตย์ แปลว่า ข้าราชการ !!?

ที่มา thaifreenews

“ป๋าเปรม-บิ๊กเสือ” ร่วมงานวันสัญญา
ทั้งนี้ เมื่อเวลา 07.30 น. วันที่ 5 เม.ย. ที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ได้จัดงานวันสัญญา ธรรมศักดิ์ ประจำปี 2552 ทั้งนี้ในช่วงเช้าได้มีการจัดพิธีทางสงฆ์ โดยมีบุคคลสำคัญเข้าร่วมงานจำนวนมาก อาทิ พล.อ.พิจิตร กุลละวณิชย์ องคมนตรี นายอรรถนิติ ดิษฐอำนาจ องคมนตรี นายวิรัช ลิ้มวิชัย ประธานศาลฎีกา นายอักขราทร จุฬารัตน ประธานศาลปกครองสูงสุด และประธานกองทุนศาสตราจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ นายชัช ชลวร ประธานศาลรัฐธรรมนูญ นายสุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา นายกสภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน มีนายสมคิด เลิศไพฑูรย์ คณบดีคณะ นิติศาสตร์ คอยให้การต้อนรับ
รปภ.เข้มหวั่นเกิดเหตุวุ่น
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าในการจัดงานดังกล่าว ได้มีการขอกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจทั้งตำรวจจราจรและตำรวจสายตรวจจาก สภ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี มาคอยรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มงวดกว่า 200 นาย ขณะเดียวกันได้มีการประสานขอกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดเก็บกู้วัตถุระเบิด นำเครื่องตรวจวัตถุระเบิดแบบสแกน คอยตรวจผู้เข้าร่วมงานอย่างละเอียด โดยในช่วงเช้าเจ้าหน้าที่ได้ใช้ เครื่องสแกนไปตามพุ่มไม้ เพื่อป้องกันการวางวัตถุระเบิดหรือสิ่งแปลกปลอม แต่ตลอดระยะเวลาการจัดงานไม่มีเหตุผิดปกติใดๆเกิดขึ้น
“ป๋าเปรม” อารมณ์ดีเป็นพิเศษ
จากนั้นเวลา 09.05 น. พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ เดินทางมาเป็นประธานในพิธีวางพานพุ่มดอกไม้สักการะอนุสาวรีย์ศาสตราจารย์ สัญญา ธรรมศักดิ์ ท่ามกลางการอารักขาของเจ้าหน้าที่ตำรวจทั้งในและนอกเครื่องแบบกว่าสิบนาย โดยมี พล.อ. พิจิตร นายสุเมธ นายสมคิด และนายอักขราทร คอยต้อนรับ โดย พล.อ.เปรมได้ทักทาย พล.อ.พิจิตรและนายอักขราทร ด้วยสีหน้ายิ้มแย้มก่อน เมื่อวางพานพุ่มเสร็จแล้ว พล.อ. พิจิตรได้เดินมาส่งและพูดคุยเป็นการส่วนตัวกับ พล.อ. เปรมจนถึงที่รถ ขณะที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ มอบหมายให้นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี เป็นตัวแทนวางพานพุ่ม และนายสามารถ แก้วมีชัย รองประธานสภาผู้แทน ราษฎร เป็นตัวแทนฝ่ายสภาผู้แทนราษฎรวางพานพุ่ม
ชี้แยกคนดี-เลวไม่เห็นยาก
จากนั้น พล.อ.เปรมให้สัมภาษณ์ว่า ถ้าคนไทยน้อมนำพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาใช้ จะผ่านพ้นวิกฤติช่วงนี้แน่นอน เมื่อถามว่าปัญหาขณะนี้เกิดขึ้น เพราะแยกไม่ออกระหว่างคนดีกับคนไม่ดีหรือไม่ พล.อ.เปรมย้อนถามกลับว่าทำไมล่ะ ไม่เห็นแยกยากตรงไหนเลย แยกได้ก็ได้ประโยชน์มาก
ย้ำพูดหมดแล้วที่ถูกกล่าวหา
เมื่อถามย้ำว่า ท่านก็เป็นคนดี แต่มีความพยายามที่จะพาดพิง พล.อ.เปรมตอบว่า ไม่เป็นไร ก็ยังเป็นอยู่อย่างเดิม เมื่อถามว่า จะทำให้สังคมตื่นตัวในเรื่องนี้อย่างไร พล.อ.เปรมตอบว่า เขาตื่นกันแล้วมั้ง เขารู้จักแยกความดีกับความไม่ดี เมื่อถามว่า วันที่ 8-10 เม.ย.นี้ กลุ่มเสื้อแดงประกาศจะสู้ถึงขั้นแตกหัก เพื่อทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง เป็นห่วงหรือไม่ พล.อ.เปรมตอบว่า ไม่ทราบเรื่องนี้ เมื่อถามว่ากลุ่มเสื้อแดงระบุว่าท่านอยู่เบื้องหลังทั้งหมด อยากให้ท่านชี้แจง พล.อ.เปรมตอบว่า ไม่พูดแล้ว พูดหมดแล้ว เมื่อถามว่าสิ่งที่ท่านชี้แจงคนยังไม่รับรู้ในวงกว้าง พล.อ.เปรมย้อนถามว่า กว้างแค่ไหน ไม่ทราบ แต่ได้พูดไปหมดแล้ว
ย้อนถามคนกลางเป็นใคร
ผู้สื่อข่าวถามว่า สิ่งที่ได้รับรู้คิดว่าจะผ่านพ้นวิกฤติที่เกิดขึ้นหรือไม่ พล.อ.เปรมตอบว่า ไม่ทราบ เพราะไม่รู้ เมื่อถามว่า ความรุนแรงจะเกิดขึ้นหรือไม่ เพราะมีความพยายามจะปลุกคน พล.อ.เปรมกล่าวว่า ไม่วิจารณ์เรื่องนี้ เมื่อถามว่า ท่านเป็นผู้ใหญ่ของบ้านเมืองอยากจะให้สติคนไทยอย่างไร พล.อ.เปรมตอบว่า ให้ไปเรื่อย ให้ไปตลอดเวลาในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ จึงบอกว่าให้คนไทยต้องรักสามัคคีกัน และต้องดำเนินรอยตามเบื้องพระยุคลบาท ขอให้น้อมนำเอาพระราชดำรัสและพระบรมราโชวาท ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ไปปฏิบัติและทุกอย่างก็จะเรียบร้อย เมื่อถามว่า มีการเสนอให้นำคนกลางมายุติปัญหาคือ นายสุเมธ พล.อ.เปรมตอบว่า ไม่รู้ ไม่รู้ จากนั้น พล.อ.เปรมได้หัวเราะ แล้วหันไปหานายสุเมธที่ยืนอยู่ด้านหลังพร้อมกับกล่าวว่า ให้ไปถามเขาซิ เมื่อถามย้ำว่าสถานการณ์ขณะนี้ หากมีคนกลางมาไกล่เกลี่ย จะทำให้พ้นวิกฤติหรือไม่ พล.อ.เปรมตอบว่าคนกลางคือใคร ความจริงตนไม่คิดว่าคนไทยจะไม่รักกัน
ไม่ต้องเตรียมรับมือเสื้อแดง
เมื่อถามว่า เกิดอะไร ทำไมความขัดแย้งจึงรุนแรงขึ้น พล.อ.เปรมตอบว่า ไม่ทราบ สื่อทราบดีกว่าตนอีก เมื่อถามว่า ใส่ใจกับกลุ่มเสื้อแดงที่โจมตีท่านหรือไม่ พล.อ.เปรมตอบว่า ไม่ได้ฟัง เมื่อถามต่อว่ากลุ่มเสื้อแดงจะไปปิดล้อมที่บ้านสี่เสาเทเวศร์เตรียมรับมือหรือไม่ พล.อ.เปรมตอบว่า ไม่ต้องเตรียมอะไรเลย เมื่อถามว่าจะอยู่ในบ้านสี่เสาเทเวศร์ใช่หรือไม่ พล.อ.เปรมตอบว่า มีบ้านหลังเดียว
โยนบางเรื่องสื่อรู้ดีกว่า
เมื่อถามว่า พล.อ.พิจิตรเชื่อว่า พ.ต.ท.ทักษิณไม่จงรักภักดี มองอย่างไร พล.อ.เปรมตอบว่า ไม่รู้ แต่สิ่งที่ พล.อ.พิจิตรพูดก็ต้องไปถาม พล.อ.พิจิตร เมื่อถามว่า การที่ พ.ต.ท.ทักษิณโจมตีท่านกับ พล.อ.สุรยุทธ์ มีเป้าหมายไปไกลกว่านั้นหรือไม่ พล.อ.เปรมตอบว่า สื่อรู้ดีกว่าตน ไม่ได้สนใจว่าคุณทักษิณพูดว่าอะไร เพราะบอกหลายครั้งว่าไม่ค่อยได้ฟังด้วยซ้ำไป เมื่อถามว่าการมุ่งโจมตีบุคคลรอบตัวพระมหากษัตริย์ จะทำให้บั่นทอนสถาบันหรือไม่ พล.อ.เปรมพยักหน้าและตอบว่า น่าจะเป็นเมื่อถามว่า จะป้องกันอย่างไร พล.อ.เปรมตอบว่า ก็อย่าพูดสิ เมื่อถามย้ำว่าหวั่นไหวหรือไม่ในวันที่ 8 เม.ย. พล.อ.เปรมตอบด้วยรอยยิ้มที่มุมปากว่า วันนั้นไม่ไปไหนหรอก
“สุเมธ” ปฏิเสธเป็นคนกลาง
ด้านนายสุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา บุคคลที่ทางพรรคเพื่อไทยระบุว่า อยากให้เป็นคนกลางมาทำหน้าที่ไกล่เกลี่ยยุติความขัดแย้งทางการเมืองว่า ทำงานและอยู่เฉยๆ เมื่อถามว่า มีคนมาทาบทามหรือยัง นายสุเมธตอบว่า ยังไม่รู้ เพิ่งมางานนี้ เมื่อถามว่า จะเป็นเรื่องดีหรือไม่หากเป็นคนกลางแล้วปัญหาจะยุติได้ นายสุเมธตอบว่า ทำไมบ้านเมืองต้องเป็นซ้าย ต้องเป็นขวา ต้องเป็นกลาง ไม่เข้าใจ ทำไมต้องเป็นอย่างนี้ เมื่อถามว่า บ้านเมืองจะไปอย่างไรต่อไป นายสุเมธตอบว่า ไม่รู้ซิ แต่สื่อน่าจะหาทางออกได้ ฝากไว้ด้วย เมื่อถามว่า เป็นห่วงสถานการณ์อย่างไร นายสุเมธตอบว่า ในฐานะที่เป็นคนไทยก็เป็นห่วงบ้านห่วงเมืองทั้งนั้น ไม่มีคนไหนหรอกที่ไม่ห่วง เมื่อถามว่า ทางออกในขณะนี้ควรเป็นอย่างไร นายสุเมธตอบว่า ให้นึกถึงประโยชน์ของบ้านเมืองอยู่ตรงไหน เมื่อถามว่า หากมีคนติดต่อให้เป็นคนกลางจะสนใจหรือไม่ นายสุเมธตอบว่า ไม่เอา
เชื่อแก้ปัญหาได้ด้วยการเจรจา
ผู้สื่อข่าวถามว่า ท่านควรจะหาทางออกด้วยการไปหารือกับสายศาล แบบที่ พล.อ.สุรยุทธ์เคยไปปรึกษากับศาล เพื่อแก้ไขปัญหาประเทศมาก่อนหรือไม่ นายสุเมธตอบว่า ไม่ทราบ ต้องไปถาม พล.อ.สุรยุทธ์เอง อย่างไรก็ตาม การเจรจาถือว่าเป็นหนทางที่ดีที่สุดในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่มีใครมาทาบทามให้ ไปเป็นคนกลางดังกล่าว ซึ่งตนก็ไม่รู้เหมือนกันว่าทำไมเดี๋ยวนี้บ้านเมืองถึงแบ่งเป็นซ้าย เป็นขวาแบบนี้ เมื่อถามว่า หากมีการทาบทามจริงจะรับเป็นคนกลางหรือไม่ นายสุเมธส่ายหน้าพร้อมกับกล่าวว่า ไม่รู้ สื่อนั่นแหละต้องทำหน้าที่เป็นคนกลาง เรื่องนี้ก็ได้ยินจากสื่อนั่นแหละ
“ชัช ชลวร” รับรางวัลนัก ก.ม.ดีเด่น
ต่อมาเมื่อเวลา 10.00 น. ที่ห้องประชุมสัมมนา สถาบันเอเชียตะวันออกศึกษา กองทุนศาสตราจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ และมูลนิธินิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดพิธีมอบรางวัลสัญญา ธรรมศักดิ์ ประจำปี 2552 โดย นายอักขราทร จุฬารัตน ประธานศาลปกครองสูงสุด ในฐานะประธานกองทุนศาสตราจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ กล่าวรายงานและเชิญ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ ประธานในพิธีมอบรางวัลสัญญา ธรรมศักดิ์ ประจำปี 2552 แก่นักกฎหมายดีเด่นคือ นายชัช ชลวร ประธานศาลรัฐธรรมนูญ และนักศึกษากฎหมายดีเด่นคือ น.ส.อชิรญาณ์ จันทร์พูล นิติศาสตรบัณฑิต เกียรตินิยมอันดับ 2 เมื่อปี 2550 โดย พล.อ.เปรมกล่าวยินดีกับผู้ได้รับรางวัลว่า ขอขอบคุณนายอักขราทรที่เชิญ มาในพิธีอันมีเกียรติและสำคัญ การยกย่องคนดีเป็นหน้าที่ของคนไทยทุกคน การที่กองทุนสัญญา ธรรมศักดิ์ ได้ยกย่องคนดีให้ปรากฏทุกปี ปีละ 2 คน เป็นเวลา 10 ปีมาแล้ว เป็นการกระทำหน้าที่ของคนไทยที่น่าจะได้รับการยกย่องส่งเสริม เป็นการตอบแทนบุญคุณประเทศที่ยิ่งใหญ่
ย้ำพระบรมราโชวาทกีดกันคนไม่ดี
พล.อ.เปรมกล่าวว่า ประเทศของเราถ้ามีคนดีเพิ่มขึ้น คนไม่ดีก็น่าจะลดลง พระบรมราโชวาทของพระ บาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวให้ว่า ให้ยกย่องส่งเสริมคนดีให้มาดูแลบ้านเมือง และกีดกันคนไม่ดีไม่ให้เข้ามายุ่งหรือเกี่ยวข้องกับการบริหารบ้านเมือง หรือกิจการที่สำคัญๆ ขอแสดงความยินดีกับนายชัช ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งทุกคนรู้จักดี และเป็นที่ไว้วางใจของคนไทย ส่วน น.ส.อชิรญาณ์ทำงานที่ศาลปกครอง ก็เป็นคนที่ควรยกย่องส่งเสริมเหมือนกัน ขอพระสยามเทวาธิราชปกป้องทั้ง 2 คน ให้คงความดีตลอดไปและเป็นตัวอย่างที่ดีแก่คนอื่นๆ และหวังว่าพิธีมอบรางวัลในครั้งนี้จะเป็นตัวอย่างที่ดีให้องค์กรอื่นๆกระทำตาม เพื่อส่งเสริมคนดีของชาติบ้านเมืองให้ได้รับการยกย่องมากยิ่งขึ้น
คุณธรรมนำสังคมก้าวหน้า
จากนั้น นายอักขราทรได้มอบรางวัลการประกวดเรียงความเรื่อง คุณธรรมและจริยธรรมนำสังคม กับท่านอาจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ และกล่าวยินดีกับผู้ได้รับรางวัลว่า ขอแสดงความชื่นชมกับผู้ได้รับรางวัล ซึ่งเป็น การสืบสานต่อเจตนารมณ์ของอาจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ ในเรื่องคุณธรรมจริยธรรมที่ถือเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้ สังคมเดินไปได้อย่างมีดุลยภาพ ภราดรภาพ โดยเฉพาะสังคมในปัจจุบันนี้ ซึ่งโครงการจัดประกวดเรียงความเป็นการเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ได้เดินตามแนวทางอาจารย์ สัญญา ซึ่งเป็นผู้ที่ประสบความสำเร็จในทุกด้านและยังได้รับการยกย่องเชิดชูให้เป็นแบบอย่างที่ดีสำหรับคนรุ่นหลัง ที่จะสืบสานต่อเจตนารมณ์
“สุจิต” ลั่นต้องคงสถาบันไว้
ต่อมาเวลา 11.00 น. นายสุจิต บุญบงการ ประธานสภาพัฒนาการเมือง กล่าวปาฐกถาสัญญา ธรรมศักดิ์ ครั้งที่ 5 เรื่อง “ปัญหาและแนวทางของการเมืองไทยภายหลังวิกฤติ” ว่า ปัญหาวิกฤติในปัจจุบันจะยุติเมื่อไหร่ ตนก็ไม่ทราบ หลายคนตั้งคำถามว่า จะยุติในวันสองวันหรือจะบานปลาย การที่มีวิกฤติแสดงว่าบ้านเมืองมีปัญหาต้องมีการแก้ไข หลายคนบอกต้องปฏิรูป แต่ไม่ว่าจะปฏิรูปการเมืองอย่างไร ก็ต้องอยู่ในกรอบระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข คงไม่ต้องอธิบายว่าทำไมระบอบนี้เหมาะกับประเทศไทย อยากให้มองประเทศอื่นที่ปกครองระบอบนี้ ก็มีประชาธิปไตยที่มั่นคง ประเทศเจริญก้าวหน้า และประเทศเหล่านี้ก็พยายามรักษาสถาบัน แสดงว่าสถาบันอยู่คู่กับประชาธิปไตยได้โดยไม่มีความขัดแย้ง อย่างอังกฤษ เบลเยียม เนเธอร์แลนด์ เดนมาร์ก นอร์เวย์ สวีเดน สเปน ญี่ปุ่น ดังนั้น ต้องหันมามามองว่าประเทศไทยจะปฏิรูปอย่างไร จากที่มีปัญหาคาราคาซังตั้งแต่ 2475 เป็นต้นมา ซึ่งใหญ่และซับซ้อน ครอบคลุมทั้งประเด็นโครงสร้างได้แก่สถาบันการเมืองคือ ฝ่ายนิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ ราชการ ระบบการเลือกตั้ง รวมไปถึงค่านิยม วัฒนธรรมทางการเมือง ทัศนคติ จิตสำนึกประชาชน และจริยธรรมคุณธรรมของผู้นำทางการเมือง นักการเมือง ข้าราชการ เศรษฐกิจและสังคม ที่มีผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ซึ่งคงต้องพูดกันเป็นปี
การชุมนุมไม่ทำให้ ปชช.เข้มแข็ง
นายสุจิตกล่าวอีกว่า ประเด็นที่ต้องคิดถึงในการพัฒนาการเมืองในอนาคตคือ การสร้างความเข้มแข็งและตระหนักในความเป็นพลเมือง ให้กับประชาชน การสร้างการเมืองภาคพลเมืองให้เข้มแข็ง ปัจจุบันมีการชุมนุมประท้วงกว้างขวางไม่ว่าจะเสื้อสีไหน แต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นยังบ่งบอกไม่ได้ว่าคนไทยเข้มแข็งทางการเมือง แต่การสร้างความเข้มแข็งทางการเมืองของประชาชนมีความสำคัญ เนื่องจากปัจจุบันเป็นยุคโลกาภิวัตน์ ส่งผลให้เรื่องต่างๆ ทะลักเข้ามาอย่างเสรี ปราศจากการจำกัด แนวคิดสิทธิเสรีภาพ ซึ่งมีฐานมาจากความคิดค่านิยมประชาธิปไตยตะวันตกก็เข้ามาด้วย และยังทำให้มีการเคลื่อนย้ายทุนเสรี ระบบเศรษฐกิจเสรีพัฒนาต่อเนื่อง มีผลให้เกิดการยอมรับในสิทธิเสรีภาพของประชาชน มีรากฝังลึกในสังคมเกินกว่าจะเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่นได้
ตีความเรื่องเสรีภาพต่างกัน
นายสุจิตกล่าวว่า หลายประเทศให้ความสำคัญสิทธิเสรีภาพ แต่ตีความต่างกันว่าอะไรคือสิทธิ อะไรคือเสรีภาพ ประเทศในตะวันตกส่วนใหญ่ยอมให้ประชาชนมีสิทธิเสรีภาพอย่างกว้างขวาง ส่วนบางประเทศตีกรอบสิทธิเสรีภาพเคร่งครัด จึงไม่สามารถบอกได้ว่าความสมดุลที่ถูกควรอยู่ตรงไหน สังคมตะวันตกถือว่าสิทธิเสรีภาพมากับการเป็นมนุษย์ จะจำกัดได้คือภายใต้กฎหมาย แต่รัฐก็ไม่สามารถออกกฎหมายมาจำกัดทั้งหมดได้ ส่วนสังคมไทยมักยอมให้มีการจำกัดสิทธิเสรีภาพมากกว่าตะวันตก แต่ปัจจุบันมีการยอมรับเรื่องสิทธิเสรีภาพมากขึ้น แต่มีคนกังวลว่า สิทธิเสรีภาพ และความไม่เป็นระเบียบเรียบร้อยอยู่ตรงไหน
ถ้า ปชช.เข้มแข็งไม่ถูกชี้นำง่าย
“ในสภาพโลกาภิวัตน์ที่มีเสรี รวดเร็ว กว้างขวางของข้อมูลที่หลากหลายมาก ทั้งข้ามพรมแดน หรือหลั่งไหลในประเทศ ข้อมูลนี้มีทั้งข้อเท็จจริง ความเห็น คำวิจารณ์ หรือการบิดเบือนข้อมูลเพื่อประโยชน์ของบางกลุ่มบางพวก ปรากฏในสื่ออิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงระบบส่งข้อมูลข่าวสารผ่านอินเตอร์เน็ต โฟนอิน วีดิโอลิงก์ ทำให้มีความพยายามของคนบางกลุ่ม ทั้งในและนอกประเทศ ที่จะชักจูงให้คนคล้อยตามความคิดของตนด้วยหลายวิธีการ เช่น การตัดต่อเอาส่วนที่ตรงกับความต้องการของตนเองมาออก นอกจากนี้ การเสนอข้อมูลข่าวสาร ยังมีแบบตอกย้ำต่อเนื่อง ใช้ภาษาปลุกระดม ให้เหตุผลว่าเป็นสิทธิเสรีภาพการแสดง ออก การเคลื่อนไหวตามการชี้นำทำได้ ฉะนั้นการสร้างความเข้มแข้งจะทำให้ประชาชนแยกแยะข้อมูล เป็นตัวของตัวเองทางความคิดและการเคลื่อนไหวทางการเมือง ที่สอดคล้องกับระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ เป็นประมุข ตรงนี้จึงต้องเสริมสร้างวัฒนธรรมประชาธิปไตยอย่างเร่งด่วน ซึ่งไม่ใช่เรื่องแก้กฎหมาย หรือรัฐธรรมนูญ แต่เป็นเรื่องการศึกษา ปรับปรุงหลักสูตร การใช้สื่อ เพื่อให้เข้าใจถึงความสมดุล ซึ่งอยู่ที่สังคมร่วมกันกำหนด” นายสุจิตกล่าว
ลั่นต้องปรองดองบนความถูกต้อง
นายสุจิตกล่าวต่อว่า ถ้าประชาชนเข้มแข็งก็จะรู้ได้ด้วยตัวเองว่า ความสมดุลจะอยู่ตรงไหน จึงต้องพัฒนาประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม ไม่ให้อยู่ภายใต้ผู้นำที่ชักจูงไปทางใดก็ได้ และต้องเปิดให้ประชาชนมีช่องทางเรียกร้อง เปิดโอกาสให้ตัดสินใจทางการเมือง สร้างสำนึกคุณค่าพลเมืองที่ตนเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย การใช้สิทธิเสรีภาพ ไม่ใช่บนการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ของผู้นำ หรือเงินไม่มากาไม่เป็น ความขัดแย้งในขณะนี้ คงปล่อยให้วิกฤติยืดไปมากกว่านี้ไม่ได้ หลายคนมองถึงการสร้างความสมานฉันท์ คิดว่าทำได้ แต่ต้องตั้งอยู่บนรากฐานความถูกต้อง ไม่ใช่สร้างความปรองดองบนความไม่ถูกต้อง การปฏิรูปการเมืองเป็นเรื่องยากมาก แต่ปฏิวัติง่าย เพราะปฏิรูปการเมืองต้องอาศัยความรอมชอมจากทุกฝ่าย แต่ก็ต้องทำไม่เช่นนั้นจะติดวัฏจักรอันเลวร้ายแบบนี้ และขอให้ คนที่รักชาติบ้านเมืองช่วยกันขบคิดหาทางออกให้ประเทศ
ไม่เชื่อจะรุนแรงเท่า 6 ตุลาฯ
จากนั้น นายสุจิตให้สัมภาษณ์ว่า ไม่ได้อยู่สถาบันพระปกเกล้า เพียงแต่เป็นมติของสถาบันพระปกเกล้า ให้ทำหน้าที่ปฏิรูปการเมือง ก็รับปาก เพราะเห็นแก่ชาติบ้านเมือง ส่วนสถาบันจะมีการประชุมเพื่อทบทวนการตัดสินใจเรื่องนี้ก็เป็นเรื่องของสถาบัน ดังนั้นจะเดินหน้าต่อ ก็ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของสถาบัน คิดว่าคณะกรรมการอิสระปฏิรูปการเมืองจะสามารถเป็นทางออกให้กับบ้านเมืองในขณะนี้ได้ ถ้าทุกคนยอมรับฟังบ้าง เพราะความจริงก็ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความถูกต้อง และเชื่อว่าเหตุการณ์ขณะนี้ไม่น่าจะรุนแรง ซ้ำรอยกับ 6 ตุลา 2519 เพราะบริบทของเหตุการณ์ ก็ไม่น่าจะเหมือนกัน
ชี้ไม่มีระบบขุนนางมีแต่ ขรก.
เมื่อถามต่อว่า มองอย่างไรที่มีการนำคำว่าอำมาตยาธิปไตยมาใช้ นายสุจิตตอบว่า เป็นการใช้ผิดมาตลอด ความจริงแล้วคำว่า อำมาตยาธิปไตยแปลมาจากภาษาอังกฤษ ที่ว่า bureaucratic polity ที่มีอาจารย์ฝรั่งมาศึกษาการเมืองไทยในช่วงที่ทหารเป็นรัฐบาล สมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ และจอมพลถนอม กิตติขจร ว่าเมืองไทยปกครองโดยระบอบราชการเป็นใหญ่ จึงใช้คำนี้ แล้วนักวิชาการมาแปล แต่แปลว่าเป็นการเมืองระบบราชการ ก็จืดๆ จึงมีคนเสนอให้ใช้อำมาตยาธิปไตย หวือหวาดี แต่พวกประท้วงรุ่นหลังบอกว่า เป็นการเมืองของคนชั้นสูง ของขุนนาง มันไม่มีแล้วในสังคมไทย ยืนยันว่าไม่มีขุนนาง คำว่าอำมาตย์หมายถึงข้าราชการ
ยันไม่นิรโทษกรรมกับคนหนีคดี
เมื่อถามถึงรูปธรรมของการปรองดองของคนในสังคม นายสุจิตตอบว่า ต้องเป็นไปตามตัวบทกฎหมาย ส่วนที่จะให้นิรโทษกรรมและเอากฎหมายปรองดองแห่ง ชาติมาใช้นั้น ไม่รู้จะนิรโทษกรรมใคร ถ้าถูกลงโทษแล้วยังหลบหนีอยู่ สมควรที่จะให้นิรโทษกรรมหรือไม่ ในความรู้สึกของตน ทำไม่ได้ ส่วนความพยายามจะเสนอกฎหมายเพื่อการนิรโทษกรรม ขอถามว่ากฎหมายจะย้อนหลังได้อย่างไร เพราะถ้าทำอย่างนั้นก็เท่ากับว่ากระบวนการยุติธรรมที่ผ่านมาไม่ถูกต้อง การนิรโทษกรรมมักจะให้กับคนที่ไม่หลบหนี ดังนั้น ต้องไปถามคนที่เคลื่อนไหวว่าทำเพื่ออะไร กลุ่มดังกล่าวไม่ได้บอกว่าจะเคลื่อนไหวเพื่อปรองดอง

ข่าวส่งเสริมคนดี

จำนวนผู้เข้าเยี่มมชม

link to affordable web hosting
Powered by web hosting provider .

สถิติการเข้าชม DMNEWS

eXTReMe Tracker