ประวิตร โรจนพฤกษ์
ด่าเลย ประณามทักษิณ ชินวัตร ให้สาแก่ใจ !
โทษทักษิณไปเลยว่าโกงกิน ว่าปลุกปั่น หลอกใช้พวกเสื้อแดงจำนวนมากให้เสี่ยงชีวิตโดยการเผชิญหน้ากับรถถัง ทหารติดอาวุธ เสี่ยงคุกตะราง เพียงเพื่อจะให้ทักษิณได้คืนมาซึ่งอำนาจและเงินทอง โดยอ้างว่านี่คือการต่อสู้เพื่อ “ประชาธิปไตยที่แท้จริง” ถ้าผู้่้อ่านอยากด่าก็ด่าไป
แต่ถึงจะด่าประณามทักษิณว่าเป็นต้นเหตุของปัญหาการเมืองไทยทั้งหมดต่อไปอีกกี่วัน เราก็จะยังไม่เห็นภาพรวม (big picture) ของสถานการณ์เมษาเลือดและความขัดแย้งทางการเมืองที่ยังคงอยู่
ตัวต่อสำคัญที่จะทำให้ภาพรวมสมบูรณ์ขึ้นกลับถูกปฏิเสธโยนลงตะกร้า โดยสื่อไทยส่วนใหญ่่และรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จิ๊กซอว์ที่ว่าได้แก่ ทักษิณนั้นอีกแง่หนึ่งก็เป็นเสมือนกระจกสะท้อนให้เกิดความตระหนักทางการเมืองและทางชนชั้นของคนจนชนบท คนจนเมืองและชนชั้นกรรมาชีพ รวมถึงชั้นกลางระดับล่างที่้เป็นคนส่วนใหญ่ในกลุ่ม นปช.
ตั้งแต่เกิดเหตุการณ์รัฐประหาร ก.ย. 2549 เป็นต้นมา คนจนจำนวนมากที่มีการศึกษาในระบบน้อยกว่าชนชั้นกลางหรือชนชั้นสูงได้ตระหนักว่า หากคนที่เขาเลือกให้เป็นนายกฯ โดยผ่านการเลือกตั้งทางอ้อมโดยเสียงท่วมท้น (ไม่ว่าจะโกงกิน และเป็นเผด็จการในสายตาผู้อื่นหรือไม่ก็ตาม) สามารถถูกจัดการถีบออกจากอำนาจโดยรัฐประหารที่มีกลุ่มอภิสิทธิ์ชนเก่า รวมถึงชนชั้นกลางและสื่อไทยส่วนใหญ่สนับสนุนยอมรับได้อย่างง่ายดายแล้ว พวกเขาคงไม่มีหวังที่จะลืมตาอ้าปาก มีสิทธิมีเสียงทางการเมืองได้อย่างแท้จริง เพราะเมื่อใดชนชั้นกลางและชนชั้นนำและกลุ่มอำมาตย์ฯ ไม่เอาคนที่ึคนจนเลือก เขาก็สามารถจัดการได้อย่างแยบยล ถึงแม้จะผิดกฏหมายขัดรัฐธรรมนูญก็ตาม
ความหวังจึงอยู่ที่ว่าพวกเขาต้องลุกขึ้นต่อสู้เพื่อเรียกร้องสิทธิไม่ว่าจะเสี่ยงถูกปราบ ถูกขยี้
ความรู้สึกเก็บกด รู้สึกไร้ค่า และไร้ความเป็นธรรม สองมาตรฐาน ตลอดจนการเอารัดเอาเปรียบทางชนชั้น เป็นสิ่งที่สื่อกระแสหลักไทย มองไม่เห็นหรือปฏิเสธที่จะมองเห็นและยอมรับ สำหรับพวกเขาแล้ว ทักษิณนั้นเป็นเพียงมนุษย์ชั่วช้าและเป็นภัยเกินกว่าที่พวกเขาจะยอมรับได้ เพราะฉะนั้นเมื่อมีัคนเรือนแสนหลั่งไหลออกมาชุมนุมตามท้องถนน โดยใส่เสื้อสีแดงในวันที่ 8 เมษายน สื่อเหล่านั้นจึงสรุปว่า พวกเขาเป็นเพียงม็อบรับจ้าง เป็นประชาชนที่ไม่เข้าใจแม้กระทั่งว่า ประชาธิปไตยคืออะไร
แต่มีใครไหมที่จะรับจ้าง เสี่ยงชีวิตสู้กับรถถัง อาวุธสงครามและตะราง เพื่อเงินวันละ 500 บาท หรือแม้กระทั่ง 5,000 บาทก็ตาม โดยเฉพาะในวันสงกรานต์ ซึ่งเป็นวันสำคัญของคนจน คนต่างจังหวัด
แน่นอน บรรดากลุ่มคนที่ฆ่าชาวบ้านสองคน ณ ชุมชนนางเลิ้ง “คนเสื้อแดง” ที่แย่งรถขนก๊าซแอลพีจี จุดไฟและโจมตีมัสยิดซอยเพชรบุรี 7 หรือแม้กระทั่งจุดไฟเผารถเมล์ไปกว่า 20 คัน คนเหล่านี้สมควรต้องถูกนำมาดำเนินการทางกฏหมาย เพื่อชดใช้อาชญากรรมที่พวกเขาก่อ และผู้นำคนใดที่เรียกร้องให้มีการใช้ความรุนแรงเช่นนี้ย่อมต้องสมควรถูกดำเนินคดีืทางกฏหมาย
ผู้นำ นปช. อย่างนายจักรภพ เพ็ญแข และจตุพร พรหมพันธุ์ ย่อมสมควรละอายแก่ใจตนเองที่ไม่ยอมมอบตัว ขณะที่ผู้นำคนอื่นได้มอบตัวสู้คดีแล้ว แต่อย่างไรก็ตาม ก็ต้องถามต่อไปว่า แล้วเหตุการณ์รัฐประหาร 19 กันยายนล่ะ ความยุติธรรมอยู่ที่ไหนและการที่ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา จัดการช่วยหลังฉากให้รัฐบาล ‘อภิสิทธิ์’ แจ้งเกิดได้ โดยผ่านการพูดคุยกับนายเนวิน ชิดชอบ และสุเทพ เทือกสุบรรณล่ะ ความถูกต้องยุติธรรมอยู่ตรงไหน และนี่ยังไม่รวมถึงการปิดสนามบินของกลุ่มพันธมิตรฯ ที่ดูเหมือนมีการจัดการแบบสองมาตรฐานเมื่อเปรียบกับฝ่ายแดง แน่นอน ความผิดทั้งสองฝ่ายบวกกันแล้ว ย่อมไม่ได้ทำให้มีอะไรถูกต้องชอบธรรมขึ้น และดูเหมือนทั้งสองฝ่ายตกอยู่ในวังวนแห่งการทำผิดซ้ำซ้อน
อย่างไรก็ตาม เมื่อทักษิณได้ออกมากล่าวหาประธานองคมนตรี พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ซึ่งได้รับการแต่งตั้งจากในหลวง โดยกล่าวหาว่า พล.อ.เปรมอยู่เบื้องหลังรัฐประหาร 19 ก.ย. นั้น ข้อห้ามทางสังคมที่มิได้เขียนเป็นลายลักษณ์อักษรก็ได้พังทลายลง คลื่นความตระหนักทางชนชั้นได้ซัดเข้าฝั่งเหมือนสึนามิและการเมืองไทยได้เข้าสู่ยุคใหม่ ที่หลายคนไม่เคยคาดฝันมาก่อน ณ วันนี้ มันไม่สำคัญเท่าไหร่แล้วว่าสื่อไทยจะไม่สามารถหรือไม่ยอมพูดถึงความเชื่อและมุมมองของคนเสื้อแดงเหล่านี้ต่อวัง เพราะมีกฏหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ในเมื่อคนเสื้อแดงเหล่านี้พูดผ่านวิทยุ อินเทอร์เน็ต ทางทีวีที่เพิ่งถูกปิด พูดบนถนน ในโรงงาน บนแท็กซี่ และที่บ้าน อย่างชัดแจ้งและเปิดเผยมาเป็นเวลากว่า 3 ปีแล้ว
สื่อแดงกำลังถูกปราบ ดี-สเตชั่น ถูกตัดสัญญาณไปแล้ว วิทยุชุมชนอีกจำนวนมากถูกทำให้เงียบ และในขณะที่กำลังเขียนบทความนี้อยู่ เว็บไซต์อีก 66 เว็บไซต์ของฝ่ายแดงถูกบล็อค แต่เว็บใหม่ก็ผุดเขึ้นมาเกือบทันทีทันใดที่เว็บเก่าถูกบล็อค รัฐที่ทรงพลังไม่สามารถจะปิดหูปิดตาประชาชนอย่างถาวรได้อีกต่อไปแล้ว (ศุกร์ 17 เม.ย. นี้ก็ได้ข่าวว่า นิตยสารดิอิโคโนมิสท์ ก็ถูกเซ็นเซอร์ ไม่มีขายในเมืองไทยไปเฉยๆ เพราะเขียนเรื่องเกี่ยวกับวิกฤตการเมืองไทย แต่เท่าที่ผู้เขียนทราบ หลายคนก็ได้อ่านทางเว็บไปแล้ว ทั้งที่ยังไม่ข้ามวันที่นิตยสารออกวางตลาดในต่างประเทศ) และชนชั้นนำก็ไม่สามารถห้ามไม่ให้ไพร่ตั้งคำถามกับบรรดาอภิสิทธิ์ชนอีกต่อไป ดั่งที่เสื้อแดงคนหนึ่งได้กล่าวกับผู้เขียนหลังตัดสินใจยุติการชุมนุมวันที่ 14 ว่า “เราแพ้ แต่้พวกเขาไม่ไ้ด้ชนะใจเรา”
ข้อห้ามหรือ taboo การเซ็นเซอร์และทัศนคติดูถูกดูแคลนต่อคนจนเสื้อแดง สถานการณ์เหล่านี้เหมือนกับผู้ป่วยที่ถูกตะปูตอกฝังกลางหน้าผากเป็นแผลฉกรรจ์ปางตาย หากแต่หมอผู้วินิจฉัยซึ่งได้แก่สื่อไทย กลับทำได้หรือเลือกเพียงแต่จะพูดถึงเลือดรอบๆ ตะปู แผลบวมช้ำรอบๆ แต่ไม่ี่สามารถพูดถึงตะปูดอกนั้นได้
ข่าวลือเรื่องศพ ข่าวลือเรื่องแอบเผาศพ สิ่งเหล่านี้เป็นเครื่องยืนยันได้อย่างชัดเจนว่า คนเสื้อแดงได้สูญเสียความเชื่อมั่นต่อรัฐบา่ลและสื่อกระแสหลักส่วนใหญ่ไปอย่างสิ้นเชิง ณ วันนี้ เราจึงอยู่ในสภาวะที่รอคอยการปะทุลุกขึ้นมาอีกครั้งของคนยากคนจนเพื่อท้าทายอภิสิทธิ์ชนหรือที่กลุ่มแดงเรียกว่ากลุ่มอำมาตย์ฯ ไม่ว่า ทักษิณจะอยู่กับแดงต่อไปหรือไม่ก็ตาม ไม่ว่า ชนชั้นนำอยากให้คนเหล่านี้เป็นเพียงคนขับรถแท็กซี่ คนใช้ คนสวน คนล้างชาม คนงานโรงงาน หรือแม้กระทั่งคนให้บริการทางเพศ อย่างซื่อๆ เซื่องๆ ต่อไปหรือไม่ แต่เมล็ดพันธุ์แห่งความตระหนักทางชนชั้นและความตระหนักเรื่องการเอารัดเอาเปรียบทางชนชั้นได้ถูกปลูกจนเติบโตขึ้นมาแล้ว
ถึงแม้หลายคนมองว่า เหตุการณ์วันที่ 14 คือความพ่ายแพ้ของเสื้อแดง มันอาจเป็นเพียงการพ่ายแพ้ในสมรภูมิหนึ่ง ในสงครามอันยาวนานที่กำลังดำรงอยู่ และคงเป็นแค่บทโหมโรงเท่านั้นเอง
...............................
บทความโดยผู้เขียน ปรับปรุงจาก Resentment lingers among the poor over 2006 coup, The Nation, April 17, 2009