ทบทวนเหตุการณ์ พฤษภาทมิฬ เมื่อปี 2535 ไม่มีอะไรแตกต่างจากเหตุการณ์รุนแรงทางการเมืองที่กำลังเกิดขึ้นในขณะนี้ และเชื่อว่าจุดจบก็ไม่แตกต่างอะไรกันมากนัก
การออกมาขับไล่รัฐบาล พล.อ.สุจินดา คราประยูร โดยการนำของ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง ด้วยข้ออ้างที่ว่าเป็นรัฐบาลเผด็จการทหาร ใช้เวลาจุดชนวนสงครามกลางเมืองอยู่พักใหญ่
ก่อนจะนำไปสู่การนองเลือด
ไม่ว่าจะเป็นบทบาทของรัฐบาลของกองทัพและสื่อมวลชนก็อยู่ในแนวทางเดียวกันเหมือนจำลองภาพพฤษภาทมิฬเอามาไม่ผิดเพี้ยน เพียงแต่ว่าจุดยุทธศาสตร์ครั้งนั้น อยู่บริเวณถนนราชดำเนิน
จะสูญเสียชีวิตของคนไทยด้วยกันไปเท่าไหร่ จนบัดนี้ยังไม่ชัด มีการรำลึกถึงเหตุการณ์พฤษภาทมิฬกันอย่างเอาจริงเอาจัง มาบัดนี้ก็จางๆกันไป ผมจำได้ว่ามีการประกาศสัญญาประชาคมจากผู้อาวุโสในบ้านเมืองว่าจะไม่ให้มีเหตุการณ์ทำนองนี้เกิดขึ้นอีก จะต้องไม่มีเหตุการณ์ คนไทยฆ่ากันเองเกิดขึ้นอีก
ประชาธิปไตยจะต้องยั่งยืน
เชิดชูประชาธิปไตยกันคึกคักไปหมด เรียกว่า ทุกลมหายใจจะต้องเป็นประชาธิปไตย ก็ว่าได้ แม้แต่รัฐธรรมนูญยังเป็นรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน
จนมาถึงเมษายน 2552
ถือเป็นยุคที่มีการพัฒนาและวิวัฒนาการในทุกๆด้าน ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง เทคโนโลยีข่าวสารก้าวไกล เกินกว่าที่คาดกันเอาไว้ ความรู้การศึกษาเปิดกว้าง สามารถที่จะย่อโลกเอาไว้ ในมือได้อย่างง่ายดาย
ผมตื่นเช้า ขับรถวนไปวนมาทั่วกรุงเทพฯ หลังเกิดเหตุการณ์สลายการชุมนุมที่ บริเวณสามเหลี่ยมดินแดง ไม่เคยเห็นกรุงเทพฯโล่งอย่างนี้มาก่อนทั้งผู้คนและยวดยานพาหนะ
เหมือนเมืองร้าง
ภาพในอดีตตามมาหลอกหลอนและนึกเสียใจว่า อย่างน้อยประชาธิปไตยและความเจริญก้าวหน้าในบ้านเราห่างจากสงครามกลางเมืองครั้งสุดท้ายมา 17 ปีแล้ว ถ้าเป็นอายุคนก็ถือว่าบรรลุนิติภาวะ
แต่ประเทศไทยกลับยังไม่บรรลุนิติภาวะทางการเมืองเลยแม้แต่น้อย
สามารถย้อนยุคได้ถึงขนาดนี้ ความพัฒนาและความเจริญทางข้อมูลข่าวสาร ถูกนำมาเป็นอาวุธ ก็ยิ่งร้ายแรงเข้าไปอีก โดยเฉพาะข้อมูลข่าวสารที่เลือกข้างไปก่อนหน้านี้เรียบร้อยแล้ว
จึงยิ่งจะทำให้เกิดเชื้อปะทุทางการเมืองมากขึ้น
การใช้กำลังไม่ว่าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ว่าจะในอดีตหรือปัจจุบันไม่ใช่หนทางไปสู่การแก้ปัญหาได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด แต่ยิ่งจะเป็นการแบ่งแยก แตกแยก และขัดแย้งอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดไปฉิบ.
หมัดเหล็ก