ชูวัส ฤกษ์ศิริสุข
รัฐธรรมนูญไม่ใช่ทางออกแก้วิกฤติสังคมไทย นักวิชาการอาวุโสท่านหนึ่งบอกไว้อย่างนั้น แล้วท่านก็หันไปเน้นย้ำว่า การเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนต่างหากที่เป็นทางออก
หากตัดเอารายละเอียดออก ผมเห็นด้วย แต่ปัญหาคือ แล้วใครจะเป็นคนกำหนดล่ะว่า สังคมแบบไหนที่คนต้องการจริงๆ นักวิชาการอาวุโสท่านนี้ที่รู้ดีกว่าประชาชน หรือเป็นประชาชนเองที่จะกำหนดมันผ่านกติกาสูงสุดและข้อตกลงร่วมซึ่งก็คือรัฐธรรมนูญ
น่าเศร้าที่นักวิชาการเกือบทุกสำนักวิพากษ์การพัฒนาประเทศตลอด 50 ปีว่า ประชาชนไม่ได้ตัดสินใจอะไรเอง แต่เมื่อครั้นนักวิชาการและปัญญาชนเหล่านี้ยึดกุมอำนาจกำหนดนโยบายผ่านเครือข่ายอุปถัมภ์ระดับชนชั้นนำ เขาเลือกที่จะกำหนดนโยบายและเลือกให้ประชาชนว่า อะไรคือสิ่งที่สังคมควรจะเป็น ซ้ำรอยการพัฒนาตลอด 50 ปีที่กำหนดจากสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
กว่า 50 ปีทีเดียวที่รัฐพัฒนาประเทศโดยไม่สนใจการมีส่วนร่วมของประชาชน และรีดเอาทรัพยากรจากชนบทไปเพิ่มความมั่งคั่งให้กับคนเมือง ครั้นความมั่งคั่งกระจุกตัว ช่องว่างรายได้ห่างขึ้นๆ เมื่อบังเอิญรัฐบาลจากการเลือกตั้งได้ออกแบบนโยบาย แบ่งเอาความมั่งคั่งนั้นเจือจานคืนสังคมในรูปของนโยบายที่เอื้อต่อคนในชนบท โดยใช้เงินภาษี คนชั้นกลางและชั้นสูงในเมืองก็ไม่พอใจ และตัดตอนเอาว่า ภาษีนั้นมาจากตน โดยละเว้นที่จะพูดถึงที่มาของความมั่งคั่งซึ่งขูดรีดเอาจากชนบทมาเนิ่นนาน และแสดงออกความไม่พอใจนั้นโดยการต่อต้านนโยบายประชานิยมและรัฐบาลพรรคไทยรักไทย โดยกล่าวหาเอาว่า รัฐบาลไทยรักไทยใช้เงินภาษีอย่างไม่มีประสิทธิภาพ ฟุ่มเฟือย ฟุ้งเฟ้อ ไม่พอเพียง และไม่ได้ทำให้ชุมชนเข้มแข็งหรือพึ่งพาตัวเองได้แต่อย่างใด
จึงมีปัญหาต้องทำความเข้าใจเสียก่อนว่า นโยบายที่คิดขึ้นโดยพรรคไทยรักไทยนั้น ที่สุดได้กลายเป็นของประชาชนหรือไม่ ก่อนที่จะที่จะวิพากษ์ว่านโยบายนั้นดีหรือไม่ดีอย่างไร
ไม่ต้องสงสัยเลยว่า นโยบายของพรรคไทยรักไทยนั้นเมื่อผ่านกระบวนการเลือกตั้งครั้งแล้วครั้งเล่า มันได้พิสูจน์ตัวมันเองว่า เป็นที่ต้องการของประชาชนเพียงใด 19 ล้านเสียง 16 ล้านเสียงในการเลือกตั้งแต่ละครั้งส่งนัยถึงความต้องการทางนโยบายของประชาชน ไม่เพียงเท่านั้นเมื่อรัฐบาลพรรคไทยรักไทยมีอันต้องล้มไป แต่ความต้องการในนโยบายนั้นก็ยังอยู่ ผ่านการยืนยันโดยการเคลื่อนไหวของคนเสื้อแดง ยังอยู่แม้กระทั่งไม่ว่ารัฐบาลไหนๆ ก็ต้องดำเนินนโยบายเหล่านั้นต่อไปโดยมิอาจฝืนเจตจำนงของประชาชนส่วนใหญ่ได้
จะดีจะชั่ว เขากำหนดนโยบายของเขาเอง เขาเลือกที่จะมีสังคมในแบบที่เขากำหนดได้เอง เพราะประเทศชาติเป็นของเขาเหมือนๆ กับที่เป็นของเรา เหมือนๆ กับที่เป็นของนักวิชาการอาวุโสท่านนั้น “เท่าๆ กัน”
แน่นอน สิ่งเหล่านี้ย่อมรวมไปถึง การเมืองของเขาเอง ผู้นำในแบบของเขาเอง
นโยบายเหล่านี้ หรือการกำหนดเลือกการเมืองของเขา หรือผู้นำของเขาเอง จะดีจะชั่ว ณ ปัจจุบัน ยังไม่เคยได้รับการพิสูจน์ แต่มันเกินพอแล้วสำหรับการยืนยันความล้มเหลว จากการมีผู้ใหญ่รู้ดีมากำหนดชะตากรรมของบ้านเมือง
และอะไรมันจะเป็นเครื่องประกันว่าเขาจะกำหนดมันได้เอง หากไม่ใช่รัฐธรรมนูญ
ที่จริงใจกลางของวิกฤติการณ์การเมืองที่เกิดขึ้นล้วนแล้วแต่พัวพันกับรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะรัฐธรรมนูญ 2540 ที่สังคมไทยเปิดให้เขาเขียนให้เขามีส่วนร่วมกระทั่งให้เขาทำคลอดมันออกมา น่าเชื่อด้วยว่า เขาไม่ได้รักทักษิณ ชินวัตร มากไปกว่ารัฐธรรมนูญ 2540 เพราะทักษิณ ไม่อาจจะบันดาลนโยบายใดๆ ให้เขาได้ หากปราศจากซึ่งรัฐธรรมนูญ 2540
กล่าวอีกอย่างก็คือ เขาไม่ได้ต้องการทักษิณ ในฐานะผู้นำเดี่ยว หรือฮีโร่ขี่ม้าขาวที่มาเฉพาะกิจเฉพาะกาล แต่เขาต้องการรัฐธรรมนูญ 2540 ที่จะทำให้เกิด ‘คนแบบทักษิณ’ ในทุกครั้งและทุกกาลต่างหาก
3 ปีที่ผ่านมา สังคมไทยเปลี่ยนไปมากแล้ว ‘คนแบบทักษิณ’ ที่จะอุบัติขึ้นใน พ.ศ.2552 ย่อมไม่มีวันเป็น ทักษิณ ชินวัตรก่อน พ.ศ.2549 ที่สร้างให้สังคมไทยสงสัยเรื่องความฉ้อฉลหรือการละเมิดสิทธิมนุษยชน
ต่อให้ทักษิณ ได้เกิดใหม่ทางการเมือง หากเราเชื่อในระบบและการมีส่วนร่วม ก็ไม่มีวันที่สื่อและภาคประชาชนจะยอมให้ทักษิณเป็นแบบทักษิณในวันนั้น
กล่าวอีกอย่างก็อาจจะได้ว่า มีบางอย่างที่ไม่บรรจุอยู่ในรัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษรช่วยควบคุมและลบจุดอ่อนเรื่องการตรวจสอบในรัฐธรรมนูญ 2540 แล้ว วัฒนธรรมทางการเมืองในการใช้รัฐธรรมนูญ 2540 ในปี พ.ศ.นี้ จึงคนละเรื่องกับก่อนปี 2549 อย่างไม่ต้องสงสัย
นำรัฐธรรมนูญ 2540 กลับมา เปิดให้เขาหรือเราเจ้าของประเทศได้กำหนดที่จะมีชีวิตในแบบที่เขาหรือเราเลือกได้เอง ขณะเดียวกันก็ส่งเสริมให้องค์กรในแบบพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยและภาคประชาชนทำหน้าที่คอยตรวจสอบอย่างเข้มแข็ง และยกระดับให้มีเหตุผลขึ้น ทำให้มีคนแบบทักษิณที่เก่งและดีด้วย
มีแต่รัฐธรรมนูญ 2540 ที่จะทำให้ที่อยู่ที่ยืนของพันธมิตรฯและองค์กรภาคพลเมืองมีความหมาย ไม่เช่นนั้นก็เป็นได้แค่เครื่องมือในเครือข่ายอุปถัมภ์ของอำนาจรัฐ ที่คอยกำหนดกดหัวประชาชนว่าควรจะไปทางไหน
บ้านเมืองไม่โตและไปไม่ถึงไหน เพราะผู้ใหญ่รู้ดี ไม่รู้จักละวาง ไม่ใช่หรือ