สมพร จันทรชัย
เผยแพร่ครั้งแรกในจุลสาร”ไฟลามทุ่ง” ฉบับที่ 1/2552 มกราคม-มีนาคม 2552
เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ.2551 ที่ผ่านมา คุณธง แจ่มศรี ในนามส่วนตัวของเลขาธิการใหญ่ของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ได้ออกแถลงการณ์ โอกาสครบรอบ 66 ปีแห่งการก่อตั้งพรรคฯ โดยเผยแพร่ผ่านสื่อประชาไท หนังสือพิมพ์ออนไลน์
ซึ่งคำแถลงนี้อาจจะนับได้ว่าเป็นแถลงการณ์ของเลขาธิการพรรคฯ ที่เป็นทางการครั้งแรกนับตั้งแต่สมัชชา 4 เป็นต้นมา แถลงการณ์ดังกล่าวนี้ได้ตอบคำถามอันคั่งค้างอยู่หลายประการ และยังเป็นการช่วยอภิปรายและชี้นำทิศทางทางการเมืองอันถูกต้องในสถานการณ์ปัจจุบันอีกด้วย แถลงการณ์ฉบับนี้จึงถือเป็นเอกสารสำคัญที่น่าจะต้องนำมาศึกษาวิเคราะห์ เพื่อจะช่วยทำความเข้าใจสถานการณ์ปัจจุบันให้ชัดเจนขึ้น ซึ่งในบทความนี้จะขออภิปรายเรื่องราวของแถลงการณ์ดังกล่าว โดยตั้งประเด็นต่อไปนี้
1.สถานะของพรรคคอมมิวนิสต์ไทยจนถึง พ.ศ. 2549
นับแต่มีการเปิดประชุม สมัชชาพรรคครั้งที่ 4 ราวเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2525 เป็นต้นมา อาจอธิบายได้ว่า พรรคคอมมิวนิสต์ไทยอยู่ภายใต้สภาพแห่งการถดถอย ตกต่ำและแตกสลาย กองกำลังอาวุธปฏิวัติที่เคยมีอยู่กระจัดกระจายในเขตงานต่างๆ ทั่วประเทศก็ยุบเลิก วางอาวุธ หรือบางส่วนก็ยอมจำนนต่อฝ่ายรัฐบาล องค์กรปฏิวัติทั้งในเมืองและในชนบทต่างก็เสื่อมสภาพ สลายตัว การประชุมคณะกรรมการกลางพรรคฯสมัยแรก หลังจากการประชุมสมัชชาในเดือน มิถุนายน พ.ศ. 2525 และการประชุมคณะกรรมการกลางเต็มคณะครั้งที่ 2 ใน พ.ศ.2526 ก็ไม่อาจยับยั้งการเสื่อมถอยล่มสลายนี้ได้
และหลังจากนั้นคณะกรรมการกลางพรรคฯ ก็ไม่ได้มีการประชุมกันอย่างเป็นทางการอีกเลย เพราะคณะกรรมการกลางพรรคฯ ถูกจับกุมครั้งใหญ่ 2 ระลอก ครั้งแรกในเดือนกรกฎาคม พ.ศ.2527 และต่อมาในเดือนเมษายน พ.ศ. 2530 ซึ่งในครั้งหลังนี้ คณะกรรมการกลางและกรมการเมืองถูกจับกุมเกือบหมดคณะในขณะเตรียมการประชุมขยายวงที่หาดบางแสน ชลบุรี ผลของการถูกจับครั้งนี้ทำให้การเคลื่อนไหวของพรรคฯ ปิดฉากลง สำหรับ คุณ ธง แจ่มศรี ในฐานะเลขาธิการพรรคฯ ที่ได้รับเลือกจากที่ประชุมสมัชชาครั้งที่ 4 ไม่ได้ถูกจับกุมตัวและยังคงหลบในเขตป่าเขาที่เหลืออยู่ในแถบจังหวัดเพชรบุรี แม้ว่าจะมีการตั้งองค์กรนำชั่วคราวขึ้นมารับผิดชอบงาน แต่ พรรคฯ ก็อยู่ในฐานะที่แทบจะไม่สามารถจะแสดงบทบาทได้ตั้งแต่นั้นมา จนกระทั่งคุณธง แจ่มศรี ต้องออกจากป่าเขามาใช้ชีวิตที่ปกติในสังคมตั้งแต่ พ.ศ.2533 เป็นต้นมา แต่สภาพทางการเมืองที่พรรคคอมมิวนิสต์ยังถือเป็น พรรคผิดกฎหมาย คุณธง ก็ยังคงต้องอยู่อย่างปิดลับและติดต่อพบปะกับผู้คนได้ในวงจำกัด
ในสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป คณะกรรมการกลางเต็มคณะที่ได้รับเลือกจากสมัชชาพรรคฯ ครั้งที่ 4 จำนวน 35 คน ถึงแก่กรรมไปบ้าง บางส่วนจำนนต่อศัตรู ยุติบทบาทลงบ้างหรือปลีกออกไปใช้ชีวิตปกติบ้าง ส่วนที่ยังคงเคลื่อนไหวมีบทบาทการเมืองนั้นมีอยู่ไม่กี่คน ในสภาพเช่นนั้น คุณธง แจ่มศรี ในฐานะ เลขาธิการใหญ่ก็ได้จัดตั้ง องค์กรนำเฉพาะกิจขึ้นบริหารงานเป็นการชั่วคราว โดยเลือกกรรมการที่ยังพอทำงานร่วมกันได้เป็นหลัก
แต่ในภาวะเช่นนี้ปัญหาในด้านการนำและปัญหาคั่งค้างอื่นๆ ยังมีอยู่มากมายดังที่ คุณธง แจ่มศรี ได้อธิบายให้เห็นอย่างชัดเจนว่า ด้วยเหตุปัจจัยทั้งในด้านภววิสัยและ อัตวิสัยจึงทำให้เกิดการดำเนินการของพรรคฯ เป็นไปอย่างยากลำบาก
ในด้านภววิสัย ไม่มีสถานการณ์ปฏิวัติดำรงอยู่เลย ในเงื่อนไขที่การเมืองในระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภายังดำเนินไปด้วยดีตั้งแต่หลังกรณีพฤษภาประชาธรรม พ.ศ. 2535
ในด้านอัตวิสัยของพรรคคือ ความแตกแยก แตกต่างทางความคิดและไม่ยอมรับซึ่งกันและกันจนยากที่จะประสานกันได้ในส่วนอดีตกรรมการและผู้ปฏิบัติงานจึงแยกกันเป็นกลุ่มๆ แม้จะมีการเลิกพระราชบัญญัติคอมมิวนิสต์ตั้งแต่ พ.ศ. 2544 การเรียกประชุมอย่างเป็นทางการก็ไม่อาจเกิดขึ้นได้ การดำเนินการของพรรคคอมมิวนิสต์จึงต้องปรับตัวไปตามสภาพไม่มีการเคลื่อนไหวที่จะสร้างสะเทือนทางการเมืองแต่อย่างใด
2.วิกฤตการณ์ทักษิณ และความขัดแย้งทางสังคมไทย
เหตุการณ์ดำเนินไปเช่นนั้นจนถึงเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2549 เป็นต้นมาได้เกิดกรณีที่เรียกว่า วิกฤตการณ์ทักษิณ นั่นคือเกิดการเคลื่อนไหวของกลุ่มมวลชนที่เป็นกระบวนการทางสังคมเพื่อต่อต้านรัฐบาลไทยรักไทย ของ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร สถานการณ์ขยายตัวลุกลามอย่างรวดเร็วเมื่อเกิดการจัดตั้งกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย นำโดย สนธิ ลิ้มทองกุล ผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ และ จำลอง ศรีเมือง แห่งขบวนการสันติอโศก
ขบวนการต่อต้านรัฐบาลทักษิณนี้มีนักคิดนักวิชาการจำนวนมากสนับสนุน รวมทั้งมีผู้ปฏิบัติงานองค์กรพัฒนาเอกชนจำนวนมากเข้าร่วมผนึกกำลังด้วย ในกลุ่มแกนนำพันธมิตรฯ 3 คน ก็มาจากขบวนการภาคประชาชน อันได้แก่ พิภพ ธงชัย จากมูลนิธิหมู่บ้านเด็ก สมศักดิ์ โกศัยสุข ผู้นำสหภาพแรงงานรถไฟ และ สมเกียรติ พงศ์ไพบูลย์ จากองค์กรพัฒนาเอกชนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
นอกจากนั้นยังปรากฏว่าขบวนการเคลื่อนไหวครั้งนี้มีกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์ อดีตผู้ปฏิบัติงาน และแม้กระทั่งคนเดือนตุลาจำนวนมากเข้าร่วมสนับสนุน ก่อให้เกิดความสามัคคี ผนึกกำลังต่อต้านทักษิณอย่างกว้างขวาง
สาเหตุความขัดแย้งและวิกฤตการณ์ทางการเมืองนี้ เป็นที่อธิบายกันได้หลายลักษณะ ในความเห็นของกลุ่มพันธมิตรฯ ปัญหาเริ่มต้นจากการทุจริตฉ้อฉลของ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร จนทำให้ประเทศเสียหาย จึงได้เรียกร้องให้กู้ชาติ หรือ “เอาประเทศไทยคืนมา” เพื่อนำประเทศให้พ้นจากอำนาจของทักษิณ แต่ถ้าหากพิจารณาให้กว้างขึ้นตามหลักทฤษฎีที่ คุณ ธง แจ่มศรี อธิบายปัญหานั้นมาจากความขัดแย้งระหว่างกลุ่มทุนผูกขาด 2 กลุ่มคือ กลุ่มทุนเก่า หรือทุนอำมาตยาธิปไตยฝ่ายหนึ่ง และกลุ่มทุนใหม่ที่แวดล้อมรัฐบาลทักษิณเป็นอีกกลุ่มหนึ่ง ในลักษณะเช่นนี้การเคลื่อนไหวของกลุ่มพันธมิตรจึงเป็นไปตามทิศทางของฝ่ายทุนศักดินา
การนำกลุ่มของพันธมิตรได้ก่อให้เกิดปัญหาตั้งแต่แรก กล่าวคือในเดือนมีนาคม พ.ศ.2549 แกนนำกลุ่มพันธมิตรก็เสนอข้อเรียกร้องให้ใช้มาตรา 7 ในรัฐธรรมนูญ เพื่อกราบบังคมทูลให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ พระราชทานรัฐบาลชุดใหม่มาแทนรัฐบาลในขณะนั้น แต่เมื่อข้อเรียกร้องนี้ไม่บรรลุ ก็ได้มีการเคลื่อนไหวเพื่อให้กองทัพก่อการรัฐประหาร ทำให้พลังฝ่ายก้าวหน้าบางส่วนเริ่มถอนตัว จากการร่วมสนับสนุนกลุ่มพันธมิตร
แต่กระนั้นการเคลื่อนไหวสร้างกระแสผลักดันของกลุ่มพันธมิตรก็เปิดทางให้กลุ่มนายทหารที่นำโดย พลเอก สนธิ บุณยรัตกลิน ผู้บัญชาการทหารบกในขณะนั้น ก่อการรัฐประหารทำลายระบอบประชาธิปไตยเมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ.2549 และในวันที่ 20กันยายน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็มีพระราชโองการแต่งตั้ง พล.อ.สนธิ บุณยรัตกลิน เป็นหัวหน้าการปฏิรูปการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข อย่างเป็นทางการ
หลังจากนั้นบ้านเมืองไทยก็เข้าสู่ยุคเผด็จการ คณะทหารที่ยึดอำนาจได้มีการประกาศกฎอัยการศึก ล้มล้างรัฐธรรมนูนฉบับประชาธิปไตย โดยได้ออกประกาศ คณะปฏิรูป ให้รัฐธรรมนูนฉบับ พ.ศ.2540 สิ้นสุดลง ให้วุฒิสภา สภาผู้แทน คณะรัฐมนตรี และศาลรัฐธรรมนูนสิ้นสุดลง ให้ปลัดกระทรวงรักษาการแทนรัฐมนตรี จากนั้นคณะปฏิรูปได้ใช้เวลาบริหารประเทศ 10 วันจึงประกาศใช้ธรรมนูนฉบับชั่วคราวมาปกครองราชย์อาณาจักร ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูนที่มี 39 มาตรา ในวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2549 และได้ตั้งให้ พล.อ.สุรยุทธ จุลานนท์ องคมนตรีเป็นนายกรัฐมนตรีรักษาการ ต่อมาคณะรัฐประหารได้ก่อตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญเพื่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ขึ้นใช้
การก่อการรัฐประหารสถาปนารัฐเผด็จการ ได้นำมาซึ่งการต่อต้านจากฝ่ายประชาชนโดยทันที มีการตั้งกลุ่มต่างๆ ที่เรียกว่า กลุ่ม 19 กันยา กลุ่มคนวันเสาร์ไม่เอาเผด็จการ สมาพันธ์ประชาธิปไตย กลุ่มพลเมืองภิวัตน์และกลุ่มอื่นๆ เพื่อต่อต้านรัฐประหาร ซึ่งในกลุ่มต้านรัฐประหารก็มีคนเดือนตุลาจำนวนหนึ่งเข้าร่วมด้วย ต่อมากลุ่มต้านรัฐประหาร 12 กลุ่มได้รวมตัวกันเป็นแนวร่วมต่อต้านรัฐประหาร เคลื่อนไหวชุมนุมต่อต้านเผด็จการที่ท้องสนามหลวงทุกวันหยุดสุดสัปดาห์
ในอีกด้านหนึ่ง ชนชั้นปกครองกลุ่มทุนเก่าก็ยังเดินหน้าทำลายล้างฝ่ายตรงข้าม ดังจะเห็นได้จากการสนับสนุนให้คณะตุลาการรัฐธรรมนูญออกประกาศยุบพรรคไทยรักไทย และตัดสิทธิทางการเมืองของนักการเมืองที่เกี่ยวข้องอีก 111 คนย้อนหลังและลงโทษแบบเหมารวมซึ่งเป็นการละเมิดหลักนิติศาสตร์สากลของคณะตุลาการอย่างชัดเจน นอกจากนี้ยังให้สภาร่างรัฐธรรมนูนเดินหน้าร่างรัฐธรรมนูญฉบับอำมาตยาธิปไตย ออกมาใช้ แล้วสร้างความชอบทำด้วยการให้ประชาชนลงมติรับรองในเดือนสิงหาคม พ.ศ.2550 แม้รัฐบาลยังเป็นฝ่ายชนะ โดยเสียงประชาชนรับรองรัฐธรรมนูนฉบับนี้ด้วยเสียง 16 ล้านเสียง แต่การลงประชามติในหลายพื้นที่ของประเทศกว่า 35 จังหวัด ประชากรรวม 25 ล้านคน ยังอยู่ภายใต้กฎอัยการศึก
อนึ่ง หลังการยุบพรรคไทยรักไทย กลุ่มพี-ทีวี และกลุ่มทางการเมืองต่างๆได้รวมตัวกันเป็นกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการ หรือ นปก. เมื่อปลายเดือน พฤษภาคม พ.ศ. 2550 จากนั้น นปก. ก็ชุมนุมยืดเยื้อที่สนามหลวง ถึง 60 วัน ก่อนที่บุกไปล้อมบ้านของ พล อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประทางองคมนตรีผู้สนับสนุนการรัฐประหาร
การดำเนินการเหล่านี้ กลุ่มอำมาตยาธิปไตยหวังว่าการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในวันที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2550 พวกเขาจะประสบชัยชนะ สามารถคุมเสียงข้างมากในสภาได้ แต่ปรากฏว่า พรรคที่ได้เสียงข้างมากในสภา กลายเป็นพรรคพลังประชาชน ซึ่งเป็นพรรคสืบเนื่องมาจาก พรรคไทยรักไทย นายสมัคร สุนทรเวช หัวหน้าพรรค จึงได้ตั้งรัฐบาลผสมขึ้นมาบริหารประเทศ ซึ่งสร้างความไม่พอใจให้แก่กลุ่มทุนอำมาตยาธิปไตยอย่างมาก จึงได้หาทางทำลายรัฐบาลพลังประชาชนทุกวิถีทาง ตั้งแต่ฟื้นฟูกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยมาเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาล สนับสนุนสื่อกระแสหลัก นักสิทธิมนุษยชน นักวิชาการฝ่ายขวาและผู้ปฏิบัติงาน เอ็นจีโอ ฝ่ายขวา ให้ออกมาต่อต้านรัฐบาลพลังประชาชน สร้างกระแสบิดเบือนทำให้ประชาชนเกิดความสับสน และใช้กลไกศาลเป็นเครื่องมือในการแทรกแซงทาการเมืองและดำเนินการให้บรรลุเป้าหมายของตน
โดยเฉพาะกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยที่นำโดย สนธิ ลิ้มทองกุล แห่งกลุ่มหนังสือพิมพ์ผู้จัดการนั่น ได้แปลสภาพองค์กรก่อกวนของมวลชนฝ่ายขวาที่ใช้สีเหลืองเป็นสัญลักษณ์ ชูคำขวัญเทิดทูนพระมหากษัตริย์ แล้วใส่ร้ายป้ายสีผู้มีความเห็นต่างด้วยข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพแล้วใช้วิธีการเคลื่อนไหวนำมวลชนแบบสุ่มเสี่ยง ติดอาวุธมวลชนแล้วนำไปปะทะกับตำรวจ ทำให้เกิดการบาดเจ็บล้มตาย ที่สำคัญคือการนำมวลชนไปยึดทำเนียบรัฐบาล ยึดสนามบินนานาชาติ สร้างความเสียหายแก่ชาติบ้านเมืองเหลือคณานับ
แม้กระนั้น กลุ่มพันธมิตรฯ ก็ยังโค่นรัฐบาลพลังประชาชนไม่สำเร็จ ต้องให้ฝ่ายอำมาตยาธิปไตยสั่งการให้ใช้กระบวนการถอดถอนโดยอำนาจตุลาการ สมัคร สุนทรเวช จึงออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ด้วยข้อหารับจ้างทำกับข้าวออกโทรทัศน์ ซึ่งเป็นความผิดที่ไม่มีกฎหมายเอาผิดได้ คณะตุลาการจึงใช้พจนานุกรมมาเอาผิดแทน และต่อมาฝ่ายอำมาตยาธิปไตยก็ใช้อำนาจองค์กรอิสระและศาลยุบพรรคพลังประชาชน เพื่อให้รัฐบาลประชาธิปไตยของสมชาย วงศ์สวัสดิ์สิ้นสภาพ และอาศัยการย้ายพรรคของกลุ่มเนวินเป็นเงื่อนไข เปิดทางให้พรรคประชาธิปัตย์มาตั้งรัฐบาลแทน ทำให้อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีในวันที่ 17 ธันวาคม พ.ศ.2551
3. ปัญหาอันนำมาสู่การแถลงการณ์
ปัญหาสำคัญที่ทำให้ คุณธง แจ่มศรี ต้องออกแถลงการณ์ 1 ธันวาคม ครั้งนี้นั้น เนื่องมาจากว่า แม้ว่าทิศทางการเคลื่อนไหวของกลุ่มอำมาตยาธิปไตย และกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย จะมีลักษณะเป็นกระบวนการฝ่ายขวา เชิดชูศักดินาอย่างชัดเจน ก็ยังมีอดีตผู้ปฏิบัติงานจำนวนไม่น้อยเข้าร่วมขบวน และยังเสนอในลักษณะที่ว่า การร่วมขบวนกับกลุ่มพันธมิตรฯ นั้นเป็นสิ่งที่ถูกต้อง เป็นแนวทางของพรรคฯ
คุณธงจึงต้องใช้ฐานะในทางส่วนตัวอธิบายให้เห็นว่า ภาวะขององค์กรนำของพรรคฯ ในปัจจุบันนั้น “เหลือแต่ชื่อ แต่ในทางความเป็นจริงไม่ได้ดำรงสภาพนี้อยู่อีกต่อไปแล้ว” และอธิบายต่อไปว่า “ดังที่ทราบกันดี นับแต่การประชุมคณะกรรมการบริหารกลางเต็มคณะสมัยที่ 2 ชุดที่ 4 ในปี พ.ศ.2526 เป็นต้นมา เนื่องด้วยเหตุปัจจัยทั้งภววิสัย และ อัตวิสัย โดยเฉพาะเหตุปัจจัยทางอัตวิสัย คณะกรรมการบริหารกลางชุดนี้ก็ไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะองค์กรนำสูงสุดของพรรคมาจนบัดนี้ เท่ากับได้สูญเสียบทบาทขององค์กรนำไปแล้วโดยสิ้นเชิง” ซึ่งเป็นการประกาศให้ทราบโดยทั่วกันว่า องค์กรนำของพรรคฯ ทุกระดับชั้นนั้น มิได้ดำรงอยู่แล้วในทางปฏิบัติ ที่ยังอยู่นั้นคือพรรคฯ และสถานภาพสมาชิกพรรคฯ มิได้ยุบพรรคฯ และมิได้ยุบสมาชิกพรรคฯ ดังนั้น สมาชิกพรรคฯ ทุกคนจึงอยู่ในระดับเท่าเทียมกันทั้งหมดโดยไม่สามารถกล่าวอ้างระดับการนำอย่างเดิมได้อีก ไม่ว่าคณะกรรมการ กรมการเมือง คณะกรรมการบริหารกลาง คณะกรรมการระดับจังหวัด ระดับอำเภอ ฯลฯ เหตุเพราะไม่ได้ทำงาน ประชุมร่วมกัน มีมติหรือการชี้นำใดๆ เป็นเวลาเกินกว่า 10 ปี ตามที่กำหนดไว้ในระเบียบการพรรคฯ มานานแล้ว เมื่อองค์การจัดตั้งชั้นบนสุดไม่ได้เคลื่อนไหวมานาน องค์การจัดตั้งในระดับรองๆ ลงมาก็ไม่ได้เคลื่อนไหวมานานแล้วเช่นเดียวกัน ในที่สุดจึง “เท่ากับได้สูญเสียบทบาทขององค์การนำไปแล้วโดยสิ้นเชิง” ดังที่ได้แถลงไว้ข้างต้น ทั้งนี้ จนกว่าจะดำเนินการเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น
แต่กระนั้นคุณธงก็เสนอว่า ในสถานการณ์ความขัดแย้งเช่นนี้ ประชาชนควรมีท่าทีบางประการ ต่อสถานการณ์ ไม่ใช่งอมืองอเท้าไปเรื่อยๆ โดยไม่ทำอะไรเลย แต่จะต้องกระทำภาระหน้าที่คือ “จะต้องยืนหยัดต่อสู้ คัดค้านการทำรัฐประหารทุกรูปแบบ คัดค้านการใช้อำนาจนอกรัฐธรรมนูญ” และ “สนับสนุนการพัฒนาระบอบประชาธิปไตยที่อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทยให้เข้มแข็งสมบูรณ์ เพื่อนำไปสู่ประชาธิปไตยของประชาชนอย่างแท้จริง”
ข้อเสนอของคุณธง แจ่มศรี จึงมุ่งจะชี้ให้เห็นว่า การที่อดีตกรรมการและผู้ปฏิบัติงานพรรคจำนวนหนึ่งแสดงการสนับสนุนกลุ่มพันธมิตรฯ การรัฐประหาร และเชิดชูเสื้อเหลืองนั้น ไม่ใช่ท่าทีที่เป็นทางการของพรรคฯ และยังเป็นท่าทีที่คุณธง ไม่เห็นด้วย เพราะเป็นการทำลายหลักการของประชาธิปไตย และสนับสนุนอำนาจนอกระบบ เช่น กองทัพ และตุลาการ ซึ่งเป็นกลไกสองด้านของอำมาตยาธิปไตย และเป็นกลไกที่ไม่ผ่านการเลือกตั้ง ไม่เคยยึดโยงอำนาจประชาชน
ดังนั้น ในความขัดแย้งนี้ กลุ่มอำมาตยาธิปไตยเป็นด้านหลักที่ควบคุมกลไกรัฐไว้ได้ทั้งกองทัพ ศาล องค์กรอิสระ ฯลฯ พวกเขาสนับสนุนกลุ่มมวลชนเสื้อเหลืองให้ก่อการชุมนุมละเมิดกฎหมายบ้านเมือง สร้างความเสียหายอย่างใหญ่หลวง โดยเฉพาะในทางการเมือง และเศรษฐกิจ และที่สำคัญคือกลุ่มอำมาตยาธิปไตยนั้นมิได้มีจิตใจเป็นประชาธิปไตย ไม่สนใจทั้งเนื้อหาและรูปแบบของประชาธิปไตย ไม่เคารพกติกาที่พวกเขาร่างเอง ไม่เคารพเสียงข้างมากจากการหย่อนบัตรเลือกตั้งของประชาชน พวกเขาสนับสนุนการรัฐประหาร ล้มล้างรัฐธรรมนูญ ส่งเสริมระบอบแต่งตั้งสรรหามาแทนที่การเลือกตั้ง และท้ายสุดคือการใช้อำนาจนอกระบบสนับสนุนให้พรรคการเมืองเสียงข้างน้อยเป็นแกนจัดตั้งรัฐบาลตามอำเภอใจ กลุ่มอำมาตยาธิปไตยที่มีอิทธิพลเหนือรัฐจึงเป็นศัตรูหลักของประชาชน เป็นพลังที่ไม่อาจสามัคคีได้ ไม่ว่าในเงื่อนไขใด
ทิศทางของประวัติศาสตร์โลกได้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า ระบอบศักดินาจะต้องล่มสลาย และถูกแทนที่ด้วยระบอบทุนนิยม พลังของกลุ่มอนุรักษ์นิยมชนะได้เพียงชั่วคราวเท่านั้น พลังของฝ่ายประชาชนจึงไม่มีหน้าที่ที่จะต้องไปปกป้องหรือร่วมมือกับฝ่ายอำมาตยาธิปไตย แต่ต้องกระทำภาระหน้าที่เฉพาะหน้าของเราให้ดี
ดังที่คุณธงได้เสนอไว้ คือ “รับรู้ต่อกฎภววิสัยแห่งการพัฒนาเปลี่ยนแปลงของสังคม” และ “ยิ่งเรียกร้องให้เราต้องพิจารณาถึงความเป็นจริงที่ดำรงอยู่ ซึ่งก็คือต้องคำนึงถึงจุดอ่อนจุดแข็งของชนชั้นปกครอง และฝ่ายประชาชนเรา จากนี้ ไปกำหนดขั้นตอนยุทธศาสตร์ ยุทธวิธีในการเปลี่ยนแปลงสังคมให้ก้าวไปข้างหน้าอย่างมีจังหวะก้าว และสอดคล้องกับความเป็นจริงทางภววิสัย นี่คือทิศทางใหญ่ที่จะต้องเป็นไป”
หมายเหตุ
1.บทความชิ้นนี้ตีพิมพ์ครั้งแรกในจุลสาร”ไฟลามทุ่ง” ฉบับที่ 1/2552 มกราคม-มีนาคม 2552
2.อ่านถ้อยแถลงวันก่อตั้งพรรคครบรอบ 66 ปีของธง แจ่มศรี ได้ที่ ถ้อยแถลง ‘ธง แจ่มศรี’ เนื่องในโอกาสวันก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์ฯไทยครบรอบ 66 ปี, ประชาไท, 1 ธ.ค. 51