บล็อคข่าวส่งเสริมคนดี (รักดีหามจั่ว รักชั่วหามเสา หามจั่วก็หนักนะ)

ข่าวจากสื่อ

บทความจากสื่อ

วันศุกร์ที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

ผลวิจัยตอกย้ำทีวีทุกช่องเสนอข่าวสงกรานต์เลือดอคติเอียงข้างรัฐบาล

ที่มา Thai E-News


โดย ทีมข่าวไทยอีนิวส์
ที่มา สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
22 พฤษภาคม 2552

แหล่งข่าวพบว่าทุกช่องให้พื้นที่เสียงแก่ฝ่ายรัฐบาลมากกว่าฝ่ายนปช. ผลการศึกษาครั้งนี้จึงเสนอแนะให้ สื่อฟรีทีวีทั้งหมด ควรวางตนเป็นกลาง ปราศจากอคติ ไม่มีความลำเอียง ไม่ฝักใฝฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งโดยเฉพาะ นำเสนอเฉพาะข้อเท็จจริงของข่าวอย่างรอบด้าน หลากหลาย และเป็นธรรม ไม่ควรชี้นำความคิดของผู้ชมให้ไปในทิศทางใดทิศทางหนึ่งโดยเฉพาะ


โครงการศึกษาและเฝ้าระวังสื่อเพื่อสุขภาวะของสังคม (Media Monitor) สนับสนุนโดย สสส. ได้นำเสนอรายงานผลวิจัยการศึกษาเรื่อง"ฟรีทีวีกับการรายงานข่าวการชุมนุมทางการเมือง ระหว่างวันที่ 8-14 เมษายน 2552"ต่อที่ประชุมใหญ่วิชาการวิชาชีพสื่อมวลชน ระดับชาติ ของสมาคมนักข่าวนักหนังสือพพิมพ์แห่งประเทศไทยเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมานี้

ผลการศึกษาพบว่า สถานีโทรทัศน์ที่ให้พื้นที่สัดส่วนข่าวการชุมนุมเฉลี่ยสูงสุดคือ สถานีโทรทัศน์ ทีวีไทย ทีวีสาธารณะ รองลงมาคือสถานีโทรทัศน์แห่งประเทศไทย (สทท.) ตามด้วยช่อง 9 โมเดิร์นไนน์, ช่อง 3 อ.ส.ม.ท. ช่อง7 และช่อง 5

ช่อง 3 พบว่าเน้นแหล่งข่าวจากฝ่ายรัฐมากกว่า


โดยภาพรวม การรายงานข่าวของสถานีโทรทัศน์ช่อง 3 เกาะติดสถานการณ์ได้พอสมควร แต่จะเน้นรายงานในรายการข่าวหลักๆ ของสถานีตามผังรายการปกติ ตลอดทั้ง 7 วันในช่วงเหตุการณ์ ไม่มีรายการพิเศษเกาะติดสถานการณ์เป็นกรณีเฉพาะ เน้นข่าวเหตุการณ์-สถานการณ์ มากกว่าข่าวเชิงลึก เน้นบรรยากาศการชุมนุม ประเด็นข่าวผลกระทบจากการชุมนุม ประเด็นข่าวค่อนข้างซ้ำกันในระหว่างวันทั้งภาคเช้า เที่ยง และค่ำ

ขณะที่รายการข่าว 3 มิติจะมีประเด็นข่าวที่แตกต่างกว่ารายการข่าวอื่นๆ มีการใช้ข้อมูลจากสื่อหนังสือพิมพ์ในหลายรายการคุยข่าว การใช้แฟ้มภาพข่าวซ้ำไปซ้ำมา ฉายภาพความรุนแรงของสถานการณ์ที่เกิดขึ้น เน้นการรายงานข่าวในลักษณะลำดับเวลา ขาดการวิเคราะห์ และการอธิบายเนื้อหาข่าว เน้นการรายงานสถานการณ์สด บรรยากาศของการชุมนุม แต่ขาดรายละเอียด (และเสียงของแกนนำนปช.) ของการปราศรัย การอ้างอิงแหล่งข่าวไม่สมดุลครบ 3 ด้านและขาดความเห็นของนักวิชาการ

ในด้านแหล่งข่าว พบว่า เน้นการใช้ผู้สื่อข่าวภาคสนามเป็นแหล่งข่าว ส่วนใหญ่จะเป็นการรายงานสถานการณ์สดในที่เกิดเหตุ และบรรยากาศการชุมนุมโดยรอบ เน้นแหล่งข่าวจากฝ่ายรัฐ มากกว่า(นายกรัฐมนตรี, รัฐมนตรี เจ้าหน้าที่ตำรวจ-ทหาร) รองลงมาคือฝ่ายนปช. (แกนนำ) ขณะที่ฝ่ายฝ่ายประชาชน/นักธุรกิจ ผู้ประกอบการ/นักวิชาการ นั้นพบน้อยมาก

ช่อง 5 ขาดความสมดุลและเป็นธรรม โดยที่เน้นแหล่งข่าวฝ่ายรัฐมากกว่า


ในด้านความสมดุล และความเป็นธรรม พบว่า การรายงานขาดความสมดุลและเป็นธรรม เนื่องจากสถานีให้พื้นที่แก่แหล่งข่าวจากรัฐมากกว่าแหล่งข่าวฝ่ายนปช.และฝ่ายประชาชน/นักวิชาการ/ผู้เชี่ยวชาญ ทั้งในพื้นที่ภาพและเสียง

โดยภาพรวมแล้วการรายงานข่าวของสถานีโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5 ให้สัดส่วนพื้นที่ข่าวการชุมนุมน้อยที่สุด เน้นการรายงานข่าวเหตุการณ์ ข่าวสั้น ขาดรายละเอียด เน้นบรรยากาศการชุมนุมโดยทั่วไป ขาดการวิเคราะห์ การให้พื้นที่แหล่งข่าวขาดความสมดุล โดยที่เน้นแหล่งข่าวฝ่ายรัฐมากกว่า มุมกล้องเน้นภาพการปะทะที่รุนแรงและมีฉายซ้ำ ไม่มีการนำเสนอข่าวเชิงลึก สืบสวน ข่าวเชิงวิเคราะห์ ไม่มีรายการพิเศษเกาะติดสถานการณ์ชุมนุม

ช่อง 7 ค่อนข้างขาดความสมดุลและเป็นธรรม ให้พื้นที่แก่ฝ่ายรัฐมากกว่า


โดยภาพรวม การรายงานข่าวของสถานีโทรทัศน์ช่อง 7 พบว่า รายงานเกาะติดสถานการณ์ได้ล่าช้า เพราะต้องรอรายการข่าวต้นชั่วโมง ปริมาณสัดส่วนข่าวที่นำเสนอต่ำ ประเด็นข่าวตื้น เน้นข่าวเหตุการณ์-บรรยากาศ-สถานการณ์ทั่วไป ขาดการวิเคราะห์ และการอธิบายความข่าว

พบว่า การรายงานค่อนข้างขาดความสมดุลและเป็นธรรม เนื่องจากสถานีให้พื้นที่แก่แหล่งข่าวจากรัฐ มากกว่าแหล่งข่าวฝ่ายนปช. ขณะที่ฝ่ายที่สามเช่นประชาชน นักวิชาการ หรือความคิดเห็นภาคส่วนต่างๆ ก็ปรากฏน้อย

ช่อง9 เสียงแหล่งข่าวส่วนมากให้แก่ฝั่งรัฐบาล


โดยภาพรวม การรายงานข่าวของสถานีโทรทัศน์ช่อง 9 อสมท. มีการเกาะติดสถานการณ์ได้ดี และข่าวมีความรอบด้าน แต่ยังขาดความลึก ขาดการเจาะประเด็น หรือหาความสัมพันธ์ที่เชื่อมโยง ร้อยเรียงเหตุการณ์เพื่อหาทางออก การตั้งคำถามของผู้สื่อข่าวเน้นรายงานเหตุการณ์เฉพาะหน้า (Real Time) พิธีกรข่าวในรายการคุยข่าวจะใช้ภาษา น้ำเสียงตื่นตระหนกประหนึ่งมีส่วนร่วมในเหตุการณ์ ในขณะที่พื้นที่เสียงของแหล่งข่าวขาดความสมดุล เสียงแหล่งข่าวส่วนมากให้แก่ฝั่งรัฐบาล ขาดเสียงฝ่ายที่สาม มักฉายภาพข่าวที่เห็นความรุนแรงจากการชุมนุม ขาดรายการวิเคราะห์ข่าว ขาดการรายงานข่าวแบบตีความ อธิบายความ

ช่อง 11 พบว่า การรายงานขาดความสมดุลและเป็นธรรม


พบว่า การรายงานขาดความสมดุลและเป็นธรรม เนื่องจากสถานีให้พื้นที่แก่แหล่งข่าวจากรัฐและฝ่ายประชาชน/นักวิชาการ/ผู้เชี่ยวชาญ มากกว่าแหล่งข่าวฝ่ายผู้ชุมนุม

โดยภาพรวม การรายงานข่าวของสถานีโทรทัศน์แห่งประเทศไทย-สทท. (NBT) ให้สัดส่วนพื้นที่ข่าวการชุมนุมในระดับสูง เกาะติดสถานการณ์ได้ดีกว่าช่องอื่นๆ แต่ประเด็นข่าวยังเน้นสภาพปัญหาทั่วไป เช่นเรื่องสภาพการจราจร ผลกระทบการปิดถนน การท่องเที่ยว การรายงานข่าวไม่เจาะลึกถึงเหตุการณ์จริง ขาดความรอบด้าน ไร้เสียงประชาชนส่วนใหญ่ที่ไม่เห็นด้วยกับการก่อเหตุการณ์ ไม่มีการตีความอธิบายข่าว รายงานเฉพาะเปลือกผิวของเหตุการณ์ เริ่มทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางของข่าวสารเพื่อประชาชนหลังจากวันที่มีพรก. ฉุกเฉิน มีรายงานพิเศษ สกู๊ปเพิ่มขึ้น แต่ยังขาดการเจาะลงปัญหาการเมือง เพราะเน้นเรื่องผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการชุมนุมมากกว่า ขาดการอธิบายความหมายข่าว การตีความ การวิเคราะห์ข่าวการเมือง ขาดรายการให้ความรู้ความเข้าใจทางการเมือง ให้พื้นที่แก่ฝ่ายรัฐในการเป็นสื่อกลางแก้ไข ชี้แจง ทำความเข้าใจกับประชาชนมากขึ้น ในช่วงหลังของเหตุการณ์

TPBS มีความรอบด้าน ภาพข่าวมีมุมที่แตกต่างจากสถานีโทรทัศน์ช่องอื่นอย่างเห็นได้ชัด


โดยภาพรวมแล้วการรายงานข่าวของสถานีโทรทัศน์ทีวีไทยมีความครบถ้วน และเป็นการรายงานข่าวเชิงวิเคราะห์ อธิบายความ โดยใช้ความคิดเห็นจากแหล่งข่าวที่เกี่ยวข้อง และภาคประชาชนเสนอทางออกต่อเหตุการณ์ สำหรับการเกาะติดเหตุการณ์ชุมนุมช่องทีวีไทยอยู่ในระดับที่ดีมาก มีสัดส่วนข่าวที่สูง เนื้อหาข่าวมีความลึกของประเด็น ได้สาระที่แท้จริง มีความรอบด้าน ภาพข่าวมีมุมที่แตกต่างจากสถานีโทรทัศน์ช่องอื่นอย่างเห็นได้ชัด คือมีความใกล้ชิดกับเหตุการณ์มากกว่า

ความเป็นกลางและการตั้งคำถาม ของผู้สื่อข่าว พบว่า ส่วนใหญ่เป็นการถามเพื่อทราบความคืบหน้าของสถานการณ์ โดยที่นักข่าวพยายามตั้งคำถามต่อแหล่งข่าวโดยใช้คำถามปลายเปิด ให้โอกาสแหล่งข่าวได้อธิบายท่าที จุดยืน หากเป็นแหล่งข่าวฝ่ายประชาชน นักวิชาการ นักข่าวจะตั้งถามเพื่อให้แหล่งข่าวช่วยอธิบาย และทำความเข้าใจกับเหตุการณ์ทางการเมืองในเชิงวิชาการ และให้เสนอแนะทางออกแก้ไขความขัดแย้งอย่างเป็นรูปธรรม

สรุปผลการศึกษา


ความสมดุล และความเป็นธรรม พบว่า ในมิติด้านเนื้อหา ฝ่ายผู้ชุมนุมสามารถยึดครองพื้นที่ข่าวได้มากกว่าในช่วงแรก แต่หลังจากการประกาศพรก. ฉุกเฉิน ฝ่ายรัฐบาลจะมีพื้นที่ประเด็นข่าวได้มากกว่า ขณะที่ภาพข่าวส่วนมากเป็นภาพข่าวเหตุการณ์การชุมนุมของกลุ่มนปช. และความความรุนแรงจากการปะทะกันของทั้งสองฝ่ายคือรัฐและกลุ่มผู้ชุมนุม

ขณะที่มิติเสียงของแหล่งข่าวพบว่าทุกช่องให้พื้นที่เสียงแก่ฝ่ายรัฐบาลมากกว่าฝ่ายนปช.


ความสมดุลของข่าวส่วนมากสมดุลในระดับ 2 ด้าน คือมีฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายนปช.และกลุ่มผู้ชุมนุม แต่ค่อนข้างขาดฝ่ายที่ 3 คือ ประชาชน นักวิชาการ ตัวแทนจากกลุ่มอาชีพอื่นๆ ยกเว้นช่องทีวีไทยที่ให้พื้นที่ฝ่ายที่ 3 สูงกว่าฝ่ายใด

ความเป็นกลางและการตั้งคำถาม ของผู้สื่อข่าว พบว่านักข่าว/ผู้สื่อข่าวส่วนมากใช้ภาษาได้ เป็นกลาง มีความระมัดระวังการใช้คำพูด แต่เฉพาะการตั้งคำถามแก่แหล่งข่าว/หรือการเล่าข่าวในบางรายการที่อาจมีลักษณะสอดแทรกความคิดเห็นลงไปบ้าง

ข้อเสนอแนะจากโครงการฯ

1) สื่อโทรทัศน์ควรให้ความสำคัญกับการรายงานข่าวเหตุการณ์ชุมนุมอย่างต่อเนื่อง ด้วยการแทรกรายงานข่าวตลอดเวลาทั้งรูปแบบรายการข่าวด่วน รายการพิเศษเกาะติดสถานการณ์ หรือการแทรกคำบรรยายข่าวบนพื้นที่ด้านล่างของหน้าจอโทรทัศน์ในรายการปกติ

2) สื่อควรลดการนำเสนอข่าวที่เน้นประเด็นความรุนแรงของเหตุการณ์ ซึ่งอาจนำเสนอผ่านภาพข่าว ภาษาพูดที่ส่งสัญญาณความรุนแรงที่มีลักษณะซ้ำไปซ้ำมา หรือการเน้นให้เห็นภาพความรุนแรงของเหตุการณ์ เช่นภาพตำรวจปราบปรามประชาชน การรุมทำร้าย การใช้กำลังอื่นใดในการสลายม็อบทั้งต่อคนและสิ่งของหรือแม้กระทั่งการนำเสนอภาพตำรวจพร้อมอาวุธครบมือ ถ่ายให้เห็นภาพการวางกำลัง การตรวจตรา การสกัด การควบคุม นอกจากนี้การแสดงสีหน้า ท่าทาง ของผู้ประกาศข่าวก็ควรละเว้นการแสดงอารมณ์ความรู้สึก

3) ในการรายงานข่าวการชุมนุม สื่อควรนำเสนอข้อมูลอย่างรัดกุม ไม่ควรนำเสนอข้อมูลที่จะสร้างความตระหนกแก่สาธารณะชนแต่ควรสร้างความตระหนักในข้อเท็จจริงของเหตุการณ์ นำเสนออย่างสร้างความเข้าใจ สร้างสรรค์ และสร้างสติให้กับสังคม

4) การตั้งคำถามของสื่อมวลชน ควรเป็นไปในลักษณะที่ไม่สร้างความแตกแยก เน้นคำถามที่หาทางออกของสถานการณ์ ถามเพื่อหาคำตอบเพื่อลดความรุนแรงของเหตุการณ์ ไม่ถามคำถามที่แสดงให้เห็นถึงสัญญาณของความรุนแรง เช่น “จะใช้มาตรการใดในการจัดการสลาย” ควรถามว่า “จะใช้วิธีการใดที่จะไม่ใช้ความรุนแรงกับลุ่มผู้ชมุนุม” เพื่อชี้ช่องทางให้ไม่เกิดความรุนแรง เป็นต้น

5) สื่อควรเน้นการรายงานข่าวที่ให้ข้อมูลอธิบายสาระสำคัญของเหตุการณ์ที่เน้นการตอบคำถาม “ทำไม” (why?) มากกว่าเพียงการอธิบาย “ใคร-ทำอะไร-ที่ไหน-เมื่อไร-อย่างไร” ควรนำเอาข้อมูลในอดีต อธิบายพร้อมกับสถานการณ์ปัจจุบัน เพื่อชี้ให้เห็นแนวโน้มเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

6) สื่อฟรีทีวีทั้งหมด ควรวางตนเป็นกลาง ปราศจากอคติ ไม่มีความลำเอียง ไม่ฝักใฝฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งโดยเฉพาะ นำเสนอเฉพาะข้อเท็จจริงของข่าวอย่างรอบด้าน หลากหลาย และเป็นธรรม ไม่ควรชี้นำความคิดของผู้ชมให้ไปในทิศทางใดทิศทางหนึ่งโดยเฉพาะ

ข่าวส่งเสริมคนดี

จำนวนผู้เข้าเยี่มมชม

link to affordable web hosting
Powered by web hosting provider .

สถิติการเข้าชม DMNEWS

eXTReMe Tracker