บล็อคข่าวส่งเสริมคนดี (รักดีหามจั่ว รักชั่วหามเสา หามจั่วก็หนักนะ)

ข่าวจากสื่อ

บทความจากสื่อ

วันศุกร์ที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

Silence of the Lamp: เขียนถึง..ด้วยความคิดถึง

ที่มา ประชาไท

สุภัตรา ภูมิประภาส

คิดถึง คณาจารย์ผู้ห่วงใยสื่อ

คิดถึง มีเดียมอนิเตอร์

คิดถึง นักวิชาการสื่อสารมวลชน

ในสถานการณ์อึมครึมของข่าวการปลด บก.เสื้อแดงฯ ข่าวนักการเมืองไม่พอใจการ์ตูนล้อการเมืองจนต้องร้องเรียนสภาการหนังสือพิมพ์ รวมถึงสถานการณ์การวิพากษ์วิจารณ์การนำเสนอข่าวแบบเลือกข้างของสื่อกระแสหลักต่างๆ ชวนให้ผู้เขียนต้องย้อนไปอ่านแถลงการณ์ของกลุ่ม คณาจารย์ผู้ห่วงใยสื่อ ที่ออกมาเมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2551 โดยคณาจารย์ผู้ห่วงใยสื่อ แสดงความห่วงใยต่อสถานการณ์คุกคามสื่อในขณะนั้นไว้ว่า

...ในช่วงหนึ่งเดือนเศษที่ผ่านมา รัฐบาลได้แสดงท่าทีกดดันสื่อมวลชนที่มีจุดยืนแตกต่างจากกลุ่มการเมืองในฝั่งรัฐบาล ทำให้สื่อมวลชนเกิดความหวาดกลัว หวาดระแวง และขาดความเชื่อมั่นในการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนอย่างเป็นอิสระ บรรดาสื่อมวลชนทั้งหลายก็จะลดหรือละเลยบทบาทการตรวจสอบรัฐบาลและการเป็นกระจกสะท้อนความคิดความต้องการของสาธารณชนลงไป และให้ความสำคัญกับการทำสื่อเพื่อเอาตัวรอดทางธุรกิจเป็นหลัก สังคมประชาธิปไตยไทยอาจจะเดินเข้าสู่ความตกต่ำและเกิดวิกฤติศรัทธาและความชอบธรรมทางการเมืองได้

สาธารณชนย่อมมีความคาดหวังต่อรัฐบาลประชาธิปไตยมากกว่ารัฐบาลเผด็จการ ในทำนองเดียวกัน รัฐบาลประชาธิปไตยก็มีหน้าที่สร้างความเชื่อมั่นและศรัทธาให้สาธารณชน ข้าราชการ พนักงานของรัฐ และสื่อมวลชนได้เห็นเป็นประจักษ์ว่าจะสามารถทำหน้าที่ในทางการเมืองและการบริหารราชการแผ่นดินในระบอบประชาธิปไตยควบคู่ไปกับรัฐบาลได้อย่างมีเกียรติมีศักดิ์ศรี ยึดหลักวิชาการและวิชาชีพของตนเองได้อย่างเป็นอิสระ ได้มากกว่าหรืออย่างน้อยก็ไม่ด้อยกว่ารัฐบาลเผด็จการ (อ่านแถลงการณ์ฉบับเต็มได้ที่นี่ http://www.prachatai.com/05web/th/home/page2.php?mod=mod_ptcms&ID=11487&Key=HilightNews )

สถานการณ์ที่ฝ่ายเสื้อแดง และอีกหลายฝ่าย วิพากษ์วิจารณ์และเรียกร้องความเป็นกลางในการนำเสนอข่าวของสื่อยังชวนให้ผู้เขียนคิดถึงกลุ่ม มีเดียมอนิเตอร์ที่เคยติดตามนับจำนวน ทำสถิติความไม่เป็นกลางในการนำเสนอข่าวของสื่อต่างๆในช่วงรัฐบาลที่ผ่านมาอย่างแข็งขัน

ในสถานการณ์เช่นนี้ คณาจารย์ผู้ห่วงใยสื่อ และ มีเดียมอนิเตอร์ รวมถึงนักวิชาการด้านสื่อสารมวลชน หายไปไหนกัน?

นับตั้งแต่รัฐบาลประชาธิปัตย์ขึ้นบริหารประเทศท่ามกลางความขัดแย้งแตกขั้วทางการเมืองที่รุนแรงมากขึ้นกว่าที่ผ่านมา และการเลือกข้างที่ชัดเจนมากขึ้นของสื่อสารมวลชนทุกแขนงนั้น ทั้งคณาจารย์ผู้ห่วงใยสื่อ และ มีเดียมอนิเตอร์ รวมถึงนักวิชาการด้านสื่อสารมวลชนกลับหายเงียบไปไม่ออกมาทำหน้าที่ตักเตือน ตรวจสอบการแทรกแซงสื่อของรัฐบาลและการทำหน้าที่ของสื่อสารมวลชนเช่นที่เคยทำในรัฐบาลที่ผ่านมา

สมาชิกของกลุ่ม คณาจารย์ผู้ห่วงใยสื่อและกรรมการของมีเดียมอนิเตอร์บางคนไปปรากฎชื่ออยู่ในคณะกรรมการชุดต่างๆที่เป็นกลไกของรัฐ รวมทั้งในคณะกรรมการนโยบายของทีวีไทย ทีวีสาธารณะที่ทำหน้าที่อย่างแข็งขันในการเป็นกระบอกเสียงของรัฐฯในสถานการ์ความขัดแย้งทางการเมืองครั้งล่าสุด

เมื่อรัฐบาลประชาธิปัตย์สั่งปิดสื่อทุกประเภทของฝ่ายเสื้อแดง ทั้งสถานีเคเบิลทีวี ดี-สเตชั่น สถานีวิทยุชุมชน และเวบไซด์ คณาจารย์ผู้ห่วงใยสื่อ และ มีเดียมอนิเตอร์ ที่เคยห่วงใยสถานการณ์การคุกคามสื่อในช่วงรัฐบาลที่ผ่านมา หายเงียบไปแบบปิดหู ปิดตา ปิดปาก

คณาจารย์ผู้ห่วงใยสื่อ และ มีเดียมอนิเตอร์ รวมถึงนักวิชาการด้านสื่อสารมวลชนที่เคยแสดงความห่วงใยกับการผลิตซ้ำภาพความรุนแรงเมื่อสถานีเอ็นบีทีนำภาพที่กลุ่มนักรบศรีวิชัยพร้อมอาวุธบุกรุกสถานีฯมาฉายซ้ำแล้วซ้ำอีก แต่ คณาจารย์ผู้ห่วงใยสื่อ และ มีเดียมอนิเตอร์ รวมถึงนักวิชาการด้านสื่อสารมวลชน กลับปิดหู ปิดตา ปิดปาก กับการที่สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย ช่อง 11 กรมประชาสัมพันธ์ และทีวีไทย ทีวีสาธารณะนำภาพความรุนแรงที่กลุ่มคนเสื้อแดงบุกรุกสถานที่ประชุมอาเซียน ซัมมิทที่พัทยา และเหตุการณ์รุมทุบขบวนรถนายกรัฐมนตรีที่กระทรวงมหาดไทย มาฉายซ้ำแล้วซ้ำอีกมากครั้งยิ่งกว่า

นักวิชาการด้านสื่อสารมวลชนที่เคยวิพากษ์วิจารณ์รายการ ความจริงวันนี้ ในช่วงรัฐบาลชุดที่ผ่านมาว่าเป็นการใช้สื่อของรัฐสร้างความแตกแยกในสังคม แต่ นักวิชาการด้านสื่อสารมวลชนกลับ ปิดหู ปิดตา ปิดปาก กับรายการ ลงเอย...อย่างไร ที่กำลังออกอากาศเพื่อความแตกแยกยิ่งขึ้นอยู่ขณะนี้

ด้วยเห็นว่า คณาจารย์ผู้ห่วงใยสื่อ และ มีเดียมอนิเตอร์ รวมถึงนักวิชาการด้านสื่อสารมวลชน ปิดหู ปิดตา ปิดปาก เว้นวรรคการทำหน้าที่กันมานานเกินควร

จึงเขียนถึง ด้วยความคิดถึงจริงๆ

ข่าวส่งเสริมคนดี

จำนวนผู้เข้าเยี่มมชม

link to affordable web hosting
Powered by web hosting provider .

สถิติการเข้าชม DMNEWS

eXTReMe Tracker