“เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ” สมาชิกวุฒิสภาสรรหา ได้พูดถึงการตรวจสอบนักการเมือง มาแล้ว 3 ตอน ซึ่งประชาชนผู้อ่านคงได้ความรู้ในเนื้อหาสาระอย่างครบถ้วน วันนี้มาถึงตอนที่ 4 ในส่วนสำคัญเกี่ยวกับ แบบการเสียภาษีของนักการเมือง โดยเป็นส่วนหนึ่งที่บอกให้รู้ว่า...รายได้ที่เสียภาษีในปีที่ผ่านมามีมาจากไหนบ้าง
แต่มิได้บ่งบอกถึงแหล่งเงินได้ทั้งหมด เพราะเงินได้บางส่วนอาจเป็นเงินได้ที่ได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษี หรือเป็นเงินได้ที่แยกการเสียภาษีไปแล้ว เช่น ดอกเบี้ยเงินฝากธนาคาร เงินปันผล เงินได้จากการขายที่ดิน เงินได้จากมรดก ซึ่งเงินได้เหล่านี้อาจตรวจพบได้จากแบบแสดงรายได้ในปีที่ผ่านมา ซึ่งกำหนดให้
นักการเมืองต้องแจ้งไว้กับ ป.ป.ช. การดูบัญชีรายได้จึงมีทั้งส่วนที่นำไปเสียภาษีและส่วนที่ไม่ต้องนำไปเสียภาษี แต่รายได้ที่แจ้งไว้สามารถนำไปหาความสัมพันธ์กับรายการทรัพย์สินหรือหนี้สินที่แจ้งบัญชีต่อ ป.ป.ช. ได้ วิธีการดูก็ไม่ได้ยากเย็นมากนัก ถ้าเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างทรัพย์สิน หนี้สิน รายได้ และรายจ่าย
เช่น การดูบัญชีนักการเมืองที่แจ้งรายได้ว่ามีดอกเบี้ยรับ ก็แสดงว่าควรจะมีเงินฝากธนาคารอยู่ด้วย แต่อาจไม่พบการเสียภาษีดอกเบี้ยเงินฝาก เพราะดอกเบี้ยเงินฝากนั้น สามารถเลือกเสียภาษีได้เมื่อถูกหัก ณ ที่จ่ายไปแล้ว กฎหมายให้สิทธิผู้รับดอกเบี้ยเลือกวิธีการเสียภาษี ซึ่งนักการเมืองมักจะเลือกเสีย
เมื่อถูกหัก ณ ที่จ่าย จึงไม่พบการนำไปยื่นรวมเสียภาษีกับรายได้ชนิดอื่น หรือถ้าพบว่า...มีการแจ้งรายได้เป็นเงินปันผล ก็จะต้องไปดูว่ามีการถือครองหุ้นชนิดใด หุ้นที่ถือเป็นหุ้นสัมปทานหรือหุ้นหนังสือพิมพ์ที่รัฐธรรมนูญห้ามไว้หรือไม่ หรือกรณีของรัฐมนตรีก็ต้องดูต่อว่า ถือครองหุ้นเกอินร้อยละห้าหรือไม่
ในการแจ้งรายได้นั้นจะทราบรายละเอียดมากขึ้นถ้าไปพิจารณาในแบบภาษีที่ยื่นเอาไว้ เพราะนักการเมืองบางคน มีการแจ้งรายได้ไม่สอดคล้องกับแบบการเสียภาษี หรือมีการแจ้งข้อมูลที่ไม่สอดคล้องกัน แบบการเสียภาษีที่แจ้งไว้เป็นรายได้ของปีที่ผ่านมา ก่อนที่นักการเมืองจะเข้ารับตำแหน่ง ซึ่งจะมีผลเสียอยู่บ้าง
เพราะประชาชนจะไม่ได้เห็นหรือรับทราบข้อมูลการเสียภาษีที่เกิดขึ้นเมื่อนักการเมืองปฏิบัติหน้าที่ในระหว่างการดำรงตำแหน่ง พิจารณาดูแล้วก็อาจจะไม่สอดคล้องกับสิทธิของประชาชนที่รัฐธรรมนูญ มาตรา 62 กำหนดไว้ เพราะการตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่นั้น ส่วนหนึ่งก็ควรมาจากการได้รับรู้ข้อมูลบัญชีทรัพย์สินหนี้สิน
และรายได้รายจ่ายในระหว่างปี แต่ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อละครับ คนยกร่างรัฐธรรมนูญหรือการเขียนรัฐธรรมนูญที่มีมา ไม่เคยมีเรื่องอย่างนี้บัญญัติไว้ ไม่เคยมีการบัญญัติให้นักการเมืองแจ้งบัญชีทรัพย์สินหนี้สิน รวมทั้งรายได้และสำเนาแบบภาษีในระหว่างปีเอาไว้ด้วย แล้วจะให้สิทธิในการร้องขอให้มี
การตรวจสอบไว้ทำไม หรือต้องการปล่อยให้นักการเมืองปฏิบัติหน้าที่ไปก่อน แล้วจึงมาตามตรวจสอบในภายหลัง ซึ่งเรื่องนี้ก็มีการเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญว่า...พ้นจากตำแหน่งแล้วจึงยื่นบัญชี หลักการตรวจสอบที่สำคัญอย่างหนึ่ง คือ ความทันต่อเวลา แต่เมื่อพิจารณาในรัฐธรรมนูญ ก็ดูได้ว่าคงจะไม่ทันต่อเวลา เช่น ในกรณี
สมาชิกวุฒิสภาที่มาจากการสรรหา ก็มีระยะเวลาการยื่นครั้งแรกกับครั้งพ้นจากตำแหน่งถึงสามปี สมาชิกวุฒิสภาจากการสรรหาไม่ต้องยื่นบัญชีเมื่อปฏิบัติหน้าที่ครบหนึ่งปีหรือสองปี กฎหมายกำหนดให้ไปยื่นคราวเดียวเมื่อเวลาผ่านไปแล้วสามปี เมื่อไม่มีการยื่นทรัพย์สินและหนี้สินทุกปี ช่วงระยะเวลาการตรวจสอบก็ยาวขึ้น
การจะตรวจพบว่า สมาชิกวุฒิสภาที่การปฏิบัติหน้าที่แล้วมีพฤติกรรมร่ำรวยผิดปกติหรือไม่ก็จะดูได้ยาก หรือจะตรวจสอบในมุมของจริยธรรม ก็ดูยากเพราะไม่รู้ว่า ใครทำงานใครไม่ทำงาน สามปีของสมาชิกวุฒิสภาแบบสรรหาว่านานแล้ว แต่สำหรับนักการเมืองอื่นยิ่งนานกว่า เช่น สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร รัฐมนตรี
นายกรัฐมนตรี มีระยะเวลาปกติในการดำรงตำแหน่ง 4 ปี ระยะเวลาการยื่นก็นานถึง 4 ปีด้วย และถ้าเป็นสมาชิกวุฒิสภาแบบเลือกตั้งที่มีระยะเวลาการดำรงตำแหน่งถึงหกปี นับว่ายาวนานที่สุดในบรรดานักการเมืองที่มีการเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน ซึ่งการตรวจสอบทรัพย์สินหนี้สินกับรายได้ระหว่างปี
ก็ยากตามไปด้วย แต่ในบางครั้งก็มีเหตุการณ์ที่ทำให้นักการเมืองเหล่านี้ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินก่อนระยะเวลาอันควร เช่น ถูกตัดสินให้พ้นจากตำแหน่งเพราะขาดคุณสมบัติ หลังจากดำรงตำแหน่งเพียงไม่ถึงปีหรือเพียงปีเศษ นักการเมืองที่พ้นจากตำแหน่งก็จะต้องมีการยื่นบัญชีทรัพย์สินต่อ ป.ป.ช. ในกรณีพ้นจากตำแหน่ง
กรณีอย่างนี้จะทำให้มีข้อมูลในการตรวจสอบเร็วขึ้นจะทำให้เห็นการเพิ่มขึ้นหรือลดลงในทรัพย์สินหนี้สินได้ อาจรวมทั้งแบบการเสียภาษีด้วย เนื่องจากการเมืองของไทยยังไม่มีเสถียรภาพ เพราะนักการเมืองจ้องทำลายล้างกัน เพื่อแย่งชิงอำนาจการบริหารจึงเป็นผลดีต่อการตรวจสอบอยู่บ้าง เพราะการเปลี่ยนแปลง
บ่อยครั้งจะทำให้มีข้อมูลในการตรวจสอบมากขึ้น แต่การได้ข้อมูลในลักษณะดังกล่าวตกอยู่ในภาวะจำยอม และไม่ได้ทำให้นักการเมืองใจซื่อมือสะอาดไปมากกว่าเดิม แต่กลับจะหาวิธีหลบหลีกการตรวจสอบมากขึ้น เช่น การใช้ตัวแทนถือครองทรัพย์สิน การซุกเงินที่ทุจริตคดโกง ถ้านักการเมืองโกงเก่งกว่าเดิม
ระบบการตรวจสอบที่เขียนมา คงไม่มีประโยชน์ แต่จะคิดเช่นนั้นยังไม่ได้ เพราะระบบการตรวจสอบบัญชีทรัพย์สินหนี้สินที่มุ่งหาความสัมพันธ์กับรายได้นั้น จะต้องพิจารณาถึงรายการค่าใช้จ่ายด้วย เรื่องนี้อาจจะมองง่ายขึ้นถ้ามีบัญชีค่าใช้จ่ายหรือบัตรเครดิตมาประกอบการพิจารณา แต่กฎหมายของไทย
ตั้งแต่ชั้นรัฐธรรมนูญ ลงมาถึงกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ ไม่มีการกำหนดให้มีการยื่นรายการค่าใช้จ่ายระหว่างปีเอาไว้ จึงเป็นปัจจัยหนึ่งที่ยังขาดไป เพราะการกระทบหาความสัมพันธ์ระหว่างทรัพย์สินหนี้สินกับรายได้รายจ่ายนั้น แน่นอนครับเรื่องระยะเวลาซึ่งได้กล่าวไปแล้วอาจนานไป เช่น สามปี สี่ปี หรือหกปี
แต่ถ้ามีกฎหมายกำหนดให้ยื่นบัญชีทรัพย์สินหนี้สินพร้อมรายได้กันทุก ๆ ปี การวิเคราะห์หาความสัมพันธ์ง่ายขึ้นแน่นอน และจะทำให้พี่น้องประชาชนทราบฐานะทางการเงินของนักการเมืองได้ทันเวลาว่า...คนใดมีพฤติกรรมอย่างไร ทำงานหรือเที่ยว มีรายจ่ายเกินตัวหรือไม่ มีทรัพย์สินในนามคนอื่นหรือไม่
เช่น นักการเมืองคนหนึ่งแจ้งว่า มีทรัพย์สินรวม 20 ล้าน มีหนี้สินรวม 2 ล้าน ก็เท่ากับว่ามีทรัพย์สินสุทธิ 18 ล้านบาท และได้รับเงินเดือนปีละประมาณ 1 ล้านบาท แสดงว่าทรัพย์สินปลายปีควรจะมี 19 ล้านบาท แต่หากพบว่า...มีค่าใช้จ่ายทั้งปี 5 แสนบาท ทรัพย์สินสุทธิต้นปี 18 ล้านบาทบวกรายได้ 1 ล้านบาท
หักรายจ่าย 5 แสนบาท ทรัพย์สินสุทธิปลายปีที่คำนวณใหม่ควรจะเหลือเพียง 18.5 ล้านบาท ต่อมาถ้ามีการพบหลักฐานอื่นที่แสดงถึงรายจ่ายที่มากไปกว่าเดิม เช่น มีการบริจาคเงินให้พรรคการเมืองในปีเดียวกัน 1 ล้านบาท ก็จะเกิดข้อสังเกตขึ้นมาทันทีว่า เงินที่นำมาบริจาคให้พรรคนั้น มาจากไหน หรือในกรณีตรวจพบ
การใช้จ่ายเงินผ่านบัตรเครดิตจำนวนที่สูงมาก หรือตรวจพบการโอนเงินไปต่างประเทศเพื่อการศึกษาของบุตรในจำนวนมาก การพบรายจ่ายดังกล่าวจะนำไปสู่คำถามว่า เอาเงินมาจากไหนเช่นกัน การตรวจสอบนักการเมืองโดยหาความสัมพันธ์ของทรัพย์สินหนี้สินกับรายได้รายจ่าย รวมทั้งแบบภาษีนั้นเป็นเรื่องสำคัญ
ที่นักการเมืองคงไม่ต้องการให้มี เพราะไม่มีนักการเมืองคนไหนอยากให้คนอื่นมาตรวจสอบตัวเอง เมื่อไม่มีการตรวจสอบแล้วพี่น้องประชาชนจะแน่ใจได้อย่างไรว่า นักการเมืองทำงานแล้วไม่มีการทุจริตคตโกง เพราะแค่เฝ้าดูพฤติกรรมของนักการเมืองบางคนแล้ว คงคิดในใจได้แล้วว่า มันโกงแน่ ๆ
การตรวจสอบนักการเมือง...จึงต้องติดตามต่อในคราวหน้า!