บล็อคข่าวส่งเสริมคนดี (รักดีหามจั่ว รักชั่วหามเสา หามจั่วก็หนักนะ)

ข่าวจากสื่อ

บทความจากสื่อ

วันศุกร์ที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2553

เปิดเส้นทางสู่ความปรองดอง

ที่มา ข่าวสด

คอลัมน์ รายงานพิเศษ



วันที่ 24 มิ.ย. ภาควิชาสังคมวิทยาและมนุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จัดเสวนาทางวิชาการ "70 ปีประเทศไทย ประชาชน ประชาชาติ กับประชาธิปไตย"

มีคณาจารย์ นิสิตนักศึกษา และประชาชนทั้งสีเหลืองสีแดงเข้าร่วมฟังการเสวนา มีเนื้อหาน่าสนใจ ดังนี้



ไชยันต์ รัชชกูล

สถาบันศาสนา วัฒนธรรมและสันติภาพ

มหาวิทยาลัยพายัพ

เมื่อรัฐบาลทำผิดให้ขอโทษและรับผิดก่อน การอภัยถึงจะเกิดขึ้นได้

อยากให้พิจารณาของญี่ปุ่นและเยอรมัน ซึ่งเยอรมันนายกรัฐมนตรีกล่าวขอโทษที่หลุมฝังศพในโปแลนด์ ที่เสียชีวิตจากฝีมือของทหารเยอรมัน ทำให้เกิดความประทับใจ และรัฐบาลเยอรมันยอม รับว่าเขาทำ

ส่วนญี่ปุ่นไม่ยอมรับว่าทำผิดและมีปฏิกิริยาที่จีน เกาหลี ซึ่งผิดกับทัศนะของโปแลนด์

รัฐบาลไทยควรคิดดูเองว่าจะเอาแบบไหน

การเสนอการแก้ปัญหาความ ปรองดองมีอยู่ 2 ระดับ คือ ระดับกว้าง ที่ต้องใช้เวลาและระดับเฉพาะหน้าเพื่อให้เกิดการยอมรับของผู้เสียชีวิต

การพัฒนาประชาธิปไตย บางคนบอกไม่เปลี่ยนเลย เพียงแต่เปลี่ยนกลุ่มเท่านั้น

บางคนบอกพัฒนาไม่ได้เพราะรัฐยึดอำนาจศูนย์กลางไปแล้ว บางคนเห็นว่ามีความเป็นประชาธิปไตยในจุดหนึ่ง

ซึ่งแน่นอนประชาธิปไตยไม่ได้สมบูรณ์ อย่างอังกฤษก็ไม่ได้สมบูรณ์ ต้องมีการเพิ่มเติมโดยไม่ล้มรัฐธรรมนูญเก่าเพราะประชาธิปไตยเป็นเป้าหมายไกลๆ

การที่รัฐบาลตั้งกรรมการแล้ว แต่จะแก้ปัญหาหรือเปล่า ต้องดูว่าเขาจะตั้งคณะกรรมการและแบ่งไปอย่างไรบ้าง ปัญหาความขัดแย้งไม่ได้อยู่ที่ส่วนกลางแต่อยู่ทั่วไปหมด ทั้งครอบครัว เพื่อนฝูงและที่ทำงาน ทั่วทุกท้องถิ่น

บางทีเราคิดว่าเข้าใจว่าสีแดงเป็นพวกรับเงินทักษิณ ล้มเจ้า ไม่ได้รับข้อมูล จริงๆ แล้วอาจเป็นเพียงบางส่วน เพราะแดงมีหลายเฉดมาก เช่นเดียวกับสีเหลืองก็มีหลายเฉด ซึ่งเราไม่เข้าใจเขา กรณีเสื้อเหลืองกับเสื้อแดงอาจจะไม่เป็นอย่างที่คนอื่นกล่าวหา

ผมมองว่ามีทั้งความเห็นที่ต่างกันในเรื่องการพัฒนาประชาธิปไตย ซึ่งขึ้นอยู่กับแต่ละคนจะหาข้อสรุปเอง

ส่วนเรื่องการปรองดองมีทั้งระดับโครงสร้างว่าเป็นไปได้ยากเพราะมีบางอย่างขวางอยู่

และปรองดองไม่ได้ถ้ารัฐบาลไม่รับผิด

อรรถจักร สัตยานุรักษ์

อาจารย์จากมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

คำว่าปรองดองเป็นคำใหม่ ถามจากคนเหนือ อีสาน ใต้ ไม่มีคำนี้

สันนิษฐานว่าเพิ่งเกิด น่าจะเกิดหลังปี 2490 น่าจะเป็นฐานของรัฐเผด็จการ คือปรองดองเพื่อสยบยอมต่ออำนาจชุดหนึ่ง เพื่ออุดมคติของอะไรสักอย่างที่สร้างขึ้น

ดังนั้น จังหวะของสังคมไทยไม่ต้องการคำนี้ ต่อไปอาจใช้ในความหมายลบ คำนี้สะท้อนวิธีคิดของเครือข่ายอภิสิทธิ์ ข้างหลังของอภิสิทธิ์ ใช้เป็นฐานวิธีคิดของเผด็จการอำนาจ

สถานการณ์ของสังคมไทย เกิดความเหลื่อมล้ำ เกิดปัญหาสองมาตรฐานอยู่ตลอดเวลา มีกลุ่มที่ต้องการรักษาอำนาจเดิมและกลุ่มที่อยู่นอกระบบรัฐที่ต้องการเข้าสู่อำนาจออกมาต่อสู้กัน

ความขัดแย้งนี้ถ้าไม่คิดให้ดีจะถูกลากไปอยู่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง

ปัจจุบันจะเห็นว่ากลุ่มอนุรักษนิยมได้เปรียบกว่าเพราะมีสื่อของตัวเอง ดังนั้น เราจะทำอย่างไรที่จะไม่อยู่ในบ่วงสองบ่วงนี้ ในจังหวะที่อนุรักษนิยมและฝ่ายแดงต่อสู้กันการกระโดดไปอยู่สีใดสีหนึ่งไม่ใช่ทางออก

เราต้องช่วยกันคิดว่ามีทางสายอื่นบ้างหรือไม่ จะทำอย่างไรให้เราเข้าใจทั้งหมดได้ แม้จะถูกปิดกั้นเรื่องบางเรื่องในทางเปิดเผย แต่ในทางลับเราก็พูดกันได้ ทำอย่างไรจะเพิ่มมุมมองความเข้าใจในสังคมไทยอย่างไร

เราสามารถมีชัยชนะร่วมกันได้โดยไม่นำสู่การเสียเลือดเนื้อ หากเราหาทางสายที่สามที่จะผลักดันไปได้

สุชาติ เศรษฐมาลินี

สถาบันศาสนา วัฒนธรรมและสันติภาพ

มหาวิทยาลัยพายัพ

ผมมีโอกาสคุยกับเพื่อนบ้านที่พูดถึงปรองดองว่า "มันฆ่ามา เราก็ฆ่าไป" ความรู้สึกนี้เป็นความรู้สึกของคนจำนวนมาก

ความรู้สึกของคนไทยจำนวนมากผมมีความเป็นห่วง ยิ่งมีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบความจริง คณะกรรมการ ปรองดองยิ่งทำให้รู้สึกว่าเหตุการณ์อาจจะรุนแรงขึ้น

ถึงแม้มีการสอบสวนว่ามีความผิด แต่เวลาขึ้นศาลอาจถูกปล่อยไป เช่น กรณีตากใบ ผลการสืบสวนครั้งนั้นชัดเจนว่าเจ้าหน้าที่ทำเกินกว่าเหตุ แต่ปรากฏถึงชั้นศาลไม่มีการลงโทษเจ้าหน้าที่ คำพิพากษาบอกว่าคนตายเพราะไม่มีอากาศหายใจ ดังนั้น คณะกรรมการตรวจสอบครั้งนี้ก็หวั่นเกรงว่าจะเป็นแบบนั้น

วันนี้เรามีวัฒนธรรมหลายอย่างเกิดขึ้น ไม่เคยเห็นคือการสังหารด้วย "สไนเปอร์" ซึ่งเป็นอาวุธรุนแรง สังคมไทยความขัดแย้งรุนแรงก้าวข้ามเส้นแบ่ง เส้นแบ่งที่แข็งมาก ปรากฏการณ์เหลือง-แดงนี้ไปทุกที่แม้แต่ในครอบครัว

สิ่งที่รัฐบาลพยายามทำ เช่น การตั้งคณะกรรมการปฏิรูปประเทศที่มีน.พ.ประเวศ วะสี และนายอานันท์ ปันยารชุน เป็นประธานมีการวิจารณ์ว่าคณะปฏิรูปนี้จะมีปัญหา ไม่มีน้ำยา แต่น.พ.ประเวศก็โต้ว่าไม่เกี่ยวกับรัฐบาล แต่มีคำถามว่าโมเดลที่รัฐบาลใช้อยู่เวลานี้ในสังคมไทยจะทำได้หรือไม่ ผมก็ไม่แน่ใจ

ในทุกสังคมการเยียวยาจะเกิดขึ้นได้คือต้องยอมรับความผิดพลาดที่เกิดขึ้น เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ ถ้าบาดแผลเขาถูกมองข้ามการปรองดองจะไม่เกิดขึ้น

ต่อไปคือต้องมีการสารภาพผิด แสดงความเสียใจ ถ้ามีสองอันแรกจะนำไปสู่การให้อภัย ถ้าทำเรื่องนี้ก่อนการปฏิรูปต่างๆ ถึงจะเกิดขึ้น

นอกจากนี้เรื่องสื่อเป็นเรื่องใหญ่ ผมติดตามการชุมนุมของเสื้อแดงอย่างใกล้ชิด แต่พบว่าสื่อเว็บไซต์ถูกปิด สังคมไทยไม่ควรเป็นแบบนี้ สื่อต้องเสรีภาพได้คิดได้แสดงออก แต่บ้านเมืองเราขณะนี้คืออะไร โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้องไม่ใช้ความรุนแรงและการฆ่าฟัน

มาตรการระยะยาวที่เราต้องทำ คือต้องปฏิรูปสถาบันทหาร ซึ่งเราไม่ค่อยพูดถึงกันคือ "ความรับผิดชอบของสถาบันทหารในการสนับสนุนปฏิบัติการเพื่อสร้างสันติภาพ"

เราต้องตั้งคำถามเชิงปรัชญา การอนุญาตให้มีการเข่นฆ่าต้องมีการรับผิดชอบหรือไม่

มาตรการเร่งด่วน คือถ้าคุณอภิสิทธิ์ (เวชชาชีวะ) ต้องการปรองดอง ผมขอแนะนำคือ 1.ต้องประกาศยกเลิก พ.ร.ก. ฉุกเฉินทันที เพราะมันไม่ช่วยรักษาความสงบ

2.ยุติการใช้ภาษาที่เป็นเครื่องมือทาง การเมือง ถือเป็นเกมทางภาษา เช่น ปรองดอง กระชับพื้นที่ ปฏิรูป ผมเป็นห่วงที่สุดคือคำว่า "ผู้ก่อการร้าย" การตีตราและยัดคำว่าผู้ก่อการร้ายให้กับเขา ซึ่งคิดว่าเป็นปัญหาที่สุด

3.เราจำเป็นต้องสร้างบรรยากาศให้เกิดการพูดคุย แสดงความคิดเห็น ความรู้สึก แต่ละกลุ่มจะมีจุดร่วมเพื่อทำให้สังคมไทยสุขสงบมากกว่าที่เป็นอยู่ ผมยังไม่อยากใช้ว่า "ปรองดอง" เพราะผมรู้สึกว่าเป็นคำกลวงๆ ที่ฟังดูไพเราะเท่านั้นเอง

ที่ตั้งคำถามทำไมคนไทยฆ่ากันเอง ถามว่าฆ่าเป็นร้อยแล้วจะปรองดองอย่างไร ที่ภาคใต้ฆ่าแล้ว 4 พันกว่าศพ แต่คนใต้ก็ไม่ได้เคียดแค้น สังคมไทยทุกศาสนายังมีกลไกอีกหลายอย่างมารองรับให้ก้าวไปข้างหน้า ก้าวข้ามความบาดเจ็บ

แต่ทั้งนี้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องจะต้องมีความจริงใจ กล้าหาญ จริยธรรม อยากเรียกร้องความรุนแรงที่เกิดขึ้นวันนี้ ถ้าจะก้าวไปข้างหน้าให้เกิดความสงบสุขเราต้องร่วมกันรับผิด

ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี

ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา

คณะสังคมศาสตร์ มช.

ความขัดแย้งทางการเมืองในช่วงที่ผ่านมามีคำที่ฟังไพเราะ เช่น ปรองดอง กระชับพื้นที่ คำเหล่านี้ในภาษาอังกฤษมันคือคำกลวงๆ ที่ฟังไพเราะ

จอร์จ ออร์เวลล์ (นักวิจารณ์ด้านการ เมืองและวัฒนธรรม ชาวอังกฤษ) บอกว่าความจริงแล้วคืออุปกรณ์ทางการเมือง ไม่มีความหมาย ฉะนั้นไม่ต้องถามหาความหมาย

คำพวกนี้มีหน้าที่ ผู้มีอำนาจเป็นผู้ใช้ สิ่งที่ทำยังใช้เป็นเครื่องมือชักจูงประชาชนเห็นและเชื่อ คำเหล่านี้ต้องอาศัยผู้ฟังที่ฟังอย่างเชื่องๆ จึงมีความหมาย

หน้าที่ของนักวิชาการคือต้องกะเทาะเปลือกมันออกมา เพราะไม่อาจพึ่งพาสื่อกระแสหลักได้

ข่าวส่งเสริมคนดี

จำนวนผู้เข้าเยี่มมชม

link to affordable web hosting
Powered by web hosting provider .

สถิติการเข้าชม DMNEWS

eXTReMe Tracker