เมื่อสัปดาห์ก่อนพูดถึงเรื่องที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.)เป็นผู้ทำลายหลักการและกฎหมายการป้องกันการขัดกันระหว่างผลประโยชน์ส่วนตนกับผลประโยชน์ของรัฐเสียเอง
เนื่องจากมีมติให้ยกคำร้องกรณีที่มีการกล่าวหาว่า นายชาญชัย แสวงศักดิ์ ตุลาการศาลปกครองสูงสุด ขณะเป็นเลขาธิการสำนักงานศาลปกครอง และนางกาญจนารัตน์ ลีวิโรจน์ รองเลขาธิการฯเข้าไปมีส่วนได้เสียในโครงการที่สำนักงานศาลปกครองว่าจ้างสถาบันพระปกเกล้าทำวิจัย โดยบุคคลทั้งสองรับค่าที่ปรึกษาโครงการคนละเกือบ 200,000 บาท ทั้งที่ๆที่เป็นผู้อนุมัติให้ว่าจ้างและตรวจรับงานดังกล่าว
ในระยะเวลาไล่เลี่ยกัน คณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้ทำในลักษณะที่อาจทำให้เข้าใจได้ว่ากำลังบิดเบือนการใช้กฎหมายโดยมีมติเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2553 ให้ยกคำร้องกรณีที่มีการกล่าวหานายวิจิตร ศรีสอ้านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ สมัยรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ว่า กระทำการขัดต่อมาตรา 100 (4) แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 และมาตรา 267 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 เพราะเป็นกรรมการและนายกสภาในสถาบันอุดมศึกษาของเอกชน(มหาวิทยาลัยรังสิต มหาวิทยาลัยสยาม มหาวิทยาลัยศรีปทุม วิทยาลัยเฉลิมกาญจนา วิทยาลัยศรีโสภณ) และของรัฐหลายแห่ง
เหตุผลในการยกคำร้องดังกล่าวสรุปได้ ดังนี้
1.ขณะนายวิจิตรเข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรี ยังอยู่ภายใต้การบังคับใช้รัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2549 ซึ่งมิได้มีบทบัญญัติเกี่ยวกับเหตุแห่งความสิ้นสุดความเป็นรัฐมนตรีกำหนดไว้
2.แม้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 มีบทบัญญัติเกี่ยวกับการสิ้นสุดความเป็นรัฐมนตรีในเหตุแห่งการกระทำที่เป็นขัดกันแห่งผลประโยชน์ มาตรา 265 - 269 แต่บทเฉพาะกาลมาตรา 298 วรรคสาม กำหนดมิให้นำบทบัญญัติที่เกี่ยวกับการกระทำอันเป็นการต้องห้ามตามมาตรา 267 - 269 มาเป็นเหตุสิ้นสุดแห่งความเป็นรัฐมนตรีรัฐมนตรีที่บริหารราชการแผ่นดินอยู่ในวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550
ดังนั้น แม้ว่านายวิจิตร จะดำรงตำแหน่งกรรมการและนายกสภามหาวิทยาลัยเอกชนซึ่งที่ดำเนินธุรกิจโดยมุ่งหาผลกำไรหรือรายได้มาแบ่งปันกัน หรือเป็นกรรมการและมหาวิทยาลัยของรัฐ อันเป็นการต้องห้ามตามมาตรา 267 แต่ได้รับการยกเว้นตามมาตรา 298 วรรคสาม
3. การที่ไม่มีบทบัญญัติเรื่องการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลและประโยชน์ส่วนรวมในรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2549 แสดงให้เห็นว่ารัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว มีความมุ่งหมายที่จะสรรหาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองจากบุคคลต่างๆ หลายแหล่งโดยไม่อยู่ภายใต้บทบัญญัติของหลักการหลายอย่างในรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 และ 2550 รวมทั้งหลักการขัดกันแห่งผลประโยชน์ด้วย
ความมุ่งหมายและเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวได้รับการยืนยันโดยรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 มาตรา 298 (ยกเว้นการบังคับใช้ มาตรามาตรา 265 - 269กับคณะรัฐมนตรี)
ดังนั้น รัฐธรรมนูญ จึงได้บัญญัติยกเว้นอยู่ในตัวมิให้การดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวอยู่ภายใต้บังคับของ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 100(4)
ถ้าอ่านข้ออ้างในการยกคำร้องของคณะกรรมการ ป.ป.ช.อย่างผ่านๆแล้วอาจดูสมเหตุสมผล แต่ถ้าพิจารณาข้อกฎหมายอย่างละเอียดแล้ว เห็นชัดว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช.กำลังตีขลุม(มั่ว?)เอาบทบัญญัติของกฎหมายที่มีสาระคนละเรื่องมาทำให้เป็นเรื่องเดียวกัน
รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 มาตรา 267-268 มีสาระสำคัญเรื่องการห้ามรัฐมนตรีเข้าดำรงตำแหน่ง ห้ามแทรกแซงการทำงานของหน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมถึงห้ามถือสัมปทานหรือเป็นหุ้นส่วนของบริษัทที่ถือสัมปทานของรัฐเท่านั้น
ขณะที่ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยป้องกันและปราบปรามการทุจริตฯ มาตรา 100(4) ที่นายวิจิตรถูกกล่าวหาว่า กระทำการฝ่าฝืนนั้น เป็นการห้ามมิให้รัฐมนตรีเข้าไปมีส่วนได้ส่วนเสียในฐานะกรรมการ ที่ปรึกษา ตัวแทน พนักงานหรือลูกจ้างของธุรกิจเอกชนซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับดูแลหรือตรวจสอบของหน่วยงานรัฐที่รัฐมนตรีเป็นผู้กำกับดูแลเพื่อป้องกันมิให้มีการใช้อำนาจเพื่อช่วยเหลือธุรกิจเอกชนที่ตนมีส่วนได้ส่วนเสียอยู่
ถ้ารัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ต้องการมิให้นำบทบัญญัติในมาตรา 100 ของ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตฯมาบังคับใช้ ก็ควรบัญญัติไว้ให้ชัดเจนเช่นเดียวกับบัญญัติมิให้นำรัฐธรรมนูญมาตรา 267-268 มาบังคับใช้
นอกจากนั้น พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญฯฉบับนี้ยังมีผลบังคับใช้อยู่ในช่วงที่มีการใช้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวซึ่งนายกฯและรัฐมนตรีก็ต้องปฏิบัติตามเช่นเดียวกัน อาทิ การยื่นแสดงรายการบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน ที่แม้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวมิได้บัญญัติให้รัฐมนตรีต้องยื่นแสดงรายการบัญชีทรัพย์สิน แต่รัฐมนตรีก็ต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ
มีรัฐมนตรีหลายคนในรัฐบาลพล.อ.สุรยุทธ์ เช่น ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายวรากรณ์ สามโกเศศ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษา ได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติในมาตรา 100(4) อย่างเคร่งครัดทั้งขณะดำรงตำแหน่งและพ้นจากตำแหน่ง ขณะที่นายวิจิตรกลับละเลยเพิกเฉย
แต่ไม่รู้ทำบุญอะไรไว้ คณะกรรมการ ป.ป.ช.จึงมีมติอุ้มอย่างโจ่งแจ้งแบบไม่อายฟ้าไม่อายดิน