เมื่อวันที่ 26 มิ.ย.53 มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม มูลนิธิผสานวัฒนธรรมออกแถลงการณ์เนื่องในวันต่อต้านการทรมานสากล 26 มิถุนายน 2553 เรียกร้องให้ปิดศูนย์เสริมสร้างสมานฉันท์ (ศูนย์ซักถาม) ตามพรก. ฉุกเฉิน ในค่ายอิงคยุทธ จังหวัดปัตตานี หลังมีผู้ต้องสงสัยเข้าร้องเรียนว่ามีการผู้ทรมานผู้ต้องสงสัยให้รับสารภาพ โดยเจ้าหน้าที่ในศูนย์ซักถามเพื่อให้ได้ข้อมูลหรือคำรับสารภาพจากผู้ถูกควบคุมตัว ซึ่งวิธีการหรือกระบวนการในการสอบปากคำหลายกรณีอาจถือได้ว่าเป็นการทรมานหรือการการปฏิบัติที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรม โดยตั้งแต่เดือนมกราคม พ.ศ. 2552- ปัจจุบัน มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมและมูลนิธิผสานวัฒนธรรมได้รับเรื่องร้องเรียนอย่างน้อย 30 กรณี ที่หลังจากมีการสอบข้อเท็จจริงแล้วน่าเชื่อได้ว่ามีการทำร้ายร่างกายผู้ต้องสงสัยในระหว่างการควบคุมตัวโดยเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงด้วยวิธีการต่างๆ บางรายถูกทำร้ายร่างกายโดยการทุบตีด้วยของแข็ง ถูกผู้สอบปากคำใช้ถุงพลาสติกครอบศีรษะเพื่อไม่ให้หายใจ บางรายถูกบังคับให้ยืน และถูกบังคับไม่ให้นอนโดยใช้ผู้สอบปากคำหลายชุดหมุนเวียนกันเข้ามาสอบ รวมทั้งการสอบปากคำผู้ต้องสงสัยเป็นระยะเวลานานๆ ในห้องเล็กๆที่เปิดเครื่องปรับอากาศในอุณหภูมิที่ต่ำ เป็นต้น
แถลงการณ์ วันต่อต้านการทรมานสากล 26 มิถุนายน 2553 ขอเรียกร้องให้ปิดศูนย์ซักถามตามพรก. ฉุกเฉิน ในค่ายอิงคยุทธ จังหวัดปัตตานี มีการผู้ทรมานผู้ต้องสงสัยให้รับสารภาพและขังเดี่ยว ถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง นับตั้งแต่ปลายเดือนเมษายนถึงต้นเดือนพฤษภาคม ปีพ.ศ. 2553 องค์กรสิทธิมนุษยชนได้รับเรื่องร้องเรียนกรณีที่ผู้ถูกควบคุมตัวในศูนย์เสริมสร้างสมานฉันท์ (ศูนย์ซักถาม) อย่างน้อย 6 ราย ถูกจำกัดในการเยี่ยมจากญาติอย่างผิดปกติ บางคนได้รับอนุญาตให้ญาติพบหน้าในระยะห่าง ๆ เพียงหนึ่งถึงสองนาทีเท่านั้น บางรายไม่ได้รับอนุญาตให้พูดคุยกับญาติอย่างเช่นที่เคยปฏิบัติกันมาตามปกติ ในช่วงกลางเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2553 ญาติร้องเรียนขอให้แพทย์ตรวจร่างกายผู้ถูกควบคุมตัวสองราย โดยสงสัยว่าอาจถูกซ้อมทรมานเนื่องจากพบเห็นผู้ถูกควบคุมตัวมีสภาพร่างกายอ่อนเพลีย ในวันที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2553 มีรายงานว่านายสุไลมาน แนซา เสียชีวิตในห้องขังระหว่างการควบคุมตัวในศูนย์ ด้วยสาเหตุที่ยังสรุปไม่ได้ว่าป็นการผูกคอตายเอง หรือถูกผู้อื่นทำให้เสียชีวิต ศูนย์เสริมสร้างสมานฉันท์ ซึ่งเป็นศูนย์ซักถามผู้ต้องสงสัยว่าจะเกี่ยวข้องกับการก่อความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตามพระราชบัญญัติการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน โดยตั้งอยู่ในค่ายอิงคยุทธบริหาร อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี ใช้เป็นสถานที่ควบคุมตัวผู้ถูกเชิญตัว ซึ่งในทางกฎหมายแล้ว มีสถานะเป็นเพียงผู้ต้องสงสัยว่าจะเกี่ยวข้องกับการก่อความไม่สงบเท่านั้น ไม่มีการตั้งข้อหาว่าบุคคลเหล่านั้นได้กระทำความผิดทางอาญา แต่กลับมีการปฏิบัติต่อผู้ถูกควบคุมตัวเหล่านั้นโดยมาตรฐานทางด้านสิทธิมนุษยชนที่ต่ำกว่าการควบคุมตัวผู้ต้องหา ผู้ถูกควบคุมตัวตาม พรก.ฉุกเฉิน ณ ศูนย์ดังกล่าว ไม่ได้รับอนุญาตให้พบปะกับทนายความเพื่อปรึกษาหรือร้องเรียนเกี่ยวกับสิทธิของตน แม้ญาติจะได้รับอนุญาตให้เยี่ยมได้แต่ในเวลาที่จำกัด การพูดคุยอยู่ภายใต้การควบคุมของเจ้าหน้าที่อย่างใกล้ชิด และในบางกรณีการเยี่ยมญาติหมายถึงเพียงการพาตัวมาให้ญาติได้เห็นหน้าเท่านั้น มีการร้องเรียนว่าผู้ถูกควบคุมตัวบางรายถูกขังเดี่ยวในห้องขังที่ล๊อคกุญแจจากภายนอก ส่งอาหารให้ทางช่องรับอาหาร และไม่อนุญาตติดต่อกับบุคคลภายนอก โดยอาจอนุญาตให้เดินออกมาพบญาติได้เพียงวันละหนึ่งหรือสองนาที ยิ่งไปกว่านั้นยังมีการร้องเรียนเกี่ยวกับวิธีการสอบสวนโดยเจ้าหน้าที่ในศูนย์ซักถามเพื่อให้ได้ข้อมูลหรือคำรับสารภาพจากผู้ถูกควบคุมตัว ซึ่งวิธีการหรือกระบวนการในการสอบปากคำหลายกรณีอาจถือได้ว่าเป็นการทรมานหรือการการปฏิบัติที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรม โดยตั้งแต่เดือนมกราคม พ.ศ. 2552- ปัจจุบัน มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมและมูลนิธิผสานวัฒนธรรมได้รับเรื่องร้องเรียนอย่างน้อย 30 กรณี ที่หลังจากมีการสอบข้อเท็จจริงแล้วน่าเชื่อได้ว่ามีการทำร้ายร่างกายผู้ต้องสงสัยในระหว่างการควบคุมตัวโดยเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงด้วยวิธีการต่างๆ บางรายถูกทำร้ายร่างกายโดยการทุบตีด้วยของแข็ง ถูกผู้สอบปากคำใช้ถุงพลาสติกครอบศีรษะเพื่อไม่ให้หายใจ บางรายถูกบังคับให้ยืน และถูกบังคับไม่ให้นอนโดยใช้ผู้สอบปากคำหลายชุดหมุนเวียนกันเข้ามาสอบ รวมทั้งการสอบปากคำผู้ต้องสงสัยเป็นระยะเวลานานๆ ในห้องเล็กๆที่เปิดเครื่องปรับอากาศในอุณหภูมิที่ต่ำ เป็นต้น เหล่านี้เป็นการกระทำที่ขัดต่ออนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการทรมาน และการประติบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม และที่ย่ำยีศักดิ์ศรี (Convention against Torture and Other Cruel, Inhuman or Degrading Treatment or Punishment- CAT) โดยย่อ “อนุสัญญาต่อต้านการทรมาน” ซึ่งประเทศไทยเป็นรัฐภาคีตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนปีพ.ศ. 2550 และเป็นการละเมิดบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 อย่างชัดแจ้ง การซ้อมทรมานหรือการปฏิบัติที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรมหรือย่ำยีศักดิ์ศรี โดยเจ้าหน้าที่รัฐหรือโดยการรู้เห็นเป็นใจของเจ้าหน้าที่รัฐ ที่กระทำต่อผู้ต้องสงสัยว่าจะเกี่ยวข้องกับการก่อความมาสงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น ยังเกิดขึ้นบ่อยครั้ง ในสถานที่และเงื่อนไขต่างๆ เช่น ในระหว่างการจับกุม ระหว่างการควบคุมตัวมายังสถานีตำรวจหรือสถานที่ควบุคมตัวเพื่อซักถาม หรือการสอบสวน รวมทั้งที่เกิดขึ้นต่อผู้ที่ถูกควบคุมตัวในฐานปฏิบัติการเฉพาะกิจ (ฉก.) อย่างน้อยสองแห่งในจังหวัดนราธิวาส และหนึ่งกรณีมีการร้องเรียนว่าการทำร้ายร่างกายผู้ถูกควบคุมตัวในศูนย์ปฏิบัติการของตำรวจตระเวนชายแดน และล่าสุดมีการร้องเรียนว่าในเรือนจำแห่งหนึ่งในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ผู้ต้องขังในคดีความมั่นคงรายหนึ่งถูกทำร้ายร่างกายจนสลบโดยเจ้าหน้าที่ซึ่งกรณีนี้ทนายความได้ยื่นคำร้องต่อศาลและศาลจังหวัดปัตตานีได้มีคำสั่งให้ไต่สวนในวันจันทร์ที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2553 เป็นต้น มูลนิธิผสานวัฒนธรรมและมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม จึงขอเรียกร้องต่อรัฐบาลและกองทัพบก รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดังนี้ 1. ขอให้ปิดศูนย์เสริมสร้างสมานฉันท์ (ศูนย์ซักถาม) ในค่ายอิงคยุทธบริหาร จ.ปัตตานี ตามอำนาจพรก. ฉุกเฉิน ด้วยเหตุว่าต้องสงสัยมีผู้ทรมานผู้ต้องสงสัยให้สารภาพและมีสภาพเป็นขังเดี่ยวผู้ต้องสงสัยที่ยังไม่ได้รับการตัดสินว่ากระทำความผิดซึ่งเป็นทรมานและเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงขัดกับอนุสัญญาต่อต้านการทรมานที่ประเทศไทยเป็นรัฐภาคีและขัดต่อรัฐธรรมนูญ 2. ขอให้มีการตรวจสอบการใช้อำนาจตามพรก.ฉุกเฉินโดยเฉพาะอย่างยิ่งการปฏิบัติต่อผู้ถูกเชิญตัวหรือผู้ต้องสงสัยที่ยังไม่ถูกตั้งข้อกล่าวหาในศูนย์เสริมสร้างสมานฉันท์ ค่ายอิงคยุทธฯ จังหวัดปัตตานี และเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่รัฐยุติการทรมานหรือปฏิบัติอย่างไร้มนุษยธรรมต่อผู้ถูกเชิญตัวหรือผู้ต้องสงสัยโดยเด็ดขาด 3. หากพบว่ามีการกระทำความผิดตามที่มีเรื่องร้องเรียนจริงทางรัฐบาลและกองทัพต้องดำเนินการลงโทษทางวินัยและทางอาญาเพื่อเป็นการป้องปรามและยุติการซ้อมทรมานซึ่งเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ร้ายแรงขัดต่อกฎหมายในประเทศและขัดต่อหลักการสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ทั้งนี้ที่ผ่านมาการเรียกร้องและร้องเรียนของผู้เสียหายมักไม่ได้รับตรวจสอบอย่างเป็นอิสระ เหยื่อและญาติมักถูกคุกคามและหวาดกลัวอำนาจของเจ้าหน้าที่รัฐ หลายกรณียุติการร้องเรียนและส่งผลให้การซ้อมทรมานเพื่อให้ได้คำสารภาพยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและกลายเป็นเงื่อนไขใช้ความรุนแรงต่อต้านการบังคับใช้กฎหมายของรัฐ 4. จัดให้มีหน่วยงานอิสระเช่น คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ให้มีอำนาจหน้าที่ในการตรวจสอบสถานที่ควบคุมตัวอย่างเป็นประจำ ทั้งสถานที่ควบคุมตัวตามอำนาจตามกฎอัยการศึก และพรก.ฉุกเฉิน รวมทั้งการพัฒนาและจัดให้มีคู่มือการปฏิบัติต่อผู้ต้องสงสัยกรณีการก่อความไม่สงบเพื่อเป็นการปกป้องและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและห้ามไม่ให้มีการซ้อมทรมานโดยเด็ดขาด ในวันที่ 26 มิถุนายน นี้ เป็น วันต่อต้านการทรมานสากล ที่ประกาศโดยองค์การสหประชาชาติ เพื่อให้ประชาชาติต่างๆ ตระหนักถึงปัญหาของการทรมานที่ยังเกิดขึ้นอย่างแพร่หลาย ให้สังคมช่วยกันต่อต้าน หยุดยั้งการทรมาน หรือการปฏิบัติที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรี ช่วยเหลือเหยื่อที่ถูกทรมาน มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมและมูลนิธผสานวัฒนธรรม จึงขอเรียกร้องให้ทุกฝ่ายร่วมกันขจัดการทรมาน และการประติบัติหรือลงโทษที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม และย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ทุกรูปแบบ และร่วมกันยืนยันว่า การทรมานเป็นอาชญากรรมและต้องห้ามโดยไม่ว่าในสถานการณ์ เหตุผล หรือเงื่อนไขใดๆ โดยไม่มีข้อยกเว้น 26 มิถุนายน 2553 มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม มูลนิธผสานวัฒนธรรม ที่มา: http://www.macmuslim.com/index.php?option=com_content&view=article&id=211:--26--2553&lang=th |