บล็อคข่าวส่งเสริมคนดี (รักดีหามจั่ว รักชั่วหามเสา หามจั่วก็หนักนะ)

ข่าวจากสื่อ

บทความจากสื่อ

วันศุกร์ที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2553

จะปรองดองกันได้ ต้องตระหนักถึงการเผยแผ่ความเกลียดชังให้ได้ก่อน

ที่มา ประชาไท

ข้อสังเกตบางประการเกี่ยวกับการเผยแผ่ความเกลียดชังของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ถึงแม้ม็อบพันธมิตรจะดูเหมือนหยุดการเคลื่อนไหวไปนานแล้ว แต่กลุ่มเสื้อหลากสีที่ออกมาเมื่อไม่นานมานี้ก็หาความเชื่อมโยงไปยังกลุ่มพันธมิตรได้ไม่ยาก เมื่อพิจารณาการเคลื่อนไหวและการเผยแผ่ข้อมูลข่าวสารของกลุ่มพันธมิตรฯ ซึ่งรวมถึงสื่อในเครือผู้จัดการ เราจะเห็นความเหมือนอย่างน่าตกใจของเทคนิคที่ใช้ในการเผยแผ่ข้อมูลของพันธมิตรฯ กับเทคนิคที่กลุ่มหัวรุนแรงนิยมใช้

กลุ่มหัวรุนแรงในที่นี้หมายถึงกลุ่มองค์กรหรือการเคลื่อนไหวที่เผยแผ่ความเกลียดชัง ภาษาอังกฤษใช้คำว่า hate group กลุ่มเผยแผ่ความเกลียดชังที่คนไทยส่วนใหญ่รู้จักน่าจะเป็นพวก นาซีเยอรมัน หรือ พวก Ku Klux Klan (KKK) ซึ่งเป็นพวกเหยียดเชื้อชาติหรือเหยียดผิว แต่ในความเป็นจริง กลุ่มหัวรุนแรงที่เผยแผ่ความเกลียดชังยังรวมถึงพวกต่อต้านกลุ่มรักร่วมเพศ พวกต่อต้านการทำแท้งกลุ่มต่อต้านศาสนา หรือต่อต้านผู้อพยพ เป็นต้น ส่วนเทคนิคในการเผยแผ่โฆษณาชวนเชื่อ ในที่นี้หมายถึงเทคนิคในการชักจูงซึ่งพยายามโน้มนำความคิดเห็น ความรู้สึก ทัศนคติ หรือพฤติกรรมของกลุ่มคน อันที่จริงการโฆษณาชวนเชื่อไม่ใช่สิ่งที่เลวร้ายหรือดีงามมันเป็นเพียงการจูงใจและสามารถใช้เพื่อวัตถุประสงค์ที่ดีหรือประสงค์ร้ายได้

กลุ่มหัวรุนแรงที่เผยแผ่ความเกลียดชัง ปั้นแต่งคำพูด ภาพถ่าย หรือสื่ออื่นๆ ผ่านการโฆษณาชวนเชื่อ
- เพื่อให้เกิดความรู้สึกว่าตนเองเหนือกว่า ฉลาดกว่า
- เพื่อฉวยโอกาสใช้ความรู้สึกไม่ปลอดภัย หรือความหวาดกลัว ในการทำให้ฝ่ายตรงข้ามกลายเป็น ปิศาจ
- เพื่อนำเสนออุดมการณ์และแนวความคิดของตนให้คนทั่วไปเข้าใจว่า นี่คือความจริง

เทคนิคการโฆษณาชวนเชื่อที่จะกล่าวต่อไปนี้ มีการนำมาใช้กันมากในสื่อที่องค์กรของกลุ่มหัวรุนแรงเผยแผ่ความเกลียดชังบางครั้งมีการนำหลายๆ เทคนิคมาประกอบกันเพื่อให้มีประสิทธิผลสูงสุดและส่งผ่านความเกลียดชังไปสู่คนหมู่มากได้

การเล่นคำและการเรียกชื่อ
กลุ่มหัวรุนแรงที่เผยแผ่ความเกลียดชังมักชอบประดิษฐ์คำเพื่อสร้างกรอบให้กับมุมมองของตนให้ดูดีที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เช่น พวกคนผิวขาวที่เหยียดเชื้อชาติ จะไม่เรียกตัวเองว่าเป็นพวกเหยียดผิว (Racist) แต่จะนิยามตัวเองว่าเป็นพวกตระหนักถึงความแตกต่างระหว่างเชื้อชาติ (racialist) ซึ่งเป็นคำที่เกิดขึ้นมาไม่นานและไม่มีประวัติอันด่างพร้อยมาก่อน
ในกรณีของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ซึ่งเรียกร้องการถวายคืนพระราชอำนาจ จึงมิอาจเรียกตนเองว่า “กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อราชาธิปไตย” ได้ เพราะยุคสมัยมันเลยจุดนั้นมามากแล้ว อีกอย่างพรรคการเมืองใหม่คงจะไม่อยากเอาระบอบเก่ามาใช้ในขณะที่นำเสนอตนเองว่าเป็น การเมืองใหม่ และจะบอกว่าตนสนับสนุนเผด็จการครึ่งใบ (อันที่จริงระบบ 70/30 นั้นเป็นเผด็จการมากกว่าครึ่งใบ) ก็คงทำไม่ได้เช่นกัน นอกจากนั้นยังมีการตั้งชื่อให้ฝ่ายตรงข้ามแบบลดความเป็นมนุษย์ลง เช่น ใช้คำนำหน้าว่า ไอ้- อี- หรือเรียกฝ่าย นปช. ว่า หางแดง ไพร่แดง เป็นต้น

การใช้สัญลักษณ์และรูปภาพ
กลุ่มหัวรุนแรงที่เผยแผ่ความเกลียดชังเข้าใจดีถึงพลังของสัญลักษณ์ในการใช้เป็นสิ่งหล่อหลอมกลุ่มคนที่มีอุดมการณ์เดียวกันดังนั้นจึงมีรูปภาพและสัญลักษณ์บ่งบอกอัตลักษณ์ของกลุ่มตน เพื่อที่จะทำให้กลุ่มของตนเป็นที่ยอมรับ จึงไม่แปลกที่กลุ่มหัวรุนแรงจะนิยมเอาสัญลักษณ์ที่คนส่วนใหญ่คุ้นเคยมาใช้ เช่น กางเขนเคลติก มงกุฎ หรือ ภาษาโบราณของพวกยุโรปเหนือ (pagan runes)

กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ให้ความสำคัญกับการใช้สัญลักษณ์เช่นกัน สังเกตเห็นได้จากมีการออกแบบโลโก้ออกแบบฉากบนเวทีให้เห็นนักการเมืองเป็นสัตว์ประหลาดไม่ใช่คน รวมไปถึงการทำเหรียญที่ระลึก ในแง่ของสัญลักษณ์ที่คนส่วนใหญ่คุ้นเคย เราจะเห็นรูปนกพิราบอยู่ในกรอบแขนสี่เหลี่ยมที่ประสานมือกัน

การอิงศาสนา
กลุ่มหัวรุนแรงที่เผยแผ่ความเกลียดชัง ถึงแม้ไม่ได้เกี่ยวข้องกับศาสนาโดยตรงก็มักอ้างหลักคำสอน หรือใช้คำทางศาสนามาสร้างความประทับใจว่าสิ่งที่ตนทำนั้นพระเจ้ารับรอง เช่นหัวหน้ากลุ่มมักเรียกตัวเองว่าบาทหลวง สาธุคุณ (pastor) หรือจุดมุ่งหมายของกลุ่มมักเรียกว่า บัญญัติ (commandment)

เจ้าลัทธิพันธมิตรฯ มักพูดอยู่เสมอว่า “เราเอา ธรรม นำหน้า” หรือ “พ่อแม่ครูบาอาจารย์สอนไว้ว่า” หรือการนุ่งขาวห่มขาวทำพิธีประพรมน้ำมนต์ให้กับสาวกที่เวทีพันธมิตร รวมไปถึงการที่เครือข่ายพันธมิตรอ้างบทวิพากษ์“ประชาธิปไตย” ของท่านพุทธทาสภิกขุโดยไม่อธิบายว่าท่านพุทธทาสกล่าวไว้ในบริบทแห่งการต่อสู้อย่างเข้มข้นของอุดมการณ์ทางการเมืองสองแบบในช่วงสงครามเย็น(ระหว่างวันที่ 3 กรกฎาคม 2519 ถึงวันที่ 25 กันยายน 2519 )


การอ้างความชอบธรรมทางวิชาการ
การใช้วิทยาศาสตร์หรือผลงานทางวิชาการมาสร้างความชอบธรรมให้กับอุดมการณ์ของกลุ่มตน เช่น การอ้างงานวิชาการหรือการนำเสนออุดมการณ์ทางการเมืองในรูปแบบเสมือนวิชาการ (pseudo-science) พวกนี้จะนำเสนอผลงานทางวิชาการของกลุ่มที่มีแนวคิดเดียวกับตนและทำให้ดูเสมือนเป็นกลางและปราศจากอคติ เป็นการผูกขาดความถูกต้องไว้เพียงกลุ่มเดียว
กลุ่มพันธมิตรฯ โชคดีกว่ากลุ่มหัวรุนแรงต่างชาติตรงที่ไม่ต้องอ้างอิงผลงานวิชาการมาสร้างความชอบธรรมให้กับอุดมการณ์ของกลุ่มตน เพราะพันธมิตรมีนักวิชาการของตนเองคอยเขียนบทความให้หรือแม้กระทั่งร่วมปราศรัยบนเวที นักวิชาการสายพันธมิตรที่รู้จักกันดี เช่น ดร. ชัยอนันต์ สมุทวณิช ดร. ปราโมทย์ นาครทรรพ ดร.ภูวดล ทรงประเสริฐ ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง และ ดร.จรัส สุวรรณมาลา เป็นต้น


การใช้ลัทธิชาตินิยม
เมื่อกลุ่มเหยียดผิวกล่าวถึงชาตินิยมหรือความเป็นพลเมืองจะอยู่ในบริบทของการปกป้องคนผิวขาวจากการถูกรุกรานของผู้อพยพเชื้อชาติอื่น กลุ่มหัวรุนแรงที่เผยแผ่ความเกลียดชังจะใช้แง่บวกของลัทธิชาตินิยม เช่น ความจงรักภักดี ความมีสกุลรุนชาติ อัตลักษณ์ชาติ เพื่อบันดาลใจผู้คนให้เข้าร่วมกับกลุ่มตน

ลัทธิคลั่งชาติของพันธมิตรฯ ทำงานได้ดีเกินเป้า พันธมิตรฯ ชูประเด็นปกป้อง ชาติ ศาสน์ กษัตริย์ เป็นประเด็นหลัก หลังจากประเด็นทุจริตคอร์รัปชันปลุกกระแสต้านทักษิณได้ไม่มากเท่าที่ต้องการ พันธมิตรฯ ปลุกกระแสทักษิณขายชาติ จนต้องลุกขึ้นมาร่วมกัน “กู้ชาติ” ในแง่ศาสนา พันธมิตรฯ ปลุกกระแสเรื่อง “เจ้ามูลเมือง” ไปจนถึงพาผู้ชุมนุมไปทำลายรูปปั้นหน้าเหมือนนักการเมืองที่ฐานพระประธานชินวัตรมุนี ในอุโบสถวัดบางละมุง จ.ชลบุรี รวมทั้งการเชื่อมโยงฝ่ายทักษิณกับวัดดังย่านคลองหลวง ปทุมธานี การปกป้องสถาบันกษัตริย์ก็เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่พันธมิตรฯ ใช้ในการดึงมวลชนให้เข้าร่วมกับกลุ่มตนได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยการกล่าวหาอดีตนายกฯ อดีตผู้บัญชาการทหารสูงสุด นักวิชาการ สื่อทางเลือก ไปจนถึงสื่อในเครือมติชน


การแพร่กระจายความกลัว
กลุ่มหัวรุนแรงที่เผยแผ่ความเกลียดชังบางกลุ่มจะใช้การแพร่กระจายความกลัว เพื่อโหมกระพือความเชื่อที่ว่า คนบางกลุ่มเป็นภัยสังคม เช่น เชื่อมโยงผู้อพยพกับอาชญากรรม โรคระบาด หรือการก่อการร้าย

การเผยแผ่ความกลัวเรื่องการยกทรัพยากรทางทะเลให้เขมร เรื่องระบอบทักษิณจะกลับมา ประเทศชาติจะล่มจม ไทยจะเหมือนฟิลิปปินส์ ขบวนการล้มล้างสถาบัน การเปลี่ยนแปลงรูปแบบการปกครอง จนกระทั่งเร็วๆ นี้ เรื่องกลุ่มก่อการร้าย ฯลฯ ความเชื่อเหล่านี้ถูกผลิตซ้ำแล้วซ้ำอีกจากกลุ่มพันธมิตรฯ ในช่วงที่ นปช. เริ่มเข้ามาชุมนุมใน กทม. ASTV แพร่ภาพเหตุการณ์สงกรานต์ ๒๕๕๒ ซ้ำแล้วซ้ำเล่า เพื่อสร้างความหวาดกลัวให้กับคนกรุงเทพฯ


การใช้เทคนิคของนักมายากล (smoke and mirrors)
ไม่ใช่ว่ากลุ่มหัวรุนแรงที่เผยแผ่ความเกลียดชังจะแสดงความคิดเห็นอย่างตรงไปตรงมาเสมอไป บางครั้งจะทำการดิสเครดิตกลุ่มอื่นโดยเชื่อมโยงคนกลุ่มนั้นกับอาชญากรรมหรือโรคระบาดแทนที่จะเปิดเผยเจตนาเกลียดชังอย่างโจ่งแจ้ง บางกลุ่มอาจจะใช้ข้อมูลจากบทความที่ได้รับความน่าเชื่อถือหรือใช้ข้อมูลทางสถิติที่เอื้อประโยชน์กลุ่มของตน

ในกรณีนี้พันธมิตร นิยมใช้วิธีพูดความจริงเพียงครึ่งเดียว นำเสนอข้อมูลทางสถิติหรือข่าวสารที่เอื้อประโยชน์กลุ่มตน เช่นการกล่าวอ้างเรื่องการไม่พร้อมของคนอีสานกับระบอบประชาธิปไตย หรือการอ้างว่าประชาธิปไตยไม่เหมาะกับประเทศที่คนไม่ค่อยมีการศึกษาโดยไม่เคยกล่าวถึงความตื่นตัวทางการเมืองของคนอีสานในการใช้สิทธิ์เลือกตั้ง หรือตัวอย่างประชาธิปไตยอันมั่นคงยาวนานในอินเดีย ประเทศที่มีประชากรไม่รู้หนังสือจำนวนมาก (35.16% census 2001) เมื่อเทียบกับประเทศไทยซึ่งมีผู้ไม่รู้หนังสือเพียง 7%.

การนิพนธ์ประวัติศาสตร์ (Revisionism)
พวกที่เขียนประวัติศาสตร์ขึ้นมาใหม่ คือคนที่นำเสนอประวัติศาสตร์ที่ได้มีการปรับปรุง (revised) แล้ว หรือชำระแล้ว โดยมักนำเสนอให้ดูเหมือนว่าตนเองไม่มีอคติใดๆ แต่ในความเป็นจริงจะจัดเรียงข้อเท็จจริงในอดีตเพื่อส่งเสริมการตีความประวัติศาสตร์ให้เข้าข้างจุดมุ่งหมายของตน ที่เห็นได้ชัดคือพวกที่เสนอแนวคิดว่า “การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวในช่วงสงครามโลกครั้งที่สองไม่เคยเกิดขึ้นจริง”

กรณีของพันธมิตรฯ คงไม่มีเรื่องใดชัดเจนเท่ากับกรณีเขาพระวิหาร กับวาทกรรม “ศาลโลกตัดสินเฉพาะตัวปราสาทแต่ไม่ได้ตัดสินเรื่องผืนดินใต้ปราสาท” หรือ “ขอมไม่ใช่เขมร” การแก้ประวัติศาสตร์ไม่ใช่เรื่องยากของกลุ่มพันธมิตรฯ เมื่อพิจารณาจากเจ้าลัทธิซึ่งเรียนมาทางด้านประวัติศาสตร์ หรือนักวิชาการสายพันธมิตรฯ อย่าง ดร.ภูวดล ซึ่งเป็นอาจารย์สอนวิชาประวัติศาสตร์ ถึงแม้นักประวัติศาสตร์หลายท่านจะออกมาอธิบายให้สาธารณชนทำความเข้าใจถึงผลการตัดสินของศาลโลกการขออนุญาตขึ้นชมเขาพระวิหารของกรมฯ ดำรง ฯลฯ ก็ไม่สามารถต้านกระแสการนิพนธ์ประวัติศาสตร์ของกลุ่มพันธมิตรฯ ได้ ยิ่งบวกกับการใช้ลัทธิคลั่งชาติกล่าวหาฝ่ายตรงข้ามว่าไม่รักชาติ ทำให้พันธมิตรฯ หาแนวร่วมเพิ่มได้ไม่ยาก ในขณะเดียวกันก็ทำให้คนที่มีแนวคิดไม่เหมือนพันธมิตรฯ สงบปากสงบคำลงได้ด้วย

จากตัวอย่างที่ยกมาทั้งหมดเราจะเห็นได้ว่า เทคนิคที่ใช้ในการเผยแผ่ข้อมูลของกลุ่มพันธมิตรฯ กับเทคนิคที่กลุ่มหัวรุนแรงนิยมใช้นั้นเหมือนกันอย่างน่าตกใจ ผู้เขียนเชื่อว่า พันธมิตรฯ คงไม่ได้ตั้งใจและคงไม่อยากให้วิธีการของตน ไปเหมือนกับวิธีการของกลุ่มเหยียดผิวเป็นแน่ แล้วเหตุใด? วิธีการของพันธมิตรฯ จึงได้ถลำลึกลงไปสู่หุบเหวแห่งความเกลียดชังได้? สาเหตุน่าจะเป็นเพราะ พันธมิตรฯ ไม่เลือกวิธีการที่ใช้ ขอให้บรรลุเป้าหมายได้เป็นพอ เหตุผลที่พันธมิตรฯอ้างมักมี ๒ ประการด้วยกัน คือ: ใช้วิธีโจรสู้กับโจร และ เพื่อรักษาสถาบันสูงสุดเอาไว้ แม้จะต้องละเมิดหลักการอื่นไปบ้าง ก็ต้องทำ


บทส่งท้าย
ถึงแม้ว่ารัฐ ไม่ควรที่จะควบคุมเนื้อหาที่สื่อจะนำเสนอ รัฐสามารถส่งเสริมให้เกิดสมดุลได้โดยการชี้ให้สังคมเห็นถึงการเผยแผ่ความรุนแรงที่แต่ละกลุ่มได้ทำลงไป จะโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม นอกจากนั้นรัฐยังสามารถตอบโต้กลุ่มที่เผยแผ่ความโกรธ เกลียด กลัว โดยการสนับสนุนสื่อทางเลือกที่มีอิสระและมีคุณภาพ และหลีกเลี่ยงคำพูดที่ก่อให้เกิดความเกลียดชัง เช่น คนไทยหรือเปล่า? ผู้ก่อการร้าย ขบวนการล้มเจ้า รัฐไทยใหม่ ฯลฯ

สังคมเองก็สามารถทำให้การเผยแผ่ความเกลียดชังลดลงได้ ด้วยการสร้างความตระหนักและมีสติรู้เท่าทันเทคนิคการเผยแผ่ความโกรธ เกลียด กลัว และร่วมกันประณามผู้ที่ใช้เทคนิคดังกล่าวหรือแม้แต่ประณามรัฐที่ปล่อยให้มีการเผยแผ่ความเกลียดชังเพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับตนเอง นอกจากนั้นสังคมต้องช่วยกันกระตุ้นให้เหตุผลได้ทำงานและฝึกตั้งคำถามกับสิ่งที่ได้ยินได้ฟังมา อย่าให้ใครผูกขาดความจริงและความถูกต้องไว้แต่เพียงผู้เดียว และโดยเฉพาะอย่างยิ่งอย่าให้ใครผูกขาดความรักชาติไว้เพียงกลุ่มเดียว


อ้างอิง
http://www.media-awareness.ca/english/resources/educational/overheads/online_hate/prop_techniques_overhead.cfm
http://en.wikipedia.org/wiki/Hate_group
http://en.wikipedia.org/wiki/White_supremacist
http://en.wikipedia.org/wiki/Hate_speech
http://www.natvan.com/

ข่าวส่งเสริมคนดี

จำนวนผู้เข้าเยี่มมชม

link to affordable web hosting
Powered by web hosting provider .

สถิติการเข้าชม DMNEWS

eXTReMe Tracker