บล็อคข่าวส่งเสริมคนดี (รักดีหามจั่ว รักชั่วหามเสา หามจั่วก็หนักนะ)

ข่าวจากสื่อ

บทความจากสื่อ

วันอาทิตย์ที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2553

เวทีในระบบ ปะทุภาวะสงคราม

ที่มา ไทยรัฐ

โดย ทีมการเมือง

Pic_92101

การเมืองเริ่มคึกคักขึ้นมาอีกครั้ง

เมื่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กำหนดให้มีการเลือกตั้งซ่อม ส.ส.กทม.เขต 6 แทนนายทิวา เงินยวง อดีต ส.ส.กทม. พรรคประชาธิปัตย์ ที่เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็ง

โดยกำหนดเปิดสมัครรับเลือกตั้งในวันที่ 28 มิถุนายนนี้ และกำหนดให้มีการเลือกตั้งซ่อม ในวันอาทิตย์ที่ 25 กรกฎาคม

ทั้งนี้ แม้การเลือกตั้งซ่อม ส.ส.เขต 6 กทม. ที่ประกอบ ด้วย 4 เขตปกครอง ได้แก่ เขตบึงกุม คลองสามวา คันนายาว และหนองจอก

เป็นเขตเลือกตั้งเล็กๆ ของกรุงเทพมหานคร เดิมพันชิงเก้าอี้ ส.ส.แค่ 1 ที่นั่ง

แต่การเลือกตั้งซ่อมครั้งนี้ ถือว่ามีความสำคัญและมีนัยทางการเมืองที่แตกประเด็นออกไปอีกมากมาย

เพราะถึงแม้จะเป็นเขตเลือกตั้งซ่อมเล็กๆ แต่เป็นเขตที่อยู่ในเมืองหลวง ศูนย์กลางของประเทศ

ที่สำคัญ เป็นการเลือกตั้ง ส.ส.ที่มีขึ้นเป็นครั้งแรก หลังเกิดเหตุการณ์ความสูญเสียครั้งใหญ่จากปัญหาความขัดแย้งวิกฤติม็อบเสื้อแดงในห้วงระหว่างวันที่ 12 มีนาคมถึงวันที่ 19 พฤษภาคม ที่ผ่านมา

ที่มีปัญหาความรุนแรงจากการปะทะกัน ระหว่างฝ่าย ทหารกับกลุ่มผู้ชุมนุม และกองกำลังติดอาวุธที่แฝงตัวอยู่ ในม็อบหลายระลอก

โดยเฉพาะเหตุการณ์ขอคืนพื้นที่สะพานผ่านฟ้าลีลาศ และสี่แยกคอกวัว เมื่อวันที่ 10 เมษายน และเหตุการณ์ กระชับพื้นที่ปิดล้อมสี่แยกราชประสงค์ เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม

เป็นเหตุให้ทั้งฝ่ายทหารและกลุ่มม็อบเสื้อแดง เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บเป็นจำนวนมาก

และยังเกิดเหตุจลาจลเผาบ้านเผาเมืองตามมา ส่งผลให้อาคารห้างสรรพสินค้าในย่านธุรกิจสำคัญใจกลางกรุงเทพฯพินาศเสียหาย

ลามไปถึงต่างจังหวัด ทั้งภาคเหนือและภาคอีสาน ศาลากลางและสถานที่ราชการหลายแห่ง ถูกเผาวางเพลิงเสียหายวายวอด
ถือเป็นความสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ของประเทศไทย

แม้เหตุการณ์วิกฤติม็อบเสื้อแดงยุติลงไปแล้ว โดยแกนนำกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) หลายคนเข้ามอบตัวสู้คดีก่อการร้าย และถูกควบคุมตัวในเรือนจำระหว่างการสอบสวน ขณะที่แกนนำบางส่วนยังหลบหนี

แต่เงื่อนปมต่างๆที่เกี่ยวโยงกับเหตุการณ์ครั้งนี้ยังไม่จบลงไปด้วย เห็นได้จากการที่ฝ่ายค้าน พรรคเพื่อไทย นำมาเป็นประเด็นยื่นญัตติเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล

รวมทั้งเดินเรื่องร้องเรียนองค์กรต่างๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ให้เข้ามาตรวจสอบกรณีรัฐบาลสั่งใช้กำลังทหารปราบปรามประชาชน

ขยายผลขยายแผลทางการเมืองอย่างเต็มที่

แน่นอน เมื่อมีการเลือกตั้งซ่อม ส.ส.เกิดขึ้นในห้วงคาบเกี่ยวกับเหตุการณ์วิกฤติม็อบเสื้อแดงที่เพิ่งผ่านมาหมาดๆ

การเลือกตั้งครั้งนี้ ย่อมต้องร้อนแรงตามไปด้วย

การต่อสู้ทางการเมืองที่รุนแรงเข้มข้น ระหว่างฝ่ายค้านกับรัฐบาล จะถูกย่อส่วนและอัดลงไปในช่วงการทำศึกเลือกตั้งซ่อมในพื้นที่เล็กๆเขตนี้

จนทำให้สนามเลือกตั้งซ่อม ส.ส.เขต 6 กทม. กลายเป็นเวทีปะทุความขัดแย้งและความแตกแยกทางการเมืองที่รุนแรงกว่าทุกครั้ง

สนามเลือกตั้งแห่งนี้จะเป็นเวทีประลองกำลังระหว่างขั้วการเมืองที่ต่อสู้ช่วงชิงอำนาจการปกครองในประเทศ ไทยอย่างดุเดือดเอาเป็นเอาตาย

ล่าสุด พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะแชมป์ เก่า มีมติส่งนายพนิช วิกิตเศรษฐ์ อดีตกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ ลงสมัครเพื่อรักษาพื้นที่

พรรคเพื่อไทย มีมติส่งนายก่อแก้ว พิกุลทอง แกนนำกลุ่ม นปช. ลงชิงเก้าอี้

โดยก่อนหน้านี้ พรรคเพื่อไทยได้วางตัว นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำคนสำคัญของกลุ่ม นปช. ที่ถูกควบคุมตัวอยู่ในเรือนจำระหว่างสอบสวนในคดีก่อการร้าย ให้ลงสมัคร รับเลือกตั้งซ่อม ส.ส.กทม. แต่ติดปัญหาคุณสมบัติผู้สมัคร ส.ส.ในเรื่องภูมิลำเนา

จึงต้องปรับแผนเปลี่ยนมาใช้ บริการนายก่อแก้วที่ถูกควบคุมตัวอยู่ในเรือนจำระหว่างการสอบสวนในคดีก่อการร้ายเช่นกัน

ขณะที่พรรคการเมืองใหม่ ประกาศจะส่ง พล.อ.กิตติศักดิ์ รัฐประเสริฐ กรรมการบริหารพรรคฯ ลงประเดิมสนามเลือกตั้ง

แต่สุดท้าย พล.อ.กิตติศักดิ์กลับลำขอถอนตัว ไม่ลงสมัครรับเลือกตั้ง โดยอ้างว่าไม่ขอร่วมสังฆกรรมในการเลือกตั้งกับผู้ก่อการร้าย

สำหรับนายพนิช จากพรรคประชาธิปัตย์ จบปริญญาโทด้านเศรษฐศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยบอสตัน เคยเป็นกรรมการบริหาร และประธานเจ้าหน้าที่บริษัทหลักทรัพย์การจัดการกองทุน อยุธยา เจเอฟ จำกัด เคยเป็นรองผู้ว่าฯ กทม. และกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการต่างประเทศ

ส่วนนายก่อแก้ว จากพรรคเพื่อไทย จบปริญญาโทด้านบริหารจากมหาวิทยาลัยกรุงเทพ เคยรักษาการ ผอ.องค์การรับส่งสินค้าและพัสดุภัณฑ์ (ร.ส.พ.) และเป็นแกนนำกลุ่ม นปช. แดงทั้งแผ่นดิน

ถูกควบคุมตัวอยู่ในเรือนจำระหว่างการสอบสวนในคดีก่อการร้าย แต่ศาลอนุญาตให้ออกจากเรือนจำเพื่อไปลงสมัครรับเลือกตั้งซ่อม ส.ส.ได้ และให้ควบคุมตัวกลับเข้าเรือนจำตามเดิม

เมื่อดูจากตัวผู้สมัครและพรรคที่สังกัด สะท้อนชัดว่า การชิงชัยในสนามเลือกตั้งซ่อมเขต 6 กทม.

เป็นการทำศึกของ 2 ขั้วการเมืองที่ขัดแย้งกันอย่างรุนแรง


ที่สำคัญ ผลการเลือกตั้งที่จะออกมา ยังถือเป็นตัวชี้วัดทางการเมืองของคนกรุงเทพฯที่มีต่อการเมือง 2 ขั้วในหลายประเด็น

ทั้งเรื่องผลงานรัฐบาลภายใต้การนำของพรรคประชาธิปัตย์ที่เข้ามาทำงานบริหารบ้านเมืองในห้วง 1 ปี 6 เดือนที่ผ่านมา

มีผลงานสร้างความพึงพอใจให้ประชาชนคนกรุงเทพฯมากน้อยแค่ไหน และต้องการให้บริหารประเทศต่อไปหรือไม่

ขณะเดียวกัน ก็เป็นการวัดผลความพึงพอใจของชาวกรุงเทพฯที่มีต่อการทำหน้าที่ของฝ่ายค้าน พรรคเพื่อไทย ไปพร้อมๆกันว่า

ทำหน้าที่ในการตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลได้อย่างมีคุณภาพและสร้างสรรค์มากน้อยเพียงใด

พูดง่ายๆ ว่าใช้ผลการเลือกตั้งซ่อม วัดความนิยมของพรรคกันไปในตัว

นอกจากนี้ จากการที่พรรคเพื่อไทยจงใจส่งนายก่อแก้ว แกนนำกลุ่ม นปช. ที่ถูกควบคุมตัวอยู่ในเรือนจำ เพื่อ สอบสวนคดีก่อการร้ายในห้วงวิกฤติม็อบเสื้อแดง ลงสมัคร รับเลือกตั้งซ่อม ส.ส.กทม.ในคราวนี้

ถือเป็นการวัดกระแสระหว่างกลุ่มมวลชนเสื้อแดงกับฝ่ายรัฐบาล พรรคประชาธิปัตย์ที่กุมอำนาจรัฐภายหลังเกิดเหตุการณ์ความวุ่นวายจากวิกฤติม็อบเสื้อแดง

คนกรุงเทพฯคิดอย่างไร สนับสนุนฝ่ายไหน สะท้อนผ่านการเลือกตั้งได้เหมือนกัน

อย่างไรก็ตาม หากสำรวจในด้านปัจจัยชี้ขาดในการ เลือกตั้งซ่อม ส.ส.เขต 6 กทม. ในครั้งนี้ ต้องยอมรับว่า

ในด้านฐานมวลชนในพื้นที่ของเขตเลือกตั้งนี้ ทั้งพรรคประชาธิปัตย์และพรรคเพื่อไทย ต่างก็สลับกันยึดครองพื้นที่

โดยในการเลือกตั้งใหญ่ปี 2550 พรรคประชาธิปัตย์ ได้ ส.ส.ในเขตนี้ 2 คน ขณะที่พรรคเพื่อไทย ที่แปลงร่างมาจากพรรคพลังประชาชนได้ ส.ส. 1 คน

มาถึงการเลือกตั้งซ่อมครั้งนี้ ต้องยอมรับว่าพรรคประชาธิปัตย์มีความได้เปรียบในด้านพื้นที่


เพราะคนของพรรคประชาธิปัตย์ ได้เข้าไปคุมการบริหารราชการกรุงเทพมหานคร ทำงานในพื้นที่มาตลอด

นอกจากนี้ก็ยังได้เปรียบในเรื่องของอำนาจรัฐ เพราะเป็นพรรคแกนนำรัฐบาล

ในขณะที่พรรคเพื่อไทยแม้จะเป็นฝ่ายค้าน ไม่ได้คุมอำนาจรัฐ และ การบริหารกรุงเทพมหานคร

แต่ก็ต้องยอมรับว่า เขตเลือกตั้งนี้ พื้นที่บางส่วนอยู่ในโซนชายขอบกรุงเทพฯ ที่เป็นพื้นที่ฐานเสียงดั้งเดิมของพรรคเพื่อไทย

รวมทั้งเป็นพื้นที่ที่มี

ฐานมวลชนคนเสื้อแดงหนาแน่นเป็นปึกแผ่น ง่ายต่อการจัดตั้งจัด หาคะแนนเสียง

ดูจากสภาพ โดยรวมแล้ว ถือเป็นการต่อสู้ที่สูสีกันมาก

ส่วนปัจจัยในเรื่องของกำลังทุนในการหาเสียงหาคะแนน ในสถานการณ์ที่การต่อสู้ในสนามเลือกตั้งอยู่ในระดับสูสีอย่างนี้

เชื่อได้ว่า ทั้งพรรคประชาธิปัตย์และพรรคเพื่อไทย ต้องทุ่มเทกันเต็มที่ ชนิดที่ไม่มีใครยอมใครอย่างแน่นอน

เพราะผลการเลือกตั้งที่ออกมา จะเป็นทั้งการชี้วัดความนิยมและชี้นำกระแสการเมืองภาพรวมของกรุงเทพฯในอนาคต

อย่างไรก็ตาม มาถึงวันนี้การทำศึกเลือกตั้งซ่อม ส.ส. เขต 6 กทม. เพิ่งจะเริ่มเปิดฉาก จึงยังไม่สามารถพยากรณ์ ได้ว่าพรรคไหนจะคว้าชัยชนะ

แต่ที่แน่ๆ และมองเห็นกันอยู่ตรงหน้าก็คือ การทำศึกเลือกตั้งซ่อมคราวนี้ จะเป็นการต่อสู้ที่ดุเดือดร้อนแรง

โดยเฉพาะการปราศรัยหาเสียงจะมีการขยายแผลเหตุการณ์วิกฤติม็อบเสื้อแดง ทั้งเรื่องทหารปราบปรามประชาชน และกลุ่มก่อการร้ายติดอาวุธที่แฝงอยู่ในม็อบ จะถูกกระพือขึ้นมาโจมตีตอบโต้กันอย่างเผ็ดร้อน

กระเทือนไปถึงการเดินหน้าแผนปรองดองของรัฐบาลอย่างแน่นอน

ที่สำคัญ ภายใต้บรรยากาศที่เร้าด้วยความรุนแรง ในกรณีซาเล้งบอมบ์หวังถล่มพรรคภูมิใจไทย ตามด้วยข่าว กรองจากหน่วยความมั่นคงที่ระบุมีคนบางกลุ่มเคลื่อนไหวเตรียมก่อเหตุสร้างความรุนแรง

จึงเป็นเรื่องที่น่ากังวลอย่างยิ่งว่า เวทีเลือกตั้งซ่อมครั้งนี้จะกลายเป็นเวทีปะทุสงคราม

และกว่าผลการเลือกตั้งจะออกมา อาจมีเหตุทำให้ผวา ฝันร้ายกันอีก.

ข่าวส่งเสริมคนดี

จำนวนผู้เข้าเยี่มมชม

link to affordable web hosting
Powered by web hosting provider .

สถิติการเข้าชม DMNEWS

eXTReMe Tracker