ใครกัน คือ ผู้ที่ทำลายประเทศชาติตัวจริง? ใครกัน คือ บ่อนทำลายให้ประชาชนหันหน้าเข้ามาห้ำหั่นกัน? คำถามเหล่านี้ถูกโยนมาให้ “รัฐบาล” และ “สื่อสารมวลชน” เป็นผู้ตอบ...เพราะต่างเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการ “สมานแผล” ให้เกิดความสามัคคีปรองดองขึ้นในสังคม แต่ความเป็นจริง “สื่อสารมวลชน”
กับ “รัฐบาล” ยังไม่คิดที่จะปรองดองกัน...แล้วพวกเขาจะไปสร้างความปรองดองให้เกิดขึ้นแก่คนในสังคมได้อย่างไร ที่เป็นเช่นนี้ เพราะเหตุผลสำคัญคือการไม่รู้จักคำว่า “หน้าที่”“สื่อมวลชน” มีหน้าที่ตรวจสอบข้อมูลและนำเสนอข้อเท็จจริงที่ถูกต้อง “รัฐบาล” มีหน้าที่บริหารและราชการแผ่นดิน และพร้อมเสมอกับ
การรับการตรวจสอบ แล้วใครกันคือ “ผู้ที่ล้ำเส้น” ทำตัวเป็นมาเฟียประเทศ...สั่งการปิดหูปิตาปิดปากประชาชน...เพียงเพื่อให้ “ความจริง” ไม่กลายมาเป็นภัยมาทำร้ายตัวพวกเขาเอง ดูตัวอย่างได้จากปีนี้ คือ ช่วงเวลาครบรอบ 10 ปีแห่งการสรรหาคณะกรรมการกิจการการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์แห่งชาติ (กสช.)
ตาม พ.ร.บ.การจัดสรรคลื่นความถี่ปี 2543 แต่ทำไมเวลายิ่งผ่าน...การบริหารงานกลับยิ่งล้มเหลว เพราะล่าสุดรัฐบาล “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” ได้ร่างกฎหมายเพื่อขัดขวางมิให้ผู้มีส่วนได้ – ส่วนเสียเข้ามานั่งเป็นคณะกรรมการ...ซึ่งดูท่าจะ “ล้มเหลว” ตั้งแต่ยังไม่ตั้งไข่ การประกาศพรก.ฉุกเฉิน จึงมีเบื้องลึก
เบื้องหลังเกี่ยวกับการจัดสรรสื่อ เพราะทันทีที่การชุมนุมกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ถูกสอดไส้ด้วยผู้ก่อการร้ายบุก เผา ยิง ระเบิดจนวอดวาย ส่งผลให้รัฐบาลออกหน้าโดย ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) มีใบสั่ง “กำจัด” กลุ่มคนเสื้อแดง จริงๆ แล้ว “สื่อ” ต้องเป็น
เครื่องมือสำคัญที่จะตอบคำถามให้ความกระจ่างกับสังคมแทนรัฐบาลเกี่ยวกับเรื่องราวที่เกิดขึ้น แต่ทำไมรัฐบาลกลับมองว่าสื่อคือ “ชนวน” ที่ก่อให้เกิดความไม่สงบภายในประเทศ รัฐบาลจึงปฏิบัติการควบคุมสื่อทุกแขนงโดยให้เหตุผลว่า “เข้าข่าย ยุ แหย่ให้เกิดความไม่สงบ” ก่อนสั่งระงับการเผยแพร่สื่อตลอดจน
การเรียกพบเพื่อทำข้อตกลง “บางกอกทูเดย์” ได้รับรายงานจาก “วิชาญ อุ่นอก” เลขาธิการสหพันธ์วิทยุชุมชนแห่งชาติ ว่า...ช่วงการชุมนุมทางการเมืองได้มีการหนังสือส่งไปยังวิทยุชุมชนทั่วประเทศเพื่อให้สถานีวิทยุชุมชนควบคุมเนื้อหารายการที่จะออกอากาศ โดยพยายามให้หลีกเลี่ยงการตั้งคำถามเกี่ยวกับนโยบาย
การทำงานของรัฐบาล หลังจากนั้นได้มีการเชิญตัวแทนวิทยุชุมชนไปทำความเข้าใจที่ ศอฉ. โดยระบุว่า...การชุมนุมของกลุ่มเสื้อแดงนั้นผิดกฎหมายห้ามวิทยุชุมชนเสนอข่าว รวมทั้งขอความร่วมมือให้วิทยุชุมชนเป็นช่องทางการสื่อสารของรัฐบาลด้วย นอกจากนี้ยังมีการเรียกวิทยุชุมชนเข้าลงบันทึกความร่วมมือ...
เพื่อควบคุมเนื้อหาในการออกอากาศซึ่งดำเนินการโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่ หลังเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมืองมีคำสั่งปิดวิทยุชุมชนรวม 14 สถานี ทั้งในรูปแบบมีหนังสือเป็นลายลักษณ์อักษรและใช้กองกำลังทหารเขาไปรื้อและย้ายที่ทำการสถานี ที่ผ่านมา...วิทยุชุมชนต้องการเรียกร้องให้รัฐบาลออกมาแสดงความชัดเจน
ในการสั่งระงับการออกอากาศอย่างไม่มีกำหนด...แต่ก็ไม่มีสัญญาณใดๆ ตอบรับ โดยสถานีที่โดนชะลอสิทธิ์ออกอากาศและโดนเพิกถอนสิทธิการออกอากาศ...นอกจากจะมีปัญหาเรื่องเอกสารไม่ครบถ้วนแล้ว หลายสถานีได้มีการนำเสนอรายทางที่มีเนื้อหาทางการเมือง ซึ่งเป็นสิทธิที่สามารถสื่อสารได้ และข้อมูล
ที่นำเสนอก็ไม่ได้เข้าข่ายที่จะนำไปสู่ความรุนแรง แต่อาจจะอยู่ในลักษณะที่วิจารณ์การทำงานของรัฐบาล สุเทพ วิไลเลิศ เลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ ระบุว่า หลังจากรัฐบาลได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินโดยอาศัยอำนาจตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548
เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2553 และมอบหมายให้ศอฉ. รับผิดชอบหน้าที่ในการรักษาความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ ได้มีการ “สั่งปิดเว็บไซต์” ไปจำนวนมาก โดยไม่มีการชี้แจงว่า...ปิดเพราะอะไร? หรือ ศอฉ. ใช้อำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดแต่เพียงผู้เดียว โดยไม่ผ่านอำนาจของตุลาการ สื่อ กับ รัฐ...เปรียบเสมือน
หยิน กับ หยาง เพราะถูกสร้างขึ้นมาเพื่อให้เกิด “ความสมดุล” แต่วันนี้ใครกันที่ทำให้ความสมดุลเหล่านั้นสูญสิ้นไป...ใครกันที่ไม่รู้จักหน้าที่ของตนเอง “มีอำนาจ” แล้วใช้อย่างหน้ามืดตามัว เชื่อว่าประชาชนคงตอบได้ “สื่อ” หรือ “รัฐ” ที่ควรถูกจับขึ้นเขียง...โดนชำแหละเพื่อให้เกิดการปฏิรูป!