ดร.นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ เคยเป็นคณบดี คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มา 6 ปี ล่าสุด นักรัฐศาสตร์ ผู้เขียนหนังสือ " การปฎิวัติสยาม 2475" ได้รับการแต่งตั้งจากรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะให้เข้ามาร่วมแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2550 แต่เจ้าตัวบอกว่า "อย่าเรียกผมว่า อรหันต์ ไม่ชอบเลย ไม่ได้อยากจะเป็นด้วย"
สุดสัปดาห์ที่ผ่านมา "ดร.นครินทร์ "ได้รับเชิญไปอภิปรายเรื่อง แนวโน้มสถานะประชาธิปไตยไทย ท่ามกลางความขัดแย้ง" ณ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย แนวคิดและทัศนะของนักรัฐศาสตร์ผู้นี้น่าสนใจ "มติชนออนไลน์" จึงนำมาเสนอผู้อ่าน แบบเต็มๆ
@มรดกทางการเมืองจาก 2475 ถึงปฎิวัติใหญ่ 2540
ผมในฐานะที่เป็นนักเรียนรัฐศาสตร์ และนักเรียนประวัติศาสตร์ ต้องเริ่มต้นว่า ประชาธิปไตยไทยและประชาธิปไตยของทุกประเทศ มีความมหัศจรรย์ แม้มีรูปแบบความเป็นมาจากแหล่งใด แต่เมื่อไปเติบโตในสังคมใดสังคมหนึ่ง จะมีเนื้อหาที่คลุกเคล้าไปกับสังคมนั้นเสมอ ฉะนั้น สิ่งที่ต้องประเมิน มีอยู่ 2 มิติ คือ มิติทางประวัติศาสตร์ กับ มิติทางสังคม
มิติทางประวัติศาสตร์นั้น ประชาธิปไตยไทยในหลายสิบปีทีผ่านมา ไม่ได้อยู่นิ่งกับที่ แต่มีวิวัฒนาการและจุดพลิกผันอยู่หลายจุด แต่ละจุดมีมรดกตกทอด มาจนถึงปัจจุบัน ในช่วง 25 ปีแรกของประชาธิปไตยไทย มีลักษณะกึ่งประชาธิปไตย โดยคณะราษฎร มีบทบาทนำ หลายคนบอกว่าเป็นเผด็จการ แต่ผมว่า ไม่ใช่ เพราะมีการเลือกตั้ง ตั้งแต่ยุคแรกแล้ว
ความจริงในช่วง 25 ปีแรก เรามีนักการเมืองผู้ยิ่งใหญ่สายอีสานหลายคน ไม่ว่าจะเป็น เตียง ศิริขันธ์ ทองอินทร์ ภูริพัฒน์ ที่มาจากการเลือกตั้ง แล้ว คนกรุงเทพก็ไม่ควรลืม ไถง สุวรรณทัต จะบอกว่ายุคนี้เป็นเผด็จการ คงไม่ใช่ เพราะมีการเลือกตั้ง เป็นประชาธิปไตยที่กึ่งผสมผสานระหว่างพลังของสังคมกับพลังของคณะราษฎร ผมเรียกว่า กึ่งประชาธิปไตย ที่คณะราษฎรมีบทบาทนำ ความจริงมีมรดกที่ตกทอดมาถึงปัจจุบันหลายเรื่อง
ความขัดแย้งทางการเมืองในขณะนี้ ทำให้ผมนึกถึงประวัติศาสตร์ที่เคยเกิดขึ้นมาแล้ว หลังรัฐประหาร 2490 เรามีรัฐบาลคู่ มีนายกรัฐมนตรี 2 คน อยู่ 7-8 เดือน กบฎบวรเดช มีการยิงถล่มกันที่กรุงเทพดอนเมือง หลายเดือน นายทหารชั้นผู้ใหญ่ตายไปหลายคน เรื่องเหล่านี้ เคยเกิดขึ้นมาแล้ว
นี่ยังไม่พูดเรื่องการเนรเทศ ผู้นำออกนอกประเทศ อย่าลืมว่า นายกรัฐมนตรีคนแรก พระยามโนปกรณ์นิติธาดา เป็นนายกรัฐมนตรี เดือนเดียว แต่พอพ้นตำแหน่งต้องไปอยู่เมืองนอก 14 ปี และสิ้นชีวิตที่ปีนัง มาเลเซีย นี่ยังไม่พูดถึง พระยาพหลพลพยุหเสนา แม้ไม่ได้ถูกเนรเทศ แต่ก็ถูก อาจารย์ปรีดี พนมยงค์ และหลวงพิบูลย์สงคราม จัดการ
16 ปีถัดมา 2500-2516 เราก้าวเข้ามาสู่ยุคทหารปกครองประเทศจริงๆ เป็นเผด็จการเต็มรูป หรือ ประชาธิปไตยแบบไทยๆ มรดกของยุคนี้คือ ประกาศคณะปฎิวัติ ธรรมนูญ มาตรา 17 ความจริง คนที่เติบใหญ่ในการเมืองไทยขณะนี้ ต่างได้ประโยชน์จากการพัฒนาประเทศสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ และจอมพลถนอม กิตติขจร ทั้งสิ้น โดยเฉพาะโครงสร้างพื้นฐานการศึกษา ระบบมหาวิทยาลัย และระบบการเกษตรกรรมแบบใหม่ในชนบท คนที่ทำพืชไร เติบโต ในสมัยจอมพลสฤษดิ์ ทั้งสิ้น ไม่เช่นนั้น เราจะไม่มีคำว่า เจ้าพ่อ เกิดขึ้น เจ้าพ่อก็คือ ชาวนาที่ร่ำรวย
@ รัฐบาลผสมไม่ใช่ปัญหาของการเมือง
หลังปี 2516 การเมืองไทย ได้ก้าวไปสู่อีกยุคที่การเมืองไทยมีการแบ่งปันอำนาจกันหลายฝ่าย ถ้าดูรัฐบาลไทย ตั้งแต่ปี 2517 จนถึงปี 2540 จะพบว่าเป็นรัฐบาลผสมทั้งหมด อาจเป็นการผสมระหว่างนักการเมืองกับข้าราชการ นักรัฐศาสตร์หลายคน เรียกว่า กึ่งพรรคการเมือง กึ่งข้าราชการ หรือ พลังการตลาด กับ พลังของรัฐ แต่อีกมิติหนึ่ง คือ การผสมกันระหว่างผู้นำในกรุงเทพกับผู้นำในต่างจังหวัด ในปี 2517 -2518 เราเห็นการเติบใหญ่ของผู้นำจากชนบท หลายคนก้าวขึ้นมาเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการ รัฐมนตรีว่าการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และนายกรัฐมนตรี
การก้าวเข้าสู่ประชาธิปไตยเต็มรูปแบบ เราต้องนึกถึงผู้นำจากชนบท ว่า เขาต้องมีที่มีทาง ถ้านับจากคะแนนเสียงจาการเลือกตั้ง คนกรุงเทพ ปกครองประเทศไม่ได้ ถ้าไม่มี ส.ส. จากต่างจังหวัด มาร่วมด้วยช่วยกัน แน่นอนว่า รัฐบาลผสม มีความผันผวน มีการรัฐประหาร แม้ว่าจะไม่ค่อยประสบความสำเร็จ แต่หลังปี 2520 เกิดความวุ่นวายมาก เป็นช่วงเวลาแห่งการแบ่งปันอำนาจของฝ่ายต่างๆ
ช่วงนั้น นักวิชาการ สื่อ นักธุรกิจ ภาคประชาชน ต่าง รังเกียจ ไม่ชอบเลยกับ คำว่า รัฐบาลผสม แต่สำหรับนักการเมือง ไม่มีปัญหาเลยกับรัฐบาลผสม เหตุที่คนไม่ชอบรัฐบาลผสม เพราะเชื่อว่า เป็นรัฐบาลที่ฮั้วกัน ต่างคนต่างมาแบ่งประเทศกินกัน มองแง่ร้ายมาก ทั้งๆ ที่ รัฐบาลผสม เป็นเรื่องที่ท้าทายความรู้ทางรัฐศาสตร์มาก เพราะรัฐบาลในยุโรปทั้งหมดเป็นรัฐบาลผสม แต่เราตอนนั้น ไม่อยากได้รัฐบาลผสม เราอยากได้รัฐบาล 2 พรรค แต่ท้ายที่สุด เราได้รัฐบาลพรรคเดียว
แต่ที่น่าสนใจคือ ปี 2540 สิ่งที่เกิดขึ้นในปีนี้ ทำให้การเมืองไทย ต้องเป็นอยู่ทุกวันนี้ หลายคนชอบ หลายคนไม่เข้าใจ นั่นคือ การนำหลักการตรวจสอบ ผมถือว่าหลังปี 2540 ในความเห็นของผม คือ การปฎิวัติใหญ่ เป็นการเปลี่ยนแปลงระบบการเมืองจริงๆ เพราะระบบการตรวจสอบ ทำให้การเมืองแบบรัฐสภา ดั้งเดิม ที่เป็นการแบ่งปันอำนาจกันระหว่างหลายฝ่าย เปลี่ยนแปลงไป เพราะมีตัวละครเพิ่มเข้ามา นั่นก็คือ บรรดา องค์กรอิสระต่างๆ มีการตรวจสอบการใช้อำนาจ
การเปลี่ยนแปลงในปี 2540 เป็นมรดกตกทอดมาถึงปัจจุบัน จะชอบหรือไม่ชอบก็ตาม เรามีศาลรัฐธรรมนูญ ศาลปกครอง คณะกรรมการการเลือกตั้ง คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน ผู้ตรวจการแผ่นดิน คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน คำถามคือ ใครเป็นคนอนุญาตให้ องค์กรพวกนี้ เข้ามาในการเมืองไทย เราไปเอาเข้ามาได้อย่างไร ความจริง เราต้องสำรวจตัวเองว่า ทำไมเราเอาระบบพวกนี้เข้ามา
ผมยังจำได้ว่า ตอนแรกที่มี ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง แรกๆ คนก็ไม่เข้าใจว่า ศาลฎีกาของนักการเมือง ทำงานอย่างไร เพราะไม่มีใครอยากทำคดีนักการเมือง ท้ายที่สุด นายรักเกียรติ สุขธนะ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขก็ติดคุก และที่สำคัญคือ อดีตนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ก็ต้องมาขึ้นศาลฎีกาแห่งนี้ หลังปี 2540 เนื้อหาประชาธิปไตยไทยเปลี่ยนไปจริงๆ
@ อย่าเอาระบบคิวซีมาใช้กับร้านขายข้าวแกง
ผมอยากเรียกระบบตรวจสอบที่เกิดขึ้นในปี 2540 ว่าเป็นระบบ คิวซี ผมเชื่อว่า คนไทยทำข้าวแกงมานาน แต่ถ้าเอาระบบคิวซี มาใช้กับร้านขายข้าวแกง ผมกล้ายืนยันว่า ร้านขายข้าวแกง เจ๊ง อยู่ไม่ได้ ไล่มาตั้งแต่การปรุงอาหาร การล้างจาน การกำจัดของเสีย สุขอนามัยต่างๆ เอาระบบคิวซี มาตรวจสอบ ร้านข้าวแกง ไม่ได้ เจ๊งทั้งระบบ แน่ๆ แต่เราก็เอาระบบคิวซี เข้ามาในการเมืองไทย หลายคนยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน วุ่นวายมาก ตรวจสอบกันวุ่นวาย เป็นกติกาที่มัดคอตัวเอง เราเดินมาถึงจุดที่เราไม่เคยมีประสบการณ์มาก่อน เป็นการตรวจสอบที่ต้องมีลายลักษณ์อักษร ปัญหาหนึ่งก็คือ บ้านเรามีคนเรียนกฎหมายมหาชน น้อยเกินไป ส่วนใหญ่คนเรียนกฎหมายบ้านเราเรียนกฎหมายแพ่งพาณิชย์ ทำให้สังคมเรามีรากฐานทางกฎหมายมหาชนที่ไม่เข้มแข็ง จนเกิดปัญหาการตีความ การใช้กฎหมายวุ่นวายไปหมด
เรื่องที่สองที่ผมจะกล่าวคือ มิติทางสังคม ประชาธิปไตย ไม่ได้เกิดในสุญญากาศ แต่มันเกิดในสภาพสังคมใดสังคมหนึ่งเสมอ สังคมไทยมีลักษณะพิเศษมาก เราเป็นสังคมที่ไม่มีการตั้งถิ่นฐานที่ยาวนาน เราเป็นพวกที่ชอบ เคลื่อนไหว นักมนุษยวิทยา บอกว่า คนไทย โมบาย หรือ เคลื่อนที่ตลอด ผมไม่เคยเจอว่า ชุมชนใดที่ตั้งถิ่นฐานมายาวนาน 700 ปี สังคมไทยมีโครงสร้างการรวมกลุ่ม ตรงกลาง และอุทิศทำงานเพื่อส่วนกลาง น้อยมาก อ่อนแอมาก สะท้อนผ่าน สมาคมต่างๆ หรือ นิติบุคคลอาคารชุด
ทุกคนอยากได้บริการดีๆ แต่ไม่มีใครอยากจ่าย ไม่ใครอยากทำงาน ไม่มีใครอยากเสียสละ คนไทยไม่มีชีวิตตรงกลาง เมื่อเป็นเช่นนี้ ประชาธิปไตยจะเคลื่อนโดนกลุ่มคนชั้นนำ เพราะตัวสมาคมไม่ทำงาน สังคมไทยก็เป็นแบบนี้ หากมองผ่าน องค์กรปกครองท้องถิ่นกว่า 7,500 แห่ง ทั้ง อบต. เทศบาล มีการประชุมปีละไม่เกิน 4 ครั้ง เพื่อประชุมผ่านงบประมาณเท่านั้น
นี่คือ ชีวิตการเมืองของไทย ที่มีลักษณะพิเศษ เฉพาะมาก การเคลื่อนไหวทางการเมืองทั้งหมด เคลื่อนไหวโดยนักเคลื่อนไหวจริงๆ ไม่มากนัก ชีวิตระดับกลาง ประชาคม ท้องถิ่นก็เหมือนกัน มีแต่รูป ไม่มีเนื้อหา สาระอยู่ภายใน ไม่มีแก่นสาร ไม่มีใครยอมเสียสละ ไม่มีใครอยากทำงาน ถ้าจะเปลี่ยนแปลง ต้องฝ่าฝัน ต้องบากบั่น สร้างวัฒนธรรม และองค์กรใหม่ อีกมาก
@ สังคมแตกแยก หลากหลาย แต่ต้องศิวิไลซ์
จริงๆ แล้ว สังคมไทยมีความหลากหลายมากกว่าที่เราคิด และแตกแยกมากกว่าที่เราคิด เพียงแต่ว่าคนกรุงเทพมองชนบท ก็มองว่าเป็นหนึ่งเดียว เป็นเอกภาพเดียว แต่ชนชั้นในชนบท ไม่ใช่มีแค่ชาวนารวย ชาวนาจน แต่มีพวกรวยเก่า พวกรวยใหม่ มีกลางบน และกลางล่าง จนแบบไม่มีที่ดินทำกิน ในชนบทมี 5-6 ชนชั้น แต่คนกรุงเทพมองว่า คนชนบท ชาวนาเหมือนกันหมด แต่จริง ๆ มีความแตกต่างกันมาก ยิ่งในเมืองยิ่งแตกต่าง หลากหลาย ฉะนั้นอย่าไปมองว่า สังคมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน
ผมไม่ค่อยห่วงจินตภาพตรงนี้ แตกต่างไม่เป็นไร แต่ปัญหาว่า มันศิวิไลซ์ หรือเปล่า ต่างหาก คือความแตกแยกมันต้องอยู่กับความศิวิไลซ์ด้วย สิ่งที่ผมสนใจคือ สังคมที่แตกแยก มันต้องมีความศิวิไลซ์ และต้องมีนวัตกรรม ด้วย เช่น ถ้าเรามีสหภาพแรงงานที่เข้มแข็ง ผมยืนยันได้ว่า เราจะมีพรรคแรงงงานที่เข้มแข็ง เช่นเดียวกันถ้าเราไม่มีกลุ่มเกษตรกร ก็จะไม่มีพรรคเกษตร มันเป็นฐานที่ต่อเนื่องกัน
สิ่งที่น่าสนใจคือ ในทางการเมือง หลายสังคมที่แตกแยก แต่การเมืองนิ่งได้ เพราะสังคมไม่ใช่การเมืองทั้งหมด สังคมไทยมีคน 63-65 ล้านคน แต่คนในการเมืองมีเพียงไม่กี่พันคน แต่ปัญหาที่ผ่านมา การเมือง ไประดมให้คนมาเล่นการเมือง เหมือนเป็นความเชื่อทางศาสนาไปเลย การเมืองเป็นส่วนย่อยที่ต้องพัฒนากฎกติกา ให้ศิวิไลซ์
@ ฟันธงเลือกตั้งต้นปีหน้า สูตรผสมพันธ์ ความจำสั้น
ผมไม่อยากให้คาดหวังว่า รัฐไทยจะศิวิไลซ์ ทำไมเราไมคาดหวังว่า รัฐไทยจะศิวิไลซ์ รัฐในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไม่ใช่รัฐที่ศิวิไลซ์ มันไม่ได้มีความเป็นเสรีนิยม มาก่อน เป็นพื้นฐาน ถ้าเราเป็นเสรีนิยมมาก่อนเป็นพื้นฐาน ต้องเป็นแบบแองโกลแซกซอน รัฐไทยโดยธรรมชาติ มีแนวโน้มจะเป็นรัฐบาลอำนาจนิยม เช่น รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ใช้ประกาศคณะปฎิวัติ ถ้าเป็นรัฐบาลประชาธิปไตยจริงๆ ต้องกวาด ประกาศคณะปฎิวัติออกไปให้หมด จริงๆ แล้ว เราไม่ได้ศิวิไลซ์ขนาดนั้น
เท่าที่ผมมีข้อมูล เลือกตั้งต้นปีหน้า ผมไม่เชื่อว่า จะเลือกตั้ง 2 สัปดาห์ก่อนครบเทอม อย่างที่ดร.ฐิตินันท์ พงษ์สุทธิรักษ์เชื่อ ถ้าแหล่งข่าว ผมไม่ผิด เลือกตั้งต้นปีหน้า ผมเชื่อว่า นายกฯอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ก็อยากเป็นสุภาพบุรุษ ยกเว้นว่า มีการระเบิด มีการเผา ก็เลือกตั้งต้นปีหน้าไม่ได้
จริงๆ แล้ว ฝ่ายบริหารที่ดี จะไม่ประกาศยุบสภาล่วงหน้า เหตุผลเพราะ ประกาศยุบสภาแล้ว กลไกจะไม่ทำงาน ทุกอย่างจะหยุดนิ่ง เพราะข้าราชการคาดหวังว่า รัฐบาลจะอยู่ไม่นานแล้ว ฉะนั้น ต้องอย่าบอกวันหมดอายุ ครับ ผมเห็นต่างจากอาจารย์ฐิตินันท์ ผมเห็นว่า รัฐบาลอภิสิทธิ์ ไม่กลัวการเลือกตั้ง ผมคุยกับแกนนำพรรคบางคน การเมืองหลังการเลือกตั้งจะเป็นสูตรที่ดีที่สุดคือ พรรคการเมืองใหม่ผสมพันธ์กัน เป็นรัฐบาลผสม
สังคมไทยมีความมหัศจรรย์ มีข้อดี อย่างหนึ่งคือ ความจำสั้น อย่าจำอะไรนาน ความจำยาว จะมีความอาฆาตแค้นกันข้ามชั่วรุ่นคน แต่จริงแล้ว คนไทยความจำสั้น เกิดขึ้นเมื่อวานก็ลืมแล้ว เชื่อผมเถอะ แน่นอนว่า ความจำก็ดีอย่างหนึ่ง เหมาะกับคนเรียนประวัติศาสตร์ ถ้าความจำไม่ดี เขียนประวัติศาสตร์ไม่ได้
แต่จำมากไปก็ไม่ดี เพราจะทำให้เราทำงานกับคนรอบข้างไม่ได้เลย ผู้นำไทยก็มีสภาพความจำสั้น ไม่เคยรู้ว่าความขัดแย้งที่ผ่านมาเป็นอย่างไร ผมจำได้ว่า เหตุการณ์หลัง 6 ตุลาคม 2519 น่ากลัวกว่าครั้งนี้ เช่นเดียวกับกบฎบวรเดช มีการสู้รบกันถึง หินกอง ถึงโคราช กบฎแมนแฮตตันก็น่ากลัวกว่านี้ เราลืมไปหมดแล้ว
ผมว่า ความจำน้อยดีกว่า จะได้ปรองดองกันง่ายๆ