สำนักงาน กกต. 28 พ.ค.- คณะกรรมการด้านกิจการพรรคการเมือง กกต.ยกร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ. เสร็จแล้ว มี 42 มาตรา เตรียมเสนอที่ประชุม กกต. พิจารณา พรุ่งนี้ (29 พ.ค.)
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คณะกรรมการด้านกิจการพรรคการเมือง ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีการประชุมพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ.... โดยเห็นชอบเนื้อหาสาระที่คณะกรรมการยกร่างเสนอมา และจะมีการนำเข้าสู่ที่ประชุม กกต.ในวันพรุ่งนี้ ( 29 พ.ค.) ซึ่งร่างกฎหมายดังกล่าวมี 42 มาตรา เนื้อหาสาระเป็นการผสมผสานระหว่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ. 2541 ประกาศสภาร่างรัฐธรรมนูญเรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการว่าด้วยการเผยแพร่ร่างรัฐธรรมนูญและการออกเสียงประชามติ พ.ศ.2550 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยความเรียบร้อย ในการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ 2550 รวมทั้งมีการนำบางมาตราใน พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.และการได้มาซึ่ง ส.ว. พ.ศ.2550 มาใส่ไว้ด้วย
สาระสำคัญในการออกเสียงประชามติ พ.ศ. ....ประกอบด้วย มาตรา5 ในกรณีที่จะมีการดำเนินการจัดทำประชามติ ตามมาตรา 165 ( 1) ของรัฐธรรมนูญ ให้มีการออกประกาศของนายกรัฐมนตรี เพื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษา โดยจะต้องมีรายละเอียด 1. กำหนดเรื่องในการจัดทำประชามติ ซึ่งจะต้องมีข้อความที่ชัดเจนเพียงพอ ที่จะขอคำปรึกษาจากผู้มีสิทธิออกเสียงว่า จะลงคะแนนเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบ ในเรื่องที่จะจัดทำประชามติ 2. กำหนดว่าการจัดให้มีการออกเสียง ดังกล่าวเป็นไปเพื่อให้มีข้อยุติ โดยเสียงข้างมากของผู้มีสิทธิออกเสียงหรือ เป็นไปเพื่อให้คำปรึกษาแก่คณะรัฐมนตรี
มาตรา 6 เมื่อมีประกาศของนายกรัฐมนตรีให้มีการออกเสียงประชามติแล้วภายใน 7 วัน ให้ กกต. ประกาศกำหนดวันออกเสียงประชามติในราชกิจจานุเบกษา โดยวันออกเสียง ต้องไม่ก่อน 45 วัน แต่ไม่ช้ากว่า 90 วัน นับแต่วันประกาศกำหนดวันออกเสียงประชามติในราชกิจจานุเบกษา และการออกเสียงประชามติต้องกระทำภายในวันเดียวกันทั่วราชอานาจักร หรือวันเดียวกันทั้งเขต ออกเสียง แล้วแต่กรณี
มาตรา 7 การออกเสียงให้ใช้วิธีการการออกเสียงลงคะแนนโดยตรงและลับ มาตรา 8 ผลการออกเสียงกรณีที่เป็นการออกเสียง เพื่อให้มีข้อยุติโดยเสียงข้างมากของผู้มีสิทธิออกเสียง หากปรากฏว่า ผู้มาใช้สิทธิออกเสียงเป็นจำนวนไม่เกินกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนผู้มีสิทธิออกเสียงให้ถือว่าประชาชนโดยเสียงข้างมาก ไม่เห็นชอบด้วยกับเรื่องที่จัดทำประชามติ แต่ถ้ามีผู้มาใช้สิทธิเกินกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนผู้มีสิทธิออกเสียงและปรากฏว่า ผู้ออกเสียงโดยเสียงข้างมากให้ความเห็นชอบให้ถือว่าประชาชนโดยเสียงข้างมากเห็นชอบด้วยกับเรื่องที่จัดทำประชามตินั้น
มาตรา 10 เมื่อมีประกาศกำหนดการออกเสียงประชามติแล้ว ให้ กกต.หรือผู้ซึ่ง กกต.มอบหมายดำเนินการให้ข้อมูลและจัดให้มีการเผยแพร่เอกสารเกี่ยวกับเรื่องที่จัดทำประชามติ เพื่อให้ผู้มีสิทธิออกเสียงทราบ รวมทั้งจัดให้มีการแสดงความคิดเห็นโดยอิสระและเท่าเทียมกัน ทั้งผู้ที่เห็นชอบและไม่เห็นชอบในเรื่องที่จัดทำประชามติ
มาตรา 20 การลงคะแนนในบัตรออกเสียงประชามติให้ผู้ออกเสียงทำเครื่องหมายกากบาท ในช่องทำเครื่องหมายใต้ข้อความแสดงความคิดเห็นที่ผู้ออกเสียงเลือก มาตรา 21 ในวันออกเสียงประชามติให้เปิดการลงคะแนนออกเสียงตั้งแต่เวลา 08.00 น.ถึง 15.00 น.
มาตรา 24 กรณีที่การออกเสียงประชามติกระทำทั่วราชอาณาจักร ผู้มีสิทธิออกเสียงผู้ใดอยู่ในจังหวัดอื่น นอกจังหวัดที่ตนมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน หรือมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านติดต่อกันเป็นเวลาน้อยกว่า 90 วัน หากประสงค์จะใช้สิทธิออกเสียงในจังหวัดที่ตนเองอยู่ต้องมาลงทะเบียนขอใช้สิทธิออกเสียงนอกเขตจังหวัดก่อนวันออกเสียงไม่น้อยกว่า 30 วัน
มาตรา 33 เมื่อได้ผลการออกเสียงประชามติจากที่ออกเสียงทุกแห่งแล้วให้ กกต.ประกาศผลการออกเสียง และจำนวนผู้มาใช้สิทธิออกเสียง และหากเป็นการใช้สิทธิออกเสียงประชามติ ตามมาตรา 165 ( 1 ) ของรัฐธรรมนูญให้ประกาศในราชกิจานุเบกษาโดยเร็วและแจ้งผลไปยังนายกรัฐมนตรีหรือองค์กรที่เกี่ยวข้องทราบ
มาตรา 34 เมื่อสิ้นสุดการลงคะแนนออกเสียงหากผู้มาใช้สิทธิจำนวนไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 ของผู้มาใช้สิทธิในหน่วยออกเสียงใดเห็นว่าการออกเสียงในหน่วยนั้นไม่สุจริตเที่ยงธรรม ให้มีสิทธิยื่นคำร้องคัดค้านพร้อมแสดงหลักฐานว่าการออกเสียงนั้นไม่ถูกต้อง หรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย ต่อ กกต.ภายใน 24 ชั่วโมง นับแต่การลงคะแนนออกเสียงสิ้นสุดลง
มาตรา 35 เมื่อ กกต.ได้รับคำร้องคัดค้านแล้วก็ให้ดำเนินการสอบสวนหาข้อเท็จจริงโดยพลัน ถ้าเห็นว่าการลงคะแนนออกเสียงในหน่วยออกเสียงนั้นไม่สุจริตเที่ยงธรรมให้มีคำสั่งให้ดำเนินการออกเสียงใหม่ในหน่วยออกเสียงนั้น เว้นแต่จะไม่ทำให้ผลการออกเสียงเปลี่ยนแปลงไปให้ กกต.มีคำสั่งยกคำร้องคัดค้าน
ส่วนเรื่องบทลงโทษ เริ่มจากมาตรา 36-42 นั้นเป็นการนำบทลงโทษที่เคยกำหนดไว้ใน พ.ร.บ.ว่าด้วยความเรียบร้อยในการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 มาใส่ไว้ทั้งหมด อาทิ ผู้ใดกระทำการในระหว่างการลงคะแนนออกเสียง เช่น ใช้บัตรอื่นที่ไม่ใช่บัตรออกเสียงมาลงคะแนนออกเสียง ก่อความวุ่นวายขึ้นในที่ออกเสียงอันเป็นการรบกวนหรือเป็นอุปสรรต่อการออกเสียง หรือเล่นการพนันขันต่อ อันมีผลจูงใจให้ผู้มีสิทธิอกเสียงไปใช้สิทธิออกเสียงอย่างใดอย่างหนึ่ง เรียกรับทรัพย์สินประโยชน์ มีโทษทั้งจำทั้งปรับ เริ่มตั้งแต่ จำคุกไม่เกิน 5 ปี ถึง 10 ปี หรือปรับตั้งแต่ 2 หมื่นถึง 2 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และอาจถูกศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง มีกำหนดไม่เกิน 5 ปีด้วย และยังเพิ่มเติมเกี่ยวกับผู้ที่ได้รับทรัพย์หรือประโยชน์ เพื่อให้ไปใช้สิทธิอย่างใดอย่างหนึ่งหรือไม่ไปออกเสียง ถ้ามีการแจ้งถึงการกระทำดังกล่าว ต่อ กกต.หรือผู้ที่ กกต. มอบหมายก่อนหรือในวันออกเสียงผู้นั้นไม่ต้องรับโทษ
ส่วนการเผยแพร่ผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับการออกเสียงมีการขยาย โดยห้ามในช่วง 7 วันก่อนวันออกเสียงจนถึงเวลาสิ้นสุดวันออกเสียง จากเดิมที่กำหนดไว้เพียง 3 วันก่อนวันออกเสียงจนถึงเวลาสิ้นสุดการออกเสียง. - สำนักข่าวไทย
อัพเดตเมื่อ 2008-05-28 19:05:16