บล็อคข่าวส่งเสริมคนดี (รักดีหามจั่ว รักชั่วหามเสา หามจั่วก็หนักนะ)

ข่าวจากสื่อ

บทความจากสื่อ

วันศุกร์ที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2551

ยุคเสื่อม ปชป.

เลียบๆ เคียงๆ ไปแถวม็อบพันธมิตรฯ ที่ปิดถนนราชดำเนิน กีดขวางการจราจร ทำชาวบ้านเดือดร้อนไปทั่วแล้ว ก็เห็นมีแต่คนหน้าตาคุ้นเคยทั้งนั้น ที่วนเวียนกันขึ้นไปแหกปากปาวๆ บนเวที

เพราะหากผิดไปจากคนในค่าย “ผู้จัดการ” แล้ว ส่วนใหญ่ก็แทบจะเป็นกลุ่มคนใกล้ตัวพรรคประชาธิปัตย์แทบทั้งสิ้น ที่ทั้งขึ้นปราศรัยและให้กำลังใจอยู่ขอบเวที

มิหนำซ้ำ บางคนยังสวมหมวก 2 ใบ ถ่างขาเกี่ยวข้องทั้ง 2 สำนัก จนเสมือนเป็นตัวประสานความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของก๊วนพันธมิตรฯ สื่อเครือผู้จัดการ และพรรคการเมืองเจ้าหลักการในอดีตอย่าง ประชาธิปัตย์

ไม่ว่าจะเป็น...

คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช ส.ส.กทม. และอดีตรองหัวหน้าพรรค

อลงกรณ์ พลบุตร รองหัวหน้าพรรค

อรรถพร พลบุตร น้องชาย ในฐานะ ส.ส. สัดส่วน

สมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ ส.ส. ที่ประชาธิปัตย์ไฟเขียวให้ร่วมเป็นแกนนำพันธมิตรฯ

รวมไปถึงบรรดา ส.ส. สอบตกของพรรคประชาธิปัตย์อย่าง ประพันธ์ คูณมี ที่เดินตามติด น.ต.ประสงค์ สุ่นศิริ ต้อยๆ และ วัชระ เพชรทอง ที่ทำกิจกรรมให้พรรคมาอย่างต่อเนื่อง
ฯลฯ

ทั้งหมดทั้งมวลนี้ แม้ว่าพรรคจะปฏิเสธความเกี่ยวข้อง แต่ก็ดูจะฟังยาก เพราะพฤติกรรมมันฟ้องอยู่ทนโท่
และยิ่งเมื่อทั้งอลงกรณ์และคุณหญิงกัลยา พยายามออกมาชี้แจง ก็ยิ่งงงเข้าไปใหญ่

เพราะอ้างว่าพรรคไฟเขียวให้ร่วมการชุมนุมได้ แต่ต้องเป็นไปในนามส่วนตัว หรือแม้แต่ขึ้นเวทีปราศรัยก็ยังได้ แต่ต้องมีเนื้อหาเป็นวิชาการ

และยิ่งถ้าจับความผนวกกับกระแสข่าวที่อ้างว่า พรรคประชาธิปัตย์รับหน้าเสื่อขนคนเข้ามาร่วมการชุมนุมกับกลุ่มพันธมิตรฯ ด้วยแล้ว ก็ไม่รู้ว่าพรรคประชาธิปัตย์จะออกมาแก้ตัวทำไมให้เสียเวลา

และเมื่อเห็นพฤติกรรมของคนพรรคประชาธิปัตย์เช่นนี้แล้ว ก็อดคิดไม่ได้ว่า เหตุใดพรรคการเมืองที่ขายภาพความมั่นคงในหลักการ ถึงวันนี้จึงนิยมชมชอบกับวิธีการแก้ปัญหาการเมืองด้วยการชุมนุมข้างถนน มากกว่าการไปพูดจากันในสภาผู้แทนราษฎร

จะเป็นไปได้หรือไม่ที่พรรคประชาธิปัตย์กำลังเข้าสู่ “ยุคเสื่อม”

ความขลังที่บรรพบุรุษของพรรคสั่งสมมายาวนาน กำลังจะหดหายไปในยุค “เด็กเมื่อวานซืน”

ดังที่มีตัวอย่างให้เห็น ไม่เฉพาะการพ่ายแพ้ในสนามเลือกตั้ง ส.ส. และการจัดตั้งรัฐบาล

แต่ยังหมายถึงการแพ้ครั้งแล้วครั้งเล่าในการเมืองระดับท้องถิ่น

อย่างล่าสุดที่ การุณ ใสงาม ยอมลดชั้นจากอดีต ส.ส.-ส.ว.บุรีรัมย์ ไปชิงเก้าอี้นายกเทศมนตรี กลับแพ้ย่อยยับ ได้รับคะแนนเสียงไปเพียง 439 คะแนน

หรือจะเป็นในภาคใต้ ฐานเสียงสำคัญของพรรคประชาธิปัตย์เอง ก็ยังแพ้กราวรูด

อย่าง อัญชลี วานิช เทพบุตร อดีต ส.ส. ประชาธิปัตย์ ที่สามีเพิ่งจะถูกคำสั่งศาลให้คืนที่ดิน สปก. ซึ่งได้มาในยุคประชาธิปัตย์เรืองอำนาจ ก็ยังพ่ายแพ้ในสนาม อบจ. ให้กับคู่แข่งโนเนม

ส่วนการเลือกนายก อบจ.กระบี่ สเสฏฐสิฏฐ สิทธิมนต์ อดีต ส.ส.กระบี่ 2 สมัย ที่มี พิเชษฐ พันธุ์วิชาติกุล อดีตกรรมการบริหารพรรค สนับสนุน ก็ถูกคู่แข่งทิ้งห่างกว่า 3 หมื่นคะแนน

เช่นเดียวกับสนาม อบจ.พัทลุง ที่ดีกรีอดีต ส.ส. อย่าง สุพัฒน์ ธรรมเพชร ต้องพ่ายแพ้ให้กับนายก อบจ. คนเดิม
ที่ จ.เพชรบุรี อิทธิพงษ์ พลบุตร อดีตสมาชิกสภา อบจ. พรรคประชาธิปัตย์ น้องชาย นายอลงกรณ์ พลบุตร รองหัวหน้าพรรค ก็มีคะแนนเข้ามาเป็นที่ 2 ชวดตำแหน่งไปเช่นกัน

หรือที่สมุทรสาคร เอนก ทับสุวรรณ อดีต ส.ส. อาวุโสหลายสมัย ก็ยังแพ้ขาดลอย ที่ตราด บุญส่ง ไข่เกษ อดีต ส.ส. และ ส.ว. ทีมประชาธิปัตย์ ก็แพ้อีก รวมถึงสุดท้ายที่สมุทรสงคราม กานต์ทิตา รอดรัศมี ทีมประชาธิปัตย์ น้องสาว รังสิมา รอดรัศมี ส.ส.สมุทรสงคราม ก็มีคะแนนห่างคู่ต่อสู้หลายขุม

ยังไม่รวมถึง ธานินท์ ใจสมุทร อดีต ส.ส. ที่ลดชั้นลงไปเล่นการเมืองท้องถิ่นอีกคน ที่แม้จะชนะการเลือกตั้ง แต่ก็อยู่ระหว่างการพิจารณาให้ใบแดงของ กกต.

ที่เล่ามาทั้งหมดนั้น ไม่ใช่เป็นการฟื้นฝอยหาตะเข็บ

เพียงแต่อดนึกไม่ได้ว่า เรื่องใดเกิดขึ้นกับพรรคประชาธิปัตย์ก่อนกันแน่

ระหว่างการมีพฤติกรรมผิดเพี้ยนไปจากอุดมการณ์ดั้งเดิม จนทำให้พรรคเสื่อมความนิยม
หรือเป็นเพราะพรรคมาถึงจุดเสื่อม จึงต้องฝากความหวังลมๆ แล้งๆ ไว้กับการชุมนุม ที่อาจขยายผลไปสู่ความเปลี่ยนแปลงในบ้านเมือง เป็นความหวังสุดท้าย

เพราะหากเป็นจริงเช่นนั้น ก็น่าเสียดาย ที่อุดมการณ์และเกียรติภูมิของพรรคจะต้องสูญหายไป เพราะความกระหายในอำนาจ...!!


ข่าวส่งเสริมคนดี

จำนวนผู้เข้าเยี่มมชม

link to affordable web hosting
Powered by web hosting provider .

สถิติการเข้าชม DMNEWS

eXTReMe Tracker