เชื่อว่าเช้านี้คน กทม. คงต้องประสบกับภาวะ “รถเมล์ขาด (ตลาด)” กันไปถ้วนหน้า อันเนื่องมาจากการประท้วงหยุดวิ่งของบรรดารถร่วมฯ ซึ่งรวมๆ ก็กว่า 10,000 คัน
เห็นใจผู้โดยสารก็เห็นใจ ไหนจะต้องรอนาน ไหนจะต้องเบียดเสียดกันขึ้นไปอัดแน่นยิ่งกว่าปลากระป๋อง
แต่มองจากมุมของผู้ประกอบการรถร่วมฯ ก็น่าเห็นใจเขาเหมือนกัน เพราะราคาน้ำมันที่พุ่งขึ้นเช่นนี้เป็นไปตามกลไกตลาดโลก ใครก็ฉุดไม่ได้รั้งไม่อยู่
ในฐานะ “เอกชน” ที่ประกอบธุรกิจ เมื่อต้นทุนในการทำกิจการสูงเกินกว่าจะแบกรับภาระต่อไปได้ แล้วกฎหมายยังไม่อนุญาตให้ขึ้นราคาค่าสินค้าหรือบริการอีกเช่นนี้ ก็เห็นทีจะต้องปิดหรือหยุดพักกิจการกันแต่เพียงเท่านั้น
ไม่เหมือนกิจการที่ดำเนินการหรือมีหุ้นส่วนใหญ่เป็นรัฐบาล จึงจะต้องมีหน้าที่ “ช่วยเหลือ" ประชาชน มากกว่าคำนึงเรื่องกำไร-ขาดทุน
หรือทางออกที่สาม คือ จะให้ศาลปกครองประกาศคุ้มครองการขึ้นราคาน้ำมัน แทนการคุ้มครองราคาสินค้า เช่นนี้ก็ไม่รู้ว่าจะทำได้หรือเปล่า (เพราะราคาน้ำมันในบ้านเราต้องผูกติดกับราคาน้ำมันดิบโลก) ถ้าทำได้ แก้ไขปัญหาราคาน้ำมันได้เพียงอย่างเดียว ก็สบายไปร้อยแปดอย่าง
แต่ถ้าทำไม่ได้ดังว่ามา ก็คงต้องทำใจยอมรับแล้วว่า เราก็ต้องขึ้นรถเมล์กันแพงขึ้นอยู่ดี
เกิดเหตุการณ์รถร่วมฯ หยุดวิ่งเช่นนี้ เราจึงได้เห็นภาพชัดๆ ว่า กิจการขนส่งมวลชนโดยรัฐนั้น มีน้อยเกินกว่าความต้องการไปมาก และส่วนมากก็ต้องพึ่งพาเอกชนเป็นหลัก
ทั้งที่ประชาชนส่วนมากของประเทศนี้ ยังต้องพึ่งพาขนส่งสาธารณะมากกว่ารถส่วนตัว แต่จนป่านนี้ระบบขนส่งมวลชนบ้านเราก็ยังไม่เคยสะดวกสบาย ทั้งในด้านปริมาณ (เพียงพอต่อความต้องการ) และด้านคุณภาพ
บ่นไปก็เท่านั้น เพราะถามว่าแล้วจะให้รัฐทำอย่างไร ก็ไม่รู้ จะให้คุ้มครองราคาค่าตั๋วต่อไปหรือไม่ ก็ไม่น่าจะได้ เพราะคงไม่มีเอกชนรายไหนยอมวิ่งรถ-เรือให้ขาดทุน
คงตอบได้อย่างเดียวในฐานะคนเดินดิน คือ จะทำอย่างไรก็ให้ทำกันไปทางหนึ่งเถิด เพราะสุดท้ายคนที่เดือดร้อนที่สุด ก็คือชาวบ้านตาดำๆ นี่เอง
ปฏิญา ยอดเมฆ